แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1874

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๒


เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของแม้ผู้ให้และผู้รับและทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดกุศลที่จะช่วยสงเคราะห์บุคคลอื่นโดยสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลนั้น ด้วยความรู้ ด้วยความเข้าใจ ในขณะนั้นก็เป็นปัญญาบารมีได้ แต่วันหนึ่งๆ จะคิดอย่างนี้หรือเปล่าในขณะที่ให้ ซึ่งแต่ละคนทราบเองได้

บางคนเห็นคนที่ยากไร้และรู้ว่าทุกอย่างไม่เที่ยงเลย ก็อาจเกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นมาในขณะนั้นก่อนที่จะให้ ก็เป็นบุพพเจตนา และแม้ขณะที่กำลังให้ก็ยัง คิดอย่างนั้น คือ รู้ในความไม่เที่ยง และหลังจากที่ให้ไปแล้วก็ยังระลึกถึงความ ไม่เที่ยงในขณะนั้นได้ โดยที่บางท่านอาจจะรู้สึกถึงความปีติโสมนัสในทานบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่ทุกอย่าง

แต่ว่าแม้มีเจตนาที่เป็นกุศลก่อนจะให้ ขณะที่กำลังให้ บางครั้งก็ไม่เกิดระลึก ที่จะเป็นกุศลหลังจากที่ให้แล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดระลึกถึงทานที่ได้ให้แล้ว ก็ควรจะได้พิจารณาว่า เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ถ้าระลึกถึงทานที่ให้แล้วเกิดปีติว่า ได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ได้ช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ซึ่งเขากำลังลำบากอย่างมาก โดยที่บุคคลนั้นอาจจะไม่ใช่เป็นผู้ที่บุคคลอื่นจะสงเคราะห์ช่วยเหลือเพราะไม่อยู่ ในสภาพที่คนอื่นจะรู้ว่าเขากำลังมีความทุกข์ และเมื่อได้ช่วยไปแล้วก็ระลึกถึงกุศลที่ได้ทำไป เกิดปีติโสมนัส ซึ่งขณะนั้นก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าจะมีใครไปบังคับให้โสมนัสหรือ ไม่โสมนัสได้ แต่โสมนัสเกิดเพราะได้มีโอกาสช่วยบุคคลที่ทุกข์ยากที่ควรจะช่วย ไม่ใช่ว่าอยากจะระลึกเพื่อที่เราจะได้อานิสงส์ นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันซึ่งเป็น ความละเอียดของทานที่จะเป็นบารมี และไม่ใช่บารมี

พระ การให้ทาน บางสิ่งบางอย่างอาจจะไม่เป็นกุศลก็ได้ อย่างเช่นฆราวาสจำเป็นต้องศึกษาวินัยของพระ คือ บางสิ่งบางอย่างพระรับไม่ได้ แต่ฆราวาสได้ถวายไปแล้ว ซึ่งเขาก็มีจิตที่ยินดีในการให้ แต่พระรับไปแล้วเป็นอาบัติ ไม่ทราบว่า ทานนั้นจะเป็นบุญเป็นกุศลอย่างไร

สุ. ก็เป็นเรื่องละเอียดที่ว่า พุทธบริษัทควรจะรู้พระวินัยบัญญัติพอสมควร ที่จะเป็นผู้เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย และเป็นการไม่ทำลายภิกษุผู้รับด้วย เรื่องของแต่ละคนก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องศึกษาและเกิดปัญญาของตนเอง ชาวบ้านอาจจะทำหลายสิ่งหลายอย่างโดยที่ไม่เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่สมควร โดยเฉพาะ ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระภิกษุ และสำหรับผู้ใดที่ตระหนักถึงการที่จะเอื้อเฟื้อต่อพระวินัย ก็ควรทราบเรื่องของพระวินัย เพื่อจะได้ไม่ทำลายผู้รับ

ผู้ฟัง เรื่องที่พระคุณเจ้าท่านถาม เป็นเรื่องที่น่าคิด เมื่อวานนี้ผมก็ไปช่วย งานบวชบุตรชายของเพื่อน ผมเห็นพระบวชใหม่ก็เลื่อมใส เพราะท่านยังไม่อาบัติอะไร อยากจะทำบุญกับท่าน เมื่อฉันเสร็จแล้ว ก็มีการถวายซอง พูดง่ายๆ คือ ถวายเงิน

