แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1813

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๑


สุ. แต่ละท่าน ถ้าพิจารณาจริงๆ จะสามารถรู้จิตใจของตนเองว่า ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยของคฤหัสถ์ หรือท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยของบรรพชิต เพราะว่า สองเพศนี้ต่างกันจริงๆ

ผู้ที่ยังเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่ยังมีญาติมิตรสหายพี่น้อง มีกิจการงาน มีธุระ ที่จะต้องเกื้อกูลผูกพันกัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต คือ ผู้ที่สละละทิ้งทุกอย่าง ที่จะเป็นเครื่องกังวล เพราะฉะนั้น ท่านก็มีวงศ์ญาติใหม่ คือ บรรพชิตด้วยกันเท่านั้น ท่านจะไม่เกี่ยวข้องเยื่อใยในเครือญาติเก่า เพราะถ้ายังเกี่ยวข้องเยื่อใยอยู่ ท่านก็ต้อง มีความผูกพันในฐานะของคฤหัสถ์ ไม่ใช่เป็นบรรพชิต

สำหรับบรรพชิต ก็ยังมีท่านที่สะสมมาที่จะเห็นโทษของการติดข้องของตัวเอง คือ ไม่ใช่ไปเพ่งเล็งดูคนอื่น ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ย่อมเป็นผู้ที่เห็นความละเอียดของกิเลสของอัธยาศัยของตนเอง และรู้ด้วยว่าการที่จะกระทำข้อปฏิบัติอย่างหนึ่ง อย่างใดแม้แต่ธุดงควัตร ก็ต้องเป็นเพราะอัธยาศัยแท้จริง ไม่ใช่เป็นไปเพื่อคำสรรเสริญ หรือคำยกย่อง หรือคำชมเชย หรือเพื่อลาภ เพื่อสักการะ เพราะถ้าผู้อื่นเห็นว่า เป็นผู้ที่มีการขัดเกลามาก ก็อาจจะสักการะ หรือนำลาภปัจจัยมาให้ต่างๆ แต่ผู้ที่ รู้จักตัวเองจริงๆ เท่านั้นที่จะรักษาธุดงค์คุณได้ ตามอัธยาศัย

ถ. ได้ยินมา ไม่ได้เห็นเอง คือ พระธุดงค์มาอยู่ในกรุงเทพ และมักจะ ให้หวย คนก็ไปหากันมาก อย่างนี้ผิด ใช่ไหม พระธุดงค์โดยมากต้องไปต่างจังหวัด ใช่ไหม เพราะในกรุงเทพมีสิ่งยั่วยุให้เกิดกิเลส ก็ไม่สมควร ถ้าเราเป็นปุถุชนเข้าไปไหว้ เราผิดไหม คนก็ไปมาก เราจะทำอย่างไรดี

สุ. เราก็ไม่ไป เท่านั้นเอง สำหรับตัวเรา

ถ. ถ้าเราไม่ไป ศาสนาก็จะต่ำลง

สุ. ศาสนาไม่ใช่ของเรา ศาสนาไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น แต่พระธรรม คำสอนเป็นสัจจธรรม พร้อมที่จะให้ทุกคนพิสูจน์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเข้าใจตัวเองได้ มีหนทางเดียว คือ ศึกษาพระธรรมและพิจารณาตนเองจึงจะเข้าใจได้ว่า เราไม่มี มีแต่ปรมัตถธรรมซึ่งเกิดขึ้น บางขณะเป็นกุศล บางขณะเป็นอกุศล แม้แต่ภิกษุที่ธุดงค์ก็ไม่มีตัวตนจริงๆ ขณะใดกุศลจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับ ขณะใดอกุศลจิตเกิดขึ้น และก็ดับ ก็เป็นสภาพปรมัตถธรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง เกิดขึ้นและดับไปทุกขณะเท่านั้นเอง เราก็สมมติเรียกท่านว่า พระธุดงค์ แต่จริงๆ คือ ปรมัตถธรรม

ถ. ก็อยากจะเกื้อกูลให้เขาได้ฟังอย่างนี้ อยากจะบอกว่า อย่าไปเชื่อเลย พวกใบ้หวย ไม่ควรไป เราต้องทำของเราเอง แต่ไม่รู้จะช่วยเขาได้อย่างไร

สุ. ถ้าเขาไม่ได้ศึกษาพระธรรม อะไรๆ ก็ช่วยเขาไม่ได้ คำพูดของเราก็ช่วยเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมและเข้าใจเท่านั้น จึงสามารถรู้ได้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งใดเป็นมงคล และสิ่งใดเป็นมงคลตื่นข่าว นอกจากมงคล ๓๘ อย่างอื่นทั้งหมดเป็นมงคล ตื่นข่าว

สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ไม่เกื้อกูลให้ปัญญาและกุศลทั้งหลายเกิด สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และการที่จะเกื้อกูลแต่ละบุคคล เกื้อกูลให้เขาฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และปัญญาของเขาเองจะทำให้อกุศลของเขาค่อยๆ ลดคลายลง

ถ. เคยชักชวนให้มาฟังธรรมอาจารย์ แต่เขาฟังกันไม่รู้เรื่อง เอาเทปไป ให้ฟัง ก็ไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเป็นพระพูดอย่างนี้ เขาก็เชื่อ

สุ. ข้อนั้นไม่สำคัญ ใครจะฟังหรือใครจะไม่ฟัง บังคับไม่ได้ เป็นไปตาม การสะสม ทำไมคนนี้ฟัง ทำไมคนนั้นไม่ฟัง ถ้ามีการสะสมที่จะฟัง หรือครั้งแรกฟัง ไม่เข้าใจ เมื่อรู้ว่าไม่เข้าใจ ก็ควรจะได้ฟังต่อไปให้เข้าใจ ซึ่งบางท่านก็เป็นอย่างนั้น แต่บางท่านฟังครั้งแรกไม่เข้าใจ ท่านก็ไม่สนใจที่จะฟัง ท่านจะฟังแต่สิ่งที่ท่านเข้าใจได้ ซึ่งไม่ใช่พระธรรมคำสอนโดยละเอียด

พระ ก่อนหน้านี้อาตมาเคยสนทนากับเพื่อนภิกษุ ได้ยินข้อความว่า พระภิกษุถือบาตรและจีวร ไปที่ใดๆ ก็มีบาตรไปด้วย แสดงว่าฉันในบาตร ซึ่งธุดงค์บางข้อก็มีการฉันในภาชนะเดียว คือ ฉันในบาตร แต่ก็ไม่คิดถึงกับว่าจะถือธุดงค์ เพียงแต่เคารพในพระวินัย เห็นว่าการบวชนั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเมื่อมีบาตร และจีวรจึงบวชได้ ก็คิดว่าน่าจะใช้บาตรให้เป็นประโยชน์ในการฉัน เพราะว่าสะดวก ไม่ต้องไปล้างอะไรอีกหลายๆ อย่าง ก็นำไปด้วย และได้ยินเสียงจากญาติโยมว่า พระถือธุดงค์ คงจะเคร่งดี ก็รู้สึกยินดีบ้าง รู้สึกว่าเขาสักการะเราดี อาตมาคิดว่า เรื่องของการถือธุดงค์ อันตรายเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องการขัดเกลา

สุ. อันตรายประการหนึ่ง ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ได้สังเกตเลย คือ สักการะและคำสรรเสริญ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ารับไม่ถูก ก็เพิ่มพูนกิเลสมากทีเดียว เพราะว่า ทำให้เป็นผู้ติดในลาภสักการะและคำสรรเสริญ แต่ถ้าเป็นผู้มีตัตรมัชฌัตตตา คือ เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นลาภ เป็นคำสรรเสริญ เป็นคำชม ก็เป็นเพียง ชั่วขณะๆ เท่านั้นเอง และผู้ที่ได้รับคำชมหรือคำสรรเสริญ ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า จริงอย่างที่เขาสรรเสริญหรือสักการะหรือเปล่า เพราะว่าในขณะที่ ขัดเกลาเป็นขณะหนึ่ง ขณะที่ยินดีในคำสรรเสริญ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว

มีชาดกเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงการรักษาศีลที่ละเอียดจริงๆ ที่ท่านผู้ฟังในยุคนี้ ไม่สามารถคิดได้เลยว่า คนในครั้งโน้นเป็นผู้ที่ละเอียดถึงอย่างนั้น และมีการรู้จักตนเองถึงอย่างนั้น ท่านผู้ฟังจะอัศจรรย์ใจจริงๆ ว่า แต่ละท่านๆ ในครั้งกระโน้น ท่านเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะพิจารณาตนเองว่า เป็นผู้มีศีลอันสมควรที่จะให้ผู้อื่นรักษาตามได้ไหม เพราะว่าบางท่านได้ยินคำว่าศีล ๕ ก็ใคร่ที่จะรักษา เพราะฉะนั้น ก็ไปถาม ท่านที่รักษาศีล ๕ หรือว่ามีชื่อเสียงในการรักษาศีล ๕ ว่า ท่านรักษาศีล ๕ ประการใดบ้าง แม้เพียง ๕ ข้อธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่ว่าแต่ละท่านที่บุคคลนั้นที่เป็นทูตไปขอข้อปฏิบัติเพื่อที่จะปฏิบัติตามคือศีล ๕ นั้น มีถึง ๑๑ ท่าน

