แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1913
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓
สุ. เรื่องของทางลัด ควรพิจารณาว่าเป็นเรื่องของปัญญา หรือเป็นเรื่อง ของโลภะ ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรทั้งสิ้น จะเป็นบทความ จะเป็นความเห็น จะเป็นความคิด การสนทนาธรรมจากท่านผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม ผู้ฟังสามารถพิจารณาแม้คำที่พูด เช่น ถ้าใครกล่าวว่า มีทางลัดในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุถึงพระนิพพาน เพียงเท่านี้ก็พิจารณาได้แล้วว่า ทางลัดนั้นเป็นโลภะ หรือว่าเป็นปัญญา เพราะว่า เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ ไม่ใช่เป็นเรื่องพยายามลัดโดยไม่รู้
ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้มีจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในพระไตรปิฎกทั้งหมดไม่ได้ตรัสเรื่องอะไรนอกไปจากเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งมีจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อให้ผู้ฟังในขณะนั้น ระลึกได้ว่า มีปัญญารู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือเปล่า
ไม่ใช่ว่าให้หาทางลัด หรือช่วยทำให้ลัด แต่มีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไหม ตั้งแต่ขั้นของการฟังจนกว่าจะเข้าใจ จนกระทั่งมีศรัทธา มีสติ มีวิริยะ มีสมาธิที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง และเข้าใจ เพราะว่าขั้นเข้าใจเรื่อง อาศัยการฟังเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเป็นการเข้าใจเรื่อง แต่ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏจริงๆ คือ กำลังเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจเรื่องหรือคิดเรื่องนั้น แต่สภาพธรรมกำลังมีให้พิสูจน์ปัญญาความเข้าใจว่า มีความรู้ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยิน ได้ฟังและได้เข้าใจแล้วในขั้นของการฟัง และจะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏด้วย นี่ไม่ใช่ทางลัด หรือถ้าจะกล่าวว่า ทางสั้น ก็ไม่มีทางไหนที่สั้น กว่านี้อีกแล้ว ถ้าไม่ระลึกรู้อย่างนี้ ไม่มีทางที่จะทำให้สั้นกว่านี้ได้ นี่เป็นทางที่สั้นที่สุด คือ มีสภาพธรรมกำลังปรากฏและระลึกได้ว่า มีความรู้ ความเข้าใจในลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง
เพราะฉะนั้น อย่าหวังว่า ไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย แต่เมื่อใกล้จะสิ้นชีวิต ก็จะเพียรที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เข้าใจว่าในขณะนั้นจะรู้แจ้งได้ นั่นไม่เป็นเหตุเป็นผลทั้งสิ้น
สำหรับเรื่องการทำสมาธิ และปรากฏภาพนิมิต เช่น พระพุทธรูป หรือเป็นอะไรก็ตามภายในร่างกาย ก็ยิ่งน่าคิด คือ ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรมา คิดได้เลยว่า มีประโยชน์อะไร การเห็นอย่างนั้นมีประโยชน์อะไร ขณะนี้ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่อวิชชาไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความ เป็นจริงได้ ขณะนี้ทางหูมีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เป็นจริง แต่อวิชชาไม่สามารถรู้ สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏได้ การเห็นพระพุทธรูปก็ตาม หรือมีอะไรที่ปรากฏให้เห็น ในร่างกายจะมีประโยชน์อะไร เพราะในขณะนั้นสิ่งนั้นไม่มีตามปกติ แต่ด้วยโลภะจึงทำให้มีความต้องการให้สิ่งนั้นปรากฏขึ้น ด้วยความต้องการแต่ไม่ใช่ด้วยปัญญา เพราะถ้าเป็นปัญญาจะสามารถชี้ถึงสาตถกสัมปชัญญะคือประโยชน์ในขณะนั้นได้ ว่าอะไรเป็นประโยชน์
