แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1866
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒
เพราะฉะนั้น สติจะต้องละเอียดขึ้นสำหรับผู้ที่เจริญบารมี ไม่ว่าจะเป็นมานะ ความสำคัญตน เพราะตามธรรมดาถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ฟังพระธรรมมาก ไม่ใช่เป็นผู้ที่ มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติย่อมไม่มีกำลังพอที่จะเกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังเป็นมานะ แต่ถ้าเกิดมีความรู้สึกว่า กาย วาจาในขณะนั้นเป็นความสำคัญตน วิริยบารมีก็เกิดเพียรที่จะเห็นโทษ เพียรที่จะเป็นกุศลในขณะนั้น คือ มีเมตตาได้แทนที่จะเป็นมานะ และแม้ในขณะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีกำลังในการเจริญสติปัฏฐาน มีการเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ สติก็จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมในขณะนั้นสลับกันก็ได้
แสดงให้เห็นว่า กุศลมีหลายขั้นที่จะเกิดสลับกับอกุศลในวันหนึ่งๆ ได้ ซึ่งถ้าไม่เป็นอย่างนี้ จะให้กุศลมีกำลังได้อย่างไรในการที่จะเห็นอกุศลของตนเอง อย่างละเอียด และมีแม้วิริยบารมีที่จะเพียรเป็นกุศลขั้นหนึ่งขั้นใดที่จะละคลายอกุศลเพราะฉะนั้น เรื่องของบารมี คือ ผู้ที่เห็นโทษของอกุศล เจริญกุศล เพื่อที่จะดับอกุศลเป็นสมุจเฉทนั่นเอง
ถ. การเจริญศีลบารมีนั้น คำว่า ศีล หมายถึงปกติ ทำไมเราจะต้องไปรักษาศีลด้วยเล่า ในเมื่อเป็นปกติอยู่แล้ว
สุ. มีศีล ๒ อย่าง คือ อกุศลศีลและกุศลศีล ทุกวันชีวิตเป็นไปในเรื่องของอกุศลทั้งนั้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลศีล ถ้าปกติเป็นผู้ที่มีกายวาจาสุจริต นั่นก็เป็น กุศลศีล เพราะฉะนั้น ปกติจริง แต่ปกติเป็นอกุศลศีล หรือปกติเป็นกุศลศีล
ถ. ศีลจริงๆ แล้ว หมายถึงปกติ ใช่ไหม
สุ. ปกติ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา
ถ. ทำไมเราต้องไปรักษาศีล ในเมื่อเป็นปกติอยู่แล้ว
สุ. ก็เพราะว่าปกติเป็นอกุศล เมื่อเห็นโทษของอกุศล จึงเพียรที่จะเป็นปกติเป็นกุศลศีล ไม่ใช่เป็นปกติเป็นอกุศลศีล
ถ. แสดงว่า ถ้าศีลเป็นอกุศล เราจะรักษาให้เป็นกุศล
สุ. โดยกุศลเกิด และวิรัติทุจริต
ถ. ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เรา เขา เรามายึด สมมติกันว่า นี่คือตัวเรา นี่คือตัวของเรา แต่ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนนั่นแหละเป็นที่พึงของตน
สุ. ถ้าไม่ใช้คำที่จะให้ชาวโลกเข้าใจ จะใช้คำว่า ขันธ์ ๕ ที่นั่งอยู่ที่นี่ แถวที่ ๑ หรือแถวที่ ๑๐ หรือแถวที่ ๒๐ ทางโน้น ก็ลำบาก เพราะฉะนั้น จะต้องมีคำที่เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าหมายความถึงกลุ่มของขันธ์ ๕ กลุ่มไหน
ถ. แสดงว่าที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตนนั้น เราบัญญัติสมมติ ใช่ไหม
สุ. แน่นอน
ถ. คำว่า ปัญญา กับ มนสิการ ต่างกันอย่างไร
สุ. โดยเจตสิก มนสิการ ได้แก่ มนสิการเจตสิก ปัญญา ได้แก่ ปัญญาเจตสิก
ถ. แสดงว่า ถ้าตัวเราพินิจพิจารณานั้น เป็นมนสิการเจตสิก ใช่ไหม
สุ. มนสิการเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่ปัญญาเจตสิกเกิดกับโสภณจิตบางประเภท ไม่ใช่เกิดกับโสภณจิตทุกประเภท
ถ. แสดงว่า มนสิการหมายถึงตัวที่พินิจพิจารณา ใช่ไหม
สุ. มนสิการ เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ อย่างเวลาที่เห็นอะไรแล้ว ไม่สนใจเลย เพราะว่าความสนใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนสนใจในการ เย็บปักถักร้อย บางคนสนใจในการเล่นดนตรี บางคนสนใจในวิชาการต่างๆ บางคนสนใจในการเพาะปลูก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สนใจในเรื่องไหน ก็ไม่มีความสามารถในเรื่องนั้น
