แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1846

ตอบปัญหาธรรมที่วัดเจริญสุขารามวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม

วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๑


สุ. ต่อไปเป็นคำถามเรื่องของวิปัสสนา ซึ่งคงจะเหมือนๆ กับที่ได้ กล่าวถึงแล้ว แต่ก็ขอเชิญอาจารย์ตอบอีกเพื่อความชัดเจนพอสมควรกับเวลา

คำถามข้อที่ ๑ ผู้ประสงค์จะเจริญวิปัสสนา ต้องเรียนให้รู้เสียก่อนจึงปฏิบัติได้ ใช่ไหม

สมพร การเรียน คือ การฟังนั่นเอง การฟังเรียกว่าการศึกษา เราจะต้องเข้าใจว่า วิปัสสนานั้นมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ปรมัตถ์หมายถึงรูปเป็นรูป นามเป็นนาม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ซึ่งปรากฏทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ทางตา ปรมัตถ์อะไรปรากฏ สีปรากฏ สี คือ รูปนั่นเอง ปรากฏทางตา นอกจากสีแล้วไม่มีอะไรปรากฏทางตาได้เลย การเห็นสีเป็นนาม นามเป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เมื่อนามไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ก็เป็นอารมณ์วิปัสสนาได้ แต่การที่เราจะระลึกรู้ว่านี่เป็นสี นี่เป็นการรู้สี ต้องหมั่นระลึกบ่อยๆ

ในขณะที่เราเห็น เห็นครั้งหนึ่งก็ระลึกครั้งหนึ่ง จะระลึกอย่างไรก็แล้วแต่ หมั่นศึกษาเล่าเรียน ระลึกอยู่บ่อยๆ พิจารณาดูบ่อยๆ

หรือการได้ยินเสียงก็เหมือนกัน เสียงเป็นรูปเท่านั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ได้ยินเสียงก็เป็นนาม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เราต้องรู้ถึงปรมัตถ์คือสิ่งที่มีจริง เมื่อเราศึกษาเล่าเรียน ศึกษาคือการฟังบ่อยๆ และปฏิบัติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ่อยๆ อารมณ์ปรมัตถ์เกิดขึ้นกับเราทุกครั้งเลย การที่เรารู้อารมณ์อย่างนี้เป็นวิปัสสนาส่วนหนึ่ง ส่วนย่อย

แต่เห็นครั้งใดก็เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุ เห็นเงิน เห็นทอง เห็นสิ่งของ ต่างๆ ไม่เห็นเป็นสีสักทีหนึ่ง เพราะว่าจิตเราเคยจดจำไว้ แล่นเลยไป เห็นครั้งหนึ่งก็เห็นคน แท้จริงแล้วเห็นครั้งแรกที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสีเท่านั้นเอง เป็นปรมัตถ์ จึงไม่มีคน ไม่มีบัญญัติจริงๆ

คำถามข้อที่ ๒ วิธีเรียนวิปัสสนานั้นมีอยู่กี่อย่าง อะไรบ้าง

เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามีอยู่กี่อย่าง ถ้ามีอยู่กี่อย่างนั่นเป็นการจำได้ว่า วิปัสสนาภูมินั้นมี ๖ อย่าง การจำได้อย่างนี้ วิปัสสนาญาณไม่ได้เกิดจากการศึกษา เล่าเรียน

คำถามข้อที่ ๓ คำว่า ภาวนา

คำว่า ภาวนา มีความหมายกว้าง ภาวนาในพระพุทธศาสนาหมายถึงปัญญา ปัญญาขั้นต่ำ คือ สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง ปัญญาขั้นที่ ๒ คือ จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด เมื่อฟังแล้วก็คิด ปัญญาขั้นที่ ๓ คือภาวนามยปัญญา การคิดบ่อยๆ ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว การเจริญของปัญญาก็เกิดขึ้น ชื่อว่าภาวนามยปัญญา

