แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1917
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๓
เมื่อกี้มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านอยากทราบความต่างกันของการดูกับ การรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าท่านเคยได้ยินได้ฟังเรื่องให้ดูสภาพธรรม แต่ตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ให้ดู แต่ต้องมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และเมื่อมีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ก็ทำให้สติระลึกได้ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ
ในขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ จะเข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หรือจะพยายามดูให้ประจักษ์การเกิดดับ ซึ่งจะพยายามดูสักเท่าไรที่จะให้ประจักษ์ การเกิดดับ ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญความรู้ ลองเปลี่ยนใหม่เป็น ทางตา หลงลืมไป ขณะนี้ก็กำลังเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และสภาพรู้ก็มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่สภาพรู้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้ากำลังเริ่มที่จะเข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่ดูอะไร เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้ว แต่ต้องเข้าใจสิ่งที่ปรากฏให้ถูกต้องเท่านั้นเอง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ทางหูที่กำลังได้ยินก็เหมือนกัน มีเสียง และมีได้ยินในขณะนั้น ไม่มีเห็น ไม่มีคิดนึก เพราะว่าในขณะนั้นจิตกำลังรู้เสียง ไม่ใช่ให้ดูอะไร แต่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่กำลังรู้เสียงว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และเสียงที่ปรากฏก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ตามปกติ แล้วแต่สติจะระลึกลักของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แต่ไม่ใช่ดู ไม่ทราบจะดูทำไม ดู คือ อยากจะรู้การเกิดดับ โดยที่ปัญญาไม่สามารถเข้าใจลักษณะของนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็นตามปกติ ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก
ถ. มีสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามากมาย เดี๋ยวนั่นเกิด เดี๋ยวนี่เกิด บางครั้งคล้ายๆ เราทำงานบ้านไปด้วย เราก็ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่เกิดกับเราเสมอไป คล้ายๆ ว่าเราใจลอย เราทำสิ่งนี้ แต่เราไปคิดถึงสิ่งอื่น ขณะนั้นเราก็ไม่ได้รู้ ใช่ไหม
สุ. ขณะนั้นหลงลืมสติ ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ขณะนั้นหลงลืมสติ ใช้คำว่า หลงลืมสติ
ถ. ถ้าเราไม่หลงลืมสติ หมายความว่า เราต้องรู้ทันทุกอย่าง
สุ. หมายความว่า สติเกิด จึงระลึกได้ ไม่ใช่เรา คือ ต้องเข้าใจถูก ตั้งแต่ต้น แม้แต่พยัญชนะที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เห็นก็ต้องเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นเห็น ได้ยินก็เป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ยิน สติปัฏฐานก็ต้องมีเหตุปัจจัย จึงจะเกิดระลึกได้ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่เช่นนั้นก็หลงลืมไป แต่ต้องมีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และมีการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ที่จะทำให้เข้าใจขึ้นๆ ทำให้สติระลึกได้ที่จะรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นจริงๆ ในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพรู้ และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้น จะว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา หรือเป็นของเราไม่ได้
ถ. ถ้าอย่างนั้นก็ผิดหมด คือ ยังเป็นเราอยู่ตลอด และยังมีการหลงลืมอยู่
