แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1828

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๑


. คำหนึ่งที่ท่านอาจารย์พูดอยู่เสมอ คือ เข้าใจ ฟังธรรมให้เข้าใจ ผมขอคำอธิบายให้แจ่มแจ้งอีกทีว่า คำว่า เข้าใจ คงจะไม่ใช่หมายความว่า ฟังรู้เรื่องราวที่บรรยาย หรืออ่านรู้เรื่องราวที่อ่าน คงไม่ได้หมายความแค่นี้

สุ. เท่านั้นไม่พอ บางท่านฟังเพราะคิดว่าดีกว่าอยู่บ้าน แต่ยังไม่รู้ว่า ฟังทำไม ก็ฟังเฉยๆ ฟังเพลินๆ ฟังไปเรื่อยๆ กลับบ้านก็ได้บุญ อาจจะคิดอย่างนั้น ซึ่งก็หมายความว่า ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจ หรือคนที่ได้ยินคำว่า ปฏิบัติ มีคนชักชวน ให้ปฏิบัติก็จะปฏิบัติ แต่ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย

. คำว่า ฟังให้เข้าใจ คงจะหมายความถึงฟังแล้วที่จะเป็นเหตุให้เกิด สติปัฏฐานได้นั้น คือ ฟังแล้วเข้าใจว่า สิ่งที่ฟังตรงกับสภาวธรรมที่เกิดในขณะนั้นอย่างไร อย่างนั้นใช่ไหม

สุ. ใช่ เช่น การฟังเรื่องจิตประเภทต่างๆ โดยชาติ โดยภูมิ เป็นต้น บางท่านอาจจะคิดว่า ยาก และมากเกินกว่าที่จะจำได้ เพราะว่าตอนแรกก็มีท่าน ผู้หนึ่งบอกว่า จิตก็มีดวงเดียว ทำไมว่ามีเยอะแยะ

จิตเกิดขึ้นทีละดวงคือทีละขณะก็จริง แต่เป็นประเภทต่างๆ เป็นชาติต่างๆ และเป็นภูมิต่างๆ ด้วย

การฟังเรื่องจิต เพื่อให้เข้าใจจิตที่กำลังปรากฏหรือเกิดขึ้นในขณะนั้นเพื่อรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ้าคิดว่ามีจิตเพียงดวงเดียวเท่านั้น เกิดมาแล้วก็ดับ หรือเข้าใจว่า จิตเกิดขึ้นและดับไปๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เท่านั้นยังไม่พอ ยังไม่รู้ชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นจิตแต่ละประเภทซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างกันจึงไม่ใช่เรา ไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตน

ถ้าฟังได้อย่างนี้จริงๆ เวลาที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของจิต ก็สามารถมีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับ เพราะว่าสภาพธรรมคือจิตประเภทอื่นก็เกิดสืบต่อ ทำให้เห็นว่า จิตมีต่างประเภทกันจริงๆ และประเภทไหนก็ไม่สมควรที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งสิ้น เพราะว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น

. หมายความว่า ให้เข้าใจธรรมในตัวเรา ไม่ใช่อยู่ในตำรา หรืออยู่ในเรื่องราวที่เราฟัง

สุ. ถูกต้อง นี่คือการฟังพระธรรม ต้องเข้าใจพระธรรม คือ ธรรมที่กำลังปรากฏ

พระ ขอเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว คือ มีภิกษุที่อยู่ร่วมอาวาสเดียวกับอาตมา ๒ รูป ภิกษุนี้เป็นเพื่อนกัน ภิกษุรูปหนึ่งท่านนั่งเพ่งเทียนบ่อยๆ และมีวิธีการปฏิบัติที่แปลกๆ เพื่อจะได้นั่งนานๆ ภิกษุอีกรูปหนึ่งที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็เตือนว่า ให้ระวัง เพราะท่านที่นั่งเริ่มคิดว่ามีคนมากระซิบ ท่านเห็นใจว่าได้สละบ้านช่องลูกเมีย ออกบวช ก็ควรจะศึกษาและเข้าใจให้มากกว่าที่จะมานั่ง ภิกษุที่นั่งท่านบอกว่า คิดถึงเรื่องทางบ้านแล้วกลุ้มใจ ต้องหาอย่างอื่นมาทำให้ลืม ภิกษุรูปที่เป็นห่วงท่าน ก็เตือนหลายครั้งจนท่านโมโห ภิกษุรูปที่เป็นห่วงท่านบอกว่า ที่จะรู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาในนามและรูป รูปธรรมนามธรรมก็มีอยู่แล้วกำลังปรากฏ ซึ่งแรกๆ ท่านก็ไม่ฟัง ท่านเถียงด้วยความโมโหและบอกว่า การนั่งเป็นการดี หรือ การปฏิบัติที่ทำให้ลืมเป็นการดี