ท่านที่ ๑ ท่านบอกว่า ศีล ๕ ของท่านยังไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุนั้นๆ ขอให้ ไปถามอีกท่านหนึ่ง เมื่อทูตไปขอศีล ๕ จากอีกท่าน ท่านก็บอกว่าศีล ๕ ของท่าน ยังไม่บริสุทธิ์แม้เพราะเหตุนั้นๆ ซึ่งเป็นเพียงเหตุเล็กน้อยที่สุด แต่ท่านเหล่านั้น มีความสำนึกว่า แม้เพียงอย่างนี้ท่านก็รักษาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่ได้ให้ศีล ๕ และคิดว่าคนอื่นจะสมบูรณ์หรือจะรักษาได้ดีกว่าท่าน ก็ขอให้ไปถามบุคคลนั้น ถามไปๆ จนถึง ๑๑ คน ซึ่งในยุคนี้สมัยนี้ไม่มีใครที่จะคิดได้ละเอียดถึงอย่างนั้น

ทุกท่านไม่สามารถรู้ภวังคจิตของท่านได้ แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยเจ้าก็ย่อมรู้ว่า แม้ในขณะที่ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติอยู่ ขณะนั้นก็ยังมีอนุสัยกิเลส คือ กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสืบต่อกันแต่ละขณะ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่กำลัง นอนหลับสนิทและไม่ฝัน ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ก็ต่างกับผู้ที่เป็นปุถุชน ทั้งๆ ที่จิตนั้นกำลังทำภวังคกิจเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ภวังคจิตของปุถุชนก็ต่างกับภวังคจิต ของพระโสดาบัน ภวังคจิตของพระโสดาบันก็ต่างกับภวังคจิตของพระสกทาคามีบุคคล ภวังคจิตของพระสกทาคามีบุคคลก็ต่างกับภวังคจิตของพระอนาคามีบุคคล ภวังคจิตของพระอนาคามีบุคคลก็ต่างกับภวังคจิตของพระอรหันต์

นี่คือความต่างกันของจิต ซึ่งยังมีอนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ กับจิตของ พระอริยบุคคลที่ดับอนุสัยกิเลสเป็นประเภทๆ ไป

สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีข้อความว่า

ชื่อว่าอนุสัย เพราะอรรถว่า นอนเนื่องในสันตาน

หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า สันดาน คือ การสืบต่อของจิต ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิต หรือกุศลจิต หรืออเหตุกกิริยาจิต ก็ยังมีกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ เพราะว่ายังไม่ได้ดับไป

กิเลสเมื่อวานนี้มีมากไหม กิเลสเมื่อเช้านี้มีมากไหม เพราะไม่ได้นับ เพราะ ไม่รู้สึกตัว จึงไม่ทราบว่ามากมายสักแค่ไหน แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น กิเลส จะเป็นโลภะก็ดี โทสะก็ดี มานะก็ดี อิสสาก็ดี เมื่อวานนี้ที่ดับไปแล้ว ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันทุกขณะไป จนกว่าโลกุตตรปัญญาจะเกิดขึ้น จึงจะดับอนุสัยกิเลสได้

สำหรับอกุศลธรรมที่เป็นอนุสัยกิเลส ซึ่งมีอยู่แม้ในขณะที่กำลังหลับสนิท มี ๗ ประการ

อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อนุสยวรรคที่ ๒ อนุสยสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๑

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ อนุสัย คือ กามราคะ ๑ อนุสัย คือ ปฏิฆะ ๑ อนุสัย คือ ทิฏฐิ ๑ อนุสัย คือ วิจิกิจฉา ๑ อนุสัย คือ มานะ ๑ อนุสัย คือ ภวราคะ ๑ อนุสัย คือ อวิชชา ๑

ขณะกำลังนอนหลับ ยังมีอนุสัยกิเลส ๗ ประการนี้อยู่ครบสำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ลักษณะของกิเลสซึ่งจะใช้คำว่าหลับ หรือคำว่านอนเนื่องอยู่ก็ได้ คือ ไม่ตื่นขึ้นทำกิจการงาน มี ๗ อย่าง คือ

