แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1907

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๒


ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรมมากกว่าอีกหลายคน ที่ไม่ได้ฟังและไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ท่านจะโกรธคนที่ไม่รู้ ในเมื่อตัวท่านเป็นผู้ที่รู้แล้ว หรือว่าเข้าใจพระธรรมแล้ว เป็นสิ่งที่สมควรไหม

ใครก็ตามที่มีความไม่รู้และไม่ได้ฟังพระธรรม ก็เป็นธรรมดาที่บุคคลนั้นจะต้องทำสิ่งที่ผิดๆ หรือทำสิ่งที่ไม่สมควร หรือทำสิ่งที่เสียหายแม้กับตัวท่าน แต่ถ้าท่านพิจารณาว่า เพราะบุคคลนั้นไม่รู้จึงทำ และเมื่อท่านเองศึกษาแล้ว พิจารณาธรรมเข้าใจแล้ว รู้แล้ว ยังจะโกรธคนที่ไม่รู้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลย ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ขณะนั้นท่านจะมีขันติบารมีที่ว่า ไม่ผูกโกรธ และอภัยให้บุคคลนั้นด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อผู้ทำความผิดมีคุณ เราไม่ควรทำความโกรธในผู้มีคุณ เมื่อผู้ทำความผิด ไม่มีคุณ ควรแสดงความสงสารเป็นพิเศษ ยศอันเป็นคุณของเราย่อมเสื่อม เพราะความโกรธ สิ่งเป็นข้าศึกทั้งหลายมีผิวพรรณเศร้าหมองและการอยู่เป็นทุกข์ เป็นต้น ย่อมมาถึงเราด้วยความโกรธ

ทรัพย์สมบัติที่มี เสื่อมได้ หมดไปได้ พินาศไปได้ พังไปได้เพราะความโกรธ ชื่อเสียงคุณความดีต่างๆ ที่มี ก็อาจจะหมดสิ้นไปเพราะความโกรธ ในขณะที่ แสดงกิริยาอาการที่ไม่สมควร หรือการกระทำที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น จะเห็นประโยชน์ของขันติบารมี

อนึ่ง ชื่อว่าความโกรธนี้ กระทำสิ่งไม่เป็นประโยชน์ได้ทุกอย่าง ยังประโยชน์ ทั้งปวงให้พินาศ เป็นข้าศึกมีกำลัง เมื่อมีขันติข้าศึกไรๆ ก็ไม่มี

ควรพิจารณาความโกรธในชีวิตประจำวันของท่านว่า ส่วนใหญ่เกิดจากอะไร ซึ่งโดยมากเกิดจากการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ถ้าบุคคลทั้งหลายทำดีก็จะไม่มีใคร โกรธใคร แต่เพราะว่าทุกคนยังมีอกุศล ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็เป็นเหตุทำให้เกิดความไม่พอใจ แต่สามารถพิจารณาได้ในบุคคลต่างๆ ว่า เป็นผู้ที่มีคุณ หรือเป็นผู้ที่ ไม่มีคุณ ถ้าเป็นผู้ที่มีคุณกระทำก็อย่าโกรธเลย ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีคุณต่อเรา ถ้าเป็นผู้ที่ ไม่มีคุณก็ยิ่งน่าสงสาร ไม่มีคุณอะไรเลยและยังทำสิ่งที่ไม่ดีด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลจิตเกิดพร้อมสติสัมปชัญญะ จะทำให้เพิ่มความอดทนขึ้น

ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มหิสราชจริยา ตอนท้ายมีข้อความว่า

