แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1794
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๑
เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และขนบธรรมเนียมทุกอย่างก็จะต้องพิจารณาให้เข้าใจว่า ขณะนั้นจิตที่กระทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต ถ้าไม่มีการพิจารณาให้เข้าใจก็จะเป็นเพียงการประพฤติตามขนบธรรมเนียมประเพณีด้วยความไม่รู้ หรือว่าด้วยความติดในกุศล
การประพฤติปฏิบัติของคฤหัสถ์ต่อบรรพชิต ต้องเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ และตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
ในสมัยโน้นมีคฤหัสถ์ท่านใดที่ไปสรงน้ำพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุ หรือเปล่า เพราะว่าคฤหัสถ์ในครั้งพุทธกาลเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก ซึ่งการเคารพนอบน้อมของคฤหัสถ์ในสมัยนั้นที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคหรือไปหา พระภิกษุสงฆ์ ท่านก็ไปด้วยความเคารพและสักการะด้วยดอกไม้ของหอมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรปะปนธรรมเนียมของคฤหัสถ์กับธรรมเนียมของบรรพชิต
ผู้ฟัง การสรงน้ำพระ ผมไม่ติดใจ แต่อยากจะเล่าประเพณีทางอีสานที่ สรงน้ำพระ เรารู้อยู่แล้วว่าทางภาคอีสานกันดารน้ำ ในเดือนเมษาซึ่งเป็นวันสงกรานต์ ทางวัดจะจัดประรำ และนิมนต์พระพุทธรูปประจำวัดไปไว้ที่ประรำหรือที่ศาลาวัด ก็แล้วแต่สะดวก จัดที่สำหรับวางเครื่องสักการบูชาธูปเทียน และป่าวประกาศให้ชาวบ้านเอาน้ำมาสรง ซึ่งส่วนใหญ่น้ำที่สรงเป็นน้ำหอม ใช้ขมิ้นหอมผสมกับน้ำ พระพุทธรูปมีกี่องค์ก็จะนำมาทั้งหมด บางแห่งก็สรงเป็นอาทิตย์ บางแห่งก็ ๓ วัน และส่วนใหญ่พวกสาวๆ จะอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในวัดโดยการช่วยกันไปตักน้ำ หาบน้ำมาใส่ตุ่ม ใส่โอ่งที่มีอยู่ในวัดจนเต็ม ทำให้พระ สามเณร หรือเด็กวัด ได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปรอคิวตักน้ำที่บ่อ ซึ่งกว่าจะได้น้ำแต่ละหาบๆ ลำบากมาก เมื่อชาวบ้านอนุเคราะห์อย่างนี้ ฤดูกาลนั้นก็ทำให้สามเณรและเด็กวัดได้รับความสะดวกสบาย เป็นการเกื้อกูลอย่างหนึ่ง เป็นธรรมเนียมที่ทำกันมาตลอด และน้ำที่เหลือจากใส่โอ่งแล้ว ก็นิมนต์พระทั้งวัดให้สรงน้ำ เขาทำกันอย่างนี้เป็นประจำทุกปี ไม่ทราบว่าได้ประเพณีนี้มาจากไหน แต่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก
สุ. ก็เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาว่า ขณะนั้นกุศลจิตเกิด หรือเป็นความสนุกสนาน เป็นการกระทำตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพราะทุกท่านก็ทราบแล้วว่า เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดทั้งกุศลและอกุศล ซึ่งไม่มีใครรู้ดีนอกจากตัวของท่านเองว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าในขณะนั้นเป็นกุศล เป็นความเลื่อมใส เป็นความศรัทธา เป็นความนอบน้อมสักการะ ก็ดีที่เป็นกุศล แต่ถ้าในขณะนั้น เป็นความสนุกสนาน ก็ไม่ใช่กุศล แต่ประโยชน์คือพระภิกษุท่านก็ได้มีน้ำใช้
บางท่านอาจจะติดในธรรมเนียมประเพณีที่จะต้องสรงน้ำพระ แต่ต้องพิจารณาจิตจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า หรือเป็นเพียงทำไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี
