แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1784

สนทนาธรรมที่โรงพยาบาล จังหวัดเลย

วันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


ถ. ตาเห็นรูป ก็เพียงว่าเห็นรูป หูได้ยินเสียง ก็เพียงแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่นก็เพียงแต่ได้กลิ่น วันทั้งวันเป็นอย่างนั้น ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ที่ว่าทำใจไว้ว่า เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่เรา นั่นก็ไม่ใช่ของเรา โดยการไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เราทำใจให้ว่าง ว่างในที่นี้เรียนถามอาจารย์ว่า ว่างในแง่ไหน

สุ. ถ้ามีเรา ว่างไม่ได้เลย เพราะยังมีสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นเรา ยังมีความเป็นตัวตนอยู่จะว่างไม่ได้ ว่างในทีนี้หมายความว่า ว่างจากการยึดถือว่าเป็นตัวตน

สภาพธรรมมีจริง และเคยยึดถืออย่างเหนียวแน่นว่าเป็นเรา ว่างจากความ เห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมนั้น เพราะว่าสภาพธรรมนั้นต้องเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย เช่น ได้ยิน เมื่อมีหูและมีจิต มีเสียงมากระทบก็ต้องได้ยิน แต่ยึดถือว่าเป็นเราที่ได้ยิน ชื่อว่าไม่ว่าง แต่เวลาที่รู้ว่า ได้ยินเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย คือ เมื่อเสียงมากระทบแล้วรู้เสียง ทั้งเสียงก็ดับ ได้ยินก็ดับ ว่างจากการที่จะยึดถือได้ยินว่าเป็นเราอีกต่อไป นั่นคือความหมายของว่าง

เพราะฉะนั้น โดยมากที่เป็นปัญหายุ่งๆ กันอยู่เสมอ เพราะว่าพยายามจะแก้ไขคนอื่น ขอถามจริงๆ ว่า จะแก้ไขคนอื่น หรือจะแก้ไขเฉพาะตัวเอง จะแก้ไขสังคม คิดจะแก้ไขใคร

ถ. แก้ไขที่ตัวเราก่อน

สุ. นี่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ที่ว่าว่าง คงจะเข้าใจแล้วว่า เพียงแต่บอกว่า อย่ายึดถือ ใครก็ทำไม่ได้ถ้าปัญญาไม่เกิด ปัญญาต่างหากที่ละความยึดถือ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ยึดถือ

ถ้ามีคนบอกว่า อย่ายึดถือ กำลังเห็นนี่ก็อย่ายึดถือว่าเป็นเรา กำลังได้ยินก็อย่ายึดถือว่าเป็นเรา โลภ โกรธ หลง ก็อย่ายึดถือว่าเป็นเรา ใครทำได้

ทำไม่ได้ จะบอกสักเท่าไรก็ทำไม่ได้ บอกเรื่องผล แต่ไม่แสดงเหตุว่า ปัญญารู้อย่างไรจึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นประโยชน์ของการ ฟังพระธรรมว่า เมื่อมีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมในขั้นฟังยังไม่พอ ยังละกิเลสไม่ได้ ต้องมีปัญญาที่เจริญกว่านั้นอีกถึงจะละกิเลสได้ และปัญญาขั้นนั้นจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อฟังพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้น เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด ระลึกได้ตรงลักษณะของสภาพที่เคยได้ยินได้ฟัง เช่น ลักษณะของจิต

เวลานี้กำลังมีจิต ถ้าไม่ได้ฟังเลยจะไม่รู้ว่า กำลังเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลัง ได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง แต่เมื่อฟังแล้วจะรู้ว่าจิตคือสภาพรู้ เป็นนามธรรม ชนิดหนึ่ง แม้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ก็อาจจะมีการระลึกได้และรู้ว่า ที่กำลังเห็น เป็นอาการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่ในขณะที่เสียงปรากฏ

ต้องฟังบ่อยๆ จนกระทั่งชิน จนกระทั่งเป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้สติปัฏฐานและปัญญาเจริญขึ้น

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เป็นคำถามที่ดี เพราะว่าชาวพุทธได้ยินคำว่า ขันธ์ ๕ บ่อยๆ ซึ่ง ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์

ขณะนี้กำลังครบทั้ง ๕ ขันธ์ ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ มีรูป เช่น จิตได้ยินก็ต้องอาศัยรูป จะปราศจากรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภพภูมินี้ ซึ่งเป็นมนุษย์ จึงเป็นภูมิของขันธ์ ๕ จะขาดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดไม่ได้เลย

