แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1835
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๑
ต่อสนทนาธรรมที่ จ. กาญจนบุรี
วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๑
พระโพธิสัตว์เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่พระราชา ได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า
เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้วย่อมมีใจอิ่มเอิบแท้ เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ ครั้นสิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จ บุคคลนั้นยังปรารถนาต่อไปอีก ก็ย่อมได้ประสบกามตัณหา เหมือนบุคคลที่ถูกลมแดดแผดเผาในฤดูร้อน ย่อมจะเกิดความกระหายใคร่จะดื่มน้ำฉะนั้น
ตัณหานี่ไม่หยุด และจะทำให้เร่าร้อนตลอดไป
ตัณหาก็ดี ความกระหายก็ดี ของคนพาลมีปัญญาน้อย ไม่รู้อะไร ย่อมเจริญยิ่งขึ้นทุกที เหมือนเขาโคย่อมเจริญขึ้นตามตัวฉะนั้น
แม้จะให้สมบัติ ข้าวสาลี ข้าวเหนียว โค ม้า ข้าทาสหญิงชาย หมดทั้งแผ่นดิน ก็ยังไม่พอแก่คนๆ เดียว รู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
พระราชาทรงปราบชนะทั่วแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินใหญ่ มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ทรงครองมหาสมุทรฝั่งนี้แล้ว มีพระทัยไม่อิ่ม ยังปรารถนาแม้มหาสมุทรฝั่งโน้นต่อไปอีก
เมื่อยังระลึกถึงกามอยู่ตราบใด ก็ไม่ได้ความอิ่มด้วยใจตราบนั้น
มีใครอิ่มบ้างหรือยัง เมื่อวานนี้อยากได้อะไร วันนี้อยากได้อะไร พรุ่งนี้จะ อยากได้อะไรต่อไปอีก
ชนเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา มีกายและใจหลีกเว้นจากกามทั้งหลาย เห็นโทษด้วยญาณ ชนเหล่านั้นนั่นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม
บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐ
อิ่มหรือยัง ถ้าเป็นเรื่องของปัญญา ก็ต้องถามว่าอิ่มหรือยัง แต่อย่าเพิ่งอิ่ม เพราะว่าจะต้องเจริญปัญญาต่อไป
เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้
ไม่พึงสั่งสมกามทั้งหลาย พึงเป็นผู้ปรารถนาน้อย ไม่มีความละโมบ บุรุษผู้มีปัญญาเปรียบด้วยมหาสมุทร ย่อมไม่เดือดร้อนเพราะกามทั้งหลาย
ข้อความต่อไปน่าสังเกต
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า
ช่างทำรองเท้าหนังเลี้ยงชีพ เมื่อประกอบรองเท้า ส่วนใดควรเว้นก็เว้น เลือกเอาแต่ส่วนที่ดีๆ มาทำรองเท้า ขายได้ราคาแล้วย่อมมีความสุข เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ละทิ้งส่วนแห่งกามเสีย ย่อมถึงความสุข ถ้าพึงปรารถนาความสุขทั้งปวง ก็พึงละกามทั้งปวงเสีย
ก็เมื่อพระโพธิสัตว์กำลังกล่าวคาถานี้อยู่ ได้เกิดฌานมีโอทาตกสิณ เป็นอารมณ์ เพราะมนสิการพระเศวตฉัตรของพระราชาเป็นอารมณ์
นี่เป็นผลของการกล่าวธรรม และมีการสะสมมาที่จะเกิดฌานจิต เพราะฉะนั้นในขณะที่มนสิการพระเศวตฉัตรก็เกิดฌาน มีโอทาตกสิณเป็นอารมณ์
แม้พระราชาก็ทรงหายจากโรค พระองค์ทรงโสมนัสยินดี เสด็จลุกจาก พระที่บรรทมตรัสว่า
พวกแพทย์ทั้งหลายยังไม่อาจรักษาได้ แต่มาณพผู้เป็นบัณฑิตได้ทำเรา ให้ปราศจากโรคด้วยญาณวิสัยของตนได้
เมื่อจะทรงปราศรัยกับพระโพธิสัตว์ ได้ตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า
คาถาทั้งหมด ๘ คาถาที่ท่านกล่าวแล้ว ขอท่านจงรับเอาทรัพย์ทั้ง ๘,๐๐๐ นี้เถิด คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นคำยังประโยชน์ให้สำเร็จ
