แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1788

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๓๑


ในวันหนึ่งๆ แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรมเป็นภาษาบาลีชื่อต่างๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ถ้าเข้าใจอรรถคือลักษณะของ สภาพธรรม ก็จะไม่ต้องคำนึงถึงชื่อต่างๆ ซึ่งอาจจะคิดว่ายากต่อการที่จะจำ และ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานซึ่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะรู้โดยลักษณะที่ไม่ได้คิดถึงชื่อ แต่กำลังรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ

เพราะฉะนั้น สำหรับอุเบกขา ๑๐ อย่าง ยังไม่ชินกับชื่อของอุเบกขาทั้ง ๑๐ เพราะว่ายังไม่ใช่ชีวิตประจำวัน ซึ่งในอุเบกขา ๑๐ นั้น ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์และ ผู้ที่ไม่ได้เจริญสมถภาวนา อุเบกขาในชีวิตประจำวันจะมีเพียง ๓ ประเภท คือ เวทนุเปกขา ๑ ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ๑ และพรหมวิหารุเปกขา ๑

นี่เป็นการรู้จิตของแต่ละคนในแต่ละวันตามความเป็นจริงในเรื่องของการวางเฉยว่า เป็นการวางเฉยที่ถูกหรือที่ผิด เป็นการวางเฉยที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล เช่น เวทนุเปกขา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ก็จะต้องพิจารณาว่า ในวันหนึ่งๆ ตามความ เป็นจริงแล้วเกิดบ่อย ใช่ไหม บ่อยกว่าความรู้สึกโสมนัสหรือโทมนัส แต่เวทนุเปกขา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา และเมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญาก็จะต้องพิจารณาว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลด้วย

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านซึ่งเป็นผู้ตรงจะสามารถรู้ว่า ความรู้สึกเฉยๆ ใน วันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศล ในขณะที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่เป็นไปในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าอุเบกขาเวทนาหรือความรู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่การวางเฉยด้วยปัญญา แต่เป็นเพียงความรู้สึกไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ในขณะที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลจิต

ในขณะที่ไม่เป็นกุศลในวันหนึ่งๆ เริ่มรู้จักว่า โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาบ่อยไหม ไม่ใช่วางเฉยด้วยปัญญา หรือในขณะที่เกิดกับกุศล ขณะนั้นแม้เป็นกุศล แต่เป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่ปลาบปลื้มดีใจ เป็นกุศลด้วยอุเบกขาเวทนา คือ ไม่รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เช่น ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม เป็นกุศลจิต พิจารณาความรู้สึกในขณะนี้เป็นอุเบกขาหรือเปล่า เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ขณะนั้นก็เป็น มหากุศล ซึ่งมีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น สำหรับเวทนุเปกขา ในวันหนึ่งๆ เกิดบ่อย และส่วนใหญ่จะเป็นอกุศล คือ เป็นโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต จะเป็นกุศลก็ได้ในขณะที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในความสงบของจิตบ้าง หรือในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม

สำหรับอุเบกขาที่ ๒ คือ ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตทุกประเภท ความเป็นกลางไม่หวั่นไหวเกิดร่วมกับโสภณจิตหรือ กุศลจิตในชีวิตประจำวัน มิฉะนั้นแล้วก็เป็นกุศลไม่ได้

สำหรับพรหมวิหารุเปกขา เป็นกุศลในขณะที่วางตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายเพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ความวางเฉยที่เป็นพรหมวิหารุเปกขา จะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล

กว่าจะถึงสังขารุเปกขาญาณซึ่งเป็นญาณสุดท้ายก่อนที่มรรควิถีจะเกิด ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้จักแม้ความเป็นกลางที่เกิดกับตนเองในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมช่วยให้เป็นผู้ละเอียด และเป็นผู้ฟังพระธรรมด้วยการพิจารณาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่คลาดเคลื่อน และต้องไม่เป็นผู้ที่เพียงอ่านพระธรรม เข้าใจโดยพยัญชนะ แต่ไม่เข้าถึงอรรถซึ่งเป็นลักษณะของปรมัตถธรรม

ผู้ที่ศึกษาพระธรรมในขณะนี้จะรู้จุดประสงค์ว่า ศึกษาเพื่อสามารถเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริงโดยแยกบัญญัติออกจากปรมัตถธรรมได้

