แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1894

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๒


พึงเห็นปัญญินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในอริยสัจจ์ ๔ พึงเห็นปัญญินทรีย์ใน ธรรมนี้

แม้แต่ปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมแต่ละขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็เป็น ปัญญินทรีย์ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่สมบูรณ์จริงๆ ถ้าถึงขั้นที่สมบูรณ์จริงๆ ก็ในอริยสัจจ์ ๔

ข้อความใน อรรถกถา ทัฏฐัพพสูตร มีว่า

คำว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็จะพึงเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำเป็นต้นว่า ในโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ เพื่อทรงชี้ ความที่อินทรีย์เหล่านี้สำคัญที่สุดในวิสัย (อารมณ์) ของตน

เหมือนอย่างว่า ลูกชายเศรษฐี ๔ คน ในเมื่อกลุ่มเพื่อนซึ่งมีพระราชาธิราช เป็นที่ ๕ หยั่งลงสู่ถนน ด้วยคิดว่า พวกเราจะเล่นงานนักษัตรฤกษ์ เวลาไปบ้าน ลูกชายเศรษฐีคนหนึ่ง อีก ๔ คนก็นั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นที่เที่ยวสั่งงานในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยวของกินแก่ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัย เป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้

ครั้นเวลาไปถึงเรือนลูกชายเศรษฐีคนที่ ๒ และคนที่ ๓ และคนที่ ๔ คนอื่น ก็นั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นที่เที่ยวสั่งงานในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยวของกินแก่ ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้ ฉันใด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เมื่ออินทรีย์ ๕ ไปถึงโสตาปัตติยังคะ สัทธินทรีย์ การน้อมลงเชื่อเป็นลักษณะเท่านั้นย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสัทธินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนแรก อีก ๔ คนนั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ฉะนั้น

นี่คือลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน และต่างเป็นอินทรีย์เฉพาะหน้าที่ของตนๆ

เมื่อมาถึงความเพียรชอบ วิริยินทรีย์ ซึ่งมีการประคับประคองเป็นลักษณะเท่านั้นที่มาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามวิริยินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๒ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวสั่งงาน ในเรือนว่า จงให้ของเคี้ยวของกินแก่ท่านเหล่านี้ จงให้เครื่องแต่งตัวมีของหอมและพวงมาลัยเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้

ครั้นมาถึงสติปัฏฐาน สตินทรีย์ซึ่งมีการเข้าไปปรากฏเป็นลักษณะเท่านั้น ที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสตินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๓ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง

ครั้นถึงเรื่องฌานและวิโมกข์ สมาธินทรีย์ที่มีลักษณะไม่ซัดส่ายเท่านั้นเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามสมาธินทรีย์นั้น เหมือนในเรือนคนที่ ๔ อีก ๔ คนก็นั่งนิ่ง

แต่ท้ายสุดเมื่อถึงอริยสัจจ์ ปัญญินทรีย์ที่มีลักษณะรู้ชัดเท่านั้นย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า อินทรีย์ที่เหลือต่างก็คล้อยไปตามปัญญินทรีย์นั้น เหมือนเวลาไปถึงพระราชวัง ๔ คนนอกนี้นั่งนิ่ง พระราชาเท่านั้นย่อมทรงเที่ยวสั่งงานในพระตำหนัก ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.

นี่เป็นการแสดงอุปมาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เมื่อสภาพธรรมค่อยๆ เจริญขึ้น จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ได้ตามขั้นของธรรมนั้นๆ

แต่เมื่อยังไม่ถึง ก็ขอกลับมากล่าวถึงวิริยะในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากที่จะได้รู้ความจริงว่า วิริยะในวันหนึ่งๆ เป็นกุศลในขณะใด เป็นอกุศลในขณะใด

สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะมีวิริยะเป็นบารมี มีความเพียรที่จะ ขัดเกลาละคลายอกุศลและเจริญกุศลขึ้น ถ้าไม่พิจารณาธรรมที่เกิดกับตน ย่อม ไม่สามารถรู้ลักษณะของวิริยเจตสิกที่เป็นกุศลและอกุศลได้

