แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1865

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒


พระ จากการศึกษาตำราได้ทราบว่า ทางปัญจทวารวิถีจิตมี ๑๗ ขณะ ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือได้ยิน จะมีจิตทำกิจนั้นๆ คือ เห็นหรือได้ยินอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่อื่น และในวิถีจิตหนึ่ง เช่น การเห็น จะมีจิตที่เห็น สำหรับจิตที่เหลือหลังจากนั้นและก่อนนั้นไม่ใช่การเห็น

สุ. ต้องเป็นอย่างนั้น วาระหนึ่งซึ่งมีการเห็น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการเกิดดับของจิตอย่างละเอียดเพื่ออะไร ก็เพื่อให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ และเกิดความยินดีพอใจขึ้น สภาพของจิตเห็นไม่ใช่จิตที่ยินดีพอใจ และก่อนที่จะเกิดความยินดีพอใจ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องมีจิตซึ่งเกิดก่อน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลำดับของการเกิดดับของจิตในแต่ละวาระที่มีการเห็น การได้ยิน โดยละเอียด แต่ไม่ใช่ว่าจะให้ผู้ฟังไปพิจารณาสัมปฏิจฉันนะ ปัญจทวาราวัชชนะ หรืออะไร แต่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นเสียก่อน

เช่น ทุกคนเห็นทุกวัน แต่ที่จะรู้จริงๆ ว่า เห็นในขณะนี้ไม่ใช่เราเห็น ขณะนั้นต้องอาศัยการศึกษาโดยละเอียดว่า วาระหนึ่งซึ่งมีการเห็นเกิดขึ้นจิตจะต้องเกิดดับ สืบต่อกันอย่างไร เป็นปัจจัยที่จะเห็นความเป็นอนัตตา เกื้อกูลให้เกิดการระลึกได้ ในขณะที่เห็นและพิจารณาสภาพที่ปรากฏ คือ ขณะนี้ โดยไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องของ ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต หรือชวนจิต เพราะว่าสภาพธรรมใดปรากฏ สติก็ระลึกเพื่อที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น บ่อยๆ เนืองๆ

พระ ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ ในวิถีจิตนั้น สติที่ระลึกรู้ ระลึกตรงไหน อย่างไร เริ่มตั้งแต่กิจที่ ๑ จนถึงลำดับที่ ๑๗ หรือเปล่า

สุ. มิได้ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ทางตาที่เห็น ไม่ทราบว่ากี่ขณะแล้ว และรูปที่กำลังปรากฏสืบต่อกันเหมือนไม่ดับ ซึ่งความจริงก็ดับอย่างรวดเร็วทุกขณะ เพราะว่า ๑๗ ขณะจิตนี่เร็วมาก แต่เมื่อยัง ไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่ายังไม่ได้พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่การศึกษาปริยัตติธรรมจะทำให้เข้าใจถูกในความเป็นอนัตตาของ สภาพธรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดระลึกได้ แต่แม้กระนั้นเพียงพระอภิธรรมก็ยังไม่พอ ยังจะต้องอาศัยบารมีที่ได้อบรมมา ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงการอบรมพุทธจริยาของพระองค์กว่าที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นสาวก คือ ผู้ฟัง ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ต้องขาดบารมีไม่ได้ด้วย เพราะว่าการศึกษาพระธรรม โดยไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ หรือยังเป็นไปเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จะไม่ทำให้ดับกิเลสได้

พระ ขออนุโมทนาคุณโยม อย่างน้อยก็เป็นเหตุปัจจัยให้อาตมาได้อยู่ใน เพศของบรรพชิตต่อไป ทั้งๆ ที่สามารถจะสละเพศนี้ไปครองฆราวาสได้ เนื่องจากศึกษาธรรมแล้วทำให้เข้าใจว่า ชีวิตของเราแต่ละคนไม่ว่าเป็นหญิงชาย เกิดในฐานะอย่างไร ต่างก็วนเวียนข้องติดอยู่ในวิถีของโลก คือ ต้องเกิด ต้องแก่ และก็ต้องตายดับสูญไป ภพชาติที่มีมาแล้วก็นับไม่ได้ ต่อไปก็คงจะมากอีกถ้าไม่เจริญปัญญา รู้สภาพธรรม ก็จะทำให้ภพชาติเกิดขึ้นอีกมากมาย และไม่แน่ว่าเมื่อเราแตกสลายไปจากภพนี้แล้ว จะไปเกิดในภพไหนก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ต้องขออนุโมทนาคุณโยมที่เป็นเหตุปัจจัยให้อาตมามีศรัทธาศึกษาธรรมอยู่ต่อไป