ใคร่จะเรียนถามว่า การเห็นเป็นพระพุทธรูปในร่างกาย หรือจะเป็นดวงแก้ว มีประโยชน์อะไร อะไรเป็นประโยชน์ นอกจากอยาก ซึ่งเป็นโลภะกับอวิชชาคือความไม่รู้ในเหตุในผลทั้งนั้น และในพระไตรปิฎกก็ไม่มีที่จะให้ทำอย่างนั้นซึ่งไม่มีเหตุมีผล
ถ. อ่านมาจากหนังสือเล่มอื่นว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เรากำลังศึกษากันอยู่ที่ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารทำให้เกิดวิญญาณ หนังสือนั้นบอกว่า ที่อธิบายว่าปฏิสนธิวิญญาณนั้น ไม่จริง ควรจะเป็นวิญญาณหรือขณะที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นปฏิจจสมุปบาทจึงจะเกิด แต่จะไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ ในลักษณะนั้น ไม่มี ผมสงสัยว่า อย่างไหนถูกกันแน่
สุ. ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มี ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ขณะที่เกิดขณะแรกนั้น มีหรือเปล่า ก่อนที่จะโตจนกระทั่งมานั่งอยู่ที่นี่ จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นมีหรือเปล่า
ถ้าจะว่าปฏิสนธิจิตไม่มี ก่อนที่จะเติบโตมาทุกวันๆ จนกระทั่งมานั่งอยู่ที่นี่ได้ จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นในภูมินี้ ในชาตินี้ มีไหม ซึ่งนั่นคือปฏิสนธิจิต จะกล่าวว่าไม่มี ได้อย่างไร
เป็นเรื่องที่พิจารณาย้อนไปย้อนมาได้ ถ้าจะพูดเรื่องปฏิสนธิจิต และบอกว่า ไม่มีปฏิสนธิจิต ก็ต้องถามว่า จิตขณะแรกก่อนที่จะเติบโตมาเป็นบุคคลนี้ ที่นั่งอยู่ที่นี่จิตขณะแรกนั้นมีหรือเปล่า ที่เกิดขึ้น หรือเพิ่งเกิดตอนที่มานั่งอยู่ที่นี่ จิตขณะแรก ที่เกิดขึ้นในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น คือ ปฏิสนธิจิต เพราะว่าเกิดสืบต่อจากจุติจิตของ ชาติก่อน
การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปัจจัยมากมาย แม้ในขณะจิตหนึ่งก็ได้ทรงแสดงไว้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง มีเจตสิกอะไรที่เป็นปัจจัยโดยประเภทของปัจจัยไหน อย่างไร แม้แต่ปฏิสนธิจิต หรือจิตที่เกิดต่อทุกๆ ขณะก็ทรงแสดงไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีปฏิสนธิจิต
เรื่องของธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่คิดและพิจารณาในเหตุในผลได้ โดยตลอด ขณะนี้ปฏิสนธิจิตมีไหม ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ชาตินี้มี ปฏิสนธิจิตชาตินี้ ก็ต้องมี ถ้าไม่มีก็จะไม่มีใครนั่งอยู่ที่นี่
ปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรกที่ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเพียงขณะเดียว ในชาติหนึ่งจะมีปฏิสนธิจิตเพียง ๑ ขณะ และจะมีจุติจิตเพียง ๑ ขณะ แต่ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป จิตขณะต่อไปก็เกิดขึ้น ตราบใดที่จุติจิตยังไม่เกิดก็ยังไม่ สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้
ถ. ที่จริงจะบอกว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันนี้เท่านั้นเอง
สุ. แน่นอน เพราะว่าชีวิตประจำวันก็คือจิต เจตสิก รูปที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง และจิต เจตสิก รูปก็เกิดดับเร็วมาก และปัจจัยที่จะทำให้ จิต เจตสิก รูปแต่ละขณะเกิดขึ้นก็มีมาก ไม่ใช่ไม่มี
มีท่านผู้หนึ่งเขียนถามมาว่า
