แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1837

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

ต่อสนทนาธรรมที่ จ. ฉะเชิงเทรา

วันเสาร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๑


สุ. มีท่านผู้หนึ่งท่านกล่าวว่า ในการรบจะต้องรู้จักยุทธวิธีของศัตรู จึงจะชนะได้ ถ้าไม่รู้จักยุทธวิธีของศัตรูก็ชนะไม่ได้ นี่ในเรื่องของการรบ คือ ถ้าไม่รู้ว่า ศัตรูมีวิธีอะไรบ้าง ก็อาจจะถูกศัตรูหลอกลวง เพราะไม่รู้จักกลยุทธ์หรือยุทธวิธีของศัตรู ในทางธรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่ต่างกันเลย ถ้าไม่รู้จักศัตรูก็ไม่สามารถชนะศัตรูได้ ในทางโลก ศัตรู คือ คนอื่น แต่ในทางธรรม ศัตรู คือ อกุศลที่เกิดกับจิต

รู้จักศัตรูหรือยัง

ทุกคนศึกษาพระธรรมเพื่อที่จะชนะศัตรู แต่ถ้าไม่รู้จักศัตรูจริงๆ ไม่มีทางชนะได้ อย่างเมื่อกี้ศัตรูก็เกิดขึ้น ที่หลอกตัวเองว่าเป็นสติปัฏฐาน นั่นก็คือศัตรู

สำหรับศัตรูในทางธรรม คือ อกุศลที่เกิดกับจิต ทำให้จิตเป็นโรค เน่า เสีย ขณะใดที่อกุศลธรรมเกิด เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาว่า อยากจะชนะศัตรูไหม หรืออยากจะปล่อยให้ศัตรูมีกำลังไปเรื่อยๆ นี่เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเป็นเรื่องของ สภาพธรรมที่เกิดกับจิตของแต่ละคน ไม่ใช่บุคคลอื่นที่จะต้องสู้รบตบมือ แต่เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการทุกขณะที่สติระลึกได้ หรือไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้นก็ตาม การที่สติจะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นจะชนะศัตรู หรือจะแพ้ เพราะว่าวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมาก ไม่รู้สึกตัวเลย ไม่รู้ด้วยว่าจะชนะอกุศลนั้นๆ ได้อย่างไร แต่ถ้ารู้จริงๆ ก็สามารถชนะได้

ถ้ากล่าวว่า ในทางธรรม ศัตรู คือ อกุศลที่เกิดกับจิต ขณะนี้มีใครรู้จัก ศัตรูบ้างแล้ว หรือรู้จักเพียงแต่ชื่อ แต่เวลาที่ศัตรูเกิดจริงๆ กำลังทำร้ายจริงๆ จิตขณะนั้นเสียเป็นโรค เน่าจริงๆ ขณะนั้นไม่รู้เลยว่ามีศัตรูแล้ว

นี่เป็นสิ่งที่พระธรรมจะทำให้ทุกท่านรู้จักศัตรูของตนเองดีขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ความไม่รู้จะทำให้เอาใจช่วยศัตรูของตัวเอง ปลอบใจต่างๆ หรือคิดว่าขณะนั้น เป็นสติปัฏฐาน เป็นกุศล แต่แท้ที่จริงไม่ใช่สติปัฏฐาน

ผู้ฟัง ศัตรู คือ กิเลส ปกติเราจะไม่รู้ว่าเรามีศัตรู เช่น ความโลภเกิดขึ้น ความโกรธเกิดขึ้น ความหลงเกิดขึ้น เราไม่รู้ รู้แต่เพียงว่า เราอยากได้ เราโกรธ คือ เห็นว่า อยากได้ก็ดี โกรธที่เกิดขึ้นก็ดี ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นเรา นี่เป็นปัญหาที่ยาก ที่จะกำจัด เพราะไม่เข้าใจว่า โกรธนั้นเป็นศัตรู โลภเป็นศัตรู ยังนึกว่าเป็นเราอยู่

