แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1911

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓


มีท่านผู้ฟังที่อยากทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับรัชชุมาลาหรือพระสาวกอื่นๆ อย่างไรบ้างท่านเหล่านั้นจึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เมื่อ จบเทศนา ดูเหมือนกับว่าถ้าได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับ ท่านเหล่านั้นแล้ว ท่านก็อาจจะบรรลุบ้าง โดยที่ไม่ได้คิดถึงเหตุเลย แต่ขอให้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม คำนี้คำเดียว ท่านผู้ฟังสามารถที่จะรู้ธรรมจริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าผู้ฟังที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องของธรรม แต่เป็นผู้ที่รู้ธรรมในขณะที่พระผู้มีพระภาคกำลังทรงแสดงเรื่องธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าที่จะสงสัยเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมอะไรผู้ฟังจึงได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เป็นเรื่องของเหตุที่ว่าผู้ที่ฟังมีเหตุคือมีความรู้ในธรรมพร้อมที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และสามารถประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในขณะที่กำลังฟังพระธรรมเทศนานั้น

เพราะฉะนั้น ทุกชาติที่ทุกท่านฟังพระธรรม ก็เพื่อรู้ธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าท่านรู้ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง จะไม่มีความสงสัยใดๆ เลยทั้งสิ้นว่า ทำไมบุคคลนั้นเมื่อได้ฟัง พระธรรมเทศนาจบลงจึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่รู้ธรรมทั้งหมด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

บางท่านก็สงสัยว่า ท่านวิสาขามิคารมารดาศึกษาพระอภิธรรมหรือเปล่า หรือรู้พระอภิธรรมหรือเปล่า นี่ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ถ้าเข้าใจว่าพระอภิธรรมคืออะไร จะไม่สงสัยเลยสำหรับท่านวิสาขามิคารมารดาที่ท่านเป็นพระอริยบุคคลแล้ว เพราะว่าในสมัยนี้ทุกท่านศึกษาพระอภิธรรมโดยตำรา แต่บุคคลในครั้งโน้นถ้าใช้คำว่า ศึกษา ก็หมายความว่า พิจารณาพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้น การศึกษาของบุคคลในครั้งนั้น ศึกษาพระอภิธรรมที่กำลังปรากฏโดยฟังพระธรรมเทศนา และสามารถรู้ลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง

สำหรับบุคคลในครั้งนี้ เมื่อศึกษาพระอภิธรรมเป็นปริจเฉทต่างๆ หรือตามคัมภีร์ของพระอภิธรรม ก็สงสัยว่าท่านวิสาขามิคารมารดาท่านได้ศึกษาอย่างคน ในสมัยนี้หรือเปล่า แต่ตามความเป็นจริงขอให้พิจารณาว่า การศึกษาจริงๆ คือ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาศัยการฟัง หรือการอ่าน หรือการตรึกพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะเข้าใจ และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจึงจะรู้ด้วยตัวเองว่า ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ซึ่งนี่คือประโยชน์ และคือการศึกษาที่แท้จริง ไม่ใช่ศึกษาเพียงเรื่องตามหนังสือเท่านั้น

, อาจารย์บอกว่า ผู้ที่จะได้บาตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ต้องเป็นภพสุดท้าย แต่สำหรับท่านปุกกุสาติไม่ใช่ภพสุดท้าย เพราะท่านต้องอุบัติเป็นรูปพรหมอีก และเมื่อท่านอุบัติเป็นรูปพรหมในชั้นอวิหา ท่านก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แสดงว่าขณะนี้ท่านยังมีชีวิตอยู่ พรหมที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ไม่ต้องอุปสมบท ใช่ไหม

สุ. ไม่ต้อง การบวชเป็นพระภิกษุมีเฉพาะแต่ในมนุษยโลกเท่านั้น

. อย่างนั้นพรหมที่เป็นพระอรหันต์ก็ยังมีอยู่มาก

สุ. มี

. ที่ท่านอาจารย์พูดถึงท่านปุกกุสาติ ผมก็นึกถึงท่านพระพาหิยทารุจีริยะ ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ยืนฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ไม่ได้บริขารที่สำเร็จด้วยฤทธิ์เหมือนกัน ต้องไปแสวงหา และถูกวัวชนตายอีกเหมือนกัน แสดงว่า ท่านคงไม่มีปุพพาธิการที่ได้ทำไว้

สุ. เพราะถึงกาลที่ท่านจะสิ้นชีวิต

. เรื่องเจริญสติปัฏฐาน บุคคลที่เกิดมาด้วยทวิเหตุกปฏิสนธิ เกิดด้วย เหตุ ๒ สามารถเจริญวิปัสสนาถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ คือ ขั้นที่ ๑ ได้ไหม

