แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1890

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๒


อุปมากระแสของภวังค์ เหมือนกับกระแสน้ำซึ่งไหลไปเรื่อยๆ ไม่หยุด และในขณะที่ไหลไปนั้น ก็มีสิ่งต่างๆ ที่พัดพามากระทบกระแสน้ำนั้น ทำให้มีการรู้ อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดชั่วขณะ และน้ำนั้นก็ไหลผ่านไป

เพราะฉะนั้น ภวังคจิต เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติเหมือนกระแสน้ำ เวลาที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งกระทบ ก็รู้อารมณ์นั้นที่ปรากฏ กระทบชั่วขณะแล้วก็ผ่านไป ดับหมดไป ไม่เหลือเลย คือ เป็นภวังค์อีก หลังจากนั้นก็ต้องมีการเห็นอีก ได้ยินอีก ตลอดไป ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว แต่ตลอดสังสารวัฏฏ์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และต่อไปในอนาคตก็จะเป็นอย่างนี้

แต่ขอให้พิจารณาว่า แม้ได้ยินได้ฟังอย่างนี้บ่อยๆ กิเลสก็ไม่หมด จะต้องฟัง อีกนานสักเท่าไรที่จะทำให้ค่อยๆ รู้ขึ้นจนสติปัฏฐานระลึก และเข้าใจตรงตามที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ ว่า แต่ละขณะปรากฏสั้นมาก ชั่วขณะเล็กน้อย เช่น ขณะที่กำลังเห็น สั้นที่สุด มีอะไรที่จะทำให้สามารถพิจารณาตามและเข้าใจว่า การเห็นในขณะหนึ่ง การได้ยินในขณะหนึ่ง แสนสั้น และสิ่งใดที่ปรากฏแล้ว ดับหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย

เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และไตร่ตรองโดยละเอียดขึ้น แม้แต่ข้อความสั้นๆ เช่น ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ปฏิจจสมุปปาทวิภังคนิทเทส ซึ่งมีข้อความว่า

ธรรมทั้งหลายที่ออกไปภายนอกจากอารมณ์ภวังค์ แล้วก็กลับเป็นภวังค์

สั้นมาก ใช่ไหม ธรรมทั้งหลายที่ออกไปภายนอกจากอารมณ์ภวังค์ แล้วก็กลับเป็นภวังค์ ซึ่งธรรมทั้งหลายที่ออกไปภายนอกจากอารมณ์ภวังค์ก็คือจิตเจตสิก ที่ออกจากอารมณ์ของภวังค์ไปสู่อารมณ์อื่น

ขอให้นึกถึงภาพว่า จิตเกิดดับสืบต่อเป็นภวังค์อยู่ ต่อจากนั้นก็มีจิตและเจตสิกซึ่งพร้อมเพรียงกันเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบแล้วดับ อารมณ์ ก็ดับ วิถีจิตที่เห็นก็ดับ และก็กลับเป็นภวังค์อีก

ออกไปทำไมจากภวังค์ เป็นภวังค์อยู่ เหมือนคนที่นอนหลับสนิทเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ แต่ก็ออกไปนิดหนึ่งเพื่อที่จะเห็น และก็กลับเป็นภวังค์อีก และก็ออกไป อีกนิดหนึ่งเพื่อที่จะได้ยิน และก็เป็นภวังค์อีก ซึ่งในขณะที่ออกไปเห็น ก็เพียงชั่วเห็น และสิ่งที่เห็นก็ดับ วิถีจิตที่เห็นก็ดับ ภวังคจิตก็ดับ และก็เกิดดับสืบต่อกัน

จิตเจตสิกซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นทำกิจการงานพร้อมเพรียงกันเพื่อจะรู้อารมณ์อารมณ์เดียว เช่น ทางหู ได้ยินเสียงชั่วขณะหนึ่งสั้นๆ และดับไป วิถีจิตที่ได้ยินดับหมด เสียงก็ดับหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย ภวังคจิตที่ เกิดก่อนก็ต้องดับ ไม่เหลือ ขณะที่ออกจากอารมณ์ของภวังค์มาชั่วระยะสั้นๆ นิดเดียว หลังจากเป็นวิถีจิตที่เห็นแล้วก็ดับหมด และเป็นภวังค์อีก ภวังค์ก็ดับหมด และเป็น วิถีจิตทางหูที่ได้ยินสั้นๆ และเสียงก็ดับ วิถีจิตที่รู้เสียงทางหูก็ดับหมด ไม่มีอะไรเหลือสักขณะเดียว

ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงจะเห็นความไม่มีสาระ ความไม่ใช่ตัวตนของ สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรม และก็เห็นจริงๆ ว่า ถ้าไม่มีการบังคับสติ ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง คือ ทางตา ที่กำลังเห็น สติสัมปชัญญะสามารถที่จะรู้ในลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังเห็น และไม่ใช่มีแต่เห็น มีได้ยิน มีเสียง มีคิดนึก เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะสามารถ ที่จะตามระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจละเอียดขึ้น

เป็นจริงอย่างนี้หรือเปล่า เป็นจริง แต่ถ้าสติปัฏฐานยังระลึกไม่ทั่วก็ไม่สามารถ รู้ว่าสภาพธรรมสั้นอย่างนั้น และเป็นเพียงชั่วขณะจิตที่ออกจากภวังค์ มารู้อารมณ์ใหม่เพียงสั้นๆ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ต่างๆ ด้วยดี ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้า รู้แล้วมีโลภะ มีทิฏฐิ มีความเข้าใจผิด มีมานะ ความสำคัญตน มีความผูกโกรธ มีความริษยา มีความอาฆาต มีการแข่งดี มีการตีเสมอ มีอกุศลธรรมทั้งหลายมากมายทั้งนั้น การออกมารู้อารมณ์ภายนอกจากอารมณ์ภวังค์จะดีไหม ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ทุกคนออกมาทุกขณะ แต่เมื่อไม่ได้พิจารณาก็ไม่ทราบว่า การที่เห็นและอกุศลจิตเกิดนานาประการ ทั้งโลภะบ้าง ทิฏฐิบ้าง มานะบ้างนั้น ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ดับกิเลสได้

ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถา จูฬสีหนาทสูตร มีข้อความว่า

สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีในความเนิ่นช้านั้น เพราะฉะนั้น ความเนิ่นช้านั้น จึงชื่อว่า อาราโม เป็นที่มายินดี บุคคลผู้ยินดีในความเนิ่นช้า จึงชื่อว่า ปปัญจรตี

ถ้าพูดถึงความเนิ่นช้า และไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็ไม่เข้าใจเลยว่า เนิ่นช้าอย่างไร เนิ่นช้าที่ไหน

เวลาเห็นแล้วก็เกิดอกุศล เช่น โลภะบ้าง ทิฏฐิบ้าง มานะบ้าง โกรธบ้าง พยาบาทบ้าง ริษยาบ้าง ล้วนเป็นอกุศลทั้งหมด มีความเพียรหรือมีความคิดที่จะ ละอกุศลนั้นไหม

ถ้าไม่มีความเพียรที่จะละอกุศลนั้นๆ นั่นคือความเนิ่นช้า คือ ไม่ยอมที่จะสละ ไม่ยอมที่จะทิ้งอกุศลนั้นโดยเร็ว เพราะว่ายังพอใจในอกุศลนั้นอยู่ เช่น ยังพอใจ ในโลภะ ในสภาพที่น่ายินดีน่าพอใจของอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ควรละ แต่ผู้นั้นเองเป็นผู้ที่ รู้ว่าจะละหรือยัง หรือยังรอไว้ก่อน ยังไม่อยากจะละโลภะนั้น ชื่อว่าเป็นผู้เนิ่นช้า

