แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1912

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓


ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดถึงธาตุวิภังคสูตรเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว สนใจกลับไปค้นดู เนื่องจากอาจารย์ไม่ได้อ่านทั้งหมดเพราะยาวมาก อยากรู้ว่า พระพุทธองค์ตรัส อย่างไรพระเจ้าปุกกุสาติจึงไม่ต้องถามอีก รีบกราบเลยว่า นี่คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ผมไปอ่านเองแล้ว ไม่ได้ซาบซึ้งว่าเราจะกราบพระพุทธองค์เหมือนอย่างที่ พระเจ้าปุกกุสาติท่านกระทำเลย เพราะข้อความในธาตุวิภังค์นั้นคือการจำแนก ธาตุนั่นเอง พระพุทธองค์เริ่มด้วย ๖ ธาตุ มีมหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ แบบนี้ฟังมาแยะแล้ว อย่างไรๆ ก็ไม่มีทางซึ้งหรือ เห็นได้เลย อ่านอีกก็เท่านั้น และมีเรื่อง ๑๘ เอา ๓ เข้าไปคูณ เรื่องเห็นแล้วก็สุข ทุกข์ เฉยๆ อ่านแล้วก็ยังไม่ไปไหน แต่ก็ไม่ท้อ

สุ. ต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะในขณะที่ฟัง เห็นไหม การฟัง ก็ฟังเรื่องด้วยสติ เป็นกามาวจรกุศล เป็นมหากุศล และพิจารณาเข้าใจ นั่นเป็นสติขั้นหนึ่ง แต่ถ้าฟังด้วยสติสัมปชัญญะ คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่ฟัง ซึ่งมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ

อย่างเรื่องของธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ขณะนี้ทั้งนั้นเลย วิญญาณธาตุเป็นสภาพรู้ ขณะที่กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง สติสัมปชัญญะระลึกที่ลักษณะของสภาพรู้ เมื่อเป็นธรรมชนิดหนึ่ง จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และขณะที่กำลังรู้แข็ง สิ่งอื่นไม่ได้ปรากฏเลย

เมื่อรู้ว่าชีวิตของแต่ละบุคคลดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว และขณะจิตหนึ่ง ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จะให้เป็นกุศล หรือจะให้หลงลืมสติ เพียงเท่านี้ก็จะเป็นเครื่องเตือน เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนาทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฎก เพื่อเตือนทุกแง่มุม ไม่ว่าจะในเรื่องของความประพฤติขัดเกลาที่เป็นพระวินัยบัญญัติ หรือเรื่องในพระสูตร เหตุการณ์ ต่างๆ ซึ่งเกิดในครั้งอดีตกาล และยังเนิ่นนานไปถึงพระชาติต่างๆ ขณะที่ทรงบำเพ็ญ พระบารมี จนถึงเหตุการณ์ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงธรรม ขณะที่ ยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน และแม้เหตุการณ์ภายหลังนั้นก็เป็นเครื่องเตือน ให้แต่ละบุคคลได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งกำลังปรากฏกับแต่ละบุคคล

เรื่องของสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐาน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะว่าฟังแล้วเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจมากหรือเข้าใจนิดหน่อย หรือฟังเท่าไรก็ยังเหมือนเดิม ก็เพราะสติมีหลายขั้น และถ้าเป็นสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน สภาพธรรม ก็ปรากฏตามความเป็นจริงกับผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาพร้อมที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมในขณะนั้น

การอบรมเจริญปัญญาเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปได้ และท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญาสำเร็จแล้ว ก็มีตั้งแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ จนกระทั่งถึงพระองค์นี้ จนกระทั่งถึงพระสาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น แต่ละท่านซึ่งมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ต้องมีความอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

ใจร้อนไม่ได้เลย ใช่ไหม ที่ว่าอยากจะศึกษาก็รีบร้อนศึกษา และ ในขณะนั้นก็ไม่ได้มีสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะอยากจะรู้คำตอบ ในหนังสือที่ค้นคว้ากัน ก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นกาลที่สติปัฏฐานไม่เกิด จนกว่ามีปัจจัย ที่สติปัฏฐานจะเกิด เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ระลึกได้ขณะใด ก็ศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

. พระอริยะขั้นโสดาบัน ท่านมีสติหรือสติปัฏฐานตลอด หรือมีบางครั้งบางคราว หรือท่านจำเป็นต้องฝึกอย่างมาก

สุ. ต้องศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียดจึงจะทราบว่า ขณะที่เป็นภวังคจิต สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ภวังคจิตนั้นต้องเป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นญาณสัมปยุตต์ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ขณะที่กำลังนอนหลับสนิท แม้มีสติเจตสิกเกิดกับวิบากจิต ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ผ่านไป

