แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1922

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๓


ถ. ข้อความที่แสดงว่าท่านพระอานนท์ออกจากผลสมาบัติ และทรงพิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาท ในขณะที่พิจารณาปฏิจจสมุปบาท หมายถึงประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นหรือเปล่า

สุ. นามธรรมและรูปธรรมปรากฏกับท่านเหมือนแสงสว่างในห้อง ๔ ศอก ซึ่งมีเตียงและตั่งปรากฏ

ถ. แต่ทำไมท่านเข้าใจว่า บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้สะสมมาเหมือนท่านจะเข้าใจได้เหมือนท่าน

สุ. ท่านไม่ได้เข้าใจอย่างนั้น ท่านเพียงแต่บอกว่า ปฏิจจสมุปบาทตื้น แก่ท่าน

ถ. ตื้นแก่ท่าน แต่ไม่ได้คิดว่า บุคคลอื่นก็ควรจะพิจารณาได้อย่างท่าน

สุ. ท่านไม่ได้กล่าวอย่างนั้น แต่พระผู้มีพระภาคเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญญามากเท่านั้นที่จะเป็นของตื้น ไม่ใช่สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ให้ท่านแสดงความเห็นอย่างนี้ ซึ่งจะทำให้คนอื่นเข้าใจว่า ปฏิจจสมุปบาทตื้น

ถ. แต่ท่านเข้าใจถูกในขณะที่พิจารณาปฏิจจสมุปบาท

สุ. ท่านเข้าใจ และเพราะความเข้าใจของท่านอย่างมากท่านจึงเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทตื้นแก่ท่าน เมื่อเห็นว่าตื้นแก่ท่าน ท่านก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ปฏิจจสมุปบาทตื้น

และพระผู้มีพระภาคใคร่ที่จะให้ท่านพระอานนท์ละความเห็นนี้ เพราะคนอื่นอาจจะเห็นอย่างท่านพระอานนท์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากบุคคลอื่นไม่ได้สะสมปัญญาเท่าท่านพระอานนท์

ถ. แสดงว่าพระผู้มีพระภาคกลัวคนอื่นจะเข้าใจว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้นตื้น จึงตรัสว่า ไม่ตื้นอย่างที่พระอานนท์คิด ฉะนั้น ขนาดพระอานนท์มีความสามารถมาก แต่ปฏิจจสมุปบาทนั้นพระพุทธเจ้ายังทรงพิจารณาได้ละเอียดอ่อนกว่านั้นอีก

สุ. แน่นอน ตามระดับขั้น

ถ. ข้อสงสัยของผมเกี่ยวกับการศึกษาธรรม คือ การเรียนปริยัติ เรียกว่า ปริยัตติสัทธรรม การศึกษาธรรม ยิ่งศึกษาได้มากเท่าไรก็ยิ่งมีประโยชน์มากเท่านั้น ศึกษาได้ละเอียดลึกซึ้งมากจนจบพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาก็ยิ่งดี ยิ่งมีประโยชน์ แต่การศึกษาธรรมในแง่ปฏิบัติ ศึกษาละเอียดแค่ไหนจึงเพียงพอที่จะเป็นข้อประพฤติปฏิบัติได้ มีขอบเขตอะไรหรือเปล่า

สุ. แต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ข้อสำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ ขณะที่ กำลังฟัง ธรรมกำลังปรากฏให้เข้าใจ ถ้าผู้นั้นสามารถฟังและเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่า ต้องไปฟังพระสูตรเท่าไร หรือพระอภิธรรมเท่าไร

ถ. พระสาวกในอดีตที่เราได้ทราบประวัติของท่าน อย่างท่านพระอัญญาโกณฑัญญะก็ดี ท่านพระสารีบุตรก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพระพาหิยะ ท่านฟังแค่ ๒ – ๓ ประโยค ท่านก็บรรลุ แต่การบรรลุของท่านคงไม่ใช่ท่านรู้แค่นั้น ท่านต้องรู้มากท่านจึงได้บรรลุ ถ้าไม่รู้มากคงไม่บรรลุ แม้ข้อความที่ท่านฟังนั้นจะสั้น แต่ท่านคงรู้มาก

สำหรับเราปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะการศึกษาปริยัติก็ยังนับว่าน้อย แม้บางท่านอาจจะศึกษามา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ยังนับว่าน้อยอยู่ ในแง่ปฏิบัติ เราจะศึกษาธรรมโดยมุ่งเอาความเข้าใจเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งรายละเอียด การศึกษาในแง่ปฏิบัติโดยมุ่งเอาความเข้าใจเป็นหลัก โดยไม่จำแนก เช่น จิตมี ๘๙ ดวงที่ ๑ ๒ ... ๘๙ ว่าอย่างไร เจตสิกมี ๕๒ ๑ ถึง ๕๒ ว่าอย่างไร รูปมี ๒๘ ๑ ถึง ๒๘ ว่าอย่างไร ไม่ได้จำแนกละเอียดแต่ละจิต แต่ละเจตสิก แต่ละรูปเป็นอย่างไร มุ่งเอาความเข้าใจเป็นใหญ่ อย่างนี้จะเป็นแนวทางได้หรือเปล่า

สุ. ความเข้าใจ ไม่พอ ต้องเป็นพหูสูตจริงๆ เพราะว่าพยัญชนะที่ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระพาหิยะว่า จงละการยึดถือเห็นและสิ่งที่ปรากฏเป็นต้น แต่ละทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพียงเท่านี้ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาจะละได้อย่างไร อยู่ดีๆ บอกให้ละ คนนั้นก็ละ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การที่จะละ ถ้าปราศจากความรู้ความเข้าใจแล้ว ละไม่ได้แน่

เพราะฉะนั้น ความรู้ความเข้าใจที่จะละเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ความรู้อย่างนี้ มี ทุกคนมีความรู้อย่างนี้เต็ม แต่ไม่พอที่จะละ เพราะในขณะที่กำลังเห็นยังไม่คลายการที่จะยึดถือว่าเป็นคน หรือเป็นวัตถุ หรือเป็นสิ่งต่างๆ แม้จะรู้โดยขั้นการฟังว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เวลาที่เห็นจะให้ละ ว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังละไม่ได้ เพราะว่าเป็น จิรกาลภาวนาที่ต้องอาศัยการฟังแล้วไม่หลงลืม และสติระลึก จนกว่าจะค่อยๆ รู้ ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม

แต่เท่านั้นก็ยังไม่ละ เพราะกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมต้องเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต้นคือตรุณวิปัสสนา เพื่อให้ ตรุณวิปัสสนานั้นเป็นธรรมที่จะพิจารณานามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏต่อไปอีก จนกว่าจะประจักษ์แจ้งไตรลักษณะ สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้

สำหรับท่านพระพาหิยะไม่ใช่ว่าฟังแล้วละเฉยๆ แต่ขณะนั้นต้องเป็น วิปัสสนาญาณ จากความเป็นปุถุชนถึงความเป็นพระอรหันต์ โดยผ่าน โสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต ประจักษ์ลักษณะของพระนิพพานเป็นอารมณ์ ดับกิเลสเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นเมื่อภวังคจิตคั่นแล้ว ก็มีปัจจเวกขณวิถีพิจารณากิเลสที่ดับ กิเลสที่เหลือ พิจารณามรรคจิต ผลจิต พิจารณาลักษณะของนิพพาน และประจักษ์แจ้งลักษณะของพระนิพพาน รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระสกทาคามี ต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์

จะต้องมีการประจักษ์การเกิดดับ ต้องเป็นปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ปัญญาที่เพียงฟังมาหลายๆ ชาติ และได้ยินว่าละ ก็ละ ไม่ใช่อย่างนั้น สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ในชั่วขณะแต่ละท่านสามารถบรรลุเป็น พระโสดาบัน หรืออย่างท่านพระพาหิยะ คือ สามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วแต่ว่าใครจะบรรลุเมื่อไร ต่างกันอย่างไร อย่างท่านพระอานนท์ ท่านเป็น พระโสดาบัน ๒๕ ปี กว่าที่จะได้เป็นพระอรหันต์

