แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1870
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๒
ด้วยเหตุนี้สมถกัมมัฏฐานทั้งหมดที่ควรเจริญในชีวิตประจำวันจึงได้แก่ สัพพัตถกกัมมัฏฐาน คือ เมตตากัมมัฏฐาน และมรณสติ ซึ่งทุกท่านจะพิจารณา เห็นได้ว่า การที่จะให้จิตสงบโดยวิธีอื่นๆ ในชีวิตประจำวันนั้นไม่ง่าย และไม่ได้มี บ่อยทุกโอกาสเท่ากับการที่จะระลึกถึงความตาย คือ มรณสติ หรือการเป็นผู้มีปกติ มีเมตตา เพราะว่าทุกท่านต้องพบกับบุคคลอื่นๆ และในขณะที่พบกับบุคคลอื่น บางครั้งอาจจะเกิดโลภะ บางครั้งอาจจะเกิดโทสะ ในขณะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะเกิด กุศลจิตที่เมตตาเกิด ขณะนั้นก็เป็นความสงบ ซึ่งจะสังเกตและรู้ได้ และเมื่อรู้ลักษณะของจิตที่สงบแล้ว จึงจะเจริญความสงบเพิ่มขึ้นจนกระทั่งความสงบนั้นสามารถปรากฏเป็นความสงบที่มั่นคง เป็นสมาธิขั้นต่างๆ ได้
นี่คือการอบรมเจริญสมถภาวนาจริงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ที่อยากจะทำสมถภาวนา และพยายามหาอารมณ์ของสมถภาวนา แต่ความสงบก็ไม่เกิด
จะเห็นได้ว่า ช่องทางที่โลภะซึ่งเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้าจะเกิดในขณะที่ สติปัฏฐานไม่เกิดย่อมมีมาก ถ้าความคิดและการกระทำในชีวิตประจำวันของ แต่ละท่านยังไม่เป็นไปตามคลองของธรรมที่ถูกที่ควร ก็แสดงว่า ท่านยังไม่ได้สะสม สติขั้นการฟังพระธรรมและสติปัฏฐานเพียงพอที่ใกล้ต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งบางคนอาจจะอยากรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนลืมพิจารณาความคิดและการกระทำ ทางกาย ทางวาจา ของตนเองในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นไปในคลองของธรรมที่ถูกที่ควรหรือไม่
ถ้าทุกท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาและดำรงชีวิตในทางที่ถูกที่ควรตามคลองของธรรม เพราะเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นเหตุทำให้ชีวิตประจำวันของทุกท่านดำเนินไปในคลองของพระธรรม ถ้าแต่ละชาติๆ เป็นอย่างนี้ ไม่ต้องห่วง และไม่ต้องหวังว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อไร เพราะเมื่อเหตุสมควรแก่ผล ผลก็ต้องเกิดขึ้น แต่ถ้าเหตุยังไม่สมควรแก่ผล ที่จะหวังที่จะนั่งจนกระทั่งเลือดเนื้อแห้งเพื่อจะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเจตนาไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้เป็นเหตุให้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั่วทั้ง ๖ ทาง
ขอกล่าวถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเหตุสมควรแก่ผล โดยไม่มีใคร รู้จริงๆ ว่าจะเกิดขึ้นในขณะไหน เช่น การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร คาถาที่ ๒ มีข้อความโดยย่อว่า
พระปัจเจกโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญสมณธรรมในศาสนาของพระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่า กัสสปะ ตลอดสองหมื่นปี
เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก และเป็นการแสดงเพียงชาติที่ท่านเกิดในสมัยของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ แต่แม้กระนั้นท่านก็บำเพ็ญสมณธรรมตลอดสองหมื่นปี
ท่านทั้งบรรลุฌาน และพิจารณานามธรรมและรูปธรรม แต่ไม่บรรลุมรรคผล ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อสิ้นชีวิตแล้วท่านก็เกิดในพรหมโลก เมื่อจุติจาก พรหมโลก ก็เกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี พระองค์ไม่ทรงยินดีในสัมผัสของสตรีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกบุรุษเท่านั้นเป็นผู้เลี้ยงดู พระราชกุมารนั้น ด้วยเหตุนั้นพระญาติทั้งหลายจึงขนานพระนามพระราชกุมารว่า อนิตถิคันโธ
เมื่อพระราชกุมารมีพระชันษาได้ ๑๖ พระชันษา พระราชบิดาก็ใคร่ให้ พระราชกุมารดำรงวงศ์ตระกูล พระราชกุมารก็ตรัสสั่งให้พวกช่างทองทำรูปสตรีให้ งามเลิศราวเนรมิต และตรัสให้แสวงหาสตรีที่งามประดุจรูปทองนั้นมาถวายพระองค์
