แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1918
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๓
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค อรรถกถาอนาถปิณฑิโกวาทสูตร มีข้อความว่า
อุบาสกท่านนี้ สะสมกุศลมาในการเป็นผู้ยินดียิ่งในทาน
แต่ละอัธยาศัย ไม่เหมือนกัน ท่านเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่า อุบาสกสาวกผู้ถวายทาน
เมื่อจะไปสำนักพระผู้มีพระภาคจึงไม่เคยไปมือเปล่า เมื่อจะไปก่อนฉัน ก็ให้คนเอาข้าวต้มและของขบเคี้ยวเป็นต้นแล้วจึงไป เมื่อจะไปหลังฉันแล้ว ก็ให้เอาเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้นแล้วจึงไป เมื่อไม่มีสิ่งนั้น ก็ให้แบกหามทราย เอาไปเกลี่ยลงในบริเวณพระคันธกุฎี ครั้นให้ทานรักษาศีลแล้ว จึงกลับไปสู่เรือน
เล่ากันว่า ตราบใดที่เท้าของท่านคฤหบดียังพาไปได้ ตราบนั้นท่านก็ได้ทำการบำรุงพระผู้มีพระภาควันละครั้ง ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ไม่ขาด และท่านบำรุง พระศาสดาเท่าใด ก็บำรุงพระเถระเท่านั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ท่านจะไม่สู่พระวิหารเชตวันก็เมื่อท่านเจ็บหนัก เดินไม่ได้แล้วเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงขันติ ความอดทน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ท่านเป็นพระอริยสาวกแล้ว แต่ท่านสะสมอุปนิสัยในการที่จะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกสาวกผู้ถวายทาน ท่านก็มีความอดทนที่จะไปสู่สำนักพระเชตวันเพื่อบำรุงพระผู้มีพระภาคและพระเถระทั้งหลาย
เล่ากันว่า อุบาสกท่านนี้มีคติแบบพระโพธิสัตว์ ฉะนั้น ตลอดเวลา ๒๔ ปี โดยมากพระผู้มีพระภาคตรัสแต่ทานกถาเท่านั้นแก่อุบาสกว่า อุบาสก ธรรมดาว่า ทานนี้เป็นทางดำเนินของเหล่าโพธิสัตว์ เป็นทางดำเนินของเราด้วย เราได้ให้ทาน มาเป็นเวลา ๔ อสงไขยแสนกัป ท่านก็ชื่อว่า ดำเนินตามทางที่เราได้ดำเนินมาแล้วโดยแท้ ถึงพระมหาสาวกมีพระธรรมเสนาบดีเป็นต้น ในเวลาที่อุบาสกมาสู่สำนัก ของตนๆ ก็แสดงแต่ทานกถาแก่ท่านเหมือนกัน
แต่ในขณะที่ท่านนอนป่วยหนัก ใกล้สิ้นชีวิต ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรมเรื่องการละความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงแก่ท่าน คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาเปี่ยมอยู่แล้ว เพราะว่าท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านจึงซาบซึ้งในธรรมกถานั้นอย่างยิ่ง
เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีร้องไห้ น้ำตาไหล ขณะนั้นท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า
ดูกร คฤหบดี ท่านยังอาลัย ใจจดใจจ่ออยู่หรือ
ท่านอนาถบิณฑิกะกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัย มิได้ใจจดใจจ่อ แต่ว่ากระผมได้นั่งใกล้พระศาสดาและหมู่ภิกษุที่น่าเจริญใจมานานแล้ว ไม่เคยได้สดับ ธรรมีกถาเห็นปานนี้
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูกร คฤหบดี ธรรมีกถาเห็นปานนี้มิได้แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต
ท่านอนาถบิณฑิกะกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านพระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นขอธรรมีกถาเห็นปานนี้ จงแจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาวบ้างเถิด เพราะมีกุลบุตรผู้เกิดมามีกิเลสธุลีในดวงตาน้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ไม่รู้ธรรม โดยมิได้สดับ
