แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1829

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๑


เรื่องของโยนิโสมนสิการ ถ้าอยากเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะใดเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดเป็นอโยนิโสมนสิการ ก็โดยพิจารณาว่า วันนี้กุศลจิตเกิดมาก หรือ อกุศลจิตเกิดมาก

ถ้ากุศลจิตเกิดมาก ขณะนั้นแสดงว่าโยนิโสมนสิการเจริญขึ้น แต่ถ้าอกุศลจิตเกิดมาก เป็นอโยนิโสมนสิการ แสดงว่าโยนิโสมนสิการยังไม่ค่อยเจริญขึ้นเท่าไร ซึ่งเป็นความจริง เพราะว่าในสังสารวัฏฏ์ทุกคนก็รู้ว่า อกุศลจิตในวันหนึ่งเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้น อโยนิโสมนสิการก็ต้องเกิดมากกว่า ถ้าเป็นผู้ที่ตรงก็จะรู้ได้ ในวันนี้ใครจะบอกว่า กุศลจิตเกิดมากกว่าอกุศลจิต มีไหมวันนี้ คนที่กุศลจิต เกิดมากกว่าอกุศลจิต

ความเป็นผู้ตรงจะทำให้โยนิโสมนสิการค่อยๆ เจริญขึ้น คือ รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ

กำลังฟังพระธรรมในขณะนี้ ทุกๆ ขณะที่ได้ฟัง พิจารณา และเข้าใจ นั่นคือโยนิโสมนสิการ เช่น ในขณะที่กำลังฟังเรื่องของจิตประเภทต่างๆ เริ่มเข้าใจขึ้น จากการที่ไม่เคยรู้เรื่องจิตโดยละเอียดคิดว่ามีแต่จิต บางคนก็บอกว่าเข้าใจว่า มีจิตดวงเดียว แต่เวลาที่เข้าใจว่ามีจิตหลายประเภท โดยชาติ โดยภูมิ โดยกิจ ขณะที่เริ่มเข้าใจ ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ให้ทราบว่า จิตเกิดดับมากมาย ไม่มีใครสามารถนับได้ และจิตที่ต่างกันเป็น ๘๙ ประเภทนั้น บางประเภทก็เกิดขึ้นบ่อยกว่าจิตประเภทอื่น บางประเภทก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ขณะเดียว ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง และบางประเภท ก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ขณะเดียว ในสังสารวัฏฏ์ นี่คือความต่างกันของจิต ๘๙ ประเภท

ถ้าจะทบทวนโดยกิจก็ได้ เช่น

กิจที่ ๑ ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำกิจนี้ได้มี ๑๙ ดวง ทั้ง ๑๙ ดวงนี้ โดยชาติ เป็นชาติวิบาก โดยภูมิก็จำแนกต่างกันออกไป คือ เป็นกามภูมิ ๑๐ ดวง เป็น รูปาวจรภูมิ ๕ ดวง เป็นอรูปาวจรภูมิ ๔ ดวง รวมเป็น ๑๙ ดวง

สำหรับกามปฏิสนธิ ๑๐ ดวง คือ จิตที่ปฏิสนธิในกามภูมิ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือเกิดในอบายภูมิ

ปฏิสนธิทั้งหมดที่เป็นกามปฏิสนธิ ๑๐ ดวง ได้แก่

ดวงหนึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ คือ เกิดเป็นเปรต หรือเกิดเป็นอสุรกาย หรือเกิดเป็น สัตว์เดรัจฉาน หรือเกิดในนรก

กามปฏิสนธิจิตอีก ๙ ดวง ไม่ใช่เป็นผลของอกุศล แต่เป็นผลของกามาวจรกุศลกรรม คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในมนุษย์และ สวรรค์ชั้นต้น สำหรับในภูมิมนุษย์ทำกิจปฏิสนธิเป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด และที่เหลืออีก ๘ ดวง คือ กามาวจรวิบาก เป็นมหาวิบาก เป็นผลของมหากุศล ทำกิจปฏิสนธิ ในมนุษย์ ๑ ภูมิ และในสวรรค์อีก ๖ ภูมิ

