แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1842

ตอบปัญหาธรรมที่วัดเจริญสุขารามวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม

วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๑


สุ. มีคำถามว่า การนั่งสมาธิที่ยังไม่เกิดนิมิตใดๆ ควรจะปฏิบัติอย่างไร นิมิตจึงจะเกิด

สมพร นิมิตเป็นอารมณ์ของสมถะ ถ้าเราจะฝึกสมาธิก็ทำได้ยากเหมือนกัน ต้องอาศัยสถานที่ที่สงบ และมีครูอาจารย์ที่สั่งสอนถูกต้อง ต้องอาศัยสัปปายะ คือ มีความสบาย ต้องตัดปลิโพธ ความกังวลทั้ง ๑๐ อย่าง จึงปฏิบัติสมาธิได้

สมาธิที่ถูกที่เป็นสัมมาสมาธิไม่ได้เกิดได้ง่ายๆ แม้เมื่อเกิดแล้วถึงจะได้ฌาน ก็ยังอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ยังไม่มีปัญญาที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ ที่ถูกควรศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน เอาปัญญาเป็นใหญ่ ในพระพุทธศาสนาวางหลักไว้ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

สมาธิที่ท่านถามอาจจะหมายความถึงสมาธิทั่วๆ ไป ไม่ใช่สมาธิในพระพุทธศาสนา สมาธิมีวิธีทำได้หลายอย่าง เราจะทำสมาธิแบบไหน จะถึงฌานหรือ ไม่ถึงฌาน

ขณะที่สมาธิเกิด คือ ขณะหนึ่งๆ ซึ่งสมาธิก็แบ่งเป็น ๓ ประเภท ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ขณะที่เราฟังการบรรยาย เรารู้เรื่องครั้งหนึ่งๆ ก็เรียกว่า ขณิกสมาธิ สมาธิเกิดหมายความว่า ฟังรู้เรื่อง ถ้าเราไม่มีสมาธิในขณะนี้ มีความฟุ้งซ่าน เราก็ฟังไม่รู้เรื่อง สมาธินี้เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ ถ้าจะให้เป็นกุศลต้องฟังเรื่องธรรม ถ้าฟังเรื่องราวทางโลกซึ่งประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ สมาธินั้นก็เป็นอกุศล

ถ้าท่านนักศึกษาสนใจเพียงสมาธิ นี่กว้างขวาง เป็นทั้งกุศลและอกุศล แต่ถ้าสนใจเรื่องปัญญา เป็นกุศลอย่างเดียวล้วนๆ

สุ. ดิฉันเป็นคนที่ช่างคิด และชอบคิด ก็อยากจะชวนให้ทุกคนคิดด้วย เพราะว่าการคิดคือการพิจารณาไตร่ตรองในเหตุผล แม้แต่คำถามก็น่าคิด เช่น ที่ถามว่า การนั่งสมาธิที่ยังไม่เกิดนิมิตใดๆ

ทำให้คิดถึงคนถามว่า อยากเห็นนิมิต หรืออยากจะทำอะไร

ทุกอย่างต้องมีจุดมุ่งหมาย มีวัตถุประสงค์ เพื่อจะได้รู้สภาพของจิตในขณะนั้น ซึ่งทุกคนในขณะนี้ก็คงจะทราบว่า จิตเป็นใหญ่ ถ้าจิตดี กายก็ดี วาจาก็ดี ถ้าจิตคด ไม่ตรง กายก็คด วาจาก็คด เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่คำพูดหรือการกระทำ ก็เป็นหนทางแสดงออกของจิตใจนั้นเอง แม้แต่การคิดหรือคำถามที่ว่า การนั่งสมาธิ ที่ยังไม่เกิดนิมิตใดๆ ก็ชวนให้คิดว่า คนถามคงจะต้องการเห็นนิมิต มิฉะนั้น คงจะไม่ถามอย่างนี้ ก็อยากถามคนที่อยากจะเห็นนิมิตว่า ทำไมอยากจะเห็นนิมิต คือ ทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล เพราะอะไร

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ยังไม่ได้กำจัดอะไรเลย เพราะยังต้องมาถามอยู่ เรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา จะทำไม่ได้เลยถ้าปราศจากปัญญา ถ้าขณะใดไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะว่าสมาธิในพระไตรปิฎกมี ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ

ถ้าใครยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่า สัมมาสมาธิคืออย่างไร ขณะนั้นต้องเป็น มิจฉาสมาธิ จนกว่าผู้นั้นจะมีความเข้าใจเรื่องสัมมาสมาธิจึงจะรู้ความต่างกันว่า สัมมาสมาธิคืออย่างนี้ มิจฉาสมาธิคืออย่างนั้น แต่ถ้ายังไม่สามารถแยกมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิได้ เพราะยังไม่รู้เรื่องของสัมมาสมาธิ ขณะนั้นก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ และการที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นมิจฉาสมาธิ ขณะใดเป็นสัมมาสมาธิ ก็คือ การอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

ถ้าไม่มีปัญญา ขณะนั้นไม่มีความสงบ แต่เป็นความต้องการ เริ่มจากต้องการที่จะเห็นนิมิตต่างๆ โดยไม่รู้ว่า จิตที่สงบต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร เช่น ขณะเมื่อกี้ ที่ได้ยินเสียงอย่างนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ลักษณะของจิตที่อาจจะตกใจ อาจจะหวั่นไหว อาจจะไม่พอใจ ไม่ชอบเสียงอย่างนั้น ในขณะนั้นต่างกับขณะที่จิตสงบ

ถ้าไม่ศึกษาอารมณ์ของสมถภาวนาซึ่งมี ๔๐ อารมณ์ เพียงการท่องว่า พุทโธ โดยไม่เข้าใจความหมายของพุทโธ จิตในขณะนั้นไม่สงบ และที่จริงแล้วไม่จำเป็น ต้องท่อง ขณะนี้ที่กำลังฟังพระธรรม ถ้าเริ่มเข้าใจขึ้นก็จะรู้ว่า ที่กำลังเข้าใจพระธรรมจากการที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดง ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้และไม่ทรงแสดง ไม่มีใครสามารถนำพระธรรมมาศึกษาและสนทนากันให้เข้าใจขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เข้าใจสภาพธรรมเพิ่ม และรู้ว่าธรรมนี้มาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ไม่กล่าวคำว่า พุทโธ แต่การรู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงตรัสรู้ สัจจธรรม นั่นคือความหมายของพุทโธแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการท่อง ด้วยความอยากจะเห็นนิมิตต่างๆ แต่เป็นการรู้ลักษณะของจิตที่สงบว่า จิตสงบ เพราะอะไร ต้องมีเหตุที่ทำให้จิตสงบ แต่ไม่ใช่โดยการนั่ง

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. รู้ได้อย่างไรว่าสงบ ถ้าสงบจริงๆ และจะสงบขึ้นได้ ขณะนั้นต้อง มีปัญญาเกิดร่วมด้วย พร้อมสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่าจิตในขณะนั้นสงบเพราะอะไร ไม่อย่างนั้นอารมณ์ของสมถภาวนาคงจะไม่มี ๔๐ อารมณ์อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า อารมณ์อะไรเมื่อมนสิการหรือพิจารณาอย่างถูกต้องแล้วจิตจะสงบ

อย่างซากศพ เป็นสมถภาวนา อสุภกัมมัฏฐาน ถ้าให้ทุกคนดูซากศพ บางคนจะตกใจและจะกลัว มีหลายคนที่ไม่กล้ารดน้ำศพ กลัว ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้วเป็นอสุภกัมมัฏฐาน สำหรับใคร สำหรับผู้มีปัญญาสามารถไตร่ตรองระลึกรู้ว่า ในขณะนั้นจิตสงบเพราะระลึกอย่างไรในขณะที่เห็นอสุภ

ไม่ใช่ขึ้นชื่อว่าอสุภ ทุกคนเห็นแล้วจะเป็นกุศล ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องประกอบด้วยสัมปชัญญะของตนเองที่จะรู้ว่า จิตสงบหรือเปล่า หรือจิตขณะนั้นไม่สงบ และถ้าจิตสงบขึ้นๆ จะไม่ถามคนอื่นเลยว่า ระหว่างที่จิตนิ่งอยู่ในสมาธิขั้นไหน

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. แน่นอน ต้องเป็นปัญญา สมถภาวนาต้องเป็นปัญญา

สมพร ปัญหาต่อไป การนั่งสมาธิสำหรับนักเรียน นักศึกษา มีประโยชน์อย่างไร

สมาธิถ้าพูดกว้างๆ ถ้าเราไม่พูดถึงกุศลหรืออกุศล ความตั้งใจมั่นในการศึกษาเล่าเรียน คือ นักเรียนจะเรียนหนังสือทางโลก โดยมากต้องมีโลภะแทรกอยู่เสมอ คือ ต้องการอยากจะได้วิชาการ ความตั้งใจนั้นเป็นสมาธิ เรียกว่าขณิกสมาธิ ไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิซึ่งเป็นกุศล ส่วนมากนักเรียนที่เรียนทางโลก บางทีเรียนทางธรรมก็มี ถ้าไม่เข้าใจ ก็เป็นอกุศลได้ แต่ยังดีที่มีความตั้งใจศึกษา เล่าเรียน เรียนไปๆ เมื่อเข้าใจแล้วก็สามารถระงับอกุศลได้