ถ. ในระหว่าง ๒๕ ปี ท่านคงไม่ได้ปรนนิบัติพระพุทธองค์อย่างเดียว ท่านต้องเจริญสติปัฏฐานอยู่ตลอด

สุ. เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ผู้ที่เข้าใจหนทางเจริญมรรคมีองค์ ๘ ทุกท่านจะซาบซึ้งในความหมายของคำว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่า เป็นปกติจริงๆ ถ้าผิดปกติ ผิดทันที

ถ. การศึกษาธรรมในแง่ปฏิบัติที่ว่า ต้องศึกษาทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะต้องมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีความสงสัยในสภาพธรรม ที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ นี้ การศึกษาอย่างนี้ ถ้าหากศึกษาได้ตามทั้ง ๖ ทวารนี้ จะเพียงพอหรือเปล่า

สุ. บังคับสติไม่ได้ ทุกวันนี้ ขณะนี้ทุกคนพิสูจน์ได้เลยว่า บังคับสติไม่ได้ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสติเกิดก็เป็นของธรรมดา สบาย คือ ไม่เดือดร้อนใจ เพราะขณะนี้ทางตากำลังเห็น สติก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้ เข้าใจในลักษณะของสภาพรู้โดยถ่องแท้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

แต่เมื่อยังไม่เข้าใจ ฟัง รู้ว่าเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม แต่กำลังเห็น ยังไม่เคย ที่จะระลึกได้เลยว่า ลักษณะของธาตุรู้นั้นกำลังเห็น ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ถ้ายังไม่มีการที่จะเข้าใจอย่างนี้ การละคลายก็เป็นไปไม่ได้เลย

ถ. การน้อมระลึกรู้ธรรมที่ได้ฟังแล้ว ที่จะให้รู้ในข้อปฏิบัติจริงๆ อย่างทางตา ฟังอาจารย์บรรยายมาเป็นสิบๆ ปีแล้วว่า ทางตามีสิ่งที่ปรากฏทางตา กับสภาพเห็น อาการเห็น มี ๒ อย่าง ทั้งๆ ที่ได้ฟังมาอย่างนี้บ่อยๆ เนืองๆ ก็ยังไม่สามารถน้อมระลึกรู้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่สามารถน้อมเอาธรรมที่ปรากฏทางตาน้อมระลึกรู้ได้ ก็แปลว่ายังปฏิบัติอะไรไม่ได้

สุ. ฟังต่อไป อบรมต่อไป

ถ. ฟังแล้วอย่างหนึ่ง เวลาปฏิบัติยังสับสน คือ ยังมีความสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าใช่หรือเปล่า ความเข้าใจที่แน่นอนมั่นคงยังไม่มี ยังสับสนอยู่

สุ. ความสงสัยนี้จะหมดหรือจะละคลายได้ไหม

ถ. ละได้

สุ. แต่ต้องใช้เวลานานหน่อย ไม่ใช่ละได้เดี๋ยวนี้ที่อยากจะละ

ถ. อีกอย่างหนึ่ง การปฏิบัติธรรม การรู้ธรรม ผมเข้าใจว่าจะต้องรู้มาก รู้น้อยๆ ละกิเลสไม่ได้ และเวลารู้ ขณะปฏิบัติ สติระลึกได้แล้ว สติสามารถระลึกรู้ถึงภวังคจิตได้ไหม

สุ. ได้ เวลานี้ท่านผู้ฟังก็พิจารณาดูได้ว่า มีเห็น มีได้ยิน และ ได้ยินทีละคำด้วย ทีละ ๒ คำได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. มีช่องว่างคั่นไหม

ถ. มี

สุ. ช่องว่างนั้นคืออะไร

ถ. คือ ภวังค์

สุ. ก็คือภวังคจิต

ถ. แต่ไม่ได้ปรากฏ แค่สันนิษฐาน

สุ. เวลานี้ก็รู้ว่า มีช่องว่าง

ถ. มีจริงๆ หรือเปล่า

สุ. แน่นอน ไม่เป็นที่สงสัยเลย สภาพธรรมเหมือนปกติ แต่ปัญญาเท่านั้นที่สามารถแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ. สิ่งที่ขาด คือ ปัญญา ธรรมมีอยู่แล้ว