ตามพระวินัย ภิกษุรับทองและเงิน หรือยินดีในทองและเงินเป็นอาบัติ ทายก ผู้ถวายก็มีเจตนาดี อย่างที่พระคุณเจ้าว่า อยากจะสงเคราะห์พระ โดยไม่รู้วินัยของพระว่า พระรับเงินรับทองเป็นอาบัติ อย่างนี้แทนที่จะได้กุศลก็ไม่ได้กุศลเพราะว่า ทำให้พระท่านต้องอาบัติ หรือที่ชาวบ้านเอาเงินใส่ซองใส่ในบาตร เจตนาก็อยาก ให้ท่านได้เงิน แต่ตามพระวินัยแล้วไม่ถูก ชาวบ้านไม่รู้รายละเอียดก็นึกว่าทำได้ พระท่านก็ไม่ว่าอะไร ยินดีรับเงินเสียอีก ก็เป็นเรื่องยากอย่างที่อาจารย์ว่า สมัยนี้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงจากอดีต แต่เราจะไปอ้างสมัยไม่ได้ เพราะว่าพระพุทธองค์ บัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว ซึ่งพระอรหันต์ที่ท่านทำสังคายนาสืบต่อกันมา ท่านก็ไม่ถอนสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว และไม่บัญญัติของใหม่ที่พระพุทธองค์ไม่ได้บัญญัติไว้ พระอรหันต์ทั้งหลายที่ทำสังคายนาท่านถือเคร่งครัด สิกขาบทเล็กน้อย ไม่ทราบว่าเท่าไร แค่ไหนถือว่าเล็กน้อย ปาจิตตีย์เล็กน้อย นิสสัคคิยปาจิตตีย์เล็กน้อย ทุกกฏเล็กน้อย ทุพภาษิต ถุลลัจจัยเล็กน้อย เป็นอาบัติเบาในพระวินัย เมื่อผิดแล้ว แสดงต่อพระด้วยกันได้ ถือว่าเล็กน้อยหรือเปล่า

ท่านพระอานนท์ท่านบอกว่า ถ้าภิกษุประสงค์จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ให้ ถอนได้ แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ว่า อาบัติอย่างไหนถือว่าเล็กน้อย สุดท้าย ตกลงกันไม่ได้ ก็เอาไว้ทั้งหมดเลย ไม่ถอนสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้ว และไม่บัญญัติเพิ่มด้วย ที่ทรงบัญญัติไว้ถือว่าสมบูรณ์แล้วและไม่ถอนด้วย

เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน อยากจะทำบุญให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาจริงๆ เราก็ต้องเอื้อเฟื้อและศึกษาพระวินัยตามสมควรอย่างที่ท่านอาจารย์พูด เพราะถ้าเราไม่เอื้อเฟื้อพระธรรมวินัย เราก็จะทำบุญโดยที่ผลของ บุญนั้นไม่สมบูรณ์ เป็นบาปด้วย คือ ทำให้พระท่านต้องอาบัติ

สมมติว่าถวายของตอนเย็น เอาของที่ท่านรับไม่ได้ไปถวาย เช่น พวกนมบ้าง ซึ่งหลังจากเที่ยงแล้วท่านรับไม่ได้ เมื่อไปถวายก็ต้องอาบัติ เจตนาอยากให้พระท่านฉันของดีๆ แต่ไปทำลายท่าน อย่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุบาสกอุบาสิกาที่จะต้องสนใจศึกษา พระธรรมวินัย โดยเฉพาะสิกขาบทวินัยของพระตามสมควร ไม่อย่างนั้นจะทำกุศลไม่สมบูรณ์