พระธรรมมีหลายขั้น แต่ขั้นที่สามารถดับกิเลสได้จริงๆ นั้น ต้องเป็นการฟัง พระธรรมที่สามารถแยกบัญญัติออกจากปรมัตถธรรมได้ มิฉะนั้นแล้วปัญญา ไม่สามารถจะเจริญถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ถ. อุเบกขา ๑๐ นี่ ค้นได้ที่ไหน

สุ. อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์

ถ. ในพระไตรปิฎกคงไม่มี

สุ. เรื่องที่จะค้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อความที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถาก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่อรรถกถาจารย์ท่านประมวลรวบรวมข้อความในพระไตรปิฎกให้เป็นประเภทขึ้นเท่านั้น

ถ. ดูหนังสือหลายเล่มแล้ว บางทีเจอแค่ ๓ อุเบกขา ยังไม่เคยพบถึง ๑๐

สุ. ในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา

ถ. เป็นหนังสือของท่านพระมหาประยุทธ์

สุ. หนังสือของท่านผู้ใดก็แล้วแต่ ควรจะศึกษาหรืออ่านจากพระไตรปิฎกโดยตรงและอรรถกถา เช่น ในอัฏฐสาลินีด้วย

ถ. อาจารย์บอกว่า อุเบกขา ๓ เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเราได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๒ วันนี้เอง คือ คนที่เคยเกี่ยวข้องและผูกพันกันมา ในระยะ ๑๐ ปีหลัง ไปอยู่ที่อื่น แต่ความผูกพันก็ยังมีอยู่ แต่เป็นไปในทางเกลียดชังกันมากกว่า เมื่อไม่พบกันก็ไม่มีอะไร ๒ วันก่อนเขาถูกยิงตาย เราศึกษาธรรม ความรู้สึกของเรา ก็อยากให้เป็นอุเบกขาว่า อย่าไปยินดียินร้ายเลย แต่สู้กิเลสไม่ไหว อย่างน้อยที่สุด ก็ได้ไปเล่าให้คนอื่นฟัง เป็นการพิสูจน์เลยว่า ยาก ตัตรมัชฌัตตตาเกิดไม่ไหว ขนาดบางทีมีสติไม่พูด แต่เวลาไปพบคนที่เขารู้จัก ก็อดที่จะเล่าให้ฟังอีกไม่ได้ด้วยจิตที่ เป็นอกุศล

สุ. เรื่องของอกุศลจิตเป็นเรื่องที่เมื่อมีปัจจัยก็เกิด ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ เพราะว่ายังมีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตก็เกิด แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่า แม้อกุศลในขณะนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ คือ มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ แม้ขณะนั้นอกุศลจิต ก็มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น แสดงความเป็นอนัตตา เพราะว่าไม่ชอบอกุศล และไม่อยากให้อกุศลเกิด แต่แม้กระนั้นก็ตามก็ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้

การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องหวัง หรือไม่ใช่เรื่องบังคับให้จิตประเภทนั้นเกิด หรือไม่ให้จิตประเภทนี้เกิด แต่เป็นเรื่องเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง หรือเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่จะมีใครต้องไปทำอะไรขึ้นมาเลย

การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติจริงๆ โลภะจะเกิดอย่างมาก บางคนกลัว เดือดร้อน เดือดร้อนแล้วทำอะไรได้กับโลภะซึ่งมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น อย่างมากนั้น นอกจากจะระลึกได้และรู้ว่า ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่ว่าจะไปทำลายโลภะด้วยความตั้งใจหรือด้วยความต้องการ เพียงแต่ระลึกรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน นี่เป็นกิจที่จะต้องกระทำตามลำดับขั้น คือ ไม่ว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็ระลึกรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ก็จะละคลายความเดือดร้อนใจว่า โลภะเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าอกุศลเกิดขึ้นแล้ว

