แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1897
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๒
แสดงให้เห็นว่า กุศลมีหลายขั้น สำหรับผู้ที่ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต จะต้องละเอียดจนกระทั่งแม้แต่ว่า ความผิดที่ได้กระทำแล้วและก็ปิดเพียงคิดว่า จะไม่ทำอย่างนั้นอีกก็ยังไม่ได้ แต่สำหรับคฤหัสถ์ก็จะเห็นได้ว่า เป็นเพศที่ต่างกันมาก แล้วแต่ปัญญาจะทำให้กระทำอย่างไร เพราะถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญามากก็อาจจะเปิดเผยความผิดนั้นสบายๆ ไม่เดือดร้อน เพราะว่าทุกคนต้องเคยทำความผิดทั้งนั้น ไม่มีใครที่ไม่เคยทำความผิด และเป็นผู้ตรงว่า เมื่อทำความผิดก็ผิด ไม่ใช่ว่า เมื่อทำความผิดแล้วก็ยังกล่าวว่า ไม่ได้ทำ หรือคิดว่า ไม่ผิด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเป็นบุคคลผู้มีหูชัน คือ ไม่รับรู้เหตุผลอะไรทั้งนั้น ซึ่งใน กถาวัตถุ อรรถกถา อัจจันตนิยามกถา แสดงว่า ผู้ที่ไม่รู้ว่าอกุศลเป็นอกุศล และเป็นผู้ที่ว่ายาก เป็นบุคคลผู้มีหูชัน เพราะฉะนั้น ก็ได้ทราบความหมายของผู้ที่ว่ายากอีก ความหมายหนึ่ง คือ ผู้มีหูชัน คือ ไม่รับรู้เหตุผลอะไรทั้งนั้น
ชื่อว่าปริหรณา เพราะเลี่ยงความผิดด้วยคิดว่า เราจะไม่ทำอย่างนี้อีก
นอกจากจะปกปิดก็ยังเลี่ยง คือ ไม่ได้กล่าวความจริง ขณะนั้นก็เป็นอกุศลด้วย
ชื่อว่าคูหณา ซ่อนความผิดโดยสำรวมกายเป็นต้น
ชื่อว่าปริคูหณา คือ ซ่อนความผิดทุกส่วนโดยประการทั้งปวง
บางครั้งก็ซ่อนความผิดโดยสำรวมกาย แต่บางครั้งก็ซ่อนความผิดทุกส่วน โดยประการทั้งปวง ถ้าจะให้มองเห็นภาพก็คือว่า เวลาซ่อนโดยสำรวมก็เหมือน ชั่วขณะที่กำลังสำรวม เหมือนปิดบังสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เพียงปิดไว้ แต่ถ้าปริคูหนา คือ ซ่อนความผิดทุกส่วนโดยประการทั้งปวง คลุมไว้มิดชิดหมดทีเดียว ไม่ให้ใครเห็น ไม่ให้ใครรู้
ชื่อว่าฉาทนา เพราะปิดบังความชั่วด้วยกายกรรมและวจีกรรม ดุจปิดบังคูถด้วยใบหญ้าฉะนั้น
ชื่อว่าปริจฉาทนา เพราะปิดบังทุกส่วนโดยประการทั้งปวง
ชื่อว่าอนุตตานีกัมมัง เพราะไม่แสดงเปิดเผย
ชื่อว่าอนาวิกัมมัง เพราะไม่แสดงให้ปรากฏ
ชื่อว่าโวจฉาทนา เพราะคลุมความผิดไว้อย่างดี
ชื่อว่าปาปกิริยา เพราะทำชั่วใหม่อีกโดยปกปิดความชั่วที่ทำมาแล้ว
บทว่า อยัง วุจจติ คือ นี้เรียกว่า ความลวง มีลักษณะปกปิดความชั่ว ที่ทำมาแล้ว บุคคลมีมายาดุจถ่านปกปิดด้วยขี้เถ้า ดุจตอปกปิดด้วยน้ำ และดุจศัสตราปกปิดด้วยเอาผ้าเก่าพัน
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกิเลสมากมายในวันหนึ่งๆ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็น พระมหากรุณาคุณ เพราะแม้แต่การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะระลึกถึงกุศลหรือความดีของตนเอง ให้ทราบว่าในขณะนั้น ตราบใดที่ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ ขณะที่ระลึกถึง กุศลนั้นมีอกุศลหรือเปล่า หรือจิตที่หลังจากระลึกถึงกุศลแล้วเป็นอกุศลหรือเปล่า เพราะอาจจะระลึกด้วยความสำคัญตนก็ได้
แสดงให้เห็นว่า เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่งที่ได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศล อย่างมาก อย่างละเอียด เพื่อให้แต่ละบุคคลได้พิจารณาเห็นโทษและละคลายจนกว่าจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้จริงๆ
เรื่องของกิเลสไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ใครจะคิดว่า นั่งสงบๆ หรือไม่รู้อะไรเลยก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมและดับกิเลสได้ แต่เป็นเรื่องของความละเอียด เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องของสติที่จะระลึกได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ตาม
