แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1824
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๑
ถ. ฟังแต่เสียงเฉยๆ ก็รู้ว่าอาจารย์พูดอะไรทุกที อย่างนี้เราจะทำใจอย่างไร
สุ. ทำอีกแล้ว ไม่ทำได้ไหม เลิกคิดเรื่องทำ
ถ. ไม่ได้ทำ แต่เป็นทันที ขณะที่ได้ยินเสียงก็รู้ว่าเป็นอาจารย์สุจินต์
สุ. ขณะนั้นคือหลงลืมสติ
ถ. หนูตั้งใจนะ เปิดวิทยุคอยเลย จะไม่มีสติได้อย่างไร คอยจ้องเลยว่าเวลานี้ต้องฟัง ไม่ทำอะไรทั้งนั้น
สุ. ถ้าเป็นสติก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าสติมีหลายขั้น สติขั้นทาน สติขั้นศีล สติขั้นความสงบของจิตที่เป็นสมถภาวนา และสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำโยนิโส ฟังวิทยุนี่ ฟังทำไม
ถ. ฟังเพื่อให้รู้ว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะถูก
สุ. ฟังให้เข้าใจ ได้ไหม
ถ. ได้ แต่ถ้าฟังแล้วไม่รู้เรื่องก็ไม่เข้าใจ ปัญญาก็ไม่เกิด
สุ. ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟังคือเพื่อเข้าใจ เรื่องของ สติปัฏฐานที่จะเกิดหรือไม่เกิดเอาไว้ทีหลัง เข้าใจก่อน ดีไหม
ถ. จะเข้าใจอย่างไร เวลาอาจารย์พูด จะเข้าใจว่าเป็นเสียงเฉยๆ มันก็ รู้เรื่อง
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น เรียนให้ทราบแล้วว่า ฟังให้เข้าใจก่อน ยังไม่ต้อง ทำอะไรทั้งหมด ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไรทั้งสิ้น อย่าเป็นโรคปฏิบัติ โรคนี้น่ากลัว คือ อยากจะปฏิบัติ ต้องเข้าให้ใจถูกว่า ปฏิบัตินี่ไม่ใช่เรา แต่เป็นขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นสติปัฏฐานปฏิบัติกิจของสติปัฏฐาน ไม่ใช่เราจะโยนิโส หรือเราจะทำ เพราะฉะนั้น ไม่อยากให้เป็นโรคปฏิบัติ ให้เข้าใจก่อน
ถ. ทำอย่างไรจึงจะหายโรค
สุ. อยากจะทำให้หาย
ถ. ฟังมานานแล้ว รู้เป็นเรื่องทุกที ถ้าจะฟังให้สักแต่ว่าเป็นเสียง เราหลอกตัวเองได้ แต่ความจริงรู้เป็นเรื่องทุกครั้ง
สุ. ขออนุโมทนาที่เป็นผู้ตรง ที่รู้ว่ายังไม่รู้
ถ. ก็อยากจะรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะถูก
สุ. แต่ยังไม่รู้ ใช่ไหม
ถ. ก็รู้เป็นเรื่อง
สุ. ฟังต่อไปอีก เช่น เดี๋ยวนี้ ก่อนอื่นต้องทราบว่า มีสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อนที่จะคิดถึงรูปร่างสัณฐาน อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า ถ้าเห็นรูปภาพ เห็น แต่ยังไม่ได้คิดถึงภูเขาต้นไม้อะไรก็ได้ บางรูปดูยากเหลือเกิน จิตรกรสมัยนี้ท่านมีวิธีเขียนรูปต่างๆ เอียงซ้ายก็ยังไม่เห็นว่าเป็นอะไร ดูทางขวาตั้งนานก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร จนกว่าจะนึกขึ้นมาได้ เพียงแค่เลข ๓๑ ก็ยังทำพลิกแพลงจนกระทั่งต้องดูนานกว่าจะ รู้ว่าเป็นอะไร นี่ก็เป็นไปได้
