แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1832

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๑


ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า การรู้ธรรมโดยละเอียด เช่น รู้เรื่องจิตประเภทต่างๆ เรื่องเจตสิก เรื่องรูป จำเป็นอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรในการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน

นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด

จุดประสงค์ คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมก่อน เพราะถ้าไม่มีความรู้ในเรื่องของสภาพธรรมเลย จะไม่รู้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมคืออย่างไร และไม่รู้แม้แต่ว่า สัจจธรรมคืออย่างไร

เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ซึ่งทุกท่านก็ฟังอยู่เป็นประจำทั้งเช้าทั้งค่ำและในโอกาสอื่นๆ คือ เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตนในขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

แสดงให้เห็นว่า ความรู้ความเข้าใจธรรมต้องมีหลายขั้นจริงๆ แม้ในเรื่อง การฟัง รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นทุกขสัจจ์ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ กว่า สติปัฏฐานจะเกิด และเมื่อสติปัฏฐานเกิดกว่าจะรู้ตามที่ได้ฟังว่า สภาพรู้คือปกติธรรมดาอย่างนี้เอง ที่กำลังเห็นนี่เป็นสภาพรู้ กำลังได้ยินตามปกติธรรมดานี่เองเป็น สัจจธรรม เป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ในขณะที่คิดนึก ในขณะที่เป็นสุขเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ตรงจะเห็นว่า การละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ไม่ง่ายเลย พิสูจน์ได้จากตัวท่านเอง ทุกๆ ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่ใช่ใครจะละ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่ได้อบรมสะสมเจริญ จนกระทั่งเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดระลึก และต้องมีปัญญาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนกระทั่งค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่ใช่ทีเดียวรู้ได้ชัดเจน ตามความเป็นจริงจะค่อยๆ รู้ขึ้น จนกว่าจะรู้ชัดจนกระทั่งสามารถละคลายความติด ความเยื่อใยที่เคยเห็นก็เป็นเราเห็น โดยไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือเวลาที่ได้ยินก็ไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น

ทุกท่านพิสูจน์กับตัวเองได้ว่า เท่าที่ได้ฟังพระธรรมมาแล้ว ซึ่งคงจะไม่ใช่ แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว ในชาติก่อนๆ ก็ต้องเคยฟังพระธรรมมาแล้ว แต่ก็ยังไม่พอที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น จะมีวิธีอื่นอีกไหม นอกจากเมื่อปัญญาไม่พอก็ต้องอบรมเจริญปัญญา และจะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมก็ไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องวิธี แต่เป็นเรื่องเข้าใจ เป็นเรื่องรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ไม่ว่าจะฟังธรรมที่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือชีวิตปกติประจำวัน ก็เพื่อเป็นสังขารขันธ์ที่จะเกื้อกูล และเป็นหนทางเดียวที่จะอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ต้องฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ พร้อมกับการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เหมือนอย่างท่านพระสาวกทั้งหลายที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ฟังพระธรรมและมีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านน่าจะทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน

ทุกเรื่องที่ได้ฟัง เช่น ถ้ากล่าวเรื่องประเภทของจิตโดยเหตุ ก็ต้องพิจารณาว่า มีประโยชน์กับการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไหม ก็ต้องมีแน่ และจะต้องพิจารณาว่ามีประโยชน์อย่างไร จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ สติปัฏฐานเกิดและรู้ในลักษณะสภาพที่กำลังปรากฏอย่างไร

เช่น การรู้ว่า มีจิตทั้งหมด ๘๙ ประเภท โดยเหตุที่เกิดร่วมกับจิตและไม่เกิดร่วมกับจิต เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง คือ เป็นจิตที่ไม่เกิดร่วมกับโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุ ๖ จิตใดที่ไม่มีเจตสิก ๖ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นอเหตุกจิต