การที่จะละกิเลส และการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย จะต้องอดทนทั้งผู้ที่กล่าว ธรรมเรื่องการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และต้องอดทนทั้งผู้ที่ฟังพระธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย
ตลอดเวลา ๒๔ ปีของท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านมีคติแบบพระโพธิสัตว์ เพราะว่าท่านยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ได้ดับกิเลสอื่นเป็นสมุจเฉท ท่านเพียงแต่ดับสักกายทิฏฐิและความเห็นผิดทั้งหมด ดับวิจิกิจฉา ความสงสัยในสภาพธรรม ในพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้น ตลอดเวลา ๒๔ ปีของท่าน ท่านก็มีชีวิตแบบ พระโพธิสัตว์
ท่านผู้ฟังจะมีชีวิตอีกกี่ปี ซึ่งทุกคนก็จะต้องอดทนในการเจริญกุศลที่เป็นบารมี ถ้าไม่มีความอดทน กุศลก็เจริญไม่ได้ บารมีก็เต็มเปี่ยมไม่ได้
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา นิทานกถาวรรณนา มีข้อความว่า
ปัญญาบารมีที่ส่งเสริมเพิ่มเติมด้วยบารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้น ของพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายแม้เหล่านี้ ย่อมตั้งท้อง ถึงความสุกงอม ยังพระพุทธญาณให้บริบูรณ์โดยลำดับฉันใด ปัญญาบารมีที่ส่งเสริมเพิ่มเติมด้วย บารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้นของพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตั้งท้อง ถึงความสุกงอม ยังพระปัจเจกโพธิญาณและ สาวกโพธิญาณให้บริบูรณ์ตามสมควรโดยลำดับ
แสดงให้เห็นถึงความอดทนต่อไป ไม่ใช่ความอยากที่จะรู้แจ้ง ต้องอดทน เจริญปัญญาโดยไม่หวังผล คือ ไม่คิดว่าชาตินี้ขอให้ได้บรรลุนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ควรที่จะหวังผลเลย หวังไม่ได้ เพราะว่าต้องเป็นการอบรมเจริญบารมีไปเรื่อยๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็ความอดทนอย่างยิ่งในการบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เพื่อปัจเจกโพธิญาณหรือสาวกโพธิญาณ นี้ชื่อว่าวิริยะ ความอดทนต่อความโกรธนั้นใด นี้ชื่อว่าขันติ การให้ทาน การสมาทานศีล เป็นต้น และการไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความ เป็นจริงอันใด นี้ชื่อว่าสัจจะ การอธิษฐานใจที่ไม่หวั่นไหวแน่วแน่อันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไปนั่นแหละ ชื่อว่าอธิษฐาน การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้น นี้ชื่อว่าเมตตา การวางเฉยในประการที่ ไม่เหมาะสมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว ชื่อว่าอุเบกขา ดังนั้น เมื่อทาน ศีล ภาวนา และศีล สมาธิ ปัญญามีอยู่ บารมีทั้งหลายมีวิริยบารมีเป็นต้น ย่อมชื่อว่า สำเร็จแล้วทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้
ยากไหม เพียงอยากไม่พอ ต้องพร้อมด้วยเหตุ คือ บารมี
สำหรับขันติบารมี ซึ่งเป็นการอบรมความอดทน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความตอนหนึ่งที่เตือนให้ระลึกถึง ขันติของตนเองว่า
อนึ่ง ผู้มีปัญญาเท่านั้นเป็นผู้มีความอดกลั้นต่อความเสียหายที่ผู้อื่นกระทำ ผู้มีปัญญาทราม ไม่เป็นผู้อดกลั้น
กาย วาจาที่ไม่ดีของคนอื่น ขณะใดที่สามารถอดกลั้น อดทน ไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคือง ขณะนั้นให้ทราบว่า เพราะขันติ และถ้ามีบ่อยๆ ก็จะเป็นความไม่ยาก ไม่ลำบากต่อการที่จะกระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือว่ากายวาจาที่ไม่ดีของคนอื่น
ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้แก่ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความ เป็นปฏิปักษ์ของความอดทน แต่ความเสียหายเหล่านั้นของผู้มีปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งขันตินั้น ด้วยเพิ่มพูนความสมบูรณ์แห่งขันติ
ในที่นี้มี ๒ บุคคล ผู้มีปัญญากับผู้ทรามปัญญา ถ้าเป็นผู้มีปัญญา ไม่ว่า ความเสียหายใดๆ ที่คนอื่นกระทำกับท่าน ย่อมเพิ่มพูนความมั่นคง ความสมบูรณ์แห่งขันติ แต่ถ้าเป็นผู้ทรามปัญญา ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้แก่ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ของความอดทน
ต่อไปนี้ไม่เดือดร้อน ใครทำอะไรให้ ก็เป็นแบบฝึกหัด เป็นการทดลองพิสูจน์ว่า ท่านมีขันติ มีความอดทน เพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้ามีขันติ มีความอดทนเพิ่มขึ้น ก็จะรู้ได้ว่า เพิ่มขึ้นอีกๆ และเป็นบารมีด้วย แต่กายวาจาที่ไม่ดีของคนอื่น ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ของความอดทน ทันทีนั้นเลยที่ได้ยิน ดูปฏิกิริยาหรือการตอบโต้ของท่านต่อบุคคลซึ่งกระทำความเสียหายให้แก่ท่าน เพื่อจะได้ทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่ปราศจากปัญญา หรือเป็น ผู้ที่มีปัญญา
สำหรับความเพียรที่ควรกระทำ วิริยเจตสิกเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องความเพียรที่เป็นกุศล ที่ควรกระทำด้วย
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อาตัปปสูตร ข้อ ๔๘๙
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเพียรพึงกระทำโดยสถาน ๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ ความเพียรพึงกระทำเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๑ เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ เพื่ออดกลั้นเวทนาที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนข่มขื่นไม่เจริญใจพอจะคร่าชีวิตได้ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุทำความเพียรเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศล อันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่ออดกลั้นเวทนาที่เกิดในกายอันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนข่มขื่นไม่เจริญใจพอจะคร่าชีวิตได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญา มีสติ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ
จบ อาตัปปสูตรที่ ๑๐
ข้อความสั้นมาก แต่ทำให้ระลึกได้ถึงความเพียรที่พึงกระทำโดยสถาน ๓ ซึ่งจะต้องเพิ่มขันติ ความอดทนขึ้น
ข้อความในอรรถกถามีว่า
บทว่า อธิวาสนาย ได้แก่ เพื่อต้องการยับยั้ง คือ เพื่อต้องการอดทน ได้แก่ เพื่อต้องการอดกลั้น
ความอดทนทุกประการในความเป็นอยู่ ในสถานการณ์ต่างๆ เป็นเครื่อง พิสูจน์ถึงขันติ ความอดทน
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อักขมสูตร ข้อ ๘๕
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่เป็น ที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เถระเป็นผู้ไม่อดทน ต่อรูปารมณ์ ๑ เป็นผู้ไม่อดทนต่อสัททารมณ์ ๑ เป็นผู้ไม่อดทนต่อคันธารมณ์ ๑ เป็นผู้ไม่อดทนต่อรสารมณ์ ๑ เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพารมณ์ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อม ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์