เพราะฉะนั้น รูปภาพเหล่านั้นต้องอาศัยจิตที่คิดถึงสีสันที่ตัดกันอย่างมาก ฉันใด ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ ถ้าเพียงแต่เริ่มที่จะเข้าใจว่า มีเห็นก่อนที่จะคิดถึงรูปร่างสัณฐาน พอที่จะรู้ว่าเป็นสัจจญาณเป็นความจริงหรือเปล่าที่ว่า ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเพื่อให้คิดถึงรูปร่างสัณฐานจึงจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร แค่นี้เอง คือ ค่อยๆ เริ่มไป ฟังแล้วก็ฟังอีก แต่สำหรับท่านที่เข้าใจแล้วในขณะนี้ สติปัฏฐานอาจจะเกิดและระลึกได้บ้าง
สำหรับผู้ที่เพิ่งจะฟังไม่นาน ก็อาจจะผ่านข้อความบางตอนซึ่งมีท่านผู้อื่นซักถามไว้แล้ว เพราะฉะนั้น ก็เริ่มคิดใหม่และเข้าใจใหม่ได้ว่า ทางตาในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏให้คิดถึงรูปร่างสัณฐานเท่านั้นเอง
ถ. แล้วทางหู
สุ. ทางตาเข้าใจแล้ว แน่ใจ
ถ. รู้สึกว่าทางตาไม่ค่อยห่วง เพราะว่าฟังวิทยุใช้หูมากกว่า
สุ. แต่ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทาง ถ้าฟังทางตาเข้าใจแล้ว จริงๆ ก็ใช้ได้หมดกับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจด้วย ๖ ทางนี่ไม่ต่างกันเลย เพราะว่าทางหูมีเสียงสูง เสียงต่ำ ทำให้เข้าใจความหมาย รู้ว่าเสียงนั้นหมายความว่าอะไร แต่ก่อนที่จะรู้ความหมายของเสียงสูง เสียงต่ำนั้น ต้องได้ยินก่อน เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่ได้ยินเสียง ดับไป และมีจิตที่รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยินขณะที่เสียงนั้นดับไปแล้ว
ถ. มีครั้งหนึ่ง ไปหลงที่อินเดีย ที่ทัชมาฮาล มีแขกเยอะ ก็ไปถามเขา เขาก็ตอบกันทุกคนเลย แต่ขณะนั้นไม่รู้เรื่อง คิดว่า อย่างนี้หรือเปล่าที่ว่า สักแต่ได้ยิน
สุ. สักแต่ได้ยินในขั้นการฟัง ไม่ใช่สักแต่ได้ยินด้วยปัญญาที่ได้อบรม เจริญแล้ว แต่ก่อนอื่นโดยแม้ขั้นการฟังก็ทราบว่า มีการได้ยินเสียงก่อน และเสียงนั้นดับไป จึงมีการคิดถึงความหมายของเสียง
ท่านผู้ฟังลองนึกในใจ แม้ว่าจะไม่ได้ยินเสียง นึกถึงคำว่า บางลำพู นึกได้ไหม ขณะที่นึกนั้นคือสัญญา ความจำเสียง ใช่ไหม ไม่มีเสียงเลย มีแต่คำว่า บาง–ลำ–พู ให้คิดในใจเท่านั้น ก็ยังคิดได้ แต่ที่คิดในใจว่า บางลำพู คือ สัญญา ความจำเสียง ที่มีความหมายอย่างนั้น ก็เกิดนึกถึงคำนั้นได้
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะนึกเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องราว ให้ทราบว่า ขณะนั้นเพราะสัญญาจำเสียงเกิดขึ้นนึกแม้ว่าไม่ได้ยิน ในขณะที่ได้ยินมีเสียงปรากฏนั่นตอนหนึ่ง และก็นึกถึงความหมายของเสียงที่ได้ยินอีกตอนหนึ่ง
