แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1847

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๑


ถ. วิจิกิจฉาที่ถูกข่มไว้ด้วยสมาบัติเป็นวิขัมภนปหาน กับที่ข่มไว้ด้วยวิปัสสนาญาณเป็นตทังคปหานนั้น ลักษณะของวิจิกิจฉามีความหมายต่างกันอย่างไร

สุ. วิจิกิจฉา ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่รู้สิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ตามความเป็นจริง ไม่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ มีความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เช่น มีความสงสัยว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้การเกิดดับของสภาพธรรม ในขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น พระองค์สามารถประจักษ์แจ้งได้จริงหรือ ขณะไหนที่เกิดความสงสัยอย่างนี้ ขณะนั้นก็สงสัยในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

สงสัยในพระธรรม คือ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็ไม่สิ้นสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นต้น หรือสงสัยในพระสงฆ์ว่า จะมีผู้ที่เป็นพระสาวก ซึ่งสามารถรู้เช่นเดียวกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนกระทั่งดับกิเลสได้นั้น เป็นไปได้จริงหรือ

นี่คือความสงสัย ซึ่งไม่พ้นจากความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะไม่มีอกุศลเจตสิกประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับกุศลจิตในขณะนั้นเลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่ให้ทาน จะไม่มีความสงสัย ไม่มีความคิดสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม หรือขณะที่วิรัติทุจริตก็ดี ขณะที่จิตสงบเป็นการเจริญสมถภาวนาก็ดี ในขณะนั้น เมื่อกุศลเกิดขึ้นบ่อยๆ จนกระทั่งลักษณะของความสงบปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ ขณะนั้นก็จะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดกับจิตเลย เพราะว่าขณะนั้นกำลังเป็นกุศล และขณะที่สมาธิขั้นฌานซึ่งเป็นอัปปนาสมาธิเกิด ขณะนั้นเป็นวิขัมภณปหาน แต่ไม่ใช่สมุจเฉทปหาน

สำหรับการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขณะใด ขณะนั้น โสตาปัตติมรรคจิตดับวิจิกิจฉาเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

ถ. สมัยที่ว่างจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่เคยได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้ามาแล้ว จะมีโอกาสที่สัมมาสติจะเกิดขึ้นพิจารณานามธรรมรูปธรรม ได้บ้างไหม ยกเว้นพระปัจเจกพุทธเจ้า

สุ. ธรรมที่ถูกต้อง ทุกท่านจะพิจารณารู้ได้ด้วยตัวของท่านเองจริงๆ นี่เป็นคำถามในครั้งที่ว่างจากพระศาสนา แต่ชีวิตประจำวันของทุกคนจะทำให้ ท่านเข้าใจได้ว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม แม้ยังไม่ว่าง ยังมีคำสอนอยู่ แต่สำหรับ แต่ละบุคคล พิจารณาดูว่า ก่อนที่ตัวท่านเองจะได้ฟังพระธรรม มีสัมมาสติที่ระลึก รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมหรือเปล่า แต่หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว คนที่เข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ก็มีปัจจัยทำให้สัมมาสติระลึกตามที่ได้ยิน ได้ฟังว่าขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ นี่คือผู้ที่ได้สะสม การฟังมา และไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ที่เพิ่งได้ฟัง แต่จากการที่ได้เคยสะสมการใส่ใจใน การฟังพระธรรมในอดีต ซึ่งทุกท่านไม่สามารถย้อนกลับไปได้ว่า ในแสนโกฏิกัปป์ ท่านได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วกี่พระองค์ และขณะที่เป็นชาติต่างๆ ที่พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีศรัทธาเข้าไปนั่งใกล้ฟังพระธรรมมากน้อยแค่ไหน หรือมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่มีใครสามารถระลึกได้ แต่ชีวิตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ หรือคำพูด หรือการคิด สามารถส่องไปถึงการสะสมของจิตในแสนโกฏิกัปป์ได้

ทุกคนที่มาฟังพระธรรม เรื่องของสภาพธรรม ปรมัตถธรรม เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภะ โทสะ โมหะ ในขณะที่กำลังฟัง เข้าใจ วันอาทิตย์มาฟังเข้าใจ กลับไปถึงบ้านอาจจะลืมไปตั้งหลายวัน ไม่ได้ระลึกเรื่องของจักขุวิญญาณ ที่กำลังเห็น หรือโสตวิญญาณที่กำลังได้ยิน แม้ว่าจะเคยฟังแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ก็ ยังลืมเป็นวันๆ นี่ในชาตินี้