เพราะไม่ทรงยินดีในการสัมผัสของหญิง จึงคิดว่าหนทางเดียวที่จะไม่ทำตามพระประสงค์ของพระราชบิดา คือ ให้ช่างทองทำรูปสตรีที่งามเลิศราวเนรมิตด้วยคิดว่า คงไม่มีสตรีที่งามเลิศอย่างนี้
พวกอำมาตย์ได้นำรูปทองคำไปตามชนบทใหญ่ๆ ๑๖ แห่ง เว้นมัททรัฐเพียง รัฐเดียว เพราะเห็นว่าเป็นเพียงรัฐเล็กๆ เมื่อหาสตรีที่งามประดุจรูปทองคำนั้น ไม่ได้ในชนบทใหญ่ๆ ๑๖ แห่ง ก็ได้สู่มัททรัฐ เพราะว่าไม่อยากกลับไปก่อนและให้พระราชาส่งกลับไปใหม่
เมื่อพวกอำมาตย์ไปสู่สาคลนครในมัททรัฐก็ได้ทราบว่า พระธิดาของ พระเจ้ามัททวะนั้นสวยงามยิ่งกว่ารูปทองคำ จึงได้เข้าไปเฝ้าและทูลขอพระราชธิดา ซึ่งพระราชาก็พระราชทานให้ พวกอำมาตย์ได้ส่งข่าวทูลพระเจ้าพาราณสีให้ทรงทราบ และทูลถามว่า พระองค์จะเสด็จมาเอง หรือให้พวกอำมาตย์เท่านั้นรับพระธิดาไป
พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงส่งข่าวไปว่า เมื่อพระองค์เสด็จไป จะเป็นการเบียดเบียนชนบท เพราะเหตุว่าพระองค์เป็นใหญ่กว่าชนบทนั้นๆ ฉะนั้นก็ ให้พวกอำมาตย์นำธิดาไป ซึ่งเมื่อพระราชกุมารได้สดับข่าวนั้นก็ทรงถูกราคะครอบงำ พระองค์ทรงส่งทูตคนอื่นไปอีกเพื่อให้นำพระธิดามาเร็วๆ พวกอำมาตย์ก็รีบนำพระธิดาไปสู่กรุงพาราณสี โดยพักเพียงคืนเดียวเท่านั้น
เมื่อถึงภายนอกพระนครก็ส่งข่าวไปถวายพระราชาว่า จะทรงโปรดให้นำพระธิดาเข้าสู่พระนครในวันนี้หรือไม่ พระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสให้นำพระธิดาไปที่ พระราชอุทยานก่อน เพื่อทำมงคลกิริยา แล้วจึงจะให้เข้ามาด้วยสักการะใหญ่สมควรแก่ตระกูลอันประเสริฐที่สุด อำมาตย์เหล่านั้นก็ได้ทำตามพระราชโองการ
พระธิดาบอบช้ำแล้วเพราะการกระทบกระแทกแห่งยาน ทำให้มีโรคลมเกิดขึ้น เพราะความเมื่อยล้าจากการเดินทางไกลจึงได้ทำกาละ (คือ สิ้นพระชนม์) ในคืนนั้นเอง ดุจดอกไม้ที่เหี่ยวไปฉะนั้น
เมื่อพระราชกุมารทรงสดับเท่านั้น ทรงโศกเศร้าอย่างยิ่ง ต่อแต่นั้นก็ ทรงดำริว่า ธรรมดาความโศกนี้ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด แต่ย่อมมีแก่ผู้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ความโศกมี เพราะอาศัยชาติ ก็ชาติมีเพราะอาศัยอะไรเล่า แต่นั้นทรงมนสิการโดยแยบคายด้วยอานุภาพแห่งภาวนาในกาลก่อนอย่างนี้ว่า ชาติมี เพราะอาศัยภพ (คือ กัมมภพ) ทรงเห็นปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและปฏิโลม ทรงพิจารณาสังขารทั้งหลาย ประทับนั่ง ณ ที่นั้นนั่นแล ก็ทรงกระทำให้แจ้งซึ่ง ปัจเจกโพธิญาณ
เพราะฉะนั้น ทุกท่าน ทุกชาติ ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น
การเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม และเป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และเข้าใจสภาพของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งในชาติสุดท้ายที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่มีใครสามารถทราบวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายของ ชาตินั้นว่าจะประสบกับเหตุการณ์อะไรบ้าง ซึ่งก็ดูเป็นชีวิตธรรมดาไม่ต่างกัน ชาติก่อนหรือชาตินี้ หรือชาติหน้าต่อๆ ไปอีกทุกๆ ชาติ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ แม้จะเคยได้ฌาน ฌานเสื่อม เคยเจริญสติปัฏฐาน เคยระลึกรู้พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เหมือนกับผู้ที่มีชีวิตตามปกติธรรมดา ตามกำลังของกุศลและอกุศล เพราะว่าในกาลช่วงหนึ่งก็อาจจะเป็นผู้ที่ดูเสมือนมี กิเลสน้อย แต่ความจริงแล้วถ้ายังไม่ได้ดับกิเลส จะชื่อว่าน้อยไม่ได้
มีท่านผู้ฟัง ๒ ท่านสนทนากัน ท่านผู้หนึ่งบอกว่า ตั้งแต่ท่านศึกษาพระธรรมรู้สึกว่า กุศลของท่านเกิดมาก และชีวิตของท่านก็เปลี่ยนแปลง คือ เป็นผู้ที่ดีขึ้นมาก ท่านพิจารณาสังเกตจากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นในครั้งก่อนที่ยังไม่ได้ เข้าใจพระธรรม ท่านจะมีความประพฤติในทางอกุศล แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจแล้ว แทนที่จะเป็นอกุศล ท่านก็เป็นกุศลเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านก็กล่าวว่า ท่านรู้สึกว่าชีวิตของท่านเปลี่ยนแปลง
