แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1919

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๓


เป็นความจริงที่ว่า ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคน เป็นอันมาก ย่อมเป็นผู้มากด้วยเวร

เวลาที่กระทบสิ่งที่ไม่พอใจและหงุดหงิด ขณะนั้นให้ทราบว่า จะต้องเป็นอุปนิสัยที่สะสมทำให้มีความขุ่นใจ ไม่พอใจอยู่บ่อยๆ เนืองๆ มากกว่าคนที่อดทน เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นผู้ที่มากด้วยโทษ เพราะเมื่อเป็นอกุศลของตนเอง ตนเอง ก็ต้องเป็นผู้ได้รับโทษจากอกุศลของตน คนอื่นจะทำโทษให้กับบุคคลนั้นไม่ได้เลย นอกจากกิเลสของตนเอง และ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ

เวลาที่ไม่อดทนมากๆ ลืมตัวด้วยความโกรธ และถ้าเป็นบ่อยๆ จะทำให้ แม้ในขณะที่ใกล้จะสิ้นชีวิต หากเกิดมีความโกรธ ความเจ็บ ความปวด ความ ไม่พอใจอย่างรุนแรง ขณะนั้นย่อมไม่อดทน เพราะไม่ได้อบรมที่จะเป็นผู้ที่มีความอดทน และเมื่อไม่อดทนก็ต้องเป็นไปตามอกุศลในขณะนั้น จึงเป็นผู้ที่หลงกระทำกาละ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่จะไปสู่ที่ไหน ถ้าใกล้จะจุติ จิตเศร้าหมอง ขณะนั้นก็ไม่มีใครสามารถช่วยได้จริงๆ เมื่อจิตใกล้จะจุติเป็นจิตที่เศร้าหมอง ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งเป็นโทษเป็นภัยน่ากลัวมากกว่าโลกนี้มากมายเหลือเกิน

คนที่อยู่ในโลกนี้ ขณะนี้เข้าใจว่ามีปัญหามาก ปัญหาในเรื่องของความเป็นอยู่ ปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจ ความทุกข์ยาก ปัญหาเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ปัญหาชีวิตในครอบครัว เข้าใจว่ามีปัญหามากแล้ว แต่ให้ทราบว่า ถ้าเกิด ในอบายจะต้องได้รับภัย ความเจ็บ ความปวด ความทรมานมากกว่าโลกนี้มากทีเดียว

นี่ก็เป็นโทษของความไม่อดทน ซึ่งสำหรับโทษของความไม่อดทนในอีก สูตรหนึ่ง คือ ทุติยอขันติสูตร ข้อ ๒๑๖ มีข้อความคล้ายๆ กัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก ๑ ย่อมเป็นผู้โหดร้าย ๑ ย่อมเป็นผู้เดือดร้อน ๑ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้แล

ถ้าพิจารณาจากชีวิตประจำวันจริงๆ จะเห็นได้ว่า ความทุกข์ทั้งหมดเกิดจากความไม่อดทน มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า คนร่วมบ้านของท่านเวลาที่อาหารไม่อร่อย โกรธเกรี้ยว แสดงให้เห็นถึงขณะนั้นไม่อดทน เพียงอาหารไม่อร่อย ยังไม่ได้เดือดร้อน ยังไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย ยังไม่ได้มีทุกข์เรื่องอื่นๆ เลย แต่แม้กระนั้นเพียงอาหารไม่อร่อยก็ไม่อดทน โวยวาย บ่นว่า เอ็ดตะโร

