แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1887

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๓๒


. วิปลาสเป็นตัวร้าย อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สะสมมายาวนานขนาดนี้

สุ. อวิชชา

. เมื่อวานมีผู้ถามเกี่ยวกับวิปลาสว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาเห็น สภาพธรรมเป็นบัญญัติหมด เขาไม่เคยระลึกรู้ในสภาพธรรมเลยว่า เป็นนาม เป็นรูป เพราะเขาไม่เคยศึกษา เพราะฉะนั้น ปุถุชนนั้นต้องมีทิฏฐิวิปลาสตลอดเวลาที่อารมณ์มาสู่จิต ซึ่งคำตอบคงจะไม่ใช่ แต่เขาก็บอกว่า ก็เขาไม่เคยรู้สภาพธรรมตามความ เป็นจริงเลย เพราะฉะนั้น ทิฏฐิของเขาก็ต้องวิปลาสตลอด ผมก็ตอบไปว่า ไม่ใช่ เพราะถึงแม้เขาจะไม่เคยสดับเลย แต่ถ้าจิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน ในศีล ขณะนั้น ก็ไม่มีทิฏฐิวิปลาส เขาฟังแล้วก็ยังไม่เชื่อ ขอให้อาจารย์ช่วยเพิ่มเติม

สุ. การพิจารณาธรรมต้องพิจารณาโดยละเอียดจนถึงขณะจิต อย่างที่กล่าวว่า คนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย ก็มีความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ไม่ได้เกิดตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่คนนั้นอาจจะไม่รู้ เพราะไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด เพราะฉะนั้น ต้องแยก เวลาที่เห็นและเกิดความยินดีชอบใจในสิ่งที่เห็น เวลารับประทานอาหารอร่อยก็รู้สึกพอใจในรสอร่อยทันที ขณะนั้น ไม่ได้มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้นในเรื่องของโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง ตายแล้วเกิดไหม หรือ มีความเห็นว่า ต้องเป็นตัวตนแน่นอนที่กำลังบริโภคอาหาร ที่กำลังลิ้มรสที่อร่อย และในขณะที่ไม่มีความคิดเห็นใดๆ แต่โลภะหรือโทสะก็เกิดแล้วอย่างรวดเร็ว ตามการสะสม ซึ่งในขณะนั้นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส แต่ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส

. และเขาถามต่อไปว่า ทิฏฐิวิปลาสของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับมีตอนไหน

สุ. ก็ในขณะที่มีความเห็น เป็นความคิดเห็นในเรื่องของตัวตน ในเรื่องของสภาพธรรมว่าเที่ยง ในเรื่องของสภาพธรรมว่าเป็นอัตตา เป็นตัวตน ต้องเป็น ความคิดเห็น แต่ขณะใดที่ไม่ใช่ความคิดเห็น ขณะนั้นเป็นเพราะสัญญาวิปลาส ทันทีที่เห็นแล้วอกุศลจิตเกิด ไม่ได้มีความคิดเห็นใดๆ เลยในขณะนั้น เป็นแต่เพียง เมื่อเห็นแล้ววิปลาสจึงเกิดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะที่เป็นอกุศล ในขณะนั้น ไม่มีความคิดเห็นใดๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส

. สรุปวิปลาสทั้ง ๓ คือ ทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาสนั้น เกิดเฉพาะกับอกุศลจิตอย่างเดียวเท่านั้น และในขณะที่เป็นกุศล วิปลาสทั้ง ๓ ไม่มี

สุ. ถูกต้อง

ผู้ฟัง ทิฏฐิวิปลาสอย่างเดียวเกิดเฉพาะโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตอื่นๆ ถ้าเทียบกับจิตอย่างนี้ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ทิฏฐิวิปลาสเกิดเฉพาะกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ส่วนสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาสนั้นเกิดกับอกุศลจิตทั่วไป แต่ขณะที่จิตเป็นกุศล เช่น ขณะให้ทาน ขณะรักษาศีล ขณะนั้นวิปลาสทั้ง ๓ ไม่เกิด แต่รู้สึกว่าน้อยเหลือเกิน ส่วนที่เป็นอกุศลจิตเกิดมากแทบจะตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ค่อยจะรู้ชัด บางทีผมก็คิดว่าตัวเองมีสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาสตลอดเวลา เช่น ขณะที่รักษาศีลก็ดี ให้ทานก็ดี เพราะขณะนั้นเราไม่รู้ จิตของเราที่เป็นกุศลจริงๆ รู้แต่ว่าให้ทาน รู้แต่ว่ารักษาศีล และขณะนั้นจิตที่คิดใน ด้านอกุศลรู้สึกว่าจะรุนแรงมากกว่าในด้านกุศล

