แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1853

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๑


ถ. ถ้าความเขียว ความเหลือง ความแดงไม่มี หรือมี แต่ความจริงคงจะมีวัณณรูปที่มีความแตกต่างของเขา แสดงว่าวัณณรูปมีหลายลักษณะ ใช่ไหม

สุ. วัณณรูป คือ รูปที่ปรากฏได้เมื่อกระทบกับจักขุปสาท ไม่ได้กล่าวว่า สีอะไร สีอะไรไม่สำคัญ จะเป็นสีเขียว สีแดง ถ้าไฟสว่างมากก็เป็นสีหนึ่ง ถ้าไฟ อ่อนลงก็เป็นอีกสีหนึ่ง แต่ตัววัณณรูปซึ่งรวมอยู่กับมหาภูตรูปมีจริงๆ จึงกระทบและปรากฏ เป็นสีอะไรก็ได้

ถ. ไม่ได้หมายความถึงแดง เขียว ที่เป็นบัญญัติ แต่หมายถึงว่า คงจะ มีลักษณะของวัณณรูปที่แตกต่างกันออกไปของเขาเอง

สุ. แน่นอน ถูกต้อง

ถ. ถ้าอย่างนั้น เราจะพิจารณาเห็นวัณณรูปของปสาทรูปคงไม่ได้ ใช่ไหม ต้องรู้ทางใจ ก็แปลก ทั้งๆ ที่วัณณรูปต้องเห็นด้วยตา แต่ปสาทรูป กลับให้รู้ด้วยใจ

สุ. เพราะว่าปสาทรูปไม่ใช่วัณณรูป วัณณรูปเป็นรูปๆ หนึ่งซึ่งปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทรูป ขณะที่เห็นวัณณรูป ขณะนั้นไม่ใช่เห็นปสาทรูป เห็นธาตุดินได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. เห็นปสาทรูปได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. ใช่ เห็นธาตุน้ำไม่ได้ เห็นธาตุไฟไม่ได้ เห็นธาตุลมไม่ได้ เห็นกลิ่นไม่ได้

เห็นรสไม่ได้ เห็นได้แต่เฉพาะวัณณรูป คือ รูปที่ปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น เป็นของแน่นอน เมื่อธาตุดินก็ยังเห็นไม่ได้ จักขุปสาทรูป ก็เห็นไม่ได้ เพราะว่าเมื่อใดที่เห็น เมื่อนั้นเป็นวัณณรูป ไม่ใช่ปสาทรูป แม้ว่ามี ปสาทรูปรวมอยู่ในที่นั้น แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา เฉพาะวัณณรูปเท่านั้นที่กระทบกับ จักขุปสาท

ถ. ถ้าเราจะเห็นจักขุปสาทรูปเกิดดับ เราจะเจริญอย่างไร

สุ. รูปที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ต้องรู้ ไม่ใช่ไปรู้รูปที่ไม่ปรากฏ ไม่มีทาง ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น ไม่รู้ จะไปรู้จักขุปสาทรูปว่าเกิดดับ เป็นไปไม่ได้

สิ่งใดกำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ วัณณรูป รูปารมณ์กำลังปรากฏ ต้องรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของรูปที่กำลังปรากฏ และละคลายการยึดถือรูปที่ปรากฏทางตา โดยรู้ชัดจริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คน ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่สิ่งใดเลย ถ่ายถอนการที่เคยยึดถือติดแน่นว่าสิ่งที่เห็นเป็นคนโดยรู้ว่า เห็นเพียงรูปารมณ์ เห็นเพียงวัณณะ เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น

ถ. ผมเรียนถามว่า เราจะเห็นขันธ์ ๕ คือ จักขุปสาทรูปนั้น ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างไร

