แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1886
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๙ กรกฏาคม ๒๕๓๒
ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ว่า ผู้ที่ศึกษาอภิธรรม เกือบจะถึงขั้นแตกฉานแล้ว หรือเอาไปพูดได้ จำได้ว่าเป็นอย่างไร แต่เขาก็ไม่เข้าใจว่าอาการรู้คืออย่างไร เพราะว่า ยังไม่ประจักษ์แจ้งกับเขา และชั่วโมงก่อนหน้านี้ อาจารย์สมพรได้บรรยายคำว่า ธาตุ ซึ่งโดยพยัญชนะก็แปลว่า สภาวะ และสภาวะท่านก็แยกไปว่า สูญจากสัตว์ สูญจากบุคคล ก็คือธาตุรู้นั่นเอง ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งขึ้นมาอีกว่า ธาตุรู้ก็คือสภาวธรรม เพราะธาตุก็แปลว่า สภาวะ
ศึกษามาทั้งพยัญชนะต่างๆ ธาตุรู้ อาการรู้ สภาพรู้ แต่ตัวจริงๆ คืออะไร และอาจารย์ก็เคยพูดว่า นามธรรมระลึกรู้ได้ยากกว่ารูปธรรม โอกาสที่จะระลึกรู้นามธรรม อาการรู้ สภาพรู้ ซึ่งผมก็ยืนยันว่า ยากจริงๆ ผมเองวันหนึ่งมองไปที่ทีวีเขากำลังมีภาพ มองไปว่าอาการรู้ หูเรารู้ไม่ได้ รู้ได้ทางตาเท่านั้น เป็นอาการ แต่ส่วนมากจะไประลึกที่รูปธรรม นานๆ จึงจะไประลึกที่นามธรรมบ้าง ซึ่งยาก
มีครั้งหนึ่งประมาณ ๒ – ๓ เดือนมานี่ คุณแม่ผมป่วยและถึงแก่กรรม แต่ผมก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะผมก็ทำใจมานานแล้ว ผมไปถึงพี่สาวก็ให้ขึ้นไปดู ผมก็บอกว่าไม่ขึ้น แต่สักพักผมก็ขึ้นไป เมื่อผมเปิดเห็นสภาพศพก็มีความรู้สึกว่า สภาพรู้ของท่านทางตาหมดแล้ว ไม่มี และก็มีการพิจารณาธรรมต่อไปว่า สภาพรู้ทั้งหมดของท่านหมดไปแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางหูของท่านก็ไม่มีแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาของท่านก็ไม่มีแล้ว เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผม ซึ่งผมคิดว่า อาการรู้ สภาพรู้ทางตา คงจะมีอะไรที่ลึกซึ้งต่อไปอีก เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแล้วว่า เป็นเรื่องลึกซึ้ง ยากมาก
สุ. เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องอบรมเจริญปัญญา และต้องอาศัยวิริยะ ความเพียรจริงๆ ในการที่จะค่อยๆ พิจารณาสภาพธรรม และฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกท่านก็คงจะทดสอบวิริยะของท่านได้ เพราะถ้าปราศจากวิริยะแล้ว ปัญญาเจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิริยะจึงเป็นบารมีที่ขาดไม่ได้เลยในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือแม้แต่ในการที่จะเข้าใจธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะสังเกตได้จากญาติสนิทมิตรสหายแต่ละท่านว่า มีวิริยะในทางกุศลมากหรือน้อย
สำหรับการทดสอบวิริยะในทางกุศล จะพิจารณาได้ว่า ตัวท่านเองหรือ ญาติมิตรสหายของท่านเป็นผู้ที่พอใจแล้วในกุศลขั้นใด เพราะว่าบางคนก็พอใจเพียงกุศลขั้นทาน ท่านคิดว่าพอแล้ว กุศลขั้นทานนี่ก็ดีแล้ว นั่นก็แสดงให้เห็นถึงวิริยะว่า มีวิริยะเพียงแค่ไหนหรือขั้นไหน เพราะว่ากุศลเพียงขั้นทานเท่านั้นยังไม่พอ บางคนก็ มีวิริยะคือมีความเพียรที่จะเป็นกุศลขั้นศีลด้วย แม้แต่ศีล ๕ ซึ่งไม่สมบูรณ์ ก็มีวิริยะเพิ่มขึ้นที่จะละให้สมบูรณ์ขึ้นในข้อ ๑ ในข้อ ๒ ในข้อ ๓ ในข้อ ๔ ในข้อ ๕ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะพลาดพลั้งเพราะว่ายังเป็นผู้ที่มีอกุศล แต่วิริยะความเพียรในกุศล ก็ควรที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่าปล่อยไป นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังของวิริยะในทางกุศลว่า แม้ในขั้นศีล เพิ่มขึ้นบ้างไหม