นี่คือการที่จะไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่ใช่เพียงนึกๆ เอาว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทางตา ซึ่งไม่ใช่ทางหู ไม่ใช่ทางจมูก ไม่ใช่ทางลิ้น ไม่ใช่ทางกาย ไม่ใช่ทางใจ ทางหูก็ไม่ใช่ทางตา ไม่ใช่ทางจมูก ไม่ใช่ทางลิ้น ไม่ใช่ทางกาย ไม่ใช่ทางใจ คือ สามารถแยกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันจริงๆ โดยอาศัยการอบรม คือ การฟัง จนกระทั่งเข้าใจ
ในชาติหนึ่งๆ ที่ทุกท่านอบรมเพื่อที่จะให้ถึงพระนิพพาน จะไม่พ้นจาก การฟังให้เข้าใจ พร้อมกับเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แม้ทีละเล็กทีละน้อย วันละนิดวันละหน่อย หรือชาติละนิดชาติละหน่อยก็ตามแต่ แต่นี่คือการอบรมปัญญา เราจะไม่เอาอย่างอื่นเลย ไม่ได้ต้องการสติมากๆ จะเอามาทำไม เอาสมาธิมากๆ จะเอามาทำไม ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความ เป็นจริง ซึ่งจะต้องอบรมด้วยการฟัง และขณะนี้กำลังเป็นการภาวนาอยู่ คือ อบรม ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น สติปัฏฐานเกิดระลึกขึ้น พิจารณาจนกระทั่งรู้ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งขึ้น จนกระทั่งชัดขึ้น
ต้องเป็นผู้ที่อดทนมากทีเดียวที่จะไม่อยาก เพราะว่าเรื่องของความอยาก เป็นเรื่องธรรมดา อยากไปหมดทุกๆ อย่าง จนกระทั่งอยากจะรู้แจ้งนิพพาน อยากให้วิปัสสนาญาณเกิด อยากที่จะรู้ว่านามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร แต่ อะไรจะละความอยากซึ่งเป็นโลภะได้ เพราะว่าในขณะนั้นเป็นเพียงความอยาก ไม่ใช่เป็นปัญญา
เพราะฉะนั้น ต้องรู้หนทางที่จะละความอยาก แม้อยากอย่างนี้ก็ต้องละ คือ ด้วยสติที่ระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันทีเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น แต่ต้องอาศัยการฟังไปจนกระทั่งมีปัจจัยพอที่จะให้สติระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยไม่บังคับ
ถ. ถ้าทวารอื่น สมมติว่าลมพัดเย็นในหน้าหนาว ลมพัดเราก็รู้ว่าเย็น และก็คิดว่าเย็นเป็นธาตุไฟทุกที จะเอาตอนรู้สึกเย็นหรือตอนที่คิดว่าธาตุไฟคือเย็น เราจะโยนิโสอย่างไร
สุ. ต้องการอะไร
ถ. อยากจะรู้ว่า เราจะเจริญอย่างไรจึงจะรู้จริงๆ ว่า ที่ลมพัดมาเย็น หนาวขนาดนี้ จะรู้สักแต่ว่ากระทบมาแล้วก็เย็น หรือว่าเย็นนี่คือธาตุไฟ
สุ. ถ้าการฟังยังไม่พอ ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดในขณะนั้น ก็ต้องมีแต่ความสงสัย ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นความจริง คือ สงสัยว่าจะทำอย่างไร จนกว่า การฟังนั้นมากพอที่จะรู้ว่า ไม่ต้องอยากจะรู้หรอก และฟังจนกระทั่งเข้าใจว่า ในขณะที่เย็นปรากฏ สติระลึกที่เย็น หรือสติระลึกที่สภาพที่รู้เย็น
