แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1900

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๒


ที่กล่าวถึงพระรัตนตรัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงโลกที่มืดเมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพราะไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แม้ในครั้งพุทธกาลโลกก็สว่างเฉพาะพุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมและอริยสัจจธรรม

กาลสมัยก็ผ่านมาจนกระทั่งถึงสมัยนี้ ๒,๕๓๒ ปี แม้ว่าดวงอาทิตย์ คือ พระพุทธเจ้าไม่ปรากฏ แต่แสงสว่างของดวงอาทิตย์ก็ยังมีในส่วนที่ไม่มืด เพราะ โลกนี้ไม่ได้สว่างทั่วกันหมด บางแห่งก็มืด บางแห่งก็สว่าง เพราะฉะนั้น ส่วนที่ไม่มืดเท่านั้นคือผู้ที่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้และปฏิบัติธรรม แต่ถ้าผู้ใดไม่สนใจ ไม่มีศรัทธา ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจพระธรรม จะกล่าวว่าพระธรรม ยังมีอยู่กับผู้นั้นก็ไม่ได้

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปฐมฉิคคฬสูตรที่ ๗ มีข้อความแสดงว่า

การเกิดเป็นมนุษย์ยาก อุปมาเหมือนคนโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไป ในมหาสมุทร เต่าตาบอดที่อยู่ในมหาสมุทรนั้น ล่วง ๑๐๐ ปีถึงจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง และเมื่อล่วงร้อยๆ ปีจึงจะโผล่ขึ้นมาคราวหนึ่งนั้น การที่เต่าจะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวนั้นได้บ้างก็เฉพาะในบางครั้งบางคราวเท่านั้น

นี่คือความยากของการเกิดเป็นมนุษย์

ส่วนข้อความใน ทุติยฉิคคฬสูตรที่ ๘ ยิ่งแสดงความยากกว่านั้น โดยอุปมาว่า

ไม่ใช่แต่ในมหาสมุทรเท่านั้น แต่มหาปฐพี คือ แผ่นดินระหว่างจักรวาล ก็ยังมีน้ำเต็มหมด เมื่อโยนแอกที่มีช่องเดียวลงแล้ว ลมทิศตะวันออกยังพัดแอกนั้นไป ทางทิศตะวันตก ลมทิศตะวันตกก็พัดแอกนั้นไปยังทิศตะวันออก ส่วนลมทิศเหนือ ก็พัดแอดนั้นไปทางทิศใต้ และลมทิศใต้ก็พัดแอกนั้นไปทิศเหนือ ล่วงร้อยๆ ปี เต่าถึงจะโผล่ขึ้นมาคราวหนึ่ง ถ้าแอกนั้นยังไม่เน่า และน้ำในทะเลยังไม่แห้ง การที่เต่านั้นจะโผล่ขึ้นมาสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวได้นั้นเป็นการยากยิ่ง

ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลกเป็นของยาก ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลกก็เป็นของยาก ความเป็นมนุษย์นี้เขาได้แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลก และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองในโลก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำ ความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธ-คามินีปฏิปทา

พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทพระภิกษุในสมัยเมื่อประมาณ ๒,๕๓๒ ปีมาแล้ว คือ ในยุคสมัยที่พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้วรุ่งเรืองในโลก ต่างกับกาลสมัยที่พระพุทธศาสนาได้ผ่านมาถึง ๒,๕๓๒ ปี

ข้อความตอนท้ายใน อรรถกถา ทุติยฉิคคฬสูตร มีว่า

ก็การแสดงธรรมและวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ชื่อว่าเป็นเหตุเกิด ที่ยากยิ่งกว่า