สุ. ต้องเข้าใจว่า วัณณรูปก็เป็นรูปขันธ์ แข็งก็เป็นรูปขันธ์ กลิ่นก็เป็น รูปขันธ์ รสก็เป็นรูปขันธ์ เสียงก็เป็นรูปขันธ์ และ ๗ รูปขันธ์นี้เป็นรูปขันธ์ที่ปรากฏ ให้รู้ได้ คือ ทางตามีรูปขันธ์หนึ่งที่กำลังปรากฏแล้ว ทางหูในขณะที่ได้ยินก็มี รูปขันธ์หนึ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าไม่รู้การเกิดดับของรูปขันธ์ แต่จะรู้การเกิดดับของรูปขันธ์ที่ปรากฏ ไม่ใช่ไปพยายามรู้ความเกิดดับของรูปขันธ์ที่ไม่ปรากฏ

ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีรูป ๗ รูป ที่ปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ ๗ รูป ที่ปรากฏ

ถ. ถ้าเราไม่รู้จักขุปสาทรูปจริงๆ จะทราบอย่างไรว่าไม่เที่ยง

สุ. นอกจากจักขุปสาทรูป ก็ยังมีรูปอื่นอีกมิใช่หรือ ซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็รู้รูปที่ปรากฏก่อน รูปใดปรากฏ ก็รู้รูปนั้น

ถ. หมายความว่า ถ้าตาเห็นรูปปรากฏก็ใช้ได้ ตาเห็นจักขุปสาทรูปไม่ได้ แต่ตาเห็นรูปทั่วๆ ไปได้

สุ. จักขุปสาทรูปขณะนี้ปรากฏหรือเปล่า หรือวัณณรูปปรากฏ

ถ. วัณณรูปปรากฏ

สุ. วัณณรูปปรากฏ รูปารมณ์ปรากฏ ก็รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

ถ. ตาเห็นรูปได้

สุ. ตาเป็นจักขุปสาทรูป ไม่ใช่สภาพรู้ แต่เป็นรูปที่กระทบกับวัณณรูป ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น

ถ. คำที่กล่าวว่า ตาเห็นรูป ใช้ได้หรือไม่ได้

สุ. ถ้าพูดอย่างเข้าใจกันแล้ว จะใช้คำอะไรก็เข้าใจได้ แต่ถ้าจะให้ถูกต้องคือ รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นนี้ ไม่ใช่รูป แต่เป็นสภาพรู้ เป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง คือ จักขุวิญญาณธาตุซึ่งเป็นสภาพที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างเดียว ต้องรู้ว่าในขณะที่เห็นนี้ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ และที่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ นั่นคือปัญญา

ถ. ปัญญาเห็น ไม่ใช่ตาเห็น

ผู้ฟัง ตอนที่ผมเพิ่งฟังธรรมใหม่ๆ ได้ยินคำว่า เกิดดับ ผมคิดว่า การเกิดดับมองเห็นด้วยตา ต่อมาได้ยินอาจารย์ที่อื่นบอกว่า ที่เห็นสีเกิดดับนั้น ไม่ใช่เห็นด้วยตา ต้องเห็นด้วยใจ เห็นทางมโนทวาร และได้ยินเสียงเกิดดับ ไม่ใช่เสียงเงียบแล้ว คือเสียงดับ เสียงเกิดดับไม่ใช่ได้ยินด้วยหู ต้องได้ยินด้วยใจ สีเกิดดับต้องเห็นทาง มโนทวาร เห็นทางใจ

ผมก็คิดว่า เห็นทางใจ คือ เห็นด้วยการคิดนึกหรือเปล่า ผมคิดว่า มีหลายคนที่เพิ่งมาฟังธรรม เมื่อได้ยินว่าสีเกิดดับ คงจะต้องเห็นด้วยตา เห็นตึก มองแล้วต้องเห็นตึกหายไป และเป็นตึกขึ้นมาอีก เกิดดับๆ อย่างนี้ ผมคิดว่า คนที่ฟังใหม่ๆ คงเข้าใจว่า เกิดดับคงจะเห็นด้วยตาอย่างนี้

