แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1816

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๑


สุ. ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ เพื่อสะสมอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรม จะศึกษาพระธรรมมากน้อยสักเท่าไรก็ตาม ให้ทราบว่า เพื่อรู้ความเป็นอนัตตา เพราะว่าขณะใดที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม หากไม่มีการฟัง เป็นพหูสูต จนมีความเข้าใจพื้นฐาน ที่จะรู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นอนัตตา ขณะนั้นปัญญาจะไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกโดยรู้ชัดว่าไม่ใช่ตัวตนไม่ได้ ถ้าไม่เป็นพหูสูต คือ เป็นผู้ฟังมาก เข้าใจมาก

ถ. เรื่องรูปธรรมนามธรรมก็ฟังกันมามากจนมีความเข้าใจ รวมทั้งผมด้วย และได้เหตุได้ปัจจัยที่จะระลึกรู้ในนามธรรมบ้าง ในรูปธรรมบ้าง มีท่านผู้หนึ่งระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ หลังจากนั้นเขาก็ไม่หยุด เขาก็ฟังเรื่องรูปธรรมนามธรรม ค้นคว้าหนักขึ้น ศึกษาหนักขึ้น มีการสนทนาธรรมบ้าง บรรยายธรรมบ้าง แต่ทำไมเหตุปัจจัยจึงทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปได้ ทั้งๆ ที่สติระลึกแล้ว อย่างผมก็คิดว่า สักวันหนึ่งอาจจะไม่ต้องฟังอาจารย์แล้ว ที่อาจารย์บรรยายมาผิดทั้งหมด ทำไมเป็นอย่างนั้น

สุ. ที่ว่าระลึกนี่คงไม่ใช่แล้ว เพราะถ้าแล้วจริงๆ คงต้องถึงความเป็น พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ยังไม่ใช่แล้วแน่นอน

ถ. เริ่มระลึกบ้าง ผมคงจะใช้คำผิดไป ถ้าแล้วคงจะจบ คงจะยังไม่แล้ว แต่ระลึกบ้าง และการศึกษาก็หนักขึ้นๆ ก็น่าจะได้เหตุได้ปัจจัยที่ดีกว่าเดิม แต่กลับถอยหลังไปอย่างนี้ ไม่ทราบเป็นได้อย่างไร

สุ. คงไม่ลืมข้อความในอรรถกถาที่ว่า การศึกษาพระไตรปิฎกถ้าศึกษาผิดเป็นโทษ คือ ถ้าเข้าใจพระวินัยผิด จะทำให้กระทำสิ่งที่เป็นโทษ เพราะคิดว่าพระวินัยไม่ได้แสดงไว้อย่างนั้น และถ้าศึกษาพระสูตรโดยที่ไม่ได้พิจารณาโดยละเอียดก็ทำให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง และถ้าศึกษาพระอภิธรรมผิด คือ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยก็ยังอุตส่าห์คิดพิจารณาค้นคว้าสงสัยซึ่งไม่ควรแก่การพิจารณา ก็จะทำให้เป็นผู้ที่มีจิตฟุ้งซ่าน

เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามแม้ได้ฟังพระธรรมแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า การฟังพระธรรมนั้นเพื่ออะไร ถ้าเพื่อรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อเห็นโทษของตนเอง ไม่ใช่เพื่อให้เห็นความสามารถ เห็นความเก่ง เห็นความดี เห็นกุศลของตนเอง แต่พิจารณาเพื่อให้พระธรรมเป็นเหมือนกระจกเงา ที่ใส ที่จะส่องให้เห็นกิเลสแม้ของตนเองอย่างละเอียด ผู้นั้นก็ชื่อว่าได้ประโยชน์ จากพระธรรม

แต่ถ้าสติเกิดบ้าง และอยากจะให้สติเกิดมากๆ พยายามหาทางอื่น คิดว่า มีหนทางอื่นนอกจากสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ถ้าเกิดมี ข้อปฏิบัติเป็นระเบียบแบบแผนขึ้นโดยความเป็นอัตตา ให้ทราบว่า เป็นผู้ที่ถูกโลภะครอบงำหรือชักจูง ไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดว่า แม้ในขณะที่คิดอย่างนั้นก็เพราะ ความต้องการผล ซึ่งผลทั้งหลายต้องมาจากเหตุ ถ้าเหตุที่สมควรแก่ผลนั้น ยังไม่พร้อม ผลนั้นก็เกิดไม่ได้

