แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1877

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๒


ขอกล่าวถึงการสะสมปัญญาซึ่งปรากฏในชีวิตประจำวัน ที่เป็นความแยบคายในการคิดนึก

อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก ทูตชาดก มีข้อความว่า

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภ การสรรเสริญปัญญาของพระองค์

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงถ้อยคำปรารภพระคุณของพระศาสดา ในโรงธรรมสภาว่า

อาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูความเป็นผู้ฉลาดในอุบายของพระทศพลเถิด พระองค์ทรงแสดงนางอัปสรทั้งหลายแก่นันทกุลบุตร แล้วประทานพระอรหัต ทรงประทานผ้าเก่าแก่พระจุลปันถกะ แล้วประทานพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ทรงประทานดอกปทุมแก่นายช่างทอง แล้วประทานพระอรหัต พระองค์ทรงแนะ สัตว์ทั้งหลายด้วยอุบายต่างๆ อย่างนี้

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระองค์ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้นที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบาย โดยรู้อุบายว่า นี้เป็นดังนี้ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน

แล้วตรัสเล่าเรื่องความเป็นมาในอดีต

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ชนบทไม่มีเงินใช้ เพราะพระเจ้าพรหมทัตทรงบีบบังคับชาวชนบทขนเอาทรัพย์ไปหมด ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกคาม ครั้งเจริญวัยแล้วได้ไปยัง เมืองตักสิลา กล่าวกับอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าจักเที่ยวขอเขาโดยธรรม แล้วจักนำเอาทรัพย์มาให้อาจารย์ภายหลัง

คือ ขอเรียนก่อน แล้วจะนำทรัพย์มาให้ภายหลัง

แล้วท่านก็เริ่มเรียนศิลปศาสตร์ เมื่อเรียนสำเร็จแล้วก็บอกอาจารย์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมจะไปนำทรัพย์ค่าจ้างสอนมาให้ท่าน

และได้ออกไปตามชนบท แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทองคำ ๗ ลิ่ม จะเอาไปให้อาจารย์ แต่ในระหว่างทางนั้นได้ลงเรือข้ามแม่น้ำคงคา ขณะที่เรือโคลง ไปมา ทองคำของพระโพธิสัตว์ก็ตกน้ำหมด

พระโพธิสัตว์คิดว่า เงินเป็นของหายาก เมื่อเราจะเที่ยวแสวงหาทรัพย์ ค่าจ้างสอนตามชนบทก็จะเนิ่นช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรนั่งอดอาหารอยู่ที่ ฝั่งแม่น้ำคงคานี่แหละ พระราชาจักทรงทราบความที่เรานั่งอยู่โดยลำดับ ก็จะส่ง พวกอำมาตย์มา เราจะไม่พูดจากับพวกอำมาตย์เหล่านั้น

เป็นความคิดซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเดาไม่ออกว่า เรื่องจะเป็นไปอย่างไร แต่ผู้ที่ มีปัญญาก็มีความคิดที่คนอื่นคิดไม่ถึง

ลำดับนั้นพระราชาก็จะเสด็จมาเอง

คือ ท่านคิดว่า เราจะไม่พูดจากับพวกอำมาตย์เหล่านั้น และพระราชาก็จะเสด็จมาเอง

เราก็จะได้ทรัพย์ค่าจ้างสอนในสำนักของพระราชาด้วยอุบายนี้

เมื่อท่านคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ห่มผ้าสาฎกเฉวียงบ่า เอายัญและสายสิญจน์วงไว้โดยรอบ นั่งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ประดุจรูปปฏิมาทองคำบนพื้นทราย ซึ่งมี สีดุจแผ่นเงินฉะนั้น

มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์นั่งอดอาหารอยู่ จึงถามว่า ท่าน นั่งทำไม

พระโพธิสัตว์ไม่ได้กล่าวแก่ใครๆ สักคำเดียว

วันรุ่งขึ้น ผู้ที่อยู่บ้านใกล้ประตูพระนครได้ฟังว่า พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่นั้น ก็ได้พากันไปถาม พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้กล่าวอะไรแม้สักคำเดียวกับชนเหล่านั้น

ชนเหล่านั้นเห็นความลำบากของพระโพธิสัตว์ ก็พากันคร่ำครวญหลีกไป

ถามอะไรก็ไม่บอก นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนั้นเอง คนก็สงสาร