บุคคลผู้มีปัญญา อดกลั้นคำดูหมิ่นในเพราะของคนเลว คนปานกลาง และคนชั้นสูง

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะได้รับกระทบจากบุคคลใดที่เป็นคนเลว หรือคนปานกลาง หรือคนชั้นสูง ถ้าเป็นผู้มีปัญญาแล้วย่อมอดกลั้นคำดูหมิ่น ได้ทั้งหมดไม่ว่าจากใคร ไม่ใช่เฉพาะบางบุคคล ต้องทั่วไปหมด เพราะบางคนคิดว่า ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็อดกลั้นได้ แต่ถ้าเป็นคนชั้นต่ำหรือคนเลวก็อดกลั้นคำพูดของ คนเหล่านั้นไม่ได้ แต่ความจริงแล้วทุกบุคคลควรเป็นสิ่งที่ทำให้เจริญขันติบารมี

อรรถกถา ธรรมเทวปุตตจริยาที่ ๘ มีข้อความว่า

อธรรมเทพบุตรกล่าวกับธรรมเทพบุตรว่า ค้อนเหล็กทุบเงินได้ เงินทุบค้อนเหล็กไม่ได้ หากวันนี้อธรรมจักฆ่าธรรมได้ เราผู้เป็นเหล็ก จักพึงแสดงให้เห็นเป็นดุจทองคำ

ถ้าฝ่ายอธรรมก็จะต้องเข้าใจว่า ค้อนเหล็กทุบเงินได้ และเงินทุบค้อนเหล็กไม่ได้ ซึ่งทำให้เข้าใจว่า อธรรมจักฆ่าธรรมได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีอธรรมก็คิดว่า จะเป็นเหมือนเหล็ก แต่แสดงให้เห็นเป็นดุจทองคำ คือ แสดงให้ใครๆ เห็นว่า อกุศลดีกว่ากุศล

ในการสนทนาเวลาที่มีเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น และมีคนที่ทำผิด เป็นที่ติเตียนของสังคม ขอให้พิจารณาว่า ใจของท่านคิดอย่างไร ถ้าคิดช่วยกันซ้ำเติม บุคคลนั้น ขณะนั้นเข้าใจว่าอธรรมดีกว่าธรรมหรือเปล่า เพราะว่าในขณะที่ช่วยกันกระหน่ำซ้ำเติมบุคคลนั้น ขณะนั้นเป็นอธรรม ไม่ใช่เป็นธรรม แต่ถ้าเป็นธรรมแล้ว จะทำให้เกิดสติสัมปชัญญะระลึกได้ และมีความเมตตา มีความอดกลั้น มีความอดทน แทนที่จะช่วยกันทำให้เกิดอกุศลหรือโทสะเพิ่มขึ้น

แต่ธรรมเทพบุตรก็กล่าวตอบว่า

… เราอดทนวาจาหยาบของท่านได้

นี่คือฝ่ายธรรม เพราะฉะนั้น ทุกท่านควรที่จะเป็นอย่างนี้

อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกกถา มีข้อความว่า

อนึ่ง ผู้มีปัญญาเท่านั้นเป็นผู้มีความอดกลั้นต่อความเสียหายของผู้อื่นเป็นต้น ผู้มีปัญญาทรามไม่เป็นผู้อดกลั้น ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้แก่ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ของความอดทน แต่ความเสียหายเหล่านั้นของ ผู้มีปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งขันตินั้น ด้วยเพิ่มพูนความสมบูรณ์ แห่งขันติ

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ชีวิตต่อไปข้างหน้าก็พิจารณาว่า ท่านจะเป็นบุคคลประเภทใด คือ ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา ก็เป็นผู้ที่มีความอดกลั้นต่อความเสียหายที่ผู้อื่น นำไปให้ แต่สำหรับผู้ที่ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ต่อความอดทน

ข้อความต่อไป

ผู้มีปัญญาเท่านั้นไม่ทำการแบ่งแยกคนที่รัก คนกลาง และคนที่เป็นศัตรู เป็นผู้ฉลาดในการนำประโยชน์เข้าไปในที่ทั้งปวง