เพราะฉะนั้น ถ้าขยายช่วงเวลาของชาตินี้จากวันหนึ่งให้เป็นชาติหนึ่ง วันหนึ่งขยายออกไปให้เป็นชาติหนึ่ง หลายๆ วัน ก็เป็นหลายๆ ชาติ แม้ว่าจะเคย ได้ยินได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมว่า สะสมความรู้ความเข้าใจในระดับใด เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งที่ไม่ระลึกถึง ก็เป็นหลายๆ ชาติที่ ไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย และในระหว่างหลายๆ ชาติที่ไม่มีโอกาสได้ยิน ได้ฟังพระธรรม สัมมาสติจะเกิดขึ้นได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. ไม่ได้ แต่โยนิโสมนสิการ จากการที่เคยได้ยินได้ฟัง เป็นเรื่องที่ ละเอียดมากที่จะทำให้คนนั้นไม่ว่าจะเกิดในชาติใดเป็นบุคคลใด ก็จะมีโยนิโสมนสิการในการที่จะพิจารณาธรรมให้ตรงในเรื่องของเหตุผล และในเรื่องของธรรม

ชาดก คือ พระชาติต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของพระองค์เอง และของสาวก ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า ในชาติที่สัมมาสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่โยนิโสมนสิการก็ปรุงแต่งความคิดความเข้าใจในคลองของธรรม ที่จะให้เป็นบารมี ทำให้เมื่อสติปัฏฐานซึ่งเป็นสัมมาสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไร ปัญญาก็สามารถเกิดขึ้นพิจารณาน้อมไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ เพราะเหตุว่ามีการสะสมโยนิโสมนสิการ

ถ. สัมมาสติที่อาจารย์พูดว่ามีหลายขั้นนั้น ขณะที่สัมมาสติเกิดขึ้นระลึก ในรูปธรรมทางตา เช่น ขณะนี้สติระลึกรู้รูปธรรมทางตา และโยนิโสมนสิการว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ขณะนั้นถือว่ายังมีสัตว์ มีบุคคล ยังเป็นตัวตนที่ระลึกไหม เป็นตัวเราที่ระลึกสิ่งที่ปรากฏทางตาไหม

สุ. ยังไม่ได้ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ใช่ไหม

ถ. ยังไม่ได้ญาณเลย

สุ. ยังไม่ได้ดับ แต่ในขณะนั้นมีความเห็นว่าเป็นตัวตน หรือกำลังพิจารณาศึกษาเพื่อที่จะรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นขณะที่ต่างกัน

ถ. ก็คือระลึกรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นก็มีทั้งสัมมาสติ มีทั้ง โยนิโสมนสิการ มรรคมีองค์ ๕ ขณะนั้นครบ แต่ก็ยังเป็นว่า เราระลึก

สุ. เพราะว่ายังไม่ได้ดับการยึดถือว่าเป็นเรา แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา

ต้องแยกขณะจิตโดยละเอียด เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า กุศลจิตต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยขณะที่เป็นกุศลจิต แต่เมื่อกุศลจิตดับไปแล้ว อกุศลจิตเกิดได้ แล้วแต่ว่าอกุศลจิตที่เกิดขณะนั้นจะมีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เกิดร่วมด้วยหรือว่า ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย

ทันทีที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจทางตา เช่น เห็นดอกไม้สวยๆ ซึ่งทุกคนในโลกนี้คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่า เห็นดอกไม้สวยๆ แล้วจะไม่ชอบ ยากที่จะเป็นไปได้ ใช่ไหม ในขณะที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่น่าดูทางตา ความรู้สึกชอบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันที ยังไม่ทันจะต้องนึกหรือมีความเห็นผิดว่า เป็นตัวตน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งของที่เที่ยง แต่ความชอบก็เกิดขึ้นแล้วทันที รวดเร็วมาก ทันทีที่กระทบรสที่อร่อย ที่ถูกปาก โลภชวนะก็เกิด เร็วจนกระทั่งไม่ต้องไปคิดอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นยังไม่มี การที่จะมีความเห็นว่า ต้องเป็นสิ่งที่เที่ยง ที่ยั่งยืน หรือไม่เกิดดับ แม้เป็นโลภมูลจิต แต่ก็มีต่างกัน เป็นประเภทที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ กับไม่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ

การศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียด จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ยังมีปัจจัยทำให้โลภมูลจิตเป็นไปกับความเห็นผิด แต่ไม่ใช่ทุกวัน ที่เป็นไปกับความเห็นผิด ขณะใดที่เกิดความเห็นผิดขึ้น ในขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

