แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1785

สนทนาธรรมที่โรงพยาบาล จังหวัดเลย

วันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


ถ. มีญาติผู้ใหญ่ที่ทราบข่าวว่า หลานได้รับอุบัติเหตุ ก็คิดว่า จะมี เคราะห์กรรมอะไรอีกหรือเปล่า ก็ไปหาคนเข้าทรง ผู้ที่เข้าทรงก็บอกว่า เคราะห์กรรมที่เกิดครั้งนี้ยังไม่หมด จำเป็นต้องมีการสะเดาะเคราะห์เพิ่มเติมโดยการปล่อยโคกระบือและปล่อยปลา เมื่อคุณกาญจนาทราบเช่นนั้นก็สั่งให้จัดการทำเลย ขอเรียนถามว่า การกระทำในลักษณะเช่นนี้เป็นการแลกเปลี่ยน หรือทำด้วยเมตตา และถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ

สุ. เรื่องการศึกษาพระธรรม กับการฟังพระธรรมเพื่อปฏิบัติ เราต้องมีความมั่นใจในเหตุในผลจริงๆ และเราต้องรู้จุดประสงค์ด้วยว่า เราศึกษาเพื่ออะไร อย่างเราศึกษาเพื่อให้เข้าใจเรื่องของกรรมว่า กรรมต้องเป็นเหตุให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล และกรรมไม่ใช่มีชาตินี้ชาติเดียว ทุกคนเกิดมาต้องเพราะกรรม กรรมจำแนกให้เราต่างกันตั้งแต่เกิดจนกระทั่งระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้เห็น ให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น ให้ลิ้มรส ให้กระทบสัมผัสต่างๆ กันไป และให้ตายต่างๆ กันด้วย เวลาที่เราตาย ก็เพราะกรรมที่ทำให้จุติจิตเกิด

ถ้ากรรมยังไม่ทำให้จุติจิตเกิด ในระหว่างนี้กรรมก็ทำให้เราเห็น เช่น ในขณะนี้ที่เรากำลังเห็น กรรมทำให้เราได้ยินเสียงนี้ ในขณะที่เรากำลังได้ยิน เพราะว่ากรรม ยังไม่ทำให้จุติจิตของเราเกิด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือปวดเจ็บ ทุกข์ทรมานอย่างไร ก็ต้องมีกรรมที่ได้ทำแล้วเป็นเหตุที่จะให้เกิดขึ้น

ใครก็ตามกำลังได้รับผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว อย่างเช่น อุบัติเหตุ หรือปวดเจ็บต่างๆ เหล่านี้ เขาควรที่จะได้ระลึกถึงว่า ปวดเจ็บมาจากไหน ไม่มีใครทำให้เลย สมมติว่ามีขโมยเข้าบ้านคุณกาญจนา และขู่เข็ญจับมัดประทุษร้ายคุณกาญจนา คุณกาญจนาก็คงจะคิดว่า เพราะขโมยหรือโจรคนนั้นทำ

แต่ถ้าไม่ใช่โจร ไม่ใช่ขโมย เป็นอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้น คุณกาญจนาก็น่าจะ คิดได้ถูกต้องว่า จะเป็นโจรหรือไม่ใช่โจร เมื่อมีร่างกายก็ต้องมีทุกข์ ใครมีร่างกายแล้วไม่มีทุกข์บ้าง มีร่างกายก็ต้องปวด ต้องเจ็บ ต้องเมื่อย จะน้อยจะมากที่ตา ที่หู ที่แขน ที่ขาก็แล้วแต่ เป็นเรื่องที่จะทำให้ได้รับผลของกรรมอยู่แล้ว ถ้าสบายขณะใด ก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าไม่สบายขณะใดก็เป็นผลของอกุศลกรรม