คือ ยากยิ่งกว่าการที่จะเกิดเป็นมนุษย์

ต่อจากนั้นมีข้อความว่า

ก็การแทงตลอดสัจจะ ๔ พึงทราบว่า เป็นเหตุเกิดที่ยากยิ่งกว่าอย่างยิ่ง

แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็เกิดดับอยู่แม้ในขณะนี้เอง ซึ่งทุกคนก็ฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูปโดยนัยต่างๆ ไม่ว่าจะโดยพระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือโดยนัยของพระสูตร ก็เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดในขณะนี้นั่นเองเพราะฉะนั้น ตราบใดที่สติสัมปชัญญะยังไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ศึกษา ก็ต้องมีการแสดงธรรม มีการสนทนาธรรม เพราะนับวันจะหา ผู้ที่แสดงพระธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วยากขึ้นๆ ซึ่งทุกคนก็ เห็นได้ ทั้งนี้เพราะความละเอียดและความลึกซึ้งของพระธรรมที่จะต้องอาศัยความอดทนหลายอย่าง ทั้งในการศึกษา ในการฟัง ในการพิจารณาธรรม โดยเฉพาะต้อง รู้จุดมุ่งหมายว่า เพื่อการละคลายและการขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

และเมื่อศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้ว ทุกท่านก็มีความอดทนที่จะเจริญกุศลทั้ง ในการแสดงธรรม ในการสนทนาธรรม เกื้อกูลบุคคลอื่นตามกาลที่สมควรทุกโอกาส

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านเดินทางไปที่หนึ่ง และระหว่างที่อยู่ในรถไฟก็ได้คุยกับผู้โดยสารที่นั่งใกล้ๆ ซึ่งอายุยังไม่มาก ผู้โดยสารท่านนั้นก็พูดจา เป็นเรื่องของกรรม เรื่องของธรรม และในที่สุดก็ได้ถามท่านผู้นั้นว่า ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาหรือเปล่า

แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟังและเข้าใจธรรมแล้ว ทุกโอกาสสามารถที่จะ เกื้อกูลบุคคลอื่น โดยอาจจะกล่าวถึงเรื่องของกรรม เรื่องของธรรม จนกระทั่งเห็นว่า ควรจะสนทนากันด้วยเรื่องที่ละเอียดขึ้น โดยไม่ได้มุ่งว่าจะต้องเป็นผู้แสดงธรรม แต่เมื่อรู้ว่าประโยชน์ของการแสดงธรรม การสนทนาธรรมมี ก็จะมีกุศลที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นในกาลต่างๆ

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปเรสสูตร ข้อ ๔๘๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถาย่อมเป็นไปด้วยสถาน ๓

ธรรมกถา คือ การพูด การสนทนา การเจรจาปราศรัย คุยกันเรื่องธรรม

สถาน ๓ คืออะไร คือ ผู้ใดแสดงธรรม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถ ได้รสธรรม ผู้ใดฟังธรรม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถ ได้รสธรรม ผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรม ย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถได้รสธรรมด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถาย่อมเป็นไปด้วยสถาน ๓ นี้แล

คือ เมื่อผู้ใดเห็นประโยชน์ของพระธรรม ย่อมนำมาซึ่งการสนทนาธรรม ทุกโอกาส

ขณะที่กำลังฟังพระธรรม ขอให้คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่ ได้ยินเสียงซึ่งเป็นเรื่องของธรรม สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ และเริ่มเข้าใจเรื่อง ธรรมนั้น ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สงบจากอกุศล แม้ว่าสติปัฏฐานจะไม่ได้ระลึกที่ลักษณะสภาพของจิต เพราะบางท่านก็กำลังฟัง และขณะที่ฟังนั้นก็เป็น มหากุศล ถ้ามีความเข้าใจเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นจิต ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึก ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังเข้าใจ แต่เป็นมหากุศลจิตนั่นเองที่กำลังสงบจากอกุศล และมีภวังคจิตคั่นอย่างรวดเร็วที่สุด

