แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1921
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๓
ถ. เรื่องเกี่ยวกับขันติ ความอดทน ท่านอาจารย์อธิบายมามากทีเดียว ให้เห็นโทษของขันติที่มีมากมาย ควรจะเจริญขันติให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ขอถามว่า จะให้เจริญอย่างไร
สุ. ขันติ ใช่ไหม
ถ. ใช่ ก่อนอื่นผมขออนุญาตเล่าอะไรสักนิด เพราะเวลาฟังท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องขันติ อดนึกถึงเวลาที่ผมเป็นหนุ่มๆ ไม่ได้ ตอนผมเป็นนักเรียนนายร้อย ไปอยู่ป่าที่เพชรบูรณ์ ระหว่างสงครามโลกครั้ง ๒ ต้องไปอยู่ป่าจริงๆ ต้องทำงาน ทุกอย่างด้วยตัวเอง เขาให้เอามีดไปคนละเล่ม มีดเล่มเดียวนี้สร้างบ้านสร้างเรือน สร้างโรงเรียนที่ผมอยู่เอง เริ่มตั้งแต่ถางป่า ถางป่าเสร็จแล้วต้องตัดไม่ไผ่ ทำทุกอย่าง ลงเสา ตั้งเสา ... แม้แต่มุงแฝก แต่ตอนหลังไปจ้างเขามุง เราก็เครียดกันมาก อยากกลับบ้าน ประเด็นของผม คือ เครียดเหลือกำลังจริงๆ เหนื่อยเหน็ดและเกลียดผู้กองที่สุด ขออนุญาตเอ่ยชื่อ ที่เอ่ยครั้งแรกเหมือนเกลียด แต่ตอนหลังรักท่านเหลือเกิน ตอนเป็นผู้กอง ท่านชื่อร้อยเอกจำรูญ วีณะคุปต์ ตอนหลังท่านมียศถึง พลโท ตอนหลังเรารักท่านมาก เพราะท่านเคี่ยวเข็ญเรามาก มากเสียจนเราเดือดร้อน เราพูดกันจนเข้าหูท่านว่า ทารุณโหดร้าย ใช้เราเยี่ยงทาส เราต้องเดิน ๘ กม. เข้าไปในป่าตั้งแต่ตีห้า รับอาหารใส่กระป๋องอาหาร อาหารนั้นเป็นเนื้อเอ็นแท้ๆ ต้องเอามีดถูหลายๆ หนจึงจะได้กิน เวลาโมงครึ่งจึงจะเอาข้าวมาให้ เราก็งัดเอาเนื้อเอ็น มากิน เขาเรียกชื่อให้เพราะว่าเนื้ออบ ก่อนอาหารนั้นต้องตัดไม้ก่อน จนเราเรียกว่า ออเดิร์ฟ ตัดไม้ร้อนๆ และไม้นี้ต้องกลมๆ แก่ๆ ยาวๆ ใหญ่ๆ เคาะดังก๊งๆ ถ้าดังก๊อกๆ ไม่เอา ใช้ไม่ได้ เป็นไม้อ่อน เราเดือดร้อนจนกระทั่งเข้าหูท่าน ท่านบอกเรา ๒ คำ คำแรกที่บอก คือ ที่ฝึกนี้ฝึกให้อดทน อดทนที่สำคัญที่สุด คือ อดทนต่อความไม่พอใจ
พวกเราชอบใจคำนี้ ซาบซึ้งเลย ชอบใจเพราะว่าท่านรู้จักหลอกเรา เราก็พูดกันเล่นเลยว่า อดทนต่อความไม่พอใจ เมื่อมาศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์ ผมจึงเห็นอดทนต่อความไม่พอใจเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนหน้านั้นก็ได้เห็น นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ท่านบอก
อีกคำหนึ่งที่ท่านบอกไว้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านบอกว่า We work for merit. เราก็พูดเป็นภาษาฝรั่งกันบ้าง และตลกกันในใจ ความจริง ตอนหลังเราได้สำนึกคุณประโยชน์ของความอดทนต่อความไม่พอใจ
คำง่ายๆ อดทนต่อความไม่พอใจ ได้ประโยชน์มาก ผมอยากฟังท่านอาจารย์ อาจจะมีคำคมของพระพุทธเจ้า หลังจากศึกษารู้ลักษณะของขันติ ความอดทน ในบารมีทั้ง ๑๐ อาศัยขันติแทรกอยู่ทั้งนั้น จนสุดท้ายสรุปว่า เราต้องเจริญขันติให้มาก ก็คงหนีไม่พ้นสติปัฏฐาน คือ พิจารณาให้เห็นว่า เป็นรูป เป็นนาม และก็จบ
สุ. และก็จบ ตรงนี้หมายความว่าอะไร
