แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1883

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๒


ทุกชีวิตที่เกิดมาต้องมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงยังคงยินดีพอใจในขันธ์ ๕ คือ ทั้งในรูปขันธ์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งภายใน และภายนอก มีความพอใจในเวทนาขันธ์ ในความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีความพอใจในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็จะเต็มไปด้วยความไม่รู้เรื่องของธรรม และเมื่อได้ศึกษา พระธรรมแล้ว ก็ยังต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า ตลอดชีวิตมีความคิด มีความเข้าใจ มีความเห็นที่วิปริตคลาดเคลื่อนไปจากสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างไรบ้าง ซึ่งจะขอกล่าวถึงวิปลาส ๓ คือ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ และทิฏฐิวิปลาส ๑

ฟังเรื่องของอกุศลมาก็มากแล้ว คราวนี้จะได้เห็นสภาพความวิปลาสของธรรมซึ่งมี ๓ อย่าง ได้แก่ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ และทิฏฐิวิปลาส ๑ แต่ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ไม่มีโอกาสฟังและพิจารณาเข้าใจวิปลาสทั้ง ๓ ซึ่งผู้ที่ยังมีอวิชชาอยู่ก็ต้องมีวิปลาสอยู่ ถ้าไม่รู้ ไม่ฟังพระธรรม ก็ไม่รู้เลยว่า มีอย่างไหน ขณะไหน แต่ เมื่อฟังแล้วจึงสามารถเข้าใจได้ว่า อกุศลมาก และมีวิปลาสมากด้วย

ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค วิปัลลาสกถา ข้อ ๕๒๕ มีข้อความว่า

สัญญาวิปลาส (ความสำคัญผิด) จิตตวิปลาส (ความคิดผิด) ทิฏฐิวิปลาส (ความเห็นผิด) ๔ ประการ ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่า เป็นสุข ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่างาม

ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล วิปลาสยังครบ

สำหรับสัญญาวิปลาสเกิดในอกุศลจิตที่ปราศจากทิฏฐิ ในขณะที่แม้ไม่มี ความเห็นผิดใดๆ เลย ขณะนั้นก็มีสัญญาวิปลาสซึ่ง ย่อมปรากฏในกาลแห่งกิจของตนมีกำลัง

สัญญาวิปลาสที่มีกำลัง จะทำให้เห็นได้ว่าวิปลาส แต่ถ้าไม่มีกำลังก็ไม่เห็นว่า วิปลาส เช่น ท่านผู้หนึ่งท่านเห็นสายสร้อยเป็นจิ้งจกตาย เพราะว่าที่นั้นเคยมี จิ้งจกตาย และวันนั้นมีสายสร้อยเส้นหนึ่งอยู่ตรงที่ที่จิ้งจกเคยตาย เพราะฉะนั้น แทนที่จะเห็นเป็นสายสร้อย ท่านก็เห็นเป็นจิ้งจกตาย หรือบางท่านอาจจะเห็น เป็นตะขาบ หรือเป็นอะไรก็ได้ แต่ความจริงแล้ว เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ก็เป็นสัญญาวิปลาส เมื่อเห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุขก็เป็นสัญญาวิปลาส เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตนก็เป็นสัญญาวิปลาส เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่งามว่างามก็เป็นสัญญาวิปลาส แต่ไม่รู้จนกว่าจะมีวิปลาสมากๆ ที่มีกำลังที่จะทำให้เห็นได้

สำหรับจิตตวิปลาส แม้ในขณะที่จิตเป็นอกุศลซึ่งปราศจากทิฏฐิ แต่ขณะนั้น ก็ต้องเป็นจิตตวิปลาส ซึ่งถ้ามีกำลังก็จะสังเกตได้ ไม่ทราบเคยสังเกตหรือเปล่า เช่น จิตที่เพ้อฝัน ขณะที่กำลังอ่านนวนิยาย หนังสือรายสัปดาห์ต่างๆ หรือดูโทรทัศน์ ดูหนัง คิดฝันไปในเรื่องของนวนิยายต่างๆ เป็นสุขเป็นทุกข์ไปกับตัวละครในหนัง ในโทรทัศน์ ในขณะนั้นทราบไหมว่า เป็นจิตตวิปลาส คือ คิดเพ้อฝันอย่างมาก ไม่ใช่ตามเรื่องตามราวตามธรรมดา