สุ. เป็นความจริง ผู้ที่รักษาศีล ไม่ใช่ศีลจะเกิดตลอดเวลา ขณะที่มีเจตนาที่จะสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ อุโบสถศีลก็ตาม ขณะนั้นเป็นกุศล แต่หลังจากนั้นแล้ว ที่เห็นทางตาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ที่ได้ยินเสียงทางหูเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่ว่าผู้ใดรักษาศีล มีศีล ๕ สมาทานศีล ๘ ศีลอุโบสถ หรือศีล ๒๒๗ ก็ตาม จะไม่มีอกุศล เพียงแต่กุศลเกิด ในขณะที่มีเจตนาสมาทาน ขณะนั้นเป็นกุศล แต่อย่าลืม หลังจากนั้น ทันทีที่เห็น หลังจากนั้นเป็นอะไร หรือทันทีที่ได้ยินเป็นอะไร นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะพิจารณาได้ว่า ขณะนั้นเป็นสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส หรือทิฏฐิวิปลาส

เวลาที่มีความสนุกสนานรื่นเริง พอใจ กำลังสนุกมาก ขณะนั้นถ้าสติปัฏฐานเกิด ลักษณะของความยินดี ความเพลิน ความสนุก ความชอบใจปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย ลักษณะของความยินดี ความชอบใจเท่านั้น ที่กำลังปรากฏ แสดงว่าขณะนั้นเป็นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในขณะที่เป็นอกุศล และปัญญารู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมที่พอใจ เพลิดเพลิน ยินดี สนุก ซึ่งขณะนั้นมีจริงๆ ความสนุกทุกคนมี แต่เมื่อสติระลึกจะรู้ได้ว่า ลักษณะของโลภะ ความชอบใจ ความเพลิน ความสนุก ไม่ใช่ลักษณะของความเห็นผิด

แต่ถ้าความเห็นผิดเกิด ขณะนั้นลักษณะของความเห็นผิดปรากฏ ส่วน ลักษณะของความยินดีพอใจในความเห็นนั้นเหมือนไม่ปรากฏทั้งๆ ที่มี เพราะว่าขณะนั้นลักษณะของความเห็นผิดปรากฏ

ขณะใดที่มีความเห็นผิดอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น มีความเห็น ในขณะนั้น ไม่รู้ว่ามีโลภะ คือ ความยินดีชอบใจในความเห็นนั้นจึงพอใจในความเห็นนั้น แต่ขณะนั้นเป็นลักษณะที่ยึดมั่นในความเห็นนั้น แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เป็น ทิฏฐิวิปลาส ขณะนั้นต้องมีความเห็นผิด ไม่ใช่เพียงยินดีพอใจ สนุกสนาน สบายใจขณะหนึ่งขณะใดแล้วจะเป็นทิฏฐิวิปลาส

พระ เรื่องของทิฏฐิวิปลาส ก่อนได้ฟังธรรม อาตมาย้อนคิดถึงตอนที่ มีบาดแผลจากคมมีดที่เปิดจนเห็นกระดูก ต่างกับที่เห็นปกติที่ไม่มีความคิดเชื่อมั่นว่า เป็นมือเรา รู้สึกว่ามีการติดก่อนที่จะเสียใจ และเมื่อเริ่มฟังธรรม ค่อยๆ เริ่มพิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏ เริ่มพิจารณาถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ใหม่ๆ จะมีความลังเลว่า จริงหรือเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะยังรู้สึกเป็นคนจริงๆ อยู่ และขณะที่เข้าใจธรรมก็มีว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาสลับกันก็มี และค่อยๆ พิจารณาว่า ขณะที่ปรากฏทางตานั้น เป็นเพียงธรรมที่มีจริง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งของ เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นเรื่องของความเห็น เป็นอีกขั้นหนึ่งที่ได้มีการไตร่ตรองธรรม เป็นเรื่องของปัญญา มีความเข้าใจถูกต้อง เพราะมีความเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เริ่มมีความเชื่อว่า ไม่ใช่สัตว์บุคคล ในขั้นไตร่ตรอง ในขณะที่มองไป