ครั้งแรกทุกคนก็มีอกุศล คือ มีกิเลส จึงศึกษาเล่าเรียน เรียนครั้งแรกอาจจะอาศัยโลภะก็ได้ เมื่อเรียนไปๆ ก็เห็นโทษ เห็นว่าการคิดอย่างนี้ การศึกษาอย่างนี้ เป็นโลภะ เราก็ละเว้นเสีย แต่โลภะบางอย่างให้โทษน้อย โลภะบางอย่างให้โทษมาก โลภะในการศึกษาเล่าเรียนมีโทษน้อย ไม่มาก แต่ในด้านคุณมีมาก ทำให้เกิดวิชาการ ทำให้เราเฉลียวฉลาดทางโลก และเราก็หันมาศึกษาทางธรรม เราก็พยายามขัดเกลาสิ่งที่เป็นกิเลส ก็จะเป็นประโยชน์ คือ ความตั้งใจเรียนนั้น เรียกว่าสมาธิของนักศึกษา ประโยชน์ คือ การจำได้

สุ. จะต้องแยกสมาธิทางโลกที่ชาวโลกใช้กัน กับสมาธิทางธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ สำหรับจุดประสงค์ที่ต้องการสำหรับนักศึกษาที่ทำสมาธิ หลายคนบอกว่า อยากจะเรียนเก่ง ใช่ไหม จำได้ หรือสอบได้ดี จิตใจไม่วอกแวก ฟังแล้วเข้าใจดี นั่นเป็นเรื่องทางโลก เป็นสมาธิทั่วๆ ไป ซึ่งเมื่อมีความตั้งมั่นใส่ใจ ในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ก็ทำให้เข้าใจดีขึ้น หรือจำได้มากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สมาธิในทางธรรม

ที่เมืองไทยเวลานี้กำลังสนับสนุนส่งเสริมอย่างมากในเรื่องของสมาธิ สำหรับ ผู้ศึกษาพระธรรมจะต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่สัมมาสมาธิซึ่งเป็นสมถภาวนาหรือ วิปัสสนาภาวนาที่เป็นการละคลายกิเลส หรือเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมคือการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เป็นแต่เพียงผลของมิจฉาสมาธิ จะใช้คำอย่างนั้นก็ได้ คือ ขณะใดที่ไม่เป็นไปในการละคลาย หรือไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิ แต่จะได้ประโยชน์อย่างที่ชาวโลกต้องการ คือ อาจจะทำให้ความจำดีหรือเรียนเก่ง ถ้าทำงานก็อาจจะทำได้ดีเท่านั้น ต้องแยกกัน คือ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง อย่าปะปนกัน

สมพร คำถามต่อไป การนั่งสมาธิในศาสนาอื่นมีหรือไม่ หากมี จุดสูงสุดของการนั่งมีลักษณะเหมือนกันหรือต่างกันกับพระพุทธศาสนาอย่างไร

ศาสนาอื่น บางศาสนาเขาก็มีนั่งสมาธิทำฌาน เราจะสังเกตได้ในสมัยพุทธกาลมีผู้บรรลุรูปฌาน อรูปฌานมากมายซึ่งเป็นจุดสูงสุด เริ่มต้นจากขั้นสมาธิ ไปก่อน แต่ศาสนาของเราไม่ได้มุ่งถึงสมาธิหรือฌานแบบนั้นว่าเป็นกุศลสูงสุด ถือว่าเป็นกุศลที่ยังเวียนว่ายตายเกิด เมื่อพระพุทธศาสนายังไม่เกิด ศาสนาอื่นเขาก็ มีการนั่งสมาธิ แต่สมาธิในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสัมมาสมาธิ สมาธินี้สนับสนุนปัญญาให้มีกำลัง สามารถละกิเลสได้