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค จังกมสูตรที่ ๕ จะแสดงให้เห็นว่า แม้ในสมัยที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน อกุศลของบุคคลในครั้งนั้น หรือกุศลของบุคคล ในครั้งนั้น ก็ไม่ต่างกับอกุศลและกุศลของบุคคลในครั้งนี้
ณ เขาคิชฌกูฏ ท่านพระสารีบุตรจงกรมอยู่ด้วยกันกับพระภิกษุหลายรูปในที่ ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหากัสสปะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอนุรุทธะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับ ภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอุบาลีก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับ ภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับ ภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค แม้ท่านพระเทวทัตก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า
ที่ท่านพระเทวทัตจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคนั้น เพื่อปกปิดโทษอันตนกระทำแล้ว เพื่อเป็นเหตุให้คนอื่นคิดว่า ผู้นี้ไม่ทำ ถ้าทำ เขาก็ไม่มา ณ ที่นี้
แม้ในครั้งนั้นก็จะเห็นได้ว่า สภาพของจิตใจไม่ต่างกันเลยเวลาที่อกุศลเกิด จะมีการลวง จะมีการปกปิด จะมีมายาต่างๆ คนที่เดินอยู่ด้วยกันในที่นั้นทั้งหมด ดูอาการภายนอกจะรู้ไหมว่า ใครคิดอะไร ฉันใด จะนั่งอยู่ด้วยกันไม่ว่าในที่ไหนทั้งหมด ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า จิตใจของแต่ละบุคคลในที่นั้นคิดอะไร นอกจาก ผู้นั้นเองจะเป็นผู้พิจารณาตนเองเท่านั้นจึงจะรู้ได้
เรื่องของกิเลสมีมาก และกิเลสเกิดขึ้นทำกิจการงานของกิเลส กิเลสจะทำกิจการงานของกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าในสมัยไหนทั้งสิ้น กิเลสเกิดขึ้นขณะใด ก็ทำกิจของกิเลสขณะนั้น และสมมติเรียกชื่อของอกุศลธรรมและกุศลธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ แต่บางท่านก็มีวิริยะในการอบรมเจริญปัญญา เห็นโทษของกิเลสและละคลายกิเลสได้ แต่ก็ต้องอาศัยวิริยะอย่างมากจริงๆ ในการเป็นผู้อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ภิกษุถ้าปลงอาบัติแล้วไม่ผิดหรือ แปลว่าล้างบาปได้ ใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่ล้าง รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ผิด และระลึกได้ เวลาที่ปลงอาบัติ ก็หมายความว่า เห็นโทษว่าเป็นโทษ เพื่อที่จะไม่กระทำอย่างนั้นอีก ถึงความสำรวมระวังต่อไป
ถ. พระนางมัลลิกา ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ตอนที่จะสิ้นพระชนม์ได้มีข้อกังวลใจอยู่อย่างซึ่งยังไม่ได้สารภาพกับพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงตกนรกอยู่ ๗ วัน สงสัยว่า ถ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลท่านเสด็จมาและพระนางมัลลิกาสารภาพบาปตรงนั้น จะไม่ตกนรกหรืออย่างไร
สุ. ไม่มีใครสามารถรู้เรื่องกรรมและผลของกรรมได้ ในเมื่อกรรมได้กระทำไปแล้ว และกรรมไหนจะเป็นชนกกรรมที่จะให้ผลในชาติต่อไปทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถรู้ได้จริงๆ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น มีทางเดียว คือ เป็นผู้ไม่ประมาท อกุศลที่กระทำไปแล้วก็กระทำไปแล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น และเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดก็จะทำให้ละคลายอกุศลได้ละเอียดกว่าผู้ที่ไม่ละเอียด
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฐมโอวาทสูตร ข้อ ๔๘๓ – ๔๘๘ มีข้อความโดยย่อว่า
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ท่านพระมหากัสสปะเข้าไปเฝ้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระมหากัสสปะว่า
ดูกร กัสสปะ เธอจงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกระทำธรรมีกถา แก่ภิกษุทั้งหลาย
ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้ว่ายาก
ในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน ท่านพระมหากัสสปะก็ยังได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้ว่ายาก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรม ที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุสาสนีโดยเคารพ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระธรรมวินัยนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นภิกษุชื่อภัณฑะ ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของ พระอานนท์ และภิกษุชื่ออาภิชชิกะ ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระอนุรุทธะ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจะกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจะกล่าวได้นานกว่ากัน ดังนี้
บวชแล้ว ศึกษาธรรมแล้ว แต่ตราบใดที่ยังมีกิเลสก็จะเห็นได้ว่า แม้ว่าเป็น ศิษย์ของท่านพระอานนท์ หรือเป็นศิษย์ของท่านพระอนุรุทธะ ก็ยังล่วงเกินกัน คือ แก่งแย่งหรือแข่งดีกันด้วยสุตะว่า ใครจะกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจะกล่าวได้ดี กว่ากัน ใครจะกล่าวได้นานกว่ากัน
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้ง ๒ รูปมา แล้วตรัสถาม ภิกษุทั้ง ๒ รูปก็ ทูลรับว่า จริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงไว้แล้วอย่างนี้หรือหนอ พวกเธอจึงกล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะอย่างนี้ว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าว ได้มากกว่ากัน ใครจะกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจะกล่าวได้นานกว่ากัน
ภิกษุทั้ง ๒ กราบทูลว่า
ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
คือ ท่านยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพวกเธอไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ดูกร โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอรู้อะไร เห็นอะไร บวชอยู่ในธรรมวินัยที่เรากล่าว ดีแล้วอย่างนี้ ย่อมกล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะไปทำไมเล่าว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจะกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจะกล่าวได้นานกว่ากัน
ภิกษุทั้งหลายซบศีรษะใกล้พระบาทพระผู้มีพระภาค และกราบทูลขอให้ พระผู้มีพระภาคทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล พวกเธอมาเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้นเรารับโทษของพวกเธอ ก็การที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม และถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า
ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า
ที่พระผู้มีพระภาคทรงตั้งท่านพระมหากัสสปะไว้ในฐานะของพระองค์ คือ ให้กล่าวสอนภิกษุและให้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ก็เพราะเหตุว่าท่านพระมหากัสสปะมี อายุถึง ๑๒๐ ปี ส่วนพระอัครสาวกทั้ง ๒ นั้นปรินิพพานก่อนพระผู้มีพระภาค และท่านพระมหากัสสปะจะทำการสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยให้พระศาสนา สืบต่อไปอีก
และในอรรถกถาอธิบายว่า
ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน
คือ การกล่าวมากเพราะอาศัยการเรียนพระธรรมมาก
ใครจะกล่าวได้ดีกว่ากัน
คือ บางท่านถึงแม้ว่ากล่าวมาก แต่ก็กล่าวเลยไป คือ เกินพอดี จึงย่อมไม่ได้ประโยชน์ ไม่ไพเราะ แต่บางท่านกล่าวมีประโยชน์ ไพเราะ เพราะฉะนั้น ก็แข่งกันว่า ใครจะกล่าวได้ดีกว่ากัน
ใครจะกล่าวได้นานกว่ากัน
คือ บางท่านแม้ว่ากล่าวมากและดี แต่ก็กล่าวไม่นาน คือ เลิกเร็ว
แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม เพราะว่าการฟังพระธรรม คือ ประโยชน์ที่ได้เข้าใจพระธรรมและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ไม่จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบว่า ใครกล่าวได้มากกว่ากัน ใครกล่าวได้ดีกว่ากัน หรือใครกล่าวได้นานกว่ากัน
