แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1786
สนทนาธรรมที่จังหวัดอุดรธานี
วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
สุ. เวลาที่เราจะไม่ท้อ ก็เพราะเรารู้ว่าเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะเอาอะไร เพราะฉะนั้น ที่แล้วๆ มาแล้วทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์เป็นเรื่องของอวิชชา ไม่ใช่วิชชา ไม่ใช่ปัญญา คือ เรื่องไม่รู้ เวลาที่ไม่เคยฟังพระธรรม เป็นเรื่องไม่รู้ทั้งหมด
เมื่อฟังแล้วก็มีความรู้ถึง ๓ ขั้น คือ ขั้นฟังแล้วเข้าใจ หมายความว่า ขณะที่ฟังจะต้องพิจารณาด้วยและเข้าใจ เป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง แต่ยังไม่พอ สำหรับปัญญาที่สำเร็จจากการพิจารณาสิ่งที่เคยได้ยินแล้วอย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ ภาวนามยปัญญา จะต้องอบรมอีกขั้นหนึ่ง
ถ้าเราเข้าใจว่าเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ จะท้อทำไม ไม่ใช่เรื่องท้อ เป็นเรื่องอบรม เป็นเรื่องที่เราเป็นคนตรง ปัญญาของเรารู้ขั้นไหน และขั้นไหนกำลังค่อยๆ ศึกษาไป ค่อยๆ อบรมไป ค่อยๆ เจริญไป นิดหนึ่งที่ปัญญาเกิดขึ้นพร้อมสติ ที่ระลึกรู้ในอาการรู้ ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ทำไมเราจะท้อ
เพราะฉะนั้น เรื่องของความท้อทั้งหมดเป็นเรื่องของอวิชชาและตัณหา แทรกเข้ามาอย่างเร็วที่สุด ไม่ว่าคนจะศึกษามาก ศึกษาน้อยอย่างไร ถ้าเกิดมีความท้อใจขึ้นมารู้ได้เลยว่าหวังอะไร ไม่ได้ต้องการหรือเข้าใจเรื่องของปัญญาที่จะต้องอบรม แต่ถ้ารู้ว่าเป็นเรื่องเข้าใจ จะไม่ท้อเลย เข้าใจแค่นี้ ต่อไปก็เข้าใจอีก เข้าใจอีกๆ มีสิ่งที่จะให้เราเข้าใจอยู่เรื่อยๆ ถ้าเป็นปัญญา คือ เริ่มจากเข้าใจ และค่อยๆ ไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทางตาเข้าใจขึ้น
เราจะเข้าใจปรมัตถธรรมที่เราเรียนเพิ่มขึ้นๆ ความเข้าใจนั่นคือตัวปัญญา จะเป็นขั้นไหนก็ตามแต่ แต่ไม่ใช่เรื่องทำ หรือเรื่องอื่น เป็นเรื่องเข้าใจจริงๆ
ถ. ท้อใจ และแข้งขาอ่อน เป็นอาการแสดงออก ...
สุ. ขณะนั้นสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น เกิดขึ้นก็เป็นอย่างนั้น แต่ขณะนี้ ไม่เป็นอย่างนั้น ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกอย่างแม้แต่ความแห้งใจ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด เวลาที่โลภะเกิด สนุกสนาน ก็เป็นสภาพอย่างหนึ่ง เวลาที่โทสะเกิด แห้งใจ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทุกๆ วัน ก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นเอง ที่เราจะต้องคลายความเป็นตัวตนออกไปจากสภาพพวกนี้ เวลาสภาพธรรมพวกนี้เกิด ปัญญาเกิดก็คือคลายความยึดถือว่า เป็นตัวตน เพราะรู้ว่ากำลังเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ทีละเล็ก ทีละน้อยจริงๆ
ถ. เป็นกรรมของเราด้วย ใช่ไหม ที่จะต้องรู้สึกอย่างนั้น
สุ. เป็นกิเลส
ถ. เรามีปัจจัยทำให้แห้งใจ เพราะอะไรจึงทำให้เราต้องแห้งใจ
สุ. ก็กิเลสของเรา ถ้าพระอรหันต์ท่านได้ยิน ท่านสบายมาก ท่านไม่แห้งใจ เพราะท่านไม่มีกิเลส
คำว่า ปัจจัย ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป ถ้าเราเป็นคนมีโลภะ เห็นอะไรก็ อยากได้ๆ ถ้าเราเป็นคนมีโทสะ สะสมความไม่ชอบ เห็นคนนี้เราก็ไม่ชอบ เห็นคนนั้นเราก็ไม่ชอบ เห็นคนโน้นเราก็ไม่ชอบ เพราะเราสะสมโทสะเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น มีเรื่องต้องขัดเกลามาก ใช่ไหม เกิดมาแล้วได้ขัดไปหน่อยก็ยังดี และเจริญปัญญาขึ้นทุกภพทุกชาติ จะน้อยจะมากเราก็รู้ตัวเราเอง
ถ. ... วันนี้ก็สอนตัวเองว่า จะไม่กินเหล้า วันพรุ่งนี้ก็เอาอีกแล้ว หรือวันนี้ฉันจะไม่โกรธ วันพรุ่งนี้ก็โกรธอีกแล้ว ก็ปฏิบัติกันอยู่ซ้ำๆ ซากๆ ...