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จักศัตรูละเอียดขึ้นก็ดี และต้องรู้จักยุทธวิธีของศัตรูด้วย ในวันนี้ศัตรูมียุทธวิธีมากมาย เพราะชนะอยู่ตลอดเวลาที่โลภะเกิด โทสะเกิด โมหะเกิด แม้แต่การที่จะอบรมเจริญปัญญาก็ยังมีโลภะได้ เช่น เมื่อกี้นี้ และเมื่อโลภะไม่เกิด ก็ยังมีโทสะเกิดอีกได้ด้วย แสดงให้เห็นถึงความสามารถของศัตรูที่มีมากจริงๆ จนกว่าปัญญาจะเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นจะรู้วิธีชนะศัตรูได้ แต่ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด จริงๆ

ผู้ฟัง การมีปัญญาจนสามารถเข้าใจว่า ศัตรูไม่ใช่เรา หรือความโกรธ ความอยากไม่ใช่เรา ความเกลียด ความกลัว ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ง่ายๆ หรือรวดเร็ว

สุ. ศัตรูตัวใหญ่ที่เป็นต้นเหตุก็มี ๓ ซึ่งทุกคนได้ยินชื่อบ่อยๆ ไม่มีใครลืม คือ โลภะ โทสะ โมหะ และใน ๓ อย่างนี้ อกุศลธรรมที่ขาดไม่ได้เลยเวลาที่ศัตรูมา คือ โมหะ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่ายุทธวิธีหรือ การดำเนินงาน การปฏิบัติการของโมหะนั้น คือ ปิดกั้นไม่ให้รู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือหน้าที่ของโมหะ

ทางเดียวที่จะละคลายโมหะได้ คือ อบรมสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโมหะ คือ ปัญญา ให้เกิดขึ้นเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้วถ้ายังมีความ ไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมอยู่ จะไม่ให้มีโมหะ ไม่ให้มีโลภะ เป็นไปไม่ได้ หรือจะ ไม่ให้มีโมหะ ไม่ให้มีโทสะ ก็เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลทุกอย่างปราศจากโมหะไม่ได้ การรบกับอกุศลธรรม ที่จะไม่ให้อกุศลธรรมเกิดได้จริงๆ ก็ปราศจากปัญญาไม่ได้เช่นเดียวกัน

สนทนาธรรมที่ จ. ฉะเชิงเทรา

วันเสาร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

ถ. รูปนามจะต้องถึงความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ อย่างนี้จะถือเป็นสติหรือเปล่า

สุ. สติมีหลายขั้น ถ้าเป็นสติที่คิดพิจารณาเรื่องนามธรรมรูปธรรมไม่เที่ยง ไม่ใช่การรู้ในขณะที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่เรา คนละขั้น

ถ. ต้องพยายาม

สุ. ไม่ใช่เรื่องพยายาม แต่เป็นเรื่องการเจริญปัญญา ซึ่งคนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจว่า เป็นเรื่องการอบรมปัญญา เขาไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร แต่ถ้าทราบว่า ปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา ที่จะเข้าใจสภาพเห็นที่กำลังเห็น หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. นั่นเราคิด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ความคิดนั้นก็ยังยึดถือว่าเป็นเรา ยังไม่ใช่อนัตตา ทุกอย่างไม่เที่ยง รู้สึกว่าไม่สงสัย เพราะว่าเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ และก็เจ็บ และก็ตาย เรามองเห็นเรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายอยู่เรื่อยๆ

ถ. ... ความตายเป็นธรรมดา ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ก็คือการนึก เหมือนกับในเวลานี้เราก็กำลังนึก เวลาที่เรากำลังพูด ก็คือ เรากำลังนึกนั่นเอง

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เห็นนี่ก็ต้องดับ ที่ว่าเกิดตาย คือ สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดต้องดับ เห็นเราก็เห็นมาตั้งแต่เกิดจนตาย ปัญญาในขณะที่กำลังเห็นยังไม่เกิด เพราะว่า ยังเป็นเราอยู่ตราบใด ตราบนั้นก็ยังไม่ใช่อนัตตา

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. หมายความถึงสติเกิดระลึกได้ว่า ขณะนี้ตามที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ความเข้าใจของเราจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่ง เรารู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