สุ. คงจะมีหลายท่านทราบว่า มีอุบาสก อุบาสิกา และพระภิกษุที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยแม้ในยุคนี้สมัยนี้ พยายามที่จะเกื้อกูลอุปัฏฐากพระภิกษุทุกอย่าง โดยที่ไม่ถวายเงินและทอง ซึ่งเป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง และไม่ว่าในกาลสมัยไหน ถ้ามีโยมอุปัฏฐากให้ความสะดวกสบายแก่พระคุณเจ้า เงินไม่มีความหมายเลย เพราะว่าสำหรับคฤหัสถ์จำเป็นต้องมีเงินทอง เพราะไม่ใช่เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลที่คนอื่นจะอุปัฏฐากหรือเกื้อกูล แต่สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิตนั้น เป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ สละลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ เพื่อละคลายกิเลส เพราะฉะนั้น ชีวิตของบรรพชิตจึงต่างกับคฤหัสถ์ ซึ่งท่านมีชีวิตอยู่โดยอาศัย จะใช้คำว่า การขอ จากคฤหัสถ์ก็ได้ แต่ไม่ใช่ในลักษณะของขอ แต่เป็น ในลักษณะที่ว่า เมื่อคฤหัสถ์ใดมีศรัทธา แม้แต่อาหารบิณฑบาต พระภิกษุจะไม่มีการขอเลย ท่านจะเดินบิณฑบาต เมื่อมีอุบาสกอุบาสิกาที่มีศรัทธานิมนต์ให้รับบิณฑบาต ท่านจึงหยุดเพื่อที่จะรับ แต่ท่านไม่มีการรบกวนที่จะขอบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่อาศัยเพศ คือ เป็นผู้ที่ทรงศีล ทำให้ผู้อื่นเห็นควรที่จะอุปัฏฐากท่านให้ได้รับความสะดวกความสบายทุกประการ ไม่ว่าในเรื่องของที่อยู่อาศัย ในเรื่องของอาหารบิณฑบาต ในเรื่องของปัจจัย ๔

ถ้าอุบาสกอุบาสิกาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย โดยการถวายความสะดวกเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ในกรณีต่างๆ ในเรื่องของ การเดินทาง ความเป็นอยู่ การป่วยไข้ ทุกอย่างเพียบพร้อม ก็ไม่มีทางที่ท่านจะต้องเดือดร้อน เงินทองก็ไม่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับท่าน เพราะฉะนั้น ถ้าหวังที่จะเกื้อกูลต่อพระธรรมวินัย และไม่ทำลายพระภิกษุ ก็ควรที่จะอุปัฏฐากท่านโดยไม่ถวายเงิน

ไม่ทราบท่านผู้ฟังคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมในสมัยนี้

ถ้ามีความขยันหมั่นเพียรที่จะกระทำตัวเป็นผู้อุปัฏฐากย่อมทำได้ เพราะว่าอุบาสกอุบาสิกามีมากกว่าจำนวนพระภิกษุ แม้ว่าจะมีกิจการงานธุระต่างๆ แต่อาศัยจำนวนมากก็พอที่จะแบ่งเบาการที่จะอุปัฏฐากพระภิกษุได้ โดยไม่ทำให้ท่านต้อง เศร้าหมองในพระธรรมวินัย

ต้องเข้าใจว่า การรักษาศีล ไม่ว่าในเพศของบรรพชิตหรือในเพศของคฤหัสถ์นั้น คือ การรักษาความประพฤติทางกาย ทางวาจา ไม่ให้เป็นกายทุจริตและวจีทุจริต เพราะว่าเรื่องของจิตใจที่จะไม่ให้เป็นอกุศลนั้นยาก ผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีอกุศลใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ถึงอย่างนั้นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลก็ย่อมรู้ว่า แม้จิตใจจะเป็นอกุศลก็อย่าให้ถึงขั้นรุนแรงที่จะล่วงออกมาเป็นกายทุจริตและวจีทุจริต เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญาที่รู้อย่างนี้ จะหวังผลของศีลที่รักษาไหม

ศีลเป็นกุศล ต้องมีผลมากทีเดียว มากกว่าทาน เพราะว่าทานเป็นแต่เพียง การสละวัตถุเป็นครั้งคราว แต่ตราบใดที่มีกายและมีวาจาที่จะต้องพูดก็เป็นเรื่องที่จะต้องระวังรักษามากไม่ให้เป็นทุจริต มีกายอยู่ตลอดเวลาและมีการพูดอยู่เรื่อยๆ ถ้ารู้ว่าการรักษาศีล คือ การรักษาความประพฤติทางกายทางวาจาไม่ให้เป็นกายทุจริตและวจีทุจริต ก็ย่อมไม่มีการติดหรือหวังในผลของศีลซึ่งมีแต่ก็เป็นเหตุและเป็นผลกันเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อศีลมีอานิสงส์มากก็หวังที่จะรักษาเพื่อจะได้ผลของบุญ หรือให้ได้รับวิบากที่ดี