อีกท่านหนึ่งก็ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรมเหมือนกัน ท่านบอกว่า สำหรับตัวท่าน ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะว่าท่านหนึ่ง เป็นผู้ที่พิจารณาเหตุการณ์ใหญ่ๆ บางเหตุการณ์ แต่อีกท่านหนึ่งเป็นผู้ที่พิจารณา ความละเอียดของจิต
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ ท่านก็ถกเถียงกันและมาเล่าให้ฟัง ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนให้ ทั้งสองท่านทราบว่า สำหรับท่านที่พิจารณาเห็นว่าชีวิตของท่านเปลี่ยน ก็เป็น ความจริง จากประสบการณ์ในชีวิตของท่าน ซึ่งท่านสามารถเปลี่ยนอกุศล ในเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเคยเป็นอกุศล ให้เป็นกุศลแทนที่จะเป็นอกุศล เช่น แต่ก่อน ท่านอาจจะเคยฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย และภายหลังท่านก็เลิก ไม่ฆ่า เพราะฉะนั้น ท่านก็บอกว่า ท่านเห็นว่าชีวิตของท่านเปลี่ยนเมื่อได้เข้าใจพระธรรมแล้ว
แต่อีกท่านหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นชาวต่างประเทศ ครั้งหนึ่งท่านอยู่ บ้านเช่าที่ฝั่งธนเดือนละ ๕๐๐ บาท ไม่มีอะไรเลย ด้วยความสงบ ด้วยความพอใจ ด้วยความสันโดษ แต่เวลาก็ล่วงไปจนกระทั่งในขณะนี้ท่านมีบุตร มีภรรยา มีบ้าน มีรถยนต์ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่จะอำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก เพราะฉะนั้น ท่านพิจารณาแล้วไม่เห็นว่าชีวิตของท่านได้เปลี่ยนไปมากเท่าไร เพราะว่าในครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ที่เหมือนกับมีความพอใจ มีความสันโดษในชีวิตที่สงบ แต่แล้ว ในเวลาไม่นาน ท่านก็เป็นผู้ที่มีภาระ ต้องมีธุรกิจการงานต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้น สำหรับท่านก็เห็นลึกลงไปถึงกิเลสซึ่งยังไม่ได้ดับว่า ตราบใดกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ยังมีอยู่ ตราบนั้นกิเลสนั้นจะเป็นปัจจัยให้เหตุการณ์ในชีวิตของท่านซึ่งบางคนเข้าใจว่าได้เปลี่ยนไปบ้าง แต่สำหรับตัวท่านเองเมื่อพิจารณาถึงกิเลสที่ละเอียดท่านก็รู้ว่า ยังไม่ได้ดับ
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ ท่านก็ถูก คือ ท่านหนึ่งเป็นผู้ที่พิจารณาเหตุการณ์ใหญ่ ในชีวิต ซึ่งท่านเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่อีกท่านหนึ่ง ท่านพิจารณาความละเอียดของกิเลส ซึ่งตราบใดที่ยังไม่ได้ดับ ชีวิตของท่านที่เคยสงบ เคยมีความสันโดษ ก็เปลี่ยนไปตามกำลังของกิเลส ซึ่งจะเกิดขึ้นมากน้อยเมื่อไรก็ไม่มีใครสามารถทราบได้
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละชาติ ก็เป็นเครื่องที่จะสอบปัญญาได้ว่า อบรมมาในขั้นใด ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ต้องมีชีวิตดำเนินไป ทั้งทางโลกและทางธรรมตามความเป็นจริง จนกว่าจะถึงชาติที่สามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ เพราะว่าสัจจธรรมเป็นจริงทุกขณะ คือ สภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยและดับไป แต่ยังไม่เป็นอริยสัจจธรรมตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมนั้นๆ แต่การอบรมปัญญาในทุกชาติไม่สูญ ไม่หายไป พร้อมที่จะถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ไม่มีใครสามารถรู้ว่าเมื่อไร บางคนก็เมื่อสูญเสียบุตร จึงได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
อีกเรื่องหนึ่ง
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร คาถาที่ ๗ มีข้อความว่า
