แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1916

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓


ข้อความในอรรถกถามีว่า

ในบทว่า อุทฺธูมายิกาติ โข ภิกฺขุ นี้ ขึ้นชื่ออึ่งที่พองขึ้น ไม่ใหญ่ประมาณเท่าหลังเล็บอยู่ในระหว่างใบไม้เก่าๆ ในระหว่างกอไม้หรือระหว่างเถาวัลย์ ถูกปลายไม้ปลายเถาวัลย์หรือละอองฝุ่นเสียดสีขยายออก มีปริมณฑลใหญ่ ขนาดเท่าแว่นมะตูม

เวลาที่ยังไม่ขยายก็เล็กนิดเดียว ความโกรธ แต่เวลาที่ความโกรธขยายขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับอึ่งก็จะขยายเท่าแว่นมะตูม

๔ เท้าขวักไขว่ในอากาศ ขาดการไป (เดินไม่ได้) ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู เป็นเหยื่อของกาและนกเค้าเป็นต้น ฉันใด ความโกรธนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นคราวแรก ก็เป็นเพียงความขุ่นมัวแห่งจิตเท่านั้น

ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ สามารถรู้ลักษณะต่างๆ กันของความโกรธ เช่น ขณะที่เพียงขุ่นๆ มัวๆ นิดเดียวเอง ขณะนั้นก็มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า เป็นสภาพของความไม่แช่มชื่น

ถ้าความขุ่นมัวแห่งจิตนั้นไม่ถูกข่มเสียในขณะนั้น ก็ขยายให้ถึงการหน้านิ้ว คิ้วขมวด ถ้าไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึงคางสั่น ถ้าไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึงการเปล่งวาจาหยาบ เมื่อไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึงการมองไม่เห็นทิศ เมื่อไม่ ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึงการยื้อกันมายื้อกันไป ถ้าไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึงการจับมือ ก้อนดิน ท่อนไม้และศาสตรา ถ้าไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึงการประหารด้วยท่อนไม้และศาสตรา เมื่อไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึงการฆ่าผู้อื่นบ้าง ฆ่าตัวเองบ้าง สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ความโกรธนี้ฆ่าผู้อื่นแล้ว ฆ่าตนเพียงใด ความโกรธเพียงนี้ก็จะหนาแน่นยิ่งขึ้น กำเริบยิ่งขึ้น

ในข้อนั้น เมื่อเท้าทั้ง ๔ ของตัวอึ่งขวักไขว่ในอากาศ ก็ขาดการไป (เดินไม่ได้) ตัวอึ่งก็ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู เป็นเหยื่อของสัตว์มีกาเป็นต้น ฉันใด บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจความโกรธก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่สามารถจะกำหนดสติปัฏฐานให้เจริญได้ ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู เป็นผู้อันปวงมารพึงทำได้ตามความปรารถนา

บางคนโกรธผู้ที่มีความเห็นถูก เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการสอบถามว่า ผิดอย่างไร ถูกอย่างไร เมื่อโกรธเสียแล้วก็ไม่สามารถเจริญปัญญาที่จะมีความรู้ความเข้าใจ ในสภาพธรรมได้

คำว่า ทาง ๒ แพร่งนั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา

ซึ่งพราหมณ์กล่าวว่า

พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตราก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือ จงละวิจิกิจฉาเสีย

สำหรับทาง ๒ แพร่ง คือ วิจิกิจฉา อุปมาเหมือน

บุรุษผู้มีทรัพย์ มีโภคะ เดินทางไกลอันกันดารถึงทาง ๒ แพร่ง ไม่อาจตัดสินใจว่า ควรไปทางนี้ หรือไม่ควรไปทางนี้ หยุดอยู่ในที่นั้นนั่นเอง

ไม่รู้จะปฏิบัติแบบไหน บางท่านก็มาถึงปัญหาที่ว่า จะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ถ้าไม่สามารถตัดสินได้จริงๆ ว่า ข้อปฏิบัติไหนถูก หนทางปฏิบัติไหนผิด เพราะฉะนั้น บางท่านก็หยุดอยู่ในที่นั้นนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนั้น เหล่าโจรปรากฏตัวขึ้นมาก็จะทำให้ผู้นั้นถึงความย่อยยับ ฉันใด ผู้ที่เกิดความสงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็ไม่อาจที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ปวงมารมีกิเลสเป็นต้น ย่อมทำภิกษุนั้นให้ถึงความย่อยยับ วิจิกิจฉาจึงเสมอด้วยทาง ๒ แพร่ง

