แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1880

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๒


อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายวิริยินทรีย์เพื่อให้ทุกท่านได้ตรวจสอบลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งมีข้อความว่า

ความเป็นไปแห่งความกล้า ชื่อวิริยะ หรือการกระทำของคนกล้า เป็นวิริยะ

ท่านผู้ฟังกล้าหรือขลาด นี่เป็นการที่จะทดสอบ วันหนึ่งๆ มีความกล้าอะไรบ้างหรือเปล่า กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูก หรือกล้าที่จะเป็นผู้ที่สุจริตโดยไม่กลัวต่อความเดือดร้อน ความลำบาก ความขัดสน ความยากจนหรือเปล่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะของวิริยะ หรือบางท่านก็กล้าที่จะแสดงเหตุและผลของธรรมโดยที่ไม่เกรงว่า จะไม่เป็นที่รักของคนพาล หรืออาจจะมีคนที่เข้าใจเจตนานั้นผิดก็ได้ แต่ ธรรมก็คือธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่กล้า จะเห็นการกระทำที่กล้าได้ ทุกอย่าง ทั้งในทางโลกและในทางธรรม

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิริยะ เพราะให้ดำเนินไป คือ ให้เป็นไปด้วยวิธีคือนัย ได้แก่ อุบาย (หมายถึงความฉลาด)

วิริยะนั้นแล ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่า เป็นอธิบดี โดยครอบงำ ความเกียจคร้านได้

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการประคอง

วิริยะกำลังเกิดกับทุกท่าน แต่ถ้าพระธรรมไม่ทรงแสดงไว้ไม่มีทางที่จะรู้จักลักษณะของวิริยะโดยนัยประการต่างๆ ได้ แม้แต่ว่า ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการประคอง ขณะใดที่กุศลจิตเกิด หรือท่านกำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความขยันอดทน ให้ทราบว่า มีวิริยเจตสิกซึ่งกำลังประคองอยู่ในขณะนั้น กิจการงานนั้นจึงกระทำไปโดยที่ไม่ท้อถอยได้

วิริยะนั่นแลเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่าวิริยินทรีย์ ก็วิริยะนั้นมีการอุปถัมภ์ค้ำจุน เป็นลักษณะ และมีการประคองเป็นลักษณะ ผู้อบรมเจริญปัญญา ผู้ได้รับ ความอุปถัมภ์ด้วยการอุปถัมภ์คือวิริยะ ย่อมไม่เสื่อม คือ ไม่เสื่อมรอบจากกุศลธรรมทั้งหลาย เช่นเดียวกับเรือนเก่าย่อมทรงอยู่ได้เพราะมีเครื่องค้ำจุน คือ เสาที่เอา เข้ามาใส่ ฉะนั้น

ขณะนี้ถ้าใครเบื่อ ใครขี้เกียจ ใครง่วง ใครท้อถอย ให้ทราบได้ว่า เหมือน เรือนเก่าซึ่งกำลังผุพัง เพราะไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ หรือดำรงอยู่ หรือดำเนินไปใน กุศลทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอุปถัมภ์ค้ำจุน และมีการประคองเช่นเดียวกับเรือนเก่าที่ต้องเอาเสาเข้ามาใส่ จึงประคองให้เรือนนั้น ให้ตั้งอยู่ได้

ในเบื้องแรก พึงทราบความที่วิริยะนั้นมีการค้ำจุนเป็นลักษณะ

ท่านทรงแสดงอุปมาหลายอย่างเพื่อให้เข้าใจลักษณะสภาพของวิริยเจตสิก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้

เหมือนอย่างว่า เมื่อกองทัพน้อยกับกองทัพใหญ่ทำสงครามกัน กองทัพน้อยถอยร่น ลำดับนั้นเขาก็จะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระองค์ก็จะพึงส่งคน และพาหนะไปให้ กองทัพของพระองค์ที่มีพลและพาหนะนั้นสนับสนุน พึงยังกองทัพของข้าศึกให้กลับพ่ายแพ้ได้ ฉันใด วิริยะก็ฉันนั้น ย่อมไม่ทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายท้อถอย ท้อแท้ ย่อมยกคือประคองสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นไว้ เพราะฉะนั้น ท่านกล่าวว่า วิริยะมีการประคองไว้เป็นลักษณะ