ขอถามอาจารย์ว่า การทำกุศลทุกอย่าง เราหวังจะให้สิ้นอาสวะกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย จะเป็นการหวังที่เป็นอกุศลหรือเปล่า
หวัง หรือกระทำกุศลกรรมที่จะทำให้สิ้นกิเลส ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เวลา ได้ยินใครบอกว่า กิเลสไม่ดี ก็อยากจะหมดกิเลส อยากเท่านั้น ในขณะนั้นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะจะพิจารณาสภาพจิตของตนเองได้ว่า ขณะนั้นประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ในขณะใดที่ศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็เป็นหนทางที่จะทำให้อกุศลละคลายลงจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น อย่าเพียงแต่หวัง หรือต้องการ แต่ต้องเข้าใจให้ละเอียด ด้วยสติสัมปชัญญะถึงสภาพของจิตในขณะนั้นจริงๆ
ขอตอบปัญหาข้อหนึ่งซึ่งมีผู้ถามว่า อวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่ว่าจะเป็น แขน ขา หรือนิ้ว และอวัยวะต่างๆ เราทุกคนก็รัก แต่เมื่อเราถูกตัดแขนหรือขา ด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ทำไมเราจึงเกิดความกลัว เกิดความรู้สึกแปลกๆ เมื่อกลับมามองอวัยวะของตนเอง ยิ่งถ้าเป็นแขนหรือขาของผู้อื่นที่ถูกตัดออกใหม่ๆ ในห้องผ่าตัด เรายังเกิดความกลัว ไม่อยากจับ ไม่อยากมอง
เรื่องของความไม่รู้ ก็เป็นอย่างนี้ คือ เมื่อยังมีความไม่รู้อยู่ อารมณ์ที่ปรากฏ ก็มีทั้งอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจก็ทำให้เกิดความยินดีความพอใจ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นจิตก็จะเศร้าหมองด้วยอกุศล เช่น โทสะ เป็นของธรรมดา
สำหรับเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อรรถกถามหานิบาต วังคีสเถรคาถาที่ ๑ ได้กล่าวถึงสาวกของพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นพระเถระด้วยกันก็จริงแต่ว่าจำแนกออกได้ จะกล่าวว่าโดยนัยเดียวก็ได้ หรือจะกล่าวว่าโดยนัยที่ต่างกันก็ได้ คือ พระมหาเถระทั้งหลายเป็นอย่างเดียวกัน โดยความเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ว่าจะเป็นใคร จะเป็นท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน โดยความเป็นสาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าจะกล่าวโดยต่างกัน เป็น ๒ อย่าง คือ อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุ กับ ไม่อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุ
ในข้อที่ว่าเป็น ๒ อย่างนั้น พระปัญจวัคคีย์เถระมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประธาน
คือ พวกที่อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุ
ปัญจวัคคีย์ ๕ รูป คือ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ๑ ท่านพระวัปปะ ๑ ท่านพระภัททิยะ ๑ ท่านพระมหานามะ ๑ ท่านพระอัสสชิ ๑ ทั้ง ๕ รูปเป็นเอหิภิกขุ
นอกจากนั้นก็มี
พระยสเถระ สหายของท่าน ๔ คน คือ ท่านพระวิมละ ท่านพระสุพาหุ ท่านพระปุณณชิ และท่านพระควัมปติ สหายของท่านแม้อื่นอีก ๕๕
รวมเป็น ๖๐ รูป
ภัททวัคคีย์ ๓๐ ปุราณชฎิล ๑,๐๐๐ มีพระอุรุเวลกัสสปเป็นประธาน อัครสาวก ๒ ปริพาชกผู้เป็นบริวารของท่าน ๒๕๐ ท่านพระองคุลีมาลเถระ รวมทั้งหมด ๑,๓๕๐ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า พระเถระอื่นๆ อีกเหล่านี้ จำนวน ๑,๓๕๐ รูป เป็นผู้มีปัญญามาก ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อรรถกถา ปริพาชกวรรค ทีฆนขสูตร แสดงเรื่องของวันมาฆบูชา มีข้อความว่า