ในวันที่ ๓ ชาวพระนครพากันมา

ในวันที่ ๔ อิสรชนพากันมาจากในพระนคร

พวกมียศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ ก็มา

ในวันที่ ๕ ราชบุรุษพากันมา

ในวันที่ ๖ พระราชาทรงส่งพวกอำมาตย์มา พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้กล่าวแม้กับชนเหล่านั้น

ในวันที่ ๗ พระราชาทรงกลัวภัย จึงเสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์

เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า

ดูกร พราหมณ์ เราส่งทูตทั้งหลายมาเพื่อท่านผู้เพ่งอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา ทูตเหล่านั้นถามท่าน ท่านก็ไม่ได้บอกให้แจ่มแจ้ง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับท่านนั้น เป็นความตายของท่านมิใช่หรือ

ต้องเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตแน่ ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่มานั่งเฉยๆ ไม่พูดจากับใครตลอด ๗ วัน

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า

ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์จะบอกแก่ผู้ที่สามารถจะนำทุกข์ไปได้เท่านั้น ไม่บอกแก่คนอื่น

แล้วได้กล่าวคาถา ๗ คาถาว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐกาสีให้เจริญ ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแก่พระองค์ ผู้ใดไม่พึงเปลื้องทุกข์จากพระองค์ได้ พระองค์อย่าได้ตรัสบอกความทุกข์นั้นแก่ผู้นั้น

ทุกคนมีความทุกข์ แต่ผู้ที่ฉลาดต้องพิจารณาว่า จะบอกหรือไม่บอกใคร เพราะถ้าคนอื่นช่วยไม่ได้ หรือคนที่จะบอกช่วยไม่ได้ ก็เท่ากับไปยกทุกข์ให้กับคนอื่น คือ พลอยทำให้เขาเป็นทุกข์ลำบากไปด้วยนั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฉลาดต้องรู้ว่า ควรจะบอกกับใคร

ท่านกล่าวว่า

ผู้ใดเปลื้องทุกข์ของบุคคลผู้เกิดทุกข์ได้ส่วนเดียวโดยธรรม พึงบอกเล่าแก่ผู้นั้นได้โดยแท้ ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น

เคยฟังหรือเคยสังเกตเสียงนก เสียงสัตว์ บ้างไหม ถ้าเข้าไปในป่าจะได้ยินเสียง สัตว์ ถ้าเป็นนกก็จะร้องด้วยเสียงที่เตือนพวกเดียวกันให้รู้ว่า กำลังมีคนแปลกปลอมหรือมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจภาษานก แต่เสียงนกมีหลายเสียง เสียงซึ่งเตือนพวกเดียวกันก็มี เพราะฉะนั้น เสียงของสัตว์ทั้งหลายรู้ได้ไม่ยาก แต่ เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น

อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้

ผู้ใดถูกถามเนืองๆ ถึงทุกข์ของตน ย่อมบอกในกาลไม่ควร ผู้นั้นย่อมมีแต่ มิตรผู้แสวงหาประโยชน์ แต่ไม่ยินดีร่วมทุกข์ด้วย

บุคคลผู้รู้กาลอันควร และรู้จักบัณฑิตผู้มีปัญญา มีใจร่วมกันแล้ว พึงบอกความทุกข์ทั้งหลายแก่บุคคลผู้เช่นนั้น นักปราชญ์พึงบอกความทุกข์ร้อนแก่บุคคลอื่น พึงเปล่งวาจาอ่อนหวานมีประโยชน์

อนึ่ง ถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่า ประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ นักปราชญ์เมื่อเพ่งเล็งหิริและโอตตัปปะ อันเป็นของจริง พึงอดกลั้นความทุกข์ร้อนไว้ผู้เดียวเท่านั้น

ข้อความที่ว่า อนึ่ง ถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่า ประเพณีของโลกนี้จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ โลกธรรมมี ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ เพราะฉะนั้น ประเพณีของโลกนี้จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ คือ เราแต่ละคนจะมีแต่ความสุขอย่างเดียวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีความทุกข์ก็ขอให้ระลึกว่า ไม่ใช่เราคนเดียว และเราก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะความสุขอย่างเดียวเท่านั้น ทุกคนในโลกต้องมีทั้งสุขและทุกข์ด้วย