สุ. อริยสัจจ์ไม่ง่ายอย่างที่เข้าใจ เป็นสัจจธรรมที่ทำให้ผู้ประจักษ์แจ้ง เป็นพระอริยบุคคล แม้แต่อริยสัจจะที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจะ ถ้าจะพูดว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ ก็ไม่ผิด แต่ว่าอะไรเกิด อะไรตาย เรา ใช่ไหม ถ้ายังเป็นเราอยู่ ก็คือความเห็นผิด
การไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมแต่ละประเภทซึ่งเกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ลวงและหลงว่า ยังมีอยู่ ยังเป็นเราอยู่ แต่แท้ที่จริงจิตเมื่อวานนี้ ดับหมดแล้ว และจิตเมื่อกี้ก็ดับหมดแล้ว
ถ. ผู้ที่สำเร็จพระอรหันต์ ท่านไม่คิดอะไรเลย เข้าใจว่าอย่างนั้น ไม่ทราบว่าจะถูกผิดอย่างไร
สุ. การที่จะเป็นพระอรหันต์เป็นด้วยปัญญา การที่จะเป็นพระโสดาบัน ก็เป็นด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จริงๆ ว่าปัญญารู้อะไร ที่ว่าเป็นปัญญานั้นต้องเป็นสภาพที่รู้แจ้ง ประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เพียงขั้นคิด หรือไม่ใช่เพียงขั้นฟัง อย่าง บอกว่าจิตขณะนี้เกิดดับ พอที่จะพิจารณาว่าเป็นความจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ขั้นฟังกับขั้นคิด จิตดับจริงๆ ไหม หรือว่าพูดกันเอาเองว่า จิตเกิดดับ
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. พระธรรมที่ทรงแสดงไว้มีทั้งหมด ๓ ปิฎก ถ้าไม่เห็นประโยชน์จะ ไม่ทรงแสดง คำตรัสของพระผู้มีพระภาค ถ้าคำนั้นเป็นคำจริง ไพเราะ แต่ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ตรัส ถ้าคำนั้นเป็นคำที่ไพเราะ จริง และมีประโยชน์จึงตรัส ถ้าเป็น คำจริง แม้ไม่ไพเราะ แต่มีประโยชน์ก็ยังตรัส ส่วนคำใดที่ไม่จริงเป็นอันว่าไม่ต้องพูดถึง
พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้ง ๓ ปิฎก แสดงให้เห็นถึงคุณค่า เพราะว่าทรง พระมหากรุณาแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษาอย่างละเอียด พระวินัยก็เป็นเรื่องของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสมากกว่าคฤหัสถ์ ส่วนพระสูตรเป็นเรื่องของ สภาพธรรมที่ทรงแสดงกับบุคคลต่างๆ เป็นเครื่องประกอบให้รู้ว่า พระธรรมเทศนาแล้วแต่อัธยาศัยของบุคคลว่า เมื่อบุคคลสะสมมาที่จะได้ฟังพระธรรมข้อนี้ เขาสะสมมาที่จะเข้าใจ ก็ทรงแสดงตามอัธยาศัยสำหรับเฉพาะแต่ละบุคคล
สำหรับอีกส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก คือ พระอภิธรรม อภิ หมายความถึงละเอียดยิ่ง เพื่อที่จะอนุเคราะห์คนที่ฟังสั้นๆ ปัญญาก็ไม่เกิด ไม่เหมือนกับว่า กำลังฟังอยู่ เมื่อจบเทศนาก็เป็นพระโสดาบัน หรือเป็นพระอรหันต์ อย่างท่าน พระสารีบุตรก็ฟังท่านพระอัสสชิเพียงย่อๆ คาถาสั้นๆ ท่านก็เป็นพระโสดาบัน เพราะท่านเป็นพระอัครสาวก เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงวันกับเดือนที่เรามีโอกาสได้ฟังพระธรรม แต่ผู้ที่ฟังมาเป็นกัปๆ คิดดู ขณะนี้พระอภิธรรมที่ทรงแสดงธรรม โดยละเอียดเรื่องของจิตแต่ละชนิดให้เห็นว่า ไม่ใช่จิตขณะเดียว ในวันหนึ่งๆ จะต้องมีจิตเกิดดับหลายประเภท หลายชนิด ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งว่าจิตเกิดดับจะทรงแสดง ได้หรือว่า ขณะนี้นามธรรมคือจิตกำลังเกิดดับอยู่ทุกขณะ และจิตขณะหนึ่ง ประกอบด้วยเจตสิกกี่ประเภท อะไรบ้าง ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งแทงตลอดจริงๆ ทรงแสดงไม่ได้