สุ. ต้องอบรมเจริญปัญญา

ถ. นอกจากภวังคจิตแล้ว จิตทั้ง ๘๙ ดวง มีหน้าที่ ๑๔ กิจ

สุ. ๘๙ สำหรับใคร ไม่ใช่สำหรับทุกคน

ถ. เอารวมๆ แต่สำหรับปุถุชนไม่ถึง ๕๔ แม้กามาวจรจิตจะมี ๕๔ แต่ ของปุถุชนจริงๆ ก็ไม่ถึง หน้าที่ของจิตทั้ง ๑๔ กิจ ภวังคจิตรู้ได้ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต เรามีโอกาสที่จะรู้ไหมในขณะปฏิบัติ

สุ. รู้สึกว่า ท่านผู้ฟังอยากจะทราบมากเลย และคำถามต่อไปคงจะเป็นว่า ในจิตขณะหนึ่งมีเจตสิกประกอบเท่าไร เราจะรู้ได้ไหม

ถ. ก็คร่าวๆ

สุ. พิสูจน์ด้วยตัวเอง

ถ. ผมเข้าใจว่า ถ้าปัญญาเกิด แม้ไม่ประจักษ์แต่ก็มีเหตุผลสมควรที่จะรู้ได้

สุ. วิปัสสนาญาณมีกี่ขั้น

ถ. มีตั้ง ๑๖

สุ. อย่าลืม ๑๖ แสดงถึงระดับที่ต่างกันของขั้นที่ ๑ ตลอดไปจนถึงขั้นที่ ๑๖ สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นๆ ก็ตามระดับขั้นของปัญญา

สำหรับการที่ปฏิจจสมุปบาทแม้ลึกซึ้งก็ปรากฏว่าเป็นของง่ายแก่ท่าน พระอานนท์ด้วยเหตุ ๔ ประการ เหตุที่ ๑ คือ การถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติก่อน อย่างที่คุณนิภัทรถามเมื่อกี้ ก็เป็นเรื่องที่ชาตินี้จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้า และ ชาติหน้าเมื่อหมดสิ้นไปก็เป็นชาติก่อนของชาติโน้น เพราะฉะนั้น แต่ละชาติ ก็คือการอบรมสะสมอุปนิสัยในแต่ละชาติ เพื่อการรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะขาดปัจจัยนี้ คือการถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติก่อนไม่ได้

ถ. จากการสนทนาธรรมเมื่อวานนี้ มีผู้หนึ่งถามว่า การเรียนการศึกษาอภิธรรมมีจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ นั้น ไม่เรียนไม่ได้หรือ ยุ่งมาก ต้องจำ เป็นบาลี

สุ. ไม่มีใครบังคับ

ถ. ไม่บังคับ คำนี้สำคัญมาก แสดงว่าไม่จำเป็น ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น บังคับคนที่ไม่อยากเรียนให้เรียนไม่ได้ บังคับคนที่ ไม่อยากฟังให้ฟังไม่ได้ แต่ขอให้คิดอย่างนี้ว่า ทุกคนมีกิเลส และไม่รู้ว่าตัวเอง มีกิเลสก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ประการแรกที่สุด คือ รู้จักตัวเองว่ามีกิเลส นี่เป็นคุณประโยชน์มหาศาล เพราะ บางคนเข้าใจว่าตัวเองไม่มีกิเลส จึงไม่ปฏิบัติหนทางที่จะละกิเลส แต่เมื่อรู้ว่าตัวเอง มีกิเลส ยังอยากจะมีกิเลสต่อไปไหม ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่าน

และทั้งๆ ที่รู้ว่ากิเลสไม่ดี ความทุกข์ทั้งหมดเกิดจากกิเลส ไม่ได้เกิดจาก โสภณธรรมเลย ความไม่อดทนก็เป็นอกุศลธรรม เมื่อมีความไม่อดทนก็เป็นทุกข์ เป็นกิเลส จึงทำให้เป็นทุกข์ แม้เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่สามารถหมดกิเลสได้

