แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1871

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๒


ถ. โดยมากตั้งแต่ตื่นนอน ผมมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า คล้ายๆ กับมีอะไรที่ ข้องใจ หรือทุกข์ใจ หรือเดือดร้อนใจเป็นประจำ ไม่ทราบว่าอารมณ์อะไรเกิดขึ้น และจะคิดอยู่อย่างนั้น ก็คิดว่า ที่เราเป็นอย่างนั้นคืออะไร ทำไมต้องคิดอยู่เสมอ เป็นวิบากอะไรในอดีตหรือเปล่า คือ คอยหาเรื่องว่าเราจะต้องทุกข์ จะต้องเดือดร้อนอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อคิดได้ว่า ที่คิดอย่างนั้นก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ก็บรรเทาไปได้ชั่วขณะเดียวและก็เป็นอีก เป็นอยู่อย่างนี้เป็นประจำ แทบจะทุกวันเลย

สุ. แสดงให้เห็นว่า การหลงลืมสติมีมาก เพราะว่าระลึกเพียงขณะนั้น แต่ไม่ได้ระลึกทางตา ไม่ได้ระลึกสภาพธรรมอื่น เช่น นามธรรมที่เห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตา นามธรรมที่ได้ยินและเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นต้น

การที่จะขัดเกลาละความไม่รู้ ต้องเจริญความรู้ทั่วทั้ง ๖ ทางบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งไม่ว่าสภาพธรรมในขณะนั้นจะเป็นอะไร สติก็สามารถระลึกและรู้ทันที สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นทันทีว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น

ถ. บางทีขณะที่คิดได้ว่า นั่นเป็นแต่เพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ก็ยังนึกว่า ที่คิดนี้เป็นเรา คิดซ้อนเข้าไปอีกแทนที่จะละคลาย ผมว่าปัญญาเรานี่น้อยเหลือเกิน ที่จะละจะคลาย

สุ. แสดงให้เห็นว่า ต้องอบรมเจริญมากกว่านั้นอีก เพราะว่าเรื่องละคลายเป็นเรื่องที่รู้ขึ้น เพราะฉะนั้น ตราบใดยังไม่รู้ขึ้น คือ ยังไม่เข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวันขึ้น จะละคลายความไม่รู้ไม่ได้

โดยมากทุกท่านได้ยินคำว่า ละคลาย แต่ควรจะเข้าใจด้วยว่า ละคลาย หมายถึงคลายความไม่รู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ในชีวิตประจำวันตามปกติ ขณะใดที่รู้ขณะนั้นจะทราบได้ว่า ละคลาย ทีละเล็กทีละน้อย

ถ. ไม่ใช่ละคลายไม่ให้คิดอย่างนั้น ใช่ไหม

สุ. ละคลายความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. ห้ามไม่ให้คิดอย่างนั้น คงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เราต้องทำ คือ พยายามศึกษาและระลึกรู้สิ่งที่ยังไม่รู้เนืองๆ บ่อยๆ จึงจะเป็นอุบายที่ละคลายได้

สุ. เรียนเรื่องจิตมาก็มาก เรียนเรื่องเจตสิกมาก็มาก เรียนเรื่องปัจจัยต่างๆ มาก็มาก ผลก็คือ ควรรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามที่เรียน เพื่อที่จะละคลาย สรุปมาที่เป็นเพียงสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่สภาพรู้ จึงจะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา

ถ. ตัวอย่างที่อาจารย์ยกมา ๒ เรื่องนั้น เป็นเรื่องที่ท่านพิจารณา ปฏิจจสมุปบาททั้ง ๒ เรื่องเลย ปฏิจจสมุปบาท ผมก็พยายามศึกษา ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นเรื่องยากลึกซึ้ง ไปเปิดศัพท์คำว่า ปฏิจจะ แปลว่า อาศัย หรือ เกี่ยวเนื่อง คำว่า สมุปบาท แปลว่า เกิดขึ้น ถ้าแปลอย่างสั้นๆ รวมกันก็แปลว่า ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น แต่ความหมายลึกซึ้งกว่านั้น ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

สุ. ขณะนี้ทางตา คือ ทั้งหมดจะต้องมีอยู่ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน การศึกษาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก หรือปัจจัยต่างๆ ในคัมภีร์ต่างๆ ที่ได้เข้าใจแล้ว ก็คือให้สามารถรู้ว่า กำลังเห็น เป็นสภาพรู้ และภายหลังก็จะรู้ว่านามธรรมที่ปรากฏนี้ต้องมีเหตุมีปัจจัย เช่น เห็นเป็นอย่างหนึ่ง ได้ยินเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพรู้ แต่เห็นเป็นนามธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งต้องอาศัยจักขุปสาท ส่วนได้ยิน เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่สภาพที่เห็น เพราะเกิดขึ้นโดยอาศัยเสียงเป็นปัจจัย ขณะที่เสียงกำลังปรากฏ

เมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมแล้วก็สามารถรู้ว่า ขณะนี้นามธรรมนี้เกิดเพราะปัจจัยคือเสียง ไม่ใช่ให้นึกเป็นคำ แต่ทันทีที่ระลึกทางตาก็รู้ว่า สภาพนามธรรมนี้ มีปัจจัย คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ และขณะที่กำลังได้ยินเสียงก็รู้ว่า นามธรรมคือสภาพ ที่ได้ยินนั้นมีปัจจัย คือ เสียง เพราะฉะนั้น ก็เป็นนามธรรมแต่ละชนิด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างกัน

ถ. เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ลงที่ปัจจัย ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น อ่านแล้ว ได้ประโยชน์อยู่อย่างหนึ่ง คือ จำได้ว่า อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดสฬายตนะ สฬายตนะให้เกิดผัสสะ ผัสสะ ให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน จำได้โดยไม่ได้ท่อง เพราะไปอ่านในพระสูตรก็พบ อ่านในอรรถกถาก็พบ พูดถึงเรื่องอนุโลมและปฏิโลม กลับไปกลับมาอย่างนั้น และยังแสดงเป็นวัฏฏะ เป็นวงกลม ในอรรถกถาก็ให้ ไปอ่านในวิสุทธิมรรค ในวิสุทธิมรรคก็บอกว่าเอาตรงไหนขึ้นก็ได้ สรุปแล้ว ยังไม่เข้าใจเท่าไร แต่ที่อาจารย์บอกว่า เป็นเรื่องธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ทางตาก็ดี ที่จะเกิดขึ้นได้ นามธรรมจะเกิดขึ้นต้องมีเหตุมีปัจจัย รูปธรรมจะเกิดขึ้นก็ต้องมีเหตุ มีปัจจัย สติที่จะระลึกได้บ่อยๆ ก็ต้องมีเหตุมีปัจจัย อย่างนี้รู้สึกว่าจะเข้าใจดีกว่า

สุ. การศึกษาธรรม ถ้าเข้าใจจุดประสงค์ว่า เพื่อเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สติระลึกว่า ธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ทุกอย่างที่ได้ศึกษามาแล้ว ความเข้าใจทั้งหมดนั้นจะต้องในขณะที่ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง แม้แต่เรื่องของ ปัจจัยที่ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น นั่นเอง

ถ. ในขณะที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด ท่านอาจารย์พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า สมถภาวนาที่สมควรอบรมเจริญ คือ เมตตากับมรณานุสสติ กราบเรียนท่านอาจารย์ช่วยอธิบายโดยละเอียดว่า การอบรมเจริญมรณานุสสติอย่างละเอียดนั้นเป็นอย่างไร

สุ. การฟังพระธรรมต้องทราบว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ และสภาพธรรมที่มีจริงๆ นั้น มีทั้งกุศลและอกุศล ซึ่งในวันหนึ่งๆ อกุศลย่อมเกิดมากกว่ากุศล และเวลาที่ สติปัฏฐานไม่เกิด ก็มีปัจจัยที่จะให้กุศลขั้นอื่นเกิด ซึ่งไม่ใช่ให้ทำ แต่หมายความว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด ทั้งอกุศลและกุศลประการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง เพื่อที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น จุดประสงค์สูงสุด คือ เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่การที่สติปัฏฐานที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเกิด เป็นสิ่งที่ยาก และไม่บ่อย ดังนั้น การฟังทั้งหมดจะเป็นปัจจัยทำให้กุศลขั้นอื่นเกิด

ไม่ใช่ว่าเราจะทำ แต่เพราะว่าสติปัฏฐานเป็นกุศลที่เกิดยาก การฟังธรรม และเห็นประโยชน์ของกุศล ขั้นต่างๆ จะเป็นปัจจัยทำให้เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด กุศลขั้นอื่นก็มีปัจจัยที่จะเกิดได้ ซึ่งบางท่านก็เกิด บางท่านก็ไม่เกิด เช่น ได้ฟังเรื่องโทษของโทสะและอานิสงส์ของเมตตา ทั้งๆ ที่ได้ฟังอย่างนี้มามากสักเท่าไร แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นจริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วแต่การสะสม ความเข้าใจ และการเห็นประโยชน์ของกุศลที่จะทำให้สติขั้นใดหรือกุศลขั้นใดเกิด ถ้าสติที่เป็นขั้นความสงบจากอกุศลเกิด ก็จะเห็นโทษของโทสะในขณะนั้นและมีเมตตาแทนที่จะเกิดโทสะ ซึ่งบังคับไม่ได้ แต่ให้เห็นว่า ธรรมที่ได้ฟังทั้งหมดจะเกื้อกูลให้ กุศลเกิด ตามกำลังของกุศลขั้นนั้นๆ