พระโพธิสัตว์ครั้นแสดงธรรมถวายพระราชาด้วยคาถา ๗ คาถาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนแสวงหาทรัพย์เพื่ออาจารย์ ได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า

ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระองค์ต้องการหาทรัพย์ให้อาจารย์ จึงเที่ยวไป ทั่วแว่นแคว้นนิคมและราชธานีทั้งหลาย ขอกับคฤหบดี ราชบุรุษ และ พราหมณ์มหาศาล ได้ทองคำ ๗ ลิ่ม ทองคำ ๗ ลิ่มของข้าพระองค์นั้นหายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกมาก

ข้าแต่พระมหาราช บุรุษผู้เป็นทูตของพระองค์เหล่านั้น ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า ไม่สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึง ไม่บอกแก่บุรุษเหล่านั้น

ข้าแต่พระมหาราช ส่วนพระองค์ ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า พระองค์สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ

พระราชาผู้บำรุงรัฐกาสีใหญ่ มีพระหฤทัยเลื่อมใส ได้พระราชทานทองคำ ๑๔ แท่งแก่พระโพธิสัตว์นั้น

พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทแก่พระราชาแล้ว ให้ทรัพย์แก่อาจารย์ บำเพ็ญกุศล มีทานเป็นต้น แม้พระราชาก็ดำรงอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ ครองราชย์สมบัติ โดยธรรม แล้วชนทั้ง ๒ ก็ไปตามยถากรรม

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบาย แม้ในกาลก่อนตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน

แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ อาจารย์ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนมาณพ คือเราตถาคตนั่นแล

สังสารวัฏฏ์ยาวนานเหลือเกินกว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ผลัดกันเป็น ครูอาจารย์ เพราะในชาตินั้นท่านพระสารีบุตรเป็นอาจารย์ และพระผู้มีพระภาค เป็นมาณพ ส่วนท่านพระอานนท์เป็นพระราชา เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน ก็ผลัดกันเป็นครูอาจารย์บ้าง แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่รู้ธรรมหรือเข้าใจธรรมก็ไม่ใช่ว่า จะรู้ทางโลกไปเสียทุกอย่าง หรือผู้ที่เฉลียวฉลาดในทางโลกก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้ธรรมเท่าทางโลก

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรงต่อตัวเองย่อมรู้ว่า ไม่ควรเป็นผู้ทะนงตนหรือสำคัญตน แต่ควรเป็นผู้ที่อ่อนน้อมและสะสมการกระทำทุกอย่างที่ถูกที่ควร เพื่อละคลายอกุศล

ถ. ความกังวลใจรู้สึกว่า มีเป็นประจำสำหรับตัวผม ในทางธรรม ความกังวลใจตรงกับกุกกุจจะหรือเปล่าไม่ทราบ ความกังวลใจรู้สึกจะเป็นเจ้าเรือนสำหรับผม ตื่นนอนลืมตาขึ้นก็รู้สึกคล้ายๆ มีความกังวลใจขึ้นมาแล้วโดยไม่ต้องคิด แต่ค้นหาดูแล้ว คิดดูแล้วว่า เรากังวลใจเรื่องอะไร ส่วนใหญ่ก็ไม่มีเรื่องอะไร คล้ายๆ จะค้างมาจากวันก่อนๆ หรือเรื่องที่แล้วๆ มา วิธีที่ดีที่สุดที่ผมใช้อยู่ คือ ความ กังวลใจก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา แต่ก็ไม่ได้ตรงทีเดียว หมายความว่า ขณะที่จิตระลึก เกิดความกังวลใจแล้วจึงระลึกได้ ไม่ตรงกับขณะที่เกิดทีเดียว เกิดแล้วจึงระลึกได้ ก็ทำให้ผ่อนคลายไปได้บ้าง แต่ไม่ได้หาย ยังเกิดอยู่เรื่อยๆ เป็นประจำ ความกังวลใจรู้สึกว่าเป็นกิเลสที่เกิดมาก ทำให้จิตใจไม่สงบ วุ่นวาย วิตกกังวลอยู่เรื่อย

วิธีที่ดีที่สุด คือ เราต้องมีสติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีสติได้ตามที่เราต้องการ นานๆ จึงจะเกิดสักครั้งหนึ่ง ถ้าจะมีอุบายวิธีที่ดีกว่าที่ผมใช้อยู่ ก็ขอให้อาจารย์ได้โปรดกรุณาช่วยแนะนำด้วย