มีประโยชน์ไหมในชีวิตประจำวันที่จะรู้ว่า ชีวิตทุกวันมีทั้งจิตที่เป็นอเหตุกะ และมีจิตที่เป็นสเหตุกะด้วย เพราะว่าจิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง จิตที่เหลือ ๗๑ ดวง ก็เป็นสเหตุกะ

สเหตุกจิต หมายความว่า จิตบางขณะ บางดวง เกิดร่วมกับโลภะและโมหะ และจิตบางประเภทก็เกิดร่วมกับโทสะและโมหะ และจิตบางประเภทก็เป็นโมหะล้วนๆ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย และจิตบางประเภทก็เกิดร่วมกับอโลภะ อโทสะ จิตบางประเภทก็เกิดร่วมกับอโลภะ อโทสะ และอโมหะ

การรู้อย่างนี้มีประโยชน์ เพราะว่าโลภมูลจิตก็ดี อยู่ที่ไหน แม้เกิดขึ้น ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นตัวเองมีโลภมูลจิตมากมายสักเท่าไร หรือแม้ โมหมูลจิตก็ดี หรือกุศลจิตก็ดี จะเห็นได้ว่า การรู้ว่าวันหนึ่งๆ มีจิตทั้งที่เป็นอเหตุกะและสเหตุกะ ย่อมทำให้สามารถระลึกศึกษาที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นอเหตุกจิต และ ขณะใดเป็นสเหตุกจิต และถ้าใช้คำว่า อเหตุกจิต หรือ สเหตุกจิต ย่อมหมายความว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นจิต นี่ก็เป็นการเตือนให้ระลึกได้ที่จะรู้ว่า ไม่มีตัวตน

การฟังพระธรรมโดยละเอียด จะทำให้ปัญญาเริ่มสังเกต พิจารณา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นลักษณะของนามธรรม ต่างกับลักษณะของรูปธรรม

ลักษณะของสภาพธรรมมีจริงๆ และการรู้เรื่องของสภาพธรรมละเอียดขึ้น จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิด แม้ว่าในขณะที่สติเกิดนั้นไม่ใช่รู้ว่าเป็นอเหตุกจิตหรือสเหตุกจิต ไม่ใช่โดยชื่อ เพราะว่ายังไม่รู้ลักษณะของจิต ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม จิตเป็นแต่เพียงชื่อหรือคำที่ได้ยินและเข้าใจว่าเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งทุกคนมี แต่จะรู้จิตได้ในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า ขณะเห็นนี้ เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่รู้ว่า กำลังเห็นเป็นจักขุวิญญาณ เป็นอเหตุกจิต แต่เพราะว่าเคยฟังเรื่องของเห็นและรู้ว่าเป็นสภาพรู้ เป็นจิตชนิดหนึ่ง และยังรู้ประเภทด้วยว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทวิบากซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ก็จะระลึกตามได้ในขณะที่เห็นว่า ไม่มีใครสามารถสร้างสภาพธรรมนี้ขึ้นได้เลย และ ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งไม่ให้สภาพธรรมนี้เกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพนี้เกิด สภาพธรรมนี้ก็ต้องเกิด เพราะว่ามีปัจจัยที่จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นเห็น หรือมีปัจจัยที่โสตวิญญาณจะเกิดขึ้นได้ยิน

ฟังสักเท่าไรก็ยังไม่ง่ายที่จะรู้ความจริง แต่เข้าใจเรื่องได้ เข้าใจเรื่องของ จักขุวิญญาณ เข้าใจเรื่องของโสตวิญญาณ ถ้าใครถามก็บอกว่า เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ แต่ที่จะรู้จริงๆ ต้องสังเกต โดยระลึกและรู้ว่า ที่กำลังเห็น ในขณะนี้เป็นสภาพรู้ และต้องเป็นการรู้ตามลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นและปรากฏในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นปัญญาที่แท้จริงที่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะรู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตน ที่จะสร้างสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น แม้แต่รูปแข็งที่กำลังปรากฏก็ไม่มีใครสร้างได้ ไม่ว่าจะเป็นธรรม สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งหมด ถ้าสติเกิดระลึกจะรู้ความจริงว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันของยุคไหนสมัยไหน คือ ในสมัยที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือปรินิพพานไปแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี หรือจะถึง ๓,๐๐๐ ปี ๔,๐๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปี ในอนาคตก็ตาม สติของผู้อบรมเจริญปัญญา ที่จะดับกิเลส ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติทั่วทั้ง ๖ ทวาร และพิจารณาสังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม คลายความไม่รู้ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