  • ๑. กามราคะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
  • ๒. ปฏิฆะ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ
  • ๓. ทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน หรือเห็นว่าเที่ยง หรือ เห็นว่าสูญ เป็นต้น
  • ๔. วิจิกิจฉา ความสงสัย ความลังเล ความไม่แน่ใจ

ท่านที่ยังไม่แน่ใจว่าลักษณะไหนเป็นนามธรรม ลักษณะไหนเป็นรูปธรรม ในขณะที่กำลังเห็น สภาพที่ปรากฏทางตาเป็นรูป เป็นสิ่งที่ปรากฏ และสภาพรู้มีขณะที่กำลังเห็น ถ้ายังสงสัยในลักษณะอาการของสภาพนามธรรมที่รู้ ขณะนั้นชื่อว่าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดับวิจิกิจฉานุสัย เพราะว่าโสตาปัตติมรรคจิตยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่ได้ดับวิจิกิจฉานุสัยเป็นสมุจเฉท

๕. มานะ ความสำคัญตน

๖. ภวราคะ ความยินดีในภพ ในความเป็น

๗. อวิชชา ความไม่รู้

เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า จะค่อยๆ ละคลายได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า วันหนึ่งๆ ที่หลับไป และตื่นขึ้นนั้น กิเลสประเภทไหนจะเกิดขึ้นมากน้อยประการใด ไม่มีใครสามารถรู้ได้จริงๆ เพราะไม่มีใครหยั่งถึงการสะสมของอกุศลธรรมซึ่งแต่ละท่านเก็บสะสมสืบต่อ อยู่ในจิต

เมื่อวานนี้จิตของแต่ละคนก็มีโลภะต่างๆ กัน มีโทสะต่างๆ กัน มีความ สำคัญตนมากน้อยต่างๆ กัน มีความอิสสามากน้อยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เมื่อตื่นขึ้นแล้ววิบากประเภทไหนจะเกิด และเมื่อวิบากเกิดแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทไหนจะเกิด แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้การสะสมของกรรมและกิเลสของแต่ละบุคคล และสามารถรู้ด้วยว่าบุคคลใดสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จตุกกนิบาต ชัมพุกเถรคาถาที่ ๕

ท่านผู้ฟังจะเห็นชีวิตของพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านก็มีการสะสมซึ่งยากที่วิถีชีวิตของใครจะเป็นอย่างท่าน

ข้อความในอรรถกถามีว่า

พระเถระแม้นี้ ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน

ต้องกระทำบุญมาแล้วอย่างมาก ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ

ก่อสร้างบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา เชื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณของ พระศาสดา ไหว้ต้นโพธิ์พฤกษ์แล้ว บูชาด้วยการพัดวี

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็น ผู้รู้เดียงสาแล้ว บรรพชาในพระศาสนา เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอารามอันอุบาสกคนหนึ่งได้สร้างไว้ อันอุบาสกนั้นอุปัฏฐากอยู่

ภายหลังวันหนึ่ง พระขีณาสพเถระรูปหนึ่ง (คือ พระอรหันต์องค์หนึ่ง) ผู้ครองจีวรเก่าๆ มาจากป่า บ่ายหน้าไปยังบ้านเพื่อโกนผม อุบาสกนั้นเห็นเข้าแล้วเลื่อมใสในอิริยาบถ ให้ช่างกัลบกปลงผมและหนวด ให้บริโภคโภชนะอันประณีต ถวายจีวรดีๆ นิมนต์ให้อยู่ด้วยคำว่า ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละขอรับ

ภิกษุเจ้าอาวาสเห็นดังนั้น มีความริษยา และมีความตระหนี่เป็นปกติ

แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะให้ทานสักเท่าไรในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ แต่เมื่อกิเลสยังไม่ดับ ก็มีปัจจัยทำให้ยังมีความริษยาและมีความตระหนี่เกิดขึ้น

ภิกษุเจ้าอาวาสกล่าวกับพระเถระขีณาสพว่า

การที่ท่านเอานิ้วมือถอนผมเป็นอเจลก เลี้ยงชีพด้วยอาหารคือคูถและมูตร ยังประเสริฐกว่า การอยู่ในที่นี้ด้วยอาการอย่างนี้ ของผู้อันอุบาสกลามกนี้บำรุงอยู่