ถ. ตอนแรกเข้าใจว่า กล่าวล่วงเกินกันและกัน คงจะต่อว่าอะไรกัน แต่กลายเป็นว่า เป็นการแสดงธรรมเก่งกว่า เพราะรู้มากกว่าก็สามารถแสดงได้มากกว่า ฟังคล้ายๆ อย่างนั้น
สุ. มิได้ ใครจะกล่าวได้มากกว่ากัน
ถ. ก็แสดงธรรม
สุ. แข่งกันว่า ใครจะแสดงได้มากกว่ากัน
ถ. เป็นอกุศลหรือ
สุ. เป็นการแข่ง ถ้ามากกว่าแล้วเป็นอย่างไร ถ้าน้อยกว่าแล้วเป็นอย่างไร ถ้ามากกว่า ก็ดีใจว่าเก่งกว่าหรือเปล่า หรือถ้าน้อยกว่า ก็ไม่เก่งหรือด้อยกว่าหรือเปล่า
ถ. เข้าใจแล้ว เป็นอกุศลตอนนั้น แต่มีกุศลบ้างไหม แสดงธรรมก็เป็นกุศลในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
สุ. เป็นเรื่องละเอียด คือ กุศลเป็นสภาพของจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีมานะ ไม่มีทิฏฐิ
ถ. การแสดงธรรมโดยมีมานะ ถือว่าเป็นอกุศลหรือ
สุ. ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่กุศล แม้แต่การศึกษาธรรม ยังไม่ถึงการแสดงธรรม เพียงการศึกษาธรรม ศึกษาเพื่ออะไร บางท่านอาจจะเห็นว่า ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เข้าใจได้ยาก เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้วก็เก่ง ไม่อยากให้คนอื่นเข้าใจได้มากอย่างนั้นหรือเก่งอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
แต่ถ้าถึงแม้ว่าผู้นั้นจะมีความเข้าใจมากอย่างไร ก็ยังสามารถระลึกได้ว่า ตราบใดที่ยังคิดเป็นอย่างนั้นอยู่ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ก็จะละอกุศลนั้น เพราะรู้ว่า การเป็นผู้รู้ธรรมมากอย่างเดียวไม่เป็นประโยชน์ แต่ต้องเป็นผู้ที่ประพฤติธรรมมากด้วย
จุดประสงค์ของการศึกษาธรรมไม่ใช่เพียงรู้ธรรมมาก แต่ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาก
ถ. เป็นพระคุณอย่างสูง มองดูแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมีความละเอียดอ่อน ที่จะต้องรู้ทันตัวเราเองอย่างยิ่ง
สุ. มิฉะนั้นแล้วดับกิเลสไม่ได้เลย โดยวิธีอื่น ไม่มี มีแต่ว่าสติสัมปชัญญะละเอียดขึ้น จะสามารถเห็นความละเอียดของอกุศล
ถ. เพราะฉะนั้น ภิกษุที่แสดงธรรมในกรณีนี้ อาจจะมีทั้งกุศลและอกุศลตลอดเวลาที่แสดงธรรมก็ได้ ใช่ไหม คือ ไม่เป็นกุศลหรืออกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุ. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส ท่านก็รู้ว่าท่านผิด ท่านเป็นผู้เขลา ท่านเป็น ผู้หลง และท่านก็ทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษ เพราะฉะนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่รู้สึกตัว
สำหรับผู้ที่ใคร่จะเจริญกุศล ไม่ควรคิดแต่เรื่องของทานกุศล แต่ควรจะพิจารณาตนเองให้เข้าใจสภาพธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสซึ่งยากกว่าการเจริญทานกุศล เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะสภาพจิตของตน และเป็นผู้ตรง เป็นผู้ละเอียด จึงจะเห็นกิเลสที่ละเอียดๆ ของตนเองได้ เช่น ข้อความที่ได้กล่าวถึงแล้วคราวก่อนในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนุมานสูตร ที่แม้แต่ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ยังกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายพิจารณาตนเองว่า มีอกุศลอะไรบ้าง
เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากที่จะรู้ว่า ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาลามกหรือไม่ ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกหรือไม่ ยกตนข่มผู้อื่นหรือไม่ มักโกรธ หรือ ถูกความโกรธครอบงำ ลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ เป็นต้น หรือไม่
และยังมีข้อความในอรรถกถาที่ท่านพระโบราณาจารย์ได้ให้พิจารณาตนเอง วันละ ๓ ครั้ง สำหรับท่านที่ไม่สามารถพิจารณา ๓ ครั้ง ก็ควรพิจารณา ๒ ครั้ง เมื่อไม่สามารถพิจารณา ๒ ครั้ง ก็ควรพิจารณาวันละครั้ง แต่ถ้าจะไม่พิจารณาเลย ไม่สมควร