แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1787

สนทนาธรรมที่จังหวัดอุดรธานี

วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


ถ. ผู้ที่บำเพ็ญเพียร สมาธิ สามารถมีญาณมองเห็นเลข ๒ ตัว ๓ ตัว ไม่มีเหตุผลเลย แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนถูก

สุ. เพราะมีกรรมเป็นของตน และประจวบกันได้ ถึงคราวที่กรรมให้ผลดี ก็ถูก ถึงคราวกรรมไม่ดีก็ผิด ไม่ใช่จะต้องถูกเสมอไป เวลานี้ใครจะมองเห็นอะไร ก็มองเห็นได้ทั้งนั้น แต่จะถูกหรือจะผิด

ถ. อย่างร่างทรง อาจารย์จะแสดงความคิดเห็นอย่างไร

สุ. จิตมีพลังถ้าคนนั้นเคยเจริญสมาธิ แม้เป็นมิจฉาสมาธิ

สัมมาสมาธิเป็นเรื่องละคลายขัดเกลากิเลส แต่แม้มิจฉาสมาธิซึ่งไม่เป็น เรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นการเห็นโทษของอกุศล ไม่ใช่เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส ก็ยังสามารถสร้างรูปบางรูปได้ด้วยกำลังของจิต เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ที่ถูกต้อง เป็นฌานจิตจริงๆ จะเกิดอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นของจริงๆ ได้แค่ไหน เพราะว่าเพียงเศษเล็กเศษน้อยในสังสารวัฏฏ์ที่แต่ละคนก็คงเคยทำสมาธิมาบ้าง และ มีการสะสมหลงเหลือเป็นเศษเล็กเศษน้อยก็ยังมีผลเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์ และไม่ใช่เรื่องถูกต้องที่ว่าเป็นผลที่สมควรแก่เหตุจริงๆ เพียงแต่เป็นการสะสมเล็กๆ น้อยๆ อย่างบางคนสังหรณ์ใจหรือเฉลียวใจ นั่นก็เป็นเรื่องของการที่เคยสะสมความละเอียด การคิดไตร่ตรอง และเป็นผู้ที่มีความว่องไวที่จะไม่ขาดเหตุผล ก็ทำให้เกิดการนึกเฉลียวใจได้

เพราะฉะนั้น แต่ละเรื่องเป็นสภาพของจิตที่สะสมสืบต่อสลับซับซ้อนมา แต่ไม่ใช่ประโยชน์อันแท้จริง ถ้าเป็นประโยชน์อันแท้จริงแล้ว ต้องเป็นเรื่องละคลาย เรื่องปัญญา เรื่องสัมมาสมาธิ

ถ. อย่างเรื่องเทวดาก็มี

สุ. ก็อนุโมทนาที่รู้ว่ากุศลมีหลายระดับขั้น เพราะฉะนั้น ผลของกุศลก็ต้องมีหลายระดับขั้นด้วย การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล ฉันใด ถ้ากุศลนั้นมีกำลัง ก็ทำให้เกิดในภูมิที่สบายกว่ามนุษย์ มีอารมณ์ที่ละเอียดประณีตกว่า เป็นสวรรค์ชั้นต่างๆ นั่นคือผลของกรรมที่ประณีต

ที่สงสัยนี่เป็นเรื่องเทวดามาเข้าทรงหรืออย่างไร

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. หมายความว่าสวรรค์มีจริง เพราะว่ากุศลที่ประณีตก็มี เพราะฉะนั้น สวรรค์ก็มี แต่ไม่ต้องไปสนใจ เพราะว่ายังไม่เห็น เหมือนอย่างโลกนี้ เราก็อาจจะสงสัยว่า โลกนี้จะเป็นอย่างไร