มนสิการเป็นสภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์ที่ปรากฏ เท่าที่พอจะสังเกตรู้ได้ แต่ตามธรรมดาแล้วมนสิการเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท
ถ. ที่กล่าวว่า บารมีทั้งหลายคือสติ
สุ. ขอประทานโทษ บารมีทุกบารมีขาดสติไม่ได้
ถ. สติกับปัญญามีความหมายอย่างเดียวกันหรือเปล่า
สุ. สติ ได้แก่ สติเจตสิก ปัญญา เป็นปัญญาเจตสิก ไม่ใช่เจตสิกเดียวกัน สติเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทุกประเภท แต่ปัญญาเจตสิกเกิดกับโสภณจิตบางประเภท ไม่ใช่เกิดกับโสภณจิตทุกประเภท
เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ไม่มีใครสามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้
สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสมากมายเหลือเกิน ถ้าสติเกิดระลึกจริงๆ ในวันหนึ่งๆ จะเห็นความหนาแน่นของกิเลสซึ่งเป็นไป
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อรรถกถาโมฆราชมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๕ ได้เคยกล่าวถึงแล้ว แต่ขอกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่า ผู้ที่เป็นปุถุชนต่างกับ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลอย่างไร
ข้อความมีว่า
จริงอยู่ ชื่อว่าปุถุชนด้วยเหตุทั้งหลาย มีการยังกิเลสหนาคือมีประการต่างๆ ให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะยังกิเลสหนาให้เกิด
ใครว่ากิเลสของท่านเองไม่หนาบ้าง
ขณะใดที่กิเลสมีกำลังแรง และเป็นไปมากมายในเรื่องต่างๆ วิจิตรพิสดาร จะเห็นได้ว่า กิเลสช่างหนาจริงๆ และที่หนามากก็เพราะว่าละไม่ได้ ถ้ากิเลสบาง ละง่ายมาก แต่เพราะกิเลสหนาแม้แต่จะบรรเทาก็ยังยาก ทั้งๆ ที่รู้ว่าอกุศลทั้งหลาย ไม่ดี แต่เวลาโทสะเกิด บางคนยังไม่แม้แต่จะคิดที่จะละโทสะนั้น หรือแม้แต่ ความริษยา โลภะต่างๆ เกิดขึ้น เพราะว่าเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลสอย่างมาก เพราะฉะนั้น จึงยังคงเป็นผู้ที่แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วยความยินดีพอใจอย่างมากทีเดียว
ผู้ที่เห็นว่า สติปัฏฐานเกิดยาก ผู้ที่เห็นว่า เวลาที่อกุศลธรรมเกิดละไม่ได้ นั่นคือผู้ที่รู้ว่า กิเลสหนา
ชื่อว่าปุถุชน เพราะยังกิเลสหนาให้เกิด เพราะไม่กำจัดสักกายทิฏฐิหนา
ที่เป็นปุถุชนที่กิเลสหนาเกิด เพราะไม่กำจัดสักกายทิฏฐิหนา
การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลหนาเหลือเกิน เพราะฉะนั้น จึงยังเป็นปุถุชนอยู่ ในเมื่อพระอริยบุคคลทุกท่านดับสักกายทิฏฐิ เป็นสมุจเฉท ไม่ว่าสักกายทิฏฐิที่ปุถุชนมีหนาเพียงไร ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลดับได้หมดเป็นสมุจเฉท นี่คือความต่างกันของปุถุชนและพระอริยบุคคล
สำหรับปุถุชนนั้น
เพราะมองดูหน้าของพระศาสดาทั้งหลายหนา (มาก)
คือ เป็นผู้ไม่รู้แจ้งในสภาพธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น บางคนก็ติดตามผู้ที่เป็น ครูอาจารย์โดยที่ไม่พิจารณาในคำที่ได้ยินได้ฟังเลย จึงเป็นผู้ที่ มองดูหน้าของ พระศาสดาทั้งหลายหนา คือ ต้องมองอยู่เรื่อยๆ ต้องถามอยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองธรรมจนกระทั่งเป็นปัญญาของตนเองจริงๆ
เพราะจมอยู่ด้วยคติทั้งปวงหนา
นี่คือสภาพธรรมทุกๆ วัน
เพราะปรุงแต่งอภิสังขารต่างๆ หนา เพราะลอยไปด้วยโอฆะต่างๆ หนา เพราะเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนต่างๆ หนา เพราะถูกเผาด้วยความร้อนต่างๆ หนา เพราะยินดี อยาก กำหนัด สยบ ถึงทับ ติด คล้อง ผูกพันในกามคุณ ๕ หนา เพราะร้อยรัด ครอบงำ ถูกต้อง ปิด ปกปิด ครอบไว้ด้วยนิวรณ์ ๕ หนา เพราะเป็นผู้ล่วงเลยคลองธรรม หันหลังให้อริยธรรม ประพฤติธรรมต่ำ หยั่งลง ในภายในหนา
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะชนนี้ผู้ถึงการนับแยกกัน ไม่ปะปนกับ พระอริยบุคคลผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้นหนา