กิเลสที่เกิดกับเราให้โทษร้ายแรงที่สุด คือ โทสะ กิเลสที่เกิดแล้วเราไม่รู้สึกตัว คือ โลภะ เมื่อเกิดแล้วเราก็ยินดีติดใจ ยินดีติดใจอย่างไร เช่น เราเห็นครั้งหนึ่ง แท้จริงเห็นสี คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็บอกว่าเห็นคนที่สวยงาม เห็นภาพที่สวยงาม เห็นสิ่งที่เราชอบใจ โลภะก็เกิด ทำให้จิตใจเรากระวนกระวาย ตอนแรกเกิดความพอใจ อาศัยความพอใจนั้นทำให้แสวงหา ทำให้เราเกิดทุกข์นั่นเอง โลภะเห็นได้ยาก ยิ่งโมหะยิ่งเห็นได้ยากกว่านั้น กิเลสที่เห็นได้ง่าย คือ โทสะ ทุกคนไม่ปรารถนา แต่บางคนก็ยังมีความพอใจในความโกรธ เช่น เราได้ยินครั้งหนึ่ง ถ้าไม่ชอบใจ โทสะก็เกิด โทสะนี่ ความไม่สบายใจแม้เล็กน้อยก็จัดว่าเป็นโทสะ ความขุ่นใจ ความอิจฉาริษยาเหล่านี้เป็นประเภทโทสะทั้งสิ้น โทสะไว เกิดได้ง่าย เมื่อเราฟังสิ่งที่ ไม่ชอบใจ โทสะก็เกิด หรือเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจโทสะก็เกิด เกิดได้ง่าย ก็เพราะว่า สมาธิในภายนอกไม่สามารถกำจัดละกิเลสได้เด็ดขาด ส่วนในพระพุทธศาสนา ถ้าสมาธินี้เป็นอินทรีย์ อยู่ในกลุ่มของอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็เป็นการละกิเลสอย่างต่ำ ไม่ให้ผู้ปฏิบัติไปอบายภูมิ ไปสู่สุคติอย่างเดียว

สุ. สำหรับสมาธิ มีทุกศาสนา และเวลานี้ก็เกือบจะกล่าวได้ว่า ทุกประเทศ ทุกคนสนใจที่จะให้มีความสงบ ในความรู้สึกของเขาคือวุ่นวายน้อยลง เพราะว่า โลกยิ่งวุ่นวายมากเท่าไร คนก็ยิ่งเป็นทุกข์เดือดร้อนมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจว่าถ้าเฉยๆ อยู่คนเดียว ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เป็นที่พอใจ และเข้าใจว่าขณะนั้น คือ สมาธิ

ทุกประเทศมี ทุกศาสนามี แต่ข้อสำคัญที่สุด ผู้ที่มีปัญญาที่เป็นพุทธศาสนิกชน มีพระธรรมเป็นสรณะ มีพระธรรมเป็นที่พึ่งที่จะทำให้เข้าใจถูกว่า สัมมาสมาธิคืออย่างไร และมิจฉาสมาธิคืออย่างไร

ถ้ามีการเข้าใจผิดว่า นั่งสมาธิแล้วจะบรรลุถึงพระนิพพาน ซึ่งชาวพุทธ ส่วนใหญ่ได้ยินคำว่านิพพานมานาน แต่ยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า นิพพานคืออะไร แต่สิ่งใดก็ตามที่ได้ยินได้ฟัง โลภะต้องการสิ่งนั้น โลภะต้องการทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก เพราะฉะนั้น เวลาได้ยินคำว่า นิพพาน ยังไม่ทันได้พิจารณาไตร่ตรอง ให้เข้าใจจริงๆ ว่า นิพพานคืออะไร ก็อยากจะถึงนิพพาน

บางคนเชื่อว่านั่งทำสมาธิแล้วจะถึงนิพพาน เพราะว่าอยากจะถึง เมื่ออยาก จะถึงและไม่มีการศึกษาพระธรรมโดยถูกต้องก็เข้าใจว่า เพียงการนั่ง โดยที่ปัญญา ไม่ได้รู้อะไรเลย ปัญญาไม่ได้เจริญขึ้น แต่หวังว่านั่งไปๆ แล้วปัญญาก็จะเกิด และจะถึงนิพพานได้ ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจผิด

เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า การนั่งสมาธิในศาสนาอื่นมีหรือไม่ คำตอบ คือ มี และที่ถามว่า จุดสูงสุดของการนั่งมีลักษณะเหมือนกันหรือต่างกันกับศาสนาพุทธ

คำตอบ คือ จะเป็นศาสนาพุทธ หรือไม่ใช่ศาสนาพุทธก็ตาม ถ้าเข้าใจผิดก็ผิด แม้แต่คนที่ว่าเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ได้ศึกษาและเข้าใจว่าเพียงนั่งก็จะถึงนิพพาน นั่นก็ผิด เพราะฉะนั้น ต้องมีพระธรรมเป็นสรณะที่จะทำให้เข้าใจถูกขึ้น