แต่ภาวนาที่ถามนี้ไม่ตรงตามพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นภาวนามยปัญญา เป็นภาวนาที่เราเรียกกันเองว่า ภาวนา เช่น ภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ หรือ มะ อะ อุ หรือ นะโมพุทธายะ ... นี่ไม่ใช่เป็นปัญญาภาวนา แต่เป็นไสยศาสตร์ ชนิดหนึ่ง เนื่องจากพวกพราหมณ์มาเผยแผ่ในพระพุทธศาสนา เราก็เอาคำเหล่านี้ มาท่อง มาปลุกเสก มาเป่า เช่น บริกรรมว่า นะ มะ พะ ทะ ๆ แต่เราไม่รู้เลยว่า คืออะไร เราปฏิบัติสิ่งที่ไม่รู้ ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร สิ่งที่ต้องรู้มีอีกมากมาย ในพระพุทธศาสนา และเป็นกุศลด้วย

ความไม่รู้เป็นโมหะ เป็นอวิชชา เป็นอกุศล ควรละเสีย เจริญสิ่งที่เป็นกุศลดีกว่า เจริญสิ่งที่เรารู้ดีกว่า สิ่งที่เราไม่รู้ตัดไปเสีย ท่านเรียกว่าเป็น สีลัพพตปรามาส คือ ปฏิบัติผิด ถ้าเราคิดว่าการบริกรรม นะ มะ พะ ทะ สามารถทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้ ก็เป็นสีลัพพตปรามาส คือ ปฏิบัติผิด ในพระพุทธศาสนาไม่ใช่ปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้พ้นทุกข์ได้

เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เราไม่รู้ ไม่ควรเจริญ ต้องศึกษาก่อน พระพุทธศาสนาอาศัยปัญญา คือ ความรอบรู้จริงๆ จึงจะปฏิบัติถูกต้อง ไม่ใช่เชื่อตามๆ กันมา เมื่อเราฟังแล้ว เราเชื่อครึ่งหนึ่งก็ได้ และศึกษาว่าถูกต้องตามเหตุผลหรือไม่ ไม่ใช่ ท่านบอกให้ภาวนา เราก็ภาวนา ถ้าสิ่งนั้นเป็นกุศลก็ดีไป แต่ถ้าไม่ใช่กุศลก็ต้องเป็นอกุศล ชื่อว่าเป็นคนโง่ อาจารย์เราเป็นคนโง่ เราก็เป็นคนโง่อีก อย่างนี้ไม่เหมาะสม เราต้องพิจารณาธรรมเป็นใหญ่ มีเหตุผล

คำถามข้อที่ ๔ ผลของสมถะอย่างสูงจะไปถึงไหน

สมถะล้วนๆ อย่างสูงถึงพรหมโลก คือ รูปพรหม อรูปพรหมซึ่งสูงสุด ถึงเราจะมีปัญญาแค่ไหน ก็ไม่มีโอกาสไปได้ เพราะพวกเราไม่ได้ฌาน

แต่สมถะในพระพุทธศาสนาไม่ได้มุ่งอย่างนั้น มุ่งถึงการสงบระงับจากกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้วิปัสสนาญาณเกิด สมถะ เช่น เราได้มูลกัมมัฏฐาน อาจารย์ ให้อารมณ์ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นสมถะ ให้เราพิจารณาเพื่อเห็นว่า ร่างกายทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของปฏิกูล เพื่อกำจัดโลภะ นี่เป็นสมถะ

เมื่อเราพิจารณาร่างกายว่าเป็นของปฏิกูล ก็สามารถคลายจากโลภะได้ จิตว่างเบาจากโลภะ ก็สามารถระลึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ให้ปัญญาเกิดขึ้น แต่จิตเราเอาแค่สมถะเท่านั้นไม่พอ เพราะสมถะเป็นเพียงบัญญัติเท่านั้น แต่ก็เป็นกุศล เจริญได้ก็ดี

คำถามข้อที่ ๕ ผู้เจริญสมถะแล้ว ประสงค์จะต่อวิปัสสนาได้หรือไม่

ถ้าเราเข้าใจวิปัสสนา เจริญสมถะจนกระทั่งได้ฌานแล้ว เจริญวิปัสสนา ระลึกรู้องค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งก็คือนามนั่นเอง แต่สำหรับ คนไม่มีปัญญาก็ยาก เพราะฉะนั้น อย่าใฝ่ให้สูงไป แค่ทางตาที่ปรากฏทุกวันๆ เรายังระลึกไม่ได้ ทางหูได้ยินทุกวันๆ เรายังระลึกไม่ได้ ว่าเป็นรูปเป็นนาม