ขณะที่เป็นทานก็ดี ในขั้นของการให้ทานปกติซึ่งไม่มีความเห็น กับขณะที่ สติปัฏฐานค่อยๆ พิจารณาและมีความเห็น เป็นการไตร่ตรองธรรม อาตมาคิดว่า จะเป็นทิฏฐิได้ ถ้าธรรมดามองเห็นคน สัตว์ สิ่งของ และไม่มีการยึดถือไตร่ตรองว่า สิ่งนี้เป็นคนแน่ๆ หรือเป็นสัตว์แน่ๆ ไม่ควรจะเป็นทิฏฐิ อาตมาเข้าใจถูกไหม

สุ. เจ้าค่ะ นี่เป็นประโยชน์ของการที่เมื่อได้ฟังพระธรรม และก็ศึกษา พระธรรม คือ ชีวิตแต่ละวัน เช่น แม้แต่ในเรื่องของสักกายทิฏฐิ ขณะใดที่เกิดการยึดถือขึ้น หรือขณะใดที่เป็นแต่เพียงความยินดี ความไม่ยินดีในสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้แต่ตัวอย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึง ก็สามารถพิจารณาโดยละเอียดว่า มือของเราด้วยโลภะ ยินดีในมือของเรา หรือมือของเราเกิดเปลี่ยนสภาพไปเสียแล้ว ยินร้าย เกิดโทมนัสขึ้น หรือมือของเราด้วยมานะ คือ มีความสำคัญในมือของเรา เพราะว่าบางคนมีมือที่สวยมาก เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นมือที่ต่างกับมืออื่นๆ ซึ่งคำว่า ต่างกับมืออื่นๆ หรือมือของคนอื่น ก็เป็นมือของเราด้วยความสำคัญตน ขณะนั้น เป็นเราด้วยมานะ หรือนี่มือของเราด้วยความเห็นผิด อย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงว่า ธรรมดาปกติในวันหนึ่งๆ ก็ไม่ได้มีการไตร่ตรองในเรื่องของสักกายะว่าเป็นเราอย่างมั่นคง เป็นแต่เพียงโลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้างไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไรที่เกิดการไตร่ตรองและยึดถือว่า ต้องเป็นของเรา ต้องเป็นตัวตนแน่ๆ ขณะนั้นก็เป็นด้วยทิฏฐิ

แสดงให้เห็นความต่างกัน แม้แต่มือของเรา ก็อาจจะเป็นด้วยโลภะ หรือ ด้วยมานะ หรือด้วยทิฏฐิก็ได้

สภาพธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงโดย นัยต่างๆ ถึง ๓ ปิฎก ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก แต่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงแสดงได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ได้ยินได้ฟัง และรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะที่ สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ กำลังเกิดขึ้นจริงๆ แม้แต่ในเรื่องของวิปลาส หรือในเรื่องของสักกายทิฏฐิ

ผู้ฟัง ผมขอเพิ่มเติมว่า สำหรับการเห็นบัญญัติ เมื่อเห็นบัญญัติแล้วไม่ใช่ว่าจะมีทิฏฐิวิปลาสเสมอไป เรามาเทียบพระอรหันต์ที่ท่านเห็นบัญญัติ กับปุถุชน เห็นบัญญัติ ก็ต่างกันแล้ว อย่างพระอรหันต์ท่านเห็นบัญญัติ ท่านก็รู้ในบัญญัตินั้น ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ท่านไม่มีสัญญาวิปลาส ไม่มีจิตตวิปลาส และไม่มีทิฏฐิวิปลาสด้วย ปุถุชนก็เห็นบัญญัติ แต่ไม่ใช่ว่าเห็นบัญญัติแล้ว ต้องเป็นทิฏฐิวิปลาสตลอดไปทั้งหมด

