แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1876

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๒


เวลาที่อายุมากแล้ว ก็อาจจะเดือดร้อนใจว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปมาหาสู่ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีลเป็นพหูสูตเลย เพราะถ้าไม่ไปเข้าใกล้ท่านเหล่านั้น คือ ไม่ได้ฟังธรรม หรือฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็อาจจะเข้าใจอกุศลธรรมว่าเป็นกุศลธรรม มีความเห็นผิด ไม่ใช่มีความเห็นถูกก็ได้ หรือแม้มีความเห็นถูกแต่ก็มีความเข้าใจ เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถเข้าใจโดยละเอียด โดยกว้างขวาง โดยลึกซึ้งได้ หรือบางที แม้มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว แต่ก็ไม่ทันต่ออกุศลที่เกิดขึ้น

อย่างเรื่องของความกังวล หลายท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า เรื่องที่ท่านกังวล บางครั้งไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวท่าน ครอบครัวท่าน การงานท่าน หรือความลำบากยุ่งยากในกิจการงานของท่านเลย แต่ท่านกลับไปกังวลเรื่องของคนอื่น โดยที่ไม่น่าจะกังวลเลย คือ คนอื่นก็มีความประพฤติทำการงานสุจริตเป็นไปต่างๆ แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์กังวลว่า ทำไมคนนี้ไม่ทำอย่างนั้น ซึ่งในขณะนั้นควรจะได้พิจารณา จริงๆ ว่า มีความสำคัญตนแอบแฝงอยู่หรือเปล่าในการคิดถึงการกระทำของคนอื่น

ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมจริงๆ เรื่องของบุคคลอื่นเป็นเรื่องที่ท่านช่วยไม่ได้เลยที่จะไปแก้ไข เพราะว่าแต่ละคนย่อมเป็นไปตามการสะสม แต่สำหรับตัวท่านเองเท่านั้นได้กระทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง คือ กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่น ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเองและคนอื่นแล้วหรือยัง เท่านั้นเอง

วันหนึ่งๆ ถ้าจะคิดถึงกิจที่ควรทำของตนเอง ย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะไปกังวลเรื่องของคนอื่น ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นมานะ ความสำคัญตนนั่นเอง

ข้อความต่อไป

ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมาหาสู่แล้ว ย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย

และ ข้อ ๑๖๖๐ ซึ่งเป็นข้อความตอนท้าย มีข้อความว่า

ผู้ใดย่อมปฏิบัติเหตุเหล่านี้โดยอุบายอันแยบคาย ผู้นั้นเมื่อกระทำกิจที่บุรุษ ควรทำ ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลังเลย

ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม การที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ต้องรู้ทั่ว ถ้ายังรู้ไม่ทั่วก็ละไม่ได้ เมื่อเข้าใจลักษณะของสติ ซึ่งสติปัฏฐานคือขณะที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กังวลหรือไม่กังวล ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ถ้าขณะนั้นปัญญายังไม่รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องอบรมสติที่จะระลึกและเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมไปตลอด ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้นในแต่ละภพแต่ละชาติ

บางท่าน สังเกตได้ แม้ตัวท่านเองหรือบุคคลอื่นก็ตาม ผู้ใดที่ได้สะสมความ คิดถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจสภาพธรรมถูก คนนั้นคิดไม่ดีไม่เป็น คิดอิจฉาไม่เป็น ดีไหม คิดดูหมิ่นคนอื่นไม่เป็น คิดยกตนข่มคนอื่นก็ไม่เป็น แต่คิดเมตตาเป็น คิดกรุณาเป็น คิดเห็นใจเป็น คิดเข้าใจเป็น คิดช่วยเหลือเป็น

เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะเห็นความต่างกันของการสะสมว่า ถ้าท่านอยากจะเป็นบุคคลใด ก็สะสมที่จะเป็นบุคคลนั้น โดยสติเกิดระลึกทันที เห็นโทษทันที เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้ทันที

การสะสมความคิดที่ดี ที่ถูก ที่ควร ย่อมเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าท่านไม่พิจารณาสังเกตแม้เพียงเล็กน้อยอาจจะไม่รู้ว่า การที่ แต่ละบุคคลคิดดีในขณะนั้น ต้องเป็นเพราะเคยสะสมที่จะคิดดีมาแล้วในอดีต

ขอกล่าวถึงความคิดที่ดี ที่ถูก ที่ควร ของพระเจ้าปเสนทิโกศลในการปลูก ต้นโพธิ์ ณ พระวิหารเชตวัน