ตอนเกิด ปฏิสนธิจิตต้องเกิด ไม่ใช่เป็นก้อนเนื้อเฉยๆ ต้องมีจิตเกิดด้วย ขณะแรกของการอยู่ในครรภ์ เราก็ไม่รู้ว่าโลกนี้จะเป็นอย่างนี้ หรือใครรู้ก่อนว่า โลกนี้คืออย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีเสียงอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ เราก็ไม่รู้ แต่เมื่อเกิดใน โลกนี้ ก็รู้จักโลกนี้ เห็นสีสันของโลกนี้ ได้ยินเสียงของโลกนี้ ได้กลิ่นของโลกนี้ ซึ่งมี ทั้งกลิ่นที่ดีและกลิ่นที่ไม่ดี ขยะก็อยู่ในโลกนี้ ดอกไม้ น้ำหอม ก็อยู่ในโลกนี้ นี่คือ กลิ่นของโลกนี้ ฉันใด เวลาที่เรายังไม่ไปสู่สวรรค์ เราก็ไม่รู้ว่าสวรรค์มีลักษณะอย่างไร แต่ตราบใดก็ตามที่ยังไม่หมดภพชาติ ก็ยังต้องเห็น นี่เป็นผลของกรรม ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส เพียงแต่อารมณ์ที่ปรากฏ หรือสิ่งที่จิตกำลังรู้ กำลังเห็นนั้น ประณีตต่างกัน หรือว่าทุกข์ทรมานต่างกัน

อย่างสัตว์ดิรัจฉานกับมนุษย์ ความสะดวกสบายก็ต่างกันตามกรรม เป็นภูมิหนึ่งซึ่งเรามองเห็นได้ ทั้งๆ ที่ร่วมโลกเดียวกัน แต่ระดับของจิตต่างกันเพราะผลของกรรมต่างกัน

ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งหมด เพราะว่าเรามาสู่โลกนี้ และเราก็ต้องจากโลกนี้ แต่เราไม่รู้ว่าจะไปไหนเท่านั้นเอง ถ้าเราเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผลก็ทราบได้ว่า ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม เราก็ต้องเกิดในภพภูมิที่ดี

ในวันหนึ่งๆ อกุศลมากกว่ากุศลมากมายนับไม่ถ้วนเลย เพราะฉะนั้น ทำความดีทุกโอกาสที่จะกระทำได้ โดยที่ว่าดีเท่าไรก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่ายังไม่ได้ดับกิเลส เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาให้มาก

ถ. เรื่องเคราะห์กรรมที่ไปปล่อยสัตว์ต่างๆ ถ้าให้ผมพูดตามความเข้าใจ คำว่า เคราะห์ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่กรรมเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงเคราะห์ ก็จะมีการสะเดาะเคราะห์ เหมือนกับว่าไปทำอะไรสักอย่างให้ผลของกรรม ...

สุ. ที่จริงการปล่อยสัตว์ก็เป็นกุศลกรรม แต่เราทำด้วยเจตนาอะไร นี่สำคัญที่สุด คือ แทนที่จะระลึกได้ว่า เพื่อเจริญเมตตาให้มากขึ้น เรากลับไปหวังผลของการกระทำนั้น ซึ่งไม่ตรง

ถ. ถ้าเมตตาด้วย และปล่อยด้วย จะได้ผลไหม

สุ. ไม่ต้องหวังเลย เพราะว่ากรรมดีต้องให้ผลแน่ๆ โดยที่เราไม่ต้องหวัง เพราะฉะนั้น เวลาเราไปหวัง เราเสียตรงที่หวัง เพราะว่าผลนั้นต้องเกิดแน่นอนอยู่แล้ว

ถ. ดิฉันก็อายุมากแล้ว ...