สุ. ต้องค่อยๆ อบรมเจริญสติปัฏฐาน และไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องจะให้สติเกิดมากๆ หรือบ่อยๆ แต่ควรที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นจนกว่า สติปัฏฐานจะเกิดระลึกได้ที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางหนึ่งทางใด โดยความเป็นอนัตตา โดยไม่มีความเป็นตัวตนที่จะดูหรือจะทำ เพราะว่าขณะที่สติเกิด สติเกิดเพราะเหตุปัจจัย และสติทำกิจระลึก ไม่ใช่เราจะระลึก ถ้าสติไม่เกิดก็หลงลืม คือ ขณะนั้นไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม
เป็นเรื่องที่ต้องอบรมเจริญความรู้ อย่าลืมว่า ปัญญา คือ ศาสตรา นอกจากความรู้แล้ว อย่างอื่น จะไปดูอะไรอย่างไรสักเท่าไรโดยปัญญาไม่เกิด ก็ไม่สามารถ ละคลายกิเลสได้
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถาปายาสิราชัญญสูตร และ อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถาวัมมิกสูตร กล่าวถึงพระภิกษุ ๕ รูปที่เจริญสมณธรรมบนภูเขา ซึ่งพระภิกษุ ๒ รูป รูปหนึ่งคือพระสังฆเถระได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อีกรูปหนึ่งคือพระอนุเถระได้บรรลุพระอนาคามีและเกิดใน สุทธาวาสพรหม พระภิกษุอีก ๓ รูปในชาตินั้น ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ เกิดเป็นพระเจ้าปุกกุสาติ ท่านพระพาหิยทารุจีริยะ และท่านพระกุมารกัสสปะ และที่เป็นเอตทัคคะมี ๒ รูป คือ ท่านพระพาหิยะกับท่านพระกุมารกัสสปะ
ส่วนใน อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา อรรถกถาสภิยเถรคาถาที่ ๓ และ อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา อรรถกถาทัพพมัลลปุตตเถรคาถา และ อรรถกถาธรรมบทเรื่องพระพาหิยทารุจีริยะ กล่าวถึงภิกษุ ๗ รูปที่ เจริญสมณธรรมด้วยกันบนภูเขา ซึ่งนอกจากพระสังฆเถระและพระอนุเถระ พระเจ้าปุกกุสาติ ท่านพระพาหิยทารุจีริยะ และท่านพระกุมารกัสสปะแล้ว ยังมีอีก ๒ รูป คือ ท่านพระทัพพมัลลบุตร และท่านพระสภิยะ
สำหรับพระภิกษุ ๗ รูปนั้น เป็นเอตทัคคะ ๓ รูป คือ ท่านพระพาหิยะ ท่านพระกุมารกัสสปะ และท่านพระทัพพมัลลบุตร
ขอกล่าวถึงพระภิกษุอีก ๒ รูป คือ ท่านพระทัพพมัลลบุตรและท่านพระสภิยะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตที่ต่างกันของสหายที่ได้บำเพ็ญสมณธรรมด้วยกันบนภูเขา แต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของท่านก็ต่างกันไป
อรรถกถา ขุททกนิกาย อรรถกถาทัพพมัลลปุตตเถรคาถา ข้อ ๑๔๒ มีข้อความว่า
พระภิกษุรูปหนึ่งในพระภิกษุ ๗ รูปนั้น ปฏิสนธิในเรือนของเจ้ามัลละองค์หนึ่งในอนุปิยนคร แคว้นมัลละ มารดาของท่านสิ้นชีวิตเมื่อท่านยังอยู่ในครรภ์ เมื่อ คนทั้งหลายนำร่างมารดาของท่านไปป่าช้า ยกขึ้นสู่เชิงตะกอนใส่ไฟแล้ว เพราะกำลังความร้อนของไฟ ทำให้พื้นท้องของร่างมารดาของท่านแยกออกเป็น ๒ ส่วน ทารกลอยขึ้น และตกลงมาที่เสาไม้มีแก่น ท่านจึงได้ชื่อว่าทัพพะ เพราะตกไปที่เสาไม้ มีแก่น จึงรอดชีวิต
ซึ่งท่านจะเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้จัดเสนาสนะ และเป็นพระภัตตุเทศก์ คือ ผู้แจกภัตตาหาร
ก็ในวันที่ท่านพระทัพพมัลลบุตรมีอายุได้ ๗ ขวบ พระผู้มีพระภาคมีพระภิกษุเป็นบริวาร เสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ ประทับอยู่ในอนุปิยัมพวัน ทัพพมัลลบุตรเห็นพระผู้มีพระภาคก็เลื่อมใส และประสงค์จะบวช
อายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้นเอง
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้พระเถระรูปหนึ่งให้บรรพชาให้ ขณะที่ท่านปลงผม ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และเมื่อปลงผมเสร็จ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับในแคว้นมัลละแล้ว ก็เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร ท่านพระทัพพมัลลบุตรผู้เสร็จกิจในการดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทแล้ว ประสงค์จะอุทิศชีวิตเพื่อช่วยกระทำกิจของสงฆ์ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงประทานสาธุการ และทรงมอบกิจปูลาดเสนาสนะ และกิจภัตตุเทศก์แก่ท่าน