สำหรับผู้ที่นอกจากจะมีวิริยะในกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ก็ยังฟังพระธรรมด้วย แต่บางท่านก็บอกว่า ท่านขอฟังที่ง่ายๆ เบาๆ และเพียงขั้นพระสูตรก็พอ นี่ก็ทดสอบวิริยะของแต่ละท่านว่าเพิ่มขึ้นไหม และบางท่านที่แม้ได้ฟังพระธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ท่านก็ยังบอกว่า ท่านไม่อยากจำบาลี
ไม่ควรจะเข้าใจว่า ต้องจำคำบาลี แต่ต้องเข้าใจความหมาย อรรถ และลักษณะของสภาพธรรมของคำบาลีนั้นให้ถูกต้องแจ่มแจ้ง ไม่ใช่เพียงแต่จะท่องหรือจำ แต่ต้องเป็นวิริยะที่จะพยายามฟัง พิจารณาให้เข้าใจความหมาย ในอรรถ ในลักษณะสภาพธรรมของคำบาลีนั้น เช่น คำว่า ธรรม จะบอกว่าเป็นภาษาไทยหรือภาษาบาลี คนที่ไม่อยากจำบาลี ภาษาไทยเราก็ใช้กันมาก คนไทยทุกคนก็ใช้คำนี้ แต่ปัญหาคือ ควรจะใช้โดยเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำนั้นด้วย เช่น คำว่า ธรรม เคยเข้าใจว่าอย่างนี้ หรือเคยเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ความหมายอื่นที่เพิ่มขึ้น เช่น ไปฟังธรรม ก็เข้าใจว่าไปฟังพระธรรมเทศนา คำสอนที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องอะไร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม คือ เรื่องของสภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริง เพราะฉะนั้น ไม่เว้นอะไรเลย ดังนั้น คนที่จะเข้าใจธรรม ก็คือว่า แม้แต่แข็งก็ระลึกได้ว่าเป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมดที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รสเปรี้ยวขณะที่กำลังลิ้มก็รู้ว่าเป็นธรรม กำลังลิ้มรส สภาพที่รู้รสก็เป็นธรรม แม้แต่รสก็เป็นธรรม เสียงในขณะนี้ก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม
ไม่ต้องท่อง แต่เข้าใจอรรถ เข้าใจความหมายของคำซึ่งเคยได้ยินได้ฟัง และภาษาบาลีคนไทยก็ใช้มาก ใช้บ่อยจนเกือบไม่ใช่ภาษาแปลกหน้า เป็นภาษาที่เคยได้ยินได้ฟัง แต่ความเข้าใจยังไม่ชัดเจน และยังไม่เข้าถึงอรรถของธรรมนั้นๆ
นอกจากจะเข้าใจคำว่า ธรรม ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงแล้ว ยังมีคำว่า สังขาร ซึ่งคนไทยที่จะไม่เคยได้ยินคำว่า สังขาร ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ นอกจาก เด็กเล็กๆ แต่ถ้าเติบโตขึ้นก็ได้ยินคำว่า สังขาร ที่ใช้กันในภาษาไทย แต่ต้องเข้าใจ ให้ถูกต้องว่า คำว่า สังขาร หมายถึงสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น สภาพธรรมใดก็ตามที่กำลังปรากฏ หมายความว่าสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วจึงปรากฏ เช่น เสียง ขณะใดที่ไม่มีเสียง เงียบ แต่ขณะใดที่เสียงเกิดขึ้น ต้องมีเหตุมีปัจจัย เสียงจึงเกิดได้
เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีที่เกิดขึ้นปรากฏนั้น เป็นสังขารธรรม เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ให้ละเอียดยิ่งขึ้นก็ไม่สามารถรู้ว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้รูปเกิด ทำให้เสียงเกิด ทำให้ กลิ่นเกิด ทำให้รสเกิด ทำให้สุขเกิด ทำให้ทุกข์เกิด ทำให้ความคิดที่เป็นกุศลหรืออกุศลเกิด ซึ่งจะทำให้เข้าใจความหมายที่กว้างขึ้นและถูกต้องของคำว่า สังขารธรรม
การศึกษาธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ไปจำคำใหม่ แต่เข้าใจคำที่เคยได้ยินได้ฟัง อยู่แล้วให้ถูกต้องว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรมทั้งหมด อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรม โลภะก็เป็นสังขารธรรมเพราะเกิดขึ้น โทสะก็เป็น สังขารธรรมเพราะเกิดขึ้น กลิ่นก็เป็นสังขารธรรมเพราะเกิดขึ้น แข็งก็เป็นสังขารธรรมเพราะเกิดขึ้น
แต่ส่วนใหญ่ความเข้าใจของเราซึ่งเข้าใจผิดมาก่อน เป็นเครื่องกั้นไม่ให้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น แข็ง เราอาจจะเข้าใจว่า มีอยู่แล้ว เมื่อกระทบสัมผัสก็รู้แข็ง แต่ความจริงแม้แข็งในขณะนี้ก็ไม่ใช่ว่ามีอยู่แล้ว เพราะว่าแข็งเกิดแล้วก็ดับ มีปัจจัยให้แข็งเกิดแล้วก็ดับ แต่ไม่ประจักษ์การเกิดดับของแข็ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่แม้จะกระทบหรือไม่กระทบก็ตาม แข็งก็เกิดและดับ แต่เวลาที่กระทบ ทำไมแข็งไม่ดับ และบอกว่าแข็งเกิดแล้วดับด้วย แต่เมื่อไม่รู้ว่า แข็งเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งไม่ใช่ตัวตน และสภาพที่รู้แข็งก็ไม่ใช่แข็ง เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เมื่อปัญญาไม่ถึงขั้นรู้ความต่างกันของแข็งและรู้แข็งที่จะประจักษ์ว่าแม้ในขณะที่กำลังกระทบสัมผัสแข็ง แข็งก็เกิดปรากฏแล้วก็ดับ และก็เกิดปรากฏแล้วก็ดับ จึงทำให้เข้าใจว่ามีแข็งอยู่ตลอดเวลา และเมื่อกระทบ สัมผัสขณะใดก็มีสภาพที่รู้แข็งขณะนั้น นี่เป็นการเข้าใจสภาพธรรมผิด เพราะถ้า เข้าใจสภาพธรรมถูกจริงๆ ต้องไม่มี แล้วมี นั่นจึงถูก เช่น เสียง ไม่มี แล้วเกิดมีขึ้น และดับไป นั่นจึงจะถูก และไม่ใช่เฉพาะเสียง ทุกอย่างทั้งรูปธรรมและนามธรรม มีอายุที่สั้นมาก เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม ต้องจำหรือต้องท่องไหม ไม่ต้องเลย เพียงแต่เข้าใจความหมายของคำที่เคยได้ยินแล้วเท่านั้นเอง
ถ้าจะเพิ่มอีกสักคำหนึ่งก็ไม่ยาก แต่ผู้ที่ยังใหม่ต่อธรรมอาจจะไม่ได้ยินคำนี้เลย คือ คำว่า สังขตธรรม หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น ความหมายของ สังขตธรรมกับสังขารธรรมก็เหมือนกัน จะใช้คำไหนก็ได้ แต่เมื่อใช้คู่กันก็ประกอบกันให้รู้ว่า สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นต้องมีเหตุปัจจัย คือ มีสังขารปรุงแต่งจึงเป็นสังขารธรรม และสภาพธรรมที่มีสังขารปรุงแต่งให้เกิด ไม่ยั่งยืน อย่าเข้าใจว่า มีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่เกิดแล้วจะยั่งยืน แต่สภาพธรรมทุกอย่างเกิดแล้ว ก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ลักษณะอาการของสังขารธรรมที่เกิดดับนั้นเป็นสังขตะ คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็ไม่ต้องท่องอีกเหมือนกัน เพียงแต่เพิ่มคำในภาษาไทย ซึ่งตามปกติภาษาไทยเราก็มีคำที่เพิ่มขึ้นบ่อยๆ เช่น ชื่อ ขณะนี้ก็มีชื่อแปลกๆ ภาษาบาลีก็เพิ่มขึ้น ชื่อคน ทำไมเรายังจำชื่อที่แปลกนั้นได้ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ใช่ ชื่อภาษาไทย