ถ. เป็นการปรุงแต่งของจิต ใช่ไหม

สุ. ใช่ แต่ไม่ง่ายอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงเท่านี้ จะต้องทราบลักษณะของ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้เราจะไม่เรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องใช้ภาษาหนึ่งภาษาใด ลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น เช่น ลักษณะที่แข็ง ภาษาไทยก็ไม่ต้องใช้ว่าแข็ง ภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องใช้ ภาษาจีนก็ไม่ต้องใช้ แต่จะรู้แข็งเมื่อกระทบสัมผัส และไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ นั่นคือสภาพของปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เสียงก็ไม่ต้องเรียกว่าเสียง ไม่ต้องเรียกว่าอะไรเลย แต่เสียงก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

ธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงปรมัตถธรรม คือ ลักษณะของปรมัตถธรรมที่มี จริงๆ ซึ่งมี ๔ อย่าง ถ้าจะเริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนา อย่างน้อยควรเข้าใจความหมายของปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่มีลักษณะจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อใดๆ ทั้งสิ้น

ปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน ซึ่งในสมัยโบราณท่านใช้คำย่อๆ เรียกเฉพาะพยางค์หน้าว่า จิ เจ รุ นิ แต่ถ้าเรา ไม่รู้จักจิต เจตสิก รูป นิพพาน จะมาบอกเราว่า จิ เราก็ไม่รู้ว่าอะไร เจ ก็ไม่รู้ว่าอะไร รุ ก็ไม่รู้ว่าอะไร นิ ก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่ถ้าจำได้ จิต ก็เข้าใจกันอยู่แล้ว เจตสิก ก็เพิ่มขึ้นมาอีกคำเดียวเท่านั้นเอง รูป ก็เข้าใจกันอยู่ และนิพพาน ก็ชินหู

เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมมีเพียง ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่ใช่เรื่องผิวเผิน เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาตลอดชีวิตและทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๔ นี้ได้

สำหรับจิต ทุกคนเข้าใจแล้ว ทุกคนมีจิตจึงได้นั่งอยู่ที่นี่ ไม่ใช่คนที่สิ้นชีวิตแล้ว และควรจะเข้าใจว่า ลักษณะของจิตนั้นเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ในขณะที่เห็น จิตกำลังเห็น ขณะที่ได้ยิน จิตกำลังได้ยิน

ถามว่า จิตอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ศึกษาจะตอบไม่ได้เลย แต่เมื่อเข้าใจแล้วตอบได้ จิตมีจริง อยู่ที่ไหน กำลังเห็นเป็นจิต กำลังได้ยินเป็นจิต กำลังคิดเป็นจิต กำลังลิ้มรสเป็นจิต กำลังได้กลิ่นเป็นจิต กำลังรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นจิต นี่คือลักษณะของจิต โดยย่อๆ แค่นี้

ต่อไปสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นปรมัตถธรรม คือ เจตสิก

จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย เจตสิกก็เป็นนามธรรมเช่นเดียวกัน คือ ไม่มีรูปร่างลักษณะ ไม่ใช่รูป แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท หรือ ๕๒ ชนิด ซึ่งเจตสิกแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะของตน เช่น ความรู้สึก ความเสียใจ ก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ความดีใจก็เป็นความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะขาดความรู้สึกต่อสิ่งนั้นไม่ได้เลย เพราะว่าบางครั้งเห็นก็ดีใจ บางครั้งเห็นก็ไม่ชอบใจ บางครั้งเห็นก็เฉยๆ

สภาพธรรมที่เป็นความรู้สึก มีความสำคัญต่อชีวิตมากเหลือเกิน จึงแยกเป็นขันธ์หนึ่ง คือ เวทนาขันธ์ เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีที่ตั้งที่เกิดที่เดียวกับจิต จิตเกิดที่ไหน เจตสิกเกิดที่นั่น ไม่แยกกันเลย

เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมที่เป็นนามธรรมมี ๒ อย่าง คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก

ถ้าบอกว่า จำได้ จำได้จริงๆ หรือเปล่า ความจำมีจริงหรือเปล่า สิ่งใดก็ตามที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ความจำเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เพราะว่าเกิดกับจิต