พอที่จะรู้สึกไหมว่า ต้องมีวิริยะในขณะที่กำลังฟังด้วย เพราะเดี๋ยวก็จะเผลอเป็นอกุศล หรืออาจจะคิดเรื่องอื่น แต่วิริยะประคองให้สนใจในสิ่งที่กำลังฟัง ให้พิจารณาเกิดความเข้าใจขึ้น

ถ. คำว่า ปกิณณกะ แปลว่าอะไร

สุ. ขอเรียนถามท่านอาจารย์สมพร นี่ก็เป็นวิริยะในการถาม วิริยะ ในการที่จะค้นคว้า

สมพร คำว่า ปกิณณกะ มีความหมายหลายอย่าง ในที่นี้ปกิณณกะ แปลว่า กระจาย คือ กระจายอยู่ในกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง ปกิณณกะอีกอย่างหนึ่งแปลว่า เบ็ดเตล็ด ก็ได้ มีความหมายหลายอย่าง

สุ. วิริยะดี ทำให้เข้าใจความหมายของปกิณณกะ ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะหลงลืมไป ก็ต้องอาศัยวิริยะประคองอุปถัมภ์ให้เข้าใจคำนี้ ฟังอีกบ่อยๆ ก็จะจำได้

ถ. สัตว์ดิรัจฉานมีวิริยะหรือเปล่า

สุ. ถ้าโดยปรมัตถธรรมเป็นจิต เจตสิก รูป เห็นมีไหม มี ขณะที่เห็น วิริยเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย ขณะที่เป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ วิริยเจตสิกไม่ได้ เกิดร่วมด้วย และขณะที่เป็นปัญจทวาราวัชชนะ วิริยเจตสิกก็ไม่ได้เกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ มโนทวาราวัชชนจิตและหสิตุปปาทจิต

ถ. เกิดเป็นคนชีวิตแสนจะยุ่ง สัตว์ดิรัจฉานไม่ยุ่งเหมือนอย่างคน ตื่นขึ้นมาตอนเช้า เราต้องคิดทุกอย่าง ต้องทำ แต่สัตว์ไม่ต้องทำอะไร อาจารย์คิดว่า เขาจะดีกว่าคนไหม

สุ. น่าอิจฉาหรือ

ถ. หนูคิดว่า เขาไม่ต้องคิด แต่ทำไมเราจะต้องคิดยุ่งทั้งวัน

สุ. ถ้าคิดว่าสัตว์สบายกว่า ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องแปรงฟัน ไม่ต้อง บริหารร่างกาย และถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงก็มีนาย ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ใช่ สัตว์เป็นนาย เพราะว่าผู้เลี้ยงต้องดูแลรักษาตั้งแต่อาบน้ำจนกระทั่งให้อาหารทุกอย่างหมด แต่ดีไหม เป็นสัตว์

ถ. บางครั้งหนูก็คิดว่า ดีเหมือนกัน แต่ก็คิดว่า เป็นมนุษย์เรามีทางที่จะเจริญสติปัญญาไปทางพระนิพพาน คิดอีกที เราก็ดีกว่า

สุ. เวลาที่มีธรรมทางวิทยุ และทุกบ้านก็มีสัตว์ จะรู้สึกว่า เป็นอะไรดีกว่า คือ คนมีโอกาสที่จะได้ฟังและพิจารณาเข้าใจ กุศลจิตเกิด แต่สัตว์ ตลอดชาติที่ เป็นสัตว์ แม้มีการได้ยินก็ไม่สามารถเข้าใจธรรมนั้นได้เลย

ถ. บางครั้งก็คิดว่า เกิดเป็นตัวไรหรือตัวอะไรๆ ก็ดีเหมือนกัน ผู้ถาม สัตว์เดรัจฉาน เขามีวิริยะหรือเปล่าคะกกไสพส

ไม่ต้องยุ่ง

สุ. เพราะฉะนั้น คิดใหม่ โยนิโสมนสิการว่าเป็นอะไรดี

อีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องของวิริยะ ซึ่งเป็นบริวารของปัญญา ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถาอัฏฐกวรรค กามสุตตนิทเทสที่ ๑ มีข้อความว่า

ท่านพระสารีบุตรแสดงการอบรมเจริญบารมีเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ว่า เหมือนอย่างว่า มีนคร ๒ นคร คือ โจรนคร ๑ เขมนคร ๑