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในครั้งอดีต มีผู้ที่ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาด้วยความพากเพียรและรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งท่านเหล่านั้น ท่านเป็นบัณฑิต และท่านมีหนทางที่จะเตือนตัวของท่านเอง เพราะฉะนั้น ก็เปรียบเทียบกับบุคคลในสมัยนี้ว่า มีความคิดที่จะพิจารณาตนเหมือนบัณฑิตทั้งหลายในครั้งอดีตหรือไม่

ตอนท้ายของ อรรถกถา อนุมานสูตร มีข้อความว่า

โบราณาจารย์ (อาจารย์ในอดีต) ทั้งหลายกล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนเอง วันละ ๓ ครั้ง คือ ตอนเช้า ควรพิจารณาว่า กิเลสมีประมาณเท่านี้ของเรามีอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นว่า มี พึงพยายามเพื่อละกิเลสเหล่านั้น ถ้าเห็นว่า ไม่มี พึงเป็นผู้มีใจเป็นของตนว่า เราบวชดีแล้ว

ตอนกลางวันก็พิจารณาอีก ตอนเย็นก็พิจารณาอีก

เมื่อไม่อาจพิจารณาถึงวันละ ๓ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๒ ครั้ง แต่เมื่อ ไม่อาจถึง ๒ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๑ ครั้ง แต่การไม่พิจารณาเลย ไม่สมควร

เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็จะได้ทราบว่า ท่านได้ทำสิ่งที่สมควรหรือไม่สมควร ในวันหนึ่งๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่การพิจารณาอกุศลและกุศลของตนเอง ก็ต้องอาศัยวิริยะ ตอนเช้า ๑ ครั้ง ตอนกลางวันอีก ๑ ครั้ง ตอนเย็นอีก ๑ ครั้ง ถ้า ๓ ครั้งไม่ได้ ก็ ๒ ครั้ง ถ้า ๒ ครั้งไม่ได้ เพียงครั้งหนึ่งก็ยังดี ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบต่อไปว่า มีกิเลสอะไรที่ท่านโบราณาจารย์ในครั้งนั้นได้เตือนให้พิจารณา

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนุมานสูตร ข้อ ๒๒๕ มีข้อความว่า

ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้แสดงธรรมที่เป็นคนว่าง่ายกับภิกษุทั้งหลาย และได้กล่าวให้ภิกษุทั้งหลายพิจารณาตน ท่านกล่าวว่า

ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคน มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่คนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

ข้อความตอนต้นที่ว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเอง จะเห็นได้ว่า ถ้าจะให้คนอื่นมาพิจารณาให้ ถามเขาว่าเราเป็นอย่างไร คนนั้นย่อมไม่สามารถพิจารณา ได้ละเอียดเท่าตัวของเราเองเป็นผู้พิจารณาอกุศลของเราเอง เพราะคนอื่นไม่มีทางที่จะรู้ดีกว่า เพราะฉะนั้น วันนี้พิจารณาว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกหรือไม่ และต้องเป็นผู้ตรงด้วยที่จะรู้ว่า หากพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย

บางท่านไม่อยากพิจารณาอกุศลของตนเองเลย แต่ถ้าจะให้เป็นประโยชน์จริงๆ ที่จะให้วิริยะเจริญขึ้นในทางฝ่ายกุศล ต้องเห็นอกุศลของตนเองด้วย

. เมื่อกี้อาจารย์บอกว่า ท่านโบราณาจารย์ให้พิจารณาวันละ ๓ ครั้ง ผมขอต่อรองว่า หลายๆ วันครั้งได้ไหม