ฝ่ายตรงกันข้าม คือ ผู้ที่อดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ฉะนั้น ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ และ ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุเท่านั้น แต่สำหรับพุทธบริษัท ทั้งหมดด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา
แสดงให้เห็นว่า ความจริงย่อมเป็นความจริง คือ ผู้ที่จะเป็นที่รัก ที่พอใจ ที่เคารพ ที่ยกย่อง ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
บางคนไม่ได้พิจารณาเรื่องของความอดทน และไม่ได้สะสมความอดทน เพราะฉะนั้น จะเห็นอันตรายของคนที่ทนไม่ได้ เพราะคนนั้นจะทนไม่ได้แม้ความสุขของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของตัวเองเลย ตัวเองก็มีความสุข ไม่มีความเดือดร้อน แต่ผู้ที่ ไม่อดทนและมีความไม่อดทนอย่างมากที่เคยสะสมมาแล้ว จะทำให้เป็นผู้ที่ทนไม่ได้ แม้ในความสุขของคนอื่น
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต มัจฉริยสูตร ข้อ ๑๑๕ มีข้อความว่า
บทว่า อาวาสมัจฉรินี เห็นผู้อื่นอยู่ในอาวาสนั้น ทนไม่ได้
ต้องพิจารณาตนเองว่า เคยมีความคิด ความรู้สึกแม้เพียงเล็กน้อยอย่างนี้ บ้างไหม เวลาที่เห็นอาวาสที่อยู่ที่อาศัยของคนอื่น บางทีมีการพูดถึง มีการวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่ในขณะนั้นไม่ได้พิจารณาจิตว่า จิตที่กล่าวถึงอาวาสที่อยู่ที่อาศัย บ้านเรือนของคนอื่นเป็นจิตประเภทใด ทนได้หรือเปล่าต่อการที่จะเห็นรูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าทนไม่ได้ในการเห็นผู้อื่นอยู่ในที่อยู่อาศัยนั้น ก็จะมีคำพูดที่แสดง ให้เห็นถึงความทนไม่ได้ ในขณะที่เห็นแม้เพียงที่อยู่ของคนอื่น
กุลมัจฉรินี เห็นผู้อื่นเข้าไปหาตระกูลนั้น ทนไม่ได้
มีญาติสนิทมิตรสหาย มีบริวาร มีพวกเพื่อนฝูงซึ่งติดต่อคบหาสมาคมกับ สกุลใด และท่านมีความรู้สึกไม่พอใจ ทนไม่ได้ ไม่ใช่พวกพ้อง ไม่ใช่พรรคพวก ขณะนั้นให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้อดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ลาภมัจฉรินี เห็นลาภเกิดแก่ผู้อื่น ทนไม่ได้
วัณณมัจฉรินี เห็นเขากล่าวคุณความดีของคนอื่น ทนไม่ได้
ธัมมมัจฉรินี ไม่ปรารถนาจะให้ปริยัติธรรมแก่ผู้อื่น
คือ ไม่เกื้อกูลให้คนอื่นมีความรู้มีความเข้าใจมากๆ เพราะอาจจะเกรงว่า คนอื่นจะเก่งกว่า
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งท่านได้ฟังพระธรรม และท่านก็มีโอกาสเกื้อกูลธรรมแก่คนอื่น แต่ในตอนต้นๆ ท่านไม่กล่าวธรรมที่จะทำให้คนอื่นมีความเข้าใจมาก เพราะท่านเกรงว่าคนนั้นจะเข้าใจมากกว่าท่าน ต่อมาภายหลังท่านมีความเข้าใจธรรมมากขึ้นว่า เป็นเรื่องของการละ เป็นเรื่องของการขัดเกลา เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้น ก็ได้เล่าให้ฟังถึงในตอนต้นที่ไม่อยากให้คนอื่นเก่งกว่า แต่ภายหลังก็เห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งทุกคนสะสมมาอย่างไร จะมีความรู้ความสามารถอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ แต่ละท่านจะต้องกระทำกิจ คือ การขัดเกลากิเลสของตนเอง แสดงให้เห็นถึงความอดทน ที่จะต้องมีสติเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในกุศล จึงจะสามารถอดทนได้ และควรที่จะได้ทราบว่า ข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวถึง คุณของขันติ และโทษของอขันติ คือ ความไม่มีขันติ อย่างไร
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมอขันติสูตร ข้อ ๒๑๕
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก ย่อมเป็นผู้ มากด้วยเวร ย่อมเป็นผู้มากด้วยโทษ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้แล