แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1868

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒


อีกอย่างหนึ่ง เหมือนแพทย์ผู้ฉลาด ย่อมรู้โภชนะเป็นต้นที่เป็นสัปปายะ และไม่เป็นสัปปายะของผู้ป่วยไข้ทั้งหลาย ฉันใด

นี่เห็นปัญญาในชีวิตประจำวันที่จะต้องอบรมจนกระทั่งแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ

ปัญญาก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้น ย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ที่เลวและประณีต ที่ดำและขาว และมีส่วนเปรียบ สมจริงดังคำที่ท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า เพราะอรรถว่า ย่อมรู้ทั่ว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญารู้ทั่วอะไร รู้ทั่วว่า นี้ทุกข์ ดังนี้

อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีการแทงตลอดตามภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะ ดุจการแทงตลอดของลูกธนูของผู้ฉลาด มีความสว่าง ในอารมณ์เป็นรส ดุจประทีป มีความไม่ลุ่มหลงเป็นปัจจุปัฏฐาน (คือ อาการปรากฏ) ดุจคนชำนาญป่าไปป่า ฉะนั้น

นี่คือลักษณะของปัญญาที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตรงตามความเป็นจริง

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด วันหนึ่งๆ ผ่านไปโดยไม่รู้เลยว่า อกุศลจิตชนิดใดเกิด เป็นโลภะระดับไหน เป็นไปในทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะว่าทางตาเวลาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ยินดี แต่ทางใจก็ยังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ของสิ่งนั้นและก็เกิดความยินดีขึ้น แสดงให้เห็นว่า ในวันหนึ่งๆ ที่อกุศลธรรมเกิดและสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่สามารถแยกเห็นชัดจนกระทั่งว่า นี้เป็นความยินดีพอใจทางตา นี้เป็นความยินดีพอใจทางใจ หรือนี้เป็นความยินดีพอใจทางหู นี้เป็นความยินดีพอใจทางใจ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปโดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

แต่เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ย่อมรู้ทั่วซึ่งสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ไม่ต้องถามใครเลยว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะขณะนั้นปัญญาสามารถ รู้ได้และรู้ว่า เป็นธรรมที่ควรเสพหรือไม่ควรเสพ ถ้าเป็นอกุศล ปัญญารู้ เห็นโทษด้วย และรู้ด้วยว่า ไม่ควรจะให้ธรรมนั้นเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิด ปัญญารู้ชัดและเห็นโทษ เวลาที่กุศลจิตเกิด ปัญญาก็รู้ชัดและเห็นประโยชน์

รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เลวและประณีต ที่ดำและขาว และมีส่วนเปรียบ สามารถเปรียบความละเอียดขึ้นของจิตใจได้ อย่างท่านที่บอกว่า เหมือนเป็นอุบาย ที่ว่า ความจริงใจในการเป็นกุศลยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว แต่ท่านรู้ว่า ถ้าท่านมีวิริยะที่จะทำสิ่งที่เป็นกุศล ก็จะเป็นการทำให้กุศลสมบูรณ์ขึ้นในภายหลังได้ ซึ่งขณะนั้น ถ้าสติเกิดพร้อมด้วยปัญญาก็สามารถรู้ความต่างกันที่เปรียบเทียบได้ว่า ก่อนที่จะ เป็นกุศลจิตที่สมบูรณ์จริงๆ กับขณะที่กำลังพยายามที่จะเป็นกุศลแม้ว่าจะมี อกุศลเกิดคั่น แต่ความพยายามและกุศลก็เริ่มมีกำลังที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ลักษณะของความเจริญของกุศลนั้นต่างกัน แสดงให้เห็นได้ว่า ปัญญาสามารถรู้ได้ ในธรรม ที่เลวและประณีต ที่ดำและขาว และมีส่วนเปรียบ

