แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1864

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒


ข้อ ๕๑๘ มีข้อความว่า

คำว่า รูเปสุ ความว่า มหาภูตรูป ๔ และรูปอันอาศัยมหาภูตรูป ๔ สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อน ลำบาก ถูกเขาเบียดเบียน ถูกเขาฆ่าเพราะเหตุแห่งรูป เพราะปัจจัยแห่งรูป เพราะการณะแห่งรูป เมื่อรูปมีอยู่ พระราชาทั้งหลายย่อม ให้ทำกรรมกรณ์ (ลงโทษ) หลายอย่าง คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง

ถ้ารูปไม่มี ก็ไม่ต้องถูกตี ถูกเฆี่ยน แต่เมื่อรูปมี ผลของการที่จะต้องถูกลงโทษ ก็คือ

ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตอกคาบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ให้ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและ จมูกบ้าง ทำให้มีหม้อข้าวเดือดบนศีรษะบ้าง

ฟังดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่จำกัดเฉพาะมนุษย์ สัตว์ที่เป็นอาหารทั้งหลาย พิจารณาดูได้ว่า ได้รับโทษอย่างนี้หรือเปล่า

ให้ถลกหนังศีรษะโล้นมีสีขาวดังสังข์บ้าง ทำให้มีหน้าเหมือนหน้าราหูบ้าง ทำให้ถูกเผาทั้งตัวบ้าง ทำให้มีไฟลุกที่มือบ้าง ให้ถลกหนังและผูกเชือกฉุดไปบ้าง ให้ถลกหนังแล้วให้นุ่งเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง ทำให้มีห่วงเหล็กที่ศอกและเข่า แล้วใส่หลาวเหล็กตรึงไว้บ้าง ให้เอาเบ็ดเกี่ยวติดที่เนื้อปากบ้าง ให้ถากด้วยพร้า ให้ตกไปเท่ากหาปณะบ้าง ให้มีตัวถูกถากและทาด้วยน้ำแสบบ้าง ให้นอนตะแคง แล้วตอกหลาวเหล็กไว้ในช่องหูบ้าง

เวลารักษาโรคบางครั้งก็ต้องทำอย่างนี้ ใช่ไหม ให้มีตัวถูกถากและทาด้วย น้ำแสบบ้าง

ให้ถลกหนังแล้วทุบกระดูกพันไว้เหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมัน อันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินเนื้อที่ตัวบ้าง เอาหลาวเสียบเป็นไว้บ้าง และเอาดาบ ตัดศีรษะ สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อนลำบาก ถูกเขาเบียดเบียน ถูกเขาฆ่า เพราะเหตุ ปัจจัย การณะแห่งรูปอย่างนี้ เพราะพบเห็น พิจารณา เทียบเคียง ให้เจริญ ทำให้กระจ่าง ซึ่งชนทั้งหลายผู้เดือดร้อนลำบากอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า เพราะเห็นชนทั้งหลายลำบากอยู่ในเพราะรูปทั้งหลาย

จากโลกนี้ไปไม่ทราบจะไปอยู่โลกไหน และการที่จะถูกลงโทษลงทัณฑ์อย่างนี้ ก็ย่อมมีได้ ตราบใดที่ยังมีรูป ไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดกับรูปนี้บ้าง แต่ถ้ามีเหตุที่จะ ให้ได้รับทุกข์ทรมานต่างๆ ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม รูปก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นการณะที่จะทำให้ได้รับทุกขเวทนาต่างๆ เหล่านั้น

ข้อต่อไปมีว่า

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อจักษุเสื่อม เสีย เสื่อมไปรอบ เป็นไปต่างๆ ปราศไป อันตรธานไป ชนทั้งหลายก็เดือดร้อน ฯลฯ

ทุกคนที่มีตาก็จะต้องมีโรคของตา เมื่อถึงกาลที่จะมีโรคตา เช่น อาจจะเป็น ต้อเนื้อ หรือต้อกระจกก็ตามแต่ ชนทั้งหลายก็เดือดร้อน นี่เรื่องตา

