แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1879

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๒


ได้รับจดหมายจากท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ขอเชิญท่านผู้ฟังช่วยอ่านด้วย

เรือนจำกลางบางขวาง แดน ๓ อำเภอเมือง นนทบุรี

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๒

กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพอย่างสูง

ผมได้ถือโอกาสวันวิสาขบูชานี้เขียนจดหมายมาเพื่อขอขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ ซึ่งผมถือว่าเป็นผู้มีพระคุณต่อผมอย่างมากล้น เพราะตลอดเวลา เกือบ ๕ ปีที่ผ่านมาที่ผมได้รับฟังธรรมทางวิทยุที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายไว้ และได้อ่านหนังสือที่เขียนโดยท่านอาจารย์ทุกเล่มที่มีอยู่ ผมก็ได้ประพฤติปฏิบัติตามคำแนะนำ สั่งสอนของท่านอาจารย์ตลอดมา โดยที่ผมก็ได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากพระสูตร พระอภิธรรมซึ่งมีผู้มีเมตตาจิตได้กรุณาให้มาเป็นธรรมทาน

วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ผมได้มีโอกาสเจริญความสงบตามลำพัง โดยได้เจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยใช้เวลานานกว่าที่ทำอยู่ปกติประจำวัน คือ ได้ระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๙ ประการ คุณพระธรรมทั้ง ๖ ประการ และคุณพระสงฆ์ ๙ ประการ นานกว่าที่สวดมนต์ทุกครั้งที่ผมได้นึกถึงประโยชน์อย่างมหาศาลที่ได้จากการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรม ผมมีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ได้สร้างสมบารมีมานานแสนนาน เพื่อตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐ แล้วทรงสั่งสอนและเผยแพร่ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แก่ ชนจำนวนมาก จนกระทั่งพระธรรมนั้นสืบทอดมาให้ผมได้ศึกษาและปฏิบัติตาม

เมื่อ ๕ ปีที่แล้วกับวันนี้ ก็มีแต่ตัวของผมเองเท่านั้นที่รู้ข้อแตกต่าง และรู้ว่า ผมได้ประโยชน์อะไรบ้าง แม้ว่าขณะนี้ตัวผมอยู่ในเรือนจำซึ่งต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งผมมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และผมก็ได้ปฏิบัติตัวเหมือนคนส่วนมากทั่วๆ ไป คือ ไม่รู้จักตัวเอง ปล่อยตัวไปตามความต้องการตามธรรมชาติ

ขณะนี้ผมดีใจและภูมิใจที่ได้พบสิ่งอันประเสริฐสุด และได้ทำสิ่งอันสมควร อย่างยิ่งแล้ว ท่านอาจารย์เป็นเสมือนพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระธรรมอันถูกต้อง ตรงเนื้อความและความหมายเดิมที่ได้ทรงแสดงไว้ ทำให้ผมได้มีความเข้าใจในสิ่งที่ยากต่อความเข้าใจเพราะมีท่านอาจารย์เป็นเหตุ อีกทั้งทำให้ผมได้สนใจศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจะยืนยันพระธรรม ยืนยันความจริง ผมได้ศึกษามหาสติปัฏฐานสูตรพร้อมทั้ง อรรถกถา พระอภิธัมมัตถสังคหะทั้ง ๙ ปริจเฉท ซึ่งทั้งพระสูตร พระอภิธรรมที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมนั้น ล้วนมีประโยชน์เกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐานเป็นอย่างมาก แทบจะเรียกได้ว่าจำเป็นต้องรู้ก่อนก็ได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เจริญมรรคมีองค์ ๘ หรือโพชฌงค์ ๗ ก็ดี ผมได้ถือตามที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายและเขียนไว้ คือ การเจริญสติปัฏฐาน อันเป็นทางเอกทางเดียวเพื่อการละคลายการยึดถือตัวตน สัตว์ บุคคล ละคลายกิเลส และเพื่อดับกิเลสในที่สุด ด้วยการที่ผมได้ศึกษา ได้สังเกตพิจารณาด้วยความสนใจ มุ่งมั่นและต่อเนื่องมาตลอด

แม้ว่าขณะนี้ผมยังเป็นผู้หนาแน่นด้วยกิเลสอยู่ก็จริง แต่ผมก็มั่นใจว่า ผมเดินถูกทางแล้ว มีความมั่นคงไม่ลังเลสงสัยว่า แบบไหนผิด แบบไหนถูก อาจารย์ไหนผิด อาจารย์ไหนถูก กับการที่จะปฏิบัติเพื่อละคลายกิเลสกันจริงๆ