ภิกษุรูปที่เป็นห่วงนี้มีอัธยาศัยอนุเคราะห์จริงๆ ก็เตือนอีก จนอีกรูปหนึ่ง โกรธมาก ทั้งสองรูปได้มาเล่าให้อาตมาฟัง ซึ่งในที่สุดท่านที่นั่งเพ่งก็บอกว่า เสียง มีอยู่แล้วไปหาตั้งนาน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีอยู่แล้ว รูปธรรมนามธรรมมีอยู่แล้ว เรามัวแต่ไปนั่งเพ่งหาอะไรอยู่ ท่านบอกว่าต่อไปนี้จะฟังอย่างละเอียด เพราะว่า ก่อนนั้นท่านไม่ได้ฟังละเอียดและไม่สังเกตว่า นามธรรมและรูปธรรมเป็นอย่างไร มีอยู่แล้วจริงๆ อย่างไร และอนุโมทนาภิกษุรูปที่เตือนท่านจนเกิดความโมโหและทะเลาะกัน แต่ภายหลังท่านรู้คุณและอนุโมทนาที่พร่ำสอน เมื่ออาตมาได้ข่าว ก็อนุโมทนาด้วย

สุ. เรื่องความคิดของแต่ละท่านก็เป็นการที่จะระลึกรู้ว่า โยนิโสมนสิการ ของท่านเป็นอย่างไร คือ เจริญขึ้นบ้างไหม ถ้ายังคิดเหมือนเดิมๆ ก็ไม่เจริญขึ้น แต่ถ้ามีความแยบคายเป็นกุศลและละอกุศล เป็นปัญญาที่รู้ขึ้น ละความไม่รู้ นั่นก็ เป็นการแสดงว่า โยนิโสมนสิการเจริญขึ้น

ขอทบทวนเรื่องจิต ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่ความจริงแล้ว ถ้าค่อยๆ ฟังไป พิจารณาไป ท่านอาจจะจำเรื่องจิต โดยไม่จำเป็นต้องท่อง แต่พิจารณาได้ทุกครั้งที่ระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ในขณะนี้จิตทุกๆ วันตามปกติเป็นกามาวจรจิต แค่นี้ก็พอที่จะรู้ลักษณะของจิตโดยชื่อว่า ขณะเห็นก็ดี ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะคิดนึกเรื่องต่างๆ ชีวิตประจำวันทุกวัน เป็นจิตที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้คิดนึก ก็คิดนึกเรื่องราวของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง เพราะฉะนั้น จิตของทุกคน ทุกวัน เป็นจิตระดับขั้นกามาวจรจิต

นี่ก็จำได้แล้ว ไม่ต้องท่อง กาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นกามาวจรจิต ภาษาบาลีเรียกว่า กามาวจร แต่ก็เป็นจิตในชีวิตประจำวันนี่เอง

ขณะใดที่ไม่ใช่รูปฌานจิต อรูปฌานจิต โลกุตตรจิต ขณะนั้นเป็นกามาวจรจิต ทุกท่านเป็นผู้ตรงต่อตัวเอง เวลาใครถามจิตของท่านเป็นจิตประเภทใด ท่านก็ตอบได้ว่า เป็นกามาวจรจิต เพราะขณะนั้นไม่ใช่รูปฌานจิต ไม่ใช่อรูปฌานจิต ไม่ใช่ โลกุตตรจิต

นี่เป็นความรู้จากธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน และถ้าสติเกิดท่านก็สามารถระลึกได้รู้ว่า ขณะนั้นจิตของท่านเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น นอกจากจะรู้ว่าจิตเป็นกามาวจรจิตแล้ว ก็ยังรู้ว่ากามาวจรจิตมีหลายประเภท ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี เช่น เวลาคิดนึกเรื่องใดก็ตามสามารถรู้ได้ พิจารณาได้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เป็นจิตที่มีความต้องการในเรื่องหรือในอารมณ์ที่กำลังปรากฏหรือเปล่า หรือว่าเป็นโทสมูลจิต เป็นจิตที่ขุ่นเคือง ไม่ชอบ ไม่พอใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ หรือว่าเป็นโมหมูลจิต ขณะที่ง่วงๆ ใครพูดอะไรก็ไม่รู้ทั้งนั้น ขณะนั้นจิตประเภทนั้นก็มี เพราะฉะนั้น กามาวจรจิตมีทั้งที่เป็นกุศลจิตและอกุศลจิต และอกุศลจิตที่เป็น โลภมูลจิตก็มี ที่เป็นโทสมูลจิตก็มี ที่เป็นโมหมูลจิตก็มี

