แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1893

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๒


จิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง วิริยเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้น

อเหตุกจิต ๑๖ ดวงที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ คือ จิตเห็น ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง จิตได้ยิน ๒ ดวง จิตได้กลิ่น ๒ ดวง จิตลิ้มรส ๒ ดวง จิตรู้โผฏฐัพพะ ๒ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่ออีก ๒ ดวง สันตีรณจิตอีก ๓ ดวง รวมเป็น ๑๖ ดวง

เพราะฉะนั้น เวลาตื่นขึ้น จะเห็นได้ว่า มีวิถีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อไป ซึ่งบางดวงบางประเภทมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางดวงบางประเภทไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น และสำหรับจิต ที่เป็นชวนะ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นโลภะ เกิดความยินดีต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด ขณะนั้นมีวิริยะเกิดแล้ว และขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจ แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ขณะนั้นก็มีวิริยเจตสิกเกิดแล้ว

แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมแม้มี แต่ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมและ การพิจารณาพระธรรมโดยละเอียด มิฉะนั้นไม่สามารถอบรมเจริญกุศลให้เพิ่มขึ้นได้

การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยความอยาก แต่ต้องเข้าใจเหตุที่จะให้ปัญญาเกิดโดยถูกต้อง เท่าที่ได้ยินได้ฟัง วันหนึ่งๆ ก็อยาก ให้กุศลเกิดมากกว่าอกุศล บางคนอยากจะมีเมตตา ก็เดือดร้อนใจเวลาที่เมตตาไม่เกิด บางคนก็อยากจะให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ ให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นทั้งหมด ลักษณะที่อยากเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า เป็นปปัญจธรรม เพราะไม่มีใครสามารถให้กุศลเกิดได้เพียงด้วยความอยาก หรือ ไม่มีใครสามารถให้เมตตาเกิดได้โดยเพียงอยากจะมีเมตตา และเมตตาก็เกิด แต่ต้องเป็นผู้มีความกล้าที่จะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชา แม้กุศลธรรมทั้งหลายที่จะเกิดและเจริญขึ้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม การพิจารณาให้เข้าใจ และรู้ว่าเรื่องของกุศลเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญจนกระทั่ง มีกำลังขึ้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่เนิ่นช้า แต่ขณะใดที่เพียงอยากมีกุศล อยากมีเมตตา อยากมีสติปัฏฐาน ขณะที่อยากนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่กุศล

ท่านที่ฟังธรรม หลายท่านคงจะบอกว่า ยังมีความอยากอยู่ และอาจจะ ไม่ทราบว่า วิธีที่จะแยกลักษณะของจิตที่อยากมีกุศล กับจิตที่เป็นกุศลนั้น แยกอย่างไร เพราะฟังดูเผินๆ อยากมีกุศล อยากเป็นกุศล ก็น่าจะดี แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมที่อยากไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นกุศล เพราะเพียงอยากมี

การสังเกตรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลและอกุศล แม้เป็นขณะที่อยากมีกุศล คือ ขณะที่อยากมีกุศล แต่กุศลไม่เกิดก็เดือดร้อน ที่เดือดร้อนก็เพราะอกุศล จะเดือดร้อนเพราะกุศลไม่ได้ ขณะที่อยากมีเมตตา แต่เมตตาไม่เกิด ขณะนั้นเดือดร้อนที่ไม่มีเมตตา เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเดือดร้อน ขณะนั้นไม่ใช่กุศล จะเป็น กุศลไม่ได้ นี่ก็เห็นความต่างกัน

แม้ในการศึกษาธรรม ในการฟังธรรม บางท่านอยากจะฟังธรรมมากๆ ก็ต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่า อยากจะมีความรู้ หรืออยากจะเข้าใจธรรม นี่ก็ต่างกัน เพราะถ้าเป็นผู้ที่อยากมีความรู้ ก็ต่างกับผู้ที่ต้องการเข้าใจธรรม

ถ้าอยากมีความรู้ อาจจะเป็นที่อาศัยของตัณหา มานะ ทิฏฐิได้ มีความ สำคัญตนที่เป็นผู้ที่มีความรู้มาก อยากจะมีความรู้มากๆ แต่ถ้าฟังพระธรรมเพื่อ เข้าใจธรรม เพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนั้นจะไม่เดือดร้อนเลย ถึงแม้ไม่มีโอกาสมาฟังพระธรรมที่วัด ก็มีโอกาสที่จะฟังทางวิทยุ หรือมีโอกาส ที่จะศึกษาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาโดยตรง หรือมีการสนทนาธรรม หรือเมื่อ อยู่ตามลำพังคนเดียวก็อาจจะมีการไตร่ตรองถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังแล้วให้เข้าใจขึ้นอีก ในขณะนั้นก็เป็นกุศล ไม่ใช่เพียงแต่อยากเป็นกุศล อยากมีกุศล แต่กุศลไม่เกิด