สุ. สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิเป็นติเหตุกะ หลายท่านไม่ได้ฟังพระธรรม หรือไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจพระธรรมจนกระทั่งสามารถอบรมเจริญปัญญาได้ถึงขั้น นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็นทวิเหตุกบุคคลย่อมยากกว่าแน่นอน และกล่าวไว้ชัดเจนว่า ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้น

สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิที่เป็นติเหตุกบุคคล มีความสนใจในพระธรรม มีความเข้าใจพระธรรม บางครั้งสติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่แม้กระนั้น ในชาตินั้นก็ยังไม่อาจที่จะบรรลุถึงนามรูปปริจเฉทญาณก็ได้ เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะไปคิดถึงทวิเหตุกบุคคล

. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานได้นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณที่ ๑ แล้ว จะหยุด อยู่แค่นั้น หรือมีการพัฒนาไปตลอดถึงโสตาปัตติมรรคจิต

สุ. เมื่อไร

. ขณะที่ได้นามรูปปริจเฉทญาณ

สุ. มิได้ หมายความว่าที่จะบรรลุถึงโสตาปัตติมรรคจิต เมื่อไร

. เมื่อถึงขั้นที่ ๑ แล้ว ก็ย่อมไปถึงขั้นที่ ๑๖ หรือว่า

สุ. เมื่อไร

. ไม่ทราบเหมือนกัน

สุ. แล้วแต่เหตุ ขึ้นอยู่กับเหตุ แล้วแต่การที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย ทุกอย่างต้องขึ้นกับเหตุ ผลทั้งหลายย่อมไหลมาจากเหตุ

. ขอถามถึงอริยุปวาทกรรม อย่างเช่นการแสดงธรรมหรือพูดธรรมบิดเบือนธรรมของพระพุทธเจ้า บางทีก็กล่าวตู่พระพุทธเจ้า กล่าวบิดเบือนพระธรรม กล่าวติเตียนพระอริยสงฆ์ ต่อมาภายหลังผู้นั้นระลึกได้ว่าทำผิด และขอขมาต่อ พระรัตนตรัยด้วยบทที่มักนิยมกระทำกันตอนไหว้พระสวดมนต์ กาเยน วาจาย… ซึ่งหมายความว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอันน่าเกลียดที่ข้าพเจ้าละเมิดต่อ พระรัตนตรัย ขอพระรัตนตรัยจงงดโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไป อย่างนี้จะพ้น ได้ไหม

สุ. พ้นอะไร

. พ้นจากอริยุปวาทกรรม ซึ่งเป็นเครื่องกั้นไม่ให้บรรลุ

สุ. มีการระลึกได้ และมีการขอขมาโทษ ก็พ้น

. ทุจริต ๔๐ ล่วงกรรมบถ สามารถนำปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ใช่ไหม อย่างการฆ่าสัตว์ ชักชวนในการฆ่าสัตว์ สรรเสริญในการฆ่าสัตว์ ยินดีพอใจในการ ฆ่าสัตว์เป็นต้น ถ้าไม่ครบทั้ง ๔ อย่าง อาจจะยินดีพอใจอย่างเดียว หรือสรรเสริญ อย่างเดียว หรือชักชวนอย่างเดียว ก็เป็นอกุศลกรรมบถส่งผลปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ใช่ไหม

สุ. สำหรับอกุศลกรรมที่ครบองค์ จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ

. สรรเสริญอย่างเดียวก็ไม่ครบองค์ ใช่ไหม แต่ความหนักเบาก็คงจะต่างกัน

สุ. วิธีที่จะรู้ว่าครบองค์ หรือไม่ครบองค์ ก็มีองค์ของอกุศลกรรมบถทุกอันอยู่แล้วว่า ปาณาติบาตมีองค์เท่าไร เพราะฉะนั้น ถ้าครบองค์ของปาณาติบาต ก็เป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์

. ทุจริต ๑๘ อย่างเห็นรูป ยินดีพอใจเป็นมโนทุจริต กล่าววาจา สรรเสริญรูปนั้นเป็นวจีทุจริต เราอาจมีการเคลื่อนไหวกายในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับรูปนั้นก็เป็นกายทุจริต ความหนักเบา …

สุ. ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ

. แต่ชื่อว่าทุจริต

สุ. เพราะเป็นอกุศล

. อาจารย์เคยบอกว่า พระโสดาบันมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้ามีเหตุอะไร พระโสดาบันจะยอมสิ้นชีวิตเพื่อรักษาศีล ๕ อย่างนั้นหรือ