สำหรับคำถามที่ว่า เอาชนะใจตัวเองได้ยากจริงๆ เป็นเพราะความอ่อนแอหรือขาดอะไร เมื่อเอาชนะไม่ได้ก็เกิดเบื่อหน่ายท้อแท้ จิตใจไม่เบิกบานผ่องใส มืดๆ ทึบๆ หงุดหงิด งงๆ ใจก็ฟุ้งซ่าน หรือไม่ก็เลื่อนลอย เลยหลับไปไม่รู้ตัว จะให้ปฏิบัติอย่างไร

นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ และหลายคนก็คงจะพบกับปัญหาข้อนี้ที่ว่า เอาชนะใจตัวเองได้ยากจริงๆ

สมพร การชนะใจตัวเองยากจริงๆ ถูกต้อง มีตั้งแต่สมัยพุทธกาลถึง สมัยปัจจุบัน คนที่จะเอาชนะใจตัวเองได้นั้นยากเต็มที บางทีคิดอยู่ตั้งชั่วโมงเรื่องจะ ถวายของ หรือจะให้ของ หรือจะรักษาศีล เป็นต้น กว่าจะทำได้ให้ศีลบริสุทธิ์จริงๆ หรือจะให้ทานจริงๆ ต้องใช้กำลังจิตมาก เพราะฉะนั้น เป็นความจริงที่ว่า ชนะใจตัวเองนี่ยากจริงๆ

เพราะความอ่อนแอ หรือขาดอะไร

ความจริงจิตเราอ่อนแออยู่เสมอ สำหรับผู้ที่ไม่ศึกษาเล่าเรียน เพราะว่า จิตที่เป็นอกุศล มีความฟุ้งซ่านเป็นนิจ คิดถึงเรื่องญาติ เรื่องมิตร เรื่องศัตรู เรื่องความรัก เรื่องความโกรธ เรื่องความอิจฉาริษยา จิตหมุนไปทั่ว ฟุ้งซ่านไปทั่ว การฟุ้งซ่านนี้แหละเรียกว่า จิตอ่อนแอ ไม่มั่นคง เพราะขาดกุศลจิต คือ ขาดการศึกษาเล่าเรียน ขาดการฟัง เพราะว่าการฟังทำได้ปัญญา ขาดกุศลธรรม ขาดหลายอย่าง เมื่อเอาชนะไม่ได้ก็เกิดเบื่อหน่ายท้อแท้ เป็นธรรมดาของคนที่ยังไม่มีทางออก ทุกคนเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายไม่ใช่กุศล เป็นอกุศลประเภทของโทสะ คือ ความไม่สบายใจ

คำว่า เบื่อหน่าย บางท่านอาจเข้าใจว่าเป็นกุศล แต่ไม่ใช่เบื่อหน่ายอย่างนั้น เบื่อหน่ายนี้เป็นประเภทไม่สบายใจ จึงเป็นอกุศล

และพวกเลื่อนลอย หลับไปโดยไม่รู้ตัว นี่ก็เป็นไปตามปัจจัย ธรรมทั้งหลายเกิดจากปัจจัย มีปัจจัยให้เกิดก็เกิดความง่วงเหงาหาวนอน ความง่วงเหงาหาวนอนก็ต้องเกิด การที่เราไม่ชนะใจตัวเราเองได้ มีปัจจัยเหมือนกัน เพราะเราไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ฟัง ไม่ค้นคว้า เมื่อเราศึกษาเล่าเรียน มีการค้นคว้า มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เราก็จะดำเนินการได้ตรงจุดหมายได้ แต่จะให้ชนะใจตัวเอง ชนะไม่ได้ เพราะใจเกิดแล้วก็ดับ ใจคือจิต จิตกับใจก็อันเดียวกัน จิตเกิดขึ้นและดับไป การที่จะชนะใจตัวเองได้ถ้าหมายความว่าจะทำอะไรต้องทำให้ได้ นั่นเป็นอัตตา บังคับบัญชาตัวเราเองได้ แต่ทุกสิ่งมีปัจจัยให้เกิด เมื่อมีปัจจัยให้ชนะก็ชนะได้ เมื่อปัจจัยให้แพ้ก็แพ้ได้ เมื่อมีปัจจัยให้กุศลเกิด กุศลก็เกิด เมื่อมีปัจจัยให้อกุศลเกิด อกุศลก็เกิด ทุกอย่าง ล้วนเกิดแต่ปัจจัยทั้งสิ้น

เปิด  261
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565