ถ้าทุกคนมีความมั่นใจในเรื่องเหตุผล คือ ในเรื่องของกรรมและในเรื่องของวิบากจริงๆ ความหวั่นไหวในเหตุผลในพระธรรมของเรามากหรือน้อย ถ้าเราเป็นคนที่ไม่มั่นคงในพระธรรม เราก็กลัวแล้ว รีบจะต้องทำอย่างนั้น รีบจะต้องทำอย่างนี้ เพราะความรักตัว เพราะว่าทุกคนรักตัวมากที่สุด ที่ทุกคนไม่อยากตาย หรือกลัวตาย ก็เพราะว่ายึดถือตัว ไม่ได้รู้เลยว่าเป็นจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดแล้วก็ดับๆ

ถ้าพูดถึงความจริงที่เป็นปรมัตถ์ ขณะนี้ทุกคนกำลังเกิดและตาย เพราะว่า จิตเกิดและดับ ไม่มีจิตของใครเลยซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ ไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิไหน อย่างคนที่เขาตายจากเราไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะไปไหน ปฏิสนธิจิตเขาเกิดแล้วก็ดับ ภวังคจิตเขาก็เกิด และจักขุวิญญาณเขาก็เกิด โสตวิญญาณเขาก็เกิด เหมือนกันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้ากรรมจะทำให้จุติจิตของเราเกิด เราก็ไม่ได้สูญอะไร เพราะ เรามีปฏิสนธิจิตที่จะเกิดต่อ เพียงแต่ว่าเราหมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ และไม่รู้ว่า เราจะเกิดเป็นบุคคลไหน เหมือนกับชาตินี้เราก็ไม่รู้เลยว่า ตอนที่เราจะตายชาติก่อนเราจะเกิดเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้

เราต้องเป็นคนที่ไม่หวั่นไหวจริงๆ ในเรื่องกรรมและผลของกรรม ซึ่งความ ไม่หวั่นไหวจะทำให้เราพ้นจากการไปติดในพิธีกรรมที่ไม่ใช่เหตุและผล

อย่างในเรื่องของการปล่อยสัตว์ รู้สึกว่าจะทำกันแบบพิธีกรรมหลายประการ คือ ประการที่ ๑ เพื่อสะเดาะเคราะห์ เพราะคิดว่ามีเคราะห์ จึงต้องทำอย่างนั้น แต่คนที่มีกรรมจริงๆ มีเคราะห์จริงๆ ต่อให้ปล่อยถึง ๑๐๐ ตัว ถ้าถึงคราวที่กรรมนั้นจะให้ผล จะช่วยได้ไหม ก็ช่วยไม่ได้

และการปล่อยสัตว์ เราไม่ได้ระลึกถึงจิตของเราในขณะนั้นที่กำลังปล่อยว่า เราต้องการอะไร จะพ้นไปจากความต้องการได้ไหม หรือเราเป็นผู้มีปกติมีความเมตตา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ปล่อยควาย ไม่ปล่อยปลา แต่เราก็เป็นคนที่มีเมตตาต่อทุกคน ไม่ว่าเขาจะตกทุกข์ได้ยาก หรือไม่ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจของเรา ที่คิดต่อเขาเป็นไปในเรื่องของการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาต ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียนแม้ด้วยใจ ถ้าเรามีใจอย่างนี้แล้ว ไม่ต้องหวั่นเกรงกลัวว่า จะต้องไปปล่อยวัว ควาย ปลาตั้งร้อยตั้งพันอะไรเลย

คนที่ปล่อยปลา หรือปล่อยวัว ปล่อยควาย เมตตาคนอื่นหรือเปล่า หรืออยากจะปล่อยเท่านั้นเอง ปล่อยเพื่อตัวเอง แต่ลืมว่าเราต้องมีเมตตาต่อคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้เข้าใจจุดประสงค์ ถ้าเราไม่มั่นคงในพระธรรมจริงๆ ชีวิตใน วันหนึ่งๆ ของเราเคลื่อนไปมาตามกำลังของอกุศล ของความไม่มั่นคงในเหตุผล ซึ่งทั้งหมดมีความรักตัวเป็นแกนสำคัญ เป็นโมหะ เป็นอวิชชา เป็นทิฏฐิ เป็นความ ยึดมั่นในตัวตน แต่ถ้าเราเป็นคนที่รู้จริงๆ ว่า แท้ที่จริงคนที่จะปล่อยวัวปล่อยควายต้องด้วยจิตที่เมตตา ไม่ใช่หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน นี่เป็นจุดที่ต่างกัน คนที่ปล่อยวัวควายสัก ๑๐ คน จะมีจิตของใครที่ปล่อยด้วยความเมตตา