เหตุผลทั้งหมดนี่จะสอดคล้องกัน ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกศึกษา จึงรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริงว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้ารู้อย่างนี้จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โดยไม่เลือกรู้ เฉพาะบางนามบางรูป

นี่เป็นความรู้ เมื่อรู้ก็ไม่เลือก เพราะไม่ว่าสภาพธรรมอย่างใดที่ปรากฏ สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็จะมีการเจาะจง และเลือกด้วยความไม่รู้ หรือพยายามหาทางหนึ่งทางใดที่จะรู้นามหนึ่งนามใดโดยที่ ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่ปัญญาจะต้องรู้ทั่วจึงจะละคลายได้

ก็เป็นเรื่องซ้ำ เป็นชีวิตประจำวัน และก็เป็นขณะนี้ที่สติอาจจะเกิดระลึก และกำลังศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

เมื่อเป็นสิ่งที่ยากอย่างนี้ ความไม่รู้และความหลงผิดก็ย่อมมีมากด้วย เพราะว่ารู้ยาก เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เข้าใจผิดได้ หรือหลงผิดไปได้ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม โดยละเอียดจริงๆ เพราะท่านที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด บางท่านก็คิดว่า ได้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว อาจจะเข้าใจอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกจึงมีวิปัสสนาญาณเป็นเครื่องเตือนให้พิจารณาให้รู้ความจริงว่า ใครจะคิดอย่างไรก็ตามว่าได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว แต่วิปัสสนาญาณต้องเป็นความรู้ชัดทางมโนทวาร ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งต้องอาศัยเหตุที่ถูกต้อง คือ สัมมามรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาสติเกิดระลึก และสัมมาทิฏฐิก็เริ่มพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่ใช่หลงผิดไปทำอย่างอื่นที่ต้องการผลเร็วๆ เพราะว่าผลเร็วเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นการอบรมเจริญความรู้

มีใครที่จะไปนั่งทำอะไรและให้รู้เร็วๆ ได้บ้าง นอกจากการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังพระธรรมโดยละเอียด ก็เพื่อสะสมเพิ่มพูน ความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งจะเกื้อกูล ให้สติระลึกได้ เพราะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป ซึ่งไม่ได้อยู่ที่อื่น แต่มีอยู่ทุกขณะที่ตนเองที่จะให้พิสูจน์ได้ และเมื่อสติปัฏฐานเกิดและปัญญาค่อยๆ สังเกต ความรู้ค่อยๆ เพิ่ม ก็จะถึงกาลสมัยหนึ่งซึ่งความรู้ทั้งหมดที่ ได้ยินได้ฟังจะเกื้อกูลให้เกิดการละคลายการยึดถือสภาพธรรม ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเลย จะทำอย่างไรๆ ก็ไม่มีการที่จะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรม แม้ว่าสติเกิดระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมเป็นสิ่งที่ต้องเจริญขึ้นในความเข้าใจ และเกื้อกูลแก่การที่จะระลึกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ และพิจารณา แล้วแต่ว่าจะเป็น ขั้นไตร่ตรอง หรือเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เรื่องของ อเหตุกจิตและสเหตุกจิตที่เกิดสลับกันในชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นชีวิตประจำวันแล้ว ควรรู้ ถ้าไม่อยากรู้ ไม่อยากเข้าใจ คิดว่ายาก ชื่อก็ยาก อเหตุกจิต สเหตุกจิต ก็จะไม่รู้ว่า ธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