เพราะฉะนั้น เหตุที่ทรงแสดงเรื่องจิตก็ดี เรื่องเจตสิกก็ดี เรื่องรูปก็ดี โดยละเอียดที่สุดซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถแสดงได้ ก็เพื่ออนุเคราะห์ให้คนฟังเห็น ความจริงว่า เป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป แม้ว่ายังไม่ประจักษ์ แต่อาศัยการฟังก็ทำให้สติปัญญาเพิ่มขึ้นและค่อยๆ รู้ว่า พระปัญญาคุณของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคืออย่างไร พระมหากรุณาคุณคืออย่างไร
ไม่ใช่เรื่องวันสองวัน หรือไม่ใช่เรื่องที่จะข้ามความละเอียดไป แต่ต้องเข้าใจ จริงๆ โดยการฟังมากขึ้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะจิตใจก็อยู่ที่เรา เจตสิกต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะก็อยู่ที่เรา ทำไมเราไม่รู้ ทำไมเราไม่ควรจะรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แต่จะข้ามไปรู้สิ่งอื่นซึ่งไม่มีประโยชน์เท่ากับรู้จักตัวเอง เพราะว่าผู้ที่จะปฏิบัติธรรม ต้องเห็นโทษของกิเลส ต้องรู้ว่าตัวเองยังไม่ดี เพื่อที่จะละคลายความไม่ดีนั้น และเพิ่มความดีขึ้น แต่ถ้าใครคิดว่าดีมากแล้ว คนนั้นจะไม่ฟังพระธรรมเลย เพราะว่าดีแล้ว แต่ผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ดีเท่าไรก็ยังไม่พอ ผู้นั้นก็มีโอกาสที่จะเจริญกุศลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. หมายความว่า ปัญญามีหลายขั้น ขั้นฟังเข้าใจยังดับกิเลสไม่ได้เลย และเราก็พิสูจน์ความจริงด้วยว่า ขั้นเข้าใจเป็นปัญญาระดับที่อ่อนมาก แต่เป็นพื้นฐานที่จะให้ปัญญาที่เข้าใจนั้นเจริญขึ้น ถูกต้องขึ้น คือ ไม่ผิดทาง ไม่ไปทำอย่างอื่น นอกจากศึกษาให้เข้าใจ
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. แต่เราใช้ของจริงในชีวิตประจำวันดีกว่าไปทำขึ้นมา เหมือนเห็น แต่ ไม่จริง อย่างถ้ามีคนบอกว่า มีดวงแก้วที่ตรงกลางตัว จะเป็นความจริงไปได้อย่างไร ขณะนี้เมื่อไม่มี แต่มีแข็ง อะไรจะให้ความจริงกับเราได้มากกว่ากัน มีเห็น มีได้ยิน มีโลภะ มีโทสะ ของจริง ซึ่งจะให้ความจริงได้มากกว่าที่จะต้องไปทำเห็นขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่มี แต่หลอกตัวเองว่าเห็น โดยต้องทำขึ้น แต่ได้ยินนี่ไม่ต้องทำ มีปัจจัย ปรุงแต่งเกิดและก็ดับ เห็นนี่ก็ไม่ต้องทำ ไม่มีใครทำได้ มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดเห็น เห็นจริงๆ และก็ดับ
ผู้ฟัง ผมถึงบอกว่า ลืมตาอยู่ยังไม่เห็น ไปหลับตาจะเห็นอะไร
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. กิเลสของเราพอใจอะไร เราต้องรู้ว่ากิเลสพอใจในสิ่งที่เราเห็น เพราะฉะนั้น การที่เราจะดับกิเลสได้ เราต้องรู้ความจริงในสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เราเคยพอใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เมื่อเรามีตาแล้ว มองเห็นเป็นสีต่างๆ เท่านั้นเอง
เรานี่ฉลาดหรือเปล่าที่พอใจสี สีเลอะๆ เทอะๆ สีเขียว สีแดง สีฟ้า สีสว่าง สีอะไรต่างๆ ก็ไปหลงติด อย่างคนที่เขาสะสมภาพเขียน เขาซื้อภาพเขียนราคาแพงๆ สีทั้งนั้น ใช่ไหม ที่บนกระดาษหรือบนผ้าก็คือสี แต่ก็นำมาซึ่งความผูกพัน ทำให้ราคาสูงตามความพอใจ เป็นเครื่องวัดโลภะของเราว่าเราติดในสีนั้นแค่ไหน เพราะฉะนั้น ราคาของสิ่งต่างๆ ซึ่งเราสามารถจะซื้อหามาได้ สะท้อนถึงโลภะหรือความยึดมั่น ในสิ่งนั้นของเรา ซึ่งเป็นแต่เพียงสีเท่านั้นเอง