ในกรุงพาราณสี มีพระราชาทรงพระนามว่า เอกปุตติกพรหมทัต พระราชโอรสพระองค์เดียวนั้น เป็นที่รักที่พอพระทัยเสมอด้วยชีวิตของพระองค์ พระองค์ทรงพาพระราชโอรสไปในพระอิริยาบถทั้งปวง
คือ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินที่ไหน ก็ทรงนำพระราชโอรสไปด้วย
วันหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ไม่ทรงพาพระราชโอรสนั้น เสด็จไป วันนั้นพระราชโอรสทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในวันนั้นเอง อำมาตย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระราชโอรสนั้น โดยมิได้ทูลให้พระราชาทรงทราบ เพราะคิดว่า เมื่อทรงทราบ แม้พระหทัยของพระราชาก็พึงแตกสลาย
ภายหลังเมื่อพระราชาทรงทราบ และภายหลังที่ทรงถูกความโศกครอบงำแล้ว ได้ทรงกระทำในพระทัยโดยแยบคายว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด ดังนี้ พระองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งปฏิโลมและอนุโลมโดยลำดับอย่างนี้ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกสัมโพธิญาณ
ดูเหมือนไม่ยาก เมื่อถึงเวลาที่จะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าปัญญายังไม่ได้อบรมพอ ก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ชีวิตเป็นธรรมดาอย่างนี้ และได้ยินได้ฟังอย่างนี้ แม้ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เริ่มตั้งแต่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ สฬายตนะเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา เวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรา และมรณะ โสกะ ปริเทวะ
ก็ได้ยินอย่างนี้ทุกชาติๆ และได้ศึกษา ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดยิ่งกว่านี้ แต่เมื่อยังไม่ถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไป และการที่จะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ใช่โดยความหวัง แต่โดยการอบรมเจริญเหตุจนสมควรแก่ผล ผลจึงจะเกิดขึ้นได้
ขณะนี้อาจจะมีผู้หนึ่งผู้ใดที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าเหตุสมควร แก่ผล
ถ้าเป็นในครั้งที่เป็นกาลสมบัติ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม และมีผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญามามาก เพียงได้ฟังพระธรรมเพียงสั้นๆ บางท่าน ก็สามารถเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้ แต่สำหรับแต่ละท่านที่ยังไม่ถึงขณะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญต่อไป
ถ. ที่ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงได้มี หมายถึงปฏิจจสมุปบาทหรือเปล่า
สุ. แน่นอน
ถ. สิ่งนี้มี หมายถึงอะไร
สุ. อวิชชามี สังขารก็มี
ถ. แต่ฟังแล้ว อวิชชามีจึงเป็นเหตุให้มีสังขาร ก็รู้อยู่ว่าอวิชชามี แต่ที่จะ รู้จริงๆ ว่า อวิชชามีขนาดไหน ก็ไม่ค่อยจะรู้
สุ. ถ้าโกรธ เป็นอกุศล สามารถรู้ได้ไหมว่า เพราะมีอวิชชาจึงโกรธ หรือเวลาโกรธก็ยิ่งโกรธขึ้น เพราะปัญญาไม่ได้เกิดเลย ไม่พิจารณาเลยว่า ความโกรธที่เกิดขึ้นนี้มาจากอะไร มีอะไรเป็นมูล มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด มีอะไรเป็นปัจจัยให้เกิด ถ้ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ถ้าโกรธเกิด โกรธคนซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ โกรธชื่อ หรือโกรธรูปขันธ์ หรือโกรธ เวทนาขันธ์ หรือโกรธสัญญาขันธ์ หรือโกรธสังขารขันธ์ หรือโกรธวิญญาณขันธ์ ซึ่งเกิดและดับไปทันที ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคลนั้นเลยจริงๆ
แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น เมื่อไม่ได้พิจารณาก็โกรธคนนั้น หรือไม่พอใจ คนนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะนั้นที่ความโกรธเกิดขึ้น เพราะไม่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้ความโกรธที่เกิดก็เป็น แต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนดับกิเลสได้ จึงยังต้องโกรธอยู่