ผมเองเชื่อว่า อาจารย์ท่านใดก็ตามหากได้ทุ่มเทศึกษา ค้นคว้า และปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจัง เชื่อในเหตุและผล มีใจเป็นกลาง ไม่ถือตัวเกินไปแล้ว ทุกท่านเหล่านั้นก็คงจะมุ่งสอนย้ำให้ผู้อื่นได้รู้ตามอย่างที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้ กระทำมาแล้ว

ถึงแม้ว่าผมจะเรียนกับท่านอาจารย์ว่า การเจริญสติปัฏฐานที่ผมได้ปฏิบัติตามท่านอาจารย์นั้น ผมเข้าใจดี ไม่สงสัย ผมเพียงแต่สะสมเหตุปัจจัยที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็ถึงจุดหมายเอง แม้ไม่หวังผลก็ต้องได้ผล ท่านอาจารย์ก็คงจะเพียงรับฟัง และรู้สึกเฉยๆ แต่สำหรับผมนั้นได้เห็นและรู้จักตัวเองได้ดีอย่างที่ท่านอาจารย์พูดเสมอว่า เมื่อด้ามมีดสึกแล้ว จึงรู้ว่าสึกแล้ว แต่ไม่รู้ว่าสึกวันไหนเท่าไร ด้วยเหตุนี้ผมจึง รู้สึกซาบซึ้งถึงพระคุณของพระองค์ท่าน คุณของพระธรรม คุณของท่านอาจารย์ ที่ทำให้ผมได้มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาอย่างวันนี้

แม้ว่าขณะนี้ผมอยู่ในฐานะเสื่อมจากโลกธรรมทุกอย่าง แต่ผมไม่รู้สึกว่า เป็นปมด้อย เพราะผมรู้จักสร้างเหตุเพื่อจะรับผลเองต่อไป ในเมื่อผมยังไม่พ้นจาก กามคุณทั้งหลาย การกระทำของผมย่อมเป็นไปในปุญญาภิสังขารเสียเป็นส่วนมาก และผมก็ได้รู้ว่า การฟังและการอ่านอยู่เสมอนั้น มีประโยชน์เกื้อกูลต่อสติและปัญญา ดังนั้น วันคืนของผมจึงผ่านไปได้ดี

ผมถือโอกาสวันวิสาขบูชาของปีนี้ แสดงความระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านอาจารย์ที่มีต่อผม เนื่องจากท่านอาจารย์เป็นปูชนียบุคคลทางปัญญาสำหรับผม ทางด้านคุณพี่ศุกลนั้น ท่านดูแลผมด้วยดีมาตลอดยิ่งกว่าญาติสนิทเพื่อนฝูงทุกคนเท่าที่ผมมีอยู่ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ผมก็หวังว่าผมจะทำอย่างนั้นได้บ้าง ผมขอจบข้อความเพียงแค่นี้

ด้วยความเคารพและบูชาอย่างสูง

ประทีป ใจกล้า

สุ. สำหรับดิฉันเองเมื่อได้ทราบว่า มีท่านที่ได้รับประโยชน์จากการฟัง และการศึกษาพระธรรม ดิฉันไม่ได้รู้สึกเฉยๆ อย่างที่คุณประทีปเขียนมา แต่เป็น กุศลโสมนัสอย่างมาก ทั้งมุญจนเจตนา คือ ในขณะที่ได้ทราบ และอปรเจตนา คือ หลังจากนั้นเมื่อระลึกถึงครั้งใดก็ยังเป็นกุศลโสมนัส แม้ว่าจะได้รับจดหมายฉบับนี้หลายวันแล้ว แต่ทุกครั้งที่ระลึกถึงความเข้าใจและกุศลทั้งหลายของท่านผู้ฟังที่เกิดจากการศึกษา การพิจารณา และการปฏิบัติธรรม ดิฉันก็เกิดกุศลซาบซึ้งและอนุโมทนา ทุกครั้งที่ระลึกถึง

การระลึกถึงพระคุณของกุศลเจตนาของผู้มีพระคุณที่ทำให้ดิฉันและ ทุกท่านได้ศึกษาและเข้าใจพระธรรมนั้น มากมายเกินกว่าที่จะพรรณนาจริงๆ เช่น พระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีนับเป็นแสนๆ อสงไขยกัป และเมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงมีพระมหากรุณา ทรงมีพระวิริยะใน การที่จะแสดงพระธรรมเพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกตราบจนปรินิพพาน และพระคุณของพระอรหันตสาวกทั้งหลายที่ได้สืบต่อพระธรรม โดยได้กระทำสังคายนาร้อยกรอง พระธรรมวินัยเพื่อให้บุคคลภายหลังได้ศึกษา ได้เข้าใจพระธรรม สืบมาจนถึงพวกเราทุกท่านในชาตินี้