ครั้งนั้น นายทหารใหญ่คนหนึ่งเกิดความคิดว่า โจรนครนี้ยังตั้งอยู่ตราบใด เขมนครย่อมไม่พ้นภัยอันตรายนั้น เราจะทำโจรนครให้ไม่เป็นนคร เขาสวมเกราะ ถือดาบเข้าไปยังโจรนคร เอาดาบฟันเสาระเนียดซึ่งเขายกขึ้นไว้ที่ประตูนคร ทำลาย ที่ต่อบานประตูและหน้าต่าง ถอนลิ่มสลัก ทำลายกำแพง ถมคู เอาธงที่ยกขึ้นเพื่อความสง่างามของนครลง เอาไฟเผานคร แล้วเข้าเขมนคร ขึ้นบนปราสาท แวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติ บริโภคโภชนาหารที่มีรสอร่อย ฉันใด ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร ผู้อบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ ที่คิดว่า เครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้น

เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมที่จะต้องดับก่อน คือ สักกายทิฏฐิที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

ต้องเป็นปัญญาที่เห็นจริงๆ ว่า โจรนครกับเขมนครต่างกัน เขมนครนั้น สงบ แต่โจรนครนั้น เดือดร้อน วุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะพ้น ความกระสับกระส่าย ความเดือดร้อน ความกังวล ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมนั้น อย่างมากอีก ๗ ชาติก็จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่มี การเกิดอีกเลย ต้องเป็นผู้ที่เห็นว่า กิเลสและความทุกข์ทั้งหลายอยู่ที่อัตภาพ คือ ที่นามธรรมและรูปธรรมนี่เอง เพราะฉะนั้น การที่จะหมดกิเลส หมดทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท ก็คือไม่มีนามธรรมและรูปธรรมอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นไปได้ ด้วยบารมีหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ วิริยบารมี

ท่านที่คิดว่า เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เช่น ตัวไร ไม่มีเรื่องกังวล ไม่ยุ่งยากเหมือนเป็นมนุษย์นั้น ไม่ทราบว่าได้พิจารณาธรรมโดยแยบคายในเหตุผลด้วยวิริยะ ที่จะเห็นโทษของการเป็นสัตว์ดิรัจฉานละเอียดเพิ่มขึ้นอีกบ้างไหม

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และสามารถพิจารณาได้กว้างขวางโดยหลายนัย แม้ในเรื่องของวิริยเจตสิก ซึ่งจะทำให้เห็นความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรมทั้งหลาย ในขณะนี้ที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว และด้วยพระปัญญาที่พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ พระองค์ได้ทรงแสดงว่า ขณะจิตไหนมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะจิตไหนไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ในขณะนี้เอง สามารถที่จะพิจารณาเรื่องของวิริยเจตสิกได้ ตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ คือ ขณะแรกที่จิตเกิดขึ้นในภพหนึ่งภูมิหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นความละเอียดที่จะพิจารณา ให้เข้าใจว่า การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือเกิดเป็นมนุษย์อย่างไหนจะดีกว่ากัน โดยที่ทราบความละเอียดแม้ขณะปฏิสนธิซึ่งต่างกัน

สำหรับปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ดวง ภูมิที่เกิดของจิตทั้งหมดมี ๓๐ ภูมิ ปฏิสนธิจิตที่เกิดในอบายภูมิมี ๔ คือ เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย มี ๑ ดวงเท่านั้น ไม่ว่าจะเกิดในนรกขุมไหน หรือว่าเกิดเป็นสัตว์ประเภทใด เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย ปฏิสนธิจิตต้องเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวงเท่านั้นใน ๑๙ ดวงที่เป็นปฏิสนธิจิต

และสำหรับปฏิสนธิจิตที่เหลือ ๑๘ ดวงนั้น เกิดในสุคติภูมิ เพราะว่า เป็นผลของกุศล ที่เป็นอย่างนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่า ในขณะที่ปฏิสนธิในอบายภูมินั้น ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่เป็นความต่างกัน

เพราะฉะนั้น บรรดาปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวงนั้น ๑ ดวงเกิดในอบายภูมิ ๑๘ ดวงเกิดในสุคติภูมิ และในปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง ๒ ดวงไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่อีก ๑๗ ดวง มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