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีความเดือดร้อนใจให้ทราบว่า ไม่ใช่เพราะกุศลเป็นเหตุ แต่เพราะมีความอยากอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นเป็นเหตุ จึงทำให้เดือดร้อน

เคยเล่าให้ท่านผู้ฟังฟังแล้วครั้งหนึ่งว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ใครๆ เห็นการอยู่สันโดษของท่าน ก็มีความเลื่อมใสในการที่ท่านไม่คลุกคลี แต่เมื่อมี ชาวต่างประเทศไปนมัสการท่าน ท่านก็บอกความจริงใจให้ฟังว่า เวลาที่ท่านอยากจะอยู่คนเดียว และมีผู้คนไปหาท่าน ท่านเดือดร้อน ท่านไม่สบายใจเลย เพราะว่าเสียเวลาการเจริญเมตตาของท่าน

เข้าใจผิด หรือเข้าใจถูก

ผู้ที่เข้าใจเรื่องเมตตาจะทราบได้ว่า เมตตาจะเกิดเมื่อมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะเห็นใคร ที่ไหน และอยู่ในสภาพการณ์อย่างไร ผู้ที่มีจิตเมตตาก็มีความ เป็นมิตรไมตรีที่จะเกื้อกูลทันที ขณะนั้นจิตก็ผ่องใสไม่เดือดร้อน แต่ถ้าจะอยู่คนเดียว ไม่เห็นใคร และจะเจริญเมตตา ไม่ทราบว่าจะเจริญได้อย่างไร และเวลาที่มีผู้คนไปหาก็ไม่สบายใจ ไม่พอใจที่มีผู้ไปรบกวนการเจริญเมตตาของท่าน แสดงให้เห็นว่า ต้องแยกสภาพธรรมที่เป็นกุศลออกจากสภาพที่เป็นอกุศล โดยรู้ว่าขณะใดที่ เดือดร้อนใจไม่ว่าด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นต้องเพราะอกุศล

อย่างบางคนที่คิดอยากจะทำบุญ อาจจะขาดปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้บุญนั้นไม่สำเร็จ บุญที่นี่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องของทาน เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดที่จะสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น แต่ก็มีอุปสรรคทำให้ทานนั้นไม่สำเร็จ เดือดร้อนใจ หรือเปล่า

ไม่สำเร็จ ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่ากุศลไม่ได้มีแต่เฉพาะทาน ศีลก็เป็นกุศล การอบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ก็เป็นกุศลเพราะฉะนั้น ไม่มีเรื่องใดๆ ที่จะต้องเดือดร้อน เมื่อเป็นโอกาสที่จะให้ทาน ทานนั้นสามารถกระทำได้สำเร็จก็เป็นกุศลประเภทหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีโอกาส ไม่มีปัจจัยที่จะให้กุศลประเภทนั้นเกิด กุศลประเภทอื่นก็มี ก็เกิดได้

ขณะที่สติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ไม่สงบ และเกิดจิตที่สงบ ขณะนั้นก็เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศลแล้ว หรือท่านที่มักจะมุ่งหวังผลของทานเพราะเห็นว่าทานย่อมมีผลมาก ท่านก็ลืมไปอีกว่า แท้ที่จริงแล้วแม้ไม่ใช่การสละวัตถุให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นวัตถุทาน อภัยทานก็มีผลมาก ทันทีที่จิตเกิด ขุ่นเคือง และสติสัมปชัญญะเกิด มีการให้อภัยและเมตตาทันที ขณะนั้นก็เป็นกุศล ที่ให้ผลทันที คือ จิตใจที่กระสับกระส่ายเดือดร้อนด้วยความผูกโกรธ ก็เปลี่ยนเป็นความเบา ความสบาย ด้วยความรู้สึกที่เป็นมิตร เป็นเมตตา