เวลาที่เป็นวิถีจิตแต่ละทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้ทางใจที่จะระลึกถึงเรื่องราวต่างๆ ขณะที่กำลังเห็นเป็นจักขุทวารวิถีจิต นอกจาก ชวนจิตแล้วไม่มีสติเกิดร่วมด้วย แม้ตทาลัมพนจิตหลังจากที่ชวนจิตดับไปแล้ว มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็เป็นชาติวิบาก เพราะฉะนั้น ขณะที่ตทาลัมพนจิตกำลัง รู้อารมณ์ โดยชาติวิบากก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวันที่ย่อยละเอียดจนกระทั่งถึงขณะจิตที่เกิดและดับอย่างรวดเร็วมาก ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง จะไม่มีใครสามารถรู้ลักษณะของจิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานในขณะนั้นได้เลยว่า จิตนั้นประกอบด้วยเจตสิกเท่าไรเป็นต้น

แม้พระอรหันต์ ภวังคจิตของท่านก็เป็นวิบากจิต เป็นญาณสัมปยุตต์ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เวลาที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด จักขุวิญญาณเกิด สัมปฏิจฉันนจิตเกิด สันตีรณจิตเกิด โวฏฐัพพนจิตเกิด ก็ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และพระอริยบุคคล ที่เป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันบุคคลก็ยังมีโลภมูลจิต พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีโทสมูลจิต มีมหากุศลจิต เพียงแต่ไม่มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ท่านก็ต้องมีกาลที่โลภะมีปัจจัยจะเกิด โทสะมีปัจจัยจะเกิด แต่กิเลส เช่น มัจฉริยเจตสิกไม่เกิด อิสสาเจตสิกไม่เกิด วิจิกิจฉาเจตสิกไม่เกิด เพราะดับเป็นสมุจเฉท ซึ่งก็จะต้องศึกษาต่อไป

. ที่บอกว่า ทำบุญไม่ประกอบด้วยปัญญา ทำบุญประกอบด้วยโลภะ ที่ว่าหวังนิพพาน หวังสวรรค์ แต่พระผู้มีพระภาคหวังพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จะอธิบายให้คนอื่นฟังอย่างไร

สุ. ขอทบทวนอีกที ไม่ทราบถูกต้องไหมที่ว่า ทำบุญด้วยความหวังกับการที่พระผู้มีพระภาคทรงหวังการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ต่างกันอย่างไร

ทุกท่านยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังยินดีพอใจในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สักการะ เพราะฉะนั้น ท่านที่มีความติด มีความพอใจในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ในสักการะ ก็พยายามทำทุกทางเพื่อให้ได้ลาภ ที่ทุกคนมีชีวิตอยู่ทุกวัน และทำกิจการงานต่างๆ ทำเพื่ออะไร ทำไมทุกคนต้องขวนขวายทำกิจการงานด้วยความเหนื่อยยาก ก็เพื่อที่จะได้ลาภ คือ รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง

บางคนแม้จะไม่มีความยึดมั่นในลาภเหล่านี้ ไม่เป็นผู้ติดในทรัพย์สมบัติ แต่ก็ยังอยากได้คำสรรเสริญ คำชมเชยก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น บางคนเพียงแต่จะ ทำอะไรก็ตาม และมีคนชมว่าเก่งมาก ไม่ได้ให้ทรัพย์สินเงินทองอะไรเลย แต่ก็เป็นที่แสวงหาแล้วในสักการะ หรือในสรรเสริญนั้น

จะเห็นได้ว่า อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้โดยอุปนิสสยปัจจัยตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว สภาพธรรมที่มีจริงๆ ทั้งจิตก็ดี เจตสิกก็ดี รูปก็ดี เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน เมื่อมีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นก็เป็นปัจจัยโดยนัยหนึ่งนัยใด หรือโดยเป็นปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดทำให้สภาพธรรมอื่นเกิด เช่น ความพอใจในลาภก็ดี ในยศก็ดี ในสรรเสริญก็ดี เป็นปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง

คำว่า อุปนิสสยปัจจัย นิสสยะ หมายความถึงที่อาศัย อุปะ แปลว่า มีกำลัง เพราะฉะนั้น โลภเจตสิก ความยินดีติดข้องในลาภบ้าง ยศบ้าง สรรเสริญบ้าง สุขบ้าง เป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้มีการขวนขวายทำกิจการงานต่างๆ ทั้งที่ เป็นอกุศลและที่เป็นกุศลเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ อย่างท่านที่อยากจะทำทานหรือทำบุญกุศลด้วยความปรารถนาสวรรค์บ้าง หรือปรารถนาทรัพย์สมบัติ ความเป็นเศรษฐีมั่งมีเงินทองต่างๆ ขณะนั้นจะไม่ทราบเลยว่าเพราะอะไรจึงทำ แต่ตาม ความเป็นจริงแล้ว เพราะความต้องการในลาภในยศนั่นเองที่ทำให้กระทำทานกุศลนั้น นี่คือคำตอบที่ว่า การทำบุญด้วยความหวัง ความติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ สุขนั้นคืออย่างนี้

แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของโลภะ รู้ว่าโลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ไม่สามารถทำให้สละ ละจากสิ่งที่เคยยึดมั่นได้ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งปวง ถ้าค่อยๆ พิจารณาและเห็นโทษของโลภะ ขณะที่ทำบุญกุศลจะเลิกคิดหรือเลิกถามว่า จะได้บุญไหม หรือบางคนก็ถามว่า จะได้บุญมากไหม

ใครก็ตามที่ทำสิ่งที่ดีด้วยความคิดว่า ทำอย่างนี้จะได้บุญไหม หรือทำอย่างนี้จะได้บุญมากไหม ก็หมายความว่าผู้นั้นยังทำด้วยความหวังว่าจะได้รับผลตอบแทน คือผลของบุญ และมีการวัดด้วยจากการกระทำความดีนั้นว่า ถ้าทำอย่างนี้ แบบนี้ จะได้บุญมาก หรือทำอีกแบบหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง จะได้บุญมากกว่า

แสดงให้เห็นถึงการติดในผลซึ่งเกิดจากการทำกุศลนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ การทำเพื่อขัดเกลาและเห็นโทษของโลภะ ผู้ที่ยังถามว่า ทำอย่างนี้ได้บุญไหม แสดงถึงความไม่เข้าใจว่า บุญคืออะไร

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้ความรู้ความเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างตรงตามเหตุตามผล ไม่ทำให้ผู้ที่ศึกษาเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน แต่ผู้ใดที่ไม่ศึกษาจะเข้าใจคำที่ใช้ในพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อน เช่น คำว่า บุญ คิดว่าเป็นเรื่องของวัตถุสิ่งของ ถ้าให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากๆ ก็เข้าใจว่า ขณะนั้นได้บุญมาก โดยที่ไม่ทราบเลยว่า แท้ที่จริงแล้วบุญไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่สภาพจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้น ซึ่งปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ปราศจากอกุศล

เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาสามารถรู้จิตใจของตนเองได้ว่า ในขณะที่ทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ในขณะนั้นไม่ได้มุ่งหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน ไม่ต้องมานั่งคิดนั่งชั่งว่า บุญนี้จะมากหรือจะน้อย จะเป็นบุญหรือไม่ใช่บุญ แต่สิ่งใดก็ตามที่เป็นประโยชน์ และมีจิตที่ดีงามเป็นกุศลเกิดขึ้นสามารถกระทำสิ่งนั้นๆ โดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใด และ ยังรู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นการกระทำที่ดีที่ควร อย่างเช่นรู้ว่าการฆ่า การเบียดเบียน การประทุษร้ายเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศล ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง ไม่ใช่ รู้ผิดหรือเข้าใจผิด สามารถรู้อกุศลว่าเป็นอกุศล และรู้ว่ากุศลเป็นกุศล แต่ไม่ควร จะชั่งหรือมุ่งหวังที่จะได้รับผลของบุญ เพราะขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นการติดข้องใน ผลของบุญนั่นเอง

และสำหรับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วยพระญาณต่างๆ ที่สามารถเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วยการ ทรงแสดงธรรมให้ผู้ฟังสามารถประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งดับกิเลสได้หมดสิ้นเช่นเดียวกับพระองค์ เพราะฉะนั้น การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำกุศลด้วยปัญญา รู้ว่าสิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นอกุศล คิดที่จะละ ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำบุญกุศลด้วยความหวังที่เป็นโลภะ

. ในหนังสือบางเล่มที่พระท่านเขียนไว้บอกว่า ทุกคนเกิดมาต้องเดินทาง ในที่สุดจะต้องถึงนิพพาน นี่ข้อ ๑ และการทำให้หลุดพ้นในทางลัดก็มีทางสติปัฏฐาน เป็นข้อ ๒ และอีกทางหนึ่ง ข้อที่ ๓ คือ การทำใจเวลาใกล้จะดับจิต ทำจิตให้ว่าง ทำให้หลุดพ้นได้ง่ายๆ และที่เราเข้าสมาธิจนสามารถเอาพระเข้าไปในกายก็บอกว่า เป็นองค์มรรค ขยายไป ขยายมา ก็เป็นทางหลุดพ้นอันหนึ่ง อยากทราบว่า ในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้บ้างหรือเปล่า