เกี่ยวกับเรื่องสี เมื่อก่อนผมแยกรูปแยกนาม แยกสีกับนามเห็น แยกอย่างไร ก็แยกไม่ออก ผมคิดเป็นปี คิดแล้วคิดอีก ต่อมาก็คิดว่าแยกออก แต่ก็ยังสงสัยว่า แยกถูกหรือเปล่า

สมมติว่า เราเอาดอกไม้สีแดงดอกหนึ่งวางไว้หน้ากระจกเงา ตาเรามองเห็นว่า มีดอกไม้ ๒ ดอก ดอกไม้ที่เห็น ๒ ดอกนี้เป็นนามธรรม นามธรรมเห็น ๒ ดอก แต่รูปธรรม เป็นดอกไม้ดอกเดียว นามธรรมเห็นเป็น ๒ ดอก นี่รูปกับนาม ผมแยกอย่างนี้

หรือเราดูหนังสือ ถ้าเป็นคนสายตาสั้น หรือสายตายาว และไม่ใส่แว่น ก็เห็นมัวๆ เห็นมัวๆ นี่เป็นนาม แต่ตัวหนังสือจริงๆ จะมัวหรือชัดอย่างไรนั่นเป็นรูป ตอนไม่ใส่แว่น เห็นมัวๆ ดูไม่ชัด ดูไม่ออกว่าเป็นตัวหนังสืออะไร แต่ใส่แว่นแล้ว ปัจจัยมันเปลี่ยนแปลง เห็นชัดขึ้น เห็นชัดก็เป็นนาม เห็นมัวนั่นก็เป็นนาม แต่ตัวหนังสือจริงๆ ที่อยู่บนกระดาษนั้นเป็นรูป

และถ้าไปมองทะเล เห็นทะเลนั้นกว้างเป็นสีน้ำเงิน ตักน้ำทะเลขึ้นมาดู น้ำทะเลก็ใส ไม่มีสี เหมือนกับน้ำประปา จึงรู้ได้ว่า ที่เราเห็น ไม่ใช่มีสีอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยอื่นๆ มาผสมด้วยจึงทำให้นามเห็นเกิดขึ้นได้ มีแต่สีอย่างเดียว ก็ไม่เห็น ซึ่งทางปริยัติก็ว่าต้องมีแสง ปสาทตาต้องดี เป็นต้น

น้ำทะเลอย่างเดียวกัน ตอนเที่ยงเห็นอย่างหนึ่ง พอใกล้ค่ำก็อย่างหนึ่ง น้ำทะเลภายใต้แสงดวงจันทร์สีอย่างหนึ่ง เวลาพายุจะมา เมฆฝนดำ น้ำทะเลก็สีดำ เพราะว่าปัจจัยต่างกัน นามเห็นก็ต่างกัน น้ำทะเลเป็นรูป เห็นนี่เป็นนาม นามก็เปลี่ยนแปลงได้แล้วแต่ปัจจัย ผมคิดว่าอย่างนี้

สุ. ก็เป็นความคิดของท่านผู้ฟังที่ช่างคิด และพยายามที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ว่าจะคิดอย่างไรถึงน้ำทะเลตอนเช้า ตอนค่ำ หรือ กลางแสงจันทร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับ จักขุปสาทเท่านั้นที่จะต้องรู้จริงๆ และละทิ้งความคิดอื่นๆ ว่า เป็นตอนกลางคืน ยามค่ำ หรือตอนเช้า หรือตอนเย็นพระอาทิตย์ตก หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเลย นอกจากสิ่งใดก็ตามที่กระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ สภาพนั้น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นของจริงอย่างหนึ่ง จะเป็นดอกกุหลาบในกระจกเงา ๖ ด้าน มี ๖ ดอก หรือกระจกเงา ๑ บาน และเพิ่มขึ้นจากของที่วางอยู่รวมเป็น ๒ ดอก หรืออะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ใช่การที่เราจะนึกถึงรูปร่างสัณฐาน แต่ปัญญาจะต้องพิจารณารู้ว่า ขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏทางตา ขณะนั้นต้องมีธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็นสิ่งนั้น และ สิ่งนั้นก็เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ไม่ใช่ดอกกุหลาบ ไม่ใช่คน ไม่ใช่ทะเลตอนเช้า ไม่ใช่ทะเลตอนค่ำ เพราะว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