ผู้ที่บอกว่า จะไม่ศึกษาเรื่องจิต เพราะว่ามากเกินไป ก็ไม่มีโอกาสที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาละเอียดมาก และยิ่งรู้เรื่องของจิตอย่างละเอียด รู้เรื่องของเจตสิกอย่างละเอียด รู้เรื่องของรูป อย่างละเอียด จะทำให้ปัญญาถึงความสมบูรณ์ที่จะเห็นว่า ธรรมทั้งหมดที่ ไม่ใช่ตัวตนนั้น เพราะเป็นธรรมแต่ละอย่างที่ละเอียดมาก ยิ่งเข้าใจความละเอียด ก็ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษามากเป็นพหูสูต ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของ สภาพธรรม ปัญญาจากการฟัง จากการไตร่ตรอง จากการเข้าใจธรรมโดยละเอียด จะทำให้สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ แต่คนที่ฟังน้อย และบอกว่าเรื่องจิตยุ่งมาก เรื่องเจตสิกมากเกินไป เรื่องรูปก็ยาก จะละกิเลสได้อย่างไร แม้รู้อยู่ว่า ทางตาเป็นแต่เพียงนามธรรมกับรูปธรรม เข้าใจเท่านี้ ละกิเลสไม่ได้

ถ. ใช่ แน่นอน

สุ. เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า ไม่ได้บังคับ ไม่ได้หมายความว่า ไม่จำเป็น แต่หมายความว่า ถ้าคนนั้นไม่สนใจที่จะศึกษา ใครก็บังคับให้คนนั้นศึกษาไม่ได้ แต่เขาไม่มีหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ถ. ผมเข้าใจ สำหรับตัวผมเอง อย่างที่อาจารย์ได้พูดเรื่องสติปัฏฐาน เรื่องจิต สำหรับตัวผมเอง ตอนแรกก็ไม่อยากเรียนเหมือนกัน ไม่สนใจ เพราะว่า เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นเคยเลยตั้งแต่เกิดมา ยิ่งมีโสมนัสสสหคตัง มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ อสังขาริก สสังขาริก ผมก็ไม่สนใจ แต่เมื่อ ฟังอาจารย์พูดเรื่องสติปัฏฐานว่า สภาพธรรมเป็นอย่างไร และรายละเอียดลงไปอีกว่า ที่เป็นนามธรรมคือสภาพรู้ สภาพรู้มีจิตที่แยกออกไป ทำให้เราอยากเข้าใจตามไปอีกๆ จูงใจเข้ามา ก็เรียนตามไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้แตกฉานอะไร อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ ก็เรียนไปเอง ยิ่งฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเข้าใจมากขึ้น ยิ่งอยากจะศึกษาให้ลึกซึ้งเข้าไป ตามเข้าไปเรื่อยๆ อย่างนี้จะเป็นหนทางที่ถูกต้องไหม

สุ. เป็นหนทางที่ถูก คือ ต้องฟังพระธรรม และเข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

ถ. และไม่ใช่จะตัดอะไรไป อย่างเมื่อวานนี้ผู้นั้นก็พูดว่า กามาวจรจิต สำคัญ อยากจะรู้ อยากจะละกิเลสก็เรียน แต่รูปาวจรจิตไม่เกี่ยวกับเราตัดออกไป อรูปาวจรจิตไม่เกี่ยวกับเราตัดออกไป แต่คำตอบคือตัดไม่ได้ ต้องมีการเปรียบเทียบ ข้อแตกต่างของจิตต่างๆ เหล่านั้น ถึงแม้ยังไม่รู้ลึกในอรูปาวจรจิตหรืออรูปาวจรจิต ก็จริง จะไปกั้นขอบเขตว่าเท่านั้นพอเท่านี้พอไม่ได้ ผมรู้สึกอย่างนั้น ตั้งแต่ฟัง อาจารย์มา มีความรู้สึกอย่างนั้น

เปิด  237
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566