สุ. ถ้ามีวิธี ทุกคนจะไม่กังวลเลย เพราะว่ารู้วิธี แต่เรื่องของปัญญา เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ สะสมอบรมจนกว่าจะเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ชัดยิ่งขึ้นในสภาพที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ข้อสำคัญที่สุด คือ เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องทดสอบปัญญาให้รู้ว่า ขณะนั้นสติสามารถที่จะระลึกและรู้ได้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง แม้แต่ความกังวลที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงลักษณะหนึ่ง ซึ่งถ้าสติไว คม เพราะว่าเคยอบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่มีแต่ความกังวลใจ เห็นก็มี เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความกังวลใจ ได้ยินก็มี เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความกังวลใจ ขณะที่พูด ขณะที่เคลื่อนไหวหรือกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน สภาพธรรมนั้นก็มีจริง และไม่ใช่ความกังวลใจ

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แม้ความ กังวลใจนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็โดยที่สติระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด

ถ. ขณะที่รู้ว่า ความกังวลใจไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ความรู้นี้ยังไม่เป็นความรู้ที่ประจักษ์จริงๆ เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยการคิดนึก เพราะฉะนั้น ความกังวลใจจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก เพราะว่าไม่ได้ประจักษ์จริงๆ เป็นแต่คิดเอาเท่านั้นเองว่า เป็นสภาวธรรมชนิดหนึ่ง เชื่ออย่างนั้น เป็นความเชื่อ แต่ยังไม่ได้ประจักษ์จริงๆ

สุ. รู้ขั้นคิด ก็ยังดีกว่าไม่รู้เลย ใช่ไหม เพราะว่าบางคนไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะสมบูรณ์ จะเห็นได้ว่า เป็นชีวิตจริงๆ แต่ละภพแต่ละชาติที่จะต้องอบรมไปเป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าทุกคนอยากจะมีปัญญาอย่างมากที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เวลาระลึกลักษณะสภาพธรรมใดก็จะให้ประจักษ์แจ้งชัด ไปเลยว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ

ถ. ระยะนี้ก็มีความกังวลใจอยู่ มีท่านผู้ฟังเตือนหลายท่านแล้วว่า รู้สึกว่าผมจะแก่มากแล้ว หลงๆ ลืมๆ เวลานำอุทิศส่วนกุศลก็ว่าผิดๆ ถูกๆ ผมก็ไม่ได้ บอกว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ความจริงแล้วไม่ถึงขนาดหลงๆ ลืมๆ หรอก แต่ ท่านอาจารย์เตือน ท่านแนะว่า ให้ว่าสั้นๆ ก็ได้ ยาวๆ ให้ไปว่าที่บ้าน หรือเวลาจะหลับจะนอน ที่นี่ว่าสั้นๆ แค่ ขออุทิศส่วนกุศลแด่เทพยดาอมนุษย์ทั้งหลาย วันนี้ก็ถือโอกาสพูดเพื่อจะให้หายกังวล

สุ. ท่านผู้ฟังมีหลายอัธยาศัยจริงๆ เพราะฉะนั้น ใครจะชอบอย่างสั้น ใครจะชอบอย่างยาว ตอนที่อุทิศส่วนกุศลอย่างยาว หลายท่านก็บอกยาวไป เวลาที่ตัดเป็นการอุทิศส่วนกุศลอย่างสั้น ไม่ทราบว่ามีท่านผู้ฟังคิดว่าสั้นไปหรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของคุณนิภัทร เพราะว่าดิฉันได้รับฟังมาว่า ยาวไป ก็เลยคิดว่า ถ้าหลายท่านไม่ชอบการอุทิศส่วนกุศลที่ยาวไป ก็ควรจะสั้นลง

ผู้ฟัง ก่อนอื่นผมขอกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาท่านอาจารย์ด้วย ที่พูดเรื่องความกังวลใจ ที่คุณนิภัทรถามว่า ทำอย่างไรลักษณะอย่างนี้จึงจะหายไป ผมเข้าใจว่า ถ้าได้ศึกษาเรื่อยๆ สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นก็สามารถรู้ได้ว่า ขณะใด เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็อาจจะช่วยเหลือได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565