แสดงให้เห็นว่า สามารถเข้าใจจิตในชีวิตประจำวันได้หลายประเภทแล้ว ใช่ไหม คือ อกุศลจิตก็มีทั้ง ๑๒ ประเภท และสำหรับจิตที่เป็นกุศลก็มีขณะที่ ให้ทาน หรือวิรัติทุจริต หรือคิดถึงบุคคลอื่นด้วยความเป็นมิตร เกื้อกูล หรือขณะที่ สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

และยังสามารถรู้ความต่างกันของกุศลจิตว่า กุศลจิตบางครั้งเป็น ญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และบางครั้งเป็นญาณสัมปยุตต์ คือ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้ว่า แม้กุศลก็มีความต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

ถ้าจะกล่าวถึงเวทนา คือ ถ้าสามารถระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึก ก็จะรู้ได้ว่า บางครั้งกุศลนั้นก็เป็นโสมนัส และบางครั้งก็เป็นอุเบกขา หรือแม้แต่ โลภมูลจิต บางครั้งก็เป็นอุเบกขา บางครั้งก็เป็นโสมนัส

แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ สามารถรู้จิตได้หลายประเภทที่เป็นกามาวจรจิต โดยไม่จำเป็นต้องท่องเลย ถ้าศึกษามาแล้วก็ตอบโดยนัยของการศึกษา แต่เรื่องศึกษาเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่กล่าวถึงจำนวน แต่เป็นเรื่องที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นซึ่งเป็นนามธรรมว่าเป็นจิตประเภทใด เพราะว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้

ในคราวก่อนได้ทบทวนในเรื่องกิจของจิต เพื่อให้ทราบว่า กิจทั้งหมดของจิต ๘๙ ดวง มี ๑๔ กิจเท่านั้นเอง ๑๔ กิจจริงๆ เกิดมากี่ภพกี่ชาติในสังสารวัฏฏ์ จิตก็เกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ

ถ้าท่านเห็นสัตว์ เช่น งู นก แมว ไก่ สุนัข จะระลึกได้ไหมว่า ปฏิสนธิจิตของสัตว์ดิรัจฉานต่างๆ เหล่านี้ เป็นจิตประเภทไหน

ท่านได้ศึกษาเรื่องจิตที่ทำปฏิสนธิกิจว่า โดยกิจแล้วจิตที่ทำกิจนั้นเหมือนกันทั้งหมด คือ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่จิตที่ทำกิจสืบต่อจากจุติจิต ของชาติก่อนมีหลายประเภท ทั้งหมดเป็นวิบากจิต มีทั้งหมด ๑๙ ดวง ๑๙ ประเภท ก็จริง แต่ในโลกนี้นอกจากมนุษย์แล้ว ที่สามารถเห็นได้ รู้ได้ ก็มีเพียงจิตที่เป็น อเหตุกปฏิสนธิ คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือภูมิที่มองไม่เห็น คือ เกิดเป็นสัตว์ในนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย

เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังพอระลึกรู้ได้ว่า จิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็นสัตว์ดิรัจฉานนั้นต่างกับจิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็นมนุษย์เป็นต้น และเมื่อเห็นมนุษย์ ที่ต่างกันไปก็ทำให้รู้ว่า แม้ผลของกุศลที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ก็ยังต่างกันไปตามประเภทด้วย

นี่เป็นการพิจารณาธรรมที่ได้เข้าใจ แต่ถ้าเป็นโดยนัยของพระอภิธรรมแล้ว ต้องละเอียดและเจาะจงขึ้น คือ กล่าวถึงจิตแต่ละประเภทโดยเจาะจง กล่าวถึง สภาพธรรมแต่ละอย่างโดยเจาะจง แม้แต่ปฏิสนธิจิตก็ได้แสดงไว้ว่า ที่ต่างกันนั้น มีกี่ประเภท และอะไรบ้าง จนกระทั่งถึงจิตอื่นๆ ต่อมาจนถึงชวนจิตในวันหนึ่งๆ ก็สามารถที่จะทบทวนได้

จิตที่ทำปฏิสนธิกิจ โดยกิจไม่ต่าง โดยประเภทต่าง เพราะว่ามีจำนวนถึง ๑๙ ประเภทที่เป็นวิบากจิตที่ทำปฏิสนธิกิจได้

