แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1872

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๒


สุ. ไม่อยากให้ใครคิดว่า กำลังทำวิปัสสนา หรือขณะนี้เจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า แต่อยากให้เข้าใจธรรมจริงๆ เป็นความเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ถึงแม้ว่าจะได้ฟังคำนี้สัก ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ไม่ว่ากี่ชาติ ก็ตาม เครื่องทดสอบปัญญาว่าเป็นความเข้าใจจริงๆ หรือไม่ คือ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง เข้าใจลักษณะของเห็นที่กำลังปรากฏที่กำลังเห็นในขณะนี้หรือไม่ว่า เป็นแต่เพียงธรรมอย่างหนึ่ง และขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้ การทดสอบปัญญา ความเข้าใจก็คือว่า เมื่อได้ฟังแล้วว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ขณะที่กำลัง ได้ยินในขณะนี้เป็นธรรม เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่เราจริงๆ หรือเปล่า นี่คือจุดประสงค์

เพราะฉะนั้น ความสงสัยทั้งหมดก็ยังคงเป็นความสงสัย จนกว่าจะเป็นปกติอย่างนี้ และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องคิดถึงว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมหรือเปล่า เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่าทั้งสิ้น ขอให้เริ่มใหม่ โดยในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ เข้าใจ ใช้คำว่า เข้าใจ เข้าใจลักษณะสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงอาการรู้ เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งเท่านั้น

เพราะถ้ารู้ในลักษณะที่เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ ก็หมายความว่า รู้ลักษณะของนามธรรม เพราะว่านามธรรมเป็นชื่อสมมติเรียกสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์หรือกำลังรู้อารมณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ทางหู ที่จะบอกว่า ได้ยินเป็นนามธรรม เสียง เป็นรูป ถ้าพูดตามก็ง่ายมาก แต่คำว่า นามธรรม เป็นเพียงคำที่แสดงลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด เช่น ทางหู ก็เป็นสภาพของธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังได้ยินหรือรู้เสียงในขณะนี้

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมหรือเปล่า หรือ เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า แต่กำลังเข้าใจจริงๆ หรือเปล่าว่า การได้ยิน สภาพที่ได้ยินในขณะนี้ เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง นี่คือการเข้าถึงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ เพราะว่ามีนามธรรมและรูปธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย และเมื่อได้ศึกษาปรมัตถธรรม คือ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็เข้าใจอย่างมากทีเดียวว่า เป็นจิตประเภทไหน เป็นเจตสิกอะไร เกิดกับจิตอะไร เป็นรูปชนิดไหน ขณะที่เห็นในขณะนี้ต้องอาศัยจักขุปสาทรูปซึ่งเป็นสภาวรูป เป็นรูปที่มีลักษณะจริงๆ เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา และรูปนี้มีอายุเพียงชั่ว ๑๗ ขณะจิต คือ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ สภาวรูปๆ หนึ่งก็ดับไป

แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ก็เคยได้ยินได้ฟังมาโดยตลอดว่า เป็นรูปธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นรูปที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทอย่างเดียวเท่านั้น และรูปนี้ก็มีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น ในขณะที่ปสาทรูปและรูปารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากระทบกัน และมีอายุที่ยังไม่ดับไป คือ ยังไม่ครบ ๑๗ ขณะ เป็นปัจจัยให้มีการเห็นเกิดขึ้น คือ เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ยังไม่ดับหลายขณะ เรียกว่าวาระหนึ่ง หรือชุดหนึ่งของจิต ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุปสาทรูป จึงเป็นจักขุทวารวิถีจิต คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยจักขุปสาท จะเห็นได้ว่า ความรวดเร็วของรูปธรรมซึ่งมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต ทั้งจักขุปสาทรูปและรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นในขณะนี้ ซึ่งเป็นสภาพรู้

นี่คือการฟัง และต้องพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ จึงจะเป็นประโยชน์ของการฟัง

แต่ถ้าฟังแล้วก็ยังไม่ได้ระลึก เพราะว่าเห็นก็มีอยู่มากมายเหลือเกินในวันหนึ่งๆ และกี่ครั้งที่สติเกิดระลึกได้ บางวันอาจจะไม่มีเลยที่จะระลึกลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นทางตา และบางวันก็อาจจะมีบ้าง แต่ไม่บ่อย และแม้ว่าจะมีการระลึก คือ กำลังศึกษา พิจารณาเข้าใจในสภาพที่เห็นว่าเป็นสภาพรู้ แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ประจักษ์ ในธาตุรู้จริงๆ เพียงแต่เริ่มเข้าใจ