พระธรรมทั้งหมดมีประโยชน์ ถ้าจะพิจารณา และจะเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงเกื้อกูลพุทธบริษัทด้วยการทรงแสดงธรรมที่เป็นอนุสาสนี คือ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้พิจารณาเห็นประโยชน์ของธรรมที่เป็นกุศล คือ ผู้มีปัญญาเท่านั้นไม่ทำการแบ่งแยกคนที่รัก คนกลาง และคนที่เป็นศัตรู คือ ไม่เลือกพวกพ้อง หรือเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ เป็นผู้ฉลาดในการนำประโยชน์เข้าไปในที่ทั้งปวง

นี่คือผู้ฉลาดจริงๆ เป็นผู้ที่อดทนเพื่อประโยชน์ เพราะถ้าไม่อดทนก็จะไม่เกิดประโยชน์ แต่จะเป็นโทษสำหรับตนเอง

. บางครั้งเราเห็นบุคคลบางคน บางกลุ่ม ศึกษาธรรมโดยไม่เคารพ คือ ศึกษาแล้วไม่น้อมมาปฏิบัติที่ตัวเอง และมักกล่าวจ้วงจาบกลุ่มอื่นเสมอ เมื่อเรา ได้ฟังบ่อยๆ เกิดนึกสงสาร และคิดจะเตือนสติเขาโดยไม่คิดโกรธ อยากจะให้เขา ได้รู้สึกตัว อย่างนี้จะถือว่า ขาดขันติในทางที่ไม่ดีหรือเปล่า

สุ. สติสัมปชัญญะจะทำให้ทราบขณะจิตว่า เป็นเมตตา หรือเป็นโทสะ

. ก็ระลึกนึกว่า เราไม่ได้โกรธเขา แต่เห็นใจและสงสารพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้รับฟังธรรมแบบนั้นแล้วจะทำให้เข้าใจธรรมผิด และจำคำเหล่านั้น ไปปรามาสหรือจ้วงจาบพุทธศาสนิกชนกลุ่มอื่นต่อไป ก็เตือนสติเขาไป

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตา มีความเป็นมิตร การกระทำด้วยความเป็นมิตร จะได้ประโยชน์มาก เพราะว่าทำด้วยความหวังดี ถ้าบุคคลอื่นเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด และเราไม่เป็นมิตรกับเขา คือ ขณะนั้นไม่เป็นกุศลจิต เขาย่อมไม่รับฟังคำนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตา มีความหวังดีต่อบุคคลนั้นพร้อมที่จะเกื้อกูลด้วยประการทั้งปวง เขาย่อมทราบในความเป็นมิตร เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุผลหรือมีธรรมที่จะเตือนสติเขา เขาก็ย่อมรับฟัง และขณะนั้นจิตของเราก็เป็นเมตตา คือ เป็นมิตรกับบุคคลที่มีความเห็นผิด ไม่ใช่ว่าจะเป็นศัตรู เพราะว่าความเห็นผิดในขณะนั้นก็เป็นสภาพจิต ชั่วขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ไม่มีใครทั้งนั้นในขณะนั้น ถ้าอบรมเจริญขันติด้วยตนเองจะทำให้เป็นมิตรกับคนอื่น และทำทุกอย่าง เพื่อประโยชน์ โดยที่ในขณะนั้นไม่เกิดอกุศลจิต คือ ไม่ใช่ทำด้วยโทสะ

แต่เรื่องของโทสะก็ไม่ใช่จะหมดไปง่ายๆ เพราะฉะนั้น บางครั้งก็ต้องมี ความขุ่นใจ แต่ก็เริ่มเป็นผู้ที่มีความอดทนเพิ่มขึ้น และมีความเมตตามากขึ้น เพราะฉะนั้น ความขุ่นใจนั้นก็ชั่วขณะสั้นๆ เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง ไม่ได้มีมากจนกระทั่งเสียประโยชน์ เพราะว่าผู้ที่ไม่มีโทสะเลยต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่สติสัมปชัญญะจะทำให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล กุสลจึงจะสามารถเจริญขึ้นได้

ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดถึงเรื่องพระธรรมว่า มีพระคุณเพราะอบรมให้เรามีขันติสูงขึ้นไปๆ ขันติก็มีเป็นระดับขั้น อย่างที่อาจารย์พูดถึงจริยาปิฎกว่า กับคนนี้ทนได้ กับอีกคนหนึ่งทนไม่ได้ เช่น เด็กกว่าเรา หรือมีอะไรด้อยกว่าเรา จะมาติหรือมาพูด คงจะทนไม่ได้ แต่ถ้าคนนั้นเป็นผู้มีพระคุณ หรืออาวุโสกว่าก็พอทนได้ ผมคิดว่า ขันติในขั้นนี้คงต้องมีสติปัฏฐานเข้ามาช่วยด้วย

สุ. การที่สติปัฏฐานเจริญ ก็ทำให้สติสัมปชัญญะขั้นอื่นๆ เจริญตามด้วย และการที่สติสัมปชัญญะขั้นอื่นๆ เจริญขึ้น ก็เกื้อกูลต่อการที่สติปัฏฐานจะเจริญ เพราะว่าสติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาสามารถ รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ผู้ฟัง ก็ยังเป็นตัวตนอยู่

สุ. โดยอาศัยการฟังพระธรรมเพิ่มขึ้น พิจารณาเพิ่มขึ้น เพราะว่า ไม่ใช่การทำ ภาวนาไม่ใช่การทำ แต่เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ขึ้นกับปัญญา คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามระดับขั้นต่างๆ

ผู้ฟัง อย่างท่านขันติวาทีดาบส ในชาติที่พระเทวทัตเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็รังแกขันติวาที อย่างนั้นคงต้องมีสติปัฏฐานอย่างแรง เชือดจมูก ตัดแขน ตัดขา และท่านก็บอกว่า ขันติไม่ได้อยู่ที่แขน ที่ขา ที่จมูก แต่อยู่ที่ใจของเรา ปุถุชนอย่าง เราๆ คงจะบำเพ็ญไม่ได้ขนาดนั้น

สุ. ประโยชน์ของการทรงแสดงชาดกนี้ก็เพื่อเป็นตัวอย่าง ถ้าใครนึกจะ โกรธคนที่เบียดเบียน ก็ควรนึกถึงชาดกนี้

ผู้ฟัง บางทีก็ไม่ถึงขั้นโกรธ ขั้นน้อยใจก็เป็นโทสะเหมือนกัน เอาละ ต่อไปไม่โกรธ

สุ. ต้องทราบว่า ความโกรธ ความไม่พอใจนี้เพราะอะไร ถ้าเป็น ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็จะทำให้เกิดความดีใจ หรือเสียใจ แต่ถ้ามีความเป็นกลาง สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โดยเฉพาะจิตในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ถ้าโยนิโสมนสิการ ขณะนั้นก็เป็นกุศล

อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก อรรถกถาอกิตติจริยาที่ ๑ ข้อความ มีว่า

จริงอยู่ ศีล ท่านเรียกว่า ตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองอันเกิดแต่ทุจริต

เวลาที่ท่านได้ยินคำภาษาบาลี และบอกว่าไม่เข้าใจ ใช้คำบาลีมาก แต่ ความจริงแล้ว คำบาลีนั้นๆ แปลความหมายต่อไปด้วย อธิบายความหมายด้วย เช่น

จริงอยู่ ศีลท่านเรียกว่า ตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองอันเกิดแต่ทุจริต หรือเพราะอานุภาพแห่งเนกขัมบารมีและวิริยบารมี เพราะแม้บารมีเหล่านั้น ท่านก็เรียกว่าตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองคือตัณหา และความเกียจคร้าน