จิตที่ทำภวังคกิจ โดยกิจไม่ต่าง แต่โดยประเภทก็ต่างตามจำนวนของ ปฏิสนธิจิต คือ เมื่อปฏิสนธิจิตมี ๑๙ ประเภท ภวังคจิตก็ต้องมี ๑๙ ประเภทเช่นเดียวกัน

อาวัชชนกิจ กิจที่ ๓ โดยกิจไม่ต่างกัน เพราะว่าจิตนี้เกิดขึ้นเป็นจิตที่รู้สึกตัว เพราะว่าในขณะที่กำลังหลับสนิทเป็นภวังคกิจ ไม่รู้สึกตัวเลย แต่ในขณะที่เป็น อาวัชชนกิจ เป็นขณะที่เริ่มรู้สึกตัว รู้อารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งจิตที่ทำอาวัชชนกิจมี ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนกิจทางทวารทั้ง ๕ และมโนทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร

สัตว์ดิรัจฉานก็มีปัญจทวาราวัชชนจิต มีมโนทวาราวัชชนจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตของสัตว์ดิรัจฉานกับปัญจทวาราวัชชนจิตของมนุษย์ ต่างกัน หรือไม่ต่างกัน

เป็นเรื่องที่เมื่อคิดพิจารณาแล้วเข้าใจ โยนิโสมนสิการก็คมขึ้น ละเอียดขึ้นได้ ดีกว่าศึกษาไปและไม่คิดทบทวนเลย แต่ถ้าทบทวนก็มีนัยต่างๆ ที่จะทบทวนได้ ทั้งโดยความต่าง และโดยความไม่ต่าง

ถ้าโดยความไม่ต่าง ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนกับใคร ก็มีประเภทเดียวเท่านั้น เป็นกิริยาจิต ประกอบด้วยเจตสิกจำนวนเท่านั้น และเกิดก่อนวิถีจิตอื่นๆ ทางทวารทั้ง ๕ เพราะว่าเป็นวิถีจิตขณะแรก เป็นขณะที่รู้สึกตัว มีอารมณ์กระทบให้รู้สึก ไม่ใช่เป็นภวังค์ต่อไป นั่นคือปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเกิดในสวรรค์ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ทำกิจนี้ เป็นจิตประเภทนี้

มโนทวาราวัชชนจิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดในนรก มโนทวาราวัชชนจิตก็เป็น มโนทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร หรือทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร ไม่ต่างกัน นี่ก็ ๓ กิจแล้ว

จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ คือ จิตเห็นในขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณ เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็นในภพไหนภูมิไหนทั้งสิ้น นี่คือกิจที่ ๔

กิจที่ ๕ สวนกิจ กิจได้ยิน

กิจที่ ๖ ฆายนกิจ จิตที่ได้กลิ่น

กิจที่ ๗ สายนกิจ จิตที่ทำกิจลิ้มรส

กิจที่ ๘ ผุสสนกิจ

กิจที่ ๙ สัมปฏิจฉันนกิจ

กิจที่ ๑๐ สันตีรณกิจ

กิจที่ ๑๑ โวฏฐัพพนกิจ

กิจที่ ๑๒ ชวนกิจ

กิจที่ ๑๓ ตทาลัมพนกิจ

กิจที่ ๑๔ จุติกิจ

เป็นเรื่องที่ไม่ควรทบทวนสำหรับท่านผู้ฟังใหม่ๆ ซึ่งท่านอาจจะฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง หรือไม่ได้ฟังมาตั้งแต่ต้นในเรื่องของจิต เวลาได้ยินคำที่เป็นภาษาบาลี ก็อาจจะทำให้ไม่เข้าใจ แต่ถ้าต้องการจะเข้าใจ ก็เริ่มตั้งแต่ต้นในเรื่องของ ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขปไป และจะค่อยๆ เข้าใจได้

ธรรมทั้งหมดไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่เป็นชีวิตประจำวัน แม้โยนิโสมนสิการก็ต้องเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน คือ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่คิดว่า จะโยนิโสมนสิการอย่างไร เพราะว่าไม่มีใครสร้าง หรือทำความคิดขึ้นมาได้ฉันใด ก็ย่อมไม่มีใครทำโยนิโสมนสิการได้ฉันนั้น

แม้แต่ความคิดของทุกๆ คน ก็ไม่มีใครสามารถเลือกได้ว่า จะให้คิดแต่ในเรื่องของกุศล หรือขณะที่คิดถึงบุคคลต่างๆ เรื่องต่างๆ อยากให้เป็นกุศลจิตที่คิด ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย กุศลหรืออกุศลจะเกิดขึ้นในขณะใด ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ย่อมเป็นไปตามการสะสมทั้งสิ้น

เปิด  254
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566