สภาพธรรม คือ นามธรรมเกิดดับเร็วมากจนประมาณไม่ได้ว่าเร็วแค่ไหน ในชั่วพริบตาก็มีทั้งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้สภาพธรรมขณะใดเกิดขึ้นปรากฏ

แม้ในขณะนี้เอง ขอให้คิดถึงภวังคจิต ขณะที่เป็นภวังคจิต ยิ่งกว่าความ มืดสนิท เพราะขณะนั้นไม่มีลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ปรากฏทั้งสิ้น ขณะที่ทุกคน มีความรู้สึกว่า ห้องมืด ขณะนั้นก็ยังมีความรู้ว่ามืด ซึ่งเป็นความรู้ทางมโนทวารวิถี เมื่อไม่มีอารมณ์มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นเป็นความมืด เพราะว่าเป็นมโนทวารวิถีจิต แต่ขณะที่รู้ว่ามืดไม่ใช่ขณะที่เป็นภวังค์ และขณะนี้เองก็มีลักษณะของภวังคจิตเกิดสลับคั่นกับทางหูที่กำลังได้ยิน มีเสียงกระทบกับโสตปสาท แต่เป็นเสียงที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จะเห็นถึงปัจจัยต่างๆ

ต้องมีกัมมปัจจัยในอดีตเป็นปัจจัยทำให้เสียงนี้กระทบหู เพราะว่าเสียงมีหลายเสียง เสียงอื่นที่ไม่ใช่เสียงซึ่งทำให้เข้าใจธรรมก็มี แต่เมื่อเป็นเสียงที่สามารถทำให้เข้าใจเรื่องของธรรม ก็ต้องเป็นเพราะกัมมปัจจัยที่ได้ทำแล้วในอดีตเป็นปัจจัยให้ได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็เป็นมหากุศลจิตที่การสะสมในอดีตทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามระดับขั้นของปัญญา ซึ่งเสียงที่ทำให้เข้าใจธรรมนั้นเป็นเสียงที่หายาก เพราะฉะนั้น นี่เป็นประโยชน์ของการฟังและการแสดงธรรม ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะพบใครที่ไหน เมื่อมีโอกาสที่จะเกื้อกูล ก็คงมีศรัทธาที่จะเกื้อกูลด้วยการสนทนาธรรม

มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งท่านมีข้อสงสัยในเรื่องของวิปลาส ข้อความในจดหมายมีว่า

ที่ผมเขียนจดหมายมาครั้งนี้ เพื่อขอรบกวนเรียนถามปัญหาบางประการ โดยสืบเนื่องมาจากที่ผมได้ฟังเทปการสนทนาธรรมของคณะท่านอาจารย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๑๕ ก.ค. ๓๒ ซึ่งคุณย่าสงวนได้กรุณาส่งเทปมาให้ผมฟัง คุณศุกล และอีกหลายๆ ท่านได้สนทนากันถึงเรื่องของทิฏฐิวิปลาส พอจะสรุปได้ว่า ทิฏฐิวิปลาสเป็นความคิดเห็นผิดในเรื่องต่างๆ (ต่างจากสัญญาวิปลาสซึ่งเป็นการ รู้บัญญัติขณะที่เป็นอกุศล) พระโสดาบันบุคคลจะไม่มีทิฏฐิวิปลาสเลย เนื่องจาก ทิฏฐิวิปลาสเป็นอกุศลจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งพระโสดาบันท่านละได้เป็นสมุจเฉทแล้ว

ในการสนทนากันนั้นได้ยกตัวอย่างของทิฏฐิวิปลาส หรือโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ว่า เป็นจิตในขณะที่มีความคิดเห็นผิด เช่น ขณะที่กำลังสนทนาแสดงความคิดเห็นผิดออกมา แต่ผมมีความเข้าใจว่า ถึงแม้จะไม่ได้สนทนาหรือ มีความคิดเป็นเรื่องราวผิดๆ ออกมา ก็อาจเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้ เนื่องจากการยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลตัวตนนั้น เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่ง คือ สักกายทิฏฐิ ซึ่งปุถุชนต้องมีเป็นประจำทุกวัน แม้บางวันจะไม่ได้คิดเป็นคำพูด คำสนทนา หรือคิดเองในใจเลยว่า ฉันคือ หรือว่ามีสัตว์บุคคล ตัวตน หรือ นี่เป็นตัวตนของฉัน นั่นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอื่น ในขณะที่คิดแบบนี้ก็ต้องเป็น โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือมีทิฏฐิวิปลาสแน่ๆ