เพราะฉะนั้น ที่จะเห็นว่าจิตตวิปลาส ก็ต่อเมื่อมีความคิดฝัน มีความเพ้อฝัน และทุกคนก็อ่านหนังสือพิมพ์ ดูหนัง ดูละคร ดูโทรทัศน์ ก็จะรู้ได้ว่า ในขณะที่กำลังเพ้อๆ ฝันๆ ขณะนั้นเป็นจิตตวิปลาส หรือในขณะที่คิดนึกเอาเอง เช่น ถ้ามีอุบัติเหตุรถชนมีคนตายก็คิดว่า คงจะมีเลือดท่วมนอง แต่ความจริงคนนั้นอาจจะเพียงแต่ได้รับอุบัติเหตุที่ไม่มีบาดแผลเลยและสิ้นชีวิตก็ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นจิตตวิปลาสที่เกิดจากความคิดนึกของตัวเองได้เวลาที่มีกำลัง แต่ถึงแม้ว่าจะไม่คิดอย่างนั้น ขณะใดที่มี จิตตวิปลาสในสภาพไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่างาม ขณะนั้นก็เป็นจิตตวิปลาส ทั้งสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ในจิตซึ่งปราศจากทิฏฐิ

สำหรับทิฏฐิวิปลาส เกิดในขณะที่เป็นอกุศลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นวิปลาสที่มีความเห็นผิดมากมาย

ในบรรดาวิปลาสทั้ง ๓ ชีวิตประจำวันของทุกคน สัญญาวิปลาสมีกำลัง อ่อนกว่าวิปลาสอื่นทั้งหมด จิตตวิปลาสมีกำลังมากกว่าสัญญาวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มีกำลังมากกว่าวิปลาสอื่นทั้งหมด เพราะว่าสัญญาวิปลาส ชื่อว่าความสำคัญ เพราะถือเอาเพียงอาการปรากฏแห่งอารมณ์ ดุจการเห็นกหาปณะของทารกที่ ยังไม่รู้เดียงสา คือ ถือเอาเพียงอาการปรากฏแห่งอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์อะไร จะปรากฏ สัญญาก็จำเป็นสัญญาวิปลาสไปเท่านั้นเอง อุปมาดุจการเห็นกหาปณะของทารกที่ยังไม่รู้เดียงสา

สำหรับจิตตวิปลาส เป็นความคิดที่คลาดเคลื่อน เพ้อฝัน วิปลาส ชื่อว่าความคิดเพราะถึงแม้การรู้แจ้งลักษณะ ดุจการเห็นกหาปณะของคนชาวบ้าน เป็นการเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่ยังไม่รู้เดียงสากับคนชาวบ้าน เพราะฉะนั้น จิตตวิปลาสรู้มากกว่าสัญญา

และทิฏฐิวิปลาส ชื่อว่าความเห็นเพราะลูบคลำสิ่งที่ยึดถือ ดุจการจับเหล็กด้วยคีมใหญ่ของช่างเหล็ก ขณะใดที่มีความเห็นผิดให้ทราบว่า หนักแน่น วิปลาสมากกว่าสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส เพราะว่า ดุจการจับเหล็กด้วยคีมใหญ่ของช่างเหล็ก

ธรรมดาคนที่ไม่มีความเห็นผิด ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ก็จริง แต่ยังมีสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในขณะที่ถือสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สภาพธรรมที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน สภาพธรรม ที่ไม่งามว่างาม แสดงให้เห็นความต่างกันของจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์และ จิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าจะมีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ตลอดเวลา ที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะว่าขณะใดที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะนั้น โลภมูลจิตก็เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่สัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาส

สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ละวิปลาสไปตามลำดับ คือ ผู้ที่เป็น พระโสดาบันละทิฏฐิวิปลาส แต่ยังมีสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ในขณะที่ถือ สภาพธรรมที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข สภาพธรรมที่ไม่งามว่างาม

สำหรับพระอริยบุคคลขั้นต่อไป ไม่ต้องละทิฏฐิวิปลาสแล้ว ยังคงเหลือแต่สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส

พระอนาคามีบุคคล ท่านละวิปลาสที่เห็นว่างามในสิ่งที่ไม่งาม เพราะว่า ท่านละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ท่านไม่มีความเห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้งามที่จะเพลิดเพลินยินดีอีกต่อไป แต่เมื่อท่าน ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังมีโมหะอยู่ ก็ยังเห็นว่าสภาพธรรมบางอย่างเป็นสุข จึงยังคงมีสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เมื่อใดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นจะดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุขได้ เพราะแม้แต่ความสงบของจิตก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เพราะว่าเกิดขึ้นและดับไป