ถ. ในขณะที่สติระลึกรู้ เรียกว่าเรากำลังสั่งสมสัมมาทิฏฐิเพื่อไปสู่ความ ไม่มีตัวตน

สุ. ถูกต้อง

. แต่ในขณะเดียวกัน โลภมูลจิตก็แทรกขึ้นมาเมื่อไรก็ได้

สุ. ไม่มีใครสามารถรู้จิตของใครได้

ถ. เข้าใจแล้ว

สุ. ถ้าคิดถึงความรวดเร็วของอกุศล ทางตาที่เห็นแล้วชอบ ทางหูที่ได้ยินแล้วชอบ ทางจมูกได้กลิ่นที่น่าพอใจแล้วชอบ ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน จะเห็นความรวดเร็วว่า ยังไม่ต้องคิดความเห็นอะไรทั้งนั้น สภาพธรรมเหล่านี้ก็เกิด และสำหรับความเห็นผิดที่เกิดขึ้น จะต้องเกิดร่วมกับโลภมูลจิต เพราะว่าเป็นสภาพ ที่ติดข้องพอใจในความเห็นนั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็นผิด ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตเกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก แต่ไม่ใช่ว่าทุกวันจะมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

สำหรับเรื่องของชีวิตในชาติที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ก็คงจะหมดความสงสัย ถ้าขยายชีวิตประจำวันของทุกท่านที่หลงลืมสติก็จะรู้ว่า บางท่านเป็นเดือนก็ไม่มีสัมมาสติที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เดือนนั้น ถ้าจะให้เข้าใจ ก็สมมติว่า วันหนึ่งเป็น ๑ ชาติ และถ้าจะให้ละเอียดกว่านั้นอีก ให้ชั่วโมงหนึ่งเป็น ๑ ชาติ และถ้าจะให้ละเอียดกว่านั้น ก็เป็นนาทีละ ๑ ชาติ หรือละเอียดยิ่งกว่านั้น ก็เป็นวินาทีละ ๑ ชาติ ถ้าเทียบกับแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา ชีวิตในวันนี้ก็ต้องมีการสะสมเป็นปกติในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล แต่โยนิโสมนสิการ คือการสะสม การอบรมจากการฟังธรรม และเข้าใจขึ้นๆ จนกระทั่งแม้ในขณะที่สัมมาสติซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ไม่เกิด แต่ก็ยังมีกุศลจิตประเภทอื่น เช่น เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิตเกิดได้

ขณะที่กำลังฟังก็ต้องโยนิโสมนสิการ แต่ไม่ใช่จะทำโยนิโสมนสิการ

ขณะที่ฟังธรรมส่วนละเอียดแล้วเข้าใจความละเอียดของพระธรรม และ ไม่ใจร้อน จะสามารถรู้จริงๆ ว่า กิเลสทั้งหลายเป็นสิ่งที่ละยากและยังมีกำลังอยู่ ตราบใดที่ปัญญายังไม่เจริญขึ้น โยนิโสมนสิการก็จะเพียรฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น เพื่อให้ปัญญามีกำลังขึ้น

ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศลธรรม ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นศัตรู เพราะฉะนั้น ปัญญาเปรียบเสมือนมิตรที่แท้จริง เพราะว่าไม่เคยทำร้ายจิตแต่ประการใดเลย ขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นความเข้าใจถูกในธรรมะ

ปัญญาเป็นโสภณธรรม เป็นเจตสิกที่ดีงาม ๑ ใน ๒๕ โสภณเจตสิก

เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เป็นอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ประเภท ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วเช่นกัน ที่เหลืออีก ๒๕ ประเภท เป็นโสภณเจตสิก

ในบรรดาโสภณเจตสิกทั้งหมด ๒๕ ประเภท กล่าวถึงศรัทธาเป็นโสภณเจตสิกประเภทแรก และปัญญาเป็นโสภณเจตสิกประเภทสุดท้าย นี่ก็ตามเหตุผล เพราะว่าปัญญาไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก คือ ไม่ใช่ว่าขณะใดที่กุศลจิตประเภทใดเกิด ขณะนั้นจะต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น

ขณะใดที่โสภณจิต เช่น กุศลจิตเกิด จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ประเภทเกิดร่วมด้วยจริง แต่จะไม่มีโสภณเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยก็ได้

ในบรรดาโสภณเจตสิก ๒๕ ดวง ศรัทธาเป็นโสภณเจตสิกที่กล่าวถึงอันดับแรก และปัญญาเจตสิกเป็นโสภณเจตสิกที่กล่าวถึงอันดับสุดท้าย แสดงให้เห็นถึงความยากของปัญญาที่จะเกิด มิฉะนั้นจะต้องกล่าวถึงปัญญาเจตสิกเป็นอันดับแรก แต่กว่าที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ จะเห็นได้จริงๆ ว่า ต้องอาศัยโสภณสาธารณเจตสิกอันดับแรก คือ สัทธาเจตสิก

สำหรับโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ประเภท คือ

๑. สัทธาเจตสิก

๒. สติเจตสิก

๓. หิริเจตสิก

๔. โอตตัปปเจตสิก

๕. อโลภเจตสิก

๖. อโทสเจตสิก

๗. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

๘. กายปัสสัทธิเจตสิก

๙. จิตตปัสสัทธิเจตสิก

๑๐. กายลหุตาเจตสิก

๑๑. จิตตลหุตาเจตสิก

๑๒. กายมุทุตาเจตสิก

๑๓. จิตตมุทุตาเจตสิก

๑๔. กายกัมมัญญตาเจตสิก

๑๕. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก

๑๖. กายปาคุญญตาเจตสิก

๑๗. จิตตปาคุญญตาเจตสิก

๑๘. กายุชุกตาเจตสิก

๑๙. จิตตุชุกตาเจตสิก

จะรู้หรือไม่รู้ ขณะนี้โสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ก็กำลังเกิดกับกุศลจิต ในขณะที่ฟังพระธรรมและเข้าใจ

ที่ได้กล่าวถึงแล้วก็มีสัทธาเจตสิก สติเจตสิก หิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือ โสภณสาธารณะ ๖ คู่ คือ กายปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิเจตสิก กายลหุตาเจตสิกจิตตลหุตาเจตสิก กายมุทุตาเจตสิก จิตตมุทุตาเจตสิก กายกัมมัญญตาเจตสิก จิตตกัมมัญญตาเจตสิก กายปาคุญญตาเจตสิก จิตตปาคุญญตาเจตสิก กายุชุกตาเจตสิก จิตตุชุกตาเจตสิก

ฟังชื่ออาจจะรู้สึกว่ายาก แต่เวลาที่เข้าใจความหมายแล้ว ก็คงจะเหมือนกับ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งขณะนี้ทุกคนก็จำได้ พูดได้คล่อง เพราะว่าได้ฟังบ่อยๆ

สำหรับโสภณเจตสิกอีก ๖ ประเภท ซึ่งไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก ได้แก่ วิรตีเจตสิกซึ่งทำกิจวิรัติอกุศล ๓ ประเภท เรียกว่า วิรตีเจตสิก ๓ คือ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก และสัมมาอาชีวเจตสิก

นอกจากนั้น ก็มีกรุณาเจตสิกและมุทิตาเจตสิก เรียกว่า อัปปมัญญาเจตสิก ๒

โสภณเจตสิกสุดท้าย คือ ปัญญินทรีย์เจตสิก

ทุกท่านคงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา แต่เพราะปัญญายากที่จะเกิด ยากที่จะเจริญ ยากที่จะคมกล้าขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ

ขุททกนิกาย สุตตนิบาต กสิภารทวาชสูตรที่ ๔ ข้อ ๒๙๘ พระผู้มีพระภาคตรัสกับกสิภารทวาชพราหมณ์ว่า

ศรัทธาเป็นพืช

เพียงเท่านี้ ท่านผู้ฟังก็จะต้องมีความละเอียดที่จะพิจารณาไตร่ตรอง กับชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่า ศรัทธา เป็นโสภณสาธารณเจตสิก ต้องเกิดกับกุศลจิต หรือโสภณจิตเท่านั้นและก็จบ ซึ่งจะ ไม่ทำให้มองเห็นชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง แต่ถ้าได้พิจารณาแม้พระธรรมสั้นๆ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับกสิภารทวาชพราหมณ์ว่า ศรัทธาเป็นพืช ท่านผู้ฟังทุกคน ก็จะพิจารณาเห็นได้จริงๆ ว่า ศรัทธาของแต่ละท่านเป็นพืชอย่างไร

ถ้าไม่มีศรัทธาเลย ธรรมทั้งหลาย กุศลทั้งหลาย ที่จะเจริญขึ้นจนกระทั่งเป็นปัญญาที่ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งเข้าใจขึ้นๆ ก็เป็นไปไม่ได้

สำหรับชาวนาที่จะกระทำกิจการงาน ถ้าไม่มีพืชเลย ชาวนาจะทำอะไรได้ไหม ไม่มีพืชสักอย่าง ก็ไม่มีกิจการงานของชาวนาเลย แต่ที่มีกิจการงานของชาวนาได้ ก็เพราะมีพืช เพราะฉะนั้น ย่อมแล้วแต่ว่า ชาวนานั้นจะมีพืชมาก หรือจะมีพืชน้อย ถ้ามีพืชมากก็ต้องแสวงหาเครื่องมือการทำนา การไถ การหว่านมาก จึงจะเพียงพอกับพืชที่มีมาก

เปิด  261
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565