แต่เมตตาควายตัวที่ปล่อยยังไม่พอ ขอให้คิดอย่างนั้น ถ้าเมตตาควายที่ปล่อย ทำไมไม่เมตตาคนนั้นล่ะ คนนี้ล่ะ คนโน้นล่ะ ยุงล่ะ มดล่ะ ทำไมเมตตาเฉพาะควายที่จะปล่อย

ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. สงสารตัวอื่นด้วยหรือเปล่า

ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. และมดล่ะ

ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. อย่างนั้นก็หมายความว่า เป็นผู้ที่มีเมตตาและเจริญเมตตาอย่างถูกต้อง แต่บางคนปล่อยควาย แต่ฆ่ามด

ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. นี่พูดถึงคนส่วนใหญ่ บางคนโกรธคนอื่น แต่ปล่อยควาย

ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. โกรธเป็นของธรรมดา แต่บางคนผูกโกรธ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงคน เราไม่ได้พูดถึงคนคนเดียว เราพูดทั่วๆ ไปเลยว่า บางทีเขาไม่เข้าใจเรื่องการ เจริญเมตตา แต่ละคนรู้จักตัวเอง ถ้าปล่อยด้วยเมตตาก็แน่นอน แต่บางคนปล่อยเพราะต้องการบุญ นี่ผิดกันแล้ว และเราศึกษาธรรมก็รู้ว่า เขายังหมดไม่ได้แน่ๆ มีใครบ้างที่จะหมดอกุศลกรรม เป็นไปไม่ได้เลย

ผู้ฟัง แต่คิดว่าเมื่อมีโอกาสได้ปล่อยสัตว์บ้าง เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

สุ. พิสูจน์ตัวของตัวเองว่า เพราะต้องการผลบุญหรือด้วยเมตตา นี่คือความต่างกัน เวลานี้มีคนอยู่ ๒ จำพวก คนหนึ่งปล่อยเพราะต้องการได้บุญ อีกคนหนึ่งปล่อยเพราะเมตตา เพราะฉะนั้น รู้จักตัวของเราเองว่า เราทำเพราะอะไร

. ในกรณีคุณกาญจนาเท่าที่ทราบ ปล่อยเพราะเคราะห์ยังมีเหลืออยู่ ถ้าไม่ทำอาจจะได้รับอุบัติเหตุอีก ประโยชน์ของการปล่อยสัตว์มีอะไร

สุ. ที่จริงการปล่อยสัตว์ คือ การเจริญเมตตา เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่า เราเป็นคนที่ขาดเมตตาหรือมีเมตตา แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราจะปล่อยเฉพาะ ควาย หรือวัว หรือปลา แต่เรายังคงมีความโกรธอยู่มากๆ เราไม่เมตตาคนอื่นเลย เรายังมีคนที่เรามองในแง่ร้าย หรือเป็นศัตรูอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้ไปกระทบกระเทือนคนที่เรามองเขาเลย ใจของเราต่างหากที่เป็นอกุศลที่หนาและสะสมมาเรื่อยๆ ไม่มีวันที่จะหมดไปได้ ถ้าเราไม่เห็นโทษของกิเลสนั้น แต่ถ้าเราเห็นโทษจริงๆ เราเจริญเมตตาอย่างเดียวเท่านั้น กุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นมาก

คนที่มีเมตตาเห็นคนที่จะถูกฆ่าตาย จะเป็นสัตว์ตัวไหนก็ช่วยได้ โดยไม่ต้องเลือกด้วยว่า จะเป็นควาย หรือจะเป็นนก หรือจะเป็นปู หรือจะเป็นปลา หรือจะเป็นแมงดา หรืออะไรก็แล้วแต่

ถ. อย่างคู่กรณีเขาได้ทำทรัพย์สินของเราให้เสียหาย และคนในคณะ ล้มตายไปด้วย เมื่อเขามาพูดดีด้วย ด้วยความโกรธ ก็เมตตาไม่ได้