เวลานี้ถ้าเปลี่ยนทุกคนที่นี่เป็นภาพเขียน ทุกคนก็กำลังพูดกับภาพเขียน ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงใจที่คิดเท่านั้นเอง และเป็นภาพที่ไม่ใช่ภาพนิ่ง ความต่างกันของขณะที่กำลังสนทนา คือ ไม่ใช่ภาพนิ่ง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ต่างกัน เพราะว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นที่เราคิดว่าเป็นภาพนิ่ง ก็มีหู มีจมูกเหมือนกัน เพราะเราคิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเวลานี้มืดหมด ไม่ปรากฏเลยว่าเป็นตา เป็นหู เป็นปาก เป็นจมูกให้คิด แต่เมื่อสว่างขึ้นมา สิ่งที่ปรากฏก็ทำให้ใจคิดนึก เมื่อคิดนึก ก็เห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่จริงๆ แล้วเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อมีแสงสว่าง

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เข้าใจถูกต้อง ข้อสำคัญที่สุด คือ มีสิ่งที่ กำลังปรากฏให้เข้าใจถูกต้องขึ้น แต่ก่อนนี้เราไม่เคยฟังพระธรรม ก็ยาก ไม่มีทางที่เราจะเข้าใจถูกต้องว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนเสียงที่ปรากฏทางหูซึ่งปรากฏและก็ดับ เหมือนกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก เหมือนรสที่ปรากฏทางลิ้น คือ ปรากฏชั่วประเดี๋ยวเดียว เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เราถึงต้องเข้าใจว่า การพิจารณาว่าสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ตัวตน เราก็นึกเทียบเคียงจากการฟังแล้วฟังอีกให้เข้าใจจริงๆ ว่า เสียงปรากฏทางหู รสปรากฏ ทางลิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ต้องเหมือนกัน คือ ปรากฏแล้วก็ต้อง หมดไป จะยั่งยืนไม่ได้เลย

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เพราะว่าสติไม่เกิด

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. นั่นคิด เป็นการคิดเรื่องนามเรื่องรูป ไม่ใช่การระลึกลักษณะที่เป็นอนัตตา ที่จะเป็นความรู้แท้ๆ ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีอะไรเลย นอกจาก สิ่งที่ปรากฏเท่านั้น คนไม่มี อะไรไม่มี เฉพาะทางตา

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ค่อยๆ เป็น คือ สติปัฏฐานหมายความว่า ระลึกลักษณะของสิ่งที่มีจริง และศึกษา คือ พยายามพิจารณาเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้น จนกว่าจะเข้าใจถูกต้อง

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เราต้องเข้าใจว่า สติปัฏฐานไม่ใช่ขั้นคิด ถ้ายังคิดอยู่ ขณะนั้นไม่ได้พิจารณาลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นการคิดคำ เป็นการรู้เรื่องทีละคำๆ

เวลานี้ทุกคนเห็น ใช่ไหม มีของจริงกำลังปรากฏทางตา และเราก็มักจะ คิดเรื่องของจริงที่กำลังปรากฏทางตา อย่างเวลาที่เรากำลังพูดเดี๋ยวนี้ เราก็กำลัง พูดเรื่องของจริงที่ปรากฏทางตา โดยที่มีของจริงๆ ปรากฏ แต่สติของเราไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นของจริง เพราะเรากำลังพูดหรือคิดเรื่องของจริง

ที่ต้องแยกกัน คือ เวลานี้เห็นมี สิ่งที่ปรากฏทางตามี และเรากำลังพูดเรื่องนี้ด้วย คือ พูดเรื่องเห็น กับพูดเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และเรากำลังพยายามเข้าใจเรื่อง จนกว่าสติจะระลึกตามที่เข้าใจแล้ว

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจว่า เวลานี้สิ่งที่ปรากฏทางตามี แต่ยังไม่ได้พิจารณา เพียงพูดเรื่องนี้ และกำลังเข้าใจเรื่องนี้ โดยสติไม่ได้ระลึก สติปัฏฐานก็อีกขั้นหนึ่ง ตอนนี้เข้าใจก่อน ตั้งต้น ที่เข้าใจก่อน เข้าใจจริงๆ เข้าใจมากๆ เข้าใจเรื่อยๆ