เพราะฉะนั้น การที่จะละทาง ๒ แพร่งนี้ ก็โดยการเรียนและการสอบถามปัญหาต่างๆ ให้เข้าใจ ให้แจ่มแจ้งชัดเจน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

คำว่าหม้อกรองน้ำด่างนั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์

คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือ จงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

เรื่องของนิวรณ์ ๕ เป็นเรื่องซึ่งทุกคนมีเป็นประจำ คือ กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีใครไม่มีบ้าง ทุกคนต้องเป็นผู้ตรงที่จะรับว่า ยังเป็นผู้ที่มีความยินดีพอใจอย่างมากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เมื่อมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นกามฉันทนิวรณ์อยู่เนืองๆ บ่อยๆ ก็เป็นปัจจัยให้มีพยาปาทนิวรณ์ คือ มีความคับแค้นขุ่นเคืองใจเวลาที่ไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่ต้องการ หรือเวลาที่ประสบกับสิ่งที่ไม่ต้องการ

นอกจากนั้น ยังมีถีนมิทธนิวรณ์ วันหนึ่งๆ ก็มีความท้อใจ มีความท้อแท้ มีความหดหู่ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความเบิกบาน เข้มแข็ง ร่าเริงในธรรมอยู่ได้เสมอๆ เพราะในบางครั้งมีเหตุที่จะทำให้มีความท้อใจบ้าง มีความท้อแท้บ้าง ซึ่งมีมาก หลายอย่าง เช่น บางท่านเวลาที่อยากจะได้ผลของธรรม พากเพียรทำกุศลมากมาย แต่กิเลสก็ยังมีอยู่มากมาย ก็เริ่มรู้สึกท้อแท้อีกแล้วว่า ทำกุศลก็มาก ทำไมผลของกุศลไม่ได้บ้าง หรือทำไมกิเลสจึงยังมีอยู่เยอะ ทำไมสติไม่เกิดบ่อย ทำไมปัญญา ไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม แสดงให้เห็นว่า ยังมีกิเลสอยู่ ทำให้เมื่อหวังสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นเหตุให้ท้อแท้หรือว่าท้อถอย

และมีอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ทุกคนที่ยังมีกิเลส จะต้องมีกายวาจาที่เป็นอกุศลในบางกาล ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของตนเอง เพราะฉะนั้น ก็มีความรำคาญใจในอกุศล ที่ได้ทำแล้ว หรือในกุศลที่ยังไม่ได้ทำ ทำให้จิตใจไม่สงบฟุ้งซ่าน ขณะนั้นก็เป็น อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์

นอกจากนั้น ก็มีวิจิกิจฉานิวรณ์ คือ ความสงสัย ไม่แน่ใจในลักษณะของสภาพธรรม ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เป็นต้น

คำนั้นมีคำอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือ จงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

ไม่มีทางอื่นเลย นอกจากปัญญาเท่านั้นที่จะละคลายนิวรณ์ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า จงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือ จงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปงฺกวารํ ดังต่อไปนี้ เมื่อช่างย้อมใส่น้ำลงใน หม้อกรองน้ำด่าง หม้อน้ำ ๑ หม้อ ๒ หม้อบ้าง ๑๐ หม้อบ้าง ๒๐ หม้อบ้าง ๑๐๐ หม้อบ้าง ก็ไหลออก น้ำแม้ฟายมือเดียวก็ไม่ขังอยู่ ฉันใด กุศลธรรมภายในของบุคคลผู้ประกอบด้วยนิวรณ์ ย่อมไม่ตั้งอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุ คำว่า หม้อกรองน้ำด่างนี้ เป็นชื่อของนิวรณ์ทั้ง ๕