ถ้าเป็นคนมีกิเลสก็จะเห็นว่า กิจนี้ไม่น่าสนุกเลย จัดที่นอนและแจกอาหารแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากที่ไกลและที่ใกล้ ดูเป็นภาระ แต่สำหรับผู้ที่หมดภาระคือการ ที่จะต้องดับกิเลสและมีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ ต่อไป ก็ใคร่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา จึงขวนขวายที่จะกระทำกิจเพื่อช่วยเหลือกิจของพระศาสนา เพราะฉะนั้น ท่านก็ทูลขอ ที่จะได้กระทำกิจของสงฆ์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงมอบกิจปูลาดเสนาสนะและกิจ ภัตตุเทศก์แก่ท่าน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า สามเณรนี้ยังเล็กแท้ แต่ดำรงอยู่ในสภาวะใหญ่ (คือ เป็นพระอรหันต์) ดังนี้แล้ว จึงโปรดให้ท่านอุปสมบทในเวลาที่มี อายุได้ ๗ ขวบเท่านั้น
แม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นเอหิภิกขุ แต่ท่านก็ได้เป็นหนึ่งในอสีติมหาสาวก คือ ในมหาสาวก ๘๐ รูป และได้เป็นเอตทัคคะคือเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกผู้จัดเสนาสนะ
การจัดที่หลับที่นอน ที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องยากไหม เป็นเรื่องสำคัญไหม เพราะว่าบางคนก็นอนยาก ไม่ค่อยจะได้ที่สบายที่เป็นสัปปายะของการนอน บางคนก็ชอบร้อน บางคนก็ชอบเย็น บางคนก็ชอบเปิดหน้าต่าง บางคนก็ชอบปิดหน้าต่าง บางคนก็ชอบอยู่ใกล้ทางประตู บางคนก็ไม่ชอบอยู่ใกล้ทางประตู อาหารสัปปายะ ก็เป็นที่ลำบากว่า ใครจะชอบรสไหนอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญสมณธรรมได้สะดวกสบาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นเอตทัคคะในการจัดเสนาสนะและในการ แจกภัตตาหาร ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะกระทำได้อย่างดี ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็น ได้ว่า บางคนอาจจะไม่ลำบากในเรื่องที่นอน แต่ลำบากในเรื่องอาหาร บางคน ไม่ลำบากในเรื่องอาหาร เป็นผู้ที่บริโภคง่าย รับประทานง่าย แต่เป็นผู้ที่ลำบาก ในเรื่องการนอน
นี่ก็เป็นชีวิตจริงในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทุกชาติก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมา
สำหรับอีกท่านหนึ่ง คือ ท่านสภิยเถระ
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต สภิยเถรคาถาที่ ๓ มีข้อความว่า
ท่านพระสภิยะท่านเกิดในครรภ์ของนางปริพาชิกาท่านหนึ่งซึ่งเป็นธิดากษัตริย์ ได้ยินว่า นางปริพาชิกานั้นเป็นธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง มารดาบิดานั้นได้มอบธิดานั้นให้แก่ปริพาชกคนหนึ่ง เพื่อให้ศึกษาลัทธิของปริพาชก
มีความเลื่อมใสมากในปริพาชก จนกระทั่งมอบธิดาให้แก่ปริพาชก เพื่อให้ศึกษาลัทธิของปริพาชก
ปริพาชกคนหนึ่งปฏิบัติผิดกับนาง นางจึงตั้งครรภ์ เมื่อปริพาชกนั้นเห็น นางมีครรภ์ก็ได้หนีไป ส่วนนางก็ได้ออกจากสำนักนั้นไปที่อื่น และได้คลอดบุตรในสภา ในระหว่างทาง และได้ตั้งชื่อบุตรว่าสภิยะ
เมื่อสภิยะเติบโตขึ้น ได้บวชเป็นปริพาชก เรียนศาสตร์ต่างๆ เป็นมหาวาที เที่ยวขวนขวายในวาทะ ไม่เห็นบุคคลผู้เสมือนกับตน จึงได้สร้างอาศรมใกล้ประตู พระนคร ให้ขัตติยกุมารเป็นต้นศึกษาศิลปะอยู่ ถือเอาปัญหา ๒๐ ข้อ ถาม สมณพราหมณ์เหล่านั้นๆ
ปัญหา ๒๐ ข้อนี้ ข้อความในอรรถกถากล่าวว่า
สหายในอดีตซึ่งเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้แต่งปัญหาเหล่านั้น ให้ท่าน ถามปัญหานั้นกับสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
จะเห็นได้ว่า ท่านที่ได้สะสมความเห็นถูกมาเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้ว่าจะได้คบหากับผู้ที่มีความเห็นผิด เช่น พวกปริพาชก แต่กุศลในอดีตก็เป็นปัจจัยทำให้ท่านกลับมาเห็นถูกได้ แม้ว่าจะมีการคบหากับผู้ที่มีความเห็นผิดก็ตาม
สภิยปริพาชกได้ไปเฝ้าพระศาสดา ณ พระวิหารเวฬุวัน และทูลถามปัญหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นแล้ว ท่านทูลขออุปสมบท บรรลุพระอรหันต์
เมื่อท่านพระเทวทัตพยายามเพื่อทำลายสงฆ์นั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นฝักฝ่ายแห่งท่านพระเทวทัต ท่านพระสภิยะจึงกล่าวธรรม ๔ คาถาเหล่านี้ว่า