ถ. ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยศึกษา ก็เจริญสติไม่ได้

สุ. ไม่มีทาง อย่างเวลาที่ไปวัดบวรและฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรม เวลาอยู่ที่บ้าน เปิดวิทยุฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรม เรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรากำลังฟังเรื่อง ทั้งๆ ที่ตาเห็น เรากำลังฟังเรื่องจิตได้ยิน ทั้งๆ ที่จิตได้ยินและเสียงก็กำลังปรากฏ แต่แทนที่สติจะระลึกที่ลักษณะนั้น เรากำลังฟังเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น เป็นปัญญาต่างขั้น คนละระดับ

ถ. ละเอียดอย่างนั้น รู้สึกว่าจะเข้าใจได้ยาก ถ้าหากเราจะดับกิเลส ขั้นหยาบๆ ก่อน และค่อยๆ มาถึงตรงนี้ ได้ไหม

สุ. ไม่มีเราที่จะไปดับกิเลส ทุกคนไม่มีใครชอบกิเลส พยายามหาทางกันสักเท่าไร ขนาดพวกฤๅษีเข้าป่าเลย เห็นโทษจนกระทั่งเข้าป่า แต่ก็ดับกิเลสไม่ได้ ทั้งๆ ที่เขาก็พยายามละ

ถ. ต้องไม่มีตัวตนก่อน

สุ. แน่นอน เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้แล้วละ คือ ไม่มีเราที่จะไปดับหรือ ไปละ แต่ถ้าปัญญาเกิดขั้นไหนปัญญาเขาละขั้นนั้น ตามระดับขั้นของปัญญา ปัญญาก็ข้ามขั้นไม่ได้ อย่างปัญญาขั้นฟัง เริ่มจะเข้าใจสิ่งซึ่งเราไม่เคยฟังมาก่อนเลย เรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ ใครบอกเราว่าสำคัญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ชัดว่า นี่คือแหล่งของความสุขและความทุกข์ จากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส การคิดนึก สุขทุกข์อยู่ที่นี่ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีทุกข์และอยากจะดับทุกข์ โดยเราไม่รู้ความจริงของเห็นว่า ทุกข์เกิดเพราะเห็น ทุกข์เกิดเพราะได้ยิน ทุกข์เกิดเพราะได้กลิ่น ทุกข์เกิดเพราะลิ้มรส ทุกข์เกิดเพราะสัมผัส ทุกข์เกิดเพราะคิดนึก ปัญญาของเราก็ต้องค่อยๆ เจริญทั่ว แต่ละทางว่า นี่ทุกข์เกิดเพราะคิดนึก มีใครรู้อย่างนี้บ้างว่า ทุกข์เกิดเพราะคิดนึก มัวแต่เป็นทุกข์ไปด้วยความคิด ประเดี๋ยวก็เป็นทุกข์อีกแล้ว คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงที่กำลังเป็นทุกข์นั้นเพราะคิด แต่พระพุทธเจ้าทรงชี้ที่เกิดของ ทุกข์ทั้งหมด เพื่อที่จะดับทุกข์ได้

ถ้าปัญญายังไม่รู้ความจริงของเห็น ของได้ยิน ของได้กลิ่น ของลิ้มรส ของกระทบสัมผัส ของคิดนึก ไม่มีใครดับกิเลสได้เลย

แต่คนส่วนใหญ่ใจร้อน และไม่ฟังด้วยว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร อยากแต่จะทำอย่างไรๆ ร่ำร้องแต่จะทำอย่างไร และไปเที่ยวหาทาง ใครเขาบอกให้ทำก็ไป รีบๆ จะทำ แต่ถ้าพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังจะรู้ได้ว่า ปัญญาเกิดไหม เราเข้าใจอะไร หรือเปล่า ถ้าความเข้าใจไม่มีเลย ปัญญาไม่เกิดเลย ถ้าให้เราทำ กิเลสจะหมด ได้อย่างไร ในเมื่อปัญญาไม่เกิด