คือ ไม่อยากให้ท่านอยู่ที่นั่น คิดว่าท่านควรไปอยู่ที่อื่น

เมื่อกล่าวอย่างนั้นแล้ว เข้าไปยังเวจกุฎี ในขณะนั้นนั่นเองเอามือกอบ คูถกินและดื่มมูตรเหมือนคดข้าวปายาสฉะนั้น ด้วยทำนองนี้ดำรงอยู่ตลอดอายุ ทำกาละแล้วไหม้ในนรก มีคูถและมูตรเป็นอาหารอีก ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้นนั่นแล แม้เกิดในหมู่มนุษย์ได้เป็นนิครนถ์ มีคูถเป็นภักษา ๕๐๐ ชาติ

เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ และผลของกรรมที่ยังไม่หมด คือ

ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ท่านบังเกิดในกำเนิดมนุษย์อีก บังเกิด ในตระกูลแห่งคนทุกข์ยาก เพราะกำลังแห่งกรรมแห่งการว่าร้ายพระอริยเจ้า เขาให้ดื่มน้ำนม นมสด หรือเนยใส ก็ทิ้งสิ่งนั้น แล้วดื่มเฉพาะน้ำมูตรเท่านั้น เขาให้บริโภคข้าวสุก ก็ทิ้งข้าวสุกนั้น แล้วเคี้ยวกินแต่คูถเท่านั้น

รสดีๆ ที่อร่อยก็ทิ้งหมด เพราะกรรมทำให้ไม่สามารถบริโภคได้

เติบโตด้วยการบริโภคคูถและมูตรด้วยอาการอย่างนี้ แม้เจริญวัยแล้ว ก็บริโภคแต่คูถและมูตรเท่านั้น

ตั้งแต่เด็กก็บริโภคอย่างนั้น จนกระทั่งโตก็บริโภคอย่างนั้น

พวกมนุษย์เมื่อไม่อาจจะห้ามการบริโภคคูถและมูตรนั้น ก็พากันละทิ้งเขาไป เขาอันพวกญาติละทิ้งเสียแล้ว จึงบวชเป็นนักบวชเปลือย ไม่อาบน้ำ ครองผ้าเปื้อนด้วยธุลีและฝุ่น ถอนผมและหนวด ห้ามอิริยาบถอื่น ยืนอยู่ด้วยเท้าข้างเดียว ไม่ยินดีการนิมนต์ ถือเอาโภชนะที่ผู้ต้องการบุญ อธิษฐานเข้าอยู่ประจำเดือนให้ ด้วยปลายหญ้าคาเดือนละครั้ง กลางวันเลียด้วยปลายลิ้น ส่วนกลางคืนไม่เคี้ยวกินด้วยคิดว่า คูถสดมีตัวสัตว์ จึงเคี้ยวกินแต่คูถแห้งเท่านั้น

เมื่อเขาทำอยู่อย่างนี้ ล่วงไป ๕๕ ปี มหาชนสำคัญว่า เป็นผู้มีตบะมาก มีความปรารถนาน้อยอย่างยิ่ง จึงได้น้อมไปหาเขา โอนไปหาเขา

ยังมีคนที่อุตส่าห์เห็นผิด เห็นว่าการปฏิบัติอย่างนั้นเป็นการมักน้อย เพราะว่าทำมานานถึง ๕๕ ปี เพราะฉะนั้น ทำให้บางบุคคลที่มีความโน้มเอียงไปในทาง ที่จะเห็นผิด ไม่มีเหตุผล เกิดความเลื่อมใส

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่ง พระอรหัต รุ่งเรืองอยู่ภายในหทัยของเขา เหมือนประทีปในหม้อฉะนั้น แล้วพระองค์เสด็จไปในที่นั้น ทรงแสดงธรรมให้เขาดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล ให้เขาได้อุปสมบท ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้ขวนขวายวิปัสสนา ให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต

เมื่อท่านดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ในเวลาปรินิพพาน เมื่อแสดงว่าท่าน ปฏิบัติผิดในชั้นต้น อาศัยพระผู้มีพระภาคจึงได้บรรลุธรรมที่พระสาวกควรบรรลุ ท่านจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

เราเอาธุลีและฝุ่นทาตัวอยู่ตลอด ๕๕ ปี บริโภคอาหารเดือนละครั้ง ถอนผมและหนวด ยืนอยู่ด้วยเท้าข้างเดียว งดเว้นการนั่ง กินคูถแห้ง ไม่ยินดีอาหารที่เขา เชื้อเชิญ เราได้ทำบาปกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็นอันมากเช่นนั้น ถูกโอฆะ พัดไปอยู่ ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ขอท่านจงดูสรณคมน์และความที่ธรรมเป็น ธรรมอันดีเลิศ วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้ว เราได้ทำกิจพระศาสนาเสร็จแล้ว

เปิด  241
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565