คือ เมื่อกล่าว ๘ คาถา ก็พระราชทานให้ ๘,๐๐๐
พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาที่ ๑๑ ว่า
ข้าพระบาทไม่ต้องการด้วยทรัพย์ร้อย ทรัพย์พัน หรือทรัพย์หมื่น เมื่อข้าพระบาทกล่าวคาถาสุดท้าย ใจของข้าพระบาทไม่ยินดีในกาม
ได้ประโยชน์ยิ่งกว่าทรัพย์ ๘,๐๐๐ เพราะว่าฌานจิตเกิดเมื่อได้กล่าวคาถานั้น
พระราชาทรงยินดีอย่างเหลือประมาณ ในเมื่อจะทรงสรรเสริญพระโพธิสัตว์ ได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า
มาณพใดเป็นบัณฑิต กำหนดรู้ตัณหาอันยังความทุกข์ให้เกิดแล้วนำออกได้ มาณพนี้เป็นคนดี เป็นมุนีผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง
พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชาว่า
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติธรรมเถิด
แล้วเหาะไปยังหิมวันตประเทศ บวชเป็นฤๅษี เจริญพรหมวิหารอยู่จน ตลอดอายุ แล้วไปเกิดในพรหมโลก
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ทำให้พราหมณ์นี้คลายความ เศร้าโศกด้วยประการฉะนี้
แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพราหมณ์นี้ ส่วนมาณพผู้เป็นบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคตแล
วันหนึ่งก็คงจะถึงวันนั้น คือ วันที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน ถ้าเข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก เจริญกุศล และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ
ถ. มาณพที่เป็นบัณฑิต ขณะที่กล่าวคาถากับพระราชานั้นก็ได้ฌาน รู้สึกว่าได้ง่ายเหลือเกิน
สุ. เพราะเป็นผู้ที่เคยสะสมความสงบของจิต สามารถเห็นโทษของกาม และสามารถโอวาทหรือกล่าวคำที่แสดงโทษของกามได้ ไม่ใช่กล่าวตามบุคคลอื่น
ถ. กล่าวถึงโทษของกามด้วย เพื่อให้พระราชาบรรเทาจากความกระหายอยากจะได้เมือง ๓ เมืองจนกระทั่งเจ็บป่วย ขณะที่กล่าวก็ไม่ได้ไปนั่งสมาธิอะไรที่ไหน กำลังพูดอยู่ด้วย ก็ได้ฌานขึ้นมา
สุ. ต้องเข้าใจว่าฌานคืออะไร สมถภาวนาคืออะไร ซึ่งก็คือการอบรม เจริญความสงบของจิต ขณะนั้นต้องเป็นกุศลจึงสงบ เพราะการที่กุศลจิตซึ่งสงบ จะสงบขึ้นๆ ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้ว่า ขณะใดมีอกุศลจิต เกิดแทรก ซึ่งได้แก่ นิวรณธรรม ๕ อย่าง
กามฉันทนิวรณ์ การตรึกนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใครก็ตามที่ปกติ จะนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ควรจะสังเกตจิตว่า ในขณะนั้นเป็น จิตประเภทใด โลภมูลจิตเป็นกามฉันทนิวรณ์ เพียงนึก จิตที่นึกก็เป็นอกุศล คือ เป็นโลภมูลจิตตามปกติ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นต้องมีสติสัมปชัญญะที่รู้ว่า จิตตรึกถึงกามเป็นอกุศล ต่างกับขณะที่สงบจากการระลึกถึงกามซึ่งเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังกล่าวธรรมนั้น ก็ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในขณะที่กล่าว และรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบด้วย พร้อมกันนั้นก็เห็นพระเศวตฉัตรที่เป็นสีขาวซึ่งเป็นกสิณ ๑ ใน ๑๐ อย่าง ก็สามารถพิจารณาด้วยปัญญาและจิตสงบถึงขั้นฌานจิตได้ ถ้าเป็น ผู้ที่ได้อบรม เคยสะสมมาแล้ว
ถ. พระราชาฟังธรรมของบัณฑิตแล้วก็คลายโศกได้ และบัณฑิตเอง ท่านก็ได้ฌาน เข้าป่าออกบวช แต่เราฟังแล้ว กามก็ยังไม่อิ่ม ปัญญาก็ยังไม่อิ่ม คงจะต้องศึกษาต่อไปเรื่อยๆ
สุ. ก็นับชาติดูว่า อีกกี่ จะใช้คำว่า แสน หรือจะใช้คำว่า หมื่น หรือจะใช้คำว่า กัป ก็แล้วแต่ละบุคคลที่จะพิจารณารู้ได้ด้วยตนเองถึงความต่างกันของปัญญา ที่จะต้องสะสม