เรื่องของการฟังพระธรรม ต้องฟังให้เข้าใจละเอียดขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานที่จะ ทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม

ขณะนี้ก็มีวิริยเจตสิกเกิดสลับกับจิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งวันหนึ่งๆ นอกจากขณะที่ฟังธรรม ในขณะที่เป็นกุศล ก็ควรที่จะได้ทราบถึงวิริยะในขณะอื่น ด้วยว่า ส่วนใหญ่ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นวิริยะก็เป็นไปในอกุศล ไม่ใช่ว่า วิริยะจะไม่เกิด วิริยะไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๖ ดวง เพราะฉะนั้น วิริยะเกิดกับอกุศลจิตด้วย และในวันหนึ่งๆ วิริยะที่เกิดกับอกุศลจิตก็มีมาก จึงควรอบรมเจริญวิริยะที่เป็นฝ่ายโสภณที่เป็นกุศล

. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส เกิดกับอกุศลทุกประเภท ใช่ไหม

สุ. สำหรับทิฏฐิวิปลาสต้องเกิดกับโลภมูลจิต ๔ ดวงที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์

. แสดงว่าขณะที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ต้องมีสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส และกำลังของสภาพธรรม ๓ ลักษณะนี้ต่างกันด้วย

สุ. ใช่

. ขณะใดที่ไม่เกิดกับโลภะที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ในขณะที่เป็นอกุศลประเภทอื่นก็มีจิตตวิปลาส สัญญาวิปลาส

สุ. ใช่ บางทีไม่น่าจะโกรธ แต่ก็คิดเพ้อฝันโกรธไปด้วยมานะก็ได้ ก็เป็นจิตตวิปลาสในขณะนั้น

สำหรับทิฏฐิวิปลาส ต้องเกิดกับโลภมูลจิต ๔ ดวงที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น ทิฏฐิหรือความเห็นผิดไม่ได้เกิดกับโลภมูลจิตทุกดวง บางดวงก็ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ และแม้เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสจึงเป็นอกุศล

ข้อสำคัญ ควรจะทราบว่า การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิปลาส ๓ ก็เพื่อที่จะให้รู้ว่า ไม่ใช่มีแต่ทิฏฐิ ความเห็นผิดเท่านั้นที่เป็นวิปลาส เพราะถึงแม้ว่า ทิฏฐิ ความเห็นผิด จะไม่เกิดกับจิต แต่ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นสัญญาและจิตก็วิปลาส แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงแต่จะละทิฏฐิวิปลาสซึ่งเป็นความเห็นผิดต่างๆ เท่านั้น แต่ต้องละทั้งสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสด้วย ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ก็ไม่รู้ว่าวิปลาสไปถึงแค่ไหนและมีหนทางใดที่จะละวิปลาสนั้นๆ

ในอกุศลจิต ๑๒ ดวง หรือ ๑๒ ประเภท ควรจะทราบชัดว่า

สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในขณะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ในขณะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง และในโทสมูลจิต ๒ ดวง ในโมหมูลจิต ๒ ดวง

เพราะฉะนั้น สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสเป็นในอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง ส่วนทิฏฐิวิปลาส เฉพาะในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

ธรรมดาวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดขึ้นบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และขณะใดก็ตามที่มีการเห็น มีโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะเกิดขึ้น แม้ไม่ใช่ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะนั้นก็จิตตวิปลาสและสัญญาวิปลาสแล้ว

ท่านผู้ฟังคงสงสัยที่ทบทวนแม้ในเรื่องของวิปลาสที่ให้ทราบว่า ขณะใดเป็นสัญญาวิปลาส ขณะใดเป็นจิตตวิปลาส และขณะใดเป็นทิฏฐิวิปลาส เพราะว่าการศึกษาพระธรรมนั้นเพื่อที่จะให้รู้ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปกับตนเองในชีวิตประจำวัน และประโยชน์ของการที่จะรู้เรื่องวิปลาสก็เพื่อที่จะเน้นให้เห็นอกุศลของตนเอง เช่น ในวันนี้มีทิฏฐิวิปลาสบ้างไหม

ถ้าไม่ถาม วันหนึ่งๆ จะไม่มีใครคิดเลย รู้แต่ว่าตัวเองมีอกุศล แต่ก็ควรที่จะรู้ ให้ละเอียดขึ้นว่า อกุศลที่มีในวันนี้มีทิฏฐิวิปลาสไหม