สุ. คนที่ตายนั้นกรรมของใคร และคนที่เจ็บนั้นกรรมของใคร ค่อยๆ อบรมไป กิเลสนี่มาก ถ้าเราปล่อยไว้ก็หนา ทั้งๆ ที่เราสติปัฏฐานก็เกิดน้อย แต่เราก็ รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร และเราเริ่มขัดเกลา โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เราจะไปทำ แต่หมายความว่า ฟัง และความเข้าใจจะเป็นผู้ชี้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ซึ่งนั่นคือปัญญา

เพราะฉะนั้น ปัญญามีหน้าที่เข้าใจ อะไรถูก อะไรผิด นี่เป็นปัญญา อะไรดี อะไรชั่ว นี่เป็นปัญญา อะไรควร อะไรไม่ควร นี่เป็นปัญญา ถ้าเราโกรธเขาและบอกว่า ควรโกรธ ก็ไม่ใช่โยนิโส

ความโกรธไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับใครเลย ไม่อย่างนั้นเราจะเรียนทำไม ในเรื่องเหตุ เรื่องผล เรื่องสภาพธรรม เรื่องจิต เรื่องเจตสิก อกุศลธรรมมีกี่ชนิด เป็นเหตุมี ๑๒ ดวง เป็นผลมีกี่ดวง เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราเรียนเพื่อจะเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นเรารู้ได้เลยว่า จิตที่เป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศลหน้ามือเป็นหลังมือเลยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เวลาที่กุศลจิตเกิดจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย จะมีการให้อภัย มีความเห็นใจ มีการช่วยเหลือ เขาจะเป็นใครก็ตามแต่ เขาก็มีอกุศลจิต เราก็มี อกุศลจิต ถ้าใครยังโกรธใครอยู่ หรือไม่ชอบใครก็ตาม ขอให้คิดว่า เราจะเห็นเขาเป็นครั้งสุดท้าย และจะไม่เห็นกันอีก เพราะฉะนั้น จะทำอะไร เมื่อเป็นการเห็น ครั้งสุดท้ายกันแล้ว จะทำดี หรือจะทำชั่วต่อกัน

ผู้ฟัง ผมคิดได้ทีหลัง แต่ตอนแรกโกรธ และเสียใจด้วยว่า ไม่ควรโกรธ

สุ. เพราะว่าไม่มั่นคงในกรรม ถ้ามั่นคงในกรรมแล้ว เรื่องกรรมของเขา เขาก็ต้องมีแน่ๆ วิบากของเขา เขาก็ต้องได้รับแน่ๆ และอกุศลของเขาก็มี ของเราก็มี เรามีหน้าที่อย่างเดียวที่เกิดมาในโลกนี้ คือ เพียรละอกุศลของเรา ไม่ต้องไป ยุ่งเกี่ยวกับอกุศลของคนอื่น

ผู้ฟัง เรื่องราวเข้าใจได้ แต่ทำจริงๆ ไม่ได้

สุ. พระพุทธศาสนาจึงใช้คำว่า อบรม หรือ ภาวนา นี่คือความหมาย ของภาวนา ไม่ใช่ไปนั่งหลับตา แต่อบรมจนสภาพของจิตที่ดีอย่างนี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น และยังต้องอบรมต่อไป จนกระทั่งสภาพของจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้สัจจธรรม จะค่อยๆ เกิดขึ้น

คิดถึงความหมายของคำว่า อบรม เด็กเกิดมาเราต้องอบรมเท่าไรกว่าจะ มีกิริยามารยาท มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นปีๆ เป็นชาติๆ เพราะฉะนั้น การเจริญกุศลก็ต้องอบรม ไม่อย่างนั้นในพระพุทธศาสนาจะไม่มีคำว่าอบรมเลย ไม่มีคำว่า ภาวนา เพื่อให้กุศลที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญขึ้น เพื่อให้อกุศลที่กำลังมีหมดไป เพื่อให้อกุศลที่จะเกิดไม่เกิด นี่คือการอบรม