พวกอื่นเว้นบัณฑิตย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราที่ทะเลาะวิวาทกันนี้ จะพากัน ย่อยยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ พวกใดมารู้ชัดในท่ามกลางสงฆ์นั้นว่า พวกเราพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไปได้จากสำนักของพวกนั้น เมื่อใดเขา ไม่รู้ธรรมอันเป็นอุบายระงับการทะเลาะวิวาทตามความเป็นจริง ประพฤติอยู่ ดุจไม่แก่ ไม่ตาย เมื่อนั้นความทะเลาะวิวาทก็ไม่สงบลงได้
ถ้าชนเหล่าใดมารู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง เมื่อสัตว์ทั้งหลายพากันเร่าร้อนอยู่ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เร่าร้อน ความทะเลาะวิวาทของพวกเขา ย่อมระงับไปได้ โดยส่วนเดียว
การงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ย่อหย่อน วัตรอันเศร้าหมอง และพรหมจรรย์ อันบุคคลพึงระลึกด้วยความสงสัย กรรม ๓ อย่างนั้นย่อมไม่มีผลมาก
ผู้ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น
จบ สภิยเถรคาถา
คำที่น่าฟังซึ่งทุกคนได้ยินและเปรียบอยู่เสมอ คือ ฟ้ากับดิน ไม่ว่าอะไร ก็ตามที่ห่างกันมาก จะใช้คำอุปมาที่แสดงให้เห็นถึงความต่างกัน คือ ฟ้ากับดิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กว่ากุศลและปัญญาจะเจริญได้ จะต้องพิจารณาแม้ความเคารพ ในเพื่อนพรหมจรรย์ เพราะในขณะที่ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ขณะนั้น เป็นอกุศลจิต และแม้เพียงขณะที่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ขณะนั้นก็เป็น กุศลจิต
เคยมีใครคิดบ้างไหมว่า ท่านห่างไกลเหมือนฟ้ากับดิน ในขณะที่ขาด ความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ แม้เพียงเล็กน้อยเท่านี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่เจริญ ของกุศล เพราะเมื่อไม่เคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ก็คือขณะนั้นไม่กระทำเพื่อละคลายกิเลส เพียงเล็กน้อยนิดเดียว แต่ให้เห็นถึงกำลังของกิเลสที่ทำให้ไม่มีความเคารพ ในเพื่อนพรหมจรรย์
ขณะใดที่เกิดสติระลึกได้ จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่ได้ทำการละคลายหรือขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แม้ในขณะที่อกุศลประเภทต่างๆ เกิดขึ้น
และข้อความที่ว่า ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดิน ก็เตือนให้ท่านพิจารณาตนเองว่า ท่านเป็นผู้ที่ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดินหรือเปล่า หรือ ไม่ห่างไกลถึงแค่นั้น อาจจะใกล้กว่านั้น
ที่กล่าวว่า ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดิน ก็เพราะการรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย และความดีเพียงความนอบน้อม ความเคารพใน เพื่อนพรหมจรรย์เท่านั้นยังทำไม่ได้ สิ่งที่ยากกว่านั้น คือ การประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จะเป็นไปได้อย่างไร
ใครก็ตามที่มีอกุศลและไม่เห็นโทษของอกุศลนั้นแม้เพียงเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า ความดีที่จะทำเพื่อละอกุศลในขณะนั้นยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น การรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมก็ต้องยากยิ่งกว่านั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะรีบทำความดีไหม จะรีบละอกุศลในขณะนั้นที่กำลังเกิดไหม
ข้อความในอรรถกถาที่ว่า ฟ้ากับดิน ฟ้า คือ อากาศ ไกลจากดินโดยสภาวะความเป็นจริงแห่งธาตุ คือ ไม่มีสภาวะเจือกันแม้ในบางคราว
นี่คือความหมายของคำว่า ฟ้ากับดิน ที่ห่างไกลกัน
ท่านผู้ฟังได้ฟังชีวิตของพระสาวกต่างๆ และการอบรมเจริญปัญญาของท่าน ตั้งแต่ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ ท่านผู้ฟังอยากจะมีชีวิตแบบไหน เป็นสิ่งที่น่าพิจารณามาก เพราะว่าชีวิตทุกชีวิตแสนสั้น ไม่นานเลย แต่ละภพ แต่ละชาติ ทุกคนมีเวลาไม่มากในชาตินี้ คงจะไม่เกิน ๑๐๐ ปีสำหรับท่านที่จะมีอายุยืนยาว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพระชนม์อยู่เพียง ๘๐ พรรษา แม้ว่าในสมัยของพระองค์อายุกัปจะเป็น ๑๐๐ ปีก็ตาม
เพราะฉะนั้น การที่จะให้ชีวิตที่เกิดมาชั่วคราวและตายไปดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร ก็ต้องแล้วว่าชีวิตของแต่ละท่านที่จะดำเนินไป ดำเนินไปด้วยกำลังของอวิชชา หรือด้วยกำลังของปัญญา