สุ. ขึ้นอยู่กับวิริยะ

. เวลานี้ก็หลายๆ วันครั้งหนึ่ง

สุ. อาทิตย์ละครั้งหรือ

. บางทีกว่านั้น บางทีเป็นเดือนครั้งหนึ่ง ก็คิดว่าเรามาศึกษาธรรม เราได้ละคลายความโลภ ความโกรธ ความหลงลงไปบ้างหรือเปล่า จะถามตัวเอง แต่ไม่บ่อย นานๆ สักครั้งหนึ่ง แต่อาจารย์มาพูดวันนี้ ก็ควรจะมีวิริยะเพิ่มให้มากขึ้น อย่างเมื่อเช้านี้ก็ได้วิริยะมาเหมือนกัน ได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกตีห้า ผมก็เปิด สวพ. เอ็ฟเอ็ม ๙๑ ได้ยินเสียงจากวิทยุ ก็ระลึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางหูว่า วันนี้มาอีกแล้วนี่คือธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อจิตเราตื่นจากภวังค์ ทำให้คิดว่า ชีวิตของเรา ได้เริ่มมีกุศลเกี่ยวกับสติปัฏฐานเพิ่มขึ้น แต่การเพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิด ในเรื่องสัมมัปปธาน ๔ ยังไม่ค่อยเป็นวิริยะ ยังกระท่อนกระแท่น แต่ถ้านึกถึงที่อาจารย์พูดว่า จะต้องเป็นวิริยินทรีย์ รู้สึกว่ายังไกลมากจริงๆ ก็ควรจะต้องทำเหตุทำปัจจัยโดยการฟังและศึกษาสนทนาธรรมอย่างนี้ต่อไป

สุ. ท่านโบราณาจารย์ท่านทราบว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่เรื่องเร็ว และไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่การที่อินทรีย์ ๕ จะเจริญได้บ่อยๆ เพราะว่า อินทรีย์ ๕ เจริญ หมายความว่าในขณะที่สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นพร้อมทั้งศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงรู้ว่า บุคคลใดมีอินทรีย์อ่อน มีอินทรีย์กล้า ถ้าเป็นผู้ที่มีอินทรีย์กล้าก็คือ เป็นผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติ และได้อบรมเจริญสติปัฏฐานพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ผู้ใดที่อินทรีย์ยังอ่อน คือ สติปัฏฐานไม่ค่อยจะเกิด เพราะฉะนั้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาที่จะเป็นไปพร้อมกับสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เมื่อวันหนึ่งๆ ไม่เกิดบ่อย แต่อกุศลธรรมอื่นๆ เกิดมาก ก็ควรที่จะเป็นวาระของ กุศลธรรมขั้นอื่นที่จะเกิด เช่น การพิจารณาตนเอง

ถ้าได้พิจารณาตนเองบ่อยๆ จะคลายการพิจารณาคนอื่น เพราะว่าหลายคนถนัดคุ้นเคยต่อการพิจารณาคนอื่นมากกว่าพิจารณาตนเอง แต่ถ้ากลับมาพิจารณาตนเองจะเห็นได้ว่า ขณะที่กำลังคิดพิจารณาหรือวิจารณ์คนอื่นนั้น เป็นแต่เพียงจิต ที่คิดเท่านั้นเอง และจะรู้ว่าในขณะที่จิตคิดนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังพิจารณาตนเองนั้นเอง ก็ยังสามารถเห็นกุศลและอกุศลของตนเองได้

นอกจากจะพิจารณาว่า เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามกหรือไม่ ข้อความต่อไป ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนยกตนข่มผู้อื่นหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนยกตนข่มผู้อื่นจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

