แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1808

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๑


. ขออนุญาตพูดนอกเรื่อง ผมฟังคำบรรยายของอาจารย์ ผมก็มานึกดูว่า การฟังธรรมมีหลายแบบ และมีหลายอาจารย์ที่ถ่ายทอดพระพุทธพจน์มา ผม ตรึกตรองดูว่า การฟังธรรมของเราทุกท่านเปรียบเหมือนฟังการตัดสินพิพากษา ตัวเรานี่เหมือนตุลาการ อย่างเช่นฟังอาจารย์ก็แบบหนึ่ง อาจารย์ท่านอื่นๆ ใน ประเทศไทย ผมวิเคราะห์วินิจฉัยดูก็อีกรูปแบบหนึ่ง อย่างของพระภิกษุก็มีจะวิธีการของท่านอีกแบบหนึ่ง ผมเคยคุยกับหลวงพ่อรูปหนึ่งอายุ ๘๐ กว่า ผมเคยคุยว่า การเจริญวิปัสสนา คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจ และนำมาพิจารณา และระลึกถึง รูปนามให้ได้แบบวิธีของอาจารย์

หลวงพ่อรูปนั้นก็บอกว่า อย่างนั้นก็เหมือนการเรียนทั่วๆ ไป คือ เรียนแล้ว ก็รู้ไปเรื่อยๆ เหมือนกับไม่เห็นผลที่แน่นอน เหมือนเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นป. ๑ จนถึงมหาวิทยาลัยแล้ว ก็เลิกกันไป แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่แน่นอน เป็นวิธีที่จะต้องทำกัมมัฏฐาน ส่วนใหญ่แล้วทางด้านพระภิกษุท่านก็เป็นอย่างนั้น พอเริ่มต้นท่านก็จะต้องทำกัมมัฏฐานก่อน อาจจะเป็นการเดิน หรือนั่งนานๆ ใช้สมาธิเบื้องต้นก่อน ผมก็อธิบายตามความรู้นิดหน่อยของผมให้ท่านฟังว่า การสำเร็จอย่างที่อาจารย์เคยบอกว่า มี ๒ แบบ คือ โดยปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติ ผมก็บอกว่าวิธีนั้นอาจจะเป็น เจโตวิมุตติ ผมก็วินิจฉัยง่ายๆ แบบนี้ แต่การสำเร็จโดยปัญญาวิมุตตินั้นมีมากกว่า และทุกอย่างก็ต้องอาศัยเวลาอบรมด้วยกันทั้งสิ้น แต่การสำเร็จด้วยเจโตวิมุตติโดย นั่งสมาธิก่อนและบรรลุทีหลัง ในที่สุดก็ต้องมารู้รูปนามเหมือนกัน คือ ระลึกรู้จริงๆ ในตัวเราว่าเป็นรูปและนามทุกขณะจิต จึงเรียกว่าเป็นการสำเร็จโสดาบัน ใช่ไหม

แต่ท่านก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดี ผมก็ไม่สามารถจะตัดสินอะไร มาคิดดูว่า เดี๋ยวนี้ในเมืองไทยถ้าฟังธรรมของท่านอาจารย์ต่างๆ ก็ขอให้ระลึกว่า ตัวเราเองเหมือน ตุลาการกำลังตัดสินทุกอย่างอยู่ ฟังทางด้านโจทก์ก็จะได้เนื้อหาอีกแบบหนึ่ง ฟังจำเลยจะได้เนื้อหาอีกแบบหนึ่ง สองคนพยายามจะให้บริสุทธิ์ด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้น ตัวเราเองตัดสิน เห็นว่าทางโจทก์ถูก เราก็ไม่รู้ว่าถูกจริงหรือเปล่า ทางจำเลยถูก ก็ไม่รู้ว่าถูกจริงหรือเปล่า แต่จะรู้ว่าจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่เราหาได้มากที่สุด ผมคิดแบบนี้ อาจารย์คิดว่าจะเหมาะสมไหม

สุ. เมื่อกี้ก็วิถีจิตหลายวาระ นับไม่ถ้วนเลย ในขณะที่กำลังฟังและก็คิด ฟังและก็คิดว่า เป็นเสียงที่ได้ยิน และขณะที่เข้าใจก็เป็นวิถีจิตแต่ละวาระไป