ทำไมไม่คิดถึงผลของบุญประเภทอื่น ทำไมคิดถึงแต่ผลของทานกุศลเพียง อย่างเดียว เพราะกุศลมีหลายระดับขั้น แม้แต่การฟังพระธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจ พระธรรม พระธรรมที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็พิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจละเอียดขึ้นเพิ่มขึ้น ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นไปโดยลักษณะนี้ ก็ไม่มี ปปัญจธรรมที่จะทำให้เนิ่นช้าได้

เรื่องของสภาพธรรมทั้งหลาย เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องเข้าใจ แม้แต่เรื่องของวิริยเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่เพียร เป็นสภาพที่กล้า เป็นสภาพที่ขยัน เป็นสภาพที่สามารถ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจขึ้น เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวัน

วันนี้วิริยะเกิดมากแล้ว บางท่านอาจจะบอกว่า ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ถ้าศึกษาธรรมจะไม่พูดคำนี้อีก เพราะว่าไม่มีตัวท่านที่จะทำ แต่มีจิตเจตสิกเกิดขึ้นทำ กิจการงานอยู่ตลอดเวลา และวิริยเจตสิกก็เป็นเจตสิกหนึ่งซึ่งเว้นไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๖ ดวงเท่านั้น เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ก็เกิดขึ้นทำ กิจการงานของวิริยเจตสิก โดยที่ถ้าไม่ศึกษา ไม่พิจารณา ก็ไม่สามารถเห็นได้

สำหรับวิริยเจตสิก แม้ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะประคองจิต ค้ำจุนจิต และสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกันให้สำเร็จกิจการงานของจิต แต่เมื่อวิริยะเกิดกับ จิตส่วนมากเว้นเพียงจิต ๑๖ ดวง คือ เกิดกับจิตถึง ๗๓ ประเภท และวิริยเจตสิกที่ เกิดกับจิตประเภทต่างๆ ก็มีกำลังต่างๆ กันด้วย คือ วิริยเจตสิกที่เกิดกับสเหตุกจิต คือจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศล หรือทางฝ่ายอกุศล ต้องมีกำลังมากกว่าวิริยเจตสิกที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และสำหรับวิริยะที่เกิดกับจิตประเภทต่างๆ วิริยะที่เกิดกับชวนจิต ย่อมมีกำลังมากกว่าวิริยะที่ไม่ได้เกิดกับชวนจิต

และวิริยะที่เป็นอกุศล จะเป็นปัจจัยทำให้วนเวียนอยู่แต่ในกามภูมิคือภูมิที่มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่วิริยะที่เป็นกุศล สามารถประคองจิตให้เจริญขึ้นจากระดับขั้นที่เป็นกามาวจรภูมิที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งถึงวิริยะที่เป็นกุศลขั้นรูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ หรือโลกุตตรภูมิ

เพราะฉะนั้น วิริยะที่เป็นกุศล จึงมีวิริยะที่เป็นวิริยินทรีย์ เป็นใหญ่ ในขณะที่เกิดเป็นไปในกุศล เป็นวิริยพละ คือ นอกจากเป็นอินทรีย์แล้ว ยังมีกำลังสามารถ เกิดในเหตุการณ์ต่างๆ ได้ เป็นสัมมัปปธาน เป็นอิทธิบาท เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นสัมมาวายาโมในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโพธิปักขิยธรรม คือ เป็นธรรมเครื่องดำเนินไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

สำหรับวิริยะที่ต่างกันเป็นอธิบดี เป็นอิทธิบาท เป็นอินทรีย์ หรือที่เป็นพละ ต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นการเจริญขึ้นของวิริยเจตสิกนั่นเอง ซึ่งในขณะที่ยังไม่ถึงระดับ ขั้นนั้น ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของวิริยะที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐานและเป็นสภาพที่มีกำลังเพิ่มขึ้น

สำหรับอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ศรัทธา เป็นสัทธินทรีย์ ๑ วิริยะ เป็นวิริยินทรีย์ ๑ สติ เป็นสตินทรีย์ ๑ สมาธิ เป็นสมาธินทรีย์ ๑ และปัญญา เป็นปัญญินทรีย์ ๑ ธรรมหมวดต่างๆ อาจจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วทั้งนั้น เช่น อธิบดี ๔ เคย ได้ฟังแล้ว ได้กล่าวถึงแล้ว อิทธิบาท ๔ เป็นองค์ธรรมชนิดเดียวกันก็ได้กล่าวถึงแล้ว แต่เวลากล่าวถึงวิริยะที่เป็นวิริยินทรีย์ จะเห็นได้ว่า จะเกิดร่วมกับศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นไปทางฝ่ายกุศล