ถ. ผมก็ไม่รู้ ก็อาจารย์จบตรงนั้น ผมก็เลยนึกว่า เอ๊ะ จบอย่างนั้นหรือ ผมจึงอยากจะทราบว่า บอกวิธีเจริญให้ง่ายกว่านี้ได้ไหม เจริญขันติ เจริญอย่างไร
สุ. ถึงจะจบ
ถ. มิได้ จบไม่ได้ จบหมายถึงแสนกัป
สุ. วันหนึ่งต้องจบ บารมีทั้งหมดวันหนึ่งต้องจบ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีผล ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นโมฆะ แต่ยังไม่ถึง ใช่ไหม
ถ. ถ้าเราจะไปบางลำพู แต่ไม่รู้จะไปทางไหน เมื่อไรจะถึง
สุ. ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก
ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร ท่านผู้ฟังอาจจะเคยศึกษามาแล้วในอดีต นี่เป็นของที่ต้องเคยแน่ๆ จะมากน้อยสักเท่าไรไม่ทราบ แต่ข้อความในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงพระสาวกทั้งหลายซึ่งท่านได้เป็นพหูสูต เป็นผู้ที่ฟังมาก บางท่านก็ ๗ คัมภีร์ หรือพระไตรปิฎก ๗ รอบ ๗ ชาติมาแล้วที่เป็นอาจารย์สอน แต่เมื่อเกิดแล้ว จำได้ไหม
ประโยชน์แท้จริงของการศึกษาพระธรรมทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาคืออะไร เราจะมานั่งค้นคว้าเรื่องนี้ เรื่องตทาลัมพนะ เรื่องชวนะ หรือว่าประโยชน์จริงๆ คืออะไร เพราะว่าพระสาวกทั้งหลายท่านก็เคยมาก่อนเรา และอย่างมากด้วย แต่เวลาที่ท่านเกิดอีกก็ลืมหมด
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ คือ ให้เข้าใจพระธรรมทันทีที่ได้ฟังว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม หมายความว่าไม่สงสัย ในลักษณะของธรรม เพราะรู้ว่าเป็นสภาพที่มีจริงๆ เมื่อทรงแสดงเรื่องทางตา ที่กำลังเห็น บุคคลนั้นสามารถเข้าใจได้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนซึ่งเป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนดับกิเลสเป็นสมุจเฉท นั่นคือประโยชน์ เพราะฉะนั้น การเรียน การฟัง แต่ละชาติ ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาอย่างมากมาย เพื่อประกอบความรู้ เพื่อเป็นพหูสูต เป็นผู้ที่ฟังมาก ให้ถึงความเป็นอนัตตาของธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือประโยชน์ ที่สูงที่สุด
และรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมประกอบกัน กับการฟังและที่กำลังปรากฏ ไม่แยกกัน
ถ. ขอบพระคุณ
สุ. เรื่องของขันติ หลายท่านคงจะคิดว่า ยากเหลือเกินที่จะมีขันติอย่างที่ ได้ฟัง อย่างที่ได้อ่านจากพระไตรปิฎก เพราะเป็นเรื่องของความอดทน ความอดกลั้นทุกทาง ทุกสถานการณ์ด้วย แต่เมื่อระลึกถึงอดีตชาติของท่านพระสาวกทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า ก่อนที่ท่านจะมีความอดทนถึงอย่างนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีอกุศลมากมายเหมือนอย่างทุกท่านที่นี่ แต่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีปัญญา และเห็นคุณของความอดทน เห็นคุณของกุศลทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านก็มีความอดทนที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ จนในที่สุดบารมีทั้งหลายก็ถึงที่สุดด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