สุ. ช่วยให้เขามีชีวิตขณะนั้นเป็นเมตตา แต่เราไม่จำเป็นต้องหวังอะไรเลย เพราะถ้าถึงเวลาที่เราจะตาย ไม่ว่าเราจะอายุน้อยอายุมาก อย่างคุณอลันเราก็เห็น อยู่แล้วว่า จุติจิตต้องเกิดเพราะกรรม จะไปฝืนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เราก็ไม่หวั่นไหว วันไหนก็วันนั้น หนีกรรมไม่พ้นทุกคน ที่ใช้คำว่า ถึงแก่กรรม ตรงตัวที่สุด เพราะว่ากรรมทำให้จุติจิตเกิด คนอื่นทำไม่ได้แน่นอน อย่างคุณกาญจนายังไม่ถึงแก่กรรม แต่คุณอลันถึง ทั้งๆ ที่อยู่ด้วยกัน ในที่เดียวกัน แล้วแต่ว่ากรรมจะทำให้จุติจิตของใครเกิด ถ้ายังไม่เกิดก็ทำให้จักขุวิญญาณเกิด โสตวิญญาณเกิด จิตประเภทอื่นๆ เกิด

เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องหวังอะไรเลย เพียงแต่ทำความดีไปเรื่อยๆ วันไหน ก็วันนั้นที่ต้องเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติตามกรรม

ผู้ฟัง เรียนให้อาจารย์ทราบย่อๆ เกี่ยวกับเรื่องกรรมที่สลับซับซ้อน ที่บ้านผมใกล้สระน้ำ วันหนึ่งไปยืนบนกระท่อมกลางสระ เห็นงูตัวหนึ่งกำลังกินกบ นอนนิ่ง ผมก็แปลกใจ ยืนดูอยู่ ๒๐ นาที ไม่กระดุกกระดิกเลยทั้งงูทั้งกบ เมื่อผมพิจารณาดู ก็รู้ว่า งูตัวนี้ไม่สามารถกินกบต่อไปได้อีก เพราะกบตัวนี้ใหญ่มาก มันอมทางขาเข้าไปติดอยู่ที่สะโพก เอาก้อนหินปาไป งูตกใจก็ค่อยๆ คลายๆ กบออก และงูก็หนีไป ผมก็นำกบมาทอด ก็มีคนมาว่าผมว่า ไปแย่งอาหารงู ผมก็เถียงว่า งูกลืนไม่เข้าแล้ว ผมเคยเลี้ยงงู ผมทราบดี ผ่าท้องกบ พบปูตัวเบ้อเร่ออยู่ในท้องกบ จึงเอาปูมาใส่ในขัน สักครู่ปูก็กระดุกกระดิกได้ ผมก็ปล่อยปู ปูก็ลงสระไปเลย

เรียนให้อาจารย์ทราบถึงกรรมที่สลับซับซ้อน

สุ. ก็เห็นกรรมของปูว่า วิจิตรแค่ไหน ใครจะคิดว่าจะมีคนมาช่วย ขนาดอยู่ในท้องกบ และกบอยู่ในปากงู ก็เป็นไปตามกรรม จุติจิตของปูยังเกิดไม่ได้

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๓๑

ข้อที่น่าคิดซึ่งจะต้องพิจารณาอยู่เสมอ คือ การอบรมเจริญกุศลและการอบรมเจริญปัญญานั้นเพื่ออะไร นี่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากสำหรับชีวิตประจำวัน เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนกระทั่งประจักษ์ลักษณะของพระนิพพาน สามารถดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลได้ เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมจริงๆ ด้วยการขัดเกลากิเลส ด้วยปัญญาที่พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรลุถึงสังขารุเปกขาญาณ คือ ปัญญาที่เป็นกลาง วางเฉย ไม่หวั่นไหวในนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายในชีวิตประจำวัน เป็นการละคลายความผูกพันยึดมั่นในนามธรรมและรูปธรรมด้วยปัญญา ซึ่งสังขารุเปกขาญาณนั้นเป็นวิปัสสนาญาณสุดท้ายก่อนที่มรรควิถีจิตจะเกิด