เมื่อหู จมูก ลิ้น กาย ฯลฯ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

นอกจากนั้น ความเดือดร้อนก็ยังเกิดจาก

สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เสื่อมเสีย เสื่อมไปรอบ เป็นไปต่างๆ ปราศไป อันตรธานไป ชนทั้งหลายก็เดือดร้อน ฯลฯ

ทุกข์นี้มากมายเหลือเกิน เมื่อเกิดมาแล้วที่จะเป็นผู้ไม่มีความกังวลใจหรือ ไม่มีความรำคาญใจ เป็นสิ่งที่ยากจะเป็นไปได้

เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าย่อมเดือดร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น จงละความพอใจในรูป เพื่อที่จะดับรูปในชาตินี้ และสำหรับท่านปิงคิยะก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบ

พระ จากการที่พระภิกษุเมื่อสักครู่นี้ได้ออกมาถามปัญหา ทำให้อาตมา ใคร่ครวญว่า อาตมาก็บวชตามประเพณี คือ เพิ่งบวชเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วนี่เอง หลังจากนั้นก็ได้ยินได้ฟังธรรมโดยเฉพาะเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ทำให้เกิดความประหลาดใจ เพราะว่าธรรมลักษณะนี้เป็นการเจริญปัญญาซึ่งเราไม่เคยได้ยินได้ฟัง มาก่อน เคยได้ยินแต่เรื่องเล่าทำนองคล้ายนิทาน ซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญญาใคร่ครวญ เห็นทุกข์ได้

มีพระภิกษุท่านเอื้อเฟื้อให้ฟังเทปการเจริญสติปัฏฐาน และจากการศึกษา จากการฟัง จากการถามบ้าง อาตมามีความสงสัยอยู่หลายข้อเกี่ยวกับการ เจริญสติปัฏฐาน ขอความอนุเคราะห์จากคุณโยม

คำถามแรก คือ ที่ว่าการเจริญสติปัฏฐานต้องอาศัยความเข้าใจเป็นสำคัญ อาตมาไม่เข้าใจว่า ความเข้าใจอย่างไรจึงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องในการเจริญ สติปัฏฐาน

สุ. เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีการฟังว่าสภาพธรรมที่ปรากฏไม่ใช่ตัวตนอย่างไร สติก็ ไม่สามารถเกิดที่จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมได้ และปัญญาก็ไม่สามารถสังเกตพิจารณาจนกระทั่งรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะว่าปัญญา คือความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งมีหลายระดับขั้น เช่น ในขณะนี้ ที่กำลังเห็น และมีการฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้เป็นเพียงการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ปัญญาจะต้องประจักษ์แจ้งว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้ายังไม่เข้าใจ ขณะที่กำลังเห็นนี้เอง สติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏทางตาเพื่อรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการศึกษาหรือการฟังให้เข้าใจในลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า สภาพที่เป็นปรมัตถธรรมมีลักษณะอย่างไร เป็นรูปธรรมทางตาอย่างไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอย่างไร

พระ เฉพาะสติปัฏฐานเท่านั้น ใช่ไหม ที่จะทำให้เรารู้นามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่สติขั้นธรรมดา

สุ. เพราะถ้ายังไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน หมายความว่า กำลังฟังเรื่องการเห็นว่าเป็นนามธรรม เป็นอาการรู้ ไม่ใช่เรา นี่คือเพียงการฟังเรื่อง แต่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ยังเป็นเราที่กำลังเห็น และกำลังฟังเรื่องการเห็น แต่ถ้ามีปัญญาที่อบรมมาแล้วจริงๆ ในขณะที่กำลังฟังเรื่องการเห็น สติจะระลึกได้ว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้มี