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจจริงๆ ในเรื่องของการรักษาศีลนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีศีลมากหรือผู้ที่รักษาศีลมาก ต้องเป็นผู้ที่ขัดเกลามาก ด้วยเหตุนี้ชีวิตของคฤหัสถ์กับบรรพชิตจึงต่างกัน เพราะว่าคฤหัสถ์เป็นผู้ที่มีกิเลสหนักและมาก ไม่สามารถสละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ โภคสมบัติ ทรัพย์สมบัติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักษา ศีลมากหรือมีศีลมาก จึงต้องเป็นผู้ที่ขัดเกลามากกว่าผู้ที่มีศีลน้อย หรือรักษาศีลน้อย

สำหรับคฤหัสถ์นิจศีลมีเพียง ๕ แต่สำหรับบรรพชิตมากกว่านั้นมาก ด้วยเหตุนี้ดาบ ๒ คมของการเป็นผู้มีศีลหรือรักษาศีล คือ เป็นผู้ที่รู้จุดประสงค์ว่า เมื่อมีศีล เพื่อขัดเกลา ไม่ใช่เพื่อลาภ ไม่ใช่เพื่อสักการะ ไม่ใช่เพื่อยศ ไม่ใช่เพื่อสรรเสริญเพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ไม่ว่าจะได้ยศหรือเสื่อมยศ ไม่ว่าจะได้รับสรรเสริญหรือมีผู้นินทา ไม่ว่าจะมีผู้สักการะหรือไม่สักการะ ผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่าการรักษาศีลนั้นเพื่อขัดเกลากิเลส

จะเห็นได้จริงๆ ว่า ผู้ที่รู้เหตุและผลของสภาพธรรม และมีจุดมุ่งหมายที่จะ ขัดเกลากิเลสเป็นศีลบารมี จะเป็นผู้ที่ไม่หวังในผลของศีล แต่ผู้ใดมีศีล แต่ไม่ได้ ขัดเกลา เพราะว่ามีมานะ มีความสำคัญตนว่า มีศีลมาก ต้องมีผู้เคารพมาก มีผู้สักการะมาก ต้องมีผู้ให้ลาภมาก สรรเสริญมาก ในขณะนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ละ หรือไม่ได้ขัดเกลา แต่กลับเป็นผู้ที่ติดในศีลที่รักษาอยู่ แม้ในเรื่องของสมถภาวนา ก็โดยนัยเดียวกัน

ถ้าเป็นผู้ที่ได้ยินคำว่า สมาธิ หรือได้ยินคำว่า สมถะ และอยากจะทำ ขณะนั้น ไม่ได้เข้าใจว่า สมถภาวนา คือ การอบรมเจริญกุศลเพื่อขัดเกลาอกุศล

สมถภาวนาละโลภะ วิปัสสนาภาวนาละอวิชชา

เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงมีคำถามว่า จะทำสมาธิอย่างไร หรือจะทำสมถภาวนาอย่างไร จะทำวิปัสสนาภาวนาอย่างไร แสดงว่าผู้นั้นยังไม่ได้เข้าใจเรื่องของ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาจริงๆ

ถ้าเป็นผู้เข้าใจจริงๆ จะรู้ว่า เจริญสมถะเพื่อละโลภะ เจริญวิปัสสนาภาวนาเพื่อละอวิชชาที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยการฟังให้เข้าใจ จนกระทั่งเมื่อเข้าใจแล้วสติจึงจะระลึกได้ เพราะถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม สติจะระลึกได้อย่างไร