สุ. ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าอย่างสูง

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้ท่านเป็นผู้ที่สะสมบารมีมาแล้วในการฟังพระธรรม ก็ยังต้องมีวิริยบารมี ขันติบารมีด้วย เพราะว่าการที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นนั้นเป็นไปโดยไม่ง่ายเลย การฟังก็ต้องอาศัยสัจจบารมี และอธิษฐานบารมี ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรก็ไม่หวั่นไหวที่จะฟัง เพราะว่าบางท่าน อย่างรายการวิทยุ มี ๒ เวลา คือ ๖ โมงเช้า กับ ๓ ทุ่ม บางท่านก็ตื่นสาย เพราะท่านอาจจะเห็นว่า ท่านฟังมาแล้วอย่างหนึ่ง หรือท่านฟังเฉพาะตอนกลางคืนก็พอ ก็เห็นได้ว่าวิริยบารมี มีไหม แต่ถ้าท่านเคยฟังเวลา ๓ ทุ่ม ๖ โมงเช้าไม่ฟัง และรู้ว่าการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น วันหนึ่งเพียงฟังครั้งเดียวแค่ ๓๐ นาทีไม่พอ ควรที่จะได้ฟังมากกว่านั้นเมื่อมีโอกาส ก็จะเป็นปัจจัยทำให้วิริยบารมีเกิด คือ ตื่นเช้าขึ้น เพื่อที่จะได้ฟังธรรมอีกครึ่งชั่วโมง ในวันหนึ่ง

หรือบางท่านที่ท่านอาจจะฟังตอนเช้า แต่ตอนกลางคืนมีรายการเพลิดเพลินต่างๆ ที่สนุก เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดว่า ท่านฟังตอนเช้าแล้ว ตอนกลางคืนก็ ไม่ต้องฟัง นี่แสดงให้เห็นว่า วิริยบารมีเป็นสิ่งซึ่งจะต้องเจริญขึ้น เพื่อความเป็น ผู้ไม่ประมาท และยังต้องมีขันติบารมี และอธิษฐานบารมีอื่นๆ ด้วย

ถ. การให้ทานโดยที่ผู้นั้นไม่ได้ปรารถนาให้ได้ขึ้นสวรรค์ หรือให้มีรูปงาม แต่ให้ทานโดยมีความกรุณา ถือว่าเป็นบารมีหรือเปล่า

สุ. บารมีทั้งหมดต้องเป็นไปกับปัญญา หมายความว่าผู้นั้นไม่ได้ต้องการผลอื่นเลย นอกจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ใครก็ตามที่ให้ทาน แต่ไม่มีความปรารถนาที่จะถึงพระนิพพาน หรือดับกิเลส ทานนั้นไม่เป็นบารมี

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การให้ทานมีอยู่มากในโลกนี้ และผู้ให้ย่อมรู้ว่า ให้เพื่ออะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม การอบรมเจริญปัญญา ผู้นั้นก็เพียงแต่ให้ หรืออาจจะเป็นผู้ที่หวังผลจากการให้ แล้วแต่ว่าจะหวังอะไร แต่ผู้ที่ รู้เรื่องของสภาพธรรม รู้ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน รู้ว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ มีปัญหามากทุกชาติที่เกิด คนที่เกิดมาแล้วที่จะไม่มีปัญหานั้น ไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใด ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นปัญหาประเภทใด เมื่อเห็นว่าวันหนึ่งๆ ที่เกิดมา มีแต่สภาพธรรมที่ปรากฏ ชาติแล้วชาติเล่า คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียง สิ่งที่เพียงปรากฏชั่วขณะและก็ดับ เสียงที่ปรากฏทางหูก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่งซึ่งปรากฏและก็ดับ เพราะฉะนั้น ทุกขณะก็เป็นสภาพที่ว่างเปล่าจากสาระ จากความเที่ยง จากความสุข และจากความเป็นตัวตน

ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ แล้ว จะมีความเห็นว่า เมื่อไหร่จะจบ คือ ดับหมดสิ้น ไม่ต้องมีทุกข์ คือ ไม่ต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น และปัญหาต่างๆ เพราะว่าคนที่จะไม่ประสบกับปัญหาไม่มี และสภาพธรรมที่ปรากฏในชาติก่อน หรือในชาตินี้ หรือในชาติต่อไป ทางตาก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็น เสียงก็ปรากฏทางหูให้ได้ยิน แต่เรื่องราวต่างๆ ของชาติหนึ่งๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เปลี่ยนสภาพ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยสภาวะที่แท้จริงแล้วหาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ แต่ความนึกคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ละชาติเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เกิดสุข เกิดทุกข์ต่างๆ ไม่รู้จบ

เมื่อเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะรู้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นการที่จะต้องอบรมเจริญกุศลเพื่อดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท เพราะว่าเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว อีกเพียง ๗ ชาติก็จะเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีสติปัญญาอย่างละเอียดในวันหนึ่งๆ ย่อมจะเห็นว่า กิเลสมีมาก และกิเลสก็นานาชนิดทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดมาจนกระทั่งถึงในขณะนี้ ตั้งแต่เช้ามา และจะดับหมดไม่มีกิเลส เหลือเลย ย่อมไม่ง่าย ยากแสนยากทีเดียว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญกุศล ทุกประการที่เป็นบารมี เพื่อที่จะสามารถดับกิเลสได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาอย่างนี้ ในขณะที่ให้ทานก็ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งอื่น นอกจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

บารมีหรือไม่บารมี เป็นเรื่องเฉพาะตัวซึ่งแต่ละท่านย่อมทราบ แต่ถ้าผู้นั้น ไม่มีปัญญา ไม่รู้เรื่องการที่จะดับกิเลส ทานของบุคคลนั้นก็ไม่เป็นบารมี แต่สำหรับผู้ที่ฟังพระธรรมแล้ว และเห็นกิเลสแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับว่า ในขณะนั้นปัญญามีกำลังพอหรือไม่ เพราะบางคนที่เริ่มฟังใหม่ๆ ก็บอกว่า ยังไม่ต้องการถึงนิพพาน ยังไม่ต้องการเหลือการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ เพราะรู้สึกว่า ๗ ชาตินั้นน้อยไป ยังอยาก จะมีมากกว่า ๗ ชาติ นี่ก็เป็นไปได้

แสดงให้เห็นว่า ปัญญาขั้นการฟังเป็นปัญญาที่มีกำลังอ่อน แม้ได้ยินได้ฟังว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็ยังดับกิเลสไม่ได้ ยังมีความยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏ และยังคงต้องการที่จะมี ขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นไปตามระดับขั้นของปัญญา ถ้าปัญญาไม่เห็นประโยชน์ของการบำเพ็ญบารมีจริงๆ บารมีทั้งหลายก็เจริญไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี หรือบารมีอื่นๆ

บางท่านอาจจะยังไม่ได้พิจารณาว่า กิเลสและทุกข์ทั้งหมดที่เกิดมาในชาตินี้ อยู่ที่อัตภาพ คือ นามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตนนั่นเองเพราะฉะนั้น การที่จะดับทุกข์จริงๆ ก็คือ นามธรรมและรูปธรรมต้องไม่เกิดอีก

ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕ ข้อ ๘๒๖ มีข้อความว่า

คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่า นรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาด้วยเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะ เหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสังสาระ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไป ในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