ถ. ท้าวสักกะที่แปลงกายเป็นมาณพ เป็นท้าวสักกะที่ได้โสดาบันแล้ว ใช่ไหม
สุ. ในนี้ไม่ได้บอกไว้ เพราะว่าท้าวสักกะก็ไม่ใช่มีพระองค์เดียว บางครั้งพระผู้มีพระภาคก็ทรงเคยเป็นท้าวสักกะ แต่ในพระชาตินี้เป็นบัณฑิต
สนทนาธรรมที่ จ. กาญจนบุรี
วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๑
ถ. เทวดา พระพรหมก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ใช่ไหม
สุ. ได้ ถ้าเหตุสมควรแก่ผล และไม่ได้เกิดในอบายภูมิ ไม่ได้เกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน ไม่เกิดในนรก ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย อย่างม้ากัณฐกะตายแล้ว ไปเกิดเป็นกัณฐกเทพบุตร ลงมาเฝ้าฟังพระธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ถ. มีหลักฐานอะไร
สุ. ในพระไตรปิฎก
ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ที่เขาพูด เขาก็อ้างพระไตรปิฎกเหมือนกัน เขาพูดเองหรือ
ถ. ในกาลามสูตรบอกว่า เชื่อตามตำราไม่ได้
สุ. ถูก แต่คนที่อ้าง เขาเอามาจากไหน เขาคิดเอาเองหรือ
ถ. มีคนบอกว่า ชาติก่อนผมเป็นม้าศึกตายที่อยุธยา …
สุ. ข้อสำคัญที่สุด เขาทำอย่างไร เขาจึงบอกได้
ถ. เขาหลับตา
สุ. อยู่ดีๆ เขาหลับตา และเราก็เชื่อ
ถ. นั่นสิ มีหลายเรื่องที่กังขา สงสัย ว้าวุ่น ...
สุ. อะไรก็ตามที่ไม่ทำให้เราเกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจขึ้น ทิ้งไปให้หมด เพราะไม่ใช่สาระ ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นจุดประสงค์ของการฟังธรรม
ถ. สาธุ แต่ตอนนี้ผมลังเลแล้ว เพราะผมได้ยินสิ่งที่อาจารย์พูด ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน มีปัญหาก็ซักถามได้ คุณแม่ผมฟังอาจารย์จนพยายามมาล้างสมองผม ผมก็ไปมาหลายสำนักแล้ว ทำให้ผมเปรอะไปหมด ทำให้ผมวุ่นวาย ว้าวุ่น เป็นอะไร ก็ไม่รู้ ผมฟังอาจารย์พูด ทำให้ผมเริ่มหนักใจตัวผมเอง
สุ. ความปรารถนาดีมาก อุดมการณ์ทุกอย่างน่าสรรเสริญที่สุด จะหาคนอย่างนี้ก็ยากที่เสียสละ ทุกอย่างพร้อมหมด ขอให้เพียงแต่มีพระธรรม ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ที่จะไม่ทำให้คนอื่นพลอยเข้าใจผิดไปด้วย อันนี้สำคัญมาก
ถ. ผมเข้าใจตัวเองแล้วว่า จริงๆ แล้วผมยังไม่รู้จริง ผมรู้เพียงว่า พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อลงมาเหลือ ๓ ข้อที่จะปฏิบัติ และที่จะเรียนรู้ จริงๆ คือ เรื่องเดียว ท่านสอนเรื่องความทุกข์ อะไรก็ทุกข์
สุ. แต่ทุกขอริยสัจจะต้องเป็นไตรลักษณะ ต้องแยกออกไป
ถ. ผมก็เข้าใจอยู่ จากหนังสือที่อ่าน อยากให้อธิบายอิทธิบาท ๔
สุ. อิทธิบาท คำว่า อิทธิ แปลว่า สำเร็จ บาทหรือปาท แปลว่า เบื้องต้น และเราต้องการอะไรที่จะให้สำเร็จ ถ้าเราต้องการจะสร้างจรวด ถือว่าเป็นอิทธิบาทหรือเปล่า อย่างอเมริกาสร้างจรวดไปดวงจันทร์ ถือว่าเขามีอิทธิบาทหรือเปล่า เขาไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนาเลย เพราะฉะนั้น ใช้คำนี้ไม่ได้เลย อิทธิ ถ้าสำเร็จเพราะโลภะ ไม่ชื่อว่าอิทธิ โลภะเขาเป็นเจ้าโลกอยู่แล้ว เราตามเขาตลอดเวลา เขาจะพาเราไปถึงไหน ถึงดาวอังคาร ดาวเสาร์ หรืออะไร เราไปด้วยหมด ไม่ได้ ไปทำอะไรที่เป็นอิทธิที่จะไปลบล้างเขาได้เลย