คำว่า สังขตะ ก็เป็นคำหนึ่งที่แปลกและใหม่สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยิน ได้ฟังมาก่อน แต่เมื่อเข้าใจความหมายแล้ว จะจำคำนี้อีกสักคำหนึ่งก็คงจะไม่ยาก เพียงแต่เป็นวิริยะที่จะเข้าใจ พิจารณาและจำคำในภาษาบาลี เพราะถ้าไม่มีภาษาหนึ่งซึ่งเป็นภาษาสากลของพระพุทธศาสนา ต่างคนต่างใช้ภาษาที่ไม่ตรงกัน ความหมาย ก็จะเคลื่อน ไม่ตรงกัน แต่ถ้ามีภาษาหนึ่งสำหรับพระธรรมโดยเฉพาะ และมีการแปล สู่ภาษาอื่น ก็ย่อมย้อนกลับไปสู่ภาษาเดิมได้ ความหมายก็ไม่เปลี่ยนแปลง
การศึกษาและพิจารณาพระธรรมจนกระทั่งเข้าใจจะทำให้เริ่มรู้ว่า ชีวิตใน วันหนึ่งๆ สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสมากมายเหลือเกิน แต่ถ้าไม่ระลึกหรือ ไม่พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจวันนี้อาจจะไม่เห็นวิปลาสเลย เพราะฉะนั้น การที่จะฟังพระธรรมและพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ จะต้องพิจารณาถึงลักษณะของสภาพธรรม ที่เคยได้ฟังแล้วด้วย เช่น เมื่อได้รู้เรื่องของวิปลาสก็ควรที่จะระลึกได้ว่า วันนี้มีวิปลาสมากแค่ไหน
คงจะไม่มีใครบอกว่า วันนี้ไม่มีสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส เพราะว่า ขณะใดก็ตามที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส เพราะฉะนั้น ในวันนี้วิปลาสต้องมีมาก เพียงแต่จะรู้หรือไม่รู้เท่านั้นว่า ในขณะนั้นวิปลาสหรือเปล่า ถ้าจะเปรียบเทียบกับข้อความที่ว่า ผู้ที่มีสัญญาวิปลาสเหมือนทารกที่ยังไม่รู้เดียงสา คือ เหมือนเด็กอ่อนที่ไม่รู้ความ คือ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะถ้าในขณะที่กำลังเห็นภาพเขียน และนึกถึงบุคคล สถานที่ เรื่องราวต่างๆ ที่มีปรากฏในภาพนั้น ภาพเขียนที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสีต่างๆ แต่ก็สามารถทำให้วิปลาสเกิดขึ้นเห็นไปตามลักษณะของสีสันต่างๆ ว่า ในขณะนั้นเป็นภาพของบุคคล หรือเป็นเรื่องราว เป็นสถานที่ต่างๆ ในขณะนั้นถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ เหมือนในขณะนี้ คือ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นและนึกรู้เรื่องราวบัญญัติต่างๆ ในขณะนั้นไม่ใช่มีแต่จิตที่นึกเรื่องราวต่างๆ ยังมีจิตเห็นอีก เพราะว่าเห็นแล้วก็คิด แล้วก็เห็น แล้วก็คิด เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานในขณะนั้นสามารถ รู้ลักษณะของเห็นซึ่งเป็นสภาพรู้ และในขณะที่วิปลาสไปเพราะเมื่อมีเหตุที่จะให้วิปลาส อกุศลซึ่งเป็นวิปลาสก็เกิด อาจจะมีความยินดีพอใจในรูปที่เห็น แต่ก็ยังมีเห็นเกิดอีก
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นธาตุรู้ว่า เป็นแต่เพียงธรรมชนิดหนึ่ง และขณะที่เป็นไปกับเรื่องราวหรือบุคคล ในรูปภาพเขียนที่ปรากฏ เกิดความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ไม่พอใจ สติปัฏฐาน ก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึกในขณะนั้น ซึ่งสภาพธรรมปรากฏเพียงชั่วขณะสั้นๆ และหมดไป