พระ เจริญพร อาตมาเคยอยู่ต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง วันนั้นเป็นวันสงกรานต์ มีงานรื่นเริงในวัด และโยมทั้งหลายก็นิมนต์พระให้มานั่งเรียงกันเพื่อจะสรงน้ำ พระมีประมาณ ๑๐ รูป ฆราวาสมีประมาณ ๔๐ - ๕๐ คน และทุกคนก็ค่อยๆ รดน้ำตามมือ ตามหลัง ตามไหล่พระ กว่าฆราวาสจะรดน้ำครบ พระภิกษุก็รู้สึกหนาว และฆราวาสที่ไปก็เล่นรื่นเริงไปด้วย ขณะนั้นรู้สึกว่ากุศลจิตไม่เกิด และไม่เข้าใจว่าทำไมโยมจึงทำประเพณีแบบนี้ อาตมาคิดว่า ถ้าโยมฉลาด อาจจะไปเที่ยวที่ไหน กลับมาแล้วก็มาทำกิจกรรมในวัดให้เกิดกุศลจิตได้ อาตมาคิดว่าจะเกิดประโยชน์กว่า
สุ. นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรพิจารณา และประพฤติปฏิบัติตามด้วยเหตุผลของแต่ละคน แต่จะไปกั้นศรัทธาของคนอื่นก็คงจะยาก เพราะว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ทำกันมาแล้ว แต่ผู้ใดก็ตามที่คำนึงถึงเหตุผล จะรู้ลักษณะสภาพของจิต และรู้ว่า การแสดงการสักการะนอบน้อมเคารพพระรัตนตรัย ไม่มีอะไรดีเท่ากับ การประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงแต่การทำตามประเพณีเท่านั้น
เรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ต้องพิจารณาถึงจิตในขณะที่ประพฤติปฏิบัติว่า เป็นกุศลหรือไม่ ถ้าไม่เป็นกุศล ไม่จำเป็นต้องทำ แต่ถ้าเป็นกุศล ในขณะนั้นก็ทำได้
สำหรับพระคุณเจ้าที่ถูกอุบาสกอุบาสิการดน้ำ ก็น่าจะให้อุบาสกอุบาสิกา ได้พิจารณาด้วยว่า ในครั้งพุทธกาลไม่มีธรรมเนียมอย่างนี้ ในพระไตรปิฎก ไม่มีข้อความว่า นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาและรดน้ำท่าน ทั้งๆ ที่พุทธบริษัทในครั้งนั้น ก็เป็นผู้ที่มีศรัทธาปสาทะ และเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมาก ท่านก็ยังไม่กระทำ เพราะฉะนั้น คนในสมัยนี้ก็ควรที่จะได้พิจารณา
ขอกล่าวถึง อรรถกถา ตติยนาวาวิมาน ใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ซึ่งมีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์หญิงผู้หนึ่งซึ่งถวายน้ำแก่พระองค์
ข้อความมีว่า
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในชนบทพร้อมด้วยพระภิกษุหมู่ใหญ่ เสด็จถึงตำบลบ้านพราหมณ์ชื่อถูณะ แคว้นโกศล พวกพราหมณ์คหบดีชาวถูณะได้ยินมาว่า เขาว่าพระสมณโคดมเสด็จถึงเขตบ้านของพวกเราแล้ว
ครั้นนั้น พราหมณ์คหบดีชาวถูณะที่ไม่เลื่อมใส เห็นผิด ตระหนี่เป็นปกติ คิดกันว่า ถ้าพระสมณโคดมเข้าบ้านนี้ประทับอยู่ ๒ – ๓ วัน ก็จะพึงทำชนนี้ทั้งหมด ให้อยู่ในถ้อยคำของพระองค์ แต่นั้น พราหมณธรรม (ลัทธิ ธรรมเนียม ประเพณี) ก็จะไม่ได้ที่พึงพาอาศัย จึงพากันขวนขวาย จะไม่ให้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในบ้านตำบลนั้น จึงช่วยกันนำเรือที่เขาพักไว้ที่ท่าน้ำออกไปเสีย (เพื่อที่จะไม่ให้พระองค์เสด็จข้ามไปได้ในหมู่บ้านตำบลนั้น) … เว้นบ่อน้ำไว้บ่อเดียว บ่อน้ำนอกนี้ก็ช่วยกันเอาหญ้าเป็นต้นถมให้เต็มแล้วปิดเสีย ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์อุทานว่า
ครั้นนั้นแล พราหมณ์คหบดีชาวถูณะพากันเอาหญ้าและฟางถมบ่อน้ำจนถึงปากบ่อ ด้วยประสงค์ว่า ขอสมณะโล้นเหล่านั้น อย่าได้ดื่มน้ำเลย
อกุศลจิตที่จะทรมานด้วยการไม่ให้ดื่มน้ำซึ่งเป็นความจำเป็นมาก เพราะว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าไม่ดื่มก็จะทุกข์กายอย่างมาก
พระผู้มีพระภาคทรงทราบอาการวิปริตของคนเหล่านั้น ทรงเอ็นดูพวกเขา จึงพร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ข้ามแม่น้ำไปทางอากาศ เสด็จไปถึงถูณะพราหมณคามตามลำดับ ทรงแวะออกจากทาง ประทับนั่งเหนืออาสนะที่จัดไว้ ณ โคนไม้แห่งหนึ่งสมัยนั้น หญิงทาสีเทินหม้อน้ำจำนวนมาก เดินผ่านไปไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ในหมู่บ้านตำบลนั้น เขาทำกติกานัดหมายกันไว้ว่า ถ้าพระสมณโคดมจัก เสด็จมา ณ ที่นี้ ไม่พึงทำการต้อนรับพระองค์เป็นต้น พระสมณโคดมและเหล่าสาวกมาถึงเรือน ก็ไม่พึงถวายแม้แต่อาหาร