ความเกียจคร้านมีจริงๆ หรือเปล่า มี เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง ถ้าจะพูดถึง สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แสดงให้เห็นว่าเป็นเจตสิกแต่ละชนิด เช่น ความขยัน ความเมตตา ความโกรธ พวกนี้เป็นเจตสิกแต่ละชนิดทั้งนั้น

. เรื่องราวเก่าๆ ที่เราไม่ได้คิด โผล่ขึ้นมาเอง เป็นสัญญาไหม

สุ. เป็นความจำ ขณะใดที่จำขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นและก็จำ

ถ. หลายสิบปีแล้วก็ตาม ซึ่งเราไม่ได้คิดถึง แต่ก็เกิดขึ้นมาในความคิด ของเรา เป็นความจำ ใช่ไหม

สุ. เป็นสัญญาเจตสิกที่จำ แต่จริงๆ แล้วเรื่องของจิต เจตสิก รูป นิพพานซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ๔ ละเอียดกว่านี้มาก นี่เพียงแต่ย่อๆ

. ทำไมท่านเป็นคนที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ...

สุ. สำหรับดิฉันเอง การที่เริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะยังไม่รู้ว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร เคยกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัย แต่เมื่อไม่เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ทำให้เข้าใจในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ชื่อว่านับถือพุทธ ก็ควรที่จะได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรด้วย นี่เป็นเหตุที่ทำให้ศึกษาพระพุทธศาสนา

เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วก็รู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นสัจจธรรม เป็นธรรมที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าคำสอนอื่น เพราะว่าคำสอนอื่นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ

และคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น ทำให้ผู้ศึกษารู้จักตัวเอง มีใครบ้างที่จะสอนคนอื่นให้รู้จักตัวเองโดยถ่องแท้ทุกขณะจิตได้ ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะคิดนึก จะเกิดความโลภ จะเกิดความโกรธ หรือจะเกิดความเมตตากรุณาต่างๆ ไม่มีผู้ใดสามารถแสดงความจริงที่แทงตลอดไปถึงการสะสมของจิตของ แต่ละบุคคลได้ และยังชี้ให้เห็นถึงโทษของอกุศล ประโยชน์ของกุศล ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นที่จะรู้ว่ากิเลสคืออะไร และมีมากน้อยแค่ไหน จนกระทั่งสามารถให้ปัญญาความรู้ถูกที่เพิ่มขึ้นนั้น ละคลายกิเลสได้

การศึกษาพระธรรมจะทำให้เป็นผู้ที่เข้าใจธรรมโดยละเอียด โดยถูกต้อง และเห็นกิเลสของตนเอง แม้ใครจะชื่นชมโสมนัสสักเท่าไรก็ตาม ผู้ที่ยังมีกิเลสก็รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสอยู่ ไม่ได้หลงไปตามคำชม หรือสักการะ หรือสรรเสริญ เพราะว่ารู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดอกุศลจิตเกิด ขณะใดกุศลจิตเกิด พระธรรมจะประคับประคองชีวิตของบุคคลที่เข้าใจพระธรรมและปฏิบัติตาม ให้ละคลายอกุศลได้ ซึ่งถ้าเป็นคำสอนอื่นจะไม่สอนเรื่องของเหตุและผล และ สภาพธรรมที่มีจริงที่พิสูจน์ได้

. ... อาจารย์เห็นด้วยไหมว่า ต้นไม้ถ้าขาดเปลือก ขาดกระพี้ ก็จะตาย ศาสนาถ้าขาดพิธีกรรมก็ตั้งอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าศาสนามีพิธีกรรมมากมายเกินไป ก็จะไม่ถึงแก่นแท้ของศาสนาว่า เราสอนในเรื่องไหนกัน

สุ. ที่กล่าวกันว่า สุขทุกข์อยู่ที่ใจ ขอเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย ไม่ทราบ จะเห็นด้วยหรือไม่ว่า อยู่ที่กิเลส ถ้ากิเลสมากก็ทุกข์มาก ถ้ากิเลสน้อยก็ทุกข์น้อย เพราะฉะนั้น จะทุกข์มากทุกข์น้อยขึ้นอยู่กับกิเลสมากหรือกิเลสน้อย เพราะว่า ความทุกข์มีหลายอย่าง ถ้าเป็นความทุกข์กาย แม้แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวกทั้งหลายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผลของอกุศลกรรม ในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เมื่อมีกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ย่อมเป็นทางให้เกิดทุกข์กายได้ทั้งสิ้น ที่ศีรษะก็เป็นทุกข์ได้ ที่ปลายเท้าก็เป็นทุกข์ได้ ในเมื่อมีกายอยู่ นั่นก็เป็น เรื่องของทุกข์กาย แต่ผู้ที่ไม่มีกิเลสแม้ว่าจะมีทุกข์กายก็ไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลก็มีทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจมากน้อยตามกิเลส