ใครที่คิดน้อมไปในนิพพานแล้ว ต้องเป็นผู้ที่จริงใจ ชีวิตวันหนึ่งๆ ก็สุขสบาย รื่นเริง และก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น้อมไปในนิพพานหรือยัง

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า นรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน ก็เป็นปกติของโลก สมาทานศีล บางท่านก็รักษาอุโบสถกรรม บางท่านก็เจริญกุศลโดยตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ หรือกวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเป็น ผู้ที่ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ เพราะเหตุแห่งภพ เพราะเหตุแห่งสังสาระ เพราะเหตุแห่งวัฏฏะ มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ แต่ไม่ใช่เพื่อหวังแต่ว่าจะหมดทุกข์ที่ประสบกับสิ่งที่ไม่ต้องการ คือ ใครก็ตามที่กำลังมีทุกข์ก็อยากจะ หมดทุกข์เท่านั้นเอง นั่นไม่พอ ทุกข์ในที่นี้ต้องหมายความว่า มีความประสงค์ใน อันพรากออกจากทุกข์ คือ โน้มไป น้อมไปในนิพพาน ซึ่งต้องอาศัยการฟังพระธรรม และเห็นโทษของอกุศลจริงๆ เห็นโทษทุกข์ภัยของชาติ การเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรม และยังต้องเห็นประโยชน์ของการบำเพ็ญกุศล ซึ่งไม่ใช่ง่าย เพราะว่า ส่วนใหญ่แล้วมีอกุศลที่สะสมมาเป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิด

เรื่องของการบำเพ็ญบารมี เป็นเรื่องที่ทุกท่านควรจะเริ่มคิดได้แล้วว่า ชีวิตประจำวันกุศลเกิดน้อยหรือมาก และกุศลนั้นเพิ่มความมั่นคงที่จะให้เป็นบารมี ขึ้นบ้างหรือยัง ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะทำกุศลไปเรื่อยๆ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่จะต้องอาศัยบารมีต่างๆ ก็เพิ่มความจริงใจ ความมั่นคงไม่หวั่นไหวในการเจริญกุศลยิ่งขึ้น

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งปรารภถึงการเจริญบารมีว่า เป็นสิ่งที่แม้รู้ก็ทำไม่ได้ง่าย เช่น เรื่องของการไปเที่ยวสนุกๆ หรือการจะไปฟังธรรม นี่ก็เป็นปัญหาประจำวันสำหรับทุกคนที่ยังคงมีโลภะ มีความติดข้องในความเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้น ระหว่างการไปเที่ยวกับการฟังพระธรรมจะเลือกอย่างไหน ทั้งๆ ที่รู้เรื่องบารมี นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งท่านผู้นั้นก็พิจารณาไตร่ตรองกำลังของท่านว่า ถ้าการไป เที่ยวนั้นเป็นแต่เพียงการไปซื้อของตามสถานที่ต่างๆ กับการมาฟังพระธรรม ท่านก็เลือกมาฟังพระธรรม แต่ถ้าการไปเที่ยวนั้น ไปเที่ยวในที่ที่ท่านยังไม่เคยไป และมีสิ่งที่น่ารู้น่าชมมาก ท่านก็ขอเลือกไปเที่ยวก่อน และงดการฟังพระธรรมในวันนั้น

นี่เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กว่าจะบรรลุถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจะต้องมีการอบรมเจริญบารมี ไม่ใช่แต่เฉพาะทาน ไม่ใช่แต่เฉพาะศีล เพราะว่า ท่านผู้นั้นก็เป็นผู้ที่สละวัตถุเพื่อเป็นทานไม่ยาก และปกติท่านก็เป็นผู้ที่มีศีล แต่ว่าเนกขัมมะ การออกจากความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยวิริยบารมีและขันติบารมีด้วย คือ ต้องเป็นผู้ที่อดทน ไม่หวั่นไหวในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ามีกำลังที่จะมาฟังพระธรรม ก็หมายความว่าขณะนั้นเป็นขณะที่ กุศลสะสมกำลังขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นได้บ่อย บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง

อีกท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ท่านต้องเริ่มบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย โดยการที่จะต้องพิจารณารู้ว่า ถ้าขณะใดจิตเป็นอกุศล ขณะนั้นก็ควรที่จะเห็นโทษ และเจริญกุศล เพราะฉะนั้น ท่านก็แสร้งทำความดี ทางกาย ทางวาจา

ที่ท่านใช้คำว่า แสร้งทำความดี หมายความว่า ท่านรู้ว่าขณะนั้นยังไม่ใช่ เป็นกุศลที่มีกำลังจริงๆ แต่ท่านก็มีวิริยะอุตสาหะที่จะทำความดี แม้ว่าเป็นเพียงการฝืนที่จะทำในระยะแรก ซึ่งท่านก็เป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และรู้ว่า เมื่อฝืนทำไปบ่อยๆ ในที่สุดก็จะชิน และการฝืนทำนั้นจะหายไปจนกระทั่ง เป็นการกระทำกุศลด้วยความจริงใจ ไม่ต้องฝืนอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น ใจใครก็คนนั้นที่จะรู้ดีเรื่องของการขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่ง จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ

ไม่ทราบท่านผู้ฟังจะมีตัวอย่างของท่านเองที่พอจะให้ท่านผู้อื่นได้รับฟังและ เป็นประโยชน์บ้างไหม ในเรื่องของการบำเพ็ญบารมี ซึ่งผู้ฟังทั้งหลายจะรู้สึกอนุโมทนา จริงๆ ที่ได้ทราบว่า มีผู้ที่พิจารณาจิตใจของตนเองอย่างละเอียด และเป็นจุดเริ่มที่จะขัดเกลากิเลส เพราะว่าขณะนั้นสติเกิดจึงเห็นว่าอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เจริญขึ้น

พระ อาตมาติดใจเรื่องวิริยบารมี อาตมาไม่เข้าใจธรรมลึกซึ้ง ตั้งแต่บวช ก็เพิ่งจะได้ศึกษาบารมี นี่ก็ ๓ อาทิตย์แล้ว แต่ยังไม่เข้าใจบารมีขั้นละเอียด เข้าใจบารมีขั้นต่ำๆ อาตมาเปิดเทปของท่านอาจารย์สุจินต์ก่อนทำวัตร ตีสี่ครึ่ง ฟังครึ่งชั่วโมง กลับจากบิณฑบาต ฉันประมาณ ๑๐ โมง ก็เอาเทปอีกม้วนหนึ่ง ฉันข้าวแล้วก็เอาอีกม้วนหนึ่ง เป็นเทปที่อัดจากวิทยุ เรามีบารมีขั้นข้างนอก หยาบๆ อย่างนี้ ก็เพื่อจะไปหาบารมีขั้นข้างใน อาจารย์ว่าถูกไหม

สุ. บารมี หมายความว่าผู้นั้นเห็นโทษของอกุศล และมีความต้องการที่จะละคลายเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เวลานี้ทุกคนมีอกุศล แต่ผู้ใดที่เห็นโทษจริงๆ และต้องการที่จะดับอกุศลนั้นเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นบารมี คือ กุศล ประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นและจะขาดสติไม่ได้เลย เช่น เวลาที่อกุศลจิตเกิด ความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นสติเกิดและรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม ก็มีวิริยบารมี มีความเพียรที่จะเป็นกุศล คือ มีเมตตาแทนอกุศล

ทุกคนก็ต้องโกรธ ไม่มีใครที่ไม่โกรธ แต่ใครที่โกรธและมีสติระลึกได้ เมื่อระลึกได้และยังเห็นว่าเป็นโทษ บารมีก็คือไม่ใช่ความโกรธ แต่ต้องเป็นเมตตา เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังมีวิริยะที่จะไม่โกรธ มีวิริยะที่จะเป็นเมตตา ขณะนั้น รู้ได้จริงๆ ว่า กำลังเป็นบารมี เพราะว่าผู้นั้นเห็นโทษ และต้องการละคลายอกุศลเพื่อที่จะดับอกุศลเป็นสมุจเฉท

เปิด  222
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565