แสดงให้เห็นว่า หนทางหรือระยะทางที่ปัญญาจะอบรมเจริญจากขณะหนึ่ง สู่อีกขณะหนึ่งในชีวิตประจำวันซึ่งผู้ที่อบรมเจริญปัญญาสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า เริ่มจะมีการละคลายความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ไม่ใช่หวังเพียงว่า เมื่อทำ อย่างนั้นอย่างนี้แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันทีรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ปัญญา ที่เพิ่มจะเพิ่มพร้อมกับสติที่ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ปัญญาต้องเพิ่มขึ้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏคือในขณะนี้จากการฟัง และเป็นการพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังด้วยความเข้าใจ จนถึงแม้ในขณะนี้เอง สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพนามธรรมหรือรูปธรรมทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ และไม่พิจารณาโดยละเอียด ก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า การวางเฉยมีหลายลักษณะ บางท่านอาจจะหลงเข้าใจผิด คิดว่าวางเฉยได้มากแล้ว แต่ตามความเป็นจริงถ้าปัญญาไม่เกิด จะไม่ใช่การวางเฉยด้วยปัญญา แต่จะเป็นการหลงเข้าใจว่าได้ละคลายความผูกพันในนามธรรมและรูปธรรมและวางเฉย

ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องเข้าใจโดยไม่ผิด โดยไม่คลาดเคลื่อน แม้เพียงเล็กน้อยก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดเกิดความเข้าใจผิด หรือว่าหลงเข้าใจผิดบ้างหรือเปล่า

สำหรับอุเบกขามี ๑๐ อย่าง ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว สำหรับวันนี้เป็นการทบทวนเพื่อที่จะให้ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ ที่เข้าใจว่าวางเฉยบ้างสำหรับบางท่าน จะเป็นการวางเฉยในอุเบกขาประเภทใด

อุเบกขา ๑๐ คือ

๑. ฉฬังคุเปกขา เป็นจิตของพระอรหันต์ เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึก ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่หวั่นไหว เพราะว่าเป็นผู้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ไม่มีผู้ใดที่จะมีฉฬังคุเปกขาแน่นอน นอกจาก ผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้น

๒. พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร ไม่หวั่นไหว เป็นกลาง ในสัตว์ ในบุคคลทั้งหลาย คือ ไม่หวั่นไหวเอนเอียงไปด้วยความรักและความชัง ในชีวิตประจำวันต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่าหวั่นไหวหรือเปล่า หรือเป็นกลางหรือเปล่า ในสัตว์ ในบุคคลทั้งหลาย

๓. โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ อุเบกขาซึ่งเป็นองค์ที่จะให้ตรัสรู้อริยสัจจธรรม เป็นวิปัสสนาญาณที่อบรมเจริญถึงขั้นใกล้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ก็ยังอีกไกล

๔. วิริยุเปกขา สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา เป็นความเพียรที่ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้เจริญสมถภาวนาที่จะให้ถึงสมาธิขั้นต่างๆ นั้น จะไม่มีวิริยุเบกขา

๕. สังขารุเปกขา ได้แก่ ปัญญาที่ได้ประจักษ์ไตรลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนชิน จนละคลาย จนละวาง จนใกล้ต่อการที่จะดับการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมเป็นผู้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า เมื่อปัญญายังไม่ถึงขั้นวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นๆ สังขารุเปกขาญาณก็เกิดไม่ได้

๖. เวทนุเปกขา คือ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ข้อนี้เป็นสิ่งที่มีได้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ

๗. วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของไตรลักษณ์

๘. ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิต เกิดในขณะที่จิตเป็นกุศล

๙. ฌานุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาในตติยฌานโดยจตุกกนัย และ จตุตถฌานโดยปัญจกนัย

๑๐. ปาริสุทธุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาในจตุตถฌานโดยจตุกกนัย หรือปัญจมฌานโดยปัญจกนัย

เปิด  239
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565