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การอบรมความเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ และผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมมามาก ทั้งอภิธัมมัตถสังคหะ หรือบางท่าน อาจจะศึกษาถึงพระอภิธรรมปิฎก จะเห็นได้ว่า แม้กระนั้นก็ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น จะต้องมีธรรมอื่นที่อุปการะ คือ การศึกษา การฟังพระสูตร ต่างๆ เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึก มีการสลดที่จะเห็นว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะสั้นๆ และไม่เที่ยงเลยจริงๆ คือ เกิดขึ้นและดับไป

ถ้ามีการฟังเรื่องของธรรมที่จะทำให้จิตสลด และสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็จะเห็นได้ว่า ต้องศึกษาธรรมวินัยจริงๆ จึงจะเกื้อกูลให้อบรมเจริญปัญญาทีละเล็กทีละน้อยบ่อยๆ เนืองๆ

ไม่มีใครที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้และ กิเลสดับทันที นอกจากผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลซึ่งได้ฟังพระธรรมมามาก ได้อบรมเจริญปัญญามามากพร้อมที่เพียงฟังพระธรรมสั้นๆ ก็สามารถเข้าใจแม้ในอรรถ ของคำว่า ธรรม คือ กำลังเห็นเป็นสภาพธรรม กำลังได้ยินเป็นสภาพธรรม และ ธรรมเหล่านี้เกิดจากเหตุ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ก็เป็นของจริง ซึ่งจะต้องอบรมความเข้าใจรู้ลักษณะของสภาพธรรม และไม่ต้องคิดถึงว่า จะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เพราะว่าขณะใดที่กำลังเห็นและเข้าใจในสภาพธรรมที่เห็น ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน คือ พร้อมด้วยสติที่กำลังระลึกที่ลักษณะที่เห็น และ ในขณะนั้นที่เป็นความเข้าใจถูกก็เป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ที่กำลังระลึกลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรมทีละอย่าง

ถ. ในพระไตรปิฎก คำว่า พิจารณากายในกาย จิตในจิต บางท่านบอกว่า การที่พระพุทธเจ้าใช้คำว่า กายในกายนั้น คือ จะต้องมีกายซ้อนๆ กันอยู่ แต่ก็ ไม่ค่อยจะเชื่อ เพราะไม่ได้ค้นอรรถกถา ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

สุ. ปัญญา คือ ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะพูดว่า พิจารณากายในกาย หรือ เห็นกายในกายก็ตาม ก็จะต้องรู้ว่า การที่จะรู้ลักษณะของกายนั้นรู้ได้ทางทวารไหน ขณะไหน ขณะนี้ทุกคนเพียงจำว่า มีร่างกาย และคงจะจำไว้ตลอดเวลาว่า มีอวัยวะทุกส่วนครบตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นี่เป็นความจำ แต่ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นกายปรากฏให้รู้

เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า การที่จะเห็นกายในกายได้ ในเมื่อกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นรูปธาตุ เป็นรูปธรรม เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมซึ่งเป็นมหาภูตรูป และ มีรูปอื่นซึ่งอาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้นรวมกันทั้งหมดแต่ละคนก็มี ๒๗ รูป นี่โดยขั้นของ การฟังเข้าใจ แต่การพิจารณาเห็นกายในกายจะต้องรู้ว่า กายที่ว่ามีปรากฏให้รู้ได้นั้นเมื่อไร ก็คือในขณะที่กระทบสัมผัสส่วนหนึ่งส่วนใด จะมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เฉพาะส่วนนั้นเท่านั้นที่ปรากฏ

การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นการละอัตตสัญญา คือ การทรงจำรูปร่างสัณฐานของร่างกายทั้งหมดว่า เป็นคิ้ว เป็นตา เป็นแขน เป็นขา เป็นมือ เป็นเท้า เป็นส่วนต่างๆ และให้รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเห็นกาย คือ เห็นสภาพของรูปที่กาย ตามความเป็นจริงว่า มีลักษณะเพียงอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวในขณะที่กระทบสัมผัส ซึ่งไม่มีความจำอื่นมาเจือปน เช่น ในขณะที่ทุกท่านกำลังกระทบสิ่งที่แข็งในขณะนี้ อย่างอื่นมีไหม ตามีไหมที่แข็ง หูมีไหมที่แข็ง มือที่แข็งมีไหม เท้าที่แข็งมีไหม เลือดเนื้อหัวใจที่แข็งมีไหม ไม่มีเลย

ลักษณะสภาพธรรมจริงๆ คือ แข็ง การที่รู้ว่าไม่มีอะไรเลยนอกจากแข็ง นั่นคือการที่จะละอัตตสัญญา การที่เคยทรงจำว่ามีเรา หรือเรามีอยู่ในรูป แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเป็นรูปแต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าเป็นเรา หรือว่ามีเราในรูป ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ก็ละอัตตสัญญาไม่ได้