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปมุมมืด ถ้าไปมุมมืดแล้วกลับมาก็ยังคงชอบอยู่ จนกว่าจะอาจหาญที่จะเผชิญของจริงที่ค่อยๆ รู้ขึ้นจากการฟังพระธรรมว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ และเอาไปไม่ได้ คนที่สะสมภาพเขียนไว้มากๆ ก็ต้องจากภาพเขียนนั้นไป คือ ไม่มีสมบัติสิ่งใดเลย สีต่างๆ นี่ก็ไม่ได้เป็นของใคร ใครจะรักเขา สักเท่าไร จะพอใจเขาสักเท่าไร เขาก็เกิดดับ และแก่ชราไปตามลักษณะของเขา ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับๆ ไม่มีใครพ้นความจริงนี้ไปได้ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เปลี่ยนแปลงไม่ได้
อภิธรรม หมายความถึงธรรมส่วนละเอียด คือ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นามธรรมทุกประเภท รูปธรรมแต่ละชนิด ทำให้เราฉลาดที่จะรู้ว่า สิ่งที่เราไม่เคยรู้ และหลงยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นร่างกายทั้งแท่ง แท้ที่จริงแล้วมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่พร้อมที่จะแตกสลายเป็นผงจุณละเอียดยิบเมื่อไรก็ได้ เท่ากับว่าผงคลีหรือว่าฝุ่น แต่ละส่วนเล็กๆ มารวมกัน เกิดเพราะกรรมบ้าง เกิดเพราะจิตบ้าง เกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนบ้าง เกิดเพราะอาหารที่เราบริโภคเข้าไปบ้าง ทำให้ร่างกายนี้คงดำเนินต่อไปได้ และเราก็ยึดถือว่า สิ่งที่รวมกันนี้เป็นเรา แต่ให้ทราบว่า มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ และแตกสลายไปเมื่อไร เมื่อนั้นก็หาความเป็นเราไม่ได้
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. แสดงให้เห็นว่า เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าเราทำอกุศล ทำแต่สิ่งที่ไม่ดี และเราก็ขอแต่สิ่งที่ดี จะเป็นไปได้ไหม และอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเราทำแต่สิ่งที่ดี จะให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น เหตุกับผลต้องตรงกัน ถึงแม้ว่าไม่ขอแต่ถ้าทำดี ผลก็คือเห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี กระทบสัมผัส สิ่งที่ดี
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. มีกรรม และมีผลของกรรม
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ต้องปัญญาเท่านั้น ใครทำอะไรไม่ได้เลย กิเลสเขาทำหน้าที่ของกิเลส คือ โลภะเขาก็มีกิจหน้าที่ของเขา คือ ติดทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแล้วก็ชอบอยากได้ ได้ยินเสียงก็ติดข้อง มีความยึดมั่นไม่สละ นั่นคือกิจของโลภะ ถ้าโทสะก็เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ขณะใดที่เกิดขึ้นเขาก็แข็งกระด้าง ขุ่นเคือง ทำร้ายทำลายทุกอย่าง นั่นคือลักษณะของโทสะ
ส่วนปัญญาก็มีกิจที่ตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเรารู้กิจของปัญญาว่า ปัญญาสามารถรู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เราก็จะอบรมเจริญปัญญา ให้ปัญญาเกิดขึ้น และจึงทำกิจของปัญญาได้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด จะอ้อนวอนขอให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ และอยู่ดีๆ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ต้องอบรมเจริญให้ค่อยๆ เกิดขึ้น