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องของการเห็น ปัญญาต้องรู้จริงในขณะที่เห็นว่า เห็นเป็นอาการรู้ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังให้เข้าใจเท่านั้น แต่ต้องรู้จริงๆ ว่า ที่กำลังเห็นนี้ เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราที่เห็น

พระ และหลังจากที่เราเห็นหรือได้ยินเสียง กับการนึกคิดทางใจ มีความแตกต่างกันอย่างไร

สุ. สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้ ส่วนรูปธรรมนั้นไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น ลักษณะที่อ่อนแข็งไม่ใช่สภาพรู้ เสียงไม่ใช่สภาพรู้ กลิ่นไม่ใช่สภาพรู้ รสไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่ใช่สภาพรู้ แต่เป็นธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท เพราะฉะนั้น ต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมจนกระทั่ง เข้าใจขึ้นๆ โดยประการต่างๆ ที่จะเห็นว่า มีจิต มีเจตสิก และก็มีรูป เพียงชั่วขณะและดับไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเรื่องของความเข้าใจที่จะต้องประจักษ์แจ้งในภายหลัง

พระ เคยสนทนากับเพื่อนพระภิกษุว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น แรกๆ เป็นการคิด ใช่ไหม คิดว่าสิ่งนี้เป็นรูป สิ่งนี้เป็นนาม

สุ. ขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นกุศลจิตขั้นคิด แต่ไม่ใช่ขั้นระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด

พระ คิดกับระลึกต่างกัน

สุ. ต่างกัน เพราะว่าคิดได้แก่วิตกเจตสิก ซึ่งวิตกเจตสิกมีทั้งที่เกิดกับ อกุศลจิตเป็นอกุศลวิตก และที่เกิดกับกุศลจิตเป็นกุศลวิตกขั้นต่างๆ คือ คิดในเรื่องทานก็เป็นกุศลวิตกที่เป็นขั้นทาน คิดในเรื่องการวิรัติทุจริตก็เป็นกุศลวิตกขั้นศีล คิดที่จะให้จิตปราศจากโลภะ โทสะ และอกุศล ในขณะนั้นก็เป็นขั้นสมถะหรือ ขั้นความสงบของจิต แต่ขณะใดที่ได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานและเข้าใจ ขณะนั้นสภาพของวิตกเจตสิกไม่ได้คิดเป็นคำ แต่อาศัยการฟังและเข้าใจเป็นปัจจัยให้ วิตกเจตสิกตรึกหรือจรดที่อารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม พร้อมกับสติที่ระลึกในขณะนั้น เพราะว่าสติเจตสิกที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสภาพที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม แต่วิตกเจตสิกจรดในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ

พระ หมายถึงระลึกในสิ่งที่ปรากฏก่อน อย่างนั้นหรือเปล่า

สุ. ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และหลงลืมสติ ต่างกับขณะที่ระลึก เพราะว่ากำลังระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ระลึก ในขณะนี้ทางตากำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ระลึก เพราะฉะนั้น ลักษณะของ สติปัฏฐาน คือ ระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

เมื่อกี้นี้หลงลืม แต่ขณะนี้กำลังระลึกที่ลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา และ วิตกเจตสิกเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์นั้นแทนที่จะคิดเป็นคำ นี่เป็นความต่างกันของกุศลจิตขั้นคิดซึ่งเป็นวิตกเจตสิกที่คิดเป็นคำ แต่เมื่อเป็นสติปัฏฐาน วิตกเจตสิก ไม่ได้คิดเป็นคำ แต่จรดในอารมณ์ที่สติระลึก ซึ่งไม่มีการไปพยายามแยกรู้ลักษณะของวิตกเจตสิก หรือสติเจตสิก หรือเจตสิกอื่นๆ หรือว่านามธรรมรูปธรรมใดๆ นอกจาก สติระลึกที่ลักษณะใด ปัญญาก็ศึกษาลักษณะนั้นเท่านั้น โดยการรู้ว่า ลักษณะนั้น เป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ นี่เป็นขั้นต้นที่จะแยกนามธรรมออกจากรูปธรรม เพราะในขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด นามธรรมและรูปธรรมก็เกิดดับสืบต่อกัน อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้แยกลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรม จึงเป็นเรา จึงมีความยึดถือว่าเป็นตัวตนในขณะที่กำลังเห็น