เปรียบเทียบดูว่า ถ้าเป็นผู้ที่อดทน อาหารไม่อร่อยก็เป็นเรื่องแสนจะธรรมดา จะให้อาหารอร่อยได้อย่างไรทุกมื้อ บางมื้ออาจจะเป็นอาหารที่ไม่อร่อยก็ได้ ไม่ถูกปากคนนี้ แต่อาจจะถูกปากคนนั้น แต่ถ้าตนเองรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย ก็แก้ไขโดยดี มีกายวาจาที่ประกอบด้วยเมตตา ปรุงใหม่ ช่วยกันเติมนั่นนิดนี่หน่อยให้รสชาติดีขึ้น ทุกคนก็สบายใจ แทนที่จะบ่น โวยวาย เกรี้ยวกราด และเวลาที่สติเกิดจะรู้ได้ว่า เพียงอดทนนิดเดียว จะทำให้ทุกอย่างดี ทุกคนมีความสุข ไม่เดือดร้อน

ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นมารยาทสากลจริงๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพราะฉะนั้น ควรที่จะเริ่มฝึกหัด คือ เป็นผู้ที่มีความอดทน อธิวาสนขันติ อดทนต่อความเป็นอยู่ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ทุกประการ และจะเห็นได้ว่า ทำไมผู้ที่ไม่อดทนจึงได้เป็นผู้ที่มากด้วยเวร และเป็นผู้ที่หลงกระทำกาละ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะถ้าอดทนไม่ได้ในบางสถานการณ์ จะทำให้มีการวิวาท มีการทุบตีชกต่อย เบียดเบียนฆ่าฟัน ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ได้เกิดจากอะไรอื่นเลยนอกจากการไม่อดทน หรือแม้แต่การทุจริตต่างๆ ในขณะนั้นก็เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่อดทนต่อโลภะและโทสะ

และบางท่านที่ไม่อดทน เพราะว่ามีสิ่งที่ไม่น่าพอใจกับมิตรสหายเพื่อนร่วมงาน ในขณะนั้นผู้นั้นก็ลืมคิดถึงประโยชน์ของตนเอง เพียงแต่คำว่า ประโยชน์ของตนเอง ขอให้ใคร่ครวญว่า ประโยชน์ของตนเองนั้นคืออะไร ประโยชน์จริงๆ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ที่ไหน จะทำกิจการงานอะไรทั้งสิ้น ประโยชน์ของตนเองนั้นคืออะไร

ก็คือการพิจารณารู้ว่า ขณะใดไม่ใช่แก้ไขคนอื่น หรือไม่ใช่ต้องการให้คนอื่นอดทน แต่ขณะที่ตัวท่านเองเริ่มที่จะอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นคือขณะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เจริญในกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทาน เรื่องศีล หรือแม้แต่ความเมตตา เพราะฉะนั้น บารมีทั้งหลายต้องมีความอดทนเป็น สิ่งสำคัญ แม้แต่ในเรื่องของทาน หรือในเรื่องของบารมีอื่นๆ

ความอดทนเป็นสิ่งที่ละเอียด ซึ่งทุกท่านที่ศึกษาธรรมก็เป็นผู้ที่อดทนต่อ การที่จะฟังและพิจารณาให้เข้าใจธรรมโดยฉลาด โดยแยบคาย ไม่ใช่เป็นผู้ที่เพียงแต่ฟังและคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริงอาจจะมีการหลงผิด หรือมีความเข้าใจผิด บางประการได้ เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น การฟังธรรม จะต้องมีความอดทนเพิ่มขึ้น คือ พิจารณาในเหตุในผลที่ถูกต้องจนกระทั่งสามารถ เห็นประโยชน์และเจริญกุศลยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็เพียงฟังและไม่พิจารณาด้วย ความแยบคาย ซึ่งจะทำให้ประพฤติผิด ปฏิบัติผิดได้

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พราหมณสูตร ข้อ ๑๔๘๒

พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้รู้ว่า ความอดทนที่ถูกและความอดทนที่ผิดคืออย่างไร

สาวัตถีนิทาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติปฏิปทา ชื่ออุทยคามินี

คือ ปฏิปทาหรือหนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความเจริญ

พวกเขาย่อมชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า ดูก่อน บุรุษผู้เจริญ มาเถิดท่าน ท่านจงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วเดินบ่ายหน้าไปทางทิศปราจีน ท่านอย่าเว้นบ่อ เหว ตอ ที่มีหนาม หลุมเต็มด้วยคูถ บ่อโสโครกใกล้บ้าน ท่านพึงตกไปในที่ใด พึงรอความตายในที่นั้น ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อแตกกายตายไป ท่านจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

คำสอนอย่างนี้ก็มี สอนให้อดทน แต่ให้ดูประโยชน์ว่า ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ความอดทนนั้นไม่มีประโยชน์เลย จะมีประโยชน์อะไรในการอดทนเดินไป ทิศหนึ่งและไม่ว่าอะไรจะขวางหน้า บ่อ เหว ตอที่มีหนาม เต็มไปด้วยคูถ บ่อโสโครกใกล้บ้าน ถ้าพึงตกไปในที่ใด พึงรอความตายในที่นั้น ให้อดทนทำไมอย่างนี้ มีประโยชน์อะไร แสดงให้เห็นว่า คำสอนที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีเหตุผล

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยอริยวสสูตร ข้อ ๒๐ มีข้อความว่า

คำว่า ปัจเจกสัจจะ คือ ความเห็นผิดเฉพาะแต่ละบุคคล

ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า ปัจเจก บ่อยๆ เช่น พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ในทีนี้ เป็นปัจเจกสัจจะ ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง สัจจะในที่นี้เป็นความคิดของคนที่เห็นผิด และคิดว่า สิ่งนั้นจริง สิ่งนั้นถูก เพราะฉะนั้น ปัจเจกสัจจะเป็นความเห็นผิดเฉพาะ แต่ละบุคคล ซึ่งคำสอนของพราหมณ์ผู้นี้แสดงให้เห็นถึงความเห็นผิดของพราหมณ์ ผู้นั้น

พราหมณสูตร ข้อ ๑๔๘๓ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อบัญญัติของพราหมณ์ทั้งหลายนั้น เป็นทางดำเนินของคนพาล เป็นทางดำเนินของคนหลง ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ส่วนในอริยวินัย เราก็บัญญัติปฏิปทาชื่ออุทยคามินี ที่เป็นไปเพื่อความหน่าย โดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ชื่อเหมือนกัน คือ อุทยคามินี หนทางปฏิบัติเพื่อความเจริญ แต่ความหมายผิดกัน ข้อปฏิบัติผิดกัน หนทางปฏิบัติผิดกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุทยคามินีปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียวเพื่อนิพพาน เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า … ในพระธรรม … ในพระสงฆ์ … ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธินี้แล คือ อุทยคามินีปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

จบ พราหมณสูตรที่ ๒

ข้อความสั้น แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตาม ความเป็นจริง คือ หนทางที่จะทำให้คลายกำหนัด เข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

มีธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะละความยึดมั่น การยึดถือเห็น ในขณะนี้ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีหนทางเดียว คือ ปัญญาต้องเกิดพร้อมสติที่ระลึกได้ รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา และ สภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้มีจริงๆ กำลังเห็น ระลึกได้ รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย ไม่ว่าเมื่อไร ขณะไหน

ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีความอดทนที่จะค่อยๆ ระลึก และค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ขณะที่กำลังฟัง ในขณะนี้

เป็นความอดทนอย่างนี้หรือเปล่า อุทยคามินีปฏิปทา หนทางเดียวที่จะทำให้ปัญญาเจริญ เรื่องของความอดทน ต้องเป็นไปในทางกุศลทั้งสิ้น

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงลักษณะของขันติ เพื่อเมื่อขันติเกิดจะได้รู้ว่านั่นคือขันติ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้สึกตัว รู้ลักษณะของแม้ความอดทนในขณะที่ กำลังอดทนด้วย