ถ้าเป็นอิทธิบาท จะเป็นฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่ถ้าเป็นอินทรีย์จะเป็นสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ นี่ต่างกันแล้ว

ฉันทะเป็นอิทธิบาท แต่ฉันทะไม่ได้เป็นอินทรีย์ เมื่อเป็นอินทรีย์แล้วเปลี่ยนจากฉันทะเป็นศรัทธา และสำหรับอินทรีย์ ๕ ก็เพิ่มสภาพธรรม คือ สติ ซึ่งเมื่อเป็น อิทธิบาท ไม่มีสติเป็นอิทธิบาท

ก็เป็นเรื่องที่เป็นความละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังคงไม่จำเป็นต้องไปสนใจหรือคิดถึงเรื่องความละเอียดเหล่านี้ แต่ให้ทราบว่า วิริยะจะเจริญขึ้นตามลำดับจากอกุศลสู่ กุศลขั้นต่างๆ

ขอกล่าวถึงข้อความบางประการในพระไตรปิฎก เพื่อให้เข้าใจเรื่องของอินทรีย์

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ทัฏฐัพพสูตร ข้อ ๘๕๒ – ๘๕๗ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์

ล้วนแต่สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ทั้งนั้น แต่เมื่อไรจะเกิดขึ้น ก็ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั่นเอง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็จะพึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในโสตาปัตติยังคะ ๔ พึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมนี้

ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นขาดศรัทธาเจตสิกไม่ได้เลย แต่กุศลก็มีหลายระดับขั้น เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่จะเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ในกิจของศรัทธา ที่จะทำให้เห็นสภาพลักษณะของศรัทธาที่เป็นใหญ่จริงๆ จะเห็นได้ในโสตาปัตติยังคะ ๔ คือองค์ของพระโสดาบัน ๔ ได้แก่ เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ท่านผู้ฟังในขณะนี้กำลังฟังพระธรรม และมีศรัทธาในการที่จะฟังพระธรรม แต่ศรัทธานี้จะคลอนแคลน จะหวั่นไหว จะคลาดเคลื่อนไปถ้าไม่มีความเข้าใจ สภาพธรรมอย่างถูกต้อง หรือไม่รู้หนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็อาจจะทำให้ไขว้เขวไปได้ แต่ที่จะเห็นศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวแน่นอนมั่นคงจริงๆ ที่ไม่มีทางที่จะไขว้เขวคลาดเคลื่อนไป ต้องเป็นศรัทธาในโสตาปัตติยังคะ คือ ศรัทธาของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลซึ่งประกอบด้วยความไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ และในศีล

จะพึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมไหนเล่า

วิริยะที่จะเป็นอินทรีย์ ที่จะถึงความเป็นใหญ่ แสดงให้เห็นว่า มีความเพียร ที่ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยจากอกุศลที่เกิดขึ้นจนกระทั่งค่อยๆ เป็นกุศลขึ้น จนกระทั่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่นั้น จะเห็นได้ในธรรมไหน

ในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมนี้

คือ เพียรที่จะไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพียรเพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรเพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพียรเพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความ เจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

เพราะฉะนั้น ความเพียรของท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า เริ่มเพียรเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าเพียรไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพียรเพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรเพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดหมายความถึง สมถวิปัสสนาและมรรคผลนิพพาน เวลาใช้คำว่า สมถวิปัสสนา หมายความถึง การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าสติปัฏฐานนั้นพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาโดยที่ ไม่ต้องแยกกัน หรือเพียรเพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

นี่เป็นการเทียบเคียงให้เห็นถึงความเพียรที่นิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ไม่พอ

จะพึงเห็นสตินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในสติปัฏฐาน ๔ พึงเห็นสตินทรีย์ในธรรมนี้

เวลาที่กุศลเกิดจะขาดสติเจตสิกไม่ได้เลย ไม่ว่าในขณะที่ให้ทานหรือในขณะที่วิรัติทุจริต แต่จะเห็นสตินทรีย์ สภาพของสติที่เป็นใหญ่ในธรรมไหน ก็ในสติปัฏฐาน ๔

จะพึงเห็นสมาธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในฌาน ๔ พึงเห็นสมาธินทรีย์ในธรรมนี้

ถ้าเป็นเรื่องของสมาธิจริงๆ ที่จะเป็นใหญ่ ต้องเห็นในฌาน ๔

เปิด  224
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565