เรื่องการยกตนข่มผู้อื่น ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดจริงๆ อาจจะคิดว่า ท่านเองเปล่า ไม่ได้ทำ แต่ขณะใดที่คิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยอกุศลจิต ขณะนั้นยกตน คือ ท่านเป็นคนดีพอที่จะเห็นความไม่ดีของคนอื่น แต่เวลาที่ท่านกล่าวถึงความไม่ดีของคนอื่น ด้วยจิตที่เป็นกุศล คือ เป็นไปในเรื่องของธรรม เป็นการกล่าวถึงธรรมโดยที่ไม่เน้นเรื่องของบุคคลเพื่อให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้ บุคคลเป็นแต่เพียงคำบัญญัติเรียกธรรมนั้นเท่านั้น ถ้าขณะนั้นจิต เป็นกุศลมุ่งที่จะให้เห็นธรรม แม้แต่การกล่าวถึงอกุศล ขณะนั้นก็ไม่ใช่ การยกตนข่มคนอื่น แต่ถ้าขณะนั้นขาดสติสัมปชัญญะ และคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยอกุศลจิต ขณะนั้นแม้ไม่กล่าวด้วยคำพูดหรือกล่าว ขณะนั้นจะเป็นการยกตนและ ข่มผู้อื่นหรือไม่

แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของการที่จะพิจารณาว่า ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่พ้นจากความปรารถนาลามกบ้าง หรือยกตนข่มผู้อื่นบ้าง

อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธไม่ครอบงำ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

พิจารณาได้ไหม เรื่องของกาย เรื่องของวาจา เป็นปกติในชีวิตประจำวัน คำพูดเป็นผู้อันความโกรธครอบงำหรือเปล่า ถ้ากายหรือวาจาเป็นไปเพราะความโกรธครอบงำในวันนี้แล้ว ตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น พิจารณาตนหรือเปล่าว่า เป็นผู้ที่มักโกรธอันความโกรธครอบงำแล้วจริง ถ้าจริง ก็พยายามเพื่อที่จะละ อกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย

ยังมีการรู้สึกตัว ยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าวันนี้ไม่พิจารณาเลยในสิ่งที่ ได้ทำไปแล้วว่าไม่ดี ต่อไปก็ต้องทำอีกแน่นอน เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการขัดเกลาตนเองเลย แต่ผู้ที่จะละคลายกิเลสจริงๆ ต้องการที่จะดับจริงๆ ต้องการที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยะ มีความเพียรที่จะเห็นอกุศลของตนเอง

พอไหม พิจารณาแค่นี้ หรือพิจารณาไม่ครบ ก็อาจจะเป็นได้ แต่ผู้ที่ละเอียด ท่านก็พิจารณาตัวท่านละเอียดจริงๆ ในเรื่องของโลภ ในเรื่องของโกรธ

ต่อไปก็ยังคงเป็นเรื่องของความโกรธ ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคน มักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

ขณะนี้นึกออกไหมว่าโกรธใครอยู่บ้างหรือเปล่า ขณะที่เรื่องผ่านไปแล้ว แต่ยังไม่ลืม ยังไม่พอใจ ยังขุ่นเคืองใจ ยังโกรธอยู่ นั่นคือผูกโกรธ เพราะฉะนั้น ควรจะได้พิจารณาว่า เราเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ จริงหรือเปล่า ซึ่งขณะที่ไม่ลืมความโกรธ ไม่อภัย ไม่เมตตา กุศลทั้งหลายก็เจริญเป็นบารมีไม่ได้

ข้อต่อไปเป็นเรื่องของความโกรธอีก เพราะว่าวันหนึ่งๆ หลายท่านก็คงจะโกรธบ่อยๆ มีเรื่องให้โกรธอยู่ทุกวัน เพราะว่าใครเลยจะทำสิ่งที่ทุกท่านพอใจโดยที่ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความขุ่นเคืองใจได้เลยตลอดทั้งวัน

ข้อความต่อไปมีว่า

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุหรือไม่

ถ้าไม่มีข้อความนี้ จะไม่ส่องไปถึงใจของแต่ละท่านในชีวิตประจำวันเลยว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีลักษณะอย่างนี้หรือเปล่า เพราะว่าบางคนโกรธ และถูกความโกรธครอบงำทำให้กายวาจาเป็นไปด้วยความโกรธนั้น บางคนก็โกรธ และผูกโกรธ ยังไม่ลืม แต่บางคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาว่า เราเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุหรือไม่

หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนใน กุศลธรรมทั้งหลาย

เปิด  219
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565