แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1809

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๑


สำหรับท่านที่ได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติการอบรมเจริญวิปัสสนา โดยการเพ่ง จุดศูนย์กลางกาย หรือโดยการเพ่งที่ลมหายใจ หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า ภาวนาคืออะไร ถ้าไปเพ่งที่ศูนย์กลางกาย ก็หมายความว่า เข้าใจว่าภาวนา คือ การไปจดจ้องท่องบ่นให้มีสมาธิตั้งมั่นอยู่ ที่หนึ่งที่ใด และหวังว่าเมื่อสงบแล้วปัญญาจะเกิดขึ้น

แต่ต้องเข้าใจว่า ภาวนา ไม่ใช่อย่างนั้น ภาวนาไม่ใช่ไปทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้ปัญญาเกิด แต่ภาวนาคือการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าปัญญานั้นจะ เจริญขึ้นๆ จนรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน คือ ในขณะนี้เอง

ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็ต้องรู้ว่า อบรมอย่างไรปัญญาจึงจะเกิดได้ แต่ไม่ใช่ ไปนั่งจ้องเพ่งที่ศูนย์กลางกาย เพราะว่าในขณะนั้นไม่รู้อะไร ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงก็ไม่ควรจะทำ เพราะถ้าทำแล้วไม่รู้ ขณะนั้นจะชื่อว่าอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ ที่จะเกิดได้ ต้องอาศัยการฟังและพิจารณาสภาพธรรมจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ เป็นสังขารขันธ์ ที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ในขณะกำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ตามปกติ จนกว่าจะรู้ชัด

ถ้าคิดว่าจะไปเพ่งที่กลางกาย ก็ไม่ทราบว่าขณะนั้นผลคืออะไร เพราะขณะที่จะนั่ง ก็ต้องอยากที่จะนั่ง หรือต้องการที่จะนั่ง และเมื่อนั่งแล้ว เพ่งที่กลางกายแล้ว ประโยชน์คืออะไร

ประโยชน์จะไม่ตรงกับปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ในอดีตมีพระภิกษุที่นั่งไหม เพราะว่าโดยมากมักจะอ้างว่า นั่งกันทั้งนั้นแหละ แต่ควรจะได้พิจารณาชีวิตประจำวันของพระภิกษุในอดีตด้วยว่า ท่านนั่งมากและเดินมาก เพราะท่านไม่มีกิจของคฤหัสถ์ที่จะต้องกระทำ

ความจริงส่วนใหญ่วันหนึ่งๆ คฤหัสถ์ก็นั่ง และกระทำกิจการงานของคฤหัสถ์ แต่ขณะที่บรรพชิตนั่ง ท่านกระทำกิจของบรรพชิต ซึ่งถ้าไม่ใช่กิจเล็กกิจน้อย ในชีวิตประจำวัน ขณะนั้นก็ต้องพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนทุกคนที่เกิดมาแล้วก็ต้องนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง แต่สำหรับชีวิตของบรรพชิตนั้น ท่านนั่งมากและเดินมาก แต่เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

สำหรับชีวิตประจำวันของพระภิกษุบางท่านในอดีต หรืออาจจะเป็นในสมัยนี้ แต่อาจจะต่างกันที่เหตุผล สำหรับชีวิตประจำวันของพระภิกษุในอดีตที่ท่านมีความเข้าใจในหนทางปฏิบัติการอบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้อง บางท่านไม่นอนเลย และ ที่ท่านไม่นอนก็เพราะเห็นประโยชน์ของการหลับน้อย หรือเป็นผู้ที่ควรจะตื่นมากและ ตื่นเร็ว ด้วยเหตุนี้ ถ้านอนท่านก็ต้องหลับนาน แต่ถ้านั่งท่านจะหลับน้อยและตื่นเร็ว เพราะว่าท่านเห็นประโยชน์ของการที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น คนที่อยากจะนั่งมาก หรืออยากจะไม่นอน ก็ไม่ใช่เพียงแต่จะทำตามอย่างท่านที่เคยทำ โดยที่ข้อปฏิบัติหรือหนทางปฏิบัติ ไม่ถูกต้องเลย

แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจหนทางปฏิบัติว่า ภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะที่หลับมากๆ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ และอยากจะหลับน้อย บางท่านไม่นอนเลยตามอัธยาศัยที่สะสมมาที่แต่ละบุคคลจะประพฤติปฏิบัติที่จะขัดเกลากิเลส