ขุททกนิกาย มหานิทเทส กามสุตตนิทเทส และอรรถกถา มีข้อความตอนหนึ่งว่า

การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นการไปสู่ทิศคือนิพพาน ซึ่งไม่เคยไปแม้ในความฝัน เป็นการก้าวล่วงทางไกล คือสังสารวัฏฏ์

ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นจริงๆ จะรู้ว่า สังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมาแล้วยาวนานมากเหลือเกิน และถ้าปัญญายังไม่สมบูรณ์ สังสารวัฏฏ์ข้างหน้าก็ต้องต่อไปอีกแสนไกลเพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนถึงความเป็น เป็นพระอรหันต์นั้น เป็นการไปสู่ทิศคือนิพพาน ซึ่งไม่เคยไปแม้ในความฝัน เป็นการก้าวล่วงทางไกลคือสังสารวัฏฏ์

ฝันถึงอะไรก็คงฝันถึงได้ทั้งหมด เว้นฝันถึงนิพพาน ไม่มีทางที่จะฝันได้เลย เพราะฉะนั้น จึงมีข้อความว่า เป็นการไปสู่ทิศคือนิพพาน ซึ่งไม่เคยไปแม้ในความฝัน

ลักษณะของคนที่ชำนาญป่า กับคนที่ไม่ชำนาญป่านั้นก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาเกิดขึ้นก็สามารถที่จะไวที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า สภาพธรรมขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลด้วยความชำนาญ เพราะว่าได้อบรมมาแล้ว

ถ. ธรรม ๕ อย่างนี้ คือ ศีล วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันหรือไม่

สุ. แล้วแต่ความเข้าใจของบุคคลนั้น

ถ. เข้าใจในแง่ไหน

สุ. เข้าใจว่า จะเจริญศีล วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาเพื่ออะไร

ถ. เพื่อละคลายกิเลส

สุ. ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด พร้อมกันได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. ทำไมจะแยกกัน

ถ. เพราะว่าศีลเป็นแค่เกราะกำบังเท่านั้น

สุ. ศีลมีหลายอย่าง ถ้าเป็นปาฏิโมกขสังวรศีล ก็เป็นระเบียบวินัย ข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับพระภิกษุ ซึ่งเป็นอาทิพรหมจรรย์เบื้องต้นที่จะทำให้ ขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นจนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่จะปราศจากอธิศีลสิกขา หรือปราศจากสังวรศีลไม่ได้ เพราะถ้าเพียงแต่รักษาปาฏิโมกขสังวรศีล โดยไม่มี สังวรศีลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญาก็เจริญไม่ได้

ถ. แสดงว่า ธรรมที่กล่าวนี้ สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน ใช่ไหม

สุ. แล้วแต่ความเข้าใจ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจ ก็จะเพียงแต่รักษาศีลก่อน เพราะคิดว่าต้องรักษาศีลก่อน แต่ความจริงแล้วศีลมีหลายประเภท หลายขั้น แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องของการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ จะไม่ปราศจาก ทั้งศีล วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

ถ. แสดงว่า การที่จะเจริญศีล สมาธิ ปัญญานั้น ต้องเจริญพร้อมๆ กัน ใช่ไหม

สุ. ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นเป็นอธิศีล เอกัคคตาเจตสิกในขณะนั้นก็เป็นอธิจิต และปัญญาที่กำลังศึกษาพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เป็นอธิปัญญา จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ที่เป็น วิปัสสนาญาณ

เพราะเหตุว่าการฟังพระธรรม คือ การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีอยู่ ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ใช่ทรงแสดงเพื่อให้เราไปรู้สิ่งอื่น แต่เป็นความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ง่ายเลย แม้ในขั้นของการฟัง ในขั้นของการพิจารณา ในขั้นที่จะระลึกได้และศึกษา คือ สังเกต พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ทราบเรื่องของบารมี ๑๐ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี บารมีทั้ง ๑๐ จะขาดบารมีหนึ่งบารมีใดไม่ได้เลย คือ จะเจริญเพียงปัญญาบารมีอย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากิเลสมีมาก ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของบารมี ๑๐ และไม่พิจารณาตนเองเพื่อที่จะเจริญบารมีทั้ง ๑๐ ก็ย่อมเป็นเพียงความหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยที่ไม่รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า จะต้องอาศัยบารมีที่เป็นกุศลละคลายอกุศลธรรม