การอดกลั้นโทษของสัตว์และสังขาร

ไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไรต่อท่าน หรือแม้แต่เพียงการนึกถึงคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นซึ่งเคยได้ยินได้ฟังแม้นานมาแล้ว จะเป็นการทดสอบว่า ขณะนั้นจิตที่คิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศล ยังโกรธ ขณะนั้นเป็นผู้ที่ ไม่ได้เจริญขันติหรือความอดทน เพราะฉะนั้น ลักษณะของขันติ ความอดทน คือ การอดกลั้นโทษของสัตว์และสังขาร ไม่ได้นึกถึงการกระทำเก่าก่อนของบุคคล ซึ่งกระทำต่อท่านให้ขุ่นเคืองใจ แต่ถ้านึกก็อาจจะนึกด้วยเมตตาที่บุคคลนั้นไม่รู้ จึงได้กระทำผิดพลาดทั้งทางกาย ทางวาจา

การตั้งอยู่ในอโทสะ

ขณะที่ไม่โกรธขณะใด ขณะนั้นเป็นขันติ รับประทานอาหาร มีไหม ความขุ่นเคืองใจ ขันติมีหรือเปล่าในขณะนั้น

จิตเกิดขึ้นเป็นไปในอาการของอโทสะนั้น เป็นขันติบารมี ขันติบารมีมีความอดทนเป็นลักษณะ มีความอดกลั้นสิ่งที่น่าปรารถนาและ ไม่น่าปรารถนาเป็นรสะ (คือ เป็นกิจ) มีความอดกลั้นหรือความไม่โกรธเป็น ปัจจุปัฏฐาน (คือ เป็นอาการที่ปรากฏ) มีเห็นตามความเป็นจริงเป็นปทัฏฐาน

รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ศึกษา กำลังศึกษา กำลังเข้าใจธรรม แต่คนอื่นยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่เข้าใจ หรืออาจจะศึกษาเพียงเล็กน้อยและเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ท่านจะโกรธคนที่เขาไม่ได้ศึกษาในเมื่อท่านเป็นผู้ที่ เข้าใจธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควร นี่คือการรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นปทัฏฐาน ให้มีความอดทน

สำหรับความเศร้าหมองของขันติ หรือความเศร้าหมองของบารมีอื่นๆ ก็มี คือ การที่ทุกท่านจะเจริญบารมี ไม่ได้หมายความว่ากุศลจิตจะเกิดจนกระทั่งมีกำลัง และอกุศลจิตจะไม่เกิดเลย เพราะฉะนั้น บางครั้งก็มีปัจจัยที่ทำให้กุศลจิตเกิดมาก มีความอดกลั้น มีความอดทน แต่ในบางครั้งจะสังเกตได้ว่า แม้ความอดกลั้น หรือความอดทนนั้นก็เศร้าหมอง ไม่ผ่องใสเท่าที่ควรจะเป็น

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความว่า

ความเศร้าหมองแห่งขันติบารมี เพราะกำหนดตนและผู้อื่น

ความอดทนบางท่านมีจำกัด คือ เฉพาะกับบางบุคคล หรือบางทีท่านก็มีการเปรียบเทียบ มีการนึกถึงคนอื่นกับตัวท่าน ขณะนั้นทำให้ไม่อดทน เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความอดทนเพิ่มขึ้นๆ และบางกาลเกิดไม่อดทน ขณะนั้นให้ทราบว่า ความเศร้าหมองแห่งขันติบารมี เพราะกำหนดตนและผู้อื่น

ความลูบคลำด้วยตัณหาเป็นต้น เป็นความเศร้าหมองแห่งบารมีทั้งหลาย โดยไม่ต่างกัน

บารมีมีถึง ๑๐ เพราะฉะนั้น บารมีทั้ง ๑๐ จะเศร้าหมองในขณะที่เกิดโลภะ ความยินดี ความติดข้อง