สำหรับการที่จะขัดเกลากิเลสพิเศษต่างหากจากศีลของบรรพชิต คือ

บางท่านเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เพราะห้ามคฤหบดีจีวร

ต้องมีเหตุผลทั้งนั้น คฤหบดีจีวรน่าจะนุ่งห่มสบายกว่า แต่ในเมื่อท่านเป็นผู้ที่จะ มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นการอยู่สบายและติดข้องในสิ่งที่จะบริโภค ใช้สอย เพราะฉะนั้น สำหรับบางท่านที่เห็นโทษของการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ท่านผู้นั้นก็เป็นผู้ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร เพราะห้ามคฤหบดีจีวร

บางท่านเป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะห้ามสังฆภัต

ท่านที่จะไปนั่งๆ ก็ควรจะพิจารณาว่า ท่านจะไม่นอนและจะนั่งเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะเรื่องที่จะไม่นอน แต่ต้องพิจารณาว่า ทุกอย่างที่จะทำให้ติด แม้แต่ชีวิตของพระภิกษุบางท่าน ท่านก็เป็นผู้ที่ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะห้ามสังฆภัต อาหารที่มีผู้นิมนต์ไป จะเป็นอาหารที่ได้ปรุงถวายอย่างประณีต มีรสโอชะ แต่ท่านที่เห็นโทษของการติดในรส เห็นประโยชน์ของการที่จะมีชีวิตโดย เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย ท่านก็เป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะห้ามสังฆภัต เพราะฉะนั้น ท่านที่รู้สึกว่ายังติดในรส ก็ควรที่จะได้ทราบว่า มีวันไหนบ้างไหมที่ ไม่เดือดร้อนเวลาบริโภคอาหารที่รสไม่อร่อย

แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะขัดเกลากิเลสจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีความวางเฉยโดย ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ต่างๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

บางท่านเป็นผู้ที่ถือไตรจีวรเป็นวัตร เพราะห้ามอดิเรกจีวร

บางท่านเป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร เพราะห้ามการเที่ยวบิณฑบาตโลเล

บางท่านทราบว่า อาหารที่บ้านไหนมีรสอร่อย ก็มุ่งที่จะไปบิณฑบาตที่บ้านนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ติดในรสจริงๆ จะเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ตามลำดับบ้าน โดยที่ไม่เว้น นี่คือผู้ที่เห็นโทษของกิเลส

เพราะฉะนั้น ชีวิตของบรรพชิตกับชีวิตของคฤหัสถ์ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่อบรม เจริญปัญญา ก็จะเห็นได้ว่า ต่างๆ กันไปตามอัธยาศัย และสำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ถ้าเกิดระลึกได้และเทียบเคียงกับชีวิตของท่านกับชีวิตของบรรพชิต ก็ยังพอที่จะเห็นกิเลสของตนเอง และพอที่จะรู้สึกได้ว่า ควรที่จะขัดเกลาแม้ในเพศของคฤหัสถ์ เมื่อไม่สามารถขัดเกลาในเพศของบรรพชิตได้

บางท่านเป็นผู้ถือการนั่งฉันบนอาสนะเดียวเป็นวัตร เพราะห้ามการฉัน บนอาสนะต่างๆ

การบริโภคอาหารแต่ละครั้ง ที่จะรู้ตัวว่าเป็นผู้ที่ติดในรสมากน้อยแค่ไหน ก็สังเกตจากอาจาระในขณะที่บริโภคได้

บริโภคด้วยความเรียบร้อย บริโภคด้วยความเป็นผู้ที่ไม่เที่ยวเดินไปเพื่อที่จะแสวงหาอาหารที่ต่างๆ แต่บริโภคเฉพาะในขณะที่นั่งฉันบนอาสนะเดียว

บางท่านเป็นผู้ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร เพราะห้ามภาชนะอื่นๆ อีก

บางท่านเป็นผู้ถือการห้ามอาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร เพราะห้ามโภชนะที่เหลือเฟือ

เมื่อได้รับถวายเท่าไรก็บริโภคเท่านั้น แม้ว่าจะมีผู้นำอาหารที่ประณีตมาถวายภายหลังก็ไม่รับ

บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เพราะห้ามเสนาสนะใกล้บ้าน

บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร เพราะห้ามการอยู่ที่มุงบัง

บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร เพราะห้ามการอยู่ที่มุงบังและโคนไม้

บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะห้ามที่ซึ่งมิใช่ป่าช้า

บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เพราะห้ามความโลเลในเสนาสนะ

ที่อยู่นี่ก็สำคัญ บางท่านก็ตรงนี้ไม่ได้ ตรงนั้นไม่ได้ ตรงนี้สบาย ตรงนั้น ไม่สบาย แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ ในเรื่องของที่อยู่อาศัย

ประการสุดท้ายของธุดงควัตร ๑๓ ข้อ ข้อที่ ๑๓ คือ

บางท่านเป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร เพราะห้ามการนอน

นี่คือเรื่องของการนั่งที่จะอบรมเจริญปัญญา เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณา ให้ถูกต้องว่า ที่จะพูดเรื่องการนั่ง ก็ต้องพูดด้วยความเข้าใจด้วยว่า จะพูดถึงเรื่องนั่ง ในข้อปฏิบัติอย่างไร ในข้อปฏิบัติที่เป็นปกติ เป็นธุดงควัตร หรือปกติไม่เป็นอย่างนั้น แต่ด้วยความเข้าใจผิดก็คิดว่า จะต้องนั่งให้สงบและปัญญาจะเกิด แต่ไม่ใช่ปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

. อาจารย์พูดเสมอๆ ว่า ต้องฟังให้เข้าใจจนเป็นสังขารขันธ์ จนได้ปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงนามรูปที่เกิดขึ้น ก็มีคำถามย้อนมาว่า ทำอย่างไรที่จะให้สังขารขันธ์ปรุงแต่งได้อย่างนั้น

สุ. ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจ ได้ไหม เพราะถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งให้ปัญญาเจริญขึ้น

ที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ปัญญาเจริญขึ้น คือ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็โดยการฟังเรื่องของสภาพธรรม โดยการสนทนา โดยการตรึกตรอง โดยการใคร่ครวญลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

. ที่อาจารย์บอกว่า ให้ฟัง ให้สนทนาธรรมกัน มองดูอย่างเผินๆ แล้ว ไม่ได้ผลทันใจเหมือนอย่างที่ไปนั่งกัน จึงต้องไปนั่งกัน ต้องย่างกันบ้าง ก้าวกันบ้าง ต้องยุบหนอ พองหนอบ้าง เหมือนกับมีบทเรียน ไปถึงก็ได้บทเรียนเลย ซึ่งอัธยาศัยของปุถุชนก็ชอบ เพราะถูกกับกิเลสของตัว ไปถึงก็ได้บทเรียนเลย ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่อย่างที่ต้องมาฟังจนเข้าใจ จนเป็นสังขารขันธ์ระลึกรู้ในนามธรรมรูปธรรม มันยากกว่ากัน เพราะฉะนั้น เขาก็เลือกวิธีนั่งอย่างที่ว่า

สุ. เพราะฉะนั้น ผลคืออะไร ผลที่ต้องการเมื่อนั่งแล้วผลคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจะนั่งทำไม ในเมื่อปัญญาต้องรู้ชัด ในลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะเห็น กำลังเห็นนี่แหละปัญญาต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏ ทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมที่กระทบกับจักขุปสาท ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่เที่ยง ที่ยั่งยืน

ผู้ฟัง ผมเองก็ทั้งฟัง ทั้งสนทนาธรรม ทั้งอ่าน จนได้เหตุได้ปัจจัยพอสมควร ที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ระลึกได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้างแล้ว อย่างในขณะที่กำลังพูดกับอาจารย์อยู่ สังขารขันธ์ที่เกิดขึ้น มีลมมากระทบก็รู้สึกเย็น หรือเสียงที่อาจารย์พูดก็ได้ระลึกว่า สิ่งที่ปรากฏทางหูก็มี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี ก็ได้ระลึกบ้าง ขณะที่พูดกันไปก็ได้ระลึกบ้าง เพราะว่า สิ่งที่เราได้ศึกษามาเป็นสังขารขันธ์พอเพียง ในขณะที่คุยกัน จิตเกิดดับเร็วมากก็ ระลึกได้ จะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นการยืนยัน คำสอนของอาจารย์ที่ว่า ต้องฟังจนเข้าใจ และจะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติระลึกในนามในรูปได้

สุ. ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย โคตมเถรคาถาที่ ๗ มีข้อความว่า