นี่เป็นการที่จะพิจารณาละเอียดขึ้นถึงสภาพของจิตที่ปฏิสนธิ ซึ่งทำให้ แต่ละบุคคลต่างกันไปตามภพ ตามภูมิ แม้ว่าปฏิสนธิจิตในภูมิของสัตว์ดิรัจฉานซึ่งมีอยู่ในโลกนี้มีปริมาณนับไม่ถ้วน และปฏิสนธิจิตในภูมิของมนุษย์ก็มีปริมาณนับไม่ถ้วน แต่แม้กระนั้น ด้วยพระปัญญาของพระผู้มีพระภาค ก็ทรงสามารถประมวลสภาพของจิตที่ทำปฏิสนธิกิจในทุกจักรวาลว่า มีเพียง ๑๙ ประเภทเท่านั้น

สำหรับปฏิสนธิจิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้น มีเพียง ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในภูมิมนุษย์ หรือ ในสวรรค์ชั้นต้น คือ ชั้นจาตุมหาราชิกา

แสดงให้เห็นว่า เมื่อกรรมได้กระทำไปแล้วต้องให้ผล ส่วนเจตสิกที่จะเกิด ร่วมด้วยกับปฏิสนธิจิตนั้น จำแนกไปตามประเภทของบุคคลที่เกิด เช่น ในอบายภูมิ อกุศลกรรมที่ทำแล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้วยกายกรรม หรือวจีกรรม หรือมโนกรรม เมื่อให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะไม่ต้องอาศัยวิริยะเลย แสดงให้เห็นว่า ผลทั้งหลายเวลาที่จะเกิดขึ้นไม่ต้องมีการที่จะต้องไปพากเพียรใดๆ ที่จะให้ผลเกิด เมื่อเหตุสมควรแก่ผล ผลก็ต้องเกิด

ขณะที่ทำอกุศลกรรม ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับอกุศลจิต ขณะที่เป็นเหตุต้องมีวิริยะเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อถึงกาลที่จะให้ผล ผลก็ต้องเกิด โดยไม่ต้องมีวิริยะเกิดร่วมด้วย

สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ที่พิการตั้งแต่กำเนิด เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน เมื่อกุศลกรรมนั้นได้กระทำไปแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือ กุศลวิบาก ทำให้ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิตทำปฏิสนธิกิจเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ หรืออาจจะเป็น เทพชั้นต้น โดยไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

แสดงให้เห็นถึงกรรมและผลของกรรม ซึ่งเมื่อเหตุได้กระทำไปแล้ว ผลต้องเกิด และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงโดยละเอียดว่า ถ้าปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากหรือกุศลวิบากจิตแล้ว ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกิดในภูมิมนุษย์และในภูมิสวรรค์ที่ไม่ใช่พิการตั้งแต่กำเนิด จะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

แสดงให้เห็นความต่างกันตั้งแต่ปฏิสนธิ เพราะการที่จะมีวิริยเจตสิก เกิดร่วมด้วยกับการที่จะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะเห็นชีวิตที่ต่างกัน ผู้ที่เกิดในนรกก็ดี เกิดเป็นเปรตก็ดี เกิดเป็นอสุรกายก็ดี เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ดี สามารถที่จะขวนขวายทำกุศลได้ไหม ก็เป็นไปได้ยากมาก ไม่เหมือนกับปฏิสนธิจิตที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

อย่างสัตว์ดิรัจฉาน หรือกำเนิดอื่นในอบายภูมิ เกิดมาก็ต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แล้วแต่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทใด บางประเภทก็อาจจะขาดตาบ้าง หรือหูบ้างก็แล้วแต่ แต่เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีกรรมที่ทำให้มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งก็ควรที่จะพิจารณาว่า มีทุกข์อะไรบ้างในกำเนิดที่ต่างกัน

ท่านที่กล่าวว่า เป็นสัตว์ดิรัจฉานดีกว่า ท่านก็เห็นความลำบากของ ชีวิตมนุษย์ว่า ต้องมีความกังวล และมีการขวนขวาย มีการแสวงหา มีการดำรงชีพ มีเรื่องที่จะต้องกังวลมากมายไม่เหมือนกับสัตว์ดิรัจฉาน แต่ขณะที่พิจารณาธรรม ก็ต้องเป็นวิริยเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิตที่จะพิจารณาธรรมให้ละเอียดกว้างขวางออกไปถึงชีวิตทุกชีวิตทุกภพว่า มีทุกข์อะไร ต่างกัน หรือเหมือนกันอย่างไร

เปิด  274
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566