ถ้าเป็นปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดย ไม่มีตัวตนเลย จะยากกว่าปัญญาที่ฟังเรื่องอเหตุกจิตและสเหตุกจิตและคิดว่ายาก สักแค่ไหน คิดดู อย่างไหนจะยากกว่ากัน

ฟังเรื่องอเหตุกจิต สเหตุกจิตยากกว่า หรือปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอเหตุกจิตและสเหตุกจิตนั่นเองยากกว่า

คำตอบ คือ การประจักษ์แจ้งยากกว่า เพราะฉะนั้น ก็ฟังก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถึงแม้ว่าจะใช้คำยาก คือ คำว่า อเหตุกจิต สเหตุกจิต แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่จะเข้าใจ และไม่ยากเกินกว่าที่จะพิจารณา และเมื่อเข้าใจแล้ว จะจำได้จริงๆ

ถ้าพูดถึงโดยชาติ คือ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต พูดสั้นๆ อย่างนี้ ทุกคนก็พอจะเข้าใจได้ว่า กุศลจิตเป็นจิตประเภทที่เป็นเหตุที่ดีงาม ให้ผลเป็น กุศลวิบากจิต ทำให้กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น และอกุศลจิตก็เป็นจิตที่ไม่ดีงาม เมื่อได้กระทำทุจริตกรรมก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรมนั้น และสำหรับกิริยาจิตก็เป็นจิตที่ไม่ใช่กุศล อกุศล และวิบาก

ถ้าพูดอย่างนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ เพราะว่าไม่ยากโดยชื่อ และถ้าพูดถึงโดยภูมิ จิตทั้งหมดจำแนกออกเป็นกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ก็ไม่ยากอีก เพราะจำแนกจิตโดยระดับขั้นของจิตว่า จิตขั้นต่ำทั่วๆ ไป ในเบื้องต้น ในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามาวจรจิตเพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีแต่กามาวจรจิต ในขณะที่ฌานจิตซึ่งเป็นรูปาวจรจิตไม่เกิด อรูปาวจรจิตไม่เกิด และโลกุตตรจิตไม่เกิด

เมื่อจำแนกกามาวจรจิต ๕๔ ดวงออกเป็น ๓ ประเภทโดยกิจ อาจจะเห็นว่า อเหตุกจิตเป็นจิตที่ยากกว่าจิตประเภทอื่น คือ ในกามาวจรจิต ๕๔ นั้น จำแนกออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง โดยประเภทใหญ่ๆ ก็ไม่ยาก

อกุศลจิต ๑๒ ดวง ทำชวนกิจ กิจเดียว

กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง ทำได้ ๕ กิจ คือ

กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ทำชวนกิจ กิจเดียว

กามาวจรวิบากจิต ๘ ดวง ทำได้ ๔ กิจ คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และ ตทาลัมพนกิจ

กามาวจรกิริยาจิต ๘ ดวง ทำชวนกิจ กิจเดียว

ไม่ยากสำหรับอกุศลจิตและกามาวจรโสภณจิต แต่สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ที่ยากก็เพราะทำกิจได้ทั้ง ๑๔ กิจ โดยชื่อทำให้เห็นว่ายาก แต่ตามความเป็นจริงแล้วถ้าเข้าใจก็ไม่ยาก

เช่น ในขณะนี้ ถ้าไม่นึกถึงชื่อ ก็มีจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทราบว่าเป็นวิบากจิต ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วยเลย ให้เข้าใจแค่นี้ ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นจิต ๑๐ ดวง คือ ถ้าเห็นดี จักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นไม่ดี จักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน เป็นอเหตุกจิต ๑๐ ดวงแล้ว ยากไหม

เปิด  214
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565