ที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เปรียบเสมือนตัวท่านที่ฟังเรื่องหนทางปฏิบัติหลายๆ ทาง ตัวท่านเป็นประดุจตุลาการ ที่จริงแล้วอย่างที่ได้เรียนให้ทราบว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่ เกิดจนตายไม่มีอะไรเลยนอกจากจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเข้าใจว่า กำลังพิจารณา กำลังไตร่ตรอง กำลังเป็นตุลาการ ก็คือวิถีจิตแต่ละวาระนั่นเอง ที่ฟังด้วยความแยบคาย ฉลาด ที่จะรู้ว่าสิ่งใดมีเหตุมีผล หรือจะฟังอย่างไม่แยบคาย คือ ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ธรรมที่จริงที่ถูกต้องที่มีเหตุผลนั้นคืออย่างไร นี่เป็นเหตุที่บางท่านมีความเห็นผิดเพราะอโยนิโสมนสิการ ขาดการพิจารณาโดยแยบคาย โดยถูกต้องจริงๆ แต่บางท่านที่ฟังด้วยกัน วิถีจิตแต่ละวาระนั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ เป็นกุศลจิตซึ่งสามารถพิจารณาความถูกต้องในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมไหม

เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกได้แม้ในเพียงขั้นที่ฟังว่า ขณะที่กำลังเป็นตุลาการ ก็คือวิถีจิตแต่ละวาระนั่นเอง และที่กล่าวว่า ฟังไป เข้าใจไป และก็รู้ไป จะถูกหรือจะผิด

. สำหรับผมยากจริงๆ เลย จะต้องมีศรัทธา และก็เหมือนกับเด็กที่ อยากได้ของเล่น อย่างอาจารย์บอกว่า เราต้องแยกรูปนามให้ได้ ถ้าแยกไม่ได้ก็ยังเป็นกลุ่มก้อนอยู่ดี

ตลอดเวลา ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมาที่ฟังอาจารย์บรรยาย เป็นการบรรยายที่เหมือนกับพยายามจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้เห็นความจริงอะไรสักอย่างหนึ่งในเรื่องวิปัสสนา ถ้าเทียบกับท่านอาจารย์อื่นๆ จะไม่ชี้สิ่งเหล่านี้ จะ บอกว่า เริ่มก็ให้นั่งเลย ให้ระลึกถึงสิ่งต่างๆ อาจจะระลึกถึงลมหายใจ ความรู้สึกที่ศูนย์กลางกาย เหมือนกับจับให้เด็กได้เล่นของเลย แต่ของท่านอาจารย์ เหมือนกับพยายามจะบอกและไปคิดเองให้ได้นะ เหมือนกับปริศนาธรรม เหมือนฤๅษีสมัยก่อน

วันอาทิตย์ผมหยุดงาน ผมจะไปนั่งที่สนามเด็กเล่น วันนั้นผมไปนั่งมองใบไม้สั่นไหว ผมพยายามดูว่า ขณะที่ผมเห็นเป็นใบไม้ ผมก็เห็นอยู่อย่างนั้น ระหว่างที่นั่งมองอยู่หลายอาทิตย์ว่า การเห็นกับความรู้ว่าเห็น แยกกันตรงไหน ผมพยายามแยกให้ได้ ก็ไม่ได้สักที ผมก็กลับบ้าน ใช้เวลาประมาณ ๒ – ๓ ชั่วโมง เป็นอยู่อย่างนี้ เป็นปี ข้อนี้ผมจะเน้นให้เห็นว่า การพยายามเข้าไประลึก โดยรับฟังมาและจะเอาไปใช้จริงๆ ให้ได้ ต้องใช้ความพยายามถึงขนาดนั้น

วันนั้นประมาณ ๑๐ โมงเช้า ผมดีใจว่าผมแยกได้แล้วว่า เห็นกับรู้สึกว่าเราเห็น ต่างกันอยู่นิดหนึ่งแล้ว อาทิตย์ต่อมาผมก็มาอีก มามองอย่างนี้อีก และก็แยกได้อีกว่า การเห็นกับที่รู้ว่าเห็นเริ่มต่างกันอีก มากกว่าเดิมอีกนิดหนึ่ง แต่เมื่อฟังอาจารย์บรรยายว่า ระหว่างที่ตั้งใจทำ ก็เป็นความเห็นผิดอีก ดูเหมือนว่า ยังผิดอยู่เยอะเลย