ทุกคนต้องยอมรับว่ามีอกุศลมาก เพราะฉะนั้น มีสัญญาวิปลาสมาก มีจิตตวิปลาสมาก แต่เมื่อถามถึงทิฏฐิวิปลาส วันนี้มีทิฏฐิวิปลาสบ้างไหม ไม่ได้ถามว่ามากไหม สัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาสวันนี้มีมากแน่นอน แต่ทิฏฐิวิปลาส วันนี้มีทิฏฐิวิปลาสบ้างไหม ไม่ใช่มากไหม ถ้ามี ท่านที่ตอบว่ามี อยากทราบว่า ขณะไหน และทิฏฐิประเภทใด

. ทิฏฐิวิปลาส ในที่นี้หมายถึงความเห็น ใช่ไหม

สุ. ต้องเป็นความเห็นผิด

. ถ้าเป็นความเห็นผิด รวมสักกายทิฏฐิ หรือทิฏฐิ ๖๒ ด้วยหรือเปล่า

สุ. ความเห็นผิดทุกอย่าง

. รวมทั้งสักกายทิฏฐิด้วย ถ้าอย่างนั้น บุคคลที่ศึกษาธรรมและเข้าใจ ในการฟังธรรม ขณะที่เข้าใจธรรม ไม่มีทิฏฐิแน่นอน

สุ. ขณะนั้นไม่มี

. แต่ขณะที่ยึดถือความเป็นตัวตนว่าเป็นเรา นั่นคงเป็นสักกายทิฏฐิ ใช่ไหม

สุ. สักกายทิฏฐิ คือ การเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดรวมกันเป็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด และมีความเชื่อมั่นมีความเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแน่นอน ถ้าจะบอกว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรม เป็นแต่เพียงนามธรรม ไม่เห็นด้วย ขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมและเข้าใจว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นลักษณะที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่มีตัวเรา กำลังเห็นก็เป็นธาตุ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเพียงการฟังไม่สามารถถ่ายถอนละคลายการเห็นสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แต่เริ่มรับฟัง เริ่มพยายามเข้าใจ เริ่มพิจารณาว่า สิ่งที่มีจริงนั้นแท้ที่จริงแล้วปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ถ้าเพียงแต่จักขุปสาทไม่มี จะไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ปรากฏได้เลย

นี่คือการน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังและพิจารณา และความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในขณะนั้นเป็นความเห็นถูก ไม่มีความเห็นว่ามีตัวตนจริงๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย หรือเป็นผู้ที่ มีความเห็นอย่างอื่น มีความเชื่ออย่างอื่น ก็ไม่สามารถรับได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นเรา เป็นเขา หรือมีผู้ที่เป็นใหญ่เป็นผู้สร้าง

. คงจะแยกลำบาก ถ้าพูดถึงทิฏฐิ อย่างที่อาจารย์ว่า สักกายทิฏฐิ ยึดถือว่าเป็นเรา ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ถ้ามีปากกาของเรา สมุดของเรา หรือคนนี้เป็นลูกของเรา คนนี้เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา จะนับว่าเป็นทิฏฐิด้วยหรือเปล่า

สุ. ต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า เป็นความเห็นหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงยึดถือด้วยโลภะ หรือยึดถือด้วยมานะ หรือยึดถือด้วยทิฏฐิ

การยึดถือมี ๓ อย่าง คือ ยึดถือด้วยโลภะ ด้วยความติด ด้วยความพอใจ อย่างหนึ่ง ยึดถือด้วยมานะ ด้วยความสำคัญในตนอย่างหนึ่ง และยึดถือด้วยความเห็นผิดด้วยทิฏฐิอีกอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นมารดาของเรา ยึดถือด้วยความผูกพัน ด้วยความพอใจ ด้วยความติดข้องว่าเป็นของเรา เป็นที่รัก เป็นบุตรธิดา เป็นมิตรสหาย นั่นเป็นการยึดถือด้วยโลภะ ขณะที่ไม่มีความเห็นว่าสิ่งนี้เที่ยง หรือสิ่งนี้เป็นตัวตนจริงๆ

ต้องเป็นความเห็น จึงจะเป็นทิฏฐิ แต่ถ้าเป็นแต่เพียงการรู้ซึ่งเป็นจิต หรือ เป็นแต่เพียงสัญญา ความจำ ขณะนั้นไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส

เปิด  232
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566