หรือเวลาที่กระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา หรือทางหู ก็เกิดความขุ่นเคืองใจ ในขณะที่มีความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น ถ้าระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของความโกรธ หรือโทษของความผูกโกรธก็ตาม ในขณะนั้นจะละไหม หรือจะปล่อยไว้ก่อน รอไว้ก่อน นั่นก็คือความเนิ่นช้าในการที่จะละอกุศลนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ความเนิ่นช้าในที่นี้หมายความว่า แม้พระผู้มีพระภาคจะ ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ทรงแสดงโทษภัยของอกุศลต่างๆ โดยละเอียด แต่ผู้ฟังก็ยังช้า ยังไม่พร้อมที่จะสละ ยังไม่พร้อมที่จะละคลายอกุศลนั้นๆ และ สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีในความเนิ่นช้านั้น

ทำไมไม่รีบเร่งขวนขวายที่จะละกิเลส ก็เพราะว่าเป็นผู้ที่ย่อมยินดีใน ความเนิ่นช้า ในโลภะ ซึ่งสนุกมาก เพลิดเพลินมากในอกุศลทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ละ ด้วยเหตุนี้ ความเนิ่นช้านั้น จึงชื่อว่า อาราโม เป็นที่มายินดี และบุคคล ผู้ยินดีในความเนิ่นช้า จึงชื่อว่า ปปัญจรตี

ถ้าได้ยินคำว่า ปปัญจธรรม ก็หมายความถึงธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า และผู้ที่ยินดีในความเนิ่นช้า ชื่อว่าปปัญจรตี

บางคนที่ชอบชื่อเพราะๆ อาจจะคิดว่า ชื่อนี้เพราะดี ปปัญจรตี แต่หมายความว่า ผู้ที่ยินดีในความเนิ่นช้า

บทว่า ปปัญโจ นั้น เป็นชื่อของตัณหา ทิฏฐิ และมานะ อันเป็นไปแล้วโดยความเป็นอาการของผู้มัวเมาและผู้ประมาทแล้ว

เรื่องของอกุศลเป็นเรื่องที่ละยากจริงๆ แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมสักเท่าไร แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญายังไม่ถึงขั้น ที่จะดับกิเลส กิเลสก็ดับไม่ได้ แต่แม้กระนั้นการฟังพระธรรมให้ละเอียดขึ้น และพิจารณาใคร่ครวญให้ละเอียดขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ระลึกได้ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า ที่ว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้า หรือทุกท่านที่เป็นผู้ที่ประมาทมัวเมา เป็นปปัญจรตีนั้น เนิ่นช้าอยู่ที่ไหน

สภาพที่เนิ่นช้า ได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ แต่ว่าเนิ่นช้าอยู่ที่ไหน

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มธุปิณฑิกสูตร ข้อ ๒๔๘ มีข้อความว่า

จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป

ธรรมก็ซ้ำอีกแล้ว ใช่ไหม เตือนให้รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นจักขุวิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป

เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น

ขณะนี้ทางตาให้พิจารณาตามไปด้วย เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา ขณะนี้ไม่ใช่ไม่มีเวทนา กำลังมีเวทนาอยู่

บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนาอันนั้น

ถ้าไม่จำเวทนานั้น ก็ตรึกถึงเวทนานั้นไม่ได้ แต่เมื่อเวทนาใดเกิดขึ้นแล้วไม่ลืม ก็จำเวทนานั้น และตรึกถึงเวทนานั้น

บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น

การเนิ่นช้า ไม่ได้เนิ่นช้าอยู่ที่ไหนเลย ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนา ความรู้สึก เนิ่นช้าอยู่ที่สัญญา ความจำ เพราะข้อความต่อไปมีว่า

บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ก็ครอบงำผู้นั้น เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในรูปทั้งหลาย … ในเสียงทั้งหลาย … ในกลิ่นทั้งหลาย … ในรสทั้งหลาย … ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย … ในธรรมารมณ์ทั้งหลาย ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี

ทั้งหมด ไม่พ้นเลย เพราะว่ารูปก็มีปรากฏอยู่ทางตาตลอดเวลาให้เวทนา ความรู้สึกเกิดขึ้น ถ้าเป็นรูปดอกไม้สวย เวทนาจะเป็นอย่างไรก็จำเวทนานั้น ตรึกถึงเวทนานั้น เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้น ไม่ได้ไปไหนเลย

ทั้งๆ ที่รูปดับไปแล้ว เสียงก็ดับไปแล้ว แต่ความรู้สึกและสัญญาที่จำในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ทำให้ตรึกนึกถึงด้วยความเนิ่นช้า ไม่จบ ซึ่งความจริงรูปเกิดแล้วดับแล้ว หมดแล้ว แต่เพราะจำเวทนา สัญญาที่จำเวทนานั้น ทำให้เรื่องนั้นไม่จบ ไม่ปล่อย ทำให้เนิ่นช้าต่อไป

นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านคงจะทราบความหมายของปปัญจรตีได้ว่า ไม่ใช่ใครอื่น คือ ทุกท่านที่กำลังเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาในอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง

เพราะฉะนั้น จะต้องเพียรกันต่อไปอีก จะยุติหรือหยุดการเพียรไม่ได้ สำหรับผู้ที่ต้องการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

. ผมสงสัยคำว่า เนิ่นช้า ตามภาษาชาวบ้านเวลาที่เราพูดถึงความ เนิ่นช้า เราหมายถึงมิติทางด้านเวลา แต่ที่ท่านอาจารย์บรรยายนั้น พูดถึงเจตสิก เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสัญญา เวทนา หรือตรึกนึกคือวิตกก็ตามว่า เนิ่นช้า

จิตกับเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกัน และเกิดดับตลอดเวลา ไม่รู้ว่าเนิ่นช้าตรงไหน หมายความว่าไม่เดินไปข้างหน้า ซ้ำซากอยู่หลายๆ ชั่วขณะจิตหรืออย่างไร มิติของเวลาเข้ามาตรงนี้เลยไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างจากผัสสะไปสู่เวทนา ตรงนี้ก็บอกว่า มีสัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง นึกถึงว่าผัสสะตรงนั้นน่าชื่นชม รื่นรมย์ และตรึกนึกอะไรไป ก็เกิดเวทนาขึ้นมากระนั้นหรือ เนิ่นช้าเพราะว่าเวลา หรือเนิ่นช้าเพราะมีตัณหา มานะ ทิฏฐิมาปรุงแต่งซ้ำๆ ซากๆ นี่เป็นปัญหาแรก

ปัญหาต่อไป คือ ไม่เข้าใจว่า จิตกับเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกัน ที่ว่าตรึกนึก ที่มีเวทนา มีสัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง จิตตัวนั้น เป็นตัวอะไร ตัวเดียวหรือเปลี่ยนไป พร้อมๆ กัน ทั้ง ๒ ปัญหานี้เกี่ยวข้องกัน

สุ. ขอคำถามที่ ๑ ก่อน คือ เรื่องของกาลเวลา ส่วนใหญ่ที่ว่าชาวโลก ถือกาลเวลาเป็นเครื่องนับว่าเนิ่นช้า แต่จริงๆ แล้วจิตเกิดขึ้นไม่ว่าจะที่ไหนทั้งสิ้น ในโลกมนุษย์ หรือในพรหมโลกก็ตามแต่ จะมีอายุเพียงแค่ ๓ ขณะย่อย หรือ ๓ อนุขณะ คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะที่ตั้งอยู่ ภังคขณะ คือ ขณะที่ดับไป

ถ้าไม่มีจิตเกิดจะมีอะไรเป็นเครื่องนับกาลเวลา ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เกิดดับๆ จะไม่มีการนับเวลาได้เลย แต่ที่มีการนับวันก็ดี นับเวลานาทีก็ดี ก็เพราะว่ามี สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ยิ่งเกิดดับเร็วเท่าไรก็ยิ่งมีบัญญัติคำที่จะนับเวลา ให้สั้นเข้าเท่านั้น