เพราะฉะนั้น ในขั้นของการฟัง เราต้องฟังจนกระทั่งเรารู้จริงๆ ว่า กิเลสจะ ดับได้ตามขั้นของปัญญาที่เกิดขึ้น ถ้าปัญญาไม่เกิด อย่าทำอะไรเลย ไม่มีทางที่กิเลสจะดับหมดไปได้ และปัญญาจะรู้อะไร ยังไม่ทันจะรู้เลยก็หวังว่า นั่งๆ ไปสักประเดี๋ยวปัญญาก็จะเกิด นี่เป็นความหวัง แต่ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญารู้เห็นเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นแหล่งที่เกิดของทุกข์ ปัญญารู้ความคิดที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแหล่งของความทุกข์เหมือนกัน

ถ้าเราจับจุดของทุกข์ได้ว่า จากเห็น จากได้ยิน จากได้กลิ่น จากลิ้มรส และปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรม ความทุกข์ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็จะค่อยๆ คลาย เพราะถ้าไม่มีตัวตน ทุกข์ต้องลดน้อยลง

ถ. ความเคยชินที่มีตัวตนมาตลอด ยังไม่เข้าใจอะไรเลยจะให้ละทุกข์ คงยังไม่ได้ แต่ในการดำเนินชีวิต บางครั้งเห็นโทษของความโกรธ ก็อยากจะดับ ความโกรธ

สุ. เพราะเราไม่ชอบความโกรธ โกรธแล้วเป็นทุกข์ โกรธแล้วใจไม่สบาย แต่โลภะ อยากดับไหม

ถ. ยังไม่อยาก

สุ. เพราะฉะนั้น ก็ยังมีเหตุของทุกข์ ถ้าเรายังติดสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์

ถ. ฟังอาจารย์ว่า ถ้าอยากจะละโทสะ ไม่มีตัวตนไปละ แต่เมื่อมีตัวตน มาตลอด ก็ไม่เข้าใจ งง

สุ. เพราะฉะนั้น จึงได้บอกว่า ไม่ต้องละอะไร ไม่ต้องทำอะไร ให้เกิดปัญญาค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะว่าปัญญาเขาทำกิจละ ไม่ใช่เราจะทำ

ถ. .... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. แน่นอน ตัวเราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีอะไรที่จะไปละไปคลายอกุศลได้ เมื่อเราไม่เข้าใจ เราก็ไปหาวิธีจากที่ใครๆ เขาบอกให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญา ไม่มีทาง

ถ. อย่างเข้าพรรษาก็ถือศีล พอออกพรรษาก็ออก ไม่ทราบว่าจะถูกหรือผิด มีการเข้าการออกอย่างนี้

สุ. ปัญญามีหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญญา ก็มีแค่ศีล ศีลก็ทำอะไรไม่ได้ รักษาศีลไม่รู้ว่าตั้งกี่ปีแล้ว

ถ. เราจะดับกิเลสออกจากจิตด้วยปัญญา ดับได้สนิทไหม

สุ. ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม จนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมสามารถดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ดับความ เห็นผิดทั้งหมด ดับความสงสัยในลักษณะการเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ หมดความสงสัยในลักษณะของพระนิพพาน เรียกว่าละความเห็นผิด แต่กิเลสอื่น ยังมี เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นแรกเป็นพระโสดาบันเท่านั้น ไม่ใช่พระอรหันต์

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นพระโสดาบัน เพียงดับความเห็นผิด โลภะ โทสะ โมหะยังมี เมื่อเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นต่อไปเป็นพระสกทาคามี ยังไม่ใช่พระอรหันต์เหมือนกัน ความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบจะคลายลง เบาบางลง เมื่อถึงความเป็นพระอนาคามีรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นที่ ๓ จะดับความ ยึดติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีโลภะ ความยินดีในภพชาติ เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์จึงจะดับหมด

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. แต่ต้องผ่านจากพระโสดาบัน จะเป็นพระอรหันต์โดยไม่เป็น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีก่อนไม่ได้ กิเลสมีมาก ต้องค่อยๆ ดับไปตามลำดับขั้น

ถ. ใช้ปัญญานี่ ใช้ยังไม่ได้ ...

สุ. มีปัญญาไหม

เปิด  230
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565