หญิงทาสีภรรยาของพราหมณ์คนหนึ่งในหมู่บ้านตำบลนั้น เดินถือหม้อน้ำ พบพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุ รู้ว่าหมู่ภิกษุลำบากกาย กระหายน้ำเพราะเดินเหนื่อยมา มีจิตเลื่อมใส ประสงค์จะถวายน้ำดื่ม จึงตกลงใจว่า ถึงหากว่าชาวบ้านของเราจะตั้งกติกากันไว้ว่า ไม่พึงถวายสิ่งไรๆ ไม่พึงทำสามีจิกรรมแก่พระสมณโคดม ดังนี้ แม้เมื่อเป็นดังนั้น ผิว่าเราได้พระทักขิไณยบุคคล ซึ่งเป็นบุญเขตเช่นนี้แล้ว ไม่ทำที่พึ่งแก่ตนแม้ด้วยเพียงถวายน้ำดื่มไซร้ ครั้งไรเล่าเรา จึงจะหลุดพ้นจากชีวิตลำเข็ญนี้ได้ นายของเรา ทั้งชาวบ้านเราทั้งหมดจะฆ่า จะจองจำเราก็ตามทีเถิด เราจักถวายปานียทาน (น้ำดื่ม) ในบุญเขตเช่นนี้ละ แม้จะถูกเหล่าทาสีที่เทินหม้อน้ำคนอื่นๆ จะห้ามปราม ก็ไม่อาลัยชีวิต นางลดหม้อน้ำลงจากศีรษะ ประคองด้วยมือทั้งสอง แล้ววางลง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง เกิดปีติโสมนัส เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นิมนต์ให้เสวยน้ำดื่ม
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นจิตเลื่อมใสของนาง เมื่อจะทรงอนุเคราะห์นาง จึงทรงกรองน้ำล้างพระหัตถ์และพระบาทแล้วจึงเสวยน้ำดื่ม น้ำในหม้อมิได้หมดสิ้นไปเลย นางเห็นแล้วก็มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายแก่พระภิกษุรูปหนึ่งอีก ได้ถวายแก่ภิกษุอื่นๆ จนครบทุกรูป น้ำก็ไม่ได้สิ้นเปลืองหมดไป นางร่าเริงยินดี ยกหม้อน้ำที่เต็มอย่างเดิม เดินมุ่งหน้าไปยังเรือน
พราหมณ์สามีของนางรู้ว่านางถวายน้ำดื่ม เข้าใจว่าหญิงคนนี้ทำลาย ธรรมเนียมบ้านเสียแล้ว เราก็ต้องถูกครหาแน่ล่ะ ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ จึงทำร้ายนางล้มกลิ้งไปที่พื้น ด้วยการกระทำนั้น นางก็สิ้นชีวิต ไปบังเกิดใน ภพดาวดึงส์
ไม่มีการรดน้ำ ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคก็ทรงกระหายน้ำ แต่เมื่อนางมีจิตเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคก็ทรงกรองน้ำล้างพระหัตถ์และพระบาทแล้วจึงเสวยน้ำดื่ม
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสสั่งว่า
อานนท์ เธอจงนำน้ำจากบ่อมาให้เราทีเถอะ
พระเถระทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ชาวถูณะถมบ่อน้ำเสียแล้ว ไม่อาจนำน้ำมา ถวายได้ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสทั้งครั้งที่ ๒ ทั้งครั้งที่ ๓ ในครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ ถือบาตรของพระผู้มีพระภาคเดินบ่ายหน้าไปยังบ่อน้ำ เมื่อพระเถระกำลังเดินไป น้ำในบ่อก็เต็มล้นไหลไปโดยรอบ หญ้าฟางทั้งหมดก็ลอยไหลออกไปเอง น้ำที่ไหลนั้น ก็เพิ่มสูงขึ้นๆ เต็มแหล่งน้ำแห่งอื่นๆ ล้อมหมู่บ้านตำบลนั้น ท่วมพื้นที่หมู่บ้านไว้ พวกพราหมณ์เห็นปาฏิหาริย์นั้น ก็เกิดอัศจรรย์จิตไม่เคยมี จึงขอขมาพระผู้มีพระภาค น้ำหลากหลายก็หายวับไปทันที
พราหมณ์เหล่านั้นจัดแจงสถานที่อยู่สำหรับพระผู้มีพระภาคและหมู่ภิกษุ นิมนต์เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น พอรุ่งขึ้นก็จัดมหาทานเลี้ยงดูหมู่ภิกษุ มีพระผู้มีพระภาคเป็นประธานด้วยของเคี้ยวของกินอันประณีต พราหมณ์คหบดีชาวถูณะทุกคนเข้าไป นั่งเฝ้าใกล้ๆ พระผู้มีพระภาค ซึ่งเสวยเสร็จ ยกพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว
สมัยนั้น เทวดาองค์นั้นพิจารณาสมบัติของตน ทบทวนถึงเหตุแห่งสมบัตินั้น ก็รู้เหตุนั้นว่า ปานียทานถวายน้ำดื่ม เกิดปีติโสมนัส จึงลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฟังพระธรรม และได้บรรลุพระโสดาบัน
เป็นการแสดงให้เห็นถึงการกระทำของพุทธบริษัทซึ่งมีจิตเลื่อมใสในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น แต่ละท่านควรที่จะได้พิจารณาว่า การที่จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ควรมีเหตุผลที่สมควร และไม่ควรปะปนขนบธรรมเนียมของคฤหัสถ์กับบรรพชิต มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นไปตามพระวินัย ซึ่งจะทำให้พระภิกษุทั้งหลายท่านลำบากใจ
สำหรับผลของการฟังพระธรรมนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับแต่ละบุคคลจริงๆ ที่จะได้ประโยชน์จากการฟังพระธรรม จะมากหรือจะน้อย จะช้าหรือจะเร็ว ก็ต้องเป็นไปตามความเข้าใจพระธรรมที่ได้ฟัง เพราะการที่จะกล่าวว่า เข้าใจธรรม ไม่ใช่เพียงแต่การเข้าใจเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป รู้ว่ามีจิตกี่ประเภท เจตสิกมีอะไรบ้าง เกิดกับจิตประเภทไหนบ้าง แต่ต้องเป็นการเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดกับตนจริงๆ จึงจะชื่อว่าเป็นการเข้าใจธรรม
เช่น ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง หลังจากที่ท่านฟังพระธรรมมาถึง ๒๐ ปี ท่านเริ่มรู้จักและเข้าใจธรรมที่เกิดกับท่านเอง ท่านเริ่มเห็นว่า ความคิดต่างๆ ของท่าน ในวันหนึ่งๆ นั้น ไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลย เป็นอนัตตาจริงๆ แม้แต่เรื่องที่ท่านไม่อยากจะคิด เช่น เรื่องของคนอื่น เวลาที่มีคนอื่นมาเล่าอะไรให้ฟัง ท่านก็เห็นว่า ไม่น่าที่จะต้องคิดมากมายในเรื่องของคนอื่น เพราะฉะนั้น ตอนกลางวันท่านก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเพราะเห็นว่าไม่ควรที่จะคิด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ตอนกลางคืนท่านก็ ยังฝันถึงเรื่องของคนที่เล่าให้ท่านฟัง
แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชาจิตใจได้เลย ทุกอย่างที่ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางมโนทวารวิถีจะมีเรื่องนั้นสะสมไว้ โดยที่ว่า แม้แต่ขณะที่นอนหลับ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจเลย ก็ยังฝันถึงเรื่องของคนอื่น ซึ่งไม่อยากจะฝันถึงเพราะฉะนั้น ท่านก็เริ่มเห็นความละเอียดของอกุศลจิต ความติดความข้อง ความกังวลใจ ซึ่งทุกคนมีเป็นอันมากในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องใหญ่ หรือแม้แต่เรื่องของคนอื่นก็ตาม
ท่านผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความสนใจในเครื่องเพชรนิลจินดา ท่านก็เห็นคุณของ พระธรรมที่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด ท่านเปรียบว่า เป็นดุจแว่นแก้วที่ขยายทุกอย่างให้เห็นอย่างละเอียดมากเป็นแต่ละขณะจิตตามวิถีจิตต่างๆ ทำให้เห็นว่า ปกติประจำวันอกุศลเกิดมากมาย ซึ่งก็เหมือนกับเพชรที่เวลาดูก็น้ำดี มีประกายงดงาม แต่เวลาที่ใช้แว่นส่องดู ก็ยังเห็นฝุ่นละอองที่ติดอยู่ตามเพชรนั้นได้
แสดงให้เห็นว่า ถ้าได้เข้าใจธรรมละเอียดขึ้น จะสามารถพิจารณาธรรมที่เกิดกับตนและรู้ได้ว่า สิ่งใดเป็นสาระ และสิ่งใดไม่เป็นสาระ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นอกุศลมาก ก็จะทำให้ขวนขวายในการที่เจริญกุศลยิ่งขึ้น