ทำไมไม่คิดถึงอวิชชาที่มีมากมายในแสนโกฏิกัปป์ และแม้ในทุกๆ วันในชาตินี้ ที่เป็นเหตุทำให้สติเกิดน้อย ซึ่งการฟังหรือการพิจารณาธรรมโดยเข้าใจจริงๆ จะทำให้ รู้ว่า ทุกขณะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยอยู่แล้ว ไม่มีใครสามารถไปทำ ไปเคี่ยวเข็ญ หรือไปเร่งรัดอะไรได้ แต่สามารถอบรมเจริญปัญญา เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่ต้องไปทำอย่างอื่น

นี่คือหนทางเดียว ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรอบคอบ และเห็นโทษของการที่จะหลงจากทางที่จะทำให้ปัญญารู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้วโลภะจะชักจูงไปได้โดยง่าย นอกจากโลภะก็ยังมีบริวาร ของโลภะอีกมากมาย เช่น ความสำคัญตน ก็เป็นเหตุหนึ่งที่จะทำให้หลงทางไป

กิจทั้งหมดของจิตมี ๑๔ กิจ ขณะนี้มีกี่กิจ หรือทุกๆ วัน จิตเกิดขึ้นทำกิจกี่กิจ

ธรรมนี่ถ้าได้คิดจะเป็นประโยชน์มาก จะได้ทราบว่าลืมอะไรไปบ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น ไม่ลืมอะไร เพราะว่าต้องเป็นเหตุเป็นผลทั้งหมด

คำตอบคือ ๑๒ กิจ ไม่ใช่ครบทั้ง ๑๔ กิจ เว้นปฏิสนธิจิตกับจุติจิต เพราะฉะนั้น ในขณะนี้และทุกๆ วัน ถึงแม้ว่ากิจของจิตจะมี ๑๔ กิจ แต่ทุกๆ วันนี้ จิตเกิดขึ้นกระทำกิจ ๑๒ กิจ

ถ. ขอถามเรื่องการเจริญสติ สักครู่นี้พูดถึงการที่สติเกิดขึ้นและระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่สามารถรู้ได้ว่าขณะนั้นทำกิจอะไร แต่มีลักษณะของ สภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏอยู่ คือ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งในขณะที่สติเกิดขึ้น เช่น มีการกระทบทางกายและเกิดความเจ็บปวดขึ้น บางครั้งสติก็ระลึกที่แข็ง บางครั้งก็ระลึกที่ลักษณะปวดหรือเจ็บ จากการศึกษาสติก็น้อมไปที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่สติเกิดขึ้นในขั้นแรกๆ ยังไม่สามารถรู้ได้ว่า เวทนานั้นเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ซึ่งกำลังรู้แข็ง ในขั้นแรกๆ จะน้อมไปรู้ลักษณะทีละลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวเรา หรือไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยยึดถือ จะเป็นอย่างนั้นมากกว่า หลังจากนั้นจะมีความนึกคิดตามปริยัติว่า แข็งสักครู่ที่ปรากฏ กับลักษณะของปวด ปวดนั้นเองก็รู้จากอารมณ์แข็งนั้นเองที่กำลังปรากฏ นี่เป็น ความเข้าใจ ขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำ

สุ. เป็นการที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ และ ในขณะนั้นที่ปัญญาเจริญ คือ กำลังสังเกต พิจารณา รู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ว่า ต่างกับลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏที่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะว่าสภาพธรรมมีเพียง ๒ อย่าง คือ นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ แต่เมื่อไม่เคยระลึกเลย นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดร่วมกันก็ยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราหรือเป็นตัวตนได้ สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง เพื่อให้ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏจริงๆ ทีละอย่าง ไม่รวมกันเหมือนเดี๋ยวนี้ ถ้ายังรวมกันอยู่ ก็ยังยึดถือว่าเป็นตัวตน

ถ. บางครั้งลักษณะของรสก็มี ขณะที่รสปรากฏแล้ว ความเคยชินว่า ข้าวหรือรสนั้นกระทบกับลิ้นของเรา เป็นตัวเราอยู่ หลังจากนั้นก็คิดว่า ลักษณะที่ คิดว่าเป็นลิ้น จริงๆ เป็นลักษณะอ่อนหรือแข็ง ซึ่งสติยังไม่สามารถรู้ทีละอย่าง จนแยกได้ว่าขณะนั้นไม่มีลิ้นที่กำลังกระทบแข็งหรืออะไรต่างๆ หรือรสต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า เริ่มเจริญทีละลักษณะ และก็น้อมไปรู้ตามที่ได้ศึกษาจริงๆ