รวมเป็นกามปฏิสนธิ ๑๐ ดวง

สำหรับรูปาวจรปฏิสนธิ ๕ ดวง คือ รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง เป็นผลของ รูปฌานกุศล ๕ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหม ๑๕ ภูมิ

สำหรับอรูปาวจรปฏิสนธิ ๔ ดวง คือ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง เป็นผลของอรูปฌานกุศล ๔ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหม ๔ ภูมิ

รวมวิบากจิต ๑๙ ดวง ทำกิจปฏิสนธิใน ๓๐ ภูมิ

ภูมิทั้งหมดมี ๓๑ ภูมิ แต่ภูมิหนึ่งมีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง จึงทำกิจปฏิสนธิใน ๓๐ ภูมิ

ปฏิสนธิจิตไม่ว่าจะเกิดในภูมิใดชาติใดก็ตาม จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ในภพนั้น ในชาตินั้น แสดงให้เห็นว่า ปฏิสนธิกิจ โดยกิจ เกิดขึ้นทำกิจครั้งเดียว ไม่ว่าจะเกิดในภูมิใดก็ตาม

สำหรับกิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ จิตที่ทำภวังคกิจ โดยชาติ เป็นวิบากจิต มีจำนวนเท่ากับปฏิสนธิจิต คือ ๑๙ ดวง

จิตที่ทำภวังคกิจ เป็นประเภทเดียวกับจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ เมื่อปฏิสนธิจิต เป็นจิตประเภทใด ภวังคจิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตนั้น ก็ต้องเป็นจิตประเภทนั้นจนกว่าจะตาย จะเปลี่ยนภวังคจิตเป็นจิตประเภทอื่นไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าผู้ที่เป็นมนุษย์หรือเทพจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ภวังคจิตของบุคคลนั้นก็ไม่เปลี่ยน โดยประเภท คือ ถ้าเป็นมหาวิบากเกิดในมนุษย์หรือสวรรค์ ก็ต้องเป็น มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ และเมื่อเป็นพระโสดาบันบุคคล หรือเป็น พระสกทาคามีบุคคล หรือเป็นพระอนาคามีบุคคล หรือแม้เป็นพระอรหันต์ ภวังคจิต ก็ต้องเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ไม่เปลี่ยน จนกว่าจะตาย

และถ้าเป็นรูปพรหมที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็น พระโสดาบัน ผู้ที่เป็นรูปพรหมบุคคลปฏิสนธิด้วยรูปาวจรวิบากจิต ๑ ใน ๕ ดวง แล้วแต่ว่าจะเกิดในพรหมชั้นใด ถึงแม้ว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ภวังคจิตของรูปพรหมก็ยังต้องเป็น รูปาวจรวิบากจิต ๑ ใน ๕ ดวง แล้วแต่ว่าจะปฏิสนธิจิตด้วยรูปาวจรวิบากที่เป็นปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน ภวังคจิตต้องเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทุกภพ ทุกชาติ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม

ถ้าพิจารณาถึงประเภทของจิต บางประเภทเกิดครั้งเดียวในภพหนึ่งชาติหนึ่ง บางประเภทก็เกิดบ่อยหลายครั้ง และบางประเภทก็เกิดเพียงครั้งเดียวในสังสารวัฏฏ์ จะไม่เกิดเกินกว่า ๑ ครั้งเลย ไม่ว่าสังสารวัฏฏ์จะยาวนานสักเท่าไรก็ตาม

เพราะฉะนั้น ภวังคจิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทุกภพทุกชาติ ภวังคจิต เกิดบ่อยไหม

ต้องเกิดบ่อย คือ ขณะใดที่วิถีจิตไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นภวังคจิตต้องเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ หลังจากนั้น ก็เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก

คืนนี้ก็จะมีภวังคจิตที่ยาวนาน ยังไม่จบลงไปง่ายๆ ตราบใดที่จุติจิตยังไม่เกิด ภวังคจิตก็เพียงสืบต่อดำรงภพชาติ ซึ่งเมื่อตื่นแล้ว ก็แล้วแต่ว่ากรรมใดจะทำให้ วิบากใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่เป็นเหตุที่ทุกคนยอมรับจริงๆ ว่า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะว่ามีกรรมมากมายที่จะต้องให้ผลเป็นวิบากเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง

ขณะนี้มีภวังคกิจไหม ต้องมี ขณะใดที่ไม่ใช่วิถีจิต

สำหรับกิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ เป็นวิถีจิตขณะแรกที่เกิดสืบต่อจากภวังคกิจ แสดงให้เห็นว่า ก่อนจิตที่ทำอาวัชชนกิจจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด เป็นวิถีจิตแรก ขณะก่อนนั้นต้องเป็นภวังค์

จิตที่ทำอาวัชชนกิจ มี ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง เป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ทางปัญจทวาร คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง เป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร ปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบากจิต เพราะฉะนั้น นี่คือความเปลี่ยนแปลงแล้ว ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก ภวังคจิตเป็นวิบาก แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อปฏิสนธิดับไป ภวังคจิตเกิดต่อ และจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ต้องเปลี่ยนจากวิบากจิตเป็นกิริยาจิต คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง หรือเป็น มโนทวาราวัชชนจิตที่เป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ทางใจ ซึ่งทั้งปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบาก

ในวาระหนึ่งๆ ที่วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ดี หรือมโนทวาราวัชชนจิตก็ดี จะเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจเพียงขณะเดียว

วันนี้จะกล่าวถึงจิตที่เกิดบ่อย หรือไม่บ่อย เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ก่อนเห็น ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจเพียงครั้งเดียว ไม่มากกว่านั้นเลย แต่วันหนึ่งๆ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดบ่อย มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดบ่อย

ขณะนี้ ทางตา ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นจนกระทั่งหลับไปดูเสมือนว่า จักขุทวารวิถีไม่ได้ดับเลย แต่ตามความเป็นจริงให้ทราบว่า อารมณ์ที่ปรากฏทางตา คือ รูปารมณ์ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งเร็วมาก ในวาระหนึ่งๆ ที่รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท และมีวิถีจิตต่างๆ หลายขณะเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตทำกิจเป็นวิถีจิตแรกที่รู้สึกตัว รู้ว่าอารมณ์กระทบ เพียงขณะเดียวเท่านั้นและดับไป เพราะฉะนั้น ในเมื่อทางตาปรากฏเสมือนว่าไม่ดับ ก็แสดงว่า จักขุทวารวิถีจิตทางตารู้อารมณ์คือรูปารมณ์ที่ปรากฏและก็ดับ แต่ก่อนที่วิถีจิตทางอื่นจะเกิด เมื่อวิถีทางปัญจทวารวาระหนึ่งวาระใดดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีต้องเกิดสืบต่อทุกครั้ง เพราะฉะนั้น พิจารณาดูว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตนั้น วันหนึ่งๆ ระหว่าง ๒ จิตนี้ จิตใดจะเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจบ่อยกว่ากัน

ขณะที่พิจารณารู้อย่างนี้ ก็เป็นโยนิโสมนสิการที่เจริญขึ้น

คำตอบ คือ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำกิจบ่อยกว่า เพราะว่าทุกครั้งที่ ปัญจทวารวิถีทวารหนึ่งทวารใดดับ มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดสืบต่อ โดย มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรก ถึงแม้ว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะใดที่คิดนึก มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรกทางใจ คือ ทางมโนทวาร

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดบ่อยมาก ทุกครั้งที่นึกถึงอะไร ให้ทราบว่า เพราะขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตเกิด นึกถึงเรื่องนั้น นึกถึงสิ่งนั้น ซึ่งการรู้อย่างนี้ ค่อยๆ พิจารณาไป จะเห็นได้ว่า ความคิดของทุกคนเป็นเพราะ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์นั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ แล้วแต่มโนทวาราวัชชนจิตจะนึกถึงอารมณ์ใด และกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็คิดถึงเรื่องที่มโนทวาราวัชชนจิตนึกต่อ

กุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิดทันทีไม่ได้ ในขณะที่คิดต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน กุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงเกิด และการที่มโนทวาราวัชชนจิตจะนึกถึง เรื่องใดก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แล้วแต่การสะสมของวันหนึ่งๆ เช่น วันนี้ใครคิดถึงเรื่องเมื่อวานนี้บ้าง หรือเรื่องวันนี้ก็ยังไม่จบ พรุ่งนี้ต้องคิดถึงเรื่องนี้ต่ออีก แสดงให้เห็นถึงการสะสมของกุศลและอกุศลในวันหนึ่งๆ เป็นปัจจัยให้ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นนึกถึงเรื่องนั้นๆ

สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิต ในขณะใดที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวที่ทำอาวัชชนกิจ

สำหรับกิจที่ ๔ คือ ทัสสนกิจ ได้แก่ กิจเห็น

จิตที่ทำทัสสนกิจ คือ กิจเห็น มี ๒ ดวง เป็นกามาวจรวิบากจิต ถ้าใช้คำนี้หมายความว่า โดยชาติเป็นวิบาก โดยภูมิเป็นกามภูมิ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม ในรูปพรหมก็มีจักขุวิญญาณ และจักขุวิญญาณต้องเป็นชาติวิบาก โดยภูมิก็ต้องเป็นกามภูมิ แม้จะเกิดกับรูปพรหม แต่ขณะใดที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องเป็น กามาวจรจิต

สำหรับจิตที่ทำกิจเห็น ได้แก่ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม และจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของกามาวจรกุศลกรรม

ถ้าใช้คำว่า อกุศลกรรม จะเป็นภูมิอื่นไปไม่ได้ นอกจากกามภูมิ คือ ภูมิต่ำสุด อกุศลกรรมเป็นชั้นกามภูมิ แต่สำหรับกุศลกรรมมีหลายขั้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า จักขุวิญญาณกุศลวิบาก เป็นผลของกามาวจรกุศลกรรม

วันนี้ทุกคนก็เห็นและไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะที่เห็นขณะนี้เป็นผลของกรรมใด ในชาติไหน ถ้าสามารถรู้ได้ ก็รู้ได้เพียงแต่ว่า เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมเท่านั้น แต่บอกไม่ได้เลยว่า เป็นผลของทาน หรือเป็นผลของศีล หรือเป็นผลของการ เจริญสติปัฏฐานในชาติใด

วันหนึ่งๆ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นบ่อยไหม บ่อย และวาระหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นทำทัสสนกิจเพียงขณะเดียว แสดงให้เห็นว่า บ่อยแค่ไหน

ทางตาที่กำลังเห็นต่อกันไปเรื่อยๆ เสมือนไม่ดับ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจวาระหนึ่ง คือ วาระที่รูปยังไม่ดับ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น นับจำนวนไม่ได้เลยว่า ขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจบ่อยแค่ไหน

ขอถามว่า วันหนึ่งๆ จักขุวิญญาณเกิดเท่ากับปัญจทวาราวัชชนจิต หรือ เกิดมากกว่า หรือเกิดน้อยกว่า

ผู้ฟัง น้อยกว่า

สุ. ถูกต้อง เพราะเวลาที่รูปกระทบกับจักขุปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรกก่อนจักขุวิญญาณ เวลาเสียงกระทบหู ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรกก่อนโสตวิญญาณ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า วันหนึ่งๆ จักขุวิญญาณเกิดเท่ากับปัญจทวาราวัชชนจิต หรือเกิดมากกว่า หรือเกิดน้อยกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต ก็ต้องตอบว่า เกิดน้อยกว่า เพราะว่าในขณะนี้ที่กำลังได้ยินเสียง ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว ดับแล้ว โสตวิญญาณได้ยินเสียง ขณะนั้นจักขุวิญญาณไม่ได้เกิด เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณในวันหนึ่งๆ ก็เกิดน้อยกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต

เปิด  233
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566