ถ. รู้เย็น
สุ. สติระลึกที่สภาพที่รู้ ขณะนั้นก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ไม่ใช่เรา
ถ. ก็รู้แค่นั้น
สุ. รู้แค่นั้น และก็มีเย็นอีก มีแข็งอีก ก็ระลึกต่อไปอีก ระลึกอีกๆ เรื่อยๆ ไม่มีวันจบ
ถ. ก็รู้เย็นเท่านั้น
สุ. และรู้ลักษณะที่สภาพรู้ ใช่ไหม เมื่อกี้นี้
ถ. ก็รู้สึก เวลาเย็นกระทบก็รู้สึกเย็น ก็เข้าใจว่าเป็นนามธรรม
สุ. บางคนก็ท่อง บางคนก็นึกในใจต่อไปเลยว่า เป็นนามธรรม ขณะนั้น ยังไม่ใช่การรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ เพราะว่าไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ รู้เย็นเกิดแล้ว
ถ. ถ้าเรารู้ของเราคนเดียวก็ไม่เรียกชื่อ เราก็รู้สึกว่าเย็น
สุ. ก็เป็นเรา รู้สึกว่าเย็น จนกว่าจะถอนความเป็นเราออก โดยการพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คือ ต้องรู้ว่า สติเกิด หรือหลงลืมสติ และเมื่อสติเกิดแล้ว ปัญญายังไม่พอ สำคัญที่สุดก็คือว่า แม้สติเกิดแล้ว ปัญญายังไม่พอ
เพราะฉะนั้น ที่ปัญญาจะพอ ก็โดยอาศัยการฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีกในขณะนั้น จนค่อยๆ รู้ขึ้น อย่าใช้คำว่า รู้แล้ว เพราะการที่จะรู้ว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แล้วทันทีที่สติระลึก แต่หมายความว่า เวลาที่สติไม่ระลึกเป็นเรา เวลาที่สติระลึกก็เริ่มที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันว่า ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ไม่ใช่ลักษณะที่เย็น และพิจารณาไปอีกเรื่อยๆ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติ ไม่ต้องทำอย่างอื่น ดีไหม ไม่เหนื่อย คือ ไม่ต้องไปทำอะไรที่ต้องเหนื่อย เพียงแต่ เมื่อสติเกิดก็พิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพรู้ หรือเป็นลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่สภาพรู้
ถ. เรื่องความโกรธ รู้สึกว่าอย่างอื่นเกิดแล้วหายเร็วมาก แต่ความโกรธ ๑๐ ปีก็ไม่หาย จะทำอย่างไรให้หาย
สุ. โลภะยิ่งยาก โลภะมากกว่า ๑๐ ปี คือ ระหว่างที่ไม่โกรธนั้นก็โลภ ถูกหรือผิด ที่ว่าโกรธมาถึง ๑๐ ปี วันนี้โกรธแล้วหรือยัง
ถ. ถ้าคิดก็โกรธ
สุ. ถ้าไม่คิดก็ไม่โกรธ แต่ในขณะที่ไม่คิดและไม่โกรธนั้น มีโลภะไหม ทางตาเห็นแล้วชอบอะไรบ้างไหม ต้องการอะไรบ้างหรือเปล่า ทางหูต้องการอะไร หรือเปล่า
ถ. เฉยๆ
สุ. เฉยๆ เป็นอุเบกขาเวทนา เกิดกับโลภมูลจิตก็ได้ โมหมูลจิตก็ได้ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล
ถ. ปกติไม่ใช่เป็นคนโลภ เป็นคนโทสะมากกว่า ไม่ค่อยชอบอะไร