และสำหรับบารมีที่ทุกท่านประพฤติปฏิบัติกันอยู่หลังจากที่เมื่อเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็คงจะมีทานบารมี การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ศีลบารมี การวิรัติทุจริต เนกขัมมบารมี การละคลายความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่าเพียงทีละเล็กทีละน้อย แต่ก็ยังสังเกตได้ว่า ยังมีช่วงเวลาที่นึก ละคลาย มีความรู้จักพอในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยไม่ติดข้องจนไม่สมควร

สำหรับปัญญาบารมี เป็นสิ่งที่ทุกคนเมื่อได้ยินชื่อก็ย่อมปรารถนาที่จะมีอย่างมากๆ ทีเดียว แต่ปัญญาบารมีหรือปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนมีอยู่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมให้เกิดขึ้น เพราะว่าวันหนึ่งๆ คนส่วนใหญ่ต้องการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมไหม

ในขณะที่กำลังมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า มีฉันทะ ความพอใจที่ต้องการจะรู้ ต้องการจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้หรือไม่

สำหรับบางท่านเมื่อไม่เห็นประโยชน์ของปัญญา ก็ไม่อบรมเจริญปัญญา บางท่านก็พอใจที่จะศึกษาพระธรรมเพียงขั้นพื้นฐานที่ทำให้เกิดความสบายใจ ในวันหนึ่งๆ คิดว่าพอแล้ว แต่เมื่อเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ละเอียดขึ้นก็บอกว่า ยากไป และก็ล้มเลิกความคิดที่จะศึกษาพระธรรม

แสดงให้เห็นว่า การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเห็นประโยชน์ของปัญญาจริงๆ ต้องอาศัยวิริยะ ความอดทนด้วย เพราะว่าปัญญาที่จะเกิดเพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ของง่าย ถ้าเพียงแต่สบายๆ ไปวันหนึ่งๆ ในชีวิตประจำวัน ฟังพระธรรมเพียงพื้นฐาน ก็ไม่ใช่ปัญญาบารมีที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะปัญญาบารมีจริงๆ ต้องเป็นไปในการเจริญความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ในขั้นของ การฟัง หรือการพิจารณา หรือการระลึกได้ในขณะนี้

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อชิตมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๙๗ มีข้อความว่า

คำว่า กุสโล สัพพะธัมมานัง ความว่า เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง

ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ และปัญญา คือ ความรู้ ความฉลาด ในธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ความไม่รู้ ทั้งๆ ที่มีการเห็น การได้ยินเกิด แต่เมื่อไม่รู้ ก็ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความฉลาด เพราะฉะนั้น เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง คือ รู้ว่า

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง แม้ด้วยอาการอย่างนี้

ถ้าจะให้เข้าใจจนกระทั่งประจักษ์แจ้งจริงๆ ต้องศึกษาโดยละเอียด จึงจะเข้าใจได้ว่า สังขารทั้งปวง ต้องทุกอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่เที่ยง คือ เกิดดับ และสภาพธรรมที่เกิดดับนั้นเป็นทุกข์ และธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

ถ้าเป็นคนที่ได้อบรมเจริญปัญญาบารมีมามากในอดีต เพียงฟังเท่านี้สามารถ ที่จะประจักษ์การเกิดดับของสังขารธรรมในขณะนี้ได้จริงๆ แต่สำหรับผู้ที่ยังอบรมมา ไม่พอ ฟังแล้วต้องฟังอีก และต้องฟังโดยละเอียดเพิ่มขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกอย่างหนึ่ง พึงเป็นผู้ฉลาดในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค ผล นิพพาน พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงแม้ด้วยอาการอย่างนี้