สุ. ขอประทานโทษ ที่ว่ายังผิดอยู่ๆ พอจะรู้ไหมว่า ตรงไหนที่ผิด

. ผิดจริงๆ ด้วย ผิดตรงที่ว่า ตั้งใจ

สุ. ถูกต้อง

. นอกจากจะตั้งใจแล้ว ระหว่างที่ตั้งใจก็เป็นตัวตนแน่นอน

สุ. ถูกต้อง

. ถ้ายังพิจารณาสิ่งเหล่านี้น้อยอยู่ พอเลิกพิจารณาแล้วจึงจะรู้ว่า เมื่อสักครู่ที่ผ่านไปตอนนั้นผิด และพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ จะได้ช่องว่างของความผิดน้อยลงๆ จนกระทั่งเกือบจะไม่ผิด คล้ายๆ อย่างนี้ หมายความว่า วิธีการบรรยาย โดยฟังให้เข้าใจก่อน เทียบกับวิธีการอื่นตามสำนักต่างๆ ในเมืองไทย ดูเหมือนว่าวิธีการของอาจารย์ยากเย็นเสียเหลือเกิน วิธีอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนๆ แล้วดูจะง่าย เช่น การนั่งสมาธิ นั่งระลึกให้เห็นศูนย์กลางกาย ทำให้คนที่ฟังโดยทั่วไปถ้าไม่มีศรัทธา จริงๆ ไม่เห็นประโยชน์จริงๆ จะเลิกฟัง และเสียประโยชน์ไป

สุ. ถ้าจะต้องนั่งสงบ และทำสมาธิที่ศูนย์กลางกาย ขณะนั้นรู้อะไร

. คนที่นั่งไม่รู้หรอก

สุ. ถ้าไม่รู้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงเรื่องให้ ไม่รู้ หรือปฏิบัติเพื่อไม่รู้

. ท่านอาจารย์ถามว่า รู้อะไร จริงๆ แล้ว ไม่รู้ แต่ระหว่างที่เขาไม่รู้ เขาก็ยังคิดว่า นี่เป็นวิธีที่ค่อนข้างจะถูกต้อง

สุ. เป็นตัวอย่างของความเพียรผิดได้ไหม

. ได้

สุ. มีความเห็นผิดและมีความเพียร ความเพียรนั้นก็ต้องผิดตาม ความเห็นด้วย

. ถ้าเป็นวิธีโดยที่ให้นั่งระลึกที่ศูนย์กลางกาย ถ้านั่งไปจริงๆ จะเห็น แสงสว่างจริงๆ เป็นนิมิต ใช่ไหม

สุ. อยากเห็นไหม

. ถ้าเริ่มต้น อยากแน่นอน เป็นสิ่งที่ผิด

สุ. อยาก จะเป็นกุศลได้อย่างไร

. ก็เป็นโลภะอีกแล้ว

สุ. แน่นอน

. เหมือนตุลาการอีกแล้ว เราต้องพิจารณาตัวเองเรื่อย

สุ. โยนิโสมนสิการ คือ รู้ว่าสภาพธรรมใดมีจริง และควรที่จะเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ไม่ใช่นึกคาดคะเน อย่างการเห็นมีจริง และทุกคนก็ได้ยินได้ฟังว่าเห็นเป็นนามธรรม นี่เป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่การประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาที่จะรู้ว่า ลักษณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ที่ไม่ใช่เราที่กำลังเห็น นี่คือปัญญา

ฟังไป เข้าใจไป อบรมเจริญสติปัฏฐานไป เพื่อรู้และละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ถ้าความรู้ไม่เกิด อะไรจะละได้ เห็นอยู่ทุกวัน ทุกชาติ ทั้งชาติก่อนๆ แสนโกฏิกัปป์ ชาตินี้ ชาติหน้า ถ้าไม่ฟังเรื่องการเห็นให้เข้าใจจริงๆ เพื่อให้ สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ซึ่งเป็นจริงอย่างนั้น คือ เกิดขึ้นเห็นแล้วดับ นี่คือสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ใช่เพียงพอใจแค่ได้ยินได้ฟัง แต่ต้องประจักษ์แจ้งด้วย ด้วยการฟังให้เข้าใจจริงๆ จะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้ สติปัฏฐานระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น