บทว่า พาหุสัจจัง ได้แก่ ความเป็นผู้สดับตรับฟังมาก

จริงอยู่ พาหุสัจจะนั้น ย่อมมีอุปการะมากแก่ผู้ประกอบการเจริญภาวนา การประกอบสมถะวิปัสสนาย่อมสำเร็จแก่ผู้มากไปด้วยการใคร่ครวญโดยชอบ ในความเป็นผู้ฉลาดในโพชฌงค์ ความเป็นอย่างยอดเยี่ยม และความเป็นผู้ประกอบในอธิจิตเป็นต้น

พาหุสัจจะ คือ การสดับตรับฟังมาก ไม่ใช่อย่างอื่นเลย ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าไม่อาศัยการฟังก็ไม่มีหนทางอื่น และเมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้วจริงๆ สติปัฏฐานจึงจะเกิดระลึกได้ตรงตามที่เข้าใจว่า ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินเป็นอย่างไร

และชีวิตคนเราในวันหนึ่งๆ ซึ่งนั่ง นอน ยืน เดินเป็นปกติ ก็มีเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง หลับบ้าง ใช่ไหม นี่คือจิตที่เกิดขึ้นทำกิจการงานต่างๆ และสำหรับเรื่องของการหลับซึ่งเป็นภวังคจิตนั้น จะได้กล่าวถึงต่อไป

สำหรับการฟังพระธรรมนั้น ควรที่จะพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ โดยตลอด โดยหลายนัย ไม่ใช่ฟังแล้วก็ผ่านไป คนที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้จริงๆ คือ ฟัง และคิด พิจารณา เช่น เมื่อทราบจิต ๘๙ ดวงนั้น จิตที่ทำปฏิสนธิกิจมี ๑๙ ดวง คือ

อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ ภูมิ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในมนุษย์และสวรรค์ชั้นต้น คือชั้นจาตุมหาราชิกา โดยเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด

กามาวจรวิบากจิตหรือมหาวิบากจิต ๘ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ ๗ ภูมิ คือ มนุษย์ ๑ ภูมิ สวรรค์ ๖ ภูมิ สำหรับผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด

รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหม ๑๕ ภูมิ

รูปพรหมภูมิทั้งหมดมี ๑๖ ภูมิ แต่รูปพรหมภูมิที่มีขันธ์ ๕ มี ๑๕ ภูมิ และ รูปพรหมภูมิที่ไม่มีนามขันธ์ ไม่มีจิตเจตสิกเกิดเลยมี ๑ ภูมิ คือ อสัญญสัตตาพรหม เพราะฉะนั้น รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง ทำกิจปฏิสนธิเฉพาะในรูปพรหมภูมิ ๑๕ ภูมิ

และอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหม ๔ ภูมิ

รวมเป็นจิต ๑๙ ดวง ทำกิจปฏิสนธิใน ๓๐ ภูมิ และรูปปัญจมฌานกุศลจิต เป็นปัจจัยให้รูปปฏิสนธิในอสัญญาสัตตาพรหม ๑ ภูมิ

ฟังอย่างนี้แล้ว เข้าใจอย่างนี้แล้ว แต่การฟังต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและเข้าใจ จริงๆ เช่น ถ้าไม่กล่าวอย่างนั้น จะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า อเหตุกปฏิสนธิจิตมีกี่ดวง

การศึกษาพระธรรม ถ้าได้คิดจะทำให้เหมือนการบริหารปัญญาที่จะทำให้เข้าใจธรรมหลายๆ นัย เช่น ถ้าจำได้ว่า ปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ดวง และใน ๑๙ ดวงนั้นได้แก่จิตอะไรๆ แล้ว ถ้ามีคำถามหรือมีผู้กล่าวว่า อเหตุกปฏิสนธิจิตมีกี่ดวง จะไม่พ้นจากที่กล่าวถึงเมื่อกี้ คิดเองได้ คนอื่นไม่ต้องบอกเลย อเหตุกปฏิสนธิจิตก็มี ๒ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ ภูมิ และอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์และสวรรค์ชั้นต้นคือชั้นจาตุมหาราชิกา สำหรับผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด

นี่ก็เข้าใจถึงเหตุที่ทำให้เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด และปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นต้องเป็นอเหตุกปฏิสนธิ คือ เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ไม่ใช่อกุศลวิบาก เพราะว่าเกิดเป็นมนุษย์ แต่พิการตั้งแต่กำเนิด

เปิด  259
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565