สุ. เป็นความถูกต้อง คือ เมื่อเริ่มระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะต้องมีความคิดถึงส่วนต่างๆ ของเรา เช่น เวลาที่รสปรากฏ ก็จะคิดถึงลิ้นว่า มีลักษณะอย่างไร อ่อนหรือแข็ง คือ ยังมีความทรงจำในสิ่งซึ่งไม่ปรากฏ

ในขณะนั้น รสเท่านั้นที่ปรากฏ แต่ความที่เคยมีอัตตสัญญา ความทรงจำ ในเรื่องตัวตนตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่ายังมีอยู่ และเป็นของเรา ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏเลย ขณะนี้ปอดใครปรากฏ หัวใจใครปรากฏ ฟันใครปรากฏ ผมใครปรากฏ ก็ไม่มี ทั้งๆ ที่ไม่มีปรากฏ แต่ความทรงจำในอัตตสัญญาก็ยังไม่ลืม เพราะฉะนั้น เวลาที่ ลิ้มรสก็ยังนึกถึงลิ้นของเราได้

จะเห็นได้ว่า กว่าจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ปัญญาต้องละเอียดและต้องรู้ว่า ขณะนั้นยังมีอัตตสัญญา ยังมีการนึกถึงลิ้นว่าอ่อนหรือแข็ง จนกว่าจะละอัตตสัญญา ไม่มีนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่มีแขน ไม่มีตา ไม่มีกระดูก ไม่มีเลือด ไม่มีอะไรทั้งหมด มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏจริงๆ

เมื่อไรปัญญาสามารถที่จะละคลาย วางการที่เคยถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ขณะนั้นจะรู้ได้ด้วยตนเองว่า ค่อยๆ คลาย ไม่ใช่สามารถหมดไปได้ทันทีอย่างรวดเร็ว

ผู้ฟัง การที่สติเกิดไม่สามารถหมดการยึดถือตัวตนได้ทันที ชี้ให้เห็นว่า การที่สติเกิดขึ้น แม้กระทั่งสติระลึกที่รสแล้ว สติก็ยังไม่สามารถระลึกลักษณะที่ ไม่ใช่ลิ้น ซึ่งอาจจะเป็นอ่อนหรือแข็ง เพราะสติยังไม่ได้ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งเป็นอนัตตา และสติที่เกิด สังเกตว่า จากการศึกษาจริงๆ ที่จะโน้มขณะที่สติเกิดขึ้น ไม่ต่างจากปริยัติ ไม่นอกเหนือจากปริยัติ เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงให้คลายความเป็นอัตตา ความยึดถือเป็นกลุ่มก้อน

ที่ว่าศึกษาพระสูตรไม่ดี คือ ศึกษามาก แต่ไม่ได้แยกฆนสัญญาออก จึงยังเข้าใจว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ บางท่านอาจจะมีกุศลจิตเกิดมากอย่างที่ไม่เคย เกิดมาก่อน เจริญกุศลบางขั้นจนคิดว่า ขณะนั้นไม่มีความโลภ โกรธ หลง และอาจจะคิดว่าทางนี้เป็นทางพ้น

ถ้าเทียบเคียงกับปริยัติ ก็ไม่ได้มีการแยกสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกทีละอย่างจริงๆ จนกระทั่งเข้าใจถูกว่า ที่เคยยึดถือมานั้นผิด

สุ. ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบจริงๆ จึงจะรู้ว่า ธรรมที่กล่าวไว้ แม้ในอรรถกถาก็ได้แสดงไว้ว่าหมายถึงอะไร เช่น ละความยินดี ในอรรถกถาจะแสดงว่า หมายความถึงนิพพิทาญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ แต่คนที่อ่านพระสูตรก็บอกว่า ละความยินดีเฉยๆ บางคนอาจจะละโดยไม่มีความรู้อะไรเลย เมื่อเห็นก็ละความยินดี คิดว่าละแล้ว แต่ความจริงถ้าปัญญายังไม่เกิด ไม่ได้ละอะไรเลย เพราะว่าการละ ไม่ใช่เรื่องของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะละ แต่เป็นกิจหน้าที่ของปัญญาเจตสิกเท่านั้น ที่จะละได้

เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็หลงไปว่าละแล้ว หรือหลงไปว่า ที่ทรงแสดงว่าละความยึดถือ ก็คือให้ละความยึดถือ มีตัวตนที่คิดว่า จะละความยึดถือได้ โดยไม่ต้องอบรมเจริญปัญญา

ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่ตอบได้ว่า จิตมี ๑๔ กิจ แต่วันหนึ่งๆ เมื่อเกิดมาแล้ว และยังไม่ตาย จะมีจิตเกิดขึ้นทำกิจเพียง ๑๒ กิจเท่านั้น เว้นปฏิสนธิกิจและจุติกิจเพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตก็เกิดขึ้นทำภวังคกิจ หลังจากภวังคจิตดับแล้ว วิถีจิตแรก ก็เกิดทำอาวัชชนกิจ คือ นึกถึงอารมณ์ที่กระทบทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

จิตที่ทำอาวัชชนกิจ ไม่ใช่วิบากจิต วิถีจิตขณะแรกทางทวารทั้ง ๖ นั้น ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ ถ้าเป็นทาง มโนทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ

สำหรับทางปัญจทวาร เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น หรือโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยิน ฆานวิญญาณเกิดขึ้นได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นลิ้มรส กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เมื่อปัญจวิญญาณ ๕ ดวงนี้ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเกิดต่อเป็นวิบาก ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ไม่มีทางที่จะเลือกไม่ให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิด เพราะวิปากต้องเกิดขึ้นเพราะกรรม เป็นปัจจัย

จิตที่ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ได้แก่ สัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเป็นวิบากจิต ๒ ดวง

เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตทำสัมปฏิจฉันนกิจดับไป สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากจิต ก็เกิดต่อ พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต

จิตที่ทำสันตีรณกิจ เป็นวิบากจิต ๓ ดวง เมื่อทำสันตีรณกิจ จิตนี้ก็ได้ชื่อว่า สันตีรณจิต ซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน ๓ ดวง

เมื่อสันตีรณจิตดับแล้วทางปัญจทวาร โวฏฐัพพนะ คือ จิตซึ่งเกิดต่อ ทำกิจมนสิการอารมณ์เพื่อกุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดตามการสะสม กิจนั้นคือ โวฏฐัพพนกิจ สำหรับปกติประจำวันของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง ทำอาวัชชนกิจ กับโวฏฐัพพนกิจ

เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว กิจที่สำคัญที่สุด คือ ชวนกิจ บางท่านที่เพิ่งศึกษาพระอภิธรรมอาจจะสงสัยว่า บางครั้งเรียกชวนจิต บางครั้งก็เรียกอกุศลจิต กุศลจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต หรือฌานจิต หรือโลกุตตรจิต ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่า การเรียกชื่อของจิตสามารถเรียกโดยกิจก็ได้ เมื่อจิตใดทำชวนกิจ ก็เรียกว่าชวนจิตได้ แต่ต้องจำแนกออกไปว่า จิตที่ทำชวนกิจทั้งหมดมีเท่าไร และเป็นประเภทใดบ้าง

สำหรับวิบากจิต ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ที่จะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และกิริยาจิต เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต ก็เช่นเดียวกัน แต่สำหรับชวนจิตซึ่งเกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิตทางปัญจทวาร หรือเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตทางมโนทวาร เป็นจิตที่แล่นไปในอารมณ์โดยที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์

จิตที่ทำชวนกิจทั้งหมดมี ๕๕ ประเภท ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวันนี่เอง จิตที่ทำชวนกิจ ๕๕ ประเภท หรือ ๕๕ ดวง คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง ทำชวนกิจ โทสมูลจิต ๒ ดวง ทำชวนกิจ โมหมูลจิต ๒ ดวง ทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น อกุศลจิต ทั้ง ๑๒ ดวง ทำชวนกิจ กิจเดียว

ขณะใดที่โลภมูลจิตเกิด ต่อไปนี้ก็ทราบได้ว่า ขณะนั้นกำลังทำชวนกิจ ไม่ใช่เรา เวลาที่โทสะเกิด ลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยโทสะ ความไม่แช่มชื่น ความหยาบกระด้าง ในขณะนั้นก็ทราบว่า เป็นจิตที่กำลังทำชวนกิจ

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565