ข้อความใน อรรถกถา กาลิงคชาดก มีว่า

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกจาริกไปตามชนบท เพื่อประโยชน์จะทรงสงเคราะห์เวไนยสัตว์ ชาวกรุงสาวัตถีต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยัง พระเชตวัน เมื่อไม่ได้ปูชนียสถานอย่างอื่น จึงนำเครื่องสักการะเหล่านั้นไปวางไว้ ที่ประตูพระคันธกุฎี ด้วยความปราโมทย์กันอย่างยิ่ง

ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีทราบเหตุนั้นแล้ว ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จ กลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร ท่านเศรษฐีได้ไปยังสำนักของท่านพระอานนท์เถระและกล่าวว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกจาริกไป พระวิหารนี้ ไม่มีปัจจัย มนุษย์ทั้งหลายไม่มีสถานที่บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ขอโอกาสเถิด ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค แล้วจงรู้ที่ ที่ควรบูชาสักแห่งหนึ่ง

ท่านพระอานนท์รับว่า ดีละ แล้วได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจดีย์มีกี่อย่างพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสตอบว่า

มี ๓ อย่าง อานนท์

ท่านพระอานนท์เถระทูลถามว่า

๓ อย่าง อะไรบ้างพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า

ธาตุเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑ อุทเทสิกเจดีย์ ๑

ท่านพระอานนท์เถระทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์เสด็จจาริกไป ข้าพระองค์อาจกระทำเจดีย์ได้หรือ

พระศาสดาตรัสว่า

อานนท์ สำหรับธาตุเจดีย์ไม่อาจทำได้ เพราะธาตุเจดีย์นั้นจะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สำหรับอุทเทสิกเจดีย์ก็ไม่มีวัตถุปรากฏ เป็นเพียงเนื่องด้วยตถาคตเท่านั้น ต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ ถึงพระพุทธเจ้าจะ ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์เสด็จหลีกไป พระมหาวิหารเชตวัน หมดที่พึ่งอาศัย มนุษย์ทั้งหลายไม่ได้สถานที่เป็นที่บูชา ข้าพระองค์จะนำพืชจาก ต้นมหาโพธิ์มาปลูกที่ประตูพระเชตวัน พระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า

ดีแล้ว อานนท์ เธอจงปลูกเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น ในพระเชตวันก็จะเป็นเช่นดังตถาคตอยู่เป็นนิตย์

ท่านพระอานนท์เถระบอกเรื่องนั้นแก่พระเจ้าโกศล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นต้น และให้ขุดหลุม ณ ที่เป็นที่ปลูกต้นโพธิ์ ที่ประตูพระเชตวัน และกล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระว่า

ท่านขอรับ กระผมจะปลูกต้นโพธิ์ที่ประตูพระเชตวัน ท่านจงช่วยนำเอา ลูกโพธิ์สุกจากต้นมหาโพธิ์ให้กระผมด้วยเถิดขอรับ

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระรับคำท่านพระอานนท์ แล้วเหาะไปยัง โพธิมณฑล เอาจีวรรับลูกโพธิ์ที่หล่นจากขั้วแต่ยังไม่ถึงพื้นดิน แล้วนำมาถวาย ท่านพระอานนท์เถระ

ท่านพระอานนท์เถระได้ทูลพระเจ้าโกศล แล้วบอกแก่ท่านอนาถบิณฑิก มหาเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นต้นว่า

เราจะปลูกต้นโพธิ์ในที่นี้

พระเจ้าโกศลให้พวกราชบุรุษถือเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง แล้วเสด็จมาพร้อมด้วยบริวารใหญ่ในเวลาเย็น ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และ ผู้มีศรัทธาอื่นๆ ก็ได้ทำเช่นนั้น

ท่านที่เคยไปพระวิหารเชตวันและเห็นต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง ก็จะได้รู้ความเป็นมาของต้นโพธิ์ต้นนั้นว่า ได้เกิดขึ้นในสมัยนี้เอง

ท่านพระอานนท์เถระตั้งอ่างทองใบใหญ่ไว้ในที่เป็นที่ปลูกต้นโพธิ์ ให้เจาะ ก้นอ่าง และถวายลูกโพธิ์สุกแก่พระเจ้าโกศล ทูลว่า

มหาบพิตร พระองค์จงปลูกโพธิ์สุกนี้เถิด

พระเจ้าโกศลทรงพระดำริว่า ความเป็นพระราชามิได้ดำรงอยู่ตลอดไป ควรที่เราจะให้อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีปลูกต้นโพธิ์นี้ ทรงดำริดังนี้ แล้วได้วางลูกโพธิ์สุกนั้นไว้ในมือของมหาเศรษฐี

ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีรวบรวมเปือกตมที่มีกลิ่นหอมแล้ว ฝังลูกโพธิ์สุกไว้ในเปือกตมนั้น พอลูกโพธิ์พ้นมือมหาเศรษฐี เมื่อมหาชนกำลังแลดูอยู่ ได้ปรากฏ ลำต้นโพธิ์ประมาณเท่างอนไถ สูง ๕๐ ศอก แตกกิ่งใหญ่ ๕ กิ่ง กิ่งละ ๕๐ ศอก คือ ในทิศทั้ง ๔ และเบื้องบน ต้นโพธิ์นั้นเป็นต้นไม้ใหญ่กว่าต้นไม้ใหญ่ในป่า ตั้งขึ้น ในทันใดนั่นเอง ด้วยประการฉะนี้

พระราชารับสั่งให้เอาหม้อทองคำและหม้อเงิน ๘๐๐ หม้อ ใส่น้ำหอมเต็ม ประดับด้วยดอกบัวเขียวสูงขึ้นมา ๑ ศอกเป็นต้น ตั้งเป็นแถวแวดล้อมต้นมหาโพธิ์ แล้วรับสั่งให้ทำแท่นสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ โปรยปรายผสมทอง สร้างกำแพงล้อมรอบ ทำซุ้มประตูสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ เครื่องสักการะได้มีเป็นอันมาก

ท่านพระอานนท์เถระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลอาราธนาว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงประทับนั่ง ณ โคนต้นโพธิ์ที่ข้าพระองค์ ให้ปลูก ขอพระองค์จงทรงใช้สอยโคนต้นโพธิ์นั้นด้วยความสุขเกิดแต่สมาบัติ โดยกำหนดว่า ใกล้ภูมิประเทศนี้เถิดพระเจ้าข้า

พระศาสดาทรงใช้สอยโคนต้นโพธิ์นั้น ด้วยความสุขเกิดแต่สมาบัติตลอด ราตรีหนึ่ง

ท่านพระอานนท์เถระถวายพระพรแก่พระเจ้าโกศลเป็นต้น ให้ทำการฉลอง ต้นโพธิ์ และต้นโพธิ์แม้นั้น ก็ปรากฏว่า อานนท์โพธิทีเดียว เพราะเป็นต้นไม้ที่ ท่านพระอานนท์ให้ปลูกไว้

ท่านพระอานนท์ให้ปลูก แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นคนปลูก โดยที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้นำผลโพธิ์สุกมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์

ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ท่านพระอานนท์ เมื่อ พระตถาคตยังดำรงอยู่ ให้ปลูกต้นโพธิ์แล้วบูชาอย่างมากมาย พระเถระมีคุณมาก น่าอัศจรรย์จริง

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยอะไรหนอ

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน อานนท์ก็ได้พามนุษย์เป็นอันมากพร้อมด้วยบริวาร ให้นำของหอมและดอกไม้เป็นอันมากไปกระทำการฉลองต้นโพธิ์ ณ มหาโพธิมณฑลเหมือนกัน

และได้ตรัส กาลิงคชาดก ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็อ่านได้จาก ขุททกนิกายชาดก

ขณะที่บูชาสักการะด้วยของหอม ปัญญาเกิดได้ไหม ในคราวก่อนได้พูดถึง เรื่องของทาน ๓ กาล และปัญญาเกิดในขณะที่เจตนาที่เป็นไปในทานเกิด เพราะว่าบางคนก่อนจะให้ ก็ระลึกถึงความไม่เที่ยงของสมบัติ หรือของตนเอง เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปรารภถึงสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง ขณะนั้นเป็นความเห็นที่ถูก

ในขณะที่ถวายสักการะด้วยดอกไม้ของหอมต่างๆ เหล่านี้ ขณะนั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วยได้ไหม

ที่ประเทศศรีลังกา ชาวศรีลังกานำเฉพาะดอกไม้ ไม่มีใบเลย ไปบูชาสักการะพระเจดีย์ตามวัดต่างๆ ในขณะนั้นจะมีคำกล่าวบูชา ซึ่งมีข้อความเป็นภาษาบาลี ถอดความออกมาได้ว่า

ความงามเลิศและความหอมอวลของดอกไม้ที่ข้าพระพุทธเจ้านำมาสักการะ ต่อพระผู้มีพระภาคนี้ จะเหี่ยวแห้งเสื่อมสลายมลายไปเป็นผงคลี ฉันใด รูปกายของข้าพระพุทธเจ้าก็จะถึงความเสื่อม ชรา และมลายไปเป็นผงคลี ฉันนั้น