แต่โดยความต่างกัน ทรงแสดงไว้ว่า

แต่โดยความต่างกัน เป็นความเศร้าหมองแห่งทานบารมี เพราะกำหนด ไทยธรรมและปฏิคาหก

บางทีเวลาที่ให้ เลือกผู้รับ และเลือกไทยธรรม อาจจะเป็นด้วยฉันทาคติ ด้วยความรัก หรือด้วยภยาคติ ด้วยความกลัว หรือด้วยความชัง หรือด้วยความหลง ในขณะนั้นก็เป็นความเศร้าหมองแห่งทานบารมี ซึ่งทานบารมีควรจะเป็นไปใน บุคคลทั้งปวงโดยไม่ต่างกัน แต่ขณะใดที่เกิดมีความต่างกันโดยกำหนดไทยธรรมและปฏิคาหกคือผู้รับ ในขณะนั้นให้สังเกตลักษณะของทานบารมีว่า เศร้าหมองไม่ผ่องใสเท่าที่ควร

นี่คือความละเอียดในชีวิตประจำวัน ในสังสารวัฏฏ์ ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติกว่าบารมีทั้งหลายจะสมบูรณ์ได้

สำหรับศีลบารมี

เป็นความเศร้าหมองแห่งศีลบารมี เพราะกำหนดบุคคลและกาลเวลา

บางทีก็เว้นได้เฉพาะบางบุคคล เช่น ผู้ที่เคารพ มารดาบิดา เป็นต้น มีการแสดงความนอบน้อมทางกาย ทางวาจา เป็นศีลที่ดี แต่สำหรับบุคคลอื่นก็ ไม่ทำอย่างนั้น หรืออาจจะกำหนดกาลเวลา เช่น วันพระ หรือวันที่รักษาศีล ขณะนั้นรู้สึกว่าสมบูรณ์ดี แต่นอกจากนั้นไม่สมบูรณ์ ขณะนั้นก็เป็นความเศร้าหมองของ ศีลบารมี

ความเศร้าหมองแห่งเนกขัมมบารมี เพราะกำหนดความยินดีและความไม่ยินดีในการเข้าไประงับกิเลสนั้นในกามภพ

ความเศร้าหมองของปัญญาบารมี เพราะกำหนดว่า เรา ของเรา ดังนี้

ปัญญาของเรา เพียงเท่านี้ก็เศร้าหมองเสียแล้ว เพราะขณะนั้นมีความติดข้องในแม้ปัญญาของเรา

ความเศร้าหมองของวิริยบารมี เพราะกำหนดด้วยความหดหู่และความฟุ้งซ่าน

ความเศร้าหมองของขันติบารมี เพราะกำหนดตนและผู้อื่น

ความเศร้าหมองของสัจจบารมี ด้วยการว่าเห็นในสิ่งที่ไม่ได้เห็นเป็นต้น

ความเศร้าหมองของอธิษฐานบารมี เพราะกำหนดด้วยโทษและคุณ ในโพธิสมภาร และฝ่ายตรงกันข้ามกับโพธิสมภาร

ความเศร้าหมองของเมตตาบารมี เพราะกำหนดด้วยประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์

ความเศร้าหมองของอุเบกขาบารมี เพราะกำหนดด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา

บางทีสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็อุเบกขาได้ แต่พอถึงสิ่งที่น่าปรารถนา อุเบกขาไม่ได้เสียแล้ว เป็นความละเอียดจริงๆ ยิ่งเข้าใจความละเอียดของพระธรรมมากเท่าไร การที่ท่านจะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น โดยที่แต่ก่อนนี้ท่านอาจจะคิดว่า ท่านทำไม่ได้ บารมีทั้ง ๑๐ นี่ สุดวิสัยจริงๆ แต่ขอให้คิดว่า ถ้าเริ่ม และค่อยๆ เห็นประโยชน์ ค่อยๆ อบรมไป ทุกบารมีจะ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อนั้นก็จะเห็นได้ว่า การฟังและการศึกษาพระธรรมมีประโยชน์ อย่างใหญ่หลวง เพราะทำให้เกิดผล คือ การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมได้ ซึ่งก่อนนั้นคิดว่า ทำไม่ได้

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565