สุ. เข้าใจว่าอย่างนั้น เข้าใจว่ามีโทสะมาก แต่ให้ทราบว่า วันนี้ที่ยังไม่ได้นึกถึงเรื่องโกรธ มีโลภะเกิดตลอด อะไรจะมากกว่ากัน
ถ. ไม่เห็นว่าโลภ ไม่เห็นอยากจะได้อะไร รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ไม่ชอบ
สุ. ขอโทษ ตื่นขึ้นมาอยากจะทำอะไรบ้าง
ถ. ฟังธรรม ตื่นขึ้นมาก็เปิดวิทยุฟังธรรม และสวดมนต์
สุ. ฟังธรรมเสร็จแล้ว ทำอะไรอีก ขณะที่กำลังฟังพระธรรมเป็นกุศล เหมือนขณะที่สวดมนต์ก็เป็นกุศลเสียส่วนใหญ่ เมื่อฟังพระธรรมแล้ว สวดมนต์แล้ว ทำอะไรอีก
ถ. เข้าห้องน้ำ ทำอาหาร
สุ. มีโลภะไหมขณะนั้น
ถ. ก็ธรรมดา มีโลภะ
สุ. เห็นโลภะมากไหม
ถ. ก็ปกติมีทุกวัน
สุ. โลภะไม่ต้องนึก เพราะว่าปกติมีทุกวัน แต่โทสะยังต้องนึกจึงจะโกรธ
ถ. แต่ไม่กระตุกใจเหมือนมีโทสะ โลภะคือเรื่อยๆ ไป แต่ถ้าโทสะจะแปล๊บ
สุ. จะไม่มีได้ ต่อเมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคล
ถ. วิธีแก้
สุ. วิธีแก้ คือ บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคลเมื่อไรจะไม่มีความขุ่นเคืองใจเลย แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี
ถ. เมื่อไรจะได้เป็น
สุ. ถ้าบอกว่า เดี๋ยวก็ได้เป็น เอาไหม
ถ. คือ อยากจะเอาไปแก้
สุ. นั่นซิ ถ้ามีวิธี
ถ. อย่างเช่น ให้เจริญเมตตา
สุ. ก็จะบอกว่า ทำไม่ได้อีก
ถ. ถ้าเป็นคนอื่นเจริญออก แต่คนที่เป็นเหตุให้มีโทสะเจริญไม่ออก
สุ. แสดงว่าเมตตาของเราไม่ได้เจริญ เพราะถ้าเราจะมีเมตตาต่อคนดี ไม่ยาก เพราะเขาดี ใช่ไหม แต่ถ้าคนไม่ดี เป็นบทฝึกหัด เป็นบทพิสูจน์ เป็นเครื่องทดลองว่า เมตตาของเราเจริญขึ้นบ้างหรือเปล่า
ถ. ที่ศึกษาก็จะเอาไปแก้ตัวโทสะ ตัวอื่นๆ ก็อย่างงั้นๆ ไม่ทำเราให้ ทุกข์ใจกระวนกระวายอะไร แต่ถ้าเป็นโทสะคล้ายๆ จะตกใจ จะทำความดีก็ต้องเลิก เพราะว่าทำแล้วก็อย่างงั้นๆ แหละ เหนื่อยยาก ก็เลยคิดว่าถ้าศึกษาธรรม เขาบอกว่ามีปัญญาไปแก้ได้ ฟังเทศน์อะไรก็บอกให้เจริญเมตตา เจริญคนโน้นคนนี้ได้ แต่สำหรับคนที่เป็นเหตุให้เราเกิดโทสะเจริญไม่ได้
สุ. แสดงว่าเมตตายังไม่เจริญ เพียงแต่มีบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ยังไม่เจริญ ถ้าเจริญจริงๆ แม้คนไม่ดี หรือคนที่เราไม่ชอบ เมตตาก็ยังเกิดได้ และขณะนั้นใจ ก็ไม่เดือดร้อน ถ้าไม่อยากเดือดร้อนใจก็ต้องมีเมตตา นี่คือหนทางแก้ แต่ก็แก้ไม่ได้ เพราะว่าปัญญาไม่พอ เพราะฉะนั้น ถามตัวเองจริงๆ ว่า ชาตินี้ทั้งชาติซึ่งเราก็จะ จากโลกนี้ไปแล้ว ต้องการอะไรที่สุด
ถ. ไม่ต้องการอะไรเลย
สุ. ปัญญาต้องการไหม
ถ. ไม่ต้องการ
สุ. ปัญญาก็ไม่ต้องการ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีอะไรจะละโทสะ
ถ. เพราะถ้าเราต้องการ ก็มีตัวต้องการอยู่นั่นแหละ ก็จะได้ภพอีก