ถ้ายังเป็นทะเล เป็นดอกไม้ เป็นกระจกเงา ก็เหมือนกับว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ยังไม่เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทตั้งแต่เกิดจนตาย โดยที่ธาตุชนิดนี้จะไม่กระทบกับปสาทอื่นเลย แต่จะกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

ตอนกลางคืน กลางวัน จะใส่แว่นตา ไม่ใส่แว่นตา ไฟสว่าง ฟ้าจะมืดอย่างไรก็ตามแต่ ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท สิ่งนั้นเป็นธาตุหรือเป็นธรรม อย่างหนึ่ง แต่เกิดดับเร็วมาก และต่อกันสนิททำให้เป็นรูปร่างสัณฐาน มีความทรงจำ และยังคงจำไว้มั่นคงว่า เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ จนกว่าเมื่อไรปัญญาเจริญขึ้น นี่คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง คือ ในขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น เป็นเพียงธาตุ ชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏได้

เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมก็เพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และต้องฟังและพิจารณา ที่ใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาด้วยความฉลาด ด้วยความแยบคาย ด้วยความเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่า ท่านฟังธรรมและเข้าใจว่า ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ท่านมีความสงสัยในลักษณะของปัญญาว่า ปัญญามีลักษณะอย่างไร ท่านก็ฟังธรรมไปเรื่อยๆ และในขณะที่ฟังก็พิจารณาตาม ขณะที่พิจารณาและเข้าใจ ในขณะนั้นท่านจึงได้รู้ว่า นั่นคือลักษณะของปัญญา

ถ้าฟังครั้งแรกมีใครบ้างที่จะบอกว่า เข้าใจแล้ว แต่เมื่อฟังหลายๆ ครั้ง และ แต่ละครั้งพยายามพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งเข้าใจในขณะไหน ขณะนั้นจึงได้รู้ว่า ปัญญา คือ สภาพที่เข้าใจ

การศึกษาทางโลกก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเรียนวิชาใดในโรงเรียนตั้งแต่เด็ก ก็ฟังครูพูดเรื่องต่างๆ และเมื่อไรที่เข้าใจ เมื่อนั้นก็จะรู้ได้ว่านี่คือความเข้าใจ นั่นคือเรื่องของโลก แต่เรื่องของธรรม คือ แทนที่จะฟังเรื่องวิชาการทางโลก ก็ฟังเรื่องของ สิ่งที่มีจริง ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งเมื่อไรเข้าใจ แม้แต่คำว่า สภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งมีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี กำลังเห็น ผู้ฟังที่เริ่มฟังก็บอกว่า รู้ว่าเห็นมี แต่ที่จะให้เห็นเป็นแต่เพียงธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ก็จะต้องฟังอย่างมาก และขณะใดที่เห็นขณะนั้นก็รู้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่สภาพรู้อยู่ที่ไหน

แต่ถ้าฟังอีกว่า เพราะว่ามีธาตุรู้หรือสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็พอที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นถึงลักษณะของสภาพรู้ว่า ไม่มีรูปร่างสัณฐานเลย เป็นแต่เพียงอาการเห็น เพราะฉะนั้น สภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กำลังเห็นในขณะนี้มีจริง เป็นจริง แต่กว่าปัญญาจะเจริญขึ้นจนกระทั่งรู้ว่า กำลังเห็นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ต้องฟังพระธรรมไปอีก จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดและระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และเข้าใจขึ้นๆ

ขณะนี้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นร่วมกันทำกิจการงานต่างๆ พร้อมกับจิตที่เป็นประธานในขณะหนึ่งๆ ซึ่งเป็นสภาพที่รู้ยาก ต้องอาศัยการศึกษาและการพิจารณาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดจึงจะเข้าใจได้ เช่น ขอกล่าวถึงมนสิการเจตสิก ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต ขันธ์มี ๕ ได้แก่