แต่แม้ไม่พูด ไม่คิดแบบนี้ ทุกๆ วันก็ต้องมีความรู้สึกยึดมั่นว่า เป็นตัวตน สัตว์บุคคลแทรกอยู่ในอกุศลบางประเภทของเราอยู่เสมอ เช่น อกุศลที่เราทำกับสัตว์ หรือทำกับบุคคลอื่น ยกตัวอย่างเช่น สังสรรค์สนทนากับเพื่อนด้วยโลภะ ดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยความรัก ซึ่งตัวความรู้สึกยึดมั่นในสัตว์บุคคลที่มีอยู่ในขณะประกอบ อกุศลกรรมกับสัตว์บุคคลนั่นเองเป็นตัวที่เกิดขึ้นร่วมด้วยและทำให้อกุศลเหล่านี้เกิดขึ้น และดำเนินไป ปรุงแต่งไป ด้วยความยึดมั่นในสัตว์บุคคล รู้สึกว่านั่นเป็นสัตว์บุคคล จริงๆ ความรู้สึกเช่นนี้มีแทรกอยู่โดยที่ไม่ได้แสดงออกมาชัดๆ เป็นคำพูด ความเห็น ที่เป็นเรื่องราว ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้ระลึกได้ยาก แต่ก็พอจะระลึกรู้ได้ในบางครั้ง บางเหตุการณ์ หรือบางวันก็อาจจะระลึกรู้ไม่ได้เลย เช่น ขณะที่ได้รับคำชมแล้ว พูดโต้ตอบถ่อมตัวไปด้วยโสมนัส ด้วยโลภะ ก็มีความรู้สึกดีใจในตัวเรา ความสำคัญของตัวเรา ตัวของเราดี แทรกอยู่ในเหตุการณ์นั้นโดยไม่ได้คิดเป็นคำพูด ความเห็น เรื่องราวแทรกอยู่กับขณะจิตอื่นๆ เช่น ขณะได้ยินเป็นกุศลวิบาก ขณะรู้บัญญัติและเกิดอกุศลก็เป็นสัญญาวิปลาส จิตที่เป็นโลภะ โสมนัส เป็นจิตตวิปลาสว่า นี่เป็นตัวของเราซึ่งดี ความรู้สึกนี้น่าจะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ซึ่งเกิดขึ้นแทรก แต่ไม่นานและไม่ติดต่อกันมากพอที่จะปรุงแต่งเป็นความคิดเห็นเรื่องราวได้ แต่ก็สามารถทำกิจแสดงความรู้สึกของเขาได้แทรกอยู่ในขณะนั้นๆ ซึ่งแม้จะไม่เป็นคำพูด ความคิด เรื่องราว ก็สามารถมีผลให้กาย วาจา ใจต่อๆ มาได้ไหลไปในแนวของ การยึดถือในตัวตนยิ่งขึ้น ขณะนั้นถ้ามีผู้มาซักถามทันทีถึงเรื่องความคิดเห็นว่า มีตัวตนของเราหรือเปล่า และผู้นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคลก็จะแสดงความคิดเห็นของ การยึดมั่นในตัวตนออกมาจริงๆ เป็นคำพูด และความคิดในเรื่องตัวตน ซึ่งขณะที่ คิดแบบนี้ก็มีโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เช่นกัน แต่เกิดมากและต่อเนื่องตลอดขณะที่กำลังคิดเช่นนั้น