แม้ในขณะที่ระลึก ความเป็นตัวตนก็ยังมีอยู่ที่สัญญาขันธ์ ที่เวทนาขันธ์ ที่สังขารขันธ์อื่น ที่วิญญาณขันธ์ด้วย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เพียงชั่วขณะที่ สติเกิดเล็กๆ น้อยๆ ลักษณะสภาพของสิ่งที่สติระลึกไม่เปลี่ยน คือ แข็ง จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย สภาพที่รู้แข็งก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นในขณะที่กำลัง รู้แข็ง มีลักษณะจริงๆ ที่กำลังรู้แข็งที่ปรากฏ และแข็งนั้นก็ปรากฏ แต่ความรู้ที่จะละการยึดถือว่าเป็นเราที่รู้แข็ง จะรู้ได้ว่า ขณะที่สติระลึก ปัญญาในขณะนั้นเพิ่มหรือยัง ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่เพิ่มขึ้น ก็ยังคงเป็นรู้แข็งกับแข็ง มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่าแข็ง ทุกคน ก็รู้ว่าแข็ง แต่ก็ยังคงเป็นเพียงรู้แข็งเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาอะไรเลยที่จะรู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่เราอย่างไร

นี่เป็นเหตุที่จะต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ จึงจะเป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ไปนั่งทำอะไร

. ระหว่างที่ผมสนทนากับหลวงพ่อท่านนั้น ท่านมีความคิดตอนท้ายว่า ปัญญาจะเกิดในชาตินี้คงยาก เพราะฉะนั้น การที่ท่านบำเพ็ญวิธีนั้นก็เหมือนกับว่าบำเพ็ญให้ได้จุดหนึ่งก่อน และไปพักอยู่อีกที่หนึ่ง เมื่อถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ท่าน ก็จะได้ฟังธรรมจนตรัสรู้เลย

สุ. ชาตินี้ยังไม่เข้าใจ เมื่อถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็ไปนั่งพักอยู่ที่ จุดนั้นอีก เพราะว่าไม่ได้ทำอะไรให้ก้าวหน้าเลย

ส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจว่า ปัญญาคืออะไร และปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น ก็หวังว่า ปัญญาจะเกิดหลังจากที่นั่งสมาธิ และเพ่งสมาธิที่จุดหนึ่งจุดใด แต่ความจริงขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่ปัญญา ขอให้พิจารณาดูว่า ขณะนั้นเป็นกุศลได้ไหม หรือ เป็นโลภะ เพราะอยาก เพราะต้องการ

. อย่างนั้นก็เป็นการตัดสินว่า ระหว่างที่ทำอะไรก็แล้วแต่ ก็เหมือน ตุลาการ ถ้าเราพิจารณาตัวเราอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราทำวิธีไหน ก็ต้องสำรวจตัวเองว่า ขณะนั้นจิตเป็นอะไรบ้างในโลภะ โทสะ โมหะทั้งหมด

สุ. ถ้าเป็นสิ่งที่มีจริง ย่อมสามารถพิจารณาเข้าใจได้ และพระธรรมต้องตรงทั้ง ๓ ปิฎก ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด เช่น ปัญญามี ๓ ขั้น สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าไม่มีขั้นฟัง มีอะไรที่จะคิดไหมว่า ทางตา ที่กำลังเห็นเป็นนามธรรมอย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟัง และมีการคิดพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าจริงหรือเปล่า เมื่อใคร่ครวญไตร่ตรองรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ก็เป็นปัจจัยให้ภาวนามยปัญญาเกิดได้