สุ. คิดดู จะจากโลกนี้ไปแล้ว อะไรๆ ก็ไม่สามารถจะเอาไปได้ที่เป็นวัตถุทรัพย์สิ่งของ ถ้าเราสะสมอกุศลธรรมไว้มาก คือ โทสะ ชาติต่อไปเราก็จะเป็นคนที่ มักโกรธ แต่ถ้าเราสะสมเมตตาเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ชาติหน้าก็ไม่มีปัญหาต้องมาถาม
ถ. วิธีเจริญเมตตา
สุ. ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา รู้ความจริงนี้หรือยัง ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเรามีเมตตาขณะนี้ ต่อไปก็มีปัจจัยที่จะให้เมตตาเกิดขึ้น
ถ. เมตตาหมายความว่าอะไร หมายความว่าให้เราอภัยให้เขา ใช่ไหม
สุ. เมตตา คือ ความเป็นเพื่อน ความเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรู
ถ. สมมติว่าเราทำแล้ว เราให้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่เขาก็ยังด่าเราอยู่
สุ. เพราะว่าเราหวังการตอบแทน คือ การไม่ด่า
ถ. ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
สุ. ก็เราหวังผลตอบแทนนี่
ถ. ต้องการเงินทองก็ให้ ทรัพย์สมบัติอะไรก็ให้ ขออะไรให้ทุกอย่าง แต่ก็พอไม่เป็น เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ไหว เราก็โดนอีก เราก็โกรธอีก
สุ. ถ้าพิจารณาว่า ความทุกข์ของเราเกิดจากการที่เราให้แล้วเขายังด่า นี่คือความทุกข์ของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเราให้โดยไม่หวังว่าเขาจะด่าหรือไม่ด่า ถ้าเขาด่า เราก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะเราไม่ได้หวังว่าเขาจะไม่ด่าจากการให้ของเรา
ถ. อย่างเขาขอ ๑๐ ครั้ง เราให้ไป ๙ ครั้ง ครั้งที่ ๑๐ เป็นครั้งที่ขัดข้อง เขาโกรธมาจนบัดนี้ ๑๐ ปี เพราะว่าไม่ได้ดั่งใจ ก็ด่าอยู่เรื่อย
สุ. นี่คือการคิด และไม่รู้ว่า ขณะที่คิดก็เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่มี ปัจจัยเกิดขึ้นคิดถึงเรื่องนั้นและก็ดับ จบแล้ว ถ้าไม่คิดอีกก็ไม่ทุกข์ ถ้ามีปัญญารู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงจริงๆ แม้แต่ความคิดก็ไม่เที่ยง ก็ดับไป
ถ. สมมติว่าเราโดนด่าอีก ก็ไม่คิดอีก แต่ก็โกรธแล้ว
สุ. ก็ดับแล้ว
ถ. และเราจะเจริญอย่างไร
สุ. ดับแล้วนี่ โกรธแล้วก็ดับแล้ว
ถ. คนที่ด่า เป็นคนที่มีบุญคุณด้วย สมมติว่าเขาเคยมีบุญคุณกับเรา สัก ๑๐๐ บาท เราใช้เป็นหมื่นแล้วก็ไม่พอ จึงต้องโกรธ ที่มาศึกษาธรรมก็ด้วยเหตุนี้ คนนี้เคยมีบุญคุณกับเรา เราก็ช่วยทุกอย่างจนไม่รู้จะช่วยอย่างไรแล้ว เขาก็ไม่พอ ก็เลยโกรธ
สุ. ถ้าอย่างนั้นลองพิจารณาอย่างนี้ได้ไหมว่า ความโกรธมีประโยชน์หรือ ไม่มีประโยชน์
ถ. ก็รู้สึกว่ามีประโยชน์
สุ. ถ้าความโกรธมีประโยชน์ ทำไมจะเลิก ทำไมอยากหาวิธีที่จะไม่โกรธ
ถ. เพราะเป็นเหตุให้เราเข้ามาศึกษาธรรม เป็นปัจจัยทำให้เราเข้ามา หายาดับทุกข์