อย่างท่านที่ถาม เดือดร้อนใจที่อกุศลจิตเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ไม่อยากจะให้เกิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเดือดร้อนทำไม ในเมื่อรู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ไปเดือดร้อน แต่ต้องเข้าใจลักษณะของนามธรรมว่า เป็นนามธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ้าปัญญายังไม่พอก็เดือดร้อนอีก เพราะว่าขณะใดที่หวังจะเห็นลักษณะของโลภะได้ว่า เพียงต้องการไม่ให้โลภะเกิดก็เป็นทุกข์ เพราะโลภะต้องเกิดแน่ๆ ไม่มีใครยับยั้งไม่ให้โลภะเกิดได้ เพราะฉะนั้น ความหวัง หรือความต้องการ หรือความปรารถนานั้น เปล่าประโยชน์ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำให้เกิดความผิดหวังเมื่ออกุศลประเภทนั้นเกิด ต้องมีความโทมนัส ความขุ่นเคืองใจอยู่เรื่อยๆ เมื่อไม่รู้ว่าควรที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น จึงจะละอภิชฌาและโทมนัสได้ ละทั้งความต้องการและความไม่ต้องการในสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย ตามปกติตามความเป็นจริง

นี่เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งไม่ใช่ละเอียดเพียงการฟัง ต้องละเอียดแม้ในขณะที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดก็ตาม

ถ. สังขารุเปกขาญาณ คือ การวางเฉยในสังขารธรรม ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมจนชิน จนชัดแล้ว คำว่า เป็นกลาง คือ ไม่มากและไม่น้อย อภิชฌาหมายถึงการยึดการติดในสังขารธรรม โทมนัสหมายถึงไม่ต้องการ ส่วนการวางเฉยนั้น หมายถึงละอภิชฌาและโทมนัส ใช่ไหม

สุ. แน่นอน แต่ตามลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นสติปัฏฐาน จนกว่าปัญญาจะ เจริญขึ้นเป็นสังขารุเปกขาญาณ

ถ. ในวิปัสสนูเปกขาเป็นตัตรมัชฌัตตตา ทุกวิปัสสนาญาณจะมี ตัตรมัชฌัตตตาในวิปัสสนูเปกขา ใช่ไหม

สุ. วิปัสสนูเปกขาเป็นปัญญาที่ประจักษ์ไตรลักษณ์ ไม่สงสัยในไตรลักษณะ เพราะว่าได้ประจักษ์ในขณะนั้น ก็ทำให้วางเฉยในขณะนั้น

แทนที่จะมีอภิชฌาและโทมนัส ใช่ไหม แทนที่จะสงสัย ยึดและก็ติด ใช่ไหม

สุ. ในขณะที่ประจักษ์ไตรลักษณะ หมดความสงสัยในการเกิดดับของสภาพธรรมนั้น ในขณะที่กำลังประจักษ์นั้น ต้องวางเฉยด้วยปัญญาขั้นที่ประจักษ์ ไตรลักษณะ

ถ. เป็นการเข้าใจสภาพธรรมที่แท้จริง

สุ. ที่กำลังเผชิญหน้า ที่กำลังเห็นแจ้งในการเกิดดับนั้น เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวตนที่จะหวั่นไหว

ถ. เท่ากับแยกปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ

สุ. การแยกปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ ต้องเริ่มจากขั้นการฟังเรื่องของปรมัตถธรรมจึงจะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วที่เคยหลงเข้าใจว่าเป็นสัตว์บุคคล ซึ่งเป็นบัญญัติ สภาพธรรมที่มีจริงๆ นั้นเป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป มีสภาวะลักษณะปรากฏให้รู้ได้

ถ. เนื่องจากไม่เห็นลักษณะที่แท้จริงแต่ละขณะ

สุ. เนื่องจากสติเริ่มระลึก ศึกษา สังเกต พิจารณาลักษณะของ ปรมัตถธรรม จึงเพิ่มความรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะถ้าเพียงฟังว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่เวลาเห็นก็ยังเห็นคน เวลาคิดก็ยังคิดเรื่องคน ขณะนั้นจะชื่อว่ารู้แจ้งปรมัตถธรรมไม่ได้ เพียงแต่ฟังและ เข้าใจว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกอะไรเลย เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง ทางจมูกอย่างหนึ่ง ทางลิ้นอย่างหนึ่ง ทางกายอย่างหนึ่ง ทางใจอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น ในขณะนั้นไม่ได้คิดถึงบัญญัติใดๆ เลยทั้งสิ้น เมื่อปัญญารู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นมากเท่าไร การละคลายการที่เคยยึดถือปรมัตถธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จึงจะค่อยๆ ละคลายลงไป แต่จะต้องรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้น กว่าจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