ที่เรากล่าวว่า วันหนึ่ง และย่อยเป็นชั่วโมงหนึ่ง เป็นนาทีหนึ่ง เป็นวินาทีหนึ่ง และเป็นเสี้ยววินาที ซึ่งในเสี้ยววินาทีก็มีการเกิดดับของจิตเจตสิกและรูป อย่างรวดเร็วมาก เพราะว่าขณะจิตหนึ่งสั้นที่สุดจนไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร และสำหรับรูปที่คิดว่ายั่งยืน ไม่ปรากฏว่าแตกสลายทำลายไปเลย ความจริงแล้วรูป เกิดและดับๆ แต่ลักษณะของรูปที่เกิดและดับไปและมีรูปอื่นเกิดสืบต่อไม่ปรากฏ จึงดูเหมือนกับรูปนั้นปรากฏไม่ดับเลย อย่างเช่น แข็ง

แต่จริงๆ แล้วการเกิดดับของรูปเร็วมาก เท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น แตกย่อยเสี้ยววินาทีออกที่จะรู้ว่าเวลาคืออย่างไร ก็เพราะมีสภาพธรรม ที่เกิดดับนั่นเองเป็นสิ่งที่จะทำให้บัญญัติเวลาได้

แต่ความหมายของธรรมเครื่องเนิ่นช้าในทีนี้ หมายถึงเนิ่นช้าอยู่ในอกุศลธรรม แม้ได้ฟังพระธรรมเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่มีสาระเลย เช่น เป็นภวังค์ ใครจะบังคับภวังค์ให้เห็น ให้ได้ยิน ก็ไม่ได้ ขณะที่เป็นภวังค์ไม่มีอารมณ์ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเวลาที่อารมณ์ปรากฏ ก็คือ จิตเจตสิก มีปัจจัยเกิดขึ้นรู้อารมณ์นอกจากอารมณ์ของภวังค์ เพราะฉะนั้น ก็เสมือนกับออกจากภวังค์มารู้อารมณ์ชั่วขณะ คือ ทางตา ออกมาจากภวังค์มาเห็นเท่านั้น และก็ดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ วิถีจิตที่เห็นก็ดับ และแม้ภวังคจิตก็ดับ จึงไม่มีอะไรที่เป็นสาระเหลือจริงๆ

แม้ได้ฟังอย่างนี้ ก็ยังมีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ๓ ประการ คือ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า เป็นสภาพที่มีจริงๆ ทำให้ช้าจริงๆ ไม่ยอมที่จะออกไปจากสังสารวัฏฏ์เพราะตัณหา เพราะยังยินดีพอใจในทุกสิ่ง เพราะยังมีความเห็นผิด ยึดมั่น เหมือนกับสิ่งทั้งหลายไม่เกิดดับ และยังมีมานะ ความสำคัญตนด้วย ซึ่งนี่เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า จึงควรที่จะได้ทราบว่า ไปเนิ่นช้าอยู่ที่ไหน

ก็ปรากฏว่า เนิ่นช้าอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เนิ่นช้าอยู่ในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง ตามข้อความ ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มธุปิณฑิกสูตร ข้อ ๒๔๘ ซึ่งมีข้อความว่า

จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา

ในขณะจิตเดียว ผัสสะเป็นปัจจัยเกิดพร้อมกับจิต พร้อมกับเวทนา

บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึง เวทนาอันนั้น บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น

ทั้งๆ ที่เวทนานั้นก็ดับไปแล้ว สุขก็ดับไปแล้ว ทุกข์ก็ดับไปแล้ว แต่ยังไม่ยอมจบ ยังไม่ยอมให้หมดไปจริงๆ ยังเนิ่นช้าอยู่ คือ ยังจำไว้ และยังตรึกถึงด้วยความพอใจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมที่เนิ่นช้า

เปิด  224
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565