พระคุณมากมายจริงๆ ถ้าจะย้อนระลึกไปจนกระทั่งถึงพระคุณของท่าน ผู้รู้ภาษาบาลีซึ่งได้ถ่ายทอดพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นภาษาไทยสำหรับคนไทยเรา ให้ได้ศึกษา ซึ่งในบรรดาผู้รู้ภาษาบาลีที่ได้ถ่ายทอดพระธรรมเป็นภาษาไทยที่เรา รู้จักกันในขณะนี้ ก็มีท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ด้วยท่านหนึ่ง

นอกจากพระคุณของมารดาบิดา พระคุณของครูอาจารย์ผู้ให้ความรู้ในวัยเยาว์ ก็ยังมีผู้ที่มีพระคุณอย่างสูง คือ ครูอาจารย์ผู้ที่ให้ความรู้ทางธรรม ซึ่งสำหรับดิฉันเองในสมัยที่ศึกษาพระอภิธรรมนั้น ก็มีครูอาจารย์ที่สอนพระอภิธรรมหลายท่าน เช่น ท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ท่านอาจารย์บุญมี เมธางกูร คุณพระชาญบรรณกิจ คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต เป็นต้น และความรู้ส่วนใหญ่ในพระอภิธรรม ดิฉันได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เป็นส่วนใหญ่

เมื่อระลึกถึงพระคุณของท่านเหล่านี้ ระลึกถึงความเมตตาของท่าน กุศลจิต ที่เป็นโสมนัสก็เกิด และเมื่อได้มีโอกาสบรรยายธรรมที่ได้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติมา ให้ท่านผู้ฟังในสมัยนี้ได้เกิดความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง ก็อนุโมทนาในกุศล ของทุกๆ ท่านที่ได้เข้าใจพระธรรม

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความดีทั้งหมด ไม่ว่าใครจะระลึกถึงในสมัยไหน แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน หรือย้อนถอยหลังไปถึงพระคุณในอดีตของท่านผู้มีพระคุณ ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด อย่างที่เคยอุทิศส่วนกุศลให้ ผู้มีพระคุณทั้งในปัจจุบันชาติและ ในอดีตอนันตชาติ ซึ่งทำให้ทุกคนได้มีโอกาสศึกษาได้เข้าใจพระธรรม แต่บางท่าน ก็เห็นว่ายาวไป จึงตัดออกเหลือแต่เพียงสั้นๆ

สำหรับในวันนี้ ไม่ทราบท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหมในเรื่องปัญญาบารมีหรือในเรื่องที่ได้รับฟังแล้ว

ถ้าไม่มี ขอทบทวนจำนวนของเจตสิก ซึ่งเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เป็นอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ประเภท เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท และเป็น โสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท

อัญญสมานาเจตสิกแบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ประเภท และเป็นปกิณณกเจตสิก ๖ ประเภท

สัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้ง ๗ ประเภท ไม่เป็นบารมีหนึ่งบารมีใดโดยเฉพาะ เพราะว่าสัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้ง ๗ เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับวิบากจิตก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยา

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องรู้เรื่องชาติของจิต และเจตสิก ซึ่งก็มีเพียง ๔ ชาติ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑

เรื่องธรรมเป็นเรื่องจริง การที่จะรู้ว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ก็โดยการเข้าใจสภาพธรรมละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นกุศลก็มี ธรรมที่เป็นอกุศลก็มี ซึ่งธรรมที่เป็นกุศลไม่ใช่ธรรมที่เป็นอกุศล นี่ก็เห็นประโยชน์แล้วใช่ไหมว่า เป็นประโยชน์ที่จะต้องเข้าใจธรรมที่เป็นกุศลโดยถูกต้อง และต้องเข้าใจธรรมที่เป็นอกุศลโดยถูกต้อง

นี่ ๒ ชาติแล้ว

สำหรับธรรมที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศลและอกุศล ก็มีความจำเป็น ที่จะต้องเข้าใจ เพราะว่าธรรมที่เป็นผลไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุ กุศลจิตเป็นเหตุให้เกิด กุศลวิบากซึ่งเป็นผล อกุศลจิตหรืออกุศลกรรมก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดอกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผล และสำหรับอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิตและเจตสิก หมายความถึงจิต และเจตสิกนั้นไม่ใช่เหตุ คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่ผลคือไม่ใช่วิบากด้วย