ที่ว่าจะปฏิบัติๆ ขอให้เข้าใจตามความเป็นจริงก่อนว่า เข้าใจหรือยัง ถ้ายัง ไม่เข้าใจจะปฏิบัติอะไร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่เพียงหวังลอยๆ ว่า ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว จะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ผู้ฟัง ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่จะหยิบเอามาเล่นๆ กันได้ จะจับดวงแก้ว มาเพ่งกัน หรือให้นั่ง ให้นอน ให้เดิน ไม่มีใครไปจัดวิธีขึ้นมาได้ พระพุทธเจ้าตรัสแล้วว่า มีอยู่ทางเดียว ต้องเจริญ ต้องอบรม ไม่ง่าย ที่ท่านมีความเข้าใจว่าไม่ง่ายนั้น ถูกต้องแล้ว ยืนยันได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนที่ทรงตรัสรู้ ก็ทรงยืนยันว่าไม่ใช่ ของง่าย ทรงจะไม่สั่งสอนเสียด้วย อย่าเพิ่งท้อถอย

และยืนยันได้อีกว่า ผมมีความรู้สึกเหมือนท่านตั้ง ๘๐ – ๙๐% ตอนฟังใหม่ๆ ๒ – ๓ ปีทีเดียวที่มีความรู้สึกเหมือนที่ท่านมาพูด ผมเองฟังมาถึงขนาดนี้ก็ยังแยกรูปแยกนามไม่ได้ แต่สติเริ่มระลึกแล้ว ถ้าสติของท่านเริ่มระลึกแสดงว่าท่านมีความเข้าใจ เข้าไปสู่อีกก้าวหนึ่งแล้ว และความมั่นคงจะมีมากขึ้น และก็จะไปเรื่อยๆ

อยากจะพูดต่อไปอีกว่า สำหรับคนที่มาฟังอาจารย์สุจินต์ ไม่ใช่คนสองคนที่เบื่อ แต่เบื่อและถอยไปเป็นสิบๆ แล้ว เพราะว่าธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ยาก และ ยืนยันได้ว่า ที่ท่านอาจารย์สอนอยู่นี้ เป็นทางตรง

และวิธีการต่างๆ อยากจะบอกต่อไปว่า สำหรับในประเทศไทย น่าเห็นใจผู้ที่ ศึกษาธรรมที่สุด เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะผมเอง สหายธรรมที่อยู่ใกล้ๆ หลายคนก็โดนมา อย่างหนัก รับรองว่าไม่ได้น้อยกว่าท่านเลย ที่โดนสิ่งผิดๆ ฉาบทา ไปสัมผัสเข้า เพราะกิเลสของเราอยากจะรู้เร็ว อยากจะได้ผล

ความอยากได้ผลเป็นความรู้สึกของปุถุชน ผมเองก็ยังเป็นปุถุชน ยังมีความรู้สึกอยากจะบรรลุเร็วๆ แต่มาศึกษาแล้ว ฟังอาจารย์ไปเรื่อยๆ แล้ว จับตำราบ้างแล้ว อ่านอรรถกถาบ้างแล้ว จะมีความรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง จึงได้ยากอย่างนี้ ฟังอาจารย์ต่อไปเถิด อย่าหยุด จะบอกว่าอันนี้ก็ฟังแล้ว อันโน้นก็ ฟังแล้วไม่ได้ คำพูดคำเดียวกันนั้นจะย้ำเข้ามา และจะเพิ่มความเข้าใจเที่ยวที่ ๒ เที่ยวที่ ๓ เที่ยวที่ ๔ เที่ยวที่ ๕ จะเพิ่มความเข้าใจไปเรื่อย เหมือนกับการเจริญหรืออบรมขึ้น

สุ. ท่านที่ต้องการผลเร็วควรที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นท่านละอะไรหรือเปล่า เพราะว่าพระธรรม หรือความเข้าใจพระธรรม จะละความเห็นผิด จะละความต้องการผล เพราะว่าใครจะต้องการผลได้ ถ้าเหตุไม่พอที่จะให้ผลนั้นเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างถูกต้อง จะไม่เป็นผู้ที่หวังผลมากมาย หรือหวังผลอย่างรวดเร็ว หรือต้องการผลมากๆ ในชาตินี้ โดยวิธีต่างๆ แต่เป็นผู้ที่จะสะกิดใจ เฉลียวใจระลึกได้ว่า รู้อะไรหรือยัง ละอะไรหรือเปล่า เพราะว่าการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องละโดยตลอด ถ้ายังคงหวังผล หรือต้องการผล นั่นคือเครื่องกั้น เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า

เปิด  245
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565