ถ. ที่เขาโกงอยู่ทุกวันๆ จะทำอย่างไร

สุ. เรื่องโกงเป็นเรื่องของเขา จิตใจของเขา เรื่องใจของเรา เรามีหน้าที่เจริญกุศล คือ เราอาจจะปฏิบัติต่อเขาที่ถูกที่ควร ไม่ใช่ด้วยความโกรธ แต่ด้วยความมีเหตุมีผลและด้วยเมตตา คือ สงสารในความโกงของเขาที่เขาจะต้องเป็นคนโกงต่อไปอีกไม่รู้กี่ชาติ แต่เรามีสิทธิที่จะยับยั้งไม่ให้เขาโกงเราได้ เพื่อที่ว่าเขาเองก็จะไม่ทำอกุศลกรรม และเขาเองก็รู้ว่า เรารู้ แต่เรารู้แล้ว เราก็ไม่โกรธ เพราะเรามีหน้าที่ ที่จะขัดเกลากิเลสของเรา และเรายับยั้งเขาโดยไม่ให้เขาทำอกุศล ไม่ใช่ปล่อยให้เขาโกงต่อไป แต่ยับยั้งไม่ให้เขาโกง ช่วยเขาให้ลดอกุศลลงไปด้วย โดยการไม่ให้เขา โกงต่อไป

ถ. ในขณะที่เป็นผู้เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน ส่วนมากมักจะพิจารณาว่า มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ สิ่งที่ปรากฏเป็นรูป รู้เป็นนาม ก็มุ่งพิจารณาแต่สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปอยู่ตลอดเวลา แต่จากคำพูดของคุณอลันบอกว่า แม้แต่นามก็ต้องมีการสังเกตพิจารณาบ่อยๆ ผมยังไม่เข้าใจที่ว่า แม้แต่นามก็ควรมีการพิจารณาบ่อยๆ

สุ. เวลานี้ตั้งแต่เกิดจนตาย เรามีสิ่งที่กำลังปรากฏ และก็เปลี่ยนไปเรื่อย อย่างเห็นก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ เสียงก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ แข็งก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ตัวจิต ซึ่งมีตั้งแต่เกิดจนตายที่เป็นสภาพรู้ไม่เคยระลึก เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ทีละอย่าง อย่างทางตากำลังเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ทางหูที่กำลังได้ยิน ลองทิ้งไม่สนใจทางตา มาสนใจเสียงทางหูก็รู้ว่า มีจิตที่กำลังได้ยินเสียง

เพราะฉะนั้น ตัวจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เขารู้สิ่งที่ปรากฏเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สนิท จนไม่รู้เลยว่าสภาพรู้นี่มี ทั้งๆ ที่ถ้าไม่มีสภาพรู้ คือ จิตเกิด จะไม่มีเรานั่งอยู่ที่นี่เลย

ต้องสังเกตพิจารณาระลึกได้ว่า อาการรู้ในขณะที่กำลังเห็น เป็นสิ่งที่มีจริง และกำลังเห็นอยู่ คือ เป็นเพียงอาการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องพูดซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้ เปลี่ยนไม่ได้ เพราะของจริงก็คืออย่างนี้ จนกว่าสติจะระลึกได้ และค่อยๆ คลาย จากการที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ถ. ก่อนหน้านั้นผมไม่คำนึงในเรื่องของนามเลย มุ่งจะให้รู้ลักษณะของรูป ทางตามีสี ทางหูมีเสียง มุ่งไปที่ลักษณะของสี และลักษณะของเสียง ขาดการพิจารณาจิตที่รู้เสียงและรู้สี ความจริงแล้วต้องรู้ทั้ง ๒ ลักษณะ ตอนแรกคิดว่า เพียงรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้ทั่วก็เป็นวิปัสสนาญาณแล้ว คราวนี้ มาฟังคุณอลันพูดก็รู้ว่า ต้องสังเกตทั้งนาม ทั้งรูป แล้วแต่อะไรจะเป็นอารมณ์ของสติ ฉะนั้น โอกาสที่จะเป็นวิปัสสนาญาณก็ช้าไปอีก

เปิด  213
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565