นี่ก็เป็นปัญญาในขณะที่กำลังบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ เพราะว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่มีความงาม ความบางเบา ความละเอียดอ่อน ความละมุนละไม และมี ความอ่อนหวาน ซึ่งทุกคนก็ชอบดอกไม้ ไม่มีใครเลยที่จะไม่เห็นความงามของดอกไม้ แต่แม้กระนั้นความสวยงามของดอกไม้ที่ว่าเป็นเลิศ คือ เป็นความงามอย่างที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ และมีความหอม เวลาที่นำไปสักการะ ขณะนั้นผู้นั้นก็น้อมระลึกถึง ธรรมด้วยว่า แม้ดอกไม้นี้ก็ต้องเหี่ยวแห้ง เสื่อมสลาย ย่อยยับไป ฉันใด ร่างกายของผู้ที่กำลังกระทำการบูชาสักการะก็จะถึงความเสื่อม ความชรา ความย่อยยับไปฉันนั้น

ต่อไปนี้เวลาที่บูชาด้วยดอกไม้ ก็คงจะระลึกอย่างนั้นได้ ใช่ไหม และถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นก็เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย

เพราะฉะนั้น สิ่งไหนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ได้คิดถึง แต่บุคคลอื่นก็ระลึกถึง เช่น ในขณะที่บูชาพระผู้มีพระภาคด้วยดอกไม้แล้วจะเกิดกุศลได้อย่างไร ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น

ในคราวก่อนมีท่านผู้หนึ่งถามเรื่องสมถภาวนาละโลภะ และวิปัสสนาภาวนา ละโมหะอย่างไร ซึ่งได้เรียนชี้แจงให้ท่านทราบว่า ชีวิตประจำวัน ทุกคนคงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลภะทั้งนั้น ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น การที่จิตจะสงบในวันหนึ่งๆ ต้องเป็นผู้ที่เห็นจริงๆ ว่า มีโลภะ โดยตลอด ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เมื่อเข้าใจเรื่องของการที่จิตจะสงบ เพราะระลึกถึงธรรมที่เป็นกุศลที่จะทำให้ จิตสงบ เช่น ระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือคุณของพระธรรม หรือคุณของพระสงฆ์แล้วจิตสงบ หรือในขณะที่กำลังฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่จิตที่เป็นกุศลนั้นเป็นได้ระยะสั้นๆ เพียงชั่วขณะ ที่ชวนจิตเกิดเพียง ๗ ครั้งแล้วภวังคจิตก็เกิดคั่น และวิถีวาระต่อไป ชวนวิถีก็เกิดอีกเพียง ๗ ครั้ง ซึ่งสั้นมาก และทุกคนก็จะเห็นได้ว่า กำลังฟังพระธรรม อาจจะมีเสียง ที่แทรกคั่น ถ้าเป็นเสียงนกก็ไม่เป็นไร อาจจะไม่ได้สังเกต แต่ในขณะนั้นก็ต้องมีอกุศลเกิดแล้ว คือ อาจจะเป็นโลภะ หรืออาจจะเป็นโทสะ หรืออาจจะเป็นโมหมูลจิต หรือถ้าไม่ใช่เป็นเสียงนก เป็นเสียงอื่นแทรกคั่นอยู่ ขณะนั้นให้ทราบว่า โลภมูลจิตเกิด โทสมูลจิตเกิด โมหมูลจิตเกิดแทรกได้ในขณะที่ไม่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น กุศลจิตที่ยังไม่ได้เกิดบ่อยและมาก ซ้ำจนกระทั่งลักษณะของความสงบปรากฏ ก็ดูเสมือนว่าขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ

ก่อนที่จะเจริญความสงบของจิตได้ ต้องศึกษาเรื่องอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบว่า ได้แก่อารมณ์อะไรบ้าง แต่โดยปกติประจำวัน คือ การระลึกถึงพระรัตนตรัย คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงทาน ระลึกถึงศีล ระลึกถึงคุณของเทวดา แต่ไม่ใช่ระลึกถึงเทวดาด้วยความติด ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดที่เป็นกุศลที่จิตสงบ ขณะนั้นละโลภะ เพราะว่าโลภะมีมากในชีวิตประจำวัน ถ้าใครเกิดโกรธและอยากสงบ ขณะนั้นไม่ชื่อว่าเห็นโทษของโลภะ และไม่ใช่การละโลภะด้วย สมถภาวนาต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษของโลภะ และอบรมเจริญกุศลเพื่อที่จะละโลภะ

สำหรับสติปัฏฐานนั้น แน่นอนว่าเป็นการละโมหะ ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง แต่วันหนึ่งๆ สติปัฏฐานก็ เกิดน้อย เพราะว่ามีการจำเรื่องของสติปัฏฐานไม่มากเท่ากับการจำเรื่องอื่นนั่นเองเพราะฉะนั้น การที่จะให้เกิดการระลึกได้ ก็โดยการศึกษาเข้าใจพระธรรม ทั้งหมดประกอบกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องของจิต เจตสิก รูปเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่อง ของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลด้วย

เปิด  221
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565