เพิ่มความฉลาดขึ้นอีก เมื่อกี้เป็น สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง แต่เมื่อได้ยินอย่างนี้ ก็ยังไม่สามารถประจักษ์ความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้น ต้องจำแนกให้ละเอียดต่อไปอีก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิริยะ ความพากเพียร ความอดทนของผู้ที่จะศึกษา ให้เข้าใจจริงๆ มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ได้ เช่น ข้อความต่อไปที่ว่า อีกอย่างหนึ่ง พึงเป็นผู้ฉลาดในขันธ์ ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งกำลังมี ในขณะนี้ และใน ธาตุ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน เป็นชื่อภาษาบาลีทั้งนั้น แต่ให้ทราบว่า หมายถึงสภาพธรรมที่ละเอียดและเป็นปัจจัยแก่กันและกันเกิดขึ้นนั่นเอง สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ นี่ก็เป็นเรื่องของปัญญาที่ เจริญขึ้นๆ พร้อมกับการเป็นผู้เพียรที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

โพชฌงค์ คือ องค์ของการตรัสรู้อริยสัจจธรรม

มรรค ผล นิพพาน พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงแม้ด้วยอาการอย่างนี้

ก็ยังไม่เป็นผู้ฉลาด ถ้าเพียงได้ฟังสั้นๆ ย่อๆ อย่างนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกอย่างหนึ่ง อายตนะ ๑๒ คือ จักษุและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ใจและธัมมายตนะ เรียกว่า ธรรมทั้งปวง

ขณะที่ฟังพระธรรมและเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามไปด้วย ขณะนั้นผู้ที่ได้อบรมปัญญามาแล้วสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ได้จริงๆ เช่น เป็นผู้ฉลาดในอายตนะ คือ จักษุและรูป คือ ตาหรือจักขุวิญญาณ ที่กำลังเห็น และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เอง

เพราะฉะนั้น ธรรมมีให้พิสูจน์ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขอให้ย้อนกลับมาที่ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ ในขณะที่กำลังเห็น จะเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏได้อย่างไร ก็มีทางเดียว คือ เมื่อได้ฟังแล้วก็ระลึกได้ที่จะเข้าใจลักษณะของเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ในขณะที่กำลังเข้าใจ ขณะนั้นสติปัฏฐานคือพร้อมด้วยสติที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังเห็น และปัญญาสามารถรู้ในลักษณะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงคำหรือความหมาย หรือติดที่พยัญชนะคือการเจริญสติปัฏฐาน ก็เปลี่ยนมาที่กำลังเห็น จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นโดยอย่างไร ก็โดยเมื่อฟังแล้วมีวิริยะที่จะรู้ว่า ขณะที่เห็น ในขณะนี้เป็นสภาพรู้

ในขณะนี้เอง ขอให้ทุกคนที่กำลังเห็น เข้าใจลักษณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่าเป็นสภาพรู้ นั่นคือสติปัฏฐานแล้ว

หรือในขณะที่กำลังได้ยิน ซึ่งทุกคนกำลังได้ยินในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กำลังรู้ว่า ที่กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้ เข้าใจลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังได้ยินถูกต้องว่า ลักษณะที่กำลังได้ยินนี้เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง ในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานแล้ว พร้อมด้วยสติและปัญญา

เพราะฉะนั้น ขณะไหนก็ได้ที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก และรู้อายตนะ คือ จักษุและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ใจและธัมมายตนะ ขณะนั้นชื่อว่ากำลังอบรมเจริญปัญญา โดยกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ถ้าจะไม่ใช่คำว่า สติปัฏฐาน แต่ใช้คำว่า กำลังเห็น ก็เข้าใจ เริ่มเข้าใจลักษณะของเห็น กำลังได้ยิน ก็เริ่มเข้าใจลักษณะของได้ยิน กำลังได้กลิ่น เริ่มเข้าใจลักษณะที่กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก

เปิด  334
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565