ส่วนเรื่องของพิธีกรรมต่างๆ ที่จริงแล้วถ้ากุศลจิตเกิดขณะใด ปัญญาเกิด ขณะใด จะเข้าใจสิ่งซึ่งเรียกว่าพิธีกรรมพอสมควร ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าต้องติด หรือไปยึดมั่นแบบขาดเหตุผล

ถ้าเป็นศาสนาที่ขาดเหตุผลก็จะกล่าวว่า บ้านไหนปลูกดอกดาวกระจาย ก็จะทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด เพราะว่ากระจายไปหมด นี่เพียงดอกไม้ก็คิดว่า มีอิทธิพลสามารถทำให้ความสงบสุขในบ้านแตกได้ หรือดอกลั่นทมก็ไม่กล้าปลูก เพราะชื่อว่าลั่นทม ก็คงจะเต็มไปด้วยความทุกข์ความโศกต่างๆ นี่ก็เป็นเรื่องของชื่อ ที่ขาดเหตุขาดผล

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เข้าใจเหตุผลแล้ว ความคิด ความเชื่อ ความรักตัว ก็ทำให้เกิดแม้การจะปลูกต้นไม้ดอกไม้ ก็ต้องปลูกต้นมะยม หรือต้นดาวเรือง ไม่ปลูก ต้นลั่นทม ซึ่งในคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่มีเลย

สำหรับที่ใช้คำว่า พิธีกรรม อาจจะหมายความถึงขนบธรรมเนียมระเบียบซึ่ง ทำให้เรียบร้อยขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ใช่หมายความว่าถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดโทษ เพียงแต่ เมื่อทำแล้วก็ทำให้เรียบร้อยเท่านั้นเอง

จะยกตัวอย่างบ้างไหม เพื่อเราจะได้พูดถึงพิธีกรรมเป็นเรื่องๆ ว่า ควรหรือ ไม่ควรอย่างไร

ผู้ฟัง เรายังแยกพิธีกรรมออกจากกันไม่ได้ ทั้งทางพุทธและทางพราหมณ์ ใจเราไม่ยอมรับว่า มีพิธีทางพุทธแล้ว ก็มีพิธีทางพราหมณ์

สมพร พิธีกรรมเกิดขึ้นภายหลัง เดิมทีไม่มี พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ครั้งแรก ไม่มีพิธีกรรมอะไรเลย เช่น ไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ก็บอกให้พระปัญจวัคคีย์เชื่อถือก่อนว่า พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว และแสดงธรรมเลย ไม่ต้องบอกว่า ต้องทำอย่างโน้น ต้องทำอย่างนี้ พิธีกรรมต่างๆ ไม่มีในตอนนั้น เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วก็โปรดสาวกมากมาย เมื่อมีพระสงฆ์มากมายเกิดขึ้น พิธีบางอย่างซึ่งจำเป็น เพื่อจะรวบรวมให้ เป็นกลุ่มเป็นพวกเดียวกัน ก็ทรงบัญญัติพระวินัย ถ้าจะเรียกพระวินัยว่าเป็นพิธีกรรม ก็เรียกได้

พิธีกรรม เราต้องเข้าใจว่า ถ้าทำโดยความงมงายก็ไม่เหมาะสม ถ้าทำเพื่อ เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าหมายความว่าอย่างไร ถ้า เราเข้าใจทุกแง่ทุกมุมแล้วไม่เป็นปัญหา ที่เขาบอกว่า ศาสนาเราเหมือนต้นไม้ มีแก่น มีเปลือก มีกระพี้ ต้นไม้มีความสำคัญอยู่ที่แก่น แต่แก่นอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยรากบ้าง เปลือกบ้าง กระพี้บ้าง ใบบ้างประชุมกันอยู่ ต้นไม้จึงจะดำรงอยู่ได้ ฉันใด ศาสนาเราก็เหมือนกัน ต้องมีพระวินัย พระสูตร จะมีแต่เฉพาะพระอภิธรรม ก็ดำรงอยู่ไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องพิธีกรรมก็ดีแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจก็ต้องศึกษาว่า สิ่งนี้เป็นเพียงพิธีกรรม ไม่สำคัญเท่าไร มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ข้อสำคัญ คือ จิตเรา เกิดขึ้นเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ข้อนี้สำคัญที่สุด พิธีกรรมในตัวเรา ถ้าจิตเราขณะนี้เศร้าหมองด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นไม่ถูกต้อง ควรละเสีย ถ้าจิตเราผ่องใส นั่นเป็นพิธีกรรมที่ดี ควรจะประกอบ