สุ. ขอเรียนให้ทราบว่า ทั้ง ๓ ข้อนั้นเลื่อนลอย คือ ไม่มีทางทำให้เข้าใจ ในเหตุผลอย่างชัดเจน เช่น ข้อที่ ๑ ที่ว่าทุกคนที่เกิดมาต้องเดินทางไปสู่พระนิพพาน ง่ายแสนง่าย ไม่ต้องทำอะไรเลยสักคนเดียว เพราะในที่สุดทุกคนก็จะถึง ใช่ไหม ไม่ต้องทำอะไร ได้รับผลเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น เป็นการขัดต่อหลักของเหตุ และผล คือ เรื่องของกรรมและผลของกรรม คือ กุศลกรรมจะเป็นปัจจัยให้เกิด กุศลวิบาก กุศลกรรมที่เป็นกามาวจร เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะทำให้เกิดผล คือ กามาวจรวิบาก ได้รับผลที่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

เพียงเท่านี้ ตรงหรือไม่ตรง หรือใครก็ตามที่เกิดมาก็จะถึงนิพพาน ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็หมายความว่า ใครก็ตามที่เกิดมาก็จะได้รับกุศลวิบากโดยไม่ต้องมีเหตุ เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผลเลย แต่ถ้าตรงตามเหตุผล คือ อกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิด กุศลกรรมเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตเกิดตามขั้น คือ ถ้าเป็นกามาวจรกุศลก็ทำให้กามาวจรกุศลวิบากเกิด เห็นสิ่งที่ดีทางตา ได้ยินเสียงที่ดีทางหู ได้กลิ่นที่ดีทางจมูก ได้ลิ้มรสที่ดีทางลิ้น ได้กระทบโผฏฐัพพะที่ดีทางกาย นั่นเป็นผลของกามาวจรกุศล ถ้าระดับขั้นที่สูงกว่านั้น คือ รูปาวจรกุศล ก็เป็นปัจจัยให้ รูปาวจรวิบากเกิด ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ ไม่ใช่ว่าไม่มีเหตุ เป็นไปตามขั้นของกรรมนั้นๆ ถ้าเป็นอรูปาวจรกุศล ก็เป็นปัจจัยให้อรูปาวจรวิบากจิตปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ ไม่ใช่ไม่มีเหตุอีกเหมือนกัน และสำหรับโลกุตตรกุศลก็เป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากจิตเกิด ไม่ใช่ไม่มีเหตุเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าใครก็ตามเมื่อเกิดมาแล้วก็จะถึงนิพพาน คือ รู้แจ้งนิพพาน โลกุตตรกุศล คือมรรคจิตเกิด หรือโลกุตตรวิบากคือผลจิตเกิด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวว่า ทุกคนที่เกิดมาแล้วในที่สุดจะไปถึง พระนิพพานทั้งนั้น

. ความคิดอย่างนี้ในสมัยพุทธกาลผมก็เคยศึกษามา เหมือนกับพวกเดียรถีย์ที่เป็นลัทธินอกพระพุทธศาสนาเขาเปรียบอุปมาว่า เหมือนกับม้วนด้ายที่ ขว้างไป คลี่ไปสุดก็นิพพาน ความคิดเห็นอย่างนี้เป็นความคิดเห็นนอกพระพุทธศาสนา ผมพิจารณาเรื่องอุปนิสสยปัจจัยที่อาจารย์บรรยายว่า บุคคลได้สะสมกุศลอกุศลไว้อย่างไรก็จะเป็นปัจจัยให้กุศลอกุศลนั้นๆ เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาถึงตัวที่จะเปลี่ยนแปลงจากชั่วเป็นดีก็ได้แก่ วิริยะ ความเพียร แต่ยังไม่กระจ่าง ขอคำอธิบาย

สุ. วิริยเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ไม่ได้มีแต่เพียรในเรื่องของกุศล แต่เพียรในเรื่องของอกุศลมากกว่ามากตั้งแต่ ลืมตาตื่น ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีวิริยเจตสิกเพียรเป็นอกุศลในขณะนั้น และวันหนึ่งๆ ที่จะทราบว่าวิริยะเป็นไปในกุศล ก็ต่อเมื่อเป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในความสงบของจิตบ้าง ในการอบรมเจริญวิปัสสนาบ้าง

สำหรับผู้ที่ขาดวิริยะในทางกุศล ตั้งแต่เกิดมาก็มีวิริยะในทางอกุศลมาก และนับวันก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนปัจจัยก็คือว่า เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศลก็ไม่ละเลย แต่พากเพียรที่จะเจริญกุศลขึ้น ก็จะทำให้เป็นอุปนิสสยปัจจัยในทางกุศลเพิ่มขึ้น อาศัยแต่ละขณะจิตซึ่งกุศลจิตเกิดจะทำให้ทางฝ่ายอกุศลจิต เบาบางลง

เปิด  312
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565