สำหรับพระอริยบุคคล ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้นหนา คือ หนากันคนละอย่าง สำหรับปุถุชนหนาด้วยสักกายทิฏฐิ แต่พระอริยบุคคลต้อง หนาด้วยศีลและสุตะ
ถ. มีพระรูปหนึ่งท่านให้ความหมายของสักกายทิฏฐิว่า มีความอยากใหญ่ กายมันใหญ่ อยากใหญ่ อาจารย์ช่วยอธิบายอีกสักครั้งหนึ่งเรื่องสักกายทิฏฐิ
สุ. ขอความกรุณาอาจารย์สมพร ช่วยให้ความหมายภาษาบาลีด้วย
สมพร สักกายทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ เป็นของตน หรือขันธ์ ๕ บังคับบัญชาได้ มีความหมายอย่างนี้ เพราะแยกออกเป็นคำว่า สะ - กายะ - ทิฏฐิ คือ เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นกายของตน และขันธ์ ๕ บังคับบัญชาได้
สุ. ถ้ายังมีความยึดมั่นในสักกายทิฏฐิ ก็จะต้อง อาจารย์ท่านนี้ ว่าสักกายทิฏฐิคืออย่างนั้น อาจารย์ท่านนั้นว่าสักกายทิฏฐิคืออย่างนี้ อาจารย์ท่านโน้นว่าสักกายทิฏฐิคืออย่างนั้น เพราะว่ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง
เมื่อฟังศาสดาอื่น ก็มองดูหน้าของศาสดาทั้งหลายหนามาก คือ ติดตามฟังและต้องอ้างคำของศาสดาอื่น แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นต่างกับศาสดาที่ไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม จะต้องฟังอย่างละเอียด รอบคอบ และพิจารณาในเหตุในผล จึงจะเข้าใจถูกต้องได้
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส แสดงความต่างกันของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับคำสอนอื่นๆ
ข้อ ๕๘๘ มีข้อความว่า
ในกาลก่อน (อื่นแต่ศาสนาของพระโคดม) อาจารย์เหล่าใดพยากรณ์ว่า เรื่องนี้มีแล้วดังนี้ เรื่องนี้จักมีดังนี้ คำนั้นทั้งหมดเป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา คำนั้นทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ
ข้อนี้จะเทียบได้ว่า คำไหนเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำไหนไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ฟังพระธรรม เมื่อพิจารณาแล้วจะเข้าใจได้จริงๆ เช่น สักกายทิฏฐิ การยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน
กำลังเห็นในขณะนี้ ขันธ์ ๕ คือ จักขุปสาทเป็นรูปขันธ์ รูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นรูปขันธ์ จักขุวิญญาณเป็นวิญญาณขันธ์ ความรู้สึกในขณะที่เห็นเป็นเวทนาขันธ์ ความจำในสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกับจิตแต่ละประเภทนั้นเป็นสังขารขันธ์
เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ คือ ทุกขณะที่เกิดมาในภูมิที่มีรูป ก็ต้องมีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ครบทั้ง ๕ ขันธ์
ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขันธ์ตามความเป็นจริง คือ ไม่รู้ว่า รูปขันธ์เป็นเพียงรูป เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ฉันใด เวทนา ความรู้สึก ก็เกิดพร้อมกับจิตแต่ละขณะตามเหตุตามปัจจัย และก็ดับไปพร้อมจิต แม้สัญญาเจตสิกหรือเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ก็เกิด พร้อมจิต เพราะฉะนั้น นามขันธ์ ๔ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน นี่คือขันธ์จริงๆ แต่เพราะไม่รู้ความจริงของขันธ์ทั้งหลายจึงยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน รวมกันเป็นเรา นี่คือ สักกายทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น คำสอน ในกาลก่อน (อื่นแต่ศาสนาของพระโคดม) อาจารย์เหล่าใดพยากรณ์ว่า เรื่องนี้มีแล้วดังนี้ เรื่องนี้จักมีดังนี้ คำนั้นทั้งหมดเป็นคำกล่าว สืบๆ กันมา คำนั้นทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ คือ เพียงแต่ทำให้เกิดการคิดตามไป ถูกบ้าง ผิดบ้างอยู่เรื่อยๆ แล้วแต่ว่าจะได้ยินได้ฟังมาอย่างไรก็คิดตามคำที่ได้ยินได้ฟังไปอย่างนั้น แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจริงๆ เหมือนอย่างคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถแยกได้ว่า คำสอนใดเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาค และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาค
ข้อ ๕๙๒ มีข้อความว่า
คำว่า คำทั้งหมดนั้นเป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา ความว่า คำนั้นทั้งสิ้น เป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา คือ อาจารย์เหล่านั้นกล่าวธรรมอันไม่ประจักษ์แก่ตน ที่ตนไม่ได้รู้มาเอง ตามที่ได้ยินกันมาตามลำดับสืบๆ กันมา ตามความอ้างตำรา ตามเหตุที่นึกเดาเอาเอง ตามเหตุที่คาดคะเนเอาเอง ด้วยความตรึกตามอาการ ด้วยความชอบใจว่าต้องกับลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า คำทั้งหมดนั้น เป็นคำกล่าวสืบๆ กันมา
ต่อไปนี้ก็คงจะทราบ เวลาได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจะเรื่องสักกายทิฏฐิ หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าไม่ใช่เรื่องของสภาพธรรมที่สามารถเข้าใจได้พิสูจน์ได้เพราะว่ากำลังปรากฏ คำสอนนั้นๆ ก็นึกเดาเอาเอง หรือได้ยินกันมาตามลำดับสืบๆ กันมา ด้วยความตรึกตามอาการ ด้วยความชอบใจว่าต้องกับลัทธิของตน
เวลาที่ได้ยินคำใด พิจารณาแล้วไม่ได้เหตุผล ก็ไม่ยึดถือในคำนั้น และ ไม่กล่าวตามๆ คำนั้นอีกต่อไป เพราะเป็นคำที่ไม่มีสาระ แต่คำใดที่มีประโยชน์ ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น พิจารณาแล้วสามารถเข้าใจชีวิตทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ คำนั้นก็เป็นสิ่งที่มีสาระ ที่ควรจะศึกษาให้เข้าใจยิ่งขึ้น
ข้อ ๕๙๓ มีข้อความว่า
คำว่า คำทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ
เวลาที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ทุกคนจะอดคิดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะได้ฟังความเห็นอย่างไร ไม่ว่าจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมประเภทใดก็ตาม ก็ทำให้เกิดความคิดนึกตรึกไปตามข้อความที่ได้ยินได้ฟังนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคำนั้นไม่ใช่คำจริง ถ้าคำนั้นไม่ใช่คำถูก คำนั้นก็ไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาที่จะละกิเลส
คำทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ ความว่า คำนั้นทั้งสิ้น เป็นเครื่องยังความตรึกให้เจริญ คือ เป็นเครื่องยังวิตกให้เจริญ เป็นเครื่องยังความดำริให้เจริญ เป็นเครื่องยังกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตกให้เจริญ เป็นเครื่องยังความตรึกถึงญาติให้เจริญ เป็นเครื่องยังความตรึกถึงชนบทให้เจริญ เป็นเครื่องยังความตรึกถึงเทวดาให้เจริญ เป็นเครื่องยังวิตกอันปฏิสังยุตด้วยความเอ็นดูผู้อื่น ให้เจริญ เป็นเครื่องยังวิตกอันปฏิสังยุตด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ ให้เจริญ เป็นเครื่องยังวิตกอันปฏิสังยุตด้วยความไม่ปรารถนาให้ใครดูหมิ่นตนให้เจริญ
นี่คือความละเอียดของความคิดว่า วันหนึ่งๆ คิดอะไรบ้าง ซึ่งไม่พ้นจากความคิดเรื่องของตัวเองด้วยความเป็นตัวตน เช่น ยังกามวิตกให้เจริญ คิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และยังความตรึกถึงญาติให้เจริญ ยังความตรึกถึงชนบทให้เจริญ ตลอดไปจนกระทั่งถึงยังวิตกอันเป็นไปด้วยลาภ สักการะ และความสรรเสริญให้เจริญ เป็นเครื่องยังวิตกอันเป็นไปด้วยความไม่ปรารถนาให้ใครดูหมิ่นตนให้เจริญ
เป็นความจริงไหม ท่านที่ต้องการลาภสักการะ จะเห็นได้ว่า ในขณะนั้น ไม่ปรารถนาให้ใครดูหมิ่นตน เพราะฉะนั้น คำสอนนั้นไม่ทำให้ละคลายความสำคัญตน ที่จะเป็นผู้ที่อดทนไม่ว่าต่อสักการะหรือคำดูหมิ่น