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายสืบมาไม่ว่าจะในสังสารวัฏฏ์ ที่ยาวนานจนถึงปัจจุบันชาติและต่อไป ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นวิบากก็เป็นวิบาก ธรรมทั้งหลายที่เป็นกิริยาก็เป็นกิริยา เพราะฉะนั้น กว่าจะละการยึดถือสภาพธรรม ก็โดยการที่จะต้องเข้าใจขึ้นในเรื่องของธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้โดยละเอียด จึงจะเป็นพื้นฐานที่สติจะสามารถระลึกและรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ

เช่น ลักษณะของโลภะ เป็นสภาพที่ติดข้องพอใจเพลิดเพลิน ซึ่งในวันหนึ่งๆ มีมาก และถ้าไม่กล่าวถึงลักษณะของโลภะว่าเป็นอกุศล มีใครที่คิดจะละโลภะ บ้างไหม ติดข้อง พอใจ ยินดี เพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่มีใครเลยที่จะเห็นว่า โลภะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจว่า ธรรมใดเป็นอกุศล ธรรมใด เป็นกุศล ธรรมใดเป็นวิบาก ธรรมใดเป็นกิริยา จึงมีประโยชน์ที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น

สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑ ในบรรดา ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวงนั้น วิริยเจตสิกเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่เมื่อเจริญขึ้นทาง ฝ่ายกุศลแล้วจะเป็นวิริยบารมี เป็นบริวารของปัญญาที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ วิริยเจตสิกนั้นเกิดเป็นประจำ ยกเว้นอเหตุกจิตเพียง ๑๖ ดวงเท่านั้นที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น วิริยะที่กำลังเกิดในขณะนี้เป็นทางฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล ไม่เป็นบารมีเลย ซึ่งทุกท่านก็พอจะสังเกตเห็นวิริยะที่เป็นไปในโลภะเป็นส่วนใหญ่ได้

เวลาที่มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ปรารถนาที่จะเห็น ขณะนั้นมีวิริยะ ที่จะสร้างสิ่งสวยงามที่ปรารถนาจะดูให้เกิดขึ้น นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งวิริยะเป็นปกิณณกเจตสิกเกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ แต่เมื่อเกิดกับอกุศลจิต เป็นประจำมานานแสนนานแล้ว ก็ควรจะเห็นประโยชน์ของวิริยบารมีว่า แทนที่จะเพียรในทางอกุศล ก็ควรเพียรเพื่อที่จะให้วิริยะนั้นเป็นวิริยบารมี เพราะฉะนั้น ก็ควร ที่จะพิจารณาลักษณะของวิริยเจตสิกซึ่งกำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ด้วย

ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า

วิริยะมีอุตสาหะเป็นลักษณะ

มีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมทั้งหลายเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีความไม่ท้อแท้ใจเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีความสลดใจเป็นปทัฏฐาน

ถ้าจะดูวิริยะที่พอจะเห็นได้ คือ ในขณะที่ขยันหมั่นเพียร ซึ่งตรงกันข้าม กับขณะที่เกียจคร้าน แต่โดยอภิธรรมคือธรรมที่ละเอียดที่ทรงแสดงไว้ถึงเจตสิกที่ เกิดกับจิต จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้านก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นวิริยะในทางเกียจคร้าน เป็นไปได้ไหม

ไม่มีใครอยากจะขยันเท่าไร ขี้เกียจสบายกว่า จริงหรือไม่จริง เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้านก็มีวิริยะที่จะเกียจคร้านต่อไปอีก แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่ควรต้องพิจารณาแม้แต่ลักษณะ รสะ คือ กิจ ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ และปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด

สำหรับลักษณะของวิริยเจตสิกอีกประการหนึ่ง ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่ได้พิจารณา ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า

ความเป็นผู้กล้าหาญ คือ การกระทำของคนกล้าหาญ และความไม่ย่อหย่อน นั้นเป็นลักษณะของวิริยเจตสิก

มี ๒ คน คนหนึ่งกล้า คนหนึ่งขลาด แต่โดยอภิธรรม แม้คนขลาดก็ต้องมีวิริยะที่จะขลาด แต่คนกล้าจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของวิริยะชัดเจนว่า ต้องเป็นผู้มี ความเพียรที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะมีอุปสรรค หรือมีอันตรายอย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญนั้นเป็นลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งถ้าเป็นไปในทางฝ่ายกุศล วิริยะนั้น ก็จะถึงฐานะของความเป็นอินทริยะ คือ เป็นวิริยินทรีย์ เมื่อเกิดร่วมกับศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา และเมื่อเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรชอบที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง และเมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น วิริยะนั้นก็เป็นวิริยพละ มีกำลัง ไม่หวั่นไหวที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทุกเหตุการณ์ ไม่มีการคิดว่า ขณะนี้จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้

เปิด  242
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565