สุ. คงจะข้องใจเรื่องพิธีพุทธพิธีพราหมณ์ว่า ทำไมต้องมีทั้ง ๒ อย่าง ไม่ต้อง ไม่มีความสำคัญอะไรเลย ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุผลจะตัดสิ่งซึ่งใจเคยผูกพันว่าต้องมี ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ยังมีพิธีกรรมต่างๆ อยู่ ก็เพราะความกลัวและความรักตัว

ที่ชีวิตจะเคลื่อนไหวไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีจุดแกนกลาง คือ ความรักตัว ตัวตน ที่ยังยึดมั่นอยู่ทำให้ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์แก่ตัว คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนั้น เดี๋ยวตัวจะมีโทษ เพราะฉะนั้น ก็ทำเสียหมดทุกพิธีกรรม เพื่อตัวเองจะได้สบายๆ พ้นจากโทษภัยต่างๆ แต่ถ้าเป็นผู้หนักแน่นในเหตุผลจริงๆ จะไม่คล้อยตามพิธีกรรมซึ่งไร้สาระ หรือปราศจากเหตุผล

ที่บ้านของดิฉันไม่มีศาลพระภูมิ คิดว่าศาลพระภูมิเป็นพิธีกรรมไหม

ผู้ฟัง เป็น

สุ. คิดว่าอย่างนั้น ที่ดิฉันระลึกถึงคุณของเทพ เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้รู้ว่า ความดี กุศลกรรม ให้ผลทำให้ปฏิสนธิเป็นเทวดา เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นเทพมี คุณความดีที่เราระลึกถึงได้ เช่นเดียวกับการระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระอริยสงฆ์ คือ ระลึกเพื่อเป็นอนุสสติที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่ว่าเมื่อผู้ใดเป็นเทพแล้วเขาก็เป็นเทพไป และเราก็มานั่งบูชา หรืออาจจะมานั่งอ้อนวอนขอสิ่งต่างๆ ซึ่งท่านไม่สามารถจะบันดาลให้ได้เลย

บุคคลใดทำกรรมอย่างใดต้องได้รับผลของกรรมอย่างนั้น จะช้าหรือเร็ว แต่ไม่ใช่กรรมของคนอื่นจะมาให้พ่อ ให้แม่ ให้ลูก ให้ญาติ ให้พี่น้องนั้น ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในเหตุในผลอย่างนี้ จะเป็นผู้ที่ประกอบกุศลกรรม และระลึกถึงกุศลกรรมของเทพเพื่อจะประพฤติปฏิบัติตาม เพราะแม้ผู้ที่จะเป็นเทวดาได้ก็ต้อง มีคุณธรรมของเทพด้วย จะต้องมีความกตัญญู จะต้องมีความอ่อนน้อม จะต้องมีอะไรหลายอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

แม้จะไม่ระลึกถึงเทพ ก็ยังกระทำคุณความดีได้ แต่เมื่อระลึกถึงเทพก็ต้องด้วยความนอบน้อมในคุณความดี ไม่ใช่กลัวว่า ถ้าไม่นับถือแล้วเทพจะมาหักคอ หรือ มาทำอันตราย ไม่เป็นเช่นนั้นเลย และสำหรับสถานที่อยู่ของเทพ ก็ไม่จำเป็นที่เรา จะต้องทำให้ เพราะเทพต้องมีกรรมของเทพ ซึ่งจะทำให้มีที่อยู่ของเทพ ไม่ใช่เทพ ต้องอาศัยสิ่งที่มนุษย์ทำให้เป็นที่อยู่

ไม่ทราบมีพิธีกรรมอะไรอีกไหม แต่สำหรับดิฉันเป็นผู้ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องพิธีกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาถามก็ไม่ทราบว่า หมายความถึงพิธีกรรมอะไรบ้าง แต่ที่ได้ยินทั่วไปก็เป็นเรื่องศาลพระภูมิ

เปิด  264
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566