ผมขอรบกวนให้อาจารย์ช่วยกรุณาชี้ข้อผิดในความเข้าใจของผมในเรื่องนี้ด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง

ด้วยความเคารพยิ่ง

ชัยพจน์ สวัสดิวัลลภ

สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างท่านเจ้าของจดหมายไหม เพราะว่าเป็นที่น่าสงสัยจริงๆ ในเรื่องของนามธรรม คือ จิตและเจตสิก เพราะความรวดเร็วนั่นเอง ถึงแม้จะทรงแสดงลักษณะของจิตที่ต่างกันออกไปถึง ๘๙ ประเภท และใน ๘๙ ประเภทนั้น ก็ยังจำแนกเป็นภูมิต่างๆ

ในกามาวจรภูมิ หรือกามาวจรจิต มี ๕๔ ดวง ไม่ถึง ๘๙ ดวง แม้กระนั้น ก็ยังไม่ครบ และในเรื่องของวิปลาสก็ต้องเป็นเรื่องของอกุศลจิต แต่ความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตเจตสิก ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่า จิตในขณะหนึ่งมีเจตสิกเกิด ร่วมด้วยเท่าไร มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือมี มานเจตสิกเกิดร่วมด้วยโดยไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่พระผู้มีพระภาค ทรงสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้ง ทรงประจักษ์แจ้งในประเภทของเจตสิกต่างๆ ซึ่งเกิดกับจิตแต่ละขณะ และได้ทรงแสดงโดยเหตุผลให้ผู้ที่ได้รับฟังพิจารณา

อย่างปัญหานี้ ท่านเจ้าของจดหมายท่านเข้าใจว่า มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน อยู่ตลอดเวลา เหมือนจะเป็นทิฏฐิวิปลาสอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเห็นสัตว์เลี้ยงก็เกิดความยินดีเพลิดเพลินรักใคร่ เห็นว่าเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นตัวตน

นี่คือความเข้าใจอย่างนั้น แต่ขอให้คิดเปรียบเทียบง่ายๆ อย่างเวลาที่ท่านผู้ฟังเกิดความสำคัญตน ความมานะเป็นความสำคัญตนเหมือนธง คือ มีลักษณะที่ตน เป็นใหญ่ เป็นผู้ที่มีความสำคัญ ซึ่งทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์มี และบางครั้งก็สามารถ รู้ได้ในลักษณะอาการของมานะ แต่ในขณะนั้นเองไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่า ในขณะที่เป็นมานะ เป็นเราที่มีมานะ เพราะฉะนั้น ก็น่าที่จะ เป็นสักกายทิฏฐิในขณะนั้น แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่า ขณะที่โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์คือไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย อาจจะ มีมานะเกิดร่วมด้วยได้

เพราะฉะนั้น มานเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิตซึ่งไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่านั้น มานเจตสิกจะไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิเลย แสดงให้เห็นว่า แม้ในขณะที่มีความสำคัญตนซึ่งมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเราแน่นอน ขณะนั้นก็ไม่มี ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย

นี่คือการพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และศึกษาพระธรรมโดยการระลึกลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ เพื่อเข้าใจให้ตรงตามที่ทรงแสดง โดยเฉพาะจุดประสงค์ที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องวิปลาส ก็เพื่อให้เห็นถึงความลึกและความเหนียวแน่นของอกุศลธรรมที่มีอยู่ในสัตว์โลกเป็นประจำ เพราะแม้ว่าจะดับทิฏฐิเจตสิก เป็นสมุจเฉท เป็นพระอริยบุคคล แต่วิปลาสก็ยังเหลืออยู่ในขณะที่อกุศลจิตเกิด ในขณะที่ยังมีอวิชชาอยู่ และเมื่ออวิชชาเกิดขณะใดก็มีวิปลาสในขณะนั้น

เปิด  227
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566