ถ. ที่ผมเรียนถามนี้ ก็เพราะเคยได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวว่า การศึกษาอบรมพระธรรมนั้น ลักษณะคล้ายกับดาบสองคม โดยนัยเดียวกัน การทำทาน ถ้าหากว่าทานนั้นประกอบด้วยเจตนาก่อนทำ เจตนาในขณะทำ และเจตนาหลังจาก ที่ทำแล้ว รวมทั้งปฏิคาหกผู้รับเป็นผู้ที่สมควร ก็จะได้กุศลที่แตกต่างกัน หรือ การอบรมเจริญมรณานุสสติ คล้ายดาบสองคม ถ้าเราทำทาน ทำเพื่อหวังอยากจะ ได้มาก กับทำทานเพื่อเกื้อกูลให้เกิดสติสัมปชัญญะ อาจารย์ช่วยกรุณาขยายความลักษณะของดาบสองคมอีกสักครั้ง เพราะผมเองเมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว การทำทานก็จะเลือกทำกับผู้ที่เราจะได้บุญได้กุศลมากๆ หรือในขณะที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด ก็อยากจะไปทำเมตตาบ้าง หรือไปทำมรณานุสสติบ้าง

สุ. ที่ว่าการศึกษาธรรมเป็นดาบสองคม ก็เพราะถ้าศึกษาแล้วเข้าใจผิด ปฏิบัติผิด จะทำให้อกุศลจิตเกิด แต่ถ้าศึกษาถูก เข้าใจถูก ก็จะทำให้ละอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจถูก และละอกุศล เพื่อละ เช่น ในเรื่องของทาน เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอานิสงส์ของทานลักษณะต่างๆ ว่า ถ้าประกอบด้วยเจตนา ๓ กาล เช่น ก่อนให้กุศลจิตเกิด มีบุพพเจตนา กำลังให้ขณะนั้นก็เป็นกุศลจึงมีการให้ เป็นมุญจนเจตนา และเมื่อ ให้แล้วกุศลจิตก็ยังเกิดภายหลังอีก เพราะฉะนั้น กุศลนั้นย่อมมีกำลังเป็นกุศล ขั้นอุกฤษฏ์ หรือขั้นเลิศ

การที่ทรงแสดงธรรมในเรื่องของทาน เพื่อให้เข้าใจเหตุและผลตามความ เป็นจริง แต่ผู้ที่เข้าใจผิด แทนที่จะเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องเหตุและผล ก็เกิดโลภะ ความต้องการอานิสงส์หรือผลของทาน เพราะฉะนั้น แทนที่จะให้ทานตามปกติและก็รู้ว่า บางครั้งที่ให้อาจจะเป็นการให้ที่ไม่มีบุพพเจตนา คือ อาจจะบังเอิญไปพบคนที่ยากไร้ และเสียสละให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์แก่บุคคลนั้น เช่น ให้เงินกับคนขอทาน ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ได้คิดเตรียมการล่วงหน้าที่ว่าวันนี้จะให้ขอทานจำนวนเท่านั้นคน หรือจำนวนเท่านั้นบาท แต่เมื่อมีบุคคลที่ทุกข์ยากเฉพาะหน้า ก็สงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นทานกุศลไป ซึ่งผู้ที่ให้ทานก็รู้ว่า ทานที่ให้ในขณะนั้น ไม่มีบุพพเจตนา แต่มีมุญจนเจตนา และเมื่อให้ไปแล้วอาจจะไม่ได้ระลึกถึงทานนั้นเลย ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่มีบุพพเจตนาก็ไม่ให้ ต้องคอยให้มีบุพพเจตนาก่อนจึงจะให้ หรือเมื่อให้ไปแล้วมีบุพพเจตนา มีมุญจนเจตนา ก็พยายามที่จะระลึกถึงทานนั้นบ่อยๆ โดยหวังอานิสงส์ของทานนั้นที่จะให้ผลอย่างเลิศ หรือให้มีอานิสงส์มาก

ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่ได้ละอะไร และไม่ได้เข้าใจเหตุผลด้วยว่า พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด ทรงแสดงเหตุและผลตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ไม่ใช่มุ่งหวังให้บุคคลใดเกิดความติดหรือความหวังต้องการในผลหรือในอานิสงส์ของกุศลขั้นนั้นๆ