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เวลาทำกุศลแต่ละครั้งเราอุทิศส่วนกุศลได้ ส่วนอกุศลเราไม่อุทิศให้ใคร หลังจากทำกุศลแล้วอุทิศทันทีเฉพาะกุศลที่ทำ ไม่ต้องไปคิดถึงขณะอื่น ทำกุศลสำเร็จขณะใดก็อุทิศเฉพาะกุศลที่ทำให้
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. กุศลจิตบางขณะเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ ปานกลาง บางขณะเกิดร่วมกับความปีติโสมนัส เราบังคับไม่ได้ บางขณะที่เราทำกุศล เราก็ปีติ บางขณะ เราก็เฉยๆ แต่ให้ทราบว่ากุศลเป็นธรรมฝ่ายดี ไม่ว่าจะเกิดร่วมด้วยกับโสมนัส ความปีติหรือไม่เกิดร่วมด้วยกับโสมนัสก็ตาม ก็ยังเป็นกุศล
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. สภาพธรรมแม้แต่จิตของเราก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา สัมมาสติ คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต และเห็นความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี่คือ จุดเริ่มของปัญญา ไม่ใช่ไปเห็นอย่างอื่น หรือทำอย่างอื่น แต่รู้ของจริงๆ คือ ขณะที่กุศลจิตเกิดไม่เกิดปีติ ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศลที่ไม่เกิดกับปีติ
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนต้องเป็นผู้ที่มั่นคงไม่หวั่นไหวในเหตุในผล คือ ในกรรมและผลของกรรมของตนเอง จะต้องไม่หวั่นไหวจริงๆ
อย่างคนที่ได้รับอุบัติเหตุ ถ้าไม่เคยมีกรรมมาก่อนเลย จะไม่มีร่างกาย ซึ่งบางวันก็กระทบกับสิ่งที่สบาย บางวันก็กระทบกับสิ่งที่ไม่สบาย แต่ถ้าถูกโจรผู้ร้ายประทุษร้าย ก็อาจจะคิดว่าที่กำลังเจ็บปวดเป็นเพราะโจรผู้ร้าย ลืมว่า ไม่ใช่เลย ถึงแม้ไม่มีโจรผู้ร้าย ตกเครื่องบินก็ได้ ตกรถไฟก็ได้ ถูกรถทับก็ได้ อะไรก็ได้ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องจึงคิดว่าเป็นเพราะคนอื่น ฉันใด เวลาที่จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ก็คิดว่าเพราะคนอื่นให้ แต่ลืมว่า เป็นเพราะกรรมของเราเอง คนอื่นจะให้ได้อย่างไร ในเมื่อเขาเองก็มีกรรมของเขาเอง จะไปทำกรรมให้คนอื่น เป็นไปไม่ได้
คำว่า พร หรือ วะรัง แปลว่าประเสริฐ คนอื่นให้ได้ไหม ที่ให้พรกัน อวยพรกัน ขณะนั้นเป็นแต่เพียงเมตตาจิตที่มีความหวังดี มีความปรารถนาดี มีความระลึกถึงในทางที่ดีต่อกัน แต่ใครก็ตามที่ขอพร หวังพร ต้องการพร ต้องทำกุศลด้วยตนเองจึงจะได้ ถ้าขอพรมากๆ ก็หมายความว่า ต้องทำกุศลให้ มากพอที่จะเป็นปัจจัยให้พรนั้นๆ เกิด ไม่ใช่ทำนิดเดียวและขอมากๆ เหตุกับผล ไม่ตรงกันเลย
เพราะฉะนั้น คนไหนได้รับพร คือ สิ่งที่ดีมาก ก็เพราะเหตุคือกุศลที่ทำไว้มากต่างหาก ไม่ใช่เพราะคนอื่นมาให้ได้
มีหนังสือเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ ที่มีเรื่องพร แสดงให้เห็นถึงในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มหาอุบาสิกาวิสาขาขอพร คือ ขอโอกาสที่จะ กระทำกุศล เพราะรู้ว่าพรทั้งหลาย สิ่งที่ดีทั้งหลาย สิ่งที่ประเสริฐทั้งหลายจะมีได้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะกุศลซึ่งเป็นเหตุ แต่ไม่ใช่ว่าไปเที่ยวขอพรจากคนนั้นคนนี้แล้วหวังว่า สิ่งที่จะได้รับนั้น มาจากคนนั้นคนนี้