สุ. ต่อไปเป็นคำถามเรื่องพระวินัย ก็คงต้องเป็นอาจารย์สมพรตอบ

ถามว่า พระภิกษุที่ปาราชิกแล้ว โดยที่เจ้าอาวาสไม่รู้ไม่ทราบ และมาร่วมพิธีสังฆกรรม เช่น บวชพระภิกษุใหม่ ผู้ที่บวชใหม่นั้นจะเป็นพระได้หรือไม่

และเวลาที่ฟังการบรรยายแล้วง่วง มีผู้หวังดีปลุกให้ฟังธรรมต่อ จะเป็นบาปหรือได้บุญ เพราะว่าเจตนาของเราเพื่อให้เขาได้ฟังการบรรยายด้วยความเข้าใจ แต่เขากำลังหลับ

สมพร การที่ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ถ้า สังฆกรรมนั้นมีพระเพียง ๕ รูป เรียกว่าชนบท เมื่อมีภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ๑ รูป ผู้ที่บวชใหม่นั้นไม่เป็นพระ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ต้องมีพระอย่างน้อย ๕ รูป แต่ถ้าเกิน ไม่เป็นไร ถ้ามีภิกษุเกิน ๕ รูป มีภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกอยู่ ๑ รูป โดยที่ไม่มีใครรู้ ผู้บวชใหม่นั้นเป็นพระได้ พระวินัยวางกฎไว้อย่างนี้

และที่ถามว่า มีผู้หวังดีปลุกให้ฟังธรรมต่อ จะเป็นบาปหรือได้บุญนั้น ถ้าเจตนาของผู้ที่ปลุกเป็นกุศล ก็เป็นบุญ ไม่ใช่เป็นบาป แต่ผู้ที่ถูกปลุกแล้ว ตื่นขึ้นมา มีเจตนาตั้งใจฟังก็เป็นบุญ ถ้าตื่นขึ้นมาไม่พอใจ ก็เป็นบาป หมายถึง เป็นกิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองจิตใจ แต่เจตนาของคนอื่นรู้ยาก เราคิดเองก็แล้วกันว่า เจตนาของเราหวังจะให้เขาเกิดปัญญา เราจึงปลุกเขา ก็เป็นกุศล ไม่ใช่แกล้ง แต่ถ้าเราแกล้งเขา ปลุกเขาด้วยเจตนาไม่ดี บาปก็เกิดขึ้น อยู่ที่เจตนาเป็นใหญ่

ถ. จิตสงบเป็นสมถะ นิมิตจึงปรากฏขึ้น ใช่ไหม

สุ. ไม่แน่ เพราะว่ามิจฉาสมาธิก็มีนิมิตได้ ถ้าเจริญสมถภาวนาอย่างถูกต้องแล้วจะทราบว่า ในสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ กี่กัมมัฏฐานที่จะมีนิมิต และนิมิตนั้นต้องเป็นนิมิตที่ตรงลักษณะของกัมมัฏฐานนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นอะไรก็จะเป็นนิมิตของสมถภาวนา

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ที่ทำ จุดประสงค์ต้องการอะไร

ถ. ต้องการปฏิบัติให้รู้แจ้งปริยัติ

สุ. ต้องการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ไหม หรือว่าต้องการจะเห็นนามธรรมรูปธรรมเกิดดับ

ภาวนาไม่ได้หมายความว่าไปท่องบ่น หรือไปจงใจอยากที่จะเห็นนามธรรมรูปธรรมเกิดดับ แต่ภาวนา คือ การอบรมเจริญความรู้ในลักษณะของสภาพธรรม เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

การประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงอุทยัพพยญาณ ปัญญาจะต้องเจริญจากการที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งต้องอาศัยการฟังและการเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมอย่างละเอียดจริงๆ เช่น ขณะนี้กำลังพูดเรื่องเห็นและเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง โดยการกล่าวว่า เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งขณะใดที่ธาตุชนิดนี้เกิด จะต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตา คือ เห็น ทางหู คือ ได้ยิน นี่คือลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่น้อมไปรู้สิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นอารมณ์ นี่คือการพูดเรื่องนามธรรมในขณะที่เห็น กำลังเห็น