๑. รูปขันธ์ ได้แก่ รูปทุกรูป ไม่เว้นเลย เป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้

๒. เวทนาขันธ์ คือ เวทนาเจตสิก เป็นเจตสิก ๑ ใน ๕๒ เจตสิก ซึ่งเป็นสภาพ ที่รู้สึก ความรู้สึกมีทุกขณะจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือความรู้สึกดีใจ หรือความรู้สึกเสียใจ หรือความรู้สึกเจ็บปวดทางกาย หรือความรู้สึกสบายทางกาย

๓. สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง เป็นเจตสิก ๑ ใน ๕๒ เจตสิก

๔. สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิกที่เหลือทั้งหมด เพราะฉะนั้น มนสิการเป็น สังขารขันธ์ เป็นเจตสิกที่เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดร่วมกับจิตทุกดวง

สังขารขันธ์ หมายความถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ หรือถ้าปรุงแต่งจนกระทั่งกุศลจิตเกิด ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง จิตเป็นกิริยา หมายความว่าไม่มีกุศลและอกุศลอีกเลย

เพราะฉะนั้น ขึ้นกับสังขารขันธ์ คือ เจตสิก ๕๐ ประเภท ที่ปรุงแต่งจิตอยู่ ทุกขณะ แม้แต่มนสิการเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง และทุกท่านก็มีความสนใจกับเจตสิกนี้ เพราะว่าได้ยินคำว่า โยนิโสมนสิการ อโยนิโสมนสิการ บ่อยๆ

แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต เพราะฉะนั้น ควรจะได้ทราบลักษณะของมนสิการเจตสิกว่า ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะปัญญาเจตสิกไม่เกิดกับอกุศลจิต แต่มนสิการเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับวิบากจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ สำหรับปัญญาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้เลย เกิดกับกุศลจิตได้ เกิดกับวิบากจิตได้ เกิดกับกิริยาจิตได้

นี่เป็นลักษณะของเจตสิกที่ต่างกัน

ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม อาจจะเข้าใจอโยนิโสมนสิการว่าเป็นปัญญา เช่น ความรู้ต่างๆ ทางโลก วิชาการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไก ความรู้ความสามารถในการสร้างเครื่องอุปโภคบริโภค การประดิษฐ์อุปกรณ์ ความสะดวกสบายต่างๆ เป็นมนสิการเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะว่า มนสิการเจตสิกเป็นสภาพที่สนใจ ใส่ใจ ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นความสนใจ ความใส่ใจของแต่ละคนในทางด้านต่างๆ กัน

บางท่านไม่สนใจในเรื่องการทำอาหารเลย บางท่านก็ไม่สนใจในเรื่องการ จัดดอกไม้ หรือในวิชาการเย็บปักถักร้อยหลายๆ อย่าง แต่บางท่านสนใจและทำได้ แม้แต่อาหารก็ปรุงได้อย่างอร่อย การประดิษฐ์ดอกไม้ก็ทำได้อย่างสวย วิชาการต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ จะทำอย่างนั้นได้ไหม เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังใส่ใจ หรือสนใจวิชาการอย่างหนึ่งอย่างใด แม้แต่ในการทำกสิกรรม การปลูกต้นไม้ต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะทำได้ดี ต้องเป็นผู้ที่มนสิการ คือ ใส่ใจ สนใจ พิจารณาในปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลที่ต้องการ แต่ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต เป็นอกุศลจิตทั้งหมด

เพราะฉะนั้น การใส่ใจในวิชาการทางโลกที่เป็นความสามารถต่างๆ ไม่ว่าจะในการประดิษฐ์ ในเครื่องยนต์กลไก ทั้งหมดต้องเป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ปัญญา นี่เป็นความต่างกัน

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565