ทีฆนขปริพาชกซึ่งเป็นหลานของท่านพระสารีบุตรนั้น เมื่อท่านพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน ก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่ถ้ำสูกรขาตา ท่านพระสารีบุตรขณะที่ฟังธรรมและถวายอยู่งานพัดได้บรรลุอรหันต์ ส่วนทีฆนขปริพาชกบรรลุโสดาบัน แต่ไม่ได้ขออุปสมบท ขอเป็นเพียงอุบาสกซึ่งถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
อรรถกถา ปริพาชกวรรค ทีฆนขสูตร มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อดวงอาทิตย์ยังปรากฏอยู่ ทรงจบเทศนานี้แล้วเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ เสด็จไปพระวิหารเวฬุวันได้ทรงประชุมพระสาวก ได้มีสันนิบาตประกอบด้วยองค์ ๔
องค์ ๔ เหล่านี้ คือ องค์ที่ ๑ วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ประกอบด้วยมาฆนักษัตร องค์ที่ ๒ ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันตามธรรมดาของตนๆ ไม่มีใครนัดหมายมา องค์ที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นไม่มีแม้สักรูปหนึ่งที่เป็นปุถุชน หรือพระโสดาบัน พระสกกาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก ภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ได้ อภิญญา ๖ ทั้งนั้น องค์ที่ ๔ มิได้ปลงผมด้วยมีดโกนบวชแม้แต่รูปเดียว ภิกษุทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ
นี่คือวันมาฆบูชา ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ฟังน้อมระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ หลังจากที่ท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ๑๕ วัน ส่วนอีกวันหนึ่ง ท่านผู้ฟังก็จะสนุกสนานรื่นเริง เพราะเป็นวันประเพณี ลอยกระทง วันนั้นก็เป็นวันปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร
เพราะฉะนั้น การระลึกถึงวันสำคัญต่างๆ จะทำให้เกี่ยวข้องกับพระธรรม ก็เป็นได้ คือ แทนที่จะระลึกว่าเป็นวันเพ็ญ วันลอยกระทง ก็จะระลึกว่า วันนั้นเป็นวันที่ท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน
ถ. ผมสังเกตดูพระที่ท่านได้รับอุปสมบทเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ส่วนใหญ่จะเป็นนักบวชอยู่แล้วทั้งนั้น
สุ. ท่านพระองคุลีมาลไม่เป็น
ถ. พระยสก็ไม่เป็น แต่ส่วนใหญ่เป็นนักบวช เพราะฉะนั้น นักบวชจะต้องมีบริขารอยู่แล้ว
สุ. บางท่านก็บวช แต่ไม่ได้เป็นเอหิภิกขุ เช่น ท่านพระมหากัสสปะ เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงเพียงประทานโอวาท
การอุปสมบทมี ๕ อย่าง คือ ๑.เอหิภิกขุ ๒.สรณคมน์ ๓.รับโอวาท ๔.ด้วยพยากรณ์ปัญหา ๕.ด้วยญัตติจตุตถกรรม สำหรับเอหิภิกขุก็เพียง พระผู้มีพระภาคตรัสให้เป็นภิกขุมาเถิด
ถ. ท่านเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีด หมายความว่าผมหายไปเอง
สุ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่มากท่าน เป็นไปตามกรรมที่ท่านได้สะสมมา เป็นสิ่งซึ่งคนสมัยนี้ไม่เห็น แต่สำหรับพระมหาสาวกที่เป็นเอหิภิกขุ ท่านมีบุญที่ได้กระทำไว้แล้วมาก ที่จะได้บรรลุถึงความเป็นเอหิภิกขุด้วย
ถ. ท่านพระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์วันเพ็ญ กลางเดือน ๓
สุ. วันมาฆบูชา และถอยไปก่อนนั้น ๑๕ วัน ท่านเป็นพระโสดาบัน เพราะว่าหลังจากที่ท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว ๑๕ วัน ท่านก็ได้บรรลุความเป็น พระอรหันต์
ถ. รวมทั้งบริวารของท่านด้วย ใช่ไหม
สุ. ไม่ได้กล่าวถึง กล่าวถึงแต่ขณะที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุเมื่อได้ฟัง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับทีฆนขปริพาชก
ข้อความต่อไปใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วังคีสเถรคาถาที่ ๑ มีว่า
แม้ในการอุปสมบทมี ๒ อย่าง คือ อุปสมบทเมื่อพระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน ๑ และหลังพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ๑
บางท่านบวชในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน แต่บางท่านบวชหลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ซึ่งข้อความในอรรถกถาใช้คำว่า ต่อหน้าและลับหลัง
บวชต่อหน้า คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน บวชลับหลัง คือ หลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว นอกจากนั้นยังจำแนกพระสาวกออกเป็น โดยประเภทพระสาวกที่มีอปทาน และไม่มีอปทาน คือ
ก็พระสาวกเหล่าใดมีอปทาน กล่าวคือ สาวกบารมีที่เป็นไปด้วยบุญกิริยา ในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธสาวก แต่ปางก่อน พระสาวกเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้มีอปทาน เหมือนท่านพระเถระทั้งหลาย ผู้มาในบาลีอปทาน ส่วนพระเถระเหล่าใดไม่มีอปทาน พระเถระเหล่านั้นชื่อว่า ไม่มีอปทาน
นี่คือการจำแนกชีวิตของแต่ละคนในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งแต่ละชาติๆ ก็ต่างกันไป แต่ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เวลาที่ท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ยังต่างกันไป
ถามว่า ก็เว้นจากความถึงพร้อมแห่งเหตุในชาติก่อนเสียทั้งหมด การตรัสรู้สัจจะจะมีได้ไหม
คือ ถ้าไม่เคยสะสมอบรมการเจริญปัญญา ความเข้าใจ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมมาเลย การตรัสรู้สัจจะจะมีได้ไหม ท่านผู้ฟังตอบได้ ใช่ไหม มีได้ไหม
ตอบว่า มีไม่ได้ เพราะการบรรลุอริยมรรค ย่อมไม่มีแก่ผู้เว้นจาก อุปนิสัยสมบัติ เพราะการบรรลุอริยมรรคนั้น มีสภาพกระทำยากและเกิดมีได้ยากมาก
ที่อยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อยากจะประจักษ์ลักษณะของพระนิพพาน อยากรู้การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ต้องเป็นสิ่งที่ยากแสนยากสักเพียงใด เพราะฉะนั้น ต้องมีการอบรมสะสมอุปนิสัยมาในชาติก่อนๆ
ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุใดจึงกล่าวว่า ก็พระเถระผู้ไม่มีอปทานนั้น ชื่อว่าไม่มีอปทานเรื่องราว
ตอบว่า ไม่พึงเห็นว่า พระเถระเหล่าใดเว้นจากอุปนิสัยสมบัติเสียโดยประการ ทั้งปวง พระเถระเหล่านั้นไม่มีอปทานเรื่องราว ดังนี้ เพราะพระเถระเช่นนั้น ไม่ประสงค์เอาในที่นี้.
ส่วนพระเถระเหล่าใดไม่มีเรื่องราวที่เด่นจริง พระเถระเหล่านั้นท่านกล่าว ไว้ในทีนี้ว่า ไม่มีอปทานคือเรื่องราว
คัมภีร์อปทาน มีในพระสุตตันตปิฎก เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะอ่านและ จะได้ทราบประวัติเรื่องราวของอดีตของพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งท่านได้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม โดยที่ในสมัยก่อนๆ หลายชาติผ่านมาแล้ว ท่านมีความปรารถนา และท่านมีการเจริญกุศลมากมายสักเพียงใด นั่นคือเรื่องราวของพระเถระทั้งหลาย แต่พระไตรปิฎกไม่สามารถบรรจุเรื่องราวของพระเถระทั้งหมดไว้ได้ ด้วยเหตุนั้น ก็เฉพาะแต่พระเถระที่มีเรื่องที่เด่นจริงๆ จึงได้กล่าวไว้ในอปทาน แต่ไม่ใช่ว่าทุกท่าน จะไม่มีเรื่องราว เหมือนกับชีวิตทุกท่านในขณะนี้ ก็เป็นเรื่องราวของแต่ละบุคคล ของแต่ละวัน ซึ่งถ้าจะจารึกไว้ ก็คงไม่สามารถเก็บเรื่องราวของทุกคนไว้ได้