เรื่องของบารมีเป็นเรื่องที่จบเมื่อสมบูรณ์ แต่ก่อนที่จะถึงความสมบูรณ์ ก่อน ที่จะจบลงได้ ต้องอบรมไป และอดทนไปแต่ละชาติ ซึ่งเป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าต้องอาศัยกาลเวลาในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส
เมื่อเห็นกิเลสมากเท่าไรก็รู้ว่า จะต้องอาศัยกาลเวลานานมากทีเดียวกว่าที่จะขัดเกลากิเลสนั้นๆ ได้ โดยไม่ขาดการฟังพระธรรม และไม่ขาดการที่จะพิจารณาตนเอง เพราะว่าพระธรรมที่ได้ฟังทั้งหมดเป็นการอบรมเจริญปัญญาและการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อุปาลิวรรคที่ ๔ ปฐมอุปาลิสูตร มีข้อความว่า
พุทธวจนะแม้ทั้งสิ้น ชื่อว่าปริยัตติสัทธรรม
คงได้ยินบ่อยๆ ปริยัติ การศึกษา การเล่าเรียน
สัทธรรม หมายความถึงธรรมที่สงบ โดยสูงสุดคือพระนิพพาน เพราะฉะนั้น พุทธวจนะ (คำสอนของพระพุทธเจ้า) แม้ทั้งสิ้น ชื่อว่าปริยัตติสัทธรรม คือ เป็นธรรมที่พึงศึกษา ซึ่งก็น่าสนใจ พึงศึกษาเพื่ออะไร เพื่อการปฏิบัติให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เพื่อขัดเกลากิเลส
สัทธรรมนี้ คือ ธุดงค์คุณ ๑๓ จาริตศีล วาริตศีล สมาธิ วิปัสสนา ชื่อว่า ปฏิปัตติสัทธรรม
คือ เป็นธรรมที่จะต้องปฏิบัติจริงๆ
ธุดงค์คุณ ๑๓ สำหรับพระภิกษุซึ่งท่านมีฉันทะ มีอัธยาศัย มีคุณใหญ่ที่สามารถขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษต่างหากจากพระวินัยบัญญัติ ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว
จาริตศีล คือ ศีลที่ควรประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ดีงามทั้งหมดเป็นจาริตศีล
วาริตศีล คือ ละเว้นไม่ประพฤติสิ่งที่ไม่ควร
สมาธิ วิปัสสนา ทั้งหมดนี้ชื่อว่าปฏิปัตติสัทธรรม เพราะว่าเป็นธรรมที่ต้องอบรม ต้องเจริญ ไม่ใช่เพียงฟังเข้าใจ
โลกุตรธรรม ๙ ชื่อว่าอธิคมสัทธรรม
คือ เป็นสัทธรรมที่ถึงการบรรลุ ไม่ใช่เพียงกำลังเดินทางอยู่ แต่บรรลุถึงสัทธรรมนั้น
มโนรถปูรณี อรรถกถา ปฐมนาถสูตร นาถกรณวรรคที่ ๒ แสดงความหมายของคำว่า ธรรม อภิธรรม วินัย อภิวินัย มีข้อความว่า
ชื่อว่าธรรม ได้แก่ พระสุตตันตปิฎก
ชื่อว่าอภิธรรม ได้แก่ ปกรณ์ทั้ง ๗
พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ได้แก่ ธัมมสังคณี ๑ วิภังค์ ๑ ธาตุกถา ๑ ปุคคลบัญญัติ ๑ กถาวัตถุ ๑ ยมก ๑ และคัมภีร์ปัฏฐาน ๑ คัมภีร์ทั้ง ๗ นี้ ชื่อว่าอภิธรรม
ชื่อว่าวินัย ได้แก่ วิภังค์ทั้งสอง (ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์)
ชื่อว่าอภิวินัย ได้แก่ ขันธกะและปริวาร
เป็นความละเอียดที่ว่าอะไรเป็นธรรม อะไรเป็นอภิธรรม อะไรเป็นวินัย อะไรเป็นอภิวินัย
อีกนัยหนึ่ง ทั้งสุตตันตปิฎก ทั้งอภิธรรมปิฎก ชื่อว่าธรรมทั้งนั้น
ไม่แยก ทั้งพระสูตรและพระอภิธรรม คือ ทั้งสุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก ชื่อว่าธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระสูตร หรือพระอภิธรรม ก็คือธรรมนั่นเอง