เวลานี้ทุกคนมีความจำเรื่องไหนมาก ก็คิดถึงเรื่องนั้นได้ ถ้าจำเรื่องไหนไว้ได้มากๆ เช่น บางท่านอาจจะจำนิทานเก่ง เล่าได้อย่างละเอียด แต่บางท่านจำ ไม่ได้เลยเรื่องอย่างนั้น แต่จำเรื่องอื่นได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้แต่ความจำของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คนที่ศึกษาพระธรรมมาก เข้าใจพระธรรมจริงๆ ในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ก็จำเรื่องนั้น และไม่ลืมที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็น ตรงกับที่ได้ศึกษาทุกอย่าง คือ เป็นแต่เพียงสภาพธรรม นี่คือสัญญาความจำของบุคคลนั้นในเรื่องนั้น ซึ่งมีจนกระทั่งสติของบุคคลนั้นสามารถเกิดระลึกได้ แต่คนที่ไม่เคยฟังเลย ไม่เคยเข้าใจเลย ก็นึกถึงเรื่องอื่น เพราะว่าจำเรื่องอื่นไว้มาก

การที่สติของใครจะเกิดหรือไม่เกิด ก็แล้วแต่สัญญาความจำของบุคคลนั้นว่า จำเรื่องใดไว้มากก็นึกถึงคิดถึงเรื่องนั้นมาก วันนี้พิจารณาดู มีเรื่องกังวลอะไรหรือเปล่า ถ้ามีเรื่องกังวลเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะคิดถึงเรื่องนั้นบ่อยๆ จนกว่าความกังวลในเรื่องนั้นจะหมดไป นี่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนจากความกังวลเป็นความเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ก็จะเห็นได้ว่า ย่อมมีปัจจัยที่ สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้บ่อยๆ เนืองๆ

สำหรับเรื่องความประมาทในการฟังพระธรรม และในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในสมัยนี้ เพราะว่าธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามการสะสม ถ้าเป็น ผู้ที่ประมาทในการฟังพระธรรม ก็เป็นไปตามกำลังของกิเลสซึ่งไม่มีใครบังคับบัญชาได้ทุกกาลสมัย แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ทั้งๆ ที่บุคคลในสมัยนั้น มีโอกาสที่จะได้ไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่ก็มีผู้ที่ประมาทไม่ไปเฝ้าเพื่อที่จะฟังพระธรรม

ข้อความใน อรรถกถา ชนสันธชาดก มีว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน มีพระพุทธประสงค์ จะประทานโอวาทแก่พระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้

มีคำเริ่มต้นว่า ทส ขลุมานิ ฐานานิ ดังนี้

ครั้งนั้นพระเจ้าโกศลทรงมัวเมาด้วยอิสริยยศหมกมุ่นอยู่กับความสุขที่เกิดแต่กิเลส ไม่ปรารถนาจะตัดสินคดี แม้การบำรุงพระพุทธเจ้าก็ทรงลืมเสีย

วันหนึ่งพระองค์ทรงระลึกถึงพระผู้มีพระภาคและทรงดำริว่า จะถวายบังคม พระศาสดา เมื่อเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ก็ได้เสด็จขึ้นพระราชยานไปพระวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกับพระราชาว่า

มหาบพิตร นานมาแล้ว พระองค์มิได้เสด็จมาเพราะเหตุใด

พระเจ้าโกศลทูลว่า

เพราะข้าพระองค์มีราชกิจมาก พระเจ้าข้า ไม่มีโอกาสที่จะมาเฝ้าพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

มหาบพิตร เมื่อพระพุทธเจ้าผู้สัพพัญญู ผู้ให้โอวาทเช่นเรา อยู่ในวิหารที่ใกล้ ไม่ควรที่พระองค์จะประมาท วิสัยพระราชาต้องไม่ประมาทในราชกิจทั้งหลาย ดำรงพระองค์เสมอด้วยมารดาบิดาของชาวแว่นแคว้น ละอคติเสีย ครองราชย์สมบัติโดยทศพิธราชธรรมจึงจะควร เพราะเมื่อพระราชาประพฤติธรรม แม้บริษัทของพระองค์ ก็ประพฤติธรรม ข้อที่เมื่อเราตถาคตสั่งสอนอยู่ พระองค์ครองราชย์สมบัติโดยธรรมนั้น ไม่น่าอัศจรรย์ แต่บัณฑิตทั้งหลายในอดีตกาล แม้ไม่มีอาจารย์สั่งสอนก็ยังตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ๓ ประการ แสดงธรรมแก่มหาชนตามความรู้ของตนพา บริษัทไป สวรรค์ได้

เปิด  258
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565