ผู้ฟัง เรื่องวิปลาสทั้ง ๓ รู้สึกว่า เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ได้สะสมมานานหลายแสนหลายโกฏิกัปป์ และที่เราศึกษาพระธรรม ก็เพื่อที่จะทวนกระแสหรือตัดลด ซึ่งผมคิดว่ายากมากเพราะเห็นปั๊บก็เป็นแล้ว ยิ่งให้พิจารณาว่าเป็นสภาวธรรม เกือบจะมองไม่เห็นทางเลยว่า เราจะขัดเกลาได้

สุ. ขณะที่กำลังฟังและเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นเริ่มที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมขั้นการฟัง และยังต้องมีความเพียรต่อไปอีกที่จะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ลักษณะนั้น จนกระทั่งประจักษ์แจ้งจริงๆ ไม่ใช่ไม่มีหนทาง แต่ต้องอาศัยวิริยะอย่างมาก

ผู้ฟัง ถ้าพิจารณาถึงคำสั่งสอนอื่นๆ ที่สามารถสำเร็จได้ภายในวันสองวัน โดยนั่งสมาธิ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้จริงๆ ผมเห็นว่า คงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันอย่างมาก

สุ. ข้อสำคัญ คือ เมื่อรู้ความละเอียดของวิปลาสว่า มีทั้งสัญญาวิปลาส มีทั้งจิตตวิปลาส มีทั้งทิฏฐิวิปลาส และผู้ที่จะดับกิเลสต้องละหรือดับวิปลาสหมด ทั้งสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาสด้วย ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ชีวิตในแต่ละชาติจะทำอะไร

เพราะฉะนั้น ไม่มีอย่างอื่นที่เป็นจุดประสงค์สูงสุดเท่ากับการอบรม เจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งดับกิเลสได้ ที่เป็น โลกุตตรปัญญา

ไม่ใช่เมื่อเห็นว่าวิปลาสมีมาก ละเอียด ก็เลยท้อถอย แต่เมื่อรู้ว่าตนเอง เหมือนทารกที่ยังไม่รู้เดียงสา ก็ต้องเริ่มเจริญปัญญา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยเพียรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียรอย่างอื่น ข้อสำคัญที่สุด บางท่านอาจจะต้องการอย่างอื่น หรือไม่อยากรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะว่า รู้ยาก แต่ที่จริงแล้วแม้จะรู้ยากก็ขึ้นอยู่กับปัญญาว่า ทั้งๆ ที่รู้ยาก จะเพียรเพื่อรู้ หรือจะไม่เพียรเพื่อที่จะรู้

บางคนก็ยังติดใจเยื่อใยในสมาธิ เพราะคิดว่าการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ยากเกินไป แต่ถ้ายังคงพอใจที่จะเป็นสมาธิ ที่จะทำสมาธิ โดยไม่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้

ถ้าเป็นผู้ที่เคยทำสมาธิแล้วสบาย และอยากจะทำสมาธิ เพราะเห็นว่า การรู้ลักษณะของสภาพธรรมยาก ก็ควรที่จะเกิดปัญญาระลึกทันทีว่า ความติด ความพอใจในสมาธิที่สบายๆ นั้นจะละได้ด้วยอะไร หรือจะมีหนทางใดที่จะละความติดในสมาธิ หรือแม้แต่การที่จะละความติดในสมถภาวนา

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค พุทธวรรคที่ ๑ ปฏิปทาสูตร ข้อ ๑๙ – ๒๑ มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมิจฉาปฏิปทา และสัมมาปฏิปทา พวกเธอ จงฟังปฏิปทาทั้ง ๒ นั้น จงใส่ใจให้ดีเถิดเราจักกล่าว

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพ เป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ ... ความเกิดขึ้นแห่ง กองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาปฏิปทาเป็นไฉน เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ชรา มรณะ ... จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่า สัมมาปฏิปทา ฯ

เปิด  245
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565