เพราะฉะนั้น อิทธิบาท ในพระพุทธศาสนาหมายความถึงสำเร็จด้วยความเป็นกุศลอย่างยิ่ง ไม่ใช่ด้วยขั้นทาน ขั้นศีล แต่เป็นขั้นสมถภาวนา จิตสงบจนกระทั่ง ฌานจิตเกิดได้ หรือการที่ปัญญาอบรมเจริญขึ้นจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ นั่นคือ อิทธิบาท เป็นบาทของความสำเร็จ ไม่ใช่ขั้นธรรมดา และไม่ใช่ขั้นอกุศล แต่ต้องเป็นความสำเร็จทางกุศลที่ยิ่งใหญ่
ถ. ผมเข้าใจว่า อิทธิบาท ๔ คือ จริยธรรมนั่นเอง
สุ. เราใช้ภาษานี้มานานมาก ไม่ได้มีการแก้ไข ไม่ถูกต้อง ท่านจึงมีคำจำกัดความ นี่คือผลเสียจากการไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ และพยายามใช้คำ อย่างมรรค ๘ ก็ดี มัชฌิมาปฏิปทาก็ดี ทุกอย่างเอามาใช้เองหมดเลย แต่ไม่ถูกเลย สักเรื่องหนึ่ง
ถ. นึกว่าตัวเองรู้ ผมฟังแต่ศีล สมาธิ ปัญญา และมานั่งอ่าน ประหลาดใจมาก เมื่ออ่านอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำไมต้องเริ่มต้นด้วยปัญญา และ ตามด้วยสัมมาสมาธิ ผมก็คิดว่า คนสอนสวนทางกับพระพุทธเจ้า ผมอยากจะถามเรื่องนี้กับอาจารย์หลายครั้งแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะถามที่ไหน
สุ. แต่ในมรรคมีองค์ ๘ มีครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา มีพร้อมกัน
ศีล ได้แก่ วิรตี ๓ สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ นี่เป็นศีล
สมาธิ ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่เป็นองค์ของสมาธิ
สัมมาทิฏฐิ กับสัมมาสังกัปปะ เป็นองค์ของปัญญา
เพราะฉะนั้น พร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ในมรรคมีองค์ ๘ แต่การที่เราจะอบรมเจริญปัญญา เพราะว่ามรรคเป็นหนทาง พาไปไหน ชื่อว่ามรรค คือ ทาง สัมมามรรคพาไปไหน พาไปถึงนิพพาน พาไปถึงการประจักษ์แจ้งพระนิพพาน พาไปถึงการเป็นพระอริยบุคคล เป็นอริยมรรค เพราะฉะนั้น ต้องตั้งต้นด้วยปัญญา ถ้าปราศจากปัญญา เจริญไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่ตัวเราที่รู้แจ้งนิพพาน แต่เป็นปัญญา ที่คมขึ้น เจริญขึ้น จนกระทั่งประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม แทงตลอด ละคลายการยึดติดในสังขารธรรมทั้งหลาย และโน้มไปสู่สภาพของวิสังขารธรรม หรืออสังขตธรรม คือ พระนิพพาน ต้องเป็นตัวปัญญาที่เจริญขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ
ถ. คือ ตัวปัญญา แต่ทำไมเวลาเราพูด เราพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
สุ. เพราะว่ามีศีลสิกขา มีจิตตสิกขา มีปัญญาสิกขา
ศีลสิกขา คือ ขณะนี้ถ้าเราเว้นการลักทรัพย์หรือการฆ่าสัตว์ นี่เป็นเพียง การเว้นทางกาย แต่ใจเราเป็นอย่างไร เว้น หรืออยากจะฆ่า อย่างยุง บางคนอยากฆ่าจังเลย แต่ไม่ได้ มีศีล ฆ่ายุงไม่ได้
แต่อธิศีลสิกขา เป็นศีลที่ละเอียดกว่าที่จะล่วงออกไปทางกาย หรือทางวาจา เพราะแม้เพียงจิตที่เกิดคิดอย่างนั้น สติระลึกรู้ นั่นคือสังวรศีล ตัวสติเป็นสังวรศีล เพราะฉะนั้น ละเอียดกว่า ด้วยเหตุนี้การที่ปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ จึงต้องมีการสังวรด้วยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นอธิศีลสิกขา ซึ่งจะนำไปสู่อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
คือ ธรรมละเอียดเป็นชั้นๆ จะใช้คำสักคำ คำไหน ก็ต้องถูกและจริงด้วย อย่าไปใช้ผิดๆ
ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เพราะฉะนั้น จึงได้บอกว่า ดีที่เรารู้ เราจะได้แก้ไข ... เราต้องแก้ไข นิสัยเราหมดเลย นิสัยของเราเคยเป็นคนที่มากด้วยอวิชชา ความไม่รู้ เราก็ต้องเปลี่ยนเป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญวิชชา เหมือนเปลี่ยนจากมือซ้ายเป็นมือขวา