สุ. ท่านไม่มีเจตนาที่จะล่วงศีล ๕ เลย

. แต่ถ้ามีเหตุอะไรอย่างนี้

สุ. ท่านไม่มีเจตนาที่จะล่วงศีล ๕ เลย ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น

. มิจฉาสมาธิ ที่สามารถทำให้เกิดปีติในปีติ ๕ นั้น สามารถทำให้เกิด ปีติได้ถึงขนาดไหน เพราะบางทีเขาเห็นอาจารย์ต่างๆ ทำสมาธิเกิดลอยได้ ขั้นอุเพงคาปีติ เขาก็คิดว่าไปในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอถามว่า มิจฉาสมาธิ มีอานุภาพที่จะให้เกิดปีติถึงระดับไหน

สุ. ไม่ถึงระดับรูปาวจร

. หมายความว่า อุเพงคาปีติก็เกิดได้

สุ. ที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีกล่าวไว้ชัดเจนในเรื่องของอกุศล เพราะที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องของการอบรมเจริญสัมมาสมาธิ แต่ทรงแสดงเรื่องลักษณะของมิจฉาสมาธิและมิจฉามรรคเพื่อให้มีการพิจารณาเปรียบเทียบ เพื่อเตือนตัวเองว่า ขณะนั้นเป็นมิจฉามรรค หรือเป็นสัมมามรรค และที่เห็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดลอยได้ เห็นเอง หรือว่าฟังมา

. เขาลือต่อๆ กันมา

สุ. เรื่องต่อๆ กันมา ไม่น่าจะพิจารณาเลย

. ผมเป็นคนฟัง อยากจะให้เหตุผลเขาว่า ถูกหรือไม่ถูก

สุ. ถ้าจะให้เหตุผลเรื่องถูกหรือไม่ถูก คงไม่ต้องถึงกับปีติ เพียงแต่การเริ่มปฏิบัติก็สามารถทราบได้ว่า ผลของการปฏิบัตินั้นจะนำไปสู่อะไร เพราะถ้าปฏิบัติถูก ก็นำไปสู่ความเห็นถูกเพิ่มขึ้น แต่ถ้าปฏิบัติผิดด้วยความไม่รู้ ก็นำไปสู่ความไม่รู้ยิ่งขึ้น มีแต่ความไม่รู้ทั้งหมด

. เขาบอกว่า ปีติที่เขาเกิด สมาธิที่เขาเกิด เขาติดอกติดใจมาก มีโอกาสเมื่อไรเขาจะไปอีก ผมว่านั่นเป็นลักษณะของอุปาทาน ปีติเจตสิกเกิดกับ โลภโสมนัสก็ได้ เกิดกับทิฏฐิคตสัมปยุตตจิตก็ได้ เป็นลักษณะของอุปาทาน แต่ ยังสงสัยว่า กุศลจะเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลหรือเปล่า อาจจะเป็นกุศลสมาธิ เป็นปัจจัยให้เขาเกิดอกุศลอุปาทานยึดมั่น

สุ. เป็นได้ แน่นอน แต่ในขณะนั้นเวลาที่สมาธิจะเกิด ต้องศึกษาโดยละเอียดว่า ขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ

. อย่างนี้เราก็ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้มาก สามารถศึกษาสังเกตรู้ลักษณะของมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิว่าเป็นอย่างไร

สุ. แน่นอน พุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ให้เกิดความไม่รู้ ยิ่งศึกษาก็ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้น จึงจะเป็นพระพุทธศาสนา คือ เป็นคำสอนของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

บางท่านก็กล่าวว่า ควรจะแสดงธรรมทั่วๆ ไปกับคนสมัยนี้ เพราะว่า พระผู้พระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมกับผู้ที่จะ บรรลุอริยสัจจธรรม ในยุคนี้สมัยนี้ก็ควรแสดงเพียงธรรมเรื่องของชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทุกท่านก่อนที่จะเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาครบถ้วนแล้ว บริบูรณ์แล้ว ก็ต้องมีการที่กำลังอบรมเจริญทุกคน เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ก็เป็นขณะที่กำลังอบรมเจริญบารมีจนกว่าบารมีนั้นจะถึงความสมบูรณ์ที่จะทำให้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ มิฉะนั้นแล้วจะอบรมเจริญบารมีกันเมื่อไร ถ้าไม่ได้มีการฟัง เรื่องของอริยสัจจธรรม เรื่องของอบรมเจริญปัญญาเสียเลย ใช่ไหม

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมต้องเป็นจิรกาลภาวนา เป็นการอบรมเจริญโดยระยะเวลาที่ยาวนานมากจริงๆ เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงการ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ทุกชาติที่ยังไม่ได้บรรลุ ก็เป็นชาติที่กำลังอบรมเจริญบารมีเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จึงควรที่จะศึกษาให้เข้าใจเรื่องของบารมี หรือเรื่องของการที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย

ผู้ฟัง ความจริงการศึกษา อย่างที่ท่านอาจารย์พูด ผมรู้สึกซาบซึ้งจริงๆ คือ อย่างที่เราศึกษาอยู่ปัจจุบันนี้ ศึกษาเท่าไรก็ยิ่งโง่ เพราะศึกษาเพื่ออยากจำได้ เท่านั้นเอง ไม่ได้ศึกษาเพื่อให้เข้าใจสภาวะ ผมสังเกตดูตัวกระผมเอง เวลาสนใจอยากจะอ่านตำรา อ่านไปเป็นอาทิตย์ ก็รู้สึกว่ายังมืด สติไม่ค่อยเกิด ไม่เหมือนกับ ที่ฟังเทป ฟังอาจารย์บรรยาย ต่างกันมาก แสดงว่าการศึกษาไม่ตรงจุดหรืออย่างไร ไม่ทราบ เพราะเรามุ่งศึกษาเรื่องราวมากกว่าที่จะศึกษาสภาวะ เพราะฉะนั้น การศึกษาของเราก็เป็นการศึกษาตำรา ไม่ได้ศึกษาธรรมจริงๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน รู้สึกว่ายิ่งศึกษามากเท่าไรก็มีแต่ทิฏฐิมานะมากขึ้น เป็นการศึกษาที่ ยังไม่ตรงประเด็น

สุ. ท่านผู้ฟังฟังพระธรรมเพื่อจะเตือนสติให้รู้ว่า จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมคืออะไร เป็นของธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น เวลาใดที่กิเลสประเภทใดเกิดขึ้นก็จะเป็นไปตามกิเลสนั้น แต่พระธรรมที่ได้ทรงแสดงจะเตือน ให้รู้ว่า การศึกษาพระธรรมนั้นเพื่อประโยชน์อะไร จะได้กลับมาสู่จุดประสงค์ที่ถูกต้อง

. บางท่านที่มีปุพพาธิการที่บำเพ็ญมาแล้ว ท่านได้ยินเพียงพุทโธคำเดียว ท่านก็เข้าใจสภาวธรรม เราได้ยิน สวดแล้วสวดอีก ท่องแล้วท่องอีก ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่ ก็ยังไม่เข้าใจพระธรรม เป็นความบกพร่องของการศึกษาที่ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์หรือเปล่า

สุ. ขณะนี้เข้าใจแล้ว ใช่ไหม

. ขณะนี้พอจะเข้าใจบ้าง แต่ส่วนใหญ่เวลาเร่งจะศึกษาเพื่อเข้าใจธรรม หัวข้อต่างๆ มากมาย กลับไปยึดติดในเรื่องราวธรรม สติไม่ค่อยจะเกิด

สุ. เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กว่าสติสัมปชัญญะจะระลึกทั่วทั้ง ๖ ทวาร คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ได้เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ไปเป็นคนอื่น แต่ใครก็ตามมีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไรในขณะนั้น สติปัฏฐานจะระลึกเพื่อรู้แล้วละว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นจิรกาลภาวนาจริงๆ ที่จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ ละไป

ผู้ฟัง จิรกาลภาวนา อาจารย์พูดหลายๆ ครั้ง บ่อยๆ ก็ยังไม่เป็นกาลที่ ยาวไปได้ อย่างที่คุณนิภัทรพูด ผมเห็นด้วย อ่านก็เพื่อจำเท่านั้นเอง เวลาใครถาม ตอบไม่ได้ ก็กลับไปอ่านใหม่อีก เพื่อจำมาตอบเขาเท่านั้น ไม่ได้นำมาใช้ในลักษณะของธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน อย่างที่ฟังจากอาจารย์ ถ้าเสียงของอาจารย์ ออกทางวิทยุ พูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมบ้าง อย่างนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติระลึก แต่ถ้าไปนั่งอ่านเองแล้ว ๒ วัน ๓ วัน ก็อยู่ในนั้น ไม่ค่อยระลึก ไม่เคยเลยที่ว่าจับพระธรรมขึ้นมาแล้วสติระลึกรู้ รู้สึกว่า ยังไม่ได้เรื่องได้ราว

สุ. ก็เหมาะสมกับขันติบารมี คือ จะต้องอดทน มีทางเดียวเท่านั้น คือ อดทนที่จะศึกษา ที่จะเข้าใจ ที่จะรู้ว่าเป็นเรื่องรู้แล้วละ ขณะใดที่ไม่ใช่รู้แล้วละ ขณะนั้นก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

เปิด  254
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565