ในขณะนี้นามธรรมกำลังเห็น แต่เพราะสติปัฏฐานไม่เกิด จึงเป็นเราเห็น และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะสติปัฏฐานไม่เกิดจึงเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งต่างๆ ตามที่วิตกเจตสิกตรึกถึงรูปร่างสัณฐานนั้นๆ แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิดไม่ได้ตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน นี่คือความต่างกันของวิตกเจตสิกที่ไม่ใช่สติปัฏฐานและที่เป็นสติปัฏฐาน

เวลาที่เห็นและไม่ใช่สติปัฏฐาน วิตกเจตสิกตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน แต่เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน วิตกเจตสิกตรึกที่ลักษณะสภาพที่เพียงปรากฏทางตาว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ และที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะรู้ว่าสภาพเห็น กำลังเห็น เป็นอาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จะต้องอาศัยความเข้าใจ มิฉะนั้นแล้วสติปัฏฐานเกิดไม่ได้

พระ จากที่ฟังในเทปที่ว่า สติจะระลึกและปัญญาศึกษา ประโยคนี้ทำให้รู้ว่า ไม่มีตัวตน คือ ไม่มีเราเข้าไปรู้ ไม่มีเราเข้าไปศึกษา ปัญญาที่ศึกษานั้นใช่วิตก ที่โยมว่าเมื่อกี้หรือเปล่า

สุ. ไม่ใช่ เพราะว่าปัญญาได้แก่สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเจตสิก และ สัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกเป็นแต่เพียงสภาพที่จรด ในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐาน

ความต่างกันของการที่จะรู้ว่า เป็นสติปัฏฐานที่กำลังระลึกเป็นไปทางตา คือ ในขณะที่เป็นสติปัฏฐาน วิตกเจตสิกไม่ได้ตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน นี่จึงจะเริ่มเข้าใจว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกเป็นไปทางตานั้นเป็นอย่างไร

ระลึก มีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ และวิตกเจตสิกไม่ได้ตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน แต่รู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ เพื่อปัญญาจะได้รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถอดความเป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นคือกิจของปัญญา ที่จะต้องพิจารณาจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนในสิ่งที่กำลังปรากฏ

สิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา สิ่งนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งคนตาบอด ไม่เห็น และมีอยู่ในกลุ่มของรูปทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มของรูปจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม จะเกิดจากอุตุ จะเป็นต้นไม้ใบหญ้า หรือวัตถุสิ่งของ เก้าอี้ โต๊ะ หรือจะเป็นกลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรม เกิดจากจิต เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหารซึ่งเป็นสัตว์มีชีวิตก็ตาม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มของรูปนั้น จึงปรากฏได้ เมื่อกระทบกับจักขุปสาท เพราะฉะนั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในรูปที่ปรากฏทางตา เพราะว่าเป็นเพียงรูปๆ หนึ่งซึ่งกระทบกับจักขุปสาทได้

พระ และทั้งรูปและตัวที่รู้นั้นก็ดับด้วย

สุ. แต่เมื่อปัญญายังไม่แยกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ก็ยังไม่ต้องห่วงคำนึงถึง การที่จะประจักษ์การเกิดดับ เพราะว่าปัญญาต้องอบรมเจริญเป็นขั้นๆ ขั้นแรกคือ สามารถพิจารณารู้ชัดแยกขาดลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

พระ นี่เป็นความเข้าใจขั้นต้นทีเดียว ใช่ไหม

สุ. ต้องค่อยๆ อบรมไป จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่แยกขาดจากกัน