อนึ่ง บารมีเหล่านั้น พระโพธิสัตว์บำเพ็ญอย่างยอดเยี่ยมในอัตภาพนี้

อันที่จริงควรจะกล่าวว่า ขันติปารมิตานุภาเวน ด้วยอำนาจแห่งขันติบารมี เพราะขันติสังวรเข้าถึงความยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ขันตี ปรมัง ตโป ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง

เพราะถ้าปราศจากความอดกลั้น ความอดทน บารมีทั้งหลายจะดำเนินไปจนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้

. คำว่า อดทน ขันติ กับการตำหนิ เมื่อไรเราจะอดทนไม่ตำหนิ หรือเมื่อไรเราจะตำหนิด้วยความอดทน ตรงไหนจะเป็นตัวขีดคั่น ซึ่งท่านอาจารย์ก็บอกว่า เวลาประสบเคราะห์กรรมก็เพราะอกุศลกรรมที่ทำมาแล้ว ฉะนั้น แทนที่จะสงสารที่เขา ประสบเคราะห์กรรม ควรจะสงสารตอนที่เขาทำอกุศลมากกว่า ตรงนี้สงสัยว่า เวลาคนทำไม่ดี เราควรอดกลั้น อดทน และไม่ตำหนิ นอกจากจะสงสาร หรือ ควรตำหนิด้วยเมตตาจิต ไม่ได้โกรธ แต่ด้วยความปรารถนาดีเพื่อให้เขาเป็นคนดี และในครั้งที่พระพุทธเจ้าตำหนิพระเทวทัตต่อหน้าธารกำนัล เป็นการข่มคนที่ควรข่ม แต่ก็เชื่อว่าพระพุทธเจ้ารู้ว่าคงไม่บังเกิดผล เพราะเขาต้องตกนรกแน่นอน ถ้าเช่นนั้นทำไมต้องตำหนิ ตำหนิแล้วก็ไม่เกิดผลด้วย สงสัยว่า จะอดทนอดกลั้น ไม่ตำหนิ หรือควรจะตำหนิ เมื่อไรควร เมื่อไรไม่ควร ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

สุ. สิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงกระทำ นี่แน่นอนที่สุด เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ฉลาด จะพิจารณาถึงประโยชน์ก่อน ก่อนที่จะกระทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องทราบว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ไหม

ในชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกคนยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้วต้องมีแน่นอน เพราะฉะนั้น เวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำผิด ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตทันทีในขณะนั้นว่า เป็น ความขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่น นี่เป็นของธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส แต่ในขณะที่สติระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่ขุ่นเคือง ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมของปัญญา ที่จะพิจารณาเห็นว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลที่ไม่ควรที่จะสะสม แต่ถ้าสติสัมปชัญญะ ไม่เร็ว ไม่ทัน ความขุ่นเคืองใจนั้นจะเพิ่มมากขึ้น แล้วแต่ว่าจะมีกำลังถึงขั้นที่จะ แสดงกาย วาจาอย่างไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีการระลึกได้ และพิจารณาประโยชน์ว่า แม้บุคคลนั้นทำสิ่งที่ไม่ควร แต่ควรจะช่วยบุคคลนั้นให้ทำในสิ่งที่ควรได้ไหม ถ้าช่วยได้ก็ควรที่จะช่วย โดยอาจจะชี้แจงการกระทำนั้นว่าไม่ควรอย่างไรๆ และควรที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขความประพฤติอย่างไรด้วยเมตตาจิต ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย แต่ในขณะใดก็ตามที่จะพูดคำใด ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดสามารถรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นได้ว่า เป็นไปด้วยโทสะ หรือเป็นไปด้วยเมตตา

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาย่อมเห็นประโยชน์ของตนเองว่า ควรที่จะมีเมตตา หรือควรที่จะมีโทสะ ไม่ควรให้บุคคลอื่นมาทำให้อกุศลของตนเองเจริญ ถ้าเป็นการ ทำไม่ดีของคนอื่น ควรให้เป็นการเพิ่มขันติบารมีของตนเองจะดีกว่า

เปิด  269
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565