ถ้าเป็นผู้ที่ภาวนา คือ อบรมเจริญปัญญามาแล้วมาก จะรู้ถึงความต่างกันของ ขณะที่กำลังฟังเรื่องเห็นทั้งๆ ที่กำลังเห็น กำลังฟังเรื่องเห็นให้เข้าใจ กับมีเห็นจริงๆ ที่สติจะระลึกศึกษารู้ในสภาพที่กำลังเห็น ๒ อย่างนี่ต่างกัน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังพระธรรมและสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ คือ ทันทีที่ฟัง ปัญญารู้ความต่างกันของขณะที่สติกำลังเข้าใจเรื่อง กับขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่ต่างกันแล้ว ใช่ไหม

การอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่จงใจ ตั้งใจว่า ทำอย่างไร สอนให้ที หรือว่ากำหนดอย่างไร จึงจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่เมื่อปัญญาเกิด ความค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะเพิ่มขึ้น และในขณะที่ความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมค่อยๆ เพิ่มขึ้น จะละคลายความไม่รู้

เห็นนี่ ก็เห็นอยู่ตลอดเวลาทุกวัน แต่เวลาที่สติระลึก รู้หรือไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เป็นสภาพรู้หรือเป็นธาตุรู้เป็นนามธรรมอย่างไร ซึ่งก็คือ ขณะเดี๋ยวนี้เอง ไม่ใช่ว่าต้องไปทำ

เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นตามปกติ ปัญญายังไม่สามารถรู้ลักษณะ ที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งขณะเห็นเป็นสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ ถ้ายังไม่สามารถรู้อย่างนี้จริงๆ โดยการที่สติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ และเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน จะไม่มีทางประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม โดยวิธีไปทำอย่างอื่นเลย เช่น ไปนั่งจ้อง นั่งกำหนด นั่งทำอะไรต่างๆ อย่างนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญภาวนา

ภาวนา คือ เจริญ หรือกระทำบ่อยๆ เนืองๆ เป็นเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติแล้วจะมีมรรคเพียง ๕ องค์ที่เกิด ได้แก่ สัมมาสติ เป็นต้น ไม่ใช่เรา

สัมมาสติเป็นสภาพที่ไม่ใช่เรา แต่เป็นขณะใดที่ระลึก เพราะว่าสติเป็นสภาพที่ ระลึก ฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรมจริง แต่สติระลึกที่ลักษณะที่กำลังเห็น นั่นคือ สติปัฏฐาน ซึ่งจะทำให้ละคลายความไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ นี่คือการเจริญอบรม ไม่ใช่เป็นการไปทำด้วยความเป็นตัวตน

ถ. … เป็นรูปหรือเป็นนาม

สุ. นิมิตที่เห็นนั้น นิมิตอะไร

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ถ้าบางท่านเห็น ก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าขณะนี้ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นอะไร

ปัญญาต้องเกิดในขณะที่สิ่งใดกำลังปรากฏ และค่อยๆ รู้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าแสงสว่างจะปรากฏ ถ้าในขณะที่อบรมเจริญปัญญาแล้วก็ต้องรู้ว่า นามธรรมมีลักษณะอย่างไร รูปธรรมมีลักษณะอย่างไร และละความไม่รู้ แต่นี่ยังคงมีความไม่รู้ แม้ว่าแสงสว่างจะสว่างจ้าขึ้นมาก็ไม่รู้ว่านั่นคืออะไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่จะต้องทิ้งไป ไม่ต้องสนใจ และให้เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานว่า คือสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญวิปัสสนา เป็นเรื่องของ การเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องอื่น ต้องเป็นปัญญาของตัวเองจากขั้นของการฟัง ให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องข้ามไปถึงว่าจะวิปัสสนาอย่างไร เพียงแต่ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏพระธรรมทรงแสดงไว้อย่างไร ก็ให้เข้าใจขึ้นตามลำดับ

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565