มรรคผล ชื่อว่าอภิธรรม
คือ สูงไปกว่านั้น ไม่ใช่เพียงศึกษา หรือเพียงอ่าน เพียงเข้าใจ แต่การอบรมเจริญปัญญาจนถึงมรรคจิต ผลจิต ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม จึงชื่อว่าอภิธรรม
วินัยปิฎกทั้งสิ้น ชื่อว่าวินัย
การทำการระงับกิเลส ชื่อว่าอภิวินัย
ท่านที่ศึกษาพระวินัยจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อเข้าใจ แต่เพื่อประพฤติ ปฏิบัติตามวินัยนั้นๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ท่านผู้ฟังทำการระงับกิเลส ขณะนั้นชื่อว่าอภิวินัย ละเอียดจนกระทั่งสามารถรู้สภาพของจิต ขณะใดที่เป็นอกุศล ที่จะทำให้เกิดกายวาจาที่ไม่ดีและระงับ ขณะนั้นชื่อว่าอภิวินัย
นี่คืออภิธรรมจริงๆ อภิวินัยจริงๆ เมื่อประพฤติปฏิบัติ
แม้แต่ธรรมที่ลึกซึ้ง คือ ปฏิจจสมุปบาท และปัจจัยทั้งหลายที่อุปการะเกื้อหนุนให้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ซึ่งเป็นสิ่งรู้ได้ยาก แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาสามารถรู้ได้
นี่คือผลของการศึกษา นี่คือผลของการฟังพระธรรม นี่คือผลของการขัดเกลากิเลส นี่คือผลของการอบรมเจริญปัญญา ทั้งหมดไม่เป็นโมฆะเลย ที่ท่านผู้ฟังกำลัง มีศรัทธาและมีการฟัง มีการพิจารณาเพื่อที่จะให้เข้าใจธรรม ทั้งหมดย่อมจะเกิดผลตามควรแก่เหตุ แม้แต่ธรรมที่ลึกซึ้งคือปฏิจจสมุปบาท และปัจจัยทั้งหลาย ก็สามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ แต่ก็ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ซึ่งท่านผู้ฟังพิจารณาได้ เวลาที่ได้ยินธรรมที่ละเอียดขึ้น สูงขึ้น ความเข้าใจของท่านผู้ฟังมีมากน้อยแค่ไหน ก็แสดงถึงการอบรมในอดีต และถ้าขณะนี้อบรมต่อไป ธรรมทั้งหลายซึ่งเคยยาก ก็จะเข้าใจมากขึ้น
แม้บรรดาสาวกของพระผู้มีพระภาคก็มีต่างกัน ตามกำลังของสติปัญญา ไม่ใช่ว่าทุกบุคคลจะเหมือนกัน
ขอกล่าวถึงปัญญาของท่านพระอานนท์ซึ่งท่านได้อบรมเจริญมาจนกระทั่งได้เป็นพระโสดาบัน และได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยการเป็น เอตทัคคะถึง ๕ ประการ ซึ่งข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถามหานิทานสูตร มีว่า
ณ กุรุชนบท เย็นวันหนึ่งเมื่อท่านพระอานนท์ออกจากผลสมาบัติ
ท่านเป็นผู้ที่ได้ฌานด้วย และเป็นพระโสดาบันด้วย เพราะฉะนั้น ท่านก็ เข้าผลสมาบัติโดยโสตาปัตติผลจิตเกิดตลอดเวลาที่ท่านปรารถนา ขณะนั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วยโสตาปัตติผลจิตเป็นผลสมาบัติ
เมื่อท่านออกจากผลสมาบัติแล้ว ท่านได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาท
คิดดู ผู้ที่มีปัญญาน้อยซึ่งไม่ใช่ปัญญาอย่างท่านพระอานนท์ ก็ฟังเรื่องของปฏิจจสมุปบาท และใคร่ครวญพิจารณาตามกำลังสติปัญญาของแต่ละบุคคล แต่สำหรับท่านพระอานนท์ เวลาท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ท่านออกจาก ผลสมาบัติแล้วจึงได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาท
เมื่อท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาทแล้ว ตอนเย็นท่านได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อทูลถามปัญหา
แม้ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเมื่อไรก็ได้ วันละกี่ครั้ง ก็ได้ แต่ข้อความในอรรถกถาก็แสดงว่า ปกติเมื่อไม่มีเหตุ ท่านก็ไม่ไปเฝ้า แต่เมื่อ มีเหตุ คือ การจะได้กราบทูลเรื่องปฏิจสมุปปาท ท่านก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
จะเห็นได้ว่า อะไรๆ ที่ว่ายาก คิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อได้อบรมเจริญ ปัญญาแล้วย่อมเป็นไปได้ เช่น ปัญญาของท่านพระอานนท์ แม้ปฏิจจสมุปบาท จะเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง เพราะว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้นโดยละเอียดชั่วขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน แต่ละขณะที่เกิดดับสืบๆ ต่อกัน มีปัจจัยแต่ละอย่าง ซึ่งผู้ที่จะรู้แจ้งถึงปัจจัยนั้นๆ ได้ ต้องเป็นผู้มีปัญญาที่ลึกซึ้ง
แม้ปฏิจจสมุปบาทซึ่งลึกซึ้ง ก็ปรากฏว่าเป็นของง่ายแก่ท่านพระอานนท์ ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ด้วยการถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติก่อน ๑ ด้วยการอยู่ในสำนักพระบรมศาสดา ๑ ด้วยความเป็นพระโสดาบัน ๑ ด้วยความเป็นพหูสูต ๑
ข้อความต่อไปมีว่า
สำหรับท่านพระอานนท์นั้น นามรูปย่อมปรากฏแก่ท่านผู้เป็นพหูสูต ดุจเตียงและตั่งย่อมปรากฏเมื่อดวงประทีปส่องสว่างในห้องนอนประมาณ ๔ ศอก
ห้องนอน ๔ ศอก และมีไฟ ในนั้นมีของใหญ่ คือ เตียงตั่ง ก็ปรากฏได้ชัดเพราะฉะนั้น ปฏิจจสมุปบาทจึงปรากฏกับท่าน ดุจเตียงตั่งย่อมปรากฏเมื่อ ดวงประทีปส่องสว่างในห้องนอนประมาณ ๔ ศอก ซึ่งปัญญาของท่านพระอานนท์นั้นเมื่อเปรียบเทียบกับคนธรรมดาที่จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ก็มีอุปมาว่า
นักมวยปล้ำสูงใหญ่ ผู้สัมผัสกับอาหารรสดีตลอด ๖ เดือน ออกกำลังยก หินใหญ่อยู่เป็นประจำ ใครอื่นผู้ไม่มีกำลังและไม่ได้ฝึกหัดยก ย่อมไม่สามารถ ยกหินของนักมวยปล้ำนั้นได้ แต่สำหรับนักมวยปล้ำนั้น ย่อมยกหิน ๒ แผ่นนั้น ข้างละมือ และเหวี่ยงไปดุจของเล่นฉะนั้น
หินของนักมวยปล้ำเป็นของเบาแก่นักมวยปล้ำ ไม่เบาแก่คนพวกอื่น จริงอยู่ ท่านพระอานนท์ถึงพร้อมแล้วด้วยอภินิหารตลอดแสนกัป ดุจนักมวยปล้ำผู้สัมผัสกับ รสอาหารที่ดีตลอด ๖ เดือน หินของนักมวยปล้ำเป็นของเบา เพราะนักมวยปล้ำ มีกำลังมากฉันใด ปฏิจจสมุปบาทเป็นของง่าย เพราะท่านพระอานนท์เถระเป็น ผู้มีปัญญามากฉันนั้น ไม่ควรกล่าวว่า ปฏิจจสมุปบาทง่ายแก่คนเหล่าอื่นด้วย
ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ พระองค์ก็ตรัสให้ท่านพระอานนท์ละความเห็นที่ว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นของง่าย เพราะว่าเป็นของง่ายสำหรับผู้ที่มีปัญญาสะสมมาแล้วเช่นท่านพระอานนท์ แต่ไม่เป็นของง่ายสำหรับบุคคลซึ่งไม่ได้สะสมปัญญามาพอที่จะเทียบเท่าปัญญาของ ท่านพระอานนท์ได้