ถ. เป็นการละคลายสักกายทิฏฐิ เช่น ถ้าเกิดมีอาการของแข็งปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจปรมัตถธรรมก็เข้าใจว่าถนนแข็งหรือตัวแข็ง เพราะฉะนั้น เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องของปัญญาที่เริ่มคลายความเห็นผิดขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีสติทีละเล็ก ทีละน้อย ใช่ไหม

สุ. เพราะถ้าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลาย ก็หมายความว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ ปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะรู้แจ้งจริงๆ สามารถที่จะแยกบัญญัติออกจากปรมัตถ์ซึ่งเคยหลงยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นบัญญัติ

ถ. จนกว่าจะเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งท่านสามารถรู้สภาพธรรมตามความ เป็นจริงแล้ว แต่ท่านก็รู้บัญญัติ และใช้บัญญัติให้เป็นประโยชน์ได้ ใช่ไหม

สุ. ก่อนที่จะเป็นพระอริยเจ้า ปัญญาจะต้องเพิ่มความรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรม

ถ. ผู้ที่ไม่ประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมของนามธรรม ของรูปธรรม ยังไม่เข้าใจว่าตอนไหนเป็นบัญญัติ ตอนไหนเป็นปรมัตถธรรม จึงรวมๆ กัน ถือว่า ยังไม่รู้จักบัญญัติที่แท้จริง ใช่ไหม

สุ. รู้บัญญัติอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้ปรมัตถ์ ถ้าบอกว่าเห็นคน ก็เป็นบัญญัติแล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตน หญิง ชาย สิ่งของต่างๆ เป็นบัญญัติ

ถ. นึกเอา คิดในสิ่งที่เห็น ใช่ไหม และบัญญัติแต่งตั้งสิ่งที่เห็นขึ้นมา

สุ. นอกจากนั้น บัญญัติยังเป็นคำ หรือชื่อต่างๆ

ผู้ฟัง บัญญัติจริงๆ นั้น ไม่มี บัญญัติก็คือบัญญัติ บัญญัติไม่จริงอยู่แล้ว ถ้าจริงก็ไม่ใช่บัญญัติ บัญญัติไม่มีสภาวะรับรอง จะไปพิจารณาบัญญัติให้มีสภาวะรับรองเป็นไปไม่ได้ ความเข้าใจอย่างนี้ ถูกต้องไหม

สุ. ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมมีใครรู้บ้างว่า มีแต่ปรมัตถธรรมที่เป็นสภาวธรรมจริงๆ ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม มีสัตว์ มีบุคคล มีหญิง มีชาย มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ นั่นคือมีบัญญัติ มีความคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมจึงรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว บัญญัติ คือ ในขณะที่จิตคิดเรื่องราวหรือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏและยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เช่น เห็นคน เป็นปรมัตถ์ หรือเป็นบัญญัติ

ถ. เป็นบัญญัติ เพราะแต่งตั้งให้ว่า นี่คือคน

สุ. จำได้ว่า รูปร่าง สัณฐาน สีอย่างนี้เป็นคน

ถ. อาจจะเรียกว่า นายแดง นายดำก็ได้ ใช่ไหม

สุ. ใช่

ถ. ในอภิธัมมัตถสังคหะท่านกล่าวว่า บัญญัติอุปมาเหมือนเงาของ ปรมัตถธรรม อาจารย์ช่วยขยาย

สุ. เพราะว่าไม่มีบัญญัติจริงๆ ต่างหาก นอกจากว่าปรมัตถธรรมเกิดและดับไป แต่เมื่อปัญญาไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ก็ยึดถือรูปร่างสัณฐานที่รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และยึดมั่นว่าสิ่งนั้นมีจริง แต่ จริงๆ แล้วถ้าจิตไม่เกิดขึ้นคิดนึก บัญญัติก็มีไม่ได้เลย

ถ. คือ จิตที่คิดนึกเป็นเงา

สุ. ใช้เป็นคำอุปมาให้เข้าใจเท่านั้นเองว่า ไม่ใช่หมายความถึงสิ่งที่มีจริง เมื่อไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมก็หลงยึดถือปรมัตถธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น กว่าจะสามารถแยกปรมัตถธรรมออกเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างไม่รวมกัน ก็ยาก จะต้องค่อยๆ ฟัง และค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ

เปิด  229
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565