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกชนิด สืบต่อกันได้ แม้ในขณะนั้นจะมีวิปลาส คือ มีอกุศลจิตซึ่งชอบหรือไม่ชอบ โสมนัสหรือโทมนัสในภาพเขียน ในรูปภาพที่ปรากฏ แต่เมื่อเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มี จริงๆ สติปัฏฐานก็สามารถรู้ว่า ขณะใดไม่วิปลาส เพราะว่ากำลังรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน และขณะใดวิปลาส คือ เป็นสุข เป็นทุกข์ โทมนัส โสมนัสกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
ภาพเขียนก็ไม่ต่างกับในขณะนี้ ถ้าจะเขียนถึงคน ๒๐ คน ๓๐ คน ก็ต้องมีหน้า มีเสื้อผ้า มีอิริยาบถ มีอากัปกิริยาต่างๆ ฉันใด ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เหมือนอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่วิปลาสในขณะที่ดูภาพเขียน ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็สามารถรู้ได้ว่า ขณะใดที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงและอกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นวิปลาส แต่แม้กระนั้นสติปัฏฐานก็สามารถรู้ความจริงของวิปลาสได้
นี่คือการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะว่ารู้สภาพธรรมทุกอย่างตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะละคลายอกุศลที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
แสดงให้เห็นว่า การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีความต่างกันเลย ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้กุศลเจริญขึ้น เมื่อสามารถรู้ความจริงว่า ขณะใดวิปลาส ขณะใดไม่วิปลาส ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ขณะใดที่เห็นแล้วรัก แล้วชัง แล้วริษยา แล้วผูกโกรธ หรือมีมานะ สำคัญตน ก็ควรจะระลึกได้ว่า ถึงขนาดนั้นแล้วจะวิปลาสมาก สักเพียงไหน คือ ไม่ใช่เพียงเห็นแล้วผ่านไป หรือเห็นแล้วเกิดพอใจไม่พอใจเพียงเล็กน้อย แต่ถึงกับผูกโกรธบ้าง อาฆาตบ้าง ริษยาบ้าง มีความสำคัญตนบ้าง แสดงว่าวิปลาสมีกำลังเพิ่มขึ้น และก็เป็นชีวิตจริงๆ
เพราะฉะนั้น หนทางเดียว คือ สภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นอย่างไรในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นอกุศล สติปัฏฐานและปัญญาต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง และทางฝ่ายอกุศลกับกุศลในวันหนึ่งๆ ให้พิจารณาว่า ทางไหน มาก ทางไหนน้อย
วันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ส่วนกุศลมีไม่มาก บางขณะอาจจะเป็นทานกุศล บางขณะอาจจะเป็นศีล บางขณะอาจจะเป็นความสงบของจิต แต่กี่ขณะเป็นสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่ก็เป็นผู้ที่มีวิริยะ มีความเพียรที่จะสะสมปัญญา โดยที่ว่าแม้อกุศลจะมีเท่าไรตามเหตุตามปัจจัย แต่ก็ไม่ละเลยที่จะฟังพระธรรมพิจารณา และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้จะเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่งๆ แต่จะมีกำลังเพิ่มขึ้นพอที่จะดับอกุศลเป็นสมุจเฉทได้ แม้ว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่ถึงในวันนี้ แต่เริ่มสะสมในวันนี้ได้