หรือในเรื่องของสังฆทาน บางท่านก็ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สังฆทานมีอานิสงส์มาก แต่เมื่อมีความต้องการผลมากของสังฆทาน ก็พยายามที่จะทำสังฆทาน โดยที่บางคนอาจจะถามว่า สังฆทานทำอย่างไร จะต้องมีถัง มีข้าว มีไม้กวาด หรือมีตะกร้า หรือจะต้องมีอะไรบ้าง และบางคนก็ถามว่า ต้องกล่าว ว่าอย่างไร คือ ต้องมีคำกล่าวซึ่งผิดก็ไม่ได้ ต้องกล่าวให้ถูก เพื่ออะไร ก็เพื่อ หวังอานิสงส์มากของสังฆทาน

พระธรรมทั้งหมดเพื่อการละ เพื่อการขัดเกลา แต่ในขณะที่บุคคลนั้นหวังผลหรือหวังอานิสงส์ของกุศล ขณะนั้นไม่ใช่เพื่อการขัดเกลาเลย แทนที่จะเข้าใจว่า สังฆทาน คือ การให้ทานแก่พระสงฆ์โดยไม่เจาะจงพระภิกษุ และมีความนอบน้อม ในพระภิกษุผู้รับ บางท่านก็อยากจะได้อานิสงส์ของสังฆทานมาก ซึ่งปกติไม่ได้เป็น ผู้ที่นอบน้อมต่อพระภิกษุสงฆ์ แต่เมื่อต้องการอานิสงส์ของสังฆทาน ก็พยายาม ทำสังฆทาน โดยนิมนต์พระภิกษุโดยไม่เจาะจง และพยายามจะนอบน้อมอย่างยิ่ง ในขณะที่ถวายทาน แต่ผลก็คือผู้นั้นบอกว่า ทำเท่าไรก็ไม่สำเร็จ คือ ใจยังไม่ นอบน้อมอยู่นั่นเอง

แสดงให้เห็นว่า ตามปกติควรจะเป็นผู้นอบน้อมต่อพระสงฆ์ ถ้าผู้ใดเป็นผู้ที่ มีปกตินอบน้อมต่อพระสงฆ์ เวลาถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อสงฆ์ ขณะนั้นมีความนอบน้อมซึ่งเป็นกุศล เพราะฉะนั้น อานิสงส์ก็มาก

อานิสงส์ไม่ได้อยู่ที่ถัง ไม่ได้อยู่ที่ข้าวสาร ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่จิตที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และผ่องใสด้วยกุศลมากเท่าไรก็เป็นกุศลเท่านั้น

บางท่านอาจจะถวายทานแก่พระภิกษุ และคิดถึงความเป็นภิกษุบุคคล โดยเจาะจงภิกษุบ้าง หรือไม่มีความนอบน้อมต่อพระภิกษุ ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้น จะให้มีอานิสงส์มากได้อย่างไร

ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงว่า สังฆทานมีอานิสงส์มาก ก็ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ส่งเสริมให้บุคคลใดมีความโลภ มีความติด มีความต้องการ ในอานิสงส์ของสังฆทาน แต่ทรงแสดงเหตุว่า เมื่อสภาพของจิตที่เป็นกุศลซึ่งเป็นเหตุผ่องใสเพียงใด ก็จะทำให้กุศลวิบากซึ่งเป็นผล เป็นกุศลวิบากที่เลิศเพียงนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ไปติดในผลที่เลิศ หรือในอานิสงส์ที่เลิศของทานที่ให้ นี่จึงเป็นความหมายของการศึกษาพระธรรม

ถ้าศึกษาโดยไม่เข้าใจว่าการศึกษาพระธรรมเพื่อละอย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อติดข้อง ไม่ใช่เพื่อการสะสม ไม่ใช่เพื่อการหวังผลหรืออานิสงส์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นดาบ ๒ คม คือ แทนที่ผู้นั้นจะเข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงตามเหตุและผล ก็จะเข้าใจว่า เมื่อทรงแสดงว่าอานิสงส์จะมีมากได้อย่างไร ผู้นั้นก็ไปพากเพียรเพื่อหวังได้อานิสงส์มากอย่างนั้น

นี่เป็นไปในเรื่องของทาน แต่ก็สงเคราะห์ได้สำหรับในเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจธรรมจริงๆ ว่า เพื่อการละคลาย

ถ. เมื่อเห็นดอกไม้และพิจารณาว่า เพียงแค่สีที่กระทบจักขุปสาทเท่านั้น จะชื่อว่าเป็นการพิจารณาทั้งรูปทั้งนามได้หรือเปล่า

สุ. โดยมากทุกท่านอาจจะสงสัยเกี่ยวกับชื่อ เช่น เป็นการพิจารณารูปนามหรือยัง หรือเป็นการพิจารณาสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดหรือเปล่า

ตามความเป็นจริงทราบว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน และเมื่อได้ศึกษาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเป็นความเข้าใจขั้นฟังและพิจารณาว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่ ต้องทราบว่า ธรรมทั้งหมดที่ได้ฟัง คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง

เปิด  302
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565