พระ การศึกษาการเจริญสติปัฏฐาน ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องอภิธรรมบ้าง จะทำให้รู้เรื่องของจิตเจตสิกละเอียดยิ่งขึ้น แต่สับสนว่า ถ้าเราไม่เข้าใจชื่อเรียกของ สิ่งนั้นๆ จะเป็นนามหรือรูปใดก็แล้วแต่ เราจะเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ได้อย่างไร

สุ. ไม่ใช่ไม่เข้าใจชื่อเรียก การฟังพระธรรมต้องอาศัยชื่อ ชื่อเป็นสิ่งที่ สำคัญมาก ที่ใช้คำว่า จิต และเจตสิก ก็ต้องเป็นชื่อที่แสดงลักษณะของปรมัตถธรรม ที่ต่างกัน คือ ไม่ใช้คำเดียวกันเพราะสภาพธรรมต่างกัน

แสดงให้เห็นว่า เมื่อใช้คำว่า จิต หรือจิตตะ หรือจิตตังก็ตามแต่ ต้องเข้าใจความหมายของชื่อนั้นว่าหมายความถึงปรมัตถธรรมอะไร คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้

ในขณะที่กำลังเห็นนี้เองเป็นจิต ขณะที่กำลังได้ยินนี้เป็นจิต แต่เมื่อพูดถึงคำอื่น เช่น คำว่า เจตสิก ก็ต้องเข้าใจว่าเจตสิกหมายถึงสภาพปรมัตถธรรมอะไร ไม่ใช่ไม่ให้เข้าใจ ต้องเข้าใจจริงๆ ให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต้องสมบูรณ์ทั้งพยัญชนะและอรรถ

แต่การอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น ไม่ใช่เพียงเข้าใจคำ หรือเรื่องของสภาพธรรม แต่ต้องประจักษ์แจ้ง ในลักษณะของสภาพธรรมโดยขณะนั้นไม่ได้คิดเรื่องคำ และถ้าเกิดการคิดนึกขึ้น ในขณะนั้นก็เป็นปรมัตถธรรม เป็นจิตที่คิดคำ

เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องละเอียดที่จะรู้ว่า ในขณะที่กำลังคิดเป็นคำๆ ก็ไม่ใช่เรา จึงสามารถหมดวิจิกิจฉา ความสงสัย ในนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงได้ เพราะถ้ายังมีความสงสัย ยังมีความข้องใจว่า ขณะนี้เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ที่กำลังคิดนึกนี้เป็นนามธรรมอย่างไร ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็ไม่สามารถดับวิจิกิจฉาได้

แม้แต่ขณะที่กำลังคิดนึก สติปัฏฐานเกิด ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของ สภาพคิดซึ่งกำลังมีคำเป็นอารมณ์ในขณะนั้นว่า ไม่ใช่เราที่คิด และความคิดนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

พระ สติปัฏฐาน ไม่เลือกในการที่จะระลึกศึกษาเลย

สุ. ต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับ เพราะว่าสภาพธรรมที่เกิดดับเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าไม่มีตัวตนในปรมัตถธรรม เช่น แข็ง ไม่มีเรา ไม่มีใครในแข็ง แข็งเป็นแข็งอย่างเดียว เป็นอย่างอื่นไม่ได้ จะเป็นเราในแข็งไม่ได้ เป็นแข็งอย่างเดียว เสียง ก็เหมือนกัน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในเสียง เสียงเป็นเสียงเท่านั้น จะเป็นอื่นจาก เสียงไปไม่ได้ สภาพที่ร้อนจะเป็นเราร้อนก็ไม่ได้ เราเย็นก็ไม่ได้ เพราะว่าสภาพร้อนเป็นร้อนเท่านั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น จิตที่เห็นเป็นสภาพที่รู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้อารมณ์อื่นไม่ได้เลย จึงไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งปัญญาจะต้องประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา จึงจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

เปิด  234
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565