เพราะฉะนั้น ความหมายของการละอัตตสัญญา ไม่มีอะไรเหลือ จิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวและรู้อารมณ์ทีละอารมณ์ และอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็มีอายุที่สั้นมาก ถ้าเป็นรูปก็มีอายุเพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น เพราะฉะนั้น รูปทั้งตัวที่ เคยยึดถือว่าเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นรูปแต่ละรูปซึ่งเล็กละเอียดและเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เหมือนกับกองผงคลีซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ แต่เมื่อไม่รู้ความจริง ก็เป็นรูปทั้งก้อน ทั้งแท่ง รวมกันเป็นเรา

การที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่ละเอียดและกำลังเกิดดับ ไม่ต้องอาศัยวิชาการอื่นใดมาเทียบ เพราะบางคนอาจจะพอใจที่จะใช้วิชาการอย่างอื่นมาเทียบเคียงว่าทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า รูปมีอายุเท่าไร เกิดดับเท่าไร และกว่าที่จะมากระทบตา มากระทบหู มีการได้ยิน มีการเห็นต่างๆ จะมีวิธีการอย่างไร ความเป็นมาอย่างไร ในการที่จะเกิดการได้ยิน การเห็น เป็นต้น แต่ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เกิดแล้วดับแล้ว ใครสามารถแสดงศาสตร์นี้หรือวิชานี้ให้ประจักษ์ได้ ซึ่งเป็นความจริง กำลังได้ยิน ไม่ต้องคิดถึงเรื่องว่า กว่าได้ยินจะเกิดขึ้นต้องอาศัยคลื่นเสียงกระทบกับอะไรบ้าง เพราะว่าในขณะนี้เป็นสภาพที่กำลังได้ยินเสียงซึ่งเกิดแล้วดับ

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดขึ้นๆ เป็นปัจจัยให้เกิดการระลึกได้ที่จะรู้ และที่จะเข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การรู้กายหรือรูปที่ปรากฏที่กาย การรู้จิตประเภทต่างๆ การรู้เวทนา ความรู้สึกต่างๆ หรือการรู้ธรรมต่างๆ ที่มีอยู่ ที่กำลังปรากฏอยู่

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ท่านเคยเที่ยวแสวงหาธรรมไปตามที่ต่างๆ และแสวงหามาก ก็ยังไม่พบธรรมเลย แต่เมื่อท่านเข้าใจธรรมแล้ว เมื่อตื่นลืมตาขึ้น ก็ธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ธรรม

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ เป็นธรรมทั้งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ส่วนใหญ่ทำไมจึงหลงลืมสติ ไม่ระลึกตามที่เคยได้ยินได้ฟัง ให้เข้าใจจริงๆ ตามที่เคยได้ยินได้ฟังว่า ไม่มีตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ คิดดู สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ แต่ว่าจำอะไร

ทันทีที่ลืมตาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จำสิ่งที่เห็น และได้ยินเสียงอะไรก็จำเสียงที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น วันหนึ่งก็มีการจำรูปที่ปรากฏทางตา และนึกถึงเรื่องรูปนั้นเสียมากมาย ทุกขณะก็เป็นสัญญาที่จำแต่ละขณะในเรื่องของรูปนั้น ในขณะที่ได้ยินเสียงต่างๆ ทางหู จะเป็นข่าวสารการเมืองการบ้าน วิทยุ โทรทัศน์อะไรก็แล้วแต่ สัญญาก็จำ เรื่องเหล่านั้นตลอดทางหู ในขณะที่บริโภคอาหารก็มีสัญญาความจำในรส ในขณะที่กระทบสัมผัสก็มีสัญญาความจำในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แต่เป็นการจำเรื่องราว จำสมมติบัญญัติ

และสำหรับการฟังพระธรรม เมื่อเทียบกับการจำเรื่องอื่นๆ จะเห็นได้ว่า เป็นการจำที่น้อยมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ทุกท่านจะฟังรายการวิทยุตอนเช้า ๓๐ นาที หรือโดยประมาณจริงๆ ก็ ๒๕ นาที ซึ่งวันหนึ่งมีมากกว่า ๒๕ นาที เพราะฉะนั้น สัญญา ความจำ ก็จำเรื่องอื่นไว้มาก แต่จำเรื่องของธรรมไว้เพียงเล็กน้อย จึงยาก ที่สติปัฏฐานจะระลึก และไม่ใช่เพียงฟัง ต้องมีการพิจารณาให้เข้าใจสิ่งที่ฟังด้วย เพราะว่าบางท่านอาจจะฟังพร้อมกับการทำงาน มีกิจธุระรีบด่วน บางท่านบอกว่า บางวันฟังแล้วเข้าใจมาก แต่บางวันรีบๆ ก็ฟังไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไร

เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้ว กว่าจะเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสัญญาเกิดระลึกได้ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะรู้เท่านั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ชีวิตประจำวันของแต่ละคน จะต้องอบรมเจริญความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมเสียก่อน ให้เป็นความเข้าใจจริงๆ จนสติเกิดเมื่อไร ก็เป็นสัมมาสติ คือ ระลึกถูก ตรงลักษณะของสภาพธรรม และเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย

แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือไม่มีการฟัง แล้วๆ เล่าๆ ไม่มีการ พิจารณาแล้ว พิจารณาอีกจนเป็นความเข้าใจ เพียงแต่อยากจะปฏิบัติ และก็ถามว่าจะปฏิบัติอย่างไร หรือสติเกิดแล้วจะทำอย่างไร ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อไม่มีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่เป็นอนัตตาอย่างมั่นคง สติจะระลึกถูกได้อย่างไร เพราะว่าไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจ

แทนที่จะปฏิบัติอย่างไร ก็ควรเป็นว่า จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้อย่างไร ซึ่งก็มีทางเดียว คือ ฟังอีก พิจารณาอีก จนกระทั่งเข้าใจอีก และสติ ก็ระลึกได้ เพราะว่าเข้าใจแล้ว แต่ตราบใดยังไม่เข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดจริงๆ แม้สติจะมีการระลึกก็ไม่รู้ว่าจะเข้าใจได้อย่างไร เพราะว่า ไม่เคยฟัง ไม่เคยพิจารณา ไม่เคยเข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ขอให้เข้าใจว่า เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะใด ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน

การเข้าใจเรื่องที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน นั่นเป็นการเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ขณะใดที่มีความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เน้นที่ความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐานแล้ว

เห็นกายในกาย ต้องเข้าใจว่า ที่กายมีอะไรที่ปรากฏที่ไม่ใช่ตัวตน ก็มีลักษณะ ที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เมื่อไรที่กำลังระลึกลักษณะของแข็ง และเข้าใจในลักษณะที่แข็ง รู้ว่าเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ที่เคยหลงว่าเป็นเรา หรือของเรา หรือมีเราในรูป แต่ความจริงแล้วเป็นแต่เพียงลักษณะที่แข็ง และ ถ้าปัญญาสมบูรณ์ขึ้นก็จะประจักษ์ได้ว่า ขณะนั้นเองแข็งเกิดขึ้นและดับไป ไม่มี อย่างอื่นเลย ไม่มีตัวตนสักอย่างเดียวที่จะรวมอยู่ในลักษณะของรูปแข็งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น นี่คือการเห็นกายในกาย แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า กาย คือ รูปที่ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว

จะไปเห็นอย่างอื่นนอกจากนี้ได้ไหม เวลากระทบสัมผัสเมื่อไร ก็แข็ง อ่อน เย็น ร้อน ตึง ไหว จะไปเห็นอย่างอื่นได้ไหม ข้อที่ควรคิด มีอะไรอีกหรือเปล่าที่จะ เห็นได้ที่กายนี้ ถ้าไม่มี จะไปทำอย่างอื่นได้อย่างไร นอกจากมีแข็งเมื่อไรก็ระลึก เมื่อนั้น ไม่ต้องทำอะไรเลย สภาพธรรมมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม คือ แสดงเรื่องของธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยให้ปัญญารู้ ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น เพราะว่ามีสภาพธรรมเกิดแล้วโดยความเป็นอนัตตา โดยเหตุโดยปัจจัย ไม่ใช่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดทำ เพราะฉะนั้น ปัญญา ก็เพียงรู้ให้ถูกต้องตามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีแล้วในขณะนี้

นี่เป็นเรื่องของพิจารณากายในกาย หรือเห็นกายในกาย ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว กี่ชาติมาแล้วในอดีต และแม้ในชาตินี้ และแม้ในชาติต่อๆ ไป จนกว่า จะละการยึดถือแข็ง อ่อน เย็น ร้อน ตึง ไหวที่ปรากฏว่า เป็นเรา มิฉะนั้นแล้ว ก็ยังคงมีอัตตสัญญาที่แม้ไม่ปรากฏก็คิดว่ามี เช่น ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ ส่วนอื่นของร่างกายไม่ปรากฏเลย แต่ก็ยังคิดว่ามี

เปิด  231
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565