ถ้ามีหม้อกรองน้ำ ไม่ว่าจะเอาน้ำใส่ลงไปในหม้อกรองน้ำนั้น จะ ๑ หม้อ ๒ หม้อ ๑๐ หม้อ ๒๐ หม้อ ๑๐๐ หม้อ น้ำก็ไหลออกหมดไม่ตั้งอยู่ แม้ฟายมือเดียว น้ำก็ไม่สามารถจะขังอยู่ได้ เพราะฉะนั้น กุศลธรรมภายในของบุคคลผู้ประกอบด้วยนิวรณ์ ย่อมไม่ตั้งอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน

ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะทราบได้เลย แม้เพียงชั่วขณะที่ฟังธรรม ขณะนี้ควรที่กุศลจิตจะเกิดอย่างมาก แต่ก็ชั่วขณะ อกุศลก็แทรก ไม่ว่าจะเป็นทางตาหรือทางใจ ทั้งๆ ที่เห็นอย่างนี้ ใจคิดเรื่องอื่นได้ ทั้งๆ ที่กำลังได้ยินอย่างนี้ บางครั้ง ก็คิดอย่างอื่นได้

แสดงให้เห็นว่า กุศลธรรมของแต่ละบุคคลที่ยังมีนิวรณ์ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะเล็กน้อย ขณะใดที่เผลอไป ขณะที่กำลังฟัง และชั่วขณะที่เป็นกุศลดับ อกุศลจิตก็เกิดเพราะนิวรณ์ ๕

เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลายไม่สามารถตั้งอยู่ได้นานสำหรับผู้ที่ยังมีนิวรณ์

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า เต่านั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์

คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกเต่าขึ้นเสีย คือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

ขุดไม่ง่ายเลย อกุศลทั้งหลาย

ข้อความในอรรถกถามีว่า

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า กุมฺโม ดังต่อไปนี้ เต่ามีอวัยวะ ๕ คือ เท้า ๔ ศีรษะ ๑ ฉันใด สังขตธรรมทั้งหมด เมื่อรวบรัดก็มีขันธ์ ๕ เท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุ คำว่าเต่านี้เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕

สังขตธรรม คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป ตั้งแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว หรือในขณะนี้ และต่อไปอีกเกินแสนโกฏิกัปป์ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิด สามารถประมวลเป็นขันธ์ ๕ คือ รูปทุกชนิดเป็นรูปขันธ์ ๑ สัญญา ความจำ เป็นสัญญาขันธ์ ๑ เวทนา ความรู้สึก เป็นเวทนาขันธ์ ๑ เจตสิกอีก ๕๐ ที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์ และจิตเป็นวิญญาณขันธ์ เป็นที่ยึดมั่นพอใจติดข้อง ยากแสนยาก ที่จะให้ละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย ซึ่งทุกท่านสามารถพิสูจน์ได้ คือ แม้ว่าได้ฟังพระธรรมอยู่บ่อยๆ เนืองๆ มีความเข้าใจเรื่องหนทางอบรมเจริญปัญญา มีศาสตรา แต่ศาสตรานั้นเป็นศาสตราเล็ก หรือศาสตราใหญ่ เป็นศาสตราที่คม หรือยังไม่คม ซึ่งจะต้องทำให้คมขึ้น จึงสามารถขุดและสามารถละความยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า เขียงหั่นเนื้อนั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสต … กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ … รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา … โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จงละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

พิจารณาจริงๆ แล้ว สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจ เป็นกามคุณ ก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า ชิ้นเนื้อนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ

คือ โลภะ ความยินดีพอใจ

คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย

ข้อความในอรรถกถามีว่า

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า มํสเปสีติ โข ภิกฺขุ ดังต่อไปนี้ ขึ้นชื่อว่าชิ้นเนื้อนี้ คนเป็นอันมากปรารถนากันแล้ว ทั้งเหล่ามนุษย์มีกษัตริย์เป็นต้น ทั้งสัตว์ดิรัจฉาน มีกาเป็นต้น ต่างปรารถนา สัตว์เหล่านั้นประกอบด้วยอวิชชา อาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ต่างก็ปรารถนาวัฏฏะ ชิ้นเนื้อย่อมติดอยู่ในที่ที่วางไว้ๆ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ถูกความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินผูกไว้ ก็ติดอยู่ใน วัฏฏะ แม้ประสบทุกข์ก็ไม่เบื่อฉันนั้น ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ย่อมเสมือนชิ้นเนื้อด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุ คำว่าชิ้นเนื้อนี้เป็นชื่อของความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน

ตรัสการละความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ด้วยมรรคที่ ๔

คือ ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงดับโลภะได้หมดเป็นสมุจเฉท ไม่เหลือเลย

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า นาคนั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ

คือ พระอรหันต์

คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาค ดังนี้

ข้อความในอรรถกถามีว่า

คำว่า นาคนี้ เป็นชื่อของพระขีณาสพ

ในคำว่า นโม กโรหิ นาคสฺส มีเนื้อความดังนี้ คือ ท่านจงกระทำการ นอบน้อมต่อพระพุทธนาคผู้พระขีณาสพว่า พระผู้มีพระภาคนั้นตรัสรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงฝึกแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึก พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นสงบแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อสงบ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงข้ามแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อข้าม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ดับสนิทแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อดับสนิท

พระสูตรนี้ได้เป็นกัมมัฏฐานของพระเถระด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายพระเถระ ทำพระสูตรนี้แลให้เป็นกัมมัฏฐาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต

แสดงให้เห็นว่า พระสูตรสูตรเดียวรวมธรรมทุกอย่าง ในการทำให้ผู้ฟังที่มีปัญญาสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

ไม่มีข้อที่จะข้องใจเลย เพราะว่าพระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของสภาพธรรม ที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ซึ่งผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้วสามารถเข้าใจโดยไม่คิดว่า เป็นเพียงคำอุปมา แต่สามารถรู้ว่า คำอุปมานั้นๆ หมายถึงสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนั้น ที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมได้

นี่คือโยนิโสมนสิการในการฟัง การฟังพระธรรมโดยแยบคาย คือ ฟังแล้วพิจารณาใคร่ครวญเนื้อความที่ได้ฟังเพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม แม้ข้อความในปัญหา ๑๕ ข้อนั้น เช่น เห็นความสำคัญของศาสตรา คือ ปัญญา การที่จะให้กิเลสซึ่งทุกคนมีดับหมดไม่เกิดอีกเลย ถ้าไม่มีปัญญาจะดับกิเลสนั้นได้อย่างไร จะใช้วิธีอื่น เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะใช้วิธีของพวกฤๅษี พวกดาบสต่างๆ หรือ วิธีทรมานตัวต่างๆ ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถละกิเลสได้

ถ้าท่านเห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีรากลึก แต่ไม่มีศาสตรา ทำอย่างไรจึงจะฟันต้นไม้ต้นนั้นได้ เหมือนกับเวลานี้ มีอวิชชา มีความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำอย่างไรจึงจะละหรือดับกิเลส ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ก็มีหนทางเดียว คือ การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่หนทางอื่น

ลิ่มสลักอยู่ที่ไหน ขณะนี้ทุกคนทราบว่า อวิชชาเป็นลิ่มสลัก เพราะฉะนั้น ลิ่มสลักในขณะนี้อยู่ที่ไหน

ทางตาที่เห็นเป็นเพียงธาตุรู้ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นเห็น ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าลิ่มสลักอยู่ที่ไหน แต่เมื่อรู้ว่า ขณะเห็นเป็นลิ่มสลัก ซึ่งกว่าจะขุดลิ่มสลัก ออกจากเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมก่อน จนกระทั่งมีความเข้าใจซาบซึ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ที่จะพิจารณา ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือความเพียร คือ การขุดอวิชชาออกจากขณะที่เห็นและไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม

ทางหูกำลังได้ยินก็รู้ว่า อวิชชาคือลิ่มสลัก ไม่ได้อยู่ที่อื่น ลิ่มสลักอยู่ที่ทางหู ที่ได้ยิน ยังไม่ได้ยกขึ้น เพราะฉะนั้น ก็กั้นที่จะให้รู้ว่าไม่ใช่เราที่ได้ยิน แต่เป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธาตุรู้เสียง เมื่อมีเสียงกระทบกับโสตปสาทก็เป็นปัจจัยให้ธาตุรู้เสียงเกิดขึ้